Skip to main content

ประเทศไทย: คนข้ามเพศถูกปฏิเสธสิทธิอันเท่าเทียม

จัดทำแนวทางเพื่อรับรองเพศสภาพตามกฎหมาย

© 2564จอห์น โฮล์ม สำหรับฮิวแมนไรท์วอทช์

(กรุงเทพฯ) คนข้ามเพศใน ประเทศไทย ไม่มีช่องทางเข้าถึงการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมาย ทำให้เสี่ยงต่อการถูกเลือกปฏิบัติในหลายรูปแบบ ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในรายงานที่เผยแพร่ในวันนี้ร่วมกับเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย

รายงานความยาว 65 หน้า เรื่อง “‘คุณจับคนยัดไว้ในกล่องไม่ได้หรอก’: ความจำเป็นในการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมายของประเทศไทย” ชี้ว่า การขาดการรับรองเพศสภาพตามกฎหมาย รวมทั้งการขาดการคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเพียงพอ และตราบาปทางสังคมที่กว้างขวาง จำกัดการเข้าถึงของคนข้ามเพศต่อบริการที่สำคัญอย่างยิ่ง ทำให้พวกเขาต้องเผชิญกับการดูหมิ่นทุกวัน คนข้ามเพศชาวไทยบอกว่า พวกเขามักถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าถึงการศึกษา การดูแลสุขภาพ และการมีงานทำ ประเทศไทยมีชื่อเสียงในฐานะเป็นศูนย์กลางระดับสากลของการผ่าตัดและบริการทางสุขภาพเพื่อยืนยันเพศสภาพ แต่ชื่อเสียงระดับโลกเช่นนี้บดบังข้อจำกัดอย่างร้ายแรงด้านกลไกกฎหมายของประเทศ ที่จะสามารถคุ้มครองคนข้ามเพศในประเทศของตนเองได้

“คนข้ามเพศในประเทศไทยมักต้องเผชิญการคุกคามและการเลือกปฏิบัติ และมักถูกกีดกันด้านการศึกษาและการมีงานทำ”  ไคล์ ไนท์ นักวิจัยอาวุโสด้านสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ฮิวแมนไรท์วอทช์ และผู้ร่วมเขียนรายงานกล่าว “รัฐบาลไทยต้องดำเนินการและทำให้เกิดการรับรองเพศสภาพตามกฎหมายในประเทศไทย”

ฮิวแมนไรท์วอทช์ได้ทำวิจัยเพื่อจัดทำรายงานนี้ระหว่างเดือนมกราคมและพฤษภาคม 2563 โดยการสัมภาษณ์บุคคลต่าง ๆ ในสี่พื้นที่ในประเทศไทย รวมทั้งที่กรุงเทพฯ ตรัง เชียงใหม่ และอุบลราชธานี นักวิจัยได้สัมภาษณ์เชิงลึกกับคนข้ามเพศ 62 คน รวมทั้งสัมภาษณ์นักสังคมสงเคราะห์ นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่หน่วยงานรณรงค์กดดันและหน่วยงานให้บริการ

ประเทศไทยมีกฎหมายที่ให้ความปลอดภัยกับคนข้ามเพศอย่างจำกัดในระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถให้ความคุ้มครองอย่างรอบด้าน ฮิวแมนไรท์วอทช์พบว่า พระราชบัญญัติชื่อบุคคลของประเทศไทยที่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาในปี 2550 อนุญาตให้คนข้ามเพศขอเปลี่ยนชื่อตนเองได้ แต่พระราชบัญญัตินี้ไม่อนุญาตให้บุคคลสามารถขอเปลี่ยนเพศสภาพตามกฎหมายได้ โดยการขอเปลี่ยนชื่อจะต้องได้รับความเห็นชอบตามดุลพินิจของเจ้าหน้าที่แต่ละคน

ตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ซึ่งห้ามการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลด้วยเหตุผลจากการแสดงออกทางเพศ เป็นกฎหมายที่พยายามแก้ปัญหาการเลือกปฏิบัติทางเพศบางรูปแบบที่เกิดขึ้นกับคนข้ามเพศ แต่รัฐบาลไม่ได้บังคับใช้กฎหมายมากเพียงพอ คณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (คณะกรรมการ วลพ.) ซึ่งมีอำนาจบังคับใช้กฎหมายนี้ ได้รับพิจารณาคำร้อง 27 กรณีเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติทางเพศต่อคนข้ามเพศระหว่างปี 2559 ถึง 2562 โดยในหลายกรณีต้องใช้เวลาในการวินิจฉัยกว่าสามเดือน และหน่วยงานหรือบุคคลแปดแห่งที่พบว่ามีความรับผิดชอบ กลับไม่ได้ถูกลงโทษ

การขาดการรับรองเพศสภาพตามกฎหมายในประเทศไทย ส่งผลให้คนข้ามเพศทุกคนมีเอกสารซึ่งระบุเพศสภาพแตกต่างจากอัตลักษณ์และการแสดงออกทางเพศของตน เมื่อมีการขอดูเอกสารของคนข้ามเพศ พวกเขาจึงมักรู้สึกอับอาย ในบางกรณี คนข้ามเพศระบุว่าข้าราชการทำให้พวกเขาอับอายเมื่อพบว่าเอกสารไม่ตรงกับเพศสภาพของตน


ผู้ชายข้ามเพศอายุ 27 ปี ที่กรุงเทพฯ อธิบายถึงความอับอายที่เกิดขึ้น ตอนที่ไปแจ้งเพื่อขอทำบัตรใหม่แทนบัตรประชาชนที่หายไป “คำถามแรกที่พวกเขาถามผมคือ ผมจะมีอวัยวะเพศชายได้อย่างไร....เป็นไปได้หรือที่เราจะเปลี่ยนเป็นผู้ชายข้ามเพศ” เจ้าหน้าที่เปิดดูรูปเขาตั้งแต่ในอดีต และเปรียบเทียบรูปในหลาย ๆ ช่วงเวลา “ผมรู้สึกเหมือนเป็นตัวตลกในสายตาเจ้าหน้าที่เหล่านี้” เขากล่าว

โรงเรียนหลายแห่งกำหนดมาตรฐานการแต่งกายตามเพศสภาพ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกตามเพศสภาพ และไม่อนุญาตให้นักเรียนมาเรียนโดยการแต่งชุดเครื่องแบบซึ่งไม่ตรงกับเพศสภาพตามกฎหมายของตน ถือเป็นการละเมิดสิทธิด้านการศึกษา การบังคับใช้ระเบียบเฉพาะตามเพศอย่างเคร่งครัด รวมทั้งการกำหนดเครื่องแบบและสิ่งอำนวยความสะดวกที่แยกตามเพศ ยิ่งหนุนเสริมให้เพื่อนนักเรียนและครูล้อเลียนและข่มเหงนักเรียนข้ามเพศมากขึ้น 


“ตอนที่ดิฉันแต่งหน้าและทาปากไปโรงเรียน ครูก็จะเข้ามาด่าเข้ามาเรียกดิฉันว่า ‘ตุ๊ด’ [คำดูหมิ่นในภาษาไทย ซึ่งตรงกับ ‘faggot’ ในภาษาอังกฤษ]” ผู้หญิงข้ามเพศอายุ 25 ปี ซึ่งโตขึ้นมาในจังหวัดอ่างทองในภาคกลางของประเทศไทยบอก เธอเชื่อว่าเธอตกเป็นเป้าหมาย เพราะเธอเริ่มไว้ผมยาวเช่นกัน “ดิฉันยังถูกครูตีด้วย และครูจะสั่งให้เด็กผู้ชายในห้องเข้ามาล้อเลียนดิฉัน” เธอกล่าว  

คนข้ามเพศยังต้องเผชิญกับอุปสรรคในการเข้าถึงการดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม  ผู้หญิงข้ามเพศอายุ 30 ปี บอกว่า ตอนอายุ 20 ปี เธอต้องเข้าโรงพยาบาลเพราะเป็นไส้ติ่งอักเสบ และต้องเข้ารับการผ่าตัดด่วน “ดิฉันต้องไปอยู่ในวอร์ดของผู้ป่วยชาย” เธอกล่าว “สิ่งเลวร้ายแบบนี้เกิดขึ้นกับดิฉันเพียงเพราะคำ ๆ เดียวในเอกสาร เป็นคำบ่งชี้เพศของดิฉัน”

คนข้ามเพศจำนวนมากที่ให้สัมภาษณ์บอกว่า การเลือกปฏิบัติในสถานพยาบาล ทำให้พวกเขากังวลจนไม่กล้าไปขอรับการรักษา ซึ่งเป็นผลคุกคามต่อสวัสดิภาพทางใจและกายของตน  

การขาดการรับรองเพศสภาพตามกฎหมาย ยังเป็นอุสรรคต่อคนข้ามเพศในการได้งานทำ โดยมักส่งผลให้มีการปฏิเสธใบสมัครงานโดยอัตโนมัติ นายจ้างบางคนบอกว่า จะจ้างคนข้ามเพศเฉพาะคนที่ยอมแต่งกายตามเพศโดยกำเนิดของตน ไม่ใช่ตามอัตลักษณ์ทางเพศ ส่วนนายจ้างคนอื่นระบุอย่างชัดเจนในใบสมัครงานว่า จะไม่รับพิจารณาคนข้ามเพศที่มาสมัครงาน หลายคนที่ให้สัมภาษณ์บอกว่า พวกเขารู้สึกว่าถูกจำกัดโอกาสการจ้างงานให้เหลือเฉพาะงานในกลุ่มเฉพาะ อย่างเช่น การทำงานเสริมสวยหรืองานบริการทางเพศ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาคประชาสังคมและหน่วยงานสหประชาชาติ เพื่อจัดทำขั้นตอนปฏิบัติของการรับรองเพศสภาพตามกฎหมาย แต่กระบวนการนี้เป็นไปอย่างเชื่องช้า และต้องมีการให้ความใส่ใจอย่างเร่งด่วน ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว

รัฐบาลไทยมีโอกาสที่จะปฏิบัติตามภาพลักษณ์ที่ดีระดับโลกเกี่ยวกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ อย่างสอดคล้องกับพันธกรณีตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของตน ด้วยการจัดทำขั้นตอนปฏิบัติตามกรอบสิทธิเพื่อรับรองเพศสภาพตามกฎหมาย โดยกฎหมายนี้ควรสนับสนุนให้คนข้ามเพศได้รับการรับรองตามอัตลักษณ์ทางเพศของตน และสามารถเปลี่ยนชื่อและสรรพนามตามกฎหมายได้ โดยไม่กำหนดให้ต้องเข้ารับบริการทางการแพทย์  

“การรับประกันสิทธิของคนข้ามเพศที่จะไม่ถูกเลือกปฏิบัติ สิทธิด้านการศึกษา การรักษาพยาบาลและการมีงานทำ เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับวิสัยทัศน์เพื่อความเท่าเทียม” ไนท์กล่าว “แม้ว่าการรับรองเพศสภาพตามกฎหมายจะไม่แก้ไขอุปสรรคทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับคนข้ามเพศในประเทศไทย แต่ก็เป็นก้าวย่างสำคัญที่จะนำไปสู่ความเท่าเทียมและการไม่เลือกปฏิบัติ”

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.

Region / Country
Topic