Skip to main content

ประเทศไทย: ‘ความตกลง “ตลาดแลกเปลี่ยน”’ มีเป้าหมายเป็นชาวต่างชาติผู้เห็นต่างจากรัฐ ผู้ลี้ภัย

ยุติการสนับสนุนการปราบปรามข้ามชาติของประเทศเพื่อนบ้าน

ชาวอุยกูร์ซึ่งตกเป็นผู้ต้องสงสัย ถูกส่งตัวกลับไปยังสถานกักตัวที่จังหวัดสงขลา ภาคใต้ของไทย วันที่ 26 มีนาคม 2557 © 2014 Andrew RC Marshall/Reuters

 

  • ทางการไทยช่วยเหลือรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้าน ให้กระทำการอย่างมิชอบด้วยกฎหมายต่อผู้ลี้ภัยและผู้เห็นต่างชาวต่างชาติ ทำให้ประเทศไทยปลอดภัยน้อยลงสำหรับผู้ที่หลบหนีมาจากการประหัตประหาร
  • คนที่ตกเป็นเป้าหมายของการปราบปรามข้ามชาติ ได้ตกเป็นเหยื่อของ ความตกลง “ตลาดแลกเปลี่ยน” โดยมีการแลกเปลี่ยนตัวชาวต่างชาติผู้เห็นต่างจากรัฐ กับผู้วิจารณ์รัฐบาลไทยที่อาศัยอยู่ต่างประเทศ
  • รัฐบาลไทยควรสอบสวนตามข้อกล่าวหาว่ามีการคุกคาม การกดดัน การสอดแนมข้อมูล และการบังคับส่งกลับผู้เข้าเมือง ผู้ลี้ภัย และผู้แสวงหาที่ลี้ภัย และบทบาทของเจ้าหน้าที่ไทยในปฏิบัติการเหล่านี้ 

(กรุงเทพฯ) – ทางการ ไทย กำลังช่วยเหลือรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้าน ให้กระทำการอย่างมิชอบด้วยกฎหมายต่อผู้ลี้ภัยและผู้เห็นต่างจากรัฐชาวต่างชาติ ทำให้ประเทศไทยปลอดภัยน้อยลงสำหรับผู้ที่หลบหนีมาจากการประหัตประหาร ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในรายงานที่เผยแพร่ในวันนี้ เป้าหมายของการปราบปรามข้ามชาติครั้งนี้ ตกเป็นเหยื่อของความตกลง “ตลาดแลกเปลี่ยน” โดยชาวต่างชาติผู้เห็นต่างจากรัฐในประเทศไทย จะถูกจับตัวเพื่อแลกเปลี่ยนกับผู้วิจารณ์รัฐบาลไทยที่ลี้ภัยในต่างแดน 

รายงาน “‘เราคิดว่าเราปลอดภัยแล้ว’: การปราบปรามและการสั่งกลับผู้ลี้ภัยในประเทศไทย” บรรยายการปราบปรามที่เพิ่มขึ้นอย่างมากของทางการไทย โดยมีเป้าหมายเป็นพลเมืองต่างชาติที่แสวงหาความคุ้มครองต่อผู้ลี้ภัยในประเทศไทย รัฐบาลต่างชาติได้ทำให้ผู้เห็นต่างจากรัฐที่ลี้ภัย และนักกิจกรรมที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ต้องตกเป็นเหยื่อของการคุกคาม การสอดแนมข้อมูล และความรุนแรงทางกาย ซึ่งมักเกิดขึ้นจากความร่วมมือและความรู้เห็นของทางการไทย ในหลายกรณี เจ้าหน้าที่ไทยจับกุมผู้แสวงหาที่ลี้ภัยและผู้ลี้ภัย และเนรเทศพวกเขาไปยังประเทศอันเป็นภูมิลำเนา โดยไม่ผ่านกระบวนการอันควรตามกฎหมาย

“ทางการไทยให้ความร่วมมือมากขึ้นกับความตกลง “ตลาดแลกเปลี่ยน” ร่วมกับรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อทำการแลกเปลี่ยนตัวผู้เห็นต่างจากรัฐในแต่ละประเทศอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย” อีเลน เพียร์สันผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสินควรยุติการปฏิบัติเช่นนี้ และดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ไทยที่ให้ความร่วมมืออย่างมิชอบเพื่อให้รัฐบาลต่างชาติดำเนินการเช่นนี้ในแผ่นดินของไทย” 

คำว่า “การปราบปรามข้ามชาติ” หมายถึงความพยายามของรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เป็นตัวแทน เพื่อปิดปาก หรือสร้างความหวาดกลัวให้ผู้เห็นต่างจากรัฐ โดยมีการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนที่กระทำต่อพลเมืองของตนเอง หรือสมาชิกของชุมชนคนต่างชาติในประเทศที่อยู่นอกเหนือเขตอำนาจศาลของตน 

ฮิวแมนไรท์วอทช์ได้วิเคราะห์ 25 กรณีที่เป็นการปราบปรามข้ามชาติ ซึ่งเกิดขึ้นในประเทศไทยระหว่างปี 2557 และ 2566 และสัมภาษณ์เหยื่อ 18 คนและครอบครัว รวมทั้งพยานที่รู้เห็นการปฏิบัติมิชอบที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และตัวแทนจากองค์กรพัฒนาเอกชนในประเทศและระหว่างประเทศ รัฐบาลไทยมีส่วนรับผิดชอบ รวมถึงประเทศสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) รวมทั้งจีนและบาห์เรน และอื่น ๆ 

ในกรณีหนึ่ง ผู้เห็นต่างจากรัฐชาวกัมพูชา ซึ่งหลบหนีมาประเทศไทยในเดือนกรกฎาคม 2565 กล่าวว่า เขาได้รับจดหมายจากเจ้าหน้าที่กัมพูชา กระตุ้นให้เขาแปรพักตร์จากพรรคฝ่ายค้านหลักในกัมพูชา หลังได้รับจดหมายเหล่านี้เป็นเวลาหลายเดือน ชายไม่ทราบฝ่ายได้ทำร้ายร่างกายเขาเมื่อเดือนสิงหาคม 2566 “พวกเขาไม่ได้พูดอะไรกับผม เอาแต่วิ่งไล่ตาม และเริ่มซ้อมผม”  ผู้เห็นต่างจากรัฐชาวกัมพูชากล่าว

หลายปีที่ผ่านมาในประเทศไทย ผู้เห็นต่างจากรัฐจากเวียดนามได้ตกเป็นเหยื่อ การติดตามตัวและถูกอุ้มหาย นักรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยชาวลาว ถูกอุ้มหายหรือถูกสังหาร ส่วนอินฟลูเอ็นเซอร์เพื่อสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศชาวมาเลเซีย ตกเป็นเป้าหมายการส่งกลับ ทางการไทยยังได้กักตัวและเนรเทศผู้เห็นต่างและผู้ลี้ภัยชาวจีนอย่างมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นไปตามคำร้องขอจากรัฐบาลจีนอย่างชัดเจน ทางการไทยยังควบคุมตัวนักฟุตบอลอาชีพจากบาห์เรนซึ่งมีสถานะผู้ลี้ภัยในออสเตรเลีย และเขาเกือบ ถูกส่งกลับไปบาห์เรน

ในเวลาเดียวกัน นักกิจกรรมชาวไทยจำนวนมากถูกสังหารหรือหายตัวไปในกัมพูชา ลาว และเวียดนา มีผู้พบสองศพที่มีบาดแผลมากมายซึ่งเป็นศพของนักกิจกรรมสองคนที่หายไป และลอยอยู่ในแม่น้ำโขง

“ความตกลง “ตลาดแลกเปลี่ยน” ได้เกิดเพิ่มขึ้น ภายใต้รัฐบาลทหารในนามคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติที่ยึดอำนาจภายหลังการทำรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 และเกิดขึ้นต่อไปในยุคหลังปี 2562 ซึ่งเป็นรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

ทางการไทยยังได้สนับสนุนช่วยเหลือการทำร้ายร่างกาย การลักพาตัว การบังคับให้สูญหาย และการปฏิบัติมิอื่น ๆ เป็นการละเมิดซ้ำแล้วซ้ำอีกต่อหลักการไม่ส่งกลับ ซึ่งเป็นข้อห้ามไม่ให้ส่งตัวบุคคลกลับไปยังดินแดน ที่มีความเสี่ยงอย่างแท้จริงว่าจะตกเป็นเหยื่อของการประหัตประหาร การทรมาน หรือการปฏิบัติที่โหดร้ายที่ร้ายแรงอย่างอื่น หรือการคุกคามต่อชีวิต

ทางการไทยได้จับกุม และเนรเทศอย่างรวบรัดต่อผู้วิจารณ์และผู้เห็นต่างจากรัฐที่ลี้ภัย แม้แต่ผู้ที่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากหน่วยงานด้านผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติมาแล้ว นักกิจกรรมชาวกัมพูชาคนหนึ่งร้องขอต่อตำรวจไทยว่า เขาอาจ “ถูกฆ่าหรือถูกขังคุก” หากถูกส่งตัวกลับไป แต่ทางการไทยก็ยังบังคับส่งตัวเขากลับไปกัมพูชาไม่กี่วันหลังถูกจับกุม  

การปฏิบัติของประเทศไทย เป็นการละเมิดกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ รวมทั้งอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และสนธิสัญญาอื่น ๆ ซึ่งประเทศไทยให้สัตยาบันรับรอง และห้ามไม่ให้ส่งกลับ ปฏิบัติการเช่นนี้ยังละเมิดต่อ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายของไทยเอง ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 และระบุว่า “ห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐขับไล่ ส่งกลับ หรือส่งบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอีกรัฐหนึ่ง หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้น จะไปตกอยู่ในอันตรายที่จะถูกกระทำทรมาน ถูกกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือถูกกระทำให้สูญหาย” 

รัฐบาลไทยควรสอบสวนอย่างรอบด้านและไม่ลำเอียงต่อข้อกล่าวหาว่ามีการคุกคาม การกดดัน การสอดแนมข้อมูล และการบังคับส่งกลับจากประเทศไทยโดยรัฐบาลต่างชาติ ซึ่งกระทำต่อผู้เข้าเมือง ผู้ลี้ภัย และผู้แสวงหาที่ลี้ภัยในประเทศไทยและบทบาทของเจ้าหน้าที่ไทยในปฏิบัติการเหล่านี้ ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว

“นายกรัฐมนตรีเศรษฐาควรดำเนินการเพื่อฟื้นฟูชื่อเสียงที่เหมาะสมของประเทศไทย ในฐานะเป็นประเทศที่ให้ที่พักพิงอย่างปลอดภัยกับผู้เห็นต่างจากรัฐจากต่างชาติ” เพียร์สันกล่าว “เขาควรสั่งการโดยทันทีให้มีการสอบสวนอย่างเต็มที่และโปร่งใสต่อกรณีการจับกุมโดยพลการ การทำร้ายร่างกายด้วยความรุนแรง และการบังคับส่งกลับผู้ลี้ภัยและผู้เห็นต่างทางการเมือง”

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.