Skip to main content

ประเทศไทย: มีการผลักดันผู้ลี้ภัยกลับไปเมียนมาเมื่อเร็ว ๆ นี้

การผลักดันเช่นนี้ทำให้เกิดอันตรายต่อบุคคลที่หลบหนีมาจากการโจมตีทางอากาศในรัฐกะเหรี่ยง

ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาหลบหนีเข้าสู่ประเทศไทย หลังการโจมตีทางอากาศของกองทัพเมียนมาในรัฐกะเหรี่ยงในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 © 2566 ภาพส่วนบุคคล

(กรุงเทพฯ) – รัฐบาลไทย ได้ผลักดันผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาหลายพันคนบริเวณพรมแดน ทำให้พวกเขาต้องกลับไปเสี่ยงภัยในเมียนมา ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้ ช่วงปลายเดือนตุลาคม 2566 กองทัพไทยเริ่มผลักดันกลับผู้ลี้ภัย ซึ่งอาศัยในที่พักพิงชั่วคราวบริเวณพรมแดน ไปยังรัฐกะเหรี่ยงในเมียนมา แต่หลายคนก็รีบเดินทางกลับมาประเทศไทยอีกครั้ง เพราะกลัวว่าจะติดอยู่ในกับดักหรือ ตกเป็นเป้าหมายของการปะทะกันอีกครั้งทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมียนมา

“ทางการไทยควรยุติการผลักดันผู้ลี้ภัยชาวเมียนมากลับไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ และอนุญาตให้พวกเขาได้รับความคุ้มครองในประเทศไทย” อีเลน เพียร์สัน ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “การที่ผู้ลี้ภัยจำนวนมากเดินทางกลับมาสู่ประเทศไทยในเวลาไม่กี่วัน หลังจากถูกผลักดันกลับไป แสดงให้เห็นว่าพวกเขามีความกังวลต่อความปลอดภัยของตนเองในเมียนมา”

ประเทศไทยให้ที่พักพิงกับผู้ลี้ภัยจากเมียนมาประมาณ 90,000 คนในค่ายผู้อพยพเก้าแห่ง นับแต่กลางทศวรรษ 1980 ภายหลังการทำรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ในเมียนมา ส่งผลให้ ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาอีก 45,000 คน หลบหนีเข้าสู่ประเทศไทย แม้รัฐบาลไทยจะอนุญาตให้ผู้อพยพมาใหม่เหล่านี้ อาศัยอยู่ในที่พักพิงชั่วคราวอย่างไม่เป็นทางการใกล้กับพรมแดน แต่ก็ยังมี การผลักดันให้พวกเขากลับไปเป็นครั้งคราว ผู้อพยพมาใหม่เหล่านี้จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปอยู่ในค่ายผู้อพยพที่มีอยู่แล้ว และเจ้าหน้าที่ไทยจะควบคุมการเดินทางของพวกเขา และการเข้าถึง ความช่วยเหลือและบริการด้านมนุษยธรรม อย่างเข้มงวด

ในเดือนกรกฎาคม ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาประมาณ 9,000 คนได้เดินทางเข้ามาแสวงหาความปลอดภัยในจังหวัดแม่ฮ่องสอนในประเทศไทย เนื่องจาก การโจมตีทางอากาศบ่อยครั้งในรัฐกะเหรี่ยง ในเบื้องต้นทางการไทยอนุญาตให้พวกเขาอาศัยอยู่ในที่พักพิงชั่วคราวอย่างไม่เป็นทางการ

ในวันที่ 21 ตุลาคม กองทัพไทยสั่งการด้วยวาจาให้ผู้ลี้ภัยเหล่านี้เดินทางกลับไปเมียนมาภายในสองสัปดาห์ ผลจากคำสั่งดังกล่าวทำให้ที่พักพิงเหล่านี้ถูกทิ้งร้าง ประชาชนพากันเดินข้ามพรมแดนกลับไปสู่รัฐกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นการเดินทางที่ใช้เวลา 4-5 วัน หลายคนเดินทางกลับไปที่ค่ายผู้อพยพโดนอกู ซึ่งเป็นที่พักพิงสำหรับผู้พลัดถิ่นในประเทศ

การผลักดันกลับยังคงเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ในช่วงที่กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์และฝ่ายต่อต้านที่เป็นพันธมิตรกัน ได้ ปฏิบัติการโจมตี กองทัพเมียนมาในตอนเหนือของรัฐฉาน กองกำลังฝ่ายต่อต้านกลุ่มอื่น ๆ ในเมียนมายังได้ปฏิบัติการโจมตีต่อกองทัพ ส่งผลให้กองทัพตอบโต้ด้วยการโจมตีทางอากาศ รวมทั้งในรัฐกะเหรี่ยง

จนถึงวันที่ 27 พฤศจิกายน ชาวเมียนมากว่า 2,387 คนได้เริ่มหลบหนีจากเมียนมา กลับเข้าสู่จังหวัดแม่ฮ่องสอนของไทยอีกครั้ง

คนที่เพิ่งหลบหนีกลับมายังที่พักพิงชั่วคราวในจังหวัดแม่ฮ่องสอนระบุว่า เครื่องบินของกองทัพเมียนมาได้บินเหนือค่ายผู้อพยพโดนอกู ก่อนจะเริ่มการโจมตีทางอากาศในวันที่ 14 และ 15 พฤศจิกายน พวกเขาบอกว่ามีการทิ้งระเบิดอย่างน้อยสามลูกใส่ในค่ายผู้อพยพ แต่ในตอนนั้นคนส่วนใหญ่ได้หลบหนีออกไปแล้ว

“ตอนนั้นดิฉันเพิ่งเดินทางไปถึงด้านนอกค่ายโดนอกู หลังต้องเดินเป็นเวลาห้าวันพร้อมกับครอบครัวมาจากที่นี่ [ในประเทศไทย]” ผู้หญิงอายุ 52 ปีกล่าว “เราไม่ได้เดินทางเข้าไปในค่าย แต่เรามองเห็นเครื่องบินตั้งแต่อยู่ไกล ๆ ตอนที่พวกเขาเริ่มทิ้งระเบิด เราจึงวิ่งหนีทันที....ดิฉันหวาดกลัวมาก ในตอนนี้ดิฉันกลัวแม้แต่เสียงฟ้าร้อง”  

แหล่งข่าวในพื้นที่ระบุว่า กองทัพไทยยืนยันว่าผู้ลี้ภัยที่เข้ามาใหม่นี้ ได้อาศัยอยู่ในประเทศไทยมากว่าสามเดือนแล้ว ทั้งที่พวกเขาควรอาศัยอยู่ในประเทศไทยเพียงชั่วคราว เจ้าหน้าที่ยังระบุว่า ที่ผ่านมาไม่มีการปะทะกันด้วยอาวุธบริเวณพรมแดน คนเหล่านี้จึงควรเดินทางกลับไปเมียนมา ประการสุดท้าย ทางการไทยอ้างว่าผู้ลี้ภัยเหล่านี้ได้เข้ามาใช้บริการที่มีอยู่น้อย ซึ่งควรจัดให้กับผู้ลี้ภัยที่อยู่ในค่ายผู้อพยพเดิม

การถูกบังคับให้ต้องพลัดถิ่นฐานซ้ำแล้วซ้ำอีก และการขาดความมั่นคงและการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ทำให้เกิดปัญหาความขาดแคลนที่เลวร้ายลงสำหรับชุมชนที่อยู่ชายขอบอยู่แล้วเหล่านี้ ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว

“ดิฉันหลบหนีมาแล้วอย่างน้อยเจ็ดครั้ง ตั้งแต่เริ่มหลบหนีจากบ้านเมื่อต้นปี เพราะการโจมตีทางอากาศ” ผู้หญิงอายุ 45 ปีกล่าว “พวกเราหลบหนีไปยังที่หนึ่งซึ่งคิดว่าปลอดภัย แต่แล้วก็ไม่มีที่ไหนปลอดภัย”

นับแต่เกิดการทำรัฐประหารปี 2564 รัฐบาลทหารเมียนมาได้เริ่ม ปฏิบัติการโจมตีทั่วประเทศ ส่งผลให้เกิดการสังหารคนจำนวนมาก การทรมาน การจับกุมโดยพลการ และการโจมตีอย่างไม่เลือกเป้าหมาย ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ประชาชนกว่าสองล้านคน ต้องตกเป็นผู้พลัดถิ่นฐานในประเทศ และ ผู้ลี้ภัยกว่า 95,000 คน ต้องหลบหนีมาจากประเทศเพื่อนบ้าน

ประเทศไทยควรสนับสนุนให้มีการส่งความช่วยเหลือข้ามพรมแดนให้กับผู้พลัดถิ่นฐานในประเทศเมียนมา และสนับสนุนให้มีการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมมากขึ้น ให้กับผู้ลี้ภัยในที่พักพิงชั่วคราวในจังหวัดแม่ฮ่องสอน และพื้นที่อื่น ๆ ตามแนวพรมแดน ประเทศไทยยังควรให้ความคุ้มครองและความสนับสนุนกับผู้ลี้ภัยทุกคน รวมทั้งการอนุญาตให้สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ทำการจำแนกสถานะของผู้ลี้ภัย

การผลักดันบุคคลกลับจำนวนมาก ด้วยวิธีการบังคับขืนใจหรือวิธีการอื่น อาจทำให้ประเทศไทยละเมิดต่อ พันธกรณี ในฐานะเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และเป็นการละเมิดต่อหลักการตามกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ซึ่งห้ามการส่งกลับ หรือการบังคับให้บุคคลกลับไปยังสถานที่ใด ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงอย่างแท้จริงว่า จะต้องเผชิญกับการประหัตประหาร การทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้าย หรือภัยคุกคามต่อชีวิต

“รัฐบาลไทยควรอนุญาตให้ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาที่อพยพเข้ามาใหม่ สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และช่วยให้พวกเขาแสวงหาความคุ้มครองได้” เพียร์สันกล่าว “ทางการไทยไม่ควรผลักดันผู้ลี้ภัยให้ไปเผชิญกับอันตรายร้ายแรงในเมียนมา”

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.