Illustration of a person holding up an ID card

“คุณจับคนยัดไว้ในกล่องไม่ได้หรอก”

ความจำเป็นในการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมายของประเทศไทย

© 2564จอห์น โฮล์ม สำหรับฮิวแมนไรท์วอทช์

บทสรุป

ประเทศไทยมีโอกาสสำคัญที่จะปฏิบัติให้สมกับชื่อเสียงระดับโลก ในฐานะที่ส่งเสริมสิทธิของเลสเบียน เกย์ ไบเซ็กชวล และบุคคลข้ามเพศ (LGBT) ด้วยการปฏิบัติตามพันธกรณีที่มีต่อกฎหมายระหว่างประเทศ ผ่านการจัดทำขั้นตอนปฏิบัติที่มีพื้นฐานด้านสิทธิ เพื่อรับรองอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมาย ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของบุคคลข้ามเพศ ที่มุ่งแสวงหาบริการด้านสุขภาพเพื่อยืนยันเพศสภาพของตน และมีการยอมรับว่าเป็นประเทศที่ชนกลุ่มน้อยทางเพศและเพศสภาพ สามารถดำรงชีวิตได้อย่างปลอดภัยและเปิดเผย แต่การยอมรับทางสังคมก็มีข้อจำกัด และไม่สามารถทดแทนการคุ้มครองที่มีพื้นฐานจากกฎหมายได้

ในปัจจุบันบุคคลข้ามเพศในประเทศไทย ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายบางประการ ทำให้ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ และความคุ้มครองที่ยังไม่มีการบังคับใช้อย่างเต็มที่ แต่ยังคงไม่มีช่องทางให้บุคคลข้ามเพศสามารถร้องขอเอกสารตามกฎหมาย ที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์ทางเพศของตนได้ และนโยบายส่งเสริมที่มีอยู่ (รวมถึงความสามารถในการเปลี่ยนชื่อของตนเอง) ยังคงตกอยู่ใต้การใช้อำนาจตามดุลพินิจของเจ้าพนักงาน

ส่งผลให้ ตามข้อมูลที่บันทึกในรายงานนี้ บุคคลข้ามเพศในประเทศไทยยังต้องประสบกับอุปสรรคมากมายในการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพ การศึกษา การทำงาน เสรีภาพในการเดินทาง และการไม่เลือกปฏิบัติ บุคคลข้ามเพศในประเทศไทยที่ให้สัมภาษณ์ในรายงานนี้ อธิบายถึงปัญหาการขาดการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมาย รวมทั้งอคติเหมารวมที่กว้างขวางและเป็นอันตราย ซึ่งเป็นข้อจำกัดต่อการเข้าถึงบริการของพวกเขา และบีบให้พวกเขาต้องเผชิญกับการทำให้อับอายดูหมิ่นทุกวัน

ยกตัวอย่างเช่น ผู้ชายข้ามเพศในกรุงเทพฯ บอกกับฮิวแมนไรท์วอทช์ว่า ในปี 2562 ตอนที่บัตรประชาชนหาย ซึ่งในบัตรระบุว่าเป็นเพศหญิงและเป็นเพศแต่กำเนิด การเดินทางไปทำบัตรใหม่ที่หน่วยงานของรัฐ เป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกอับอาย

“คำถามแรกที่พวกเขาถามผมคือ ผมจะมีอวัยวะเพศชายได้อย่างไร....เป็นไปได้หรือที่เราจะเปลี่ยนเป็นผู้ชายข้ามเพศ” เขากล่าว “พวกเขาเปิดดูรูปของผมตั้งแต่ในอดีต และเปรียบเทียบรูปในหลาย ๆ ช่วงเวลา แถมยังชวนให้เพื่อนร่วมงานคนอื่นมาดู และวิจารณ์เรื่องนี้” เจ้าหน้าที่เหล่านี้กำลังรุกล้ำความเป็นส่วนตัวของเขา มีการถามคำถามเกี่ยวกับร่างกายและการเปลี่ยนผ่านของตัวเขา “ผมรู้สึกเหมือนเป็นตัวตลกในสายตาเจ้าหน้าที่เหล่านี้” เขากล่าว

สถาบันการศึกษาในประเทศไทยตอกย้ำบรรทัดฐานทางเพศสภาพในสังคมที่แข็งตัว นักเรียนข้ามเพศในโรงเรียนไทยต้องเผชิญกับการคุกคาม การกลั่นแกล้งรังแก และการเลือกปฏิบัติ ซึ่งได้รับการหนุนเสริมมาจากการตอกย้ำมาตรฐานของรูปร่างหน้าตา ซึ่งบังคับให้นักเรียนต้องแต่งกายตามเพศแต่กำเนิดของตนเท่านั้น นับตั้งแต่ชั้นประถมจนถึงระดับมหาวิทยาลัยโดยทั่วไป ข้อกำหนดเกี่ยวกับชุดนักเรียนและนักศึกษา ได้กลายเป็นอุปสรรคและเป็นสาเหตุของความเครียดและความรู้สึกอับอายสำหรับนักเรียนข้ามเพศ

การเข้าถึงบริการดูแลสุขภาพเป็นปัญหาที่น่าทุกข์ใจสำหรับบุคคลข้ามเพศในประเทศไทย พวกเขาตกเป็นเหยื่อการละเมิดความเป็นส่วนตัว เมื่อมีการเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศของตนในที่สาธารณะ มีการตั้งคำถามและการทำให้อับอายที่ล่วงล้ำความเป็นส่วนตัว โดยเฉพาะเมื่อเจ้าหน้าที่ขอให้ระบุคำบ่งชี้เพศ และความรู้สึกไม่สบายใจเนื่องจากถูกจัดให้อยู่ในแผนกของโรงพยาบาล ซึ่งไม่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศของตน แม้พวกเขาอาจไม่เคยเผชิญกับเหตุการณ์เหล่านี้ด้วยตนเอง แต่พวกเขามักรู้สึกกลัวและหลีกเลี่ยงการใช้บริการดูแลสุขภาพ นอกจากนั้น การที่มีเจ้าหน้าที่ไม่มากพอที่ได้รับการอบรมเกี่ยวกับการดูแลช่วงเปลี่ยนผ่านของเพศสภาพ รวมทั้งการบำบัดแบบให้ฮอร์โมนทดแทน ส่งผลให้มีการบริโภคฮอร์โมนโดยขาดการกำกับดูแล ส่งผลกระทบต่อช่องว่างในการเข้าถึงอันเป็นผลมาจากการสร้างตราบาปและการเลือกปฏิบัติ

ประเทศไทยมีระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง และพลเมืองทุกคนสามารถเข้าถึงหลักประกันด้านสุขภาพ แต่บริการเหล่านี้ไม่ครอบคลุมการดูแลช่วงเปลี่ยนผ่านของเพศสภาพ และงานวิจัยได้ชี้ให้เห็นว่า บริษัทประกันของเอกชนปฏิเสธที่จะให้ความคุ้มครองกับบุคคลข้ามเพศในบางกรณีเช่นกัน หรือให้ความคุ้มครองตามแผนที่สอดคล้องกับเพศที่ถูกกำหนดมาตั้งแต่เกิดของตน ทำให้พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงบริการบางประเภท และในขณะที่หลักประกันสุขภาพของประเทศไทยครอบคลุมรูปแบบการดูแลที่กว้างขวาง รวมทั้งบริการด้านสุขภาพจิต แต่ข้อกำหนดให้ต้องมีการส่งต่อจากผู้ให้บริการขั้นพื้นฐาน เพื่อเข้ารับบริการด้านสุขภาพจิต มักกลายเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับบุคคลข้ามเพศที่ต้องการเข้าถึงการดูแลช่วงเปลี่ยนผ่านของเพศสภาพ ซึ่งมักกำหนดให้ต้องมีการประเมินด้านจิตเวชเสียก่อน และมักเป็นเหตุให้ผู้ที่ต้องการเข้าถึงการดูแลต้องเข้าสู่กระบวนการที่ดูหมิ่นและลบหลู่ศักดิ์ศรีของตน

การขาดการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมายในประเทศไทย ส่งผลกระทบด้านลบต่อศักยภาพของบุคคลข้ามเพศในแง่การจ้างงาน รวมทั้งสิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างมีศักดิ์ศรีและมีความเคารพ นายจ้างสามารถปิดประกาศรับสมัครงาน โดยระบุอย่างชัดเจนว่าไม่ประสงค์จะให้บุคคลข้ามเพศสมัคร ผู้จัดการฝ่ายจัดจ้างบุคคลสอบถามด้วยคำถามที่ไม่เหมาะสมกับบุคคลข้ามเพศ และแจ้งว่าจะไม่จ้างพวกเขาเพียงเพราะอัตลักษณ์ทางเพศของพวกเขา หรือกำหนดให้พวกเขาต้องแต่งกายที่สอดคล้องตามเพศของตนที่ถูกกำหนดมาแต่เกิดเท่านั้น

พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ซึ่งนับเป็นกฎหมายระดับชาติฉบับแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่กำหนดความคุ้มครองจากการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุเกี่ยวกับการแสดงออกทางเพศเป็นการเฉพาะ ทั้งยังห้ามอย่างชัดเจนต่อการเลือกปฏิบัติไม่ว่าในรูปแบบใดต่อบุคคลที่ “มีการแสดงออกที่แตกต่างจากเพศ โดยกำเนิด” ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญเพื่อคุ้มครองบุคคลข้ามเพศ กลไกบังคับใช้กฎหมายนี้เป็นภาพสะท้อนว่า ประเทศไทยจะสามารถและควรจัดให้มีนโยบายที่คุ้มครองและครอบคลุมอัตลักษณ์ทางเพศได้อย่างไร ในบรรดากรณีส่วนใหญ่ที่ร้องเรียนเข้ามาที่คณะกรรมการที่รับผิดชอบต่อการบังคับใช้กฎหมายนี้ ล้วนเกี่ยวข้องกับบุคคลข้ามเพศที่เผชิญกับการเลือกปฏิบัติ และภายหลังการรณรงค์กดดันมาหลายทศวรรษ ดูเหมือนจะเริ่มมีความก้าวหน้าทางกฎหมายเกิดขึ้นอยู่ลาง ๆ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้เริ่มทำงานร่วมกับหน่วยงานภาคประชาสังคมและหน่วยงานสหประชาชาติ ในการอภิปรายและพัฒนาขั้นตอนปฏิบัติเพื่อการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมาย พัฒนาการด้านกฎหมายอื่น ๆ รวมทั้งการอภิปรายเกี่ยวกับการยอมรับความสัมพันธ์ของเพศเดียวกัน ได้เริ่มปรากฏขึ้น และอาจมีอิทธิพลต่อทัศนคติของผู้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับสิทธิของบุคคลข้ามเพศ ที่ผ่านมาได้เกิดกระบวนการปรึกษาหารือ ในขณะที่หน่วยงานเพื่อสิทธิของบุคคลข้ามเพศได้จัดทำร่างกฎหมาย และเสนอกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิเพื่อการพิจารณา (โปรดดู ภาคผนวก I)

กระบวนการความร่วมมือระหว่างรัฐบาล ภาคประชาสังคม และหน่วยงานสหประชาชาติ เพื่อจัดทำนโยบายเพื่อรับรองอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมายเป็นครั้งแรก ควรถือเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน แม้ว่าการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมายไม่ใช่ยารักษาปัญหาการสร้างตราบาป การเลือกปฏิบัติ และความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับบุคคลข้ามเพศได้ทันที แต่ก็เป็นพื้นฐานที่จะนำไปสู่การคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน และมาตรการที่ควรเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้วในประเทศไทย

 

คำศัพท์

Cisgender (ตรงเพศ): อัตลักษณ์ทางเพศของบุคคล ซึ่งเพศที่ได้รับการกำหนดตั้งแต่เกิด สอดคล้องกับเพศสภาพที่ตนเองระบุ หรือตรงกับชีวิตจริง

Gender (เพศสภาพ): บทบาททางสังคมและวัฒนธรรม (แทนที่จะเป็นเพศทางชีวภาพ) ที่ใช้ เพื่อจำแนกแนวคิดในสังคมระหว่าง “อิตถีภาวะ” และ “ปุริสภาวะ”

Gender-Based Violence (ความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศสภาพ): ความรุนแรงที่มุ่งกระทำต่อบุคคลด้วยเหตุผลด้านเพศสภาพหรือเพศ ความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศสภาพ อาจรวมถึงความรุนแรงทางเพศ ความรุนแรงในครอบครัว การทารุณทางจิตใจ การแสวงหาประโยชน์ทางเพศ การคุกคามทางเพศ การกระทำที่เป็นอันตราย และการกระทำที่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศสภาพ มักมีการใช้คำนี้ในการอภิปรายถึงความรุนแรงต่อผู้หญิง แต่โดยทั่วไปก็มีความหมายครอบคลุมถึงความรุนแรงที่มีเป้าหมายเป็นผู้หญิง บุคคลข้ามเพศ และผู้ชาย อันเป็นผลเนื่องมาจากประสบการณ์ของพวกเขาและการแสดงออกด้านเพศสภาพและรสนิยมทางเพศ

Gender Expression (การแสดงออกทางเพศ): ลักษณะและพฤติการณ์ภายนอก ซึ่งสังคมนิยามว่าเป็น “หญิง” “androgynous (ความก้ำกึ่งทางเพศ)” หรือ “ชาย” รวมทั้งคุณลักษณะเกี่ยวกับการแต่งกาย การแสดงออก บุคลิก ทรงผม ลักษณะการพูด พฤติกรรมและปฎิสังสรรค์ทางสังคม

Gender Identity (อัตลักษณ์ทางเพศ): ความรู้สึกที่ลึกซึ้งภายในของบุคคลเกี่ยวกับความเป็นหญิงหรือชาย หรือทั้งสองอย่าง หรือเพศที่แตกต่างจากหญิงและชาย

Gender Dysphoria (ความทุกข์ใจในเพศสภาพ) (เดิมเรียกว่า “Gender Identity Disorder ภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับ​เพศกำเนิด” หรือ GID): ผลการวินิจฉัยอย่างเป็นระบบของนักจิตวิทยาและแพทย์ เพื่ออธิบายถึงบุคคลที่มีความทุกข์ใจอย่างมากกับเพศทางชีวภาพของตน และ/หรือเพศสภาวะที่ถูกกำหนดมาตั้งแต่เกิด ตามเอกสารบัญชีจำแนกทางสถิติระหว่างประเทศของโรคและปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้อง (International Classification of Diseases and Related Health Problems - ICD-10 CM) และคู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต (Diagnostic and Statistical Manual – DSM-V) จำแนกว่า GID ถือเป็นความผิดปรกติทางการแพทย์ แต่ในคู่มือ DSM-V ฉบับปี 2556 ได้ใช้คำว่า “ความทุกข์ใจในเพศสภาพ” แทนคำว่า “ภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับ​เพศกำเนิด” ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างตราบาปเนื่องจากคำว่า “ความผิดปรกติ (disorder)” และเปลี่ยนหลักเกณฑ์วินิจฉัยใหม่

Gender Non-Conforming (สภาวะที่ไม่สอดคล้องกับเพศสภาพ): การไม่สามารถปรับตัวเข้าหาการแสดงออก พฤติกรรม หรือนิสัยโดยทั่วไปที่เชื่อมโยงกับเพศที่ถูกกำหนดในตอนเกิด

กะเทย: เป็นคำในภาษาไทยที่ในบางครั้งใช้เรียก “ผู้หญิงข้ามเพศ” หมายถึงบุคคลซึ่งเป็นเพศชายแต่กำเนิด แต่มีการพัฒนาการแสดงออก หรืออัตลักษณ์ทางเพศของผู้หญิง

Sex (เพศ): การจำแนกตามลักษณะทางชีวภาพของร่างกายว่าเป็นชายหรือหญิง สืบเนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ รวมทั้งอวัยวะเพศภายนอก อวัยวะเพศและอวัยวะสืบพันธุ์ภายใน ฮอร์โมน และโครโมโซม

Transgender (บุคคลข้ามเพศ): อัตลักษณ์ทางเพศของบุคคลซึ่งมีเพศตามกำเนิด ไม่สอดคล้องกับเพศตามที่ตนแสดงออกหรือใช้ชีวิตอย่างสอดคล้อง บุคคลข้ามเพศมักเลือกหรือมักนิยมที่จะแสดงออกทางเพศอย่างสอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศของตน โดยอาจไม่ประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงคุณลักษณะทางร่างกายอย่างถาวรให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศของตน

ผู้ชายข้ามเพศ: บุคคลที่ถูกจำแนกว่าเป็นผู้หญิงตั้งแต่เกิด แต่ประสงค์ที่จะแสดงออก และอาจนำเสนอตนเองในฐานะผู้ชาย เราจึงมักใช้คำสรรพนามของผู้ชายกับผู้ชายข้ามเพศ

ผู้หญิงข้ามเพศ: บุคคลที่ถูกจำแนกว่าเป็นผู้ชายตั้งแต่เกิด แต่ประสงค์ที่จะแสดงออกและอาจนำเสนอตนเองในฐานะผู้หญิง เราจึงมักใช้คำสรรพนามของผู้หญิงกับผู้หญิงข้ามเพศ

ข้อเสนอแนะ

สำหรับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์:

  • จัดทำกฎหมายที่ครอบคลุมความเห็นของกลุ่มภาคประชาสังคม เพื่อรับรองบุคคลข้ามเพศอย่างสอดคล้องตามอัตลักษณ์ทางเพศของพวกเขา และช่วยให้พวกเขาสามารถเปลี่ยนชื่อและเพศสภาพตามกฎหมายได้ โดยไม่มีเงื่อนไขทางการแพทย์มาเกี่ยวข้อง
  • แสดงบทบาทนำ และใช้อำนาจที่มีของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตามาตรา 5 ของพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ และกำหนดนิยามของคำว่า “อัตลักษณ์ทางเพศ” ที่เข้มแข็งและมีส่วนร่วม เพื่อให้มีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการในราชกิจจานุเบกษา และให้มีการนำมาใช้ในการพิจารณาและจัดทำร่างกฎหมายต่อไป
  • ตระหนักว่า การอนุญาตให้เปลี่ยนเพศสภาพตามกฎหมายของตนก่อนบรรลุนิติภาวะ อาจสอดคล้องกับผลประโยชน์สูงสุดของเด็กและวัยรุ่นข้ามเพศบางคน และช่วยประกันว่าเด็กข้ามเพศจะไม่ถูกปิดกั้นโอกาสที่จะสามารถร้องขอให้มีการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศของตนตามกฎหมาย และสอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ควรมีการกำหนดขั้นตอนปฏิบัติเพื่อยอมรับว่าในขณะที่เด็กเติบโตและมีศักยภาพมากขึ้น พวกเขาพึงมีความรับผิดชอบเพิ่มขึ้นและพึงมีเสียงมากขึ้นเกี่ยวกับข้อกำหนดในเรื่องต่าง ๆ ที่กระทบต่อตนเอง

สำหรับกระทรวงสาธารณสุข:

  • ให้ออกประกาศอย่างเป็นทางการและอย่างเร่งด่วนว่า ทางกระทรวงจะยอมรับ “ความไม่สอดคล้องทางเพศ” (gender incongruence) ซึ่งเป็นการจัดประเภทใหม่ขององค์การอนามัยโลก (WHO) และทำงานกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงมหาดไทย เพื่อประกันให้มีการแก้ไขเนื้อหาของนโยบายอย่างสอดคล้องตามบัญชีจำแนกทางสถิติระหว่างประเทศของโรคและปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้อง เวอร์ชัน 11 ขององค์การอนามัยโลก
  • ปรับปรุงนโยบายการดูแลสุขภาพที่ส่งผลกระทบต่อบุคคลข้ามเพศ ให้สอดคล้องกับ Standards of Care-7 ของสมาคมวิชาชีพเพื่อสุขภาพคนข้ามเพศ (World Professional Association of Transgender Health - WPATH) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่กำหนดขึ้นโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและการแพทย์ระหว่างประเทศ สำหรับระบบการดูแลสุขภาพที่ให้การดูแลที่ดีสุดเท่าที่จะเป็นไปได้กับบุคคลข้ามเพศ
  • ประกันว่าบุคคลข้ามเพศ สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือ และความสนับสนุนทางการแพทย์และจิตวิทยาที่จำเป็น ไม่ว่าจะมีการปฏิบัติตามขั้นตอนทางการแพทย์หรือเป็นการเปลี่ยนเพศตามกฎหมายหรือไม่ และบุคคลข้ามเพศพึงสามารถเข้าถึงความสนับสนุนและความช่วยเหลือดังกล่าวได้ ภายในระยะเวลาที่เหมาะสม
  • ภายหลังการปรึกษาหารือกับบุคคลข้ามเพศและกลุ่มภาคประชาสังคม ให้ประกันว่าโครงการประกันสุขภาพจะครอบคลุมการแทรกแซงทางการแพทย์ใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผ่านทางเพศสภาพของบุคคลข้ามเพศ
  • ประกันว่า ผู้ให้บริการด้านสุขภาพ รวมทั้งนักจิตวิทยา นักจิตเวช แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป และนักสังคมสงเคราะห์จะได้รับการอบรมเกี่ยวกับความต้องการ และสิทธิเป็นการเฉพาะของบุคคลข้ามเพศ และมีข้อกำหนดให้ต้องเคารพศักดิ์ศรีของพวกเขา

สำหรับแพทยสภา:

  • แก้ไขข้อบังคับแพทยสภา รวมทั้งตัดข้อความที่ระบุว่า บุคคลข้ามเพศเป็น “ผู้ที่มีพฤติกรรมสับสนในเพศตนเอง”[1]
  • ร่วมมือกับ WPATH เพื่อรับรองการใช้มาตรฐานการดูแลของ WPATH โดยให้ถือเป็นมาตรฐานการดูแลของแพทยสภา และอบรมให้เจ้าหน้าที่ทราบถึงมาตรฐานเหล่านี้
  • ปรึกษาหารือกับแกนนำชุมชนบุคคลข้ามเพศ และผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาต่อมไร้ท่อ เพื่ออภิปรายถึงแนวทางการให้ฮอร์โมนทดแทนกับบุคคลข้ามเพศ ในลักษณะที่เอื้อให้พวกเขาเข้าถึงการบำบัดที่พึงประสงค์ และให้มีการกำกับดูแลที่ปลอดภัยและเป็นผลจากกระบวนการทางการแพทย์เหล่านี้

สำหรับกระทรวงศึกษาธิการ:

  • ประกันว่า หลักสูตรการศึกษาและการรับรองวิทยฐานะของครูในมหาวิทยาลัยทุกแห่ง ครอบคลุมการอบรมภาคบังคับเกี่ยวกับการทำงานกับกลุ่มนักศึกษาที่มีความหลากหลาย รวมทั้งกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ และผู้ที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับรสนิยมทางเพศ หรืออัตลักษณ์ทางเพศของพวกเขา
  • ให้ทบทวนพระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2551 และยกเลิกข้อความที่ห้าม “การแต่งกายข้ามเพศ” ทันที
  • จัดทำและดำเนินงานตามนโยบายเครื่องแบบนักเรียนและนักศึกษาแห่งชาติ ที่ครอบคลุมสถาบันการศึกษาทุกระดับชั้น ตั้งแต่ชั้นประถมจนถึงมหาวิทยาลัย และกำหนดให้สถาบันต่าง ๆ ต้องเคารพอัตลักษณ์ทางเพศและการเลือกชุดเครื่องแบบของนักเรียนและนักศึกษาแต่ละคน
  • ออกแบบและดำเนินการตามหลักสูตรการเรียนด้านเพศวิถีระดับชาติ ให้ครอบคลุมเนื้อหาที่ยืนยันความหลากหลายของรสนิยมทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ
  • สั่งการให้โรงเรียนกำหนดให้มีห้องน้ำสำหรับทุกเพศ หรือเป็นกลางทางเพศ ในจุดที่เข้าถึงได้ง่ายตลอดพื้นที่ของโรงเรียนเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเฉพาะในบริเวณที่ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของห้องน้ำแบบกำหนดสำหรับเพศเดียว
  • กำหนดให้ห้องน้ำสำหรับทุกเพศเป็นส่วนหนึ่งของแผนงานเพื่อการปรับปรุง หรือการก่อสร้างห้องน้ำใหม่เพิ่มเติม

ำหรับกระทรวงแรงงาน:

  • ประกาศใช้กฎกระทรวงว่าด้วยการไม่เลือกปฏิบัติ สอดคล้องตามเนื้อหาของพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ เพื่อประกันให้มีการบังคับใช้กฎหมายให้เกิดการเข้าถึงการจ้างงานอย่างเท่าเทียม
  • อบรมและสั่งการให้พนักงานตรวจแรงงาน สอบสวนเมื่อเกิดกรณีการเลือกปฏิบัติที่มีสาเหตุมาจากอัตลักษณ์ทางเพศขึ้นในสถานที่ทำงานทุกแห่ง
 

วิธีวิทยา

ฮิวแมนไรท์วอทช์ทำการสัมภาษณ์ เพื่อจัดทำรายงานนี้ส่วนใหญ่ ระหว่างเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม 2563 โดยสัมภาษณ์บุคคลในสี่พื้นที่ของประเทศไทย รวมทั้งกรุงเทพฯ ตรัง เชียงใหม่ และอุบลราชธานี สืบเนื่องจากมาตรการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 การสัมภาษณ์ภายหลังเดือนมีนาคม 2563 จึงเป็นการสัมภาษณ์ทางไกลผ่านวีดิโอในแพลตฟอร์มที่มีความปลอดภัย โดยเราได้ทำการปรึกษาหารือกับกลุ่มชุมชนและวิเคราะห์ข้อมูลจากสื่อและข้อมูลด้านกฎหมายช่วงต้นปี 2564

ในช่วงที่ฮิวแมนไรท์วอทช์ทำงานวิจัยและเขียนรายงานนี้ รัฐบาลไทยได้เข้าร่วมในกระบวนการปรึกษาหารือเกี่ยวกับกฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ ฮิวแมนไรท์วอทช์ได้เขียนจดหมายถึงกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับกระบวนการนี้และระบุถึงข้อเสนอแนะของเราเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 โดยจดหมายรวมอยู่ในภาคผนวก

นักวิจัยได้สัมภาษณ์เชิงลึกกับบุคคลข้ามเพศ 62 คน รวมทั้งการสัมภาษณ์นักสังคมสงเคราะห์ นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่หน่วยงานรณรงค์กดดันและหน่วยงานให้บริการ

นักวิจัยของฮิวแมนไรท์วอทช์ได้รับความยินยอมที่เกิดจากความเข้าใจจากผู้ให้สัมภาษณ์ทุกคน และได้ชี้แจงเป็นภาษาไทยเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้ และชี้แจงว่าข้อมูลของผู้ให้สัมภาษณ์จะถูกใช้ในการจัดทำรายงานและสื่อที่เกี่ยวข้อง ผู้ให้สัมภาษณ์จะได้รับแจ้งว่า สามารถยุติการสัมภาษณ์ในเวลาใดก็ได้ หรืออาจปฏิเสธไม่ตอบคำถามใด ๆ หากรู้สึกไม่สบายใจได้

เราจ่ายค่าเดินทางให้กับผู้ให้สัมภาษณ์ เพื่อให้สามารถเดินทางมาพบกับนักวิจัยในที่ ๆ ปลอดภัยได้ แต่ไม่จ่ายค่าตอบแทนให้กับผู้ให้สัมภาษณ์ที่ให้สัมภาษณ์ผ่านอินเตอร์เน็ตจากบ้านของตนเอง การให้สัมภาษณ์เกิดขึ้นเป็นภาษาไทยพร้อมกับมีการแปลเป็นไทย-อังกฤษ หรือบางครั้งเป็นการสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษอย่างเดียว การสัมภาษณ์ทุกครั้งเกิดขึ้นเป็นการส่วนตัว และเป็นการสัมภาษณ์รายบุคคล

ในรายงานนี้ เราใช้นามแฝงสำหรับผู้ให้สัมภาษณ์ที่เป็นบุคคลข้ามเพศทุกคน ยกเว้นผู้ที่แสดงความประสงค์อย่างจริงจังที่จะใช้ชื่อจริงของตนเอง

 

I. สิทธิของบุคคลข้ามเพศในประเทศไทย

ช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับบุคคลข้ามเพศที่ต้องการบริการดูแลสุขภาพเพื่อยืนยันเพศสภาวะ และมีชื่อเสียงในระดับโลกฐานที่เป็นประเทศซึ่งชนกลุ่มน้อยทางเพศและเพศสภาพสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปลอดภัยและเปิดเผย แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความดื้อดึงของผู้กำหนดนโยบายของไทย ในแง่การคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) ชื่อเสียงของประเทศไทยจึงลดลง เผยให้เห็นข้อจำกัดของการยอมรับทางสังคม และความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องปฏิรูปกฎหมาย

ในปัจจุบัน บุคคลข้ามเพศในประเทศไทยได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอย่างจำกัด เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อการเลือกปฏิบัติ และยังไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่ บุคคลข้ามเพศยังคงไม่มีช่องทางร้องขอเอกสารตามกฎหมาย ที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์ทางเพศของตนได้ และนโยบายส่งเสริมที่มีอยู่ (รวมถึงความสามารถในการเปลี่ยนชื่อของตนเอง) ยังคงตกอยู่ใต้การใช้อำนาจตามดุลพินิจของเจ้าพนักงาน ส่งผลให้ ตามข้อมูลที่บันทึกในรายงานนี้ บุคคลข้ามเพศในประเทศไทยยังต้องประสบกับอุปสรรคมากมาย ในการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของตน

ประเภทและป้ายฉลากด้านเพศสภาพ

พลเมืองทุกคนจะได้รับบัตรประชาชนไทยเมื่ออายุครบ 15 ปี เด็กเมื่ออายุครบเจ็ดขวบ จะได้รับบัตรประจำตัวของเด็ก ในบัตรประชาชนจะมีการใส่คำสรรพนามที่สอดคล้องกับเพศที่ได้รับการกำหนดตอนเกิด รวมทั้งเอกสารอื่น ๆ ที่ได้รับในเวลาต่อมา (ยกตัวอย่างเช่น หนังสือเดินทาง) ซึ่งล้วนแต่ต้องมีการใส่คำสรรพนามแบบเดียวกัน[2]

ตารางต่อไปนี้จัดทำขึ้น ตามรายงานการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมายในประเทศไทย ปี 2561 ที่ตีพิมพ์เผยแพร่โดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme - UNDP) และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และระบุถึงคำสรรพนามตามข้อกำหนดสำหรับพลเมืองไทย และเพศสภาพตามกฎหมาย[3]:

คำสรรพนาม

คำอธิบาย

เด็กชาย

คำสรรพนามสำหรับผู้ชายที่อายุยังไม่ถึง 15 ปี

เด็กหญิง

คำสรรพนามสำหรับผู้หญิงที่อายุยังไม่ถึง 15 ปี

นาย

คำสรรพนามสำหรับผู้ชายที่อายุ 15 ปี หรือกว่านั้น

นางสาว

คำสรรพนามสำหรับผู้หญิงที่อายุ 15 ปี หรือกว่านั้น

นาง

คำสรรพนามสำหรับผู้หญิงที่แต่งงานแล้วหรือหย่าแล้ว

ดังที่จะอธิบายต่อไปในหัวข้อเกี่ยวกับคำสรรพนามในการจ้างงาน (หน้า 37-39) อาจมีการเปลี่ยนแปลงคำสรรพนามที่ใช้ในบัตรประชาชน กรณีที่บุคคลสำเร็จการศึกษาในระดับหนึ่ง และมียศทหาร (ยกตัวอย่างเช่น ศาสตราจารย์ หรือร้อยโท) และบุคคลข้ามเพศบางส่วนเลือกประกอบอาชีพเหล่านี้ ส่วนหนึ่งเพื่อจะได้เปลี่ยนคำสรรพนามของตน

ความเป็นมาของการปฏิรูปการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมาย

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีความพยายามที่จะแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายไทย เพื่อสนับสนุนการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมาย

ในปี 2550 นักกิจกรรมเสนอพระราชบัญญัติชื่อบุคคลเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตามพรบ.นี้ ผู้หญิงและบุคคลข้ามเพศจะสามารถเลือกชื่อของตนเองได้ แต่มีข้อเสนอนี้มีข้อจำกัดสำหรับบุคคลข้ามเพศ เนื่องจากกำหนดให้พวกเขาต้องได้รับการวินิจฉัยว่ามี “ภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับ​เพศกำเนิด” เสียก่อน และมีการผ่าตัดมาก่อน อย่างไรก็ดี การอภิปรายในบรรดาผู้กำหนดนโยบายทำให้เกิดข้อกังวลในประเด็นทางเทคนิคเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมาย กรณีที่บุคคลข้ามเพศต้องการเปลี่ยนคำสรรพนามของตนเอง สุดท้ายส่งผลให้มีการแก้ไขเนื้อหาเพื่อตัดบุคคลข้ามเพศออกไป ทำให้ร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านการพิจารณา อนุญาตให้เฉพาะผู้หญิงตรงเพศสามารถเปลี่ยนคำสรรพนามจากนาง เป็น นางสาวได้[4]

ความพยายามในปี 2559 และ 2560 ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการจัดทำร่างกฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมาย ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ และไม่คืบหน้าไปกว่านั้น[5]

ในปัจจุบัน บุคคลข้ามเพศในประเทศไทยสามารถขอเปลี่ยนชื่อของตนเองได้ตามพระราชบัญญัติชื่อบุคคล[6] แม้ว่าบางคนอาจเปลี่ยนชื่อได้ แต่ต้องอยู่ใต้การใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานจดทะเบียน และองค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ และหน่วยงานสหประชาชาติ สามารถบันทึกข้อมูลกรณีที่เจ้าหน้าที่ตั้งคำถามแบบเลือกปฏิบัติ หรือปฏิเสธไม่ให้เปลี่ยนชื่อ[7] กรณีที่บุคคลข้ามเพศไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนบัตรประชาชนใหม่ อาจเป็นเพราะบัตรหายหรือหมดอายุ พวกเขาก็จะต้องเผชิญกับปัญหาจากเจ้าหน้าที่แบบเดิม

ตอนยื่นคำขอเปลี่ยนชื่อและคำขอทำบัตรประชาชนใหม่ เจ้าหน้าที่จะต้องเข้าไปดูในฐานข้อมูลตามระบบทะเบียนราษฎร ซึ่งจะทำให้ทราบเพศที่ได้รับการกำหนดตอนเกิดของผู้ยื่นคำขอ เนื่องจากคำขอเปลี่ยนชื่อหรือการขอบัตรประชาชน เป็นอำนาจตามดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ส่งผลให้บางกรณีมีการปฏิเสธคำขอของบุคคลข้ามเพศ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้ตรวจพบเพศตามกำเนิดของบุคคลดังกล่าว และเห็นว่าชื่อที่ขอเปลี่ยนไม่เหมาะสมกับเพศดังกล่าว[8] การเลือกปฏิบัติเช่นนี้ทำลายสิทธิของบุคคลข้ามเพศ

แม้จะเป็นเช่นนั้น รายงานในปี 2561 ของ UNDP และกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เกี่ยวกับการรับรองบุคคลข้ามเพศ ตามกฎหมายยังระบุว่า ขั้นตอนปฏิบัติเช่นนี้ชี้ว่า เพศสภาพอาจไม่ได้เป็นองค์ประกอบที่จำเป็นของอัตลักษณ์อย่างเป็นทางการ

เนื่องจากมีการเก็บข้อมูลชีวมิติรวมทั้งรอยพิมพ์นิ้วมือในระบบฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร รวมทั้งหมายเลขประจำตัว 13 หลัก เพราะเป็นข้อมูลที่จัดเก็บอย่างเป็นระบบ การเปิดโอกาสให้บุคคลข้ามเพศเปลี่ยนชื่อหรือรายละเอียดของเพศ จึงไม่ควรนำไปสู่ปัญหาการปลอมแปลงอัตลักษณ์บุคคล[9]

ข้อมูลชีวมิติมีการจัดเก็บอย่างเป็นระบบ และเชื่อมโยงกับหมายเลขประจำตัวของบุคคล ย่อมทำให้การเปลี่ยนหรือยกเลิกการใช้คำบ่งชี้เพศ ไม่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อความสามารถในการจำแนกอัตลักษณ์บุคคล แม้ว่าอาจส่งผลกระทบต่อรัฐ ในแง่การจำแนกและติดตามข้อมูลที่แบ่งประเภทตามเพศสภาพได้ นโยบายใด ๆ ที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประเภทของข้อมูลที่จัดเก็บในระบบสถิติทางออนไลน์และระบบข้อมูลชีวมิติ ควรคำนึงถึงผลกระทบที่รอบด้านเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน รวมทั้งความเป็นส่วนตัวและมาตรการคุ้มครองข้อมูล และความจำเป็นในการจัดเก็บและติดตามข้อมูลที่จำแนกตามเพศสภาพ เพื่อตรวจสอบและให้การเยียวยาเมื่อเกิดความไม่เท่าเทียมและการเลือกปฏิบัติขึ้นกับผู้หญิงและเด็กผู้หญิง ในแง่สิทธิด้านสุขภาพ การศึกษา และเศรษฐกิจ ความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลและการคุ้มครองความเป็นส่วนตัว สำคัญอย่างยิ่งต่อการคุ้มครองบุคคล รวมทั้งผู้ที่มาจากชุมชนชายขอบ การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ต่อระบบทะเบียนราษฎร หรือฐานข้อมูลทางออนไลน์ ควรมุ่งคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวของบุคคลข้ามเพศ โดยกำหนดให้มีการป้องกันอย่างเข้มแข็ง และไม่ให้มีการนำข้อมูลไปเผยแพร่อย่างไม่เหมาะสม ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงเพิ่มเติมต่อพวกเขา รวมทั้งการคุกคามและการเลือกปฏิบัติ อันเป็นผลมาจากการระบุชื่อแฟ้มข้อมูลว่าเป็นของ “บุคคลข้ามเพศ”

ข้อจำกัดของการยอมรับทางสังคม

รายงานของ UNDP ปี 2557 เน้นให้เห็นความบกพร่องอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย “แม้ว่าประเทศไทยจะมีชื่อเสียงในฐานะเป็นประเทศที่มีความอดทนอดกลั้นมากสุดต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศในเอเชีย แต่การรับรองและการคุ้มครองตามกฎหมายยังคงไม่มีลักษณะที่ก้าวหน้ามากพอ”[10] นักวิชาการมีข้อสังเกตว่า ในขณะที่ “ประเทศไทยมีชื่อเสียงในฐานะเป็นประเทศที่เป็นมิตรกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ ตามข้อมูลที่ปรากฏในหนังสือท่องเที่ยวและเอกสารทางวิชาการ” แต่ความอดทนอดกลั้นทางสังคมต่อผู้ที่แตกต่างและบุคคลข้ามเพศ ยังมีข้อจำกัดอย่างมาก และกระทรวงการท่องเที่ยวของไทยอาจ “แสวงหาประโยชน์” อย่างไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง จากชื่อเสียงของประเทศเช่นนี้ เพราะถูกมองว่าเป็นประเทศที่เป็นมิตรกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ[11]

ในรายงานวิจัยในปี 2562 ที่ชื่อ “การอดทนอดกลั้น แต่ยังไม่ถึงขั้นยอมรับ” UNDP เขียนว่า:

ผู้มีความหลากหลายทางเพศอาจรู้สึกถึงแรงกดดัน ที่จะต้องปกปิดและเสแสร้ง และอาจต้องหาทางปกปิดอัตลักษณ์ของตนเพราะกลัวจะถูกตอบโต้ บ่อยครั้งที่ความคาดหวังว่าพวกเขาจะต้องปกปิดอัตลักษณ์และเสแสร้ง อาจปรากฏให้เห็นในรูปคำร้องขออย่างโจ่งแจ้ง ยกตัวอย่างเช่น นายจ้างอาจรับบุคคลข้ามเพศเข้ามาทำงาน แต่จะขอให้พวกเขาแต่งกายที่สอดคล้องกับอีกเพศสภาพหนึ่ง.... การไม่ยอมปฏิบัติตนตามข้อเรียกร้องเช่นนี้ อาจส่งผลให้ต้องถูกเลือกปฏิบัติ ถูกคุกคาม และได้รับความรุนแรง[12]

นักวิจัยยังพบว่า ตามรายงานข่าวของสื่อมวลชน บุคคลข้ามเพศ (โดยเฉพาะผู้มีความหลากหลายทางเพศ) มัก “ถูกนำเสนออย่างไม่ถูกต้อง สะท้อนอคติ ก่อให้เกิดอันตราย หรือเป็นผลจากการขาดความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายของรสนิยมทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ และการแสดงออกทางเพศ”[13] ในรายงานปี 2563 UNDP เขียนว่า “คนทั่วไปมักมีภาพว่า ผู้หญิงข้ามเพศเป็นพวกที่ทำตัวเหมือนนางแบบที่แสดงความเป็นผู้หญิงจนมากเกินไป เป็นผู้ขายบริการทางเพศ เป็นตัวตลก เป็นพวกตลกโปกฮา หรือหัวขโมย”[14] การเป็นที่รับรู้ต่อสังคมของผู้หญิงข้ามเพศ ทำให้พวกเขามีโอกาสทางเศรษฐกิจระดับหนึ่ง จากการประกอบอาชีพบางอย่างในสังคมไทย อย่างไรก็ดี ทัศนะทางสังคมเหล่านี้ทำให้เกิดข้อจำกัดในด้านโอกาส และการขาดนโยบายคุ้มครอง ส่งผลให้พวกเขาเสี่ยงที่จะถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน

ในขณะที่เกิดอคติเหมารวมอย่างกว้างขวาง และไม่มีความคุ้มครองทางกฎหมาย ซึ่งส่งผลให้เกิดอันตรายต่อบุคคลข้ามเพศในประเทศไทย แต่คุณลักษณะบางประการของภาษาไทยและระบบกฎหมายไทย อาจเป็นพื้นที่ที่ช่วยส่งเสริมนโยบายที่ให้ความสนับสนุนและการมีส่วนร่วมได้ ยกตัวอย่างเช่น คำว่า “เพศ” อาจหมายถึงทั้งเพศและเพศสภาพ ซึ่งในที่อื่นเป็นคำศัพท์ที่มักมีความหมายแตกต่างกัน ทั้งในทางระบบวิทยาศาสตร์และกฎหมาย คำสรรพนามที่ใช้เรียกบุคคลเพื่อความสุภาพ ยังมักถูกใช้เป็นทางเลือกเพื่อแสดงความเป็นกลางทางเพศ อย่างคำว่า “คุณ” ซึ่งใช้เป็นทั้งคำสรรพนามบุรุษที่สองและสาม ตามข้อมูลที่บันทึกในรายงานนี้ ทั้งคำว่า เพศ และ คุณ อาจถือเป็นโอกาสที่สร้างความยืดหยุ่นในแง่การกำหนดนโยบาย และไม่ว่าจะมีการใช้คำสรรพนามแบบใด แต่จำเป็นต้องมีการกำหนดกฎหมายเพื่อให้ความคุ้มครองอย่างชัดเจน

 

II. ผลกระทบจากการขาดการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมาย

สิทธิที่จะได้รับการรับรองเป็นบุคคลตามกฎหมาย เป็นเงื่อนไขขั้นพื้นฐานเพื่อยืนยันศักดิ์ศรีและคุณค่าของบุคคลแต่ละคน สำหรับบุคคลข้ามเพศซึ่งถือบัตรที่ไม่สะท้อนถึงอัตลักษณ์ทางเพศ และลักษณะภายนอกของตน การมีปฏิสัมพันธ์ทุกเมื่อเชื่อวันอาจทำให้เกิดความทุกข์ใจจากความอับอาย และอาจทำให้เกิดอันตราย บุคคลข้ามเพศในประเทศไทยที่ให้สัมภาษณ์ในรายงานนี้ อธิบายถึงสภาพอันเป็นผลมาจากการขาดการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมาย รวมทั้งภาพเหมารวมที่กว้างขวางและเป็นอันตราย ซึ่งได้กลายเป็นข้อจำกัดต่อการเข้าถึงบริการ และทำให้ต้องถูกลบหลู่ดูหมิ่นทุกวัน

ยกตัวอย่างเช่น เกษม พ. ผู้ชายข้ามเพศอายุ 27 ปี ในกรุงเทพฯ บอกกับฮิวแมนไรท์วอทช์ว่า ในปี 2562 เขาทำบัตรประชาชนหาย ซึ่งในบัตรระบุว่าเขาเป็นผู้หญิง ตามเพศแต่กำเนิด ในการเดินทางไปทำบัตรใหม่ที่หน่วยงานของรัฐ เป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกอับอาย

“คำถามแรกที่พวกเขาถามผมคือ ผมจะมีอวัยวะเพศชายได้อย่างไร....เป็นไปได้หรือที่เราจะเปลี่ยนเป็นผู้ชายข้ามเพศ” เขากล่าว “พวกเขาเปิดดูรูปของผมตั้งแต่ในอดีต และเปรียบเทียบรูปในหลาย ๆ ช่วงเวลา แถมยังชวนให้เพื่อนร่วมงานคนอื่นมาดู และวิจารณ์เรื่องนี้” เจ้าหน้าที่เหล่านี้กำลังรุกล้ำความเป็นส่วนตัวของเขา มีการถามคำถามเกี่ยวกับร่างกายและการเปลี่ยนผ่านของตัวเขา “ผมรู้สึกเหมือนเป็นตัวตลกในสายตาเจ้าหน้าที่เหล่านี้” เขากล่าว[15]

การขาดขั้นตอนการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมายในประเทศไทย ทำให้บุคคลข้ามเพศเสี่ยงที่จะถูกปฏิบัติในรูปแบบต่าง ๆ กัน ตามข้อมูลในบทนี้ ยังทำให้เกิดอุปสรรคต่อการเข้าถึงการศึกษา บริการดูแลสุขภาพ การจ้างงาน และเสรีภาพในการเดินทาง

การศึกษา

ที่โรงเรียนหนู มีการจำแนกคนตามกล่องของเพศสภาพ ถ้าไม่เป็นเด็กผู้ชาย ก็ต้องเป็นเด็กผู้หญิง

หนูรู้สึกตลอดเวลาว่าถูกยัดเข้าไปในกล่องใดกล่องหนึ่ง

- อนงค์ ร., ผู้หญิงข้ามเพศอายุ 23 ปีในกรุงเทพฯ, 13 มกราคม 2563

ตามข้อมูลที่บันทึกในรายงานนี้ และรายงานของหน่วยงานอื่น นักเรียนข้ามเพศในโรงเรียนของไทยต้องเผชิญกับการคุกคาม การกลั่นแกล้งรังแก และการเลือกปฏิบัติ โดยผู้กระทำบางครั้งเป็นเพื่อนนักเรียนด้วยกัน และครูบางคนก็ยอมให้มีพฤติกรรมที่เลือกปฏิบัติเช่นนี้เกิดขึ้นอย่างจงใจ หรือวางเฉยให้เกิดขึ้น ในบางกรณี ครูเองเป็นผู้ทำการเลือกปฏิบัติเช่นนี้กับนักเรียนข้ามเพศ ทั้งนี้รวมถึงการใช้คำพูดในเชิงดูหมิ่นและเลือกปฏิบัติเป็นการเฉพาะกับนักเรียนข้ามเพศ และรวมถึงการบังคับใช้มาตรฐานของรูปร่างหน้าตาที่บังคับใช้กับนักเรียนทุกคน ดังที่จะกล่าวต่อไปด้านล่าง

เนื่องจากผู้ให้สัมภาษณ์กับฮิวแมนไรท์วอทช์บางคน เข้าเรียนในโรงเรียนมัธยมและมหาวิทยาลัยตั้งแต่ 10 ปี หรือก่อนหน้านั้น และที่ผ่านมา นโยบายและสภาพแวดล้อมในโรงเรียนอาจเปลี่ยนแปลงไปในบางพื้นที่ เราจึงไม่สามารถให้ภาพการปฏิบัติและปัญหาได้อย่างแม่นยำสำหรับโรงเรียนในปัจจุบัน ถึงอย่างนั้น เราพบว่าประสบการณ์ที่ผู้จบการศึกษาใหม่บอกกับเรา สะท้อนถึงแง่มุมสำคัญของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้จบการศึกษาก่อนหน้านี้ ทำให้มีเหตุผลเชื่อได้ว่า การขาดการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมาย ยังคงเป็นอุปสรรคต่อสิทธิด้านการศึกษา

ผู้ให้สัมภาษณ์บอกว่า ผลกระทบของสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นมิตรในโรงเรียน ทำให้พวกเขามีความเคารพในตนเองน้อยลง และยังส่งผลให้พวกเขาไม่ไปเรียนในบางวัน สำหรับพวกเขาบางคน โรงเรียนเป็นสถานที่ที่พวกเขาได้พบกับเพื่อนที่ยอมรับและส่งเสริมพวกเขา แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว แม้กระทั่งตอนที่นักเรียนข้ามเพศเข้าสู่มหาวิทยาลัย ระบบการศึกษาก็ไม่ได้เอื้อเฟื้อหรือไม่ได้ให้ความสนับสนุนกับพวกเขา

กลุ่มนักเรียนเลว

ในช่วงฤดูร้อนปี 2563 นักเรียนผู้ประท้วงที่เรียกตนเองว่า “กลุ่มนักเรียนเลว” ได้ออกไปประท้วงตามท้องถนนในกรุงเทพฯ ทำให้เกิดกระแสการประท้วงต่อต้านรัฐบาลไปทั่ว กลุ่มนักเรียนเลวเรียกร้องให้ยุติการคุกคามในทุกรูปแบบต่อนักเรียน เรียกร้องประชาธิปไตย การยกเลิกระเบียบของโรงเรียนที่ล้าสมัยและละเมิดสิทธิ และเรียกร้องการปฏิรูปการศึกษา โดยให้นักเรียนมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่

นักเรียนผู้ประท้วงบอกกับฮิวแมนไรท์วอทช์ว่า พวกเขาเห็นว่าโรงเรียนเป็น “เผด็จการที่แรกของฉัน” เนื่องจากโครงสร้างแบบเจ้านาย-ลูกน้อง วัฒนธรรมแบบเผด็จการของครูและผู้บริหารโรงเรียน และระเบียบที่ล้าสมัยที่ควบคุมนักเรียนทุกอย่าง ตั้งแต่เสื้อผ้าจนถึงความยาวของเส้นผม พวกเขายังเน้นให้เห็นการเลือกปฏิบัติที่เกิดขึ้นกับนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งถือเป็นปัญหาเร่งด่วน กลุ่มนักเรียนเลวซึ่งได้ประท้วงเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2563 และเชื่อว่าน่าจะเป็นการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งใหญ่สุดของประเทศ พวกเขายืนยันว่า การรณรงค์ให้เกิดการปฏิรูปของโรงเรียน เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ทางการเมือง เพื่อยุติระบอบเผด็จการในประเทศไทย[16]

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้สนับสนุนสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศประสบความสำเร็จ ในการกดดันรัฐบาลให้ปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาแห่งชาติ ให้ครอบคลุมรสนิยมทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ ในลักษณะที่หนุนเสริมตั้งแต่ระดับ ป.1 ขึ้นไป[17] ตามข้อมูลในรายงานปี 2563 ของ UNDP “ต่อจากนี้จะมีการอบรมครู เพื่อคุ้มครองให้มีการเสนอภาพของอัตลักษณ์ของบุคคลข้ามเพศและผู้มีความหลากหลายทางเพศอื่น ๆ อย่างเป็นธรรม....เพื่อประกันให้เด็กไทยในรุ่นใหม่มองเห็นความหลากหลายทางเพศและเพศสภาพ โดยถือเป็นเรื่องปรกติและเป็นธรรมชาติ”[18] ซึ่งนับเป็นข้อมูลที่น่ายินดีและเคารพสิทธิ โดยการวิจัยในเบื้องต้นพบว่านำไปสู่ผลลัพธ์ที่หลากหลาย ในแง่การเปลี่ยนประสบการณ์ของนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศในระบบโรงเรียน[19]

อย่างไรก็ดี การขาดขั้นตอนการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมายในประเทศไทย ยังคงเป็นปัญหาที่เรามักพบในการสัมภาษณ์กับบุคคลข้ามเพศเกี่ยวกับประสบการณ์ของพวกเขาในสถาบันการศึกษา ทั้งนี้รวมถึงกรณีที่บุคคลข้ามเพศทำบัตรประชาชนตอนอายุ 15 ปี (คนไทยจะได้รับบัตรประชาชนที่มีคำนำหน้านามว่า เด็กชาย/เด็กหญิง ตอนอายุเจ็ดขวบ และจะทำบัตรใหม่ตอนอายุ 15 ปี และจะเปลี่ยนคำนำหน้านามเป็น นายหรือนางสาว) และการต่อสู้ที่ต้องเผชิญขณะที่เป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัย เมื่อบัตรนักศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับเพศสภาพของพวกเขา เป็นเหตุให้ไม่สามารถสมัครเข้าเรียนบางหลักสูตร หรือไม่สามารถเข้าสอบได้

นักเรียน/นักศึกษาและอดีตนักเรียน/นักศึกษาหลายคนที่ให้สัมภาษณ์ ย้ำถึงข้อกังวลเกี่ยวกับความอึดอัดและปัญหาเนื่องจากต้องสวมเครื่องแบบตามเพศสภาพในปัจจุบัน ซึ่งเป็นความกังวลที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขตามหลักสูตรการศึกษาที่ได้รับการปรับปรุงตามข้อมูลในรายงานปี 2563 ของ UNDP “การที่โรงเรียนปฏิเสธไม่ให้เด็กผู้หญิงข้ามเพศแสดงออกถึงอัตลักษณ์ความเป็นผู้หญิง เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้พวกเธอลาออกจากโรงเรียน ก่อนเพื่อนนักเรียนที่มีเพศตรง”[20] การมีพื้นที่สนับสนุนการแสดงออกทางเพศ อาจมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเยาวชนข้ามเพศ เพื่อช่วยให้พวกเขาสามารถสำรวจและเรียนรู้เกี่ยวกับตนเองได้ ในประเทศไทย ซึ่งมีการใช้คำบ่งชี้เพศที่หลากหลาย นักวิจัยในการศึกษาชิ้นหนึ่ง บันทึกข้อมูลได้ว่า ผู้หญิงข้ามเพศครึ่งหนึ่งที่พวกเขาสัมภาษณ์ระบุว่า พวกเธอได้เริ่มใช้คำสรรพนามของผู้หญิงเพื่อเรียกตนเอง ตั้งแต่อายุ 14 ปี[21]

ในปี 2557 UNESCO มหาวิทยาลัยมหิดล และองค์การแพลน อินเตอร์เนชั่น (ประเทศไทย) ตีพิมพ์เผยแพร่รายงานการวิจัยเกี่ยวกับการกลั่นแกล้งรังแก และการกีดกันนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศในโรงเรียนไทย[22] ในรายงานพบว่า “บุคคลข้ามเพศยังคงถือว่าเป็นผู้มีความเบี่ยงเบนในบริทบทการศึกษาของไทย แต่มีการยอมรับอย่างมีเงื่อนไข” และอธิบายว่า เงื่อนไขของความยอมรับดังกล่าว เกิดขึ้นในกรณีที่นักเรียนบางคนมีผลการเรียนดีเลิศ และกรณีที่เป็นคนสวยหากพวกเธอเป็นนักเรียนหญิงข้ามเพศ “การปฏิบัติตามบรรทัดฐานทางเพศสภาพที่ตรงกับเพศตามกำเนิดของนักเรียน มีความสำคัญต่อพวกเขามากกว่า เรื่องที่ว่านักเรียนจะมีความสนใจในคนเพศเดียวกัน เพศอื่น หรือสนใจมากกว่าหนึ่งเพศ” ตามข้อค้นพบของ UNESCO ในรายงานการสำรวจในประเทศไทยเมื่อปี 2561 ของธนาคารโลกพบว่า 82% ของผู้ให้ข้อมูลที่เป็นบุคคลข้ามเพศ ถูกกำหนดให้ต้องแต่งกายสอดคล้องตามเพศที่ได้รับการกำหนดตอนเกิด ทั้งนี้เพื่อให้สามารถเข้าถึงการศึกษา 71% บอกว่าจากการถูกบังคับให้ต้องแต่งกายเช่นนี้ ทำให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพจิตของพวกเขา และ 25% บอกว่าส่งผลกระทบด้านลบต่อเป้าหมายการศึกษาของพวกเขา[23]

ผู้ให้สัมภาษณ์อธิบายถึงประสบการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับการประเมินของ UNESCO บางคนบอกว่าสามารถทำตัวให้เป็นที่ยอมรับได้ระดับหนึ่ง หรือถึงขั้นกลายเป็นคนเด่นดังได้ ด้วยการแต่งกายที่สวยงามหรือเข้าร่วมในการเต้นของโรงเรียน ยกตัวอย่างเช่น กุหลาบ ซ. ผู้หญิงข้ามเพศอายุ 32 ปี ในอุบลราชธานีกล่าวว่า “ดิฉันมักแต่งหน้าไปโรงเรียน วันหนึ่งดิฉันแค่ทาแป้งไปโรงเรียน ทำให้ครูที่เคยสอนให้ดิฉันแต่งหน้าบอกว่า ‘ให้แต่งหน้ามาเต็มที่นะ ไม่อย่างนั้นจะไม่ให้เข้าห้องเรียน’”[24]

อนงค์ ร. ผู้หญิงข้ามเพศอายุ 23 ปี ในกรุงเทพฯ บอกว่า “ในโรงเรียน การเลือกปฏิบัติเกิดขึ้นทั่วไป หนูมักจะถูกบุลลี่บ่อยครั้ง แต่ก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องปรกติสำหรับคนข้ามเพศ”[25] เมื่อเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย การบุลลี่จะเกิดขึ้นน้อยลง แต่จะเกิดการเลือกปฏิบัติในระบบราชการที่เข้มข้นขึ้น ช่วงที่เป็นวัยรุ่น อนงค์สามารถแต่งตัวเหมือนผู้หญิงเพื่อไปถ่ายบัตรประชาชนได้ แต่ตอนเข้ามหาวิทยาลัยในปี 2561 เจ้าหน้าที่บอกว่าเธอต้องแต่งตัวตามเพศกำเนิดที่เป็นชาย ตอนที่ถ่ายรูปเพื่อทำบัตรนักศึกษา “นโยบายของมหาวิทยาลัยกำหนดให้ต้องเป็นรูปภาพที่ตรงกับเพศตามกำเนิด ดิฉันแต่งตัวเป็นผู้หญิงไปถ่ายรูป ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่ยอม ทั้งยังด่าว่าดิฉันด้วย” เธอกล่าว[26] ส่งผลให้อนงค์ลาออกจากมหาวิทยาลัย

ผู้ให้สัมภาษณ์คนอื่นอธิบายถึงประสบการณ์ที่คล้ายกัน อรุณ ม. ผู้ชายข้ามเพศอายุ 22 ปี ในกรุงเทพฯ บอกว่า เขาเริ่มการเปลี่ยนผ่านทางเพศก่อนเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เพราะแม้ว่ามหาวิทยาลัยไม่กำหนดให้นักศึกษาต้องแต่งเครื่องแบบ แต่ก็กำหนดให้ต้องใส่เครื่องแบบตอนเข้าสอบ[27] อรุณบอกว่า เขาสามารถสวมชุดเครื่องแบบนักศึกษาชายเข้าสอบได้ แต่ก็มีปัญหาในการสอบบางครั้ง กรณีที่ผู้คุมสอบไม่รู้จักเขาเป็นการส่วนตัว เนื่องจากบัตรนักศึกษาของเขาระบุว่าเป็น นางสาว รวมทั้งระบุชื่อตามใบเกิด ซึ่งเป็นชื่อของผู้หญิงอย่างชัดเจน “เนื่องจากพวกเขาต้องระบุอัตลักษณ์ของผมก่อนที่จะยอมให้เข้าสอบ ซึ่งก็ไม่ค่อยเป็นปัญหาเท่าไร หากเป็นครูที่สอนผมมา” เขากล่าว “แต่ในบางครั้งถ้าเป็นคนอื่น พวกเขาจะสับสนมาก”[28]

ตามรายงานปี 2557 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) “นักเรียนในระบบโรงเรียน (ระดับมัธยมศึกษาและต่ำกว่านั้น) จะไม่ได้รับอนุญาตให้ [สวมเครื่องแบบที่ตรงกับอัตลักษณ์ทางเพศของตน] อย่างไรก็ดี .... นักศึกษาข้ามเพศจะได้รับอนุญาตอย่างไม่เป็นทางการจากบางมหาวิทยาลัย และวิทยาลัยเทคนิคหรือการอาชีพบางแห่ง (การศึกษาในระดับเทียบเท่าหรือสูงกว่ามัธยมศึกษา) ให้สามารถสวมชุดเครื่องแบบที่แตกต่างจากเพศตามกำเนิดของตนได้”[29] งานวิจัยของ ILO พบว่า ในขณะที่ครูบางคนในโรงเรียนไทย “เอาหูไปนาเอาตาไปไร่” ยอมให้นักเรียนข้ามเพศละเมิดนโยบายการแต่งกายของนักเรียน แต่ครูบางคนก็ลงโทษนักเรียนข้ามเพศ

นักเรียนข้ามเพศบางคนบอกว่า พวกเขาจำเป็นต้องยอมเปลี่ยนการแต่งกายและการแสดงออก เพราะเห็นว่าเป็นทางเลือกที่ดีสุด ภายใต้นโยบายที่กดขี่

ยกตัวอย่างเช่น ดาว ซ. ผู้หญิงข้ามเพศอายุ 34 ปี อธิบายว่า เธอรู้สึกว่าตัวเองเป็นเด็กผู้หญิงตั้งแต่ก่อนเข้าอนุบาล แต่ก็ยังถูกบังคับให้ต้องสวมชุดเครื่องแบบของนักเรียนชายไปโรงเรียน “ดิฉันรู้สึกไม่สบายใจที่ต้องสวมชุดของนักเรียนชาย แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้” เธอกล่าว[30] ดาว ซ. จึงเลือกที่จะแสดงออกในทางอ้อม “ดิฉันสวมชุดนักเรียนชาย แต่เสื้อที่สวมจะคับกว่าปรกติ ส่วนกางเกงก็สั้นกว่าปรกติ ดิฉันเพียงอยากให้เด็กผู้ชายคนอื่นรู้ว่า ดิฉันไม่ได้เป็นเด็กผู้ชายแบบพวกเขา” เธอกล่าว “ดิฉันรู้สึกดีใจ แม้จะไม่สบายใจที่ต้องสวมเครื่องแบบเช่นนั้น แต่ก็ทำได้ดีที่สุดแล้วในสภาพการณ์ที่เป็นอยู่”

นักเรียนคนอื่นก็ใช้ยุทธวิธีแบบเดียวกัน พอตา พ. ผู้หญิงข้ามเพศอายุ 27 ปี อธิบายว่า เธอจะสวมยกทรงและใส่ชุดกีฬาของเด็กผู้ชายทับหนึ่งวันต่อสัปดาห์ ตามข้อกำหนดการแต่งกายของโรงเรียน “มีเพียงวันเดียวในห้าวันที่ดิฉันมีความสุขมาก”[31] อย่างไรก็ดี แม้การดัดแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่นนี้ ทำให้พอตารู้สึกมีศักดิ์ศรีมากขึ้น แต่ครูก็ยังใช้วาจาเลือกปฏิบัติต่อเธออยู่ดี “[ครู] จะพูดในทำนองว่า ‘ทำไมไม่แต่งกายตามระเบียบของโรงเรียนล่ะ?’ พวกเขายังเคยบอกว่า ‘ทำไมไม่แต่งกายแบบเดียวกับเพื่อน ๆ ของเธอล่ะ?’” เธอกล่าว “ดิฉันรู้สึกเสียใจมากกับคำพูดเหล่านี้”[32]

แหวน ส. ผู้หญิงข้ามเพศอายุ 25 ปี ซึ่งโตขึ้นมาในจังหวัดอ่างทองในภาคกลางของประเทศไทยบอกว่า เธอต้องถูกครูละเมิดสิทธิ ตั้งแต่เริ่มเปลี่ยนแปลงการแต่งตัวไปโรงเรียน “ตอนที่ดิฉันแต่งหน้าและทาปากไปโรงเรียน ครูก็จะเข้ามาด่าเข้ามาเรียกดิฉันว่า ‘ตุ๊ด [คำดูหมิ่นในภาษาไทย ซึ่งตรงกับ ‘faggot’ ในภาษาอังกฤษ]”[33] เธอบอกว่าไม่เคยเห็นครูจ้องจับผิดคนอื่นเลย และเธอเชื่อว่าเธอตกเป็นเป้าหมาย เพราะเธอเริ่มไว้ผมยาวเช่นกัน “ดิฉันยังถูกครูตีด้วย และครูจะสั่งให้เด็กผู้ชายในห้องเข้ามาล้อเลียนดิฉัน” เธอกล่าว[34]

การปฏิบัติมิชอบเหล่านี้ ตั้งแต่การบังคับใช้ระเบียบด้านเพศสภาพอย่างเข้มงวด การล้อเลียน และการคุกคาม ไปจนถึงการใช้ความรุนแรงทางกาย ส่งผลกระทบอย่างมากต่อความสามารถในการเข้าถึงการศึกษาของนักเรียนข้ามเพศ

“ดิฉันต้องโดดเรียนบ่อย ๆ” ขวัญ ม. วัย 32 ปีกล่าว ระหว่างอยู่ที่โรงเรียน เธอแสดงออกทางเพศที่เลื่อนไหลไปมา หลังจากเหตุการณ์ที่ครูตัดผมเธอต่อหน้าเพื่อนนักเรียนในตอนเคารพธงชาติ ทำให้เธอไม่ยอมไปโรงเรียน “เป็นเวลาหลายสัปดาห์” เธอกล่าว “ถือว่าเป็นครั้งที่นานสุด และดิฉันรู้สึกรุนแรงมากสุด เพราะการถูกตัดผมถือเป็นเรื่องใหญ่ เราไม่สามารถทำให้ผมยาว [เร็ว ๆ] ได้ ทำให้ดิฉันรู้สึกอายมาก จนไม่ยอมไปโรงเรียน”[35]

บริการดูแลสุขภาพ

“พยาบาลที่คัดกรองโรคพูดเสียงดัง ‘อ้าว เธอเป็น กะเทย นี่!’ จนทุกคนได้ยินหมด”

- เกี้ยว พ. ผู้หญิงข้ามเพศอายุ 29 ปี, มกราคม 2563

เนื่องจากไม่มีเอกสารประจำตัวที่ตรงกับเพศสภาพของตน บุคคลข้ามเพศที่ขอรับบริการดูแลสุขภาพ อาจถูกละเมิดความเป็นส่วนตัว เมื่อมีการเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศของตนระหว่างอยู่ในสถานพยาบาล ถูกตั้งคำถามและลบหลู่ตอนเจ้าหน้าที่ขอให้ระบุคำบ่งชี้เพศ และอาจได้รับอันตรายทางกายเมื่อต้องไปรักษาตัวในแผนกของโรงพยาบาล ที่ไม่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศของตน แม้ว่าผู้ให้สัมภาษณ์บอกกับฮิวแมนไรท์วอทช์ว่า พวกเขาไม่เคยเจอกับเหตุการณ์เช่นนี้ด้วยตนเอง แต่พวกเขาก็กลัวและหลีกเลี่ยง ไม่ไปขอรับบริการดูแลสุขภาพ จากประสบการณ์ที่ฟังมาจากเพื่อน การที่เจ้าหน้าที่ขาดการอบรมเกี่ยวกับการดูแลช่วงเปลี่ยนผ่านของเพศสภาพ รวมทั้งการบำบัดแบบให้ฮอร์โมนทดแทน ส่งผลกระทบต่อช่องว่างในการเข้าถึงของบุคคลข้ามเพศในประเทศไทย ซึ่งล้วนแต่บั่นทอนสิทธิที่จะเข้าถึงมาตรฐานด้านสุขภาพสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ประเทศไทยมีระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง และพลเมืองทุกคนสามารถเข้าถึงหลักประกันด้านสุขภาพ แต่โรงพยาบาลรัฐมักมีขั้นตอนที่เชื่องช้า และมักไม่ได้ให้บริการดูแลขั้นพื้นฐานเต็มรูปแบบ ส่งผลให้บุคคลจำเป็นต้องไปโรงพยาบาลของเอกชน ซึ่งพวกเขาอาจต้องจ่ายเงินด้วยตนเอง หรือต้องซื้อประกันสุขภาพของเอกชน หรือส่งผลให้บุคคลไม่ขอรับบริการดูแล เนื่องจากโรงพยาบาลและบริการของเอกชนแพงเกินไป และแม้ว่าระบบหลักประกันทั้งสามแบบในประเทศไทยจะครอบคลุมการดูแลอย่างกว้างขวาง รวมทั้งบริการด้านสุขภาพจิต แต่ข้อกำหนดให้ต้องมีการส่งต่อจากผู้ให้บริการขั้นพื้นฐาน เพื่อเข้ารับบริการด้านสุขภาพจิต มักกลายเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับบุคคลข้ามเพศ และมักเป็นเหตุให้ต้องเข้าสู่กระบวนการที่ดูหมิ่นและลบหลู่ศักดิ์ศรีของตน[36]

ในการสำรวจของ UNDP ปี 2562 36% ของผู้ให้ข้อมูลที่เป็นผู้หญิงข้ามเพศระบุว่า ได้เกิดการเลือกปฏิบัติระหว่างการเข้ารับบริการดูแลสุขภาพ โดยเกือบ 20% ระบุว่า พวกเธอถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าไปรักษาตัวในวอร์ดสำหรับผู้ป่วยหญิงในโรงพยาบาล[37] ฮิวแมนไรท์วอทช์บันทึกข้อมูลของเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกัน โดยอาจสรุปได้บางส่วนในด้านล่าง

การจัดให้อยู่ในแผนกที่ไม่สอดคล้องกับเพศสภาพ

ในระหว่างรักษาตัวเป็นคนไข้ในของโรงพยาบาล บุคคลข้ามเพศมีสิทธิได้รับความปลอดภัยและมีศักดิ์ศรี เช่นเดียวกับผู้ป่วยคนอื่น ๆ รวมถึงการจัดให้อยู่ในวอร์ดที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศของตน ผู้ให้สัมภาษณ์บอกกับฮิวแมนไรท์วอทช์ว่า อย่างไรก็ดี พวกเขามักถูกจัดให้อยู่ในวอร์ดที่ตรงกับเพศตามกำเนิด ซึ่งทำให้พวกเขารู้สึกอับอาย

อิระวดี ซ. ผู้หญิงข้ามเพศอายุ 30 ปี ในกรุงเทพฯ บอกว่า ตอนอายุ 20 ปี เธอต้องเข้าโรงพยาบาลเพราะเป็นไส้ติ่งอักเสบ และต้องเข้ารับการผ่าตัดด่วน “ดิฉันต้องไปอยู่ในวอร์ดของผู้ป่วยชาย” เธอกล่าว “สิ่งเลวร้ายแบบนี้เกิดขึ้นกับดิฉันเพียงเพราะคำ ๆ เดียวในเอกสาร เป็นคำบ่งชี้เพศของดิฉัน”[38]

วิลิสินี อ. ผู้หญิงข้ามเพศอายุ 33 ปี ในตรังกล่าวว่า ในปี 2559 เธอถูกยิงระหว่างนั่งซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ของเพื่อน และถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลรัฐ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติกับเธออย่างเลวร้าย “ปัญหาที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลคือ ดิฉันต้องไปนอนอยู่ในวอร์ดผู้ป่วยชาย ซึ่งดิฉันแต่งตัวเหมือนเด็กผู้หญิง เลยทำให้เกิดปัญหาเมื่อต้องไปนอนที่นั่น” เธอกล่าว และเสริมว่าเธอต้องนอนที่วอร์ดแห่งนั้นสามคืน และรู้สึกไม่สบายใจที่จะบอกให้เจ้าหน้าที่ย้ายเธอออกไป เมื่อดูจากท่าทีที่พวกเขามีต่อเธอ[39] กุหลาบ ซ. ผู้หญิงข้ามเพศอายุ 32 ปีบอกว่า เธอเคยเข้าโรงพยาบาลหลังเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ และต้องไปอยู่ในวอร์ดผู้ป่วยชาย เนื่องจากเธอมีอาการสาหัสและต้องให้ยาสลบ เธอบอกว่าตอนแรกเธอจึงไม่รู้เรื่องนี้ แต่เมื่อได้รับแจ้งข้อมูลในภายหลัง เธอรู้สึกไม่สบายใจมากว่าต้องไปนอนในวอร์ดแห่งนั้น[40]

ผู้หญิงข้ามเพศอีกคนหนึ่งบอกว่า พวกเขาจับให้เธอเข้าไปอยู่ในวอร์ดผู้ป่วยชายในช่วงพักฟื้น ภายหลังการผ่าตัดเสริมทรวงอก เธออธิบายว่า

ตอนนั้นดิฉันมีเต้านมมาแล้ว และรู้สึกไม่สบายใจที่ต้องไปอยู่ที่นั่น...แต่โรงพยาบาลแจ้งว่า ตามระเบียบ เนื่องจากมีคำบ่งชี้เพศว่าดิฉันเป็น “ผู้ชาย” ดิฉันก็ต้องอยู่ที่นั่น ไม่ว่าจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร แม้กระทั่งตอนที่คุณมีหน้าอกแล้วก็ตาม คุณก็ยังเป็นผู้ชายอยู่ดี และคุณต้องอยู่ในวอร์ดของผู้ป่วยชาย พวกเขาให้เหตุผลว่า ‘ถ้าไปอยู่ในวอร์ดผู้ป่วยหญิง ผู้ป่วยหญิงก็จะไม่สบายใจเช่นกัน เพราะคุณยังไม่ได้ผ่าตัดอย่างสมบูรณ์ เหมือนกับว่าคุณยังเป็นผู้ชายอยู่ตั้งแต่ช่วงล่าง
[จากบริเวณอวัยวะเพศ] ลงไป พวกผู้หญิงก็คงไม่สบายใจกับเรื่องนี้เช่นกัน”[41]
กำไล น. ผู้หญิงข้ามเพศอายุ 42 ปี ที่พัทยากล่าวว่า ตอนที่เธอป่วยและต้องแอดมิตเข้าโรงพยาบาลในปี 2561 เจ้าหน้าที่เอาตัวเธอไปอยู่ในวอร์ดผู้ป่วยชาย แม้เธอไม่อยากจะไปก็ตาม
“พอดิฉันบอกเจ้าหน้าที่แบบนั้น พวกเขาก็บอกว่า ไม่มีห้องเหลืออยู่แล้ว ดิฉันต้องไปอยู่ในวอร์ดผู้ป่วยชายนั่นแหละ ดิฉันไม่อยากไปอยู่ในนั้น แต่ดิฉันอาการหนักมาก ก็ต้องเลยตามเลย ต้องยอมไปอยู่ในวอร์ดนั้น” “ดิฉันรู้สึกอายมาก ผู้ป่วยชายที่อยู่ในห้องเดียวกัน พวกเขาเอาแต่จ้องมองดูดิฉัน” “พวกเขาถึงกับถามดิฉันว่า ‘อ้าวคุณไม่ใช่ผู้หญิงหรือ ดูเหมือนว่าทุกคนก็รู้ว่าดิฉันเป็นคนข้ามเพศ”[42]

หลังพักอยู่ในหอผู้ป่วยใน กำไลยืนยันว่าจะไม่กลับไปโรงพยาบาลอีกเลย “ช่วงหลังจากนั้น แม้แต่ตอนที่เจ็บป่วย ถ้าเป็นแค่อาการเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ ดิฉันก็จะไปโรงพยาบาลเพื่อรีบรับยา แล้วเอาไปรักษาตัวเอง ดิฉันไม่ต้องการป่วยหนัก เพราะอาจจะต้องแอดมิตเข้าโรงพยาบาลและต้องไปอยู่ในวอร์ดผู้ป่วยชายอีก”[43] ผู้หญิงข้ามเพศอีกคนหนึ่งซึ่งต้องไปอยู่ในวอร์ดผู้ป่วยชาย ใช้ยุทธศาสตร์คล้าย ๆ กัน “ดิฉันพยายามดูแลรักษาตัวเองเป็นอย่างดี ทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้ป่วย จะได้ไม่ต้องกลับไปเจอกับเหตุการณ์แบบนั้นอีก”[44]

สำหรับอีกหลายคน แม้แต่การไปโรงพยาบาลสั้น ๆ เพื่อรับยา ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ถูกเลือกปฏิบัติและรู้สึกอับอายมากแล้ว เกี้ยว พ. ผู้หญิงข้ามเพศอายุ 29 ปีกล่าวว่า แม้ว่าคลินิกและโรงพยาบาลส่วนใหญ่ที่เธอเคยไป จะปฏิบัติต่อเธอเป็นอย่างดี แต่มีเหตุการณ์ครั้งหนึ่งเมื่อปี 2561 ที่ยังฝังใจ “พยาบาลที่คัดกรองโรคพูดเสียงดัง ‘อ้าว เธอเป็น กะเทย นี่!’ จนทุกคนได้ยินหมด” ที่ต้องไปโรงพยาบาลวันนั้นเพราะรู้สึกไม่สบาย แต่หลังจากนั้นดิฉันก็ไม่ไปโรงพยาบาลแห่งนั้นอีกเลย”[45]

การถูกเปิดโปงอัตลักษณ์ทางเพศ

แม้แต่บุคคลข้ามเพศที่ไม่เคยแอดมิตเข้าโรงพยาบาล การที่ต้องแวะไปรับยาที่ห้องจ่ายยาของโรงพยาบาล ก็เสี่ยงจะทำให้ถูกละเมิดความเป็นส่วนตัว ประสบการณ์ที่ถูกละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว อาจเป็นเหตุให้บางคนตัดสินใจที่จะไม่ขอรับบริการ รวมทั้งไม่ไปรับยา เพื่อคุ้มครองตนเอง

ยกตัวอย่างเช่น สร้อย ว. ผู้หญิงข้ามเพศอายุ 37 ปีกล่าวว่า

ดิฉันมักไปโรงพยาบาลของรัฐ เพราะไม่ได้ทำประกันเป็นวงเงินมากมาย ตอนที่พวกเขาเรียกชื่อดิฉัน เพื่อให้ไปรับยา ดิฉันได้แต่นั่งเงียบ ๆ ไว้ก่อน ถ้าเกิดมีคนอื่นอยู่ในห้องด้วย เพราะถ้าลุกทันที คนก็จะหัวเราะใส่ดิฉัน[46]

สมร น. ผู้หญิงข้ามเพศอายุ 25 ปี เล่าประสบการณ์ที่คล้ายคลึงกันเมื่อถูกทำให้อับอายต่อหน้าธารกำนัล เนื่องจากคำสรรพนามในบัตรประชาชนของเธอ

หลังจากชำระเงิน พวกเขาเรียกดิฉันไปรับยา ตอนนั้นพวกเขาประกาศเรียกดิฉันว่า “นาย” ตามด้วยชื่อของดิฉัน ซึ่งความจริงดิฉันได้เปลี่ยนเป็นชื่อผู้หญิงแล้ว แต่ที่พวกเขาเรียกดิฉันว่า นาย ทำให้ดิฉันรู้สึกอับอาย ดิฉันรู้สึกเหมือนกับว่า ทำไมพวกเขาไม่เรียกดิฉันว่า คุณ?[47]

สมรบอกว่า เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในทุกที่และทุกครั้งที่เธอไปรับยา “ระหว่างที่นั่งรอ และพวกเขาเรียกชื่อเต็มของดิฉัน ดิฉันไม่อยากจะลุกขึ้นเลย เพราะทันทีที่เดินไปรับยา คนก็จะถามกันเซ็งแซ่ว่า ‘คนนี้เหรอ? แน่ใจนะว่าคนนี้?’”[48]

บางคนจะรู้สึกเครียดน้อยกว่ากับเหตุการณ์เช่นนี้ เมื่อมีการใช้คำสรรพนามที่เป็นกลางทางเพศ อย่างเช่นคำว่า คุณ ยกตัวอย่างเช่น ฉิมลิน ผู้หญิงข้ามเพศอายุ 34 ปี กล่าวว่า “ดิฉันเคยมีประสบการณ์ตอนไปรับยา พวกเขาเรียกดิฉันว่า นาย แต่ในที่อื่น พวกเขาเรียกดิฉันว่า คุณ[49]

การตั้งคำถามและการทำให้อับอาย

ละไม พ. ผู้หญิงข้ามเพศบอกว่า เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลใช้ถ้อยคำที่ทำให้เธอรู้สึกอับอาย ตอนที่พวกเขาเห็นคำสรรพนามของเธอ “ตอนไปโรงพยาบาล ดิฉันแต่งตัวเหมือนผู้หญิง พวกเขาก็ปฏิบัติต่อฉันเหมือนกับว่า ‘เป็นไงจ๊ะ สวัสดีจ้ะ’ และอื่น ๆ” เธอกล่าว “แต่ตอนที่เห็นบัตรประชาชนของดิฉัน และเห็นคำว่า ‘นาย พวกเขาก็อุทานประมาณว่า ‘พระเจ้าช่วย ผู้ชายหรือนี่?’”[50]

เกษม พ. ผู้ชายข้ามเพศอายุ 27 ปี บอกว่า เขาเคยรู้สึกอับอายสองครั้งเนื่องจากคำสรรพนามที่ใช้ในบัตรประชาชน ตอนไปโรงพยาบาล ในเหตุการณ์แรก “เจ้าหน้าที่พากันคุยกันว่าผมมีเพศอะไรกันแน่ เพราะพวกเขากลัวว่าจะใส่ข้อมูลผิด” ในเหตุการณ์ที่สอง เขาเล่าว่าเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลขอบัตรประชาชนของเขาไปดู ทั้งที่ไม่อยู่ในขั้นตอนปฏิบัติ “เจ้าหน้าที่ขอบัตรผมไปดู เพราะ [พวกเขาเห็นในระเบียนประวัติ] ว่าผมเป็น นางสาว แต่ตัวผมมีหน้าตาสมกับเป็น นาย”[51]

หลีกเลี่ยงการรักษาพยาบาล

การถูกจัดให้อยู่ในแผนกที่ไม่ตรงกับอัตลักษณ์ทางเพศของตน การละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวและศักดิ์ศรีระหว่างขอรับบริการดูแลสุขภาพ ทำให้บุคคลข้ามเพศบางคน หลีกเลี่ยงการรักษาพยาบาลไปทั้งหมด ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งคนที่เคยถูกเลือกปฏิบัติและทำให้อับอายมาโดยตรง และเพื่อนและคนอายุใกล้เคียงกันซึ่งได้ยินเรื่องราวเหล่านี้ รายงานปี 2563 ของ UNDP บันทึกข้อมูลว่า “ผู้เข้าร่วมบอกว่า พวกเขาไม่สบายใจที่จะต้องเข้ารับบริการดูแลสุขภาพโดยทั่วไป เนื่องจากกลัวว่าจะถูกตีตราและถูกเลือกปฏิบัติโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข[52]

จริยา ก. ผู้หญิงข้ามเพศอายุ 39 ปี บอกว่า การรับรองอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมายมีความสำคัญกับเธอ ในแง่การเข้าถึงการดูแลสุขภาพ เธอบอกว่า “ตอนนี้ดิฉันต้องเข้าไปอยู่ในวอร์ดผู้ป่วยชาย ผู้หญิงข้ามเพศทุกคนต้องเข้าไปอยู่ในวอร์ดผู้ป่วยชาย” เธออธิบาย “ทำให้คนข้ามเพศบางคนปฏิเสธที่จะไปโรงพยาบาล เพราะรู้สึกอับอายขายหน้า”[53]

พอตา พ. ผู้หญิงข้ามเพศอายุ 27 ปี กล่าวว่า “บางครั้งเวลาเจ็บป่วย ดิฉันไม่ได้อยากไปโรงพยาบาลเพราะมีคำสรรพนามแบบนี้ มันทำให้ไม่สบายใจเลย”[54] หอม ช. ผู้หญิงข้ามเพศอายุ 26 ปี กล่าวว่า “ดิฉันไม่ใช้บริการโรงพยาบาลของรัฐเลย เพราะไม่ต้องการมีปัญหาใด ๆ ดิฉันได้ยินเรื่องราวมากมายจากเพื่อนกะเทย รวมทั้งที่ถูกจับให้อยู่ในวอร์ดผู้ป่วยชาย”[55]

“บางครั้งดิฉันไม่ไปโรงพยาบาลเลย” บุญศรี พ. ผู้หญิงข้ามเพศอายุ 30 ปีกล่าว “ถ้าป่วยหนักจริง ๆ และต้องแอดมิต และถ้าไม่มีเงินมากพอ [สำหรับค่าห้องส่วนตัว] .... เขาก็จะจับดิฉันให้ไปอยู่ในวอร์ดผู้ป่วยชาย” เธอกล่าว “ดิฉันไม่อยากให้เกิดเหตุแบบนี้กับตนเอง เพราะดิฉันมีรูปร่างหน้าตาเหมือนผู้หญิง ถ้าไปอยู่ร่วมกับ [ผู้ชาย] ก็จะกลายเป็นเป้าสายตาในห้อง ดิฉันไม่อยากให้เกิดเหตุแบบนี้”[56]

การเข้าถึงฮอร์โมนและความเชี่ยวชาญของผู้ให้บริการทางสุขภาพ

ผู้ให้สัมภาษณ์เกือบทุกคนบอกกับฮิวแมนไรท์วอทช์ว่า พวกเธอใช้ฮอร์โมนเพื่อยืนยันอัตลักษณ์ทางเพศของตน และบอกว่า ได้เริ่มการรักษาแบบนี้โดยไม่ได้รับการชี้แนะจากผู้ให้บริการทางสุขภาพ พวกเธออธิบายว่า เหตุใดจึงต้องพึ่งพาการปรึกษากับเพื่อน หรือผู้ใหญ่ในชุมชน และไม่ได้ติดต่อกับผู้ให้บริการทางสุขภาพ เวลาที่ตัดสินใจเกี่ยวกับประเภทและโดสการให้ฮอร์โมน โดยเฉพาะในบางช่วงที่อยู่ระหว่างการรักษาด้วยฮอร์โมน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะระบบสาธารณสุขของไทย ไม่ครอบคลุมการบำบัดด้วยการให้ฮอร์โมนทดแทนสำหรับบุคคลข้ามเพศที่เข้าถึงได้และเพียงพอ

ในการศึกษาปี 2558 ที่ครอบคลุมผู้หญิงข้ามเพศ 60 คน และผู้ชายข้ามเพศ 60 คนในประเทศไทย มีผู้หญิงข้ามเพศเพียงสองคนและผู้ชายข้ามเพศเพียงสองคนที่ระบุว่า ได้รับการกำกับดูแลทางการแพทย์ระหว่างการใช้ฮอร์โมน ส่วนที่เหลือที่ใช้ฮอร์โมนในช่วงเวลาดังกล่าวบอกว่า ได้รับคำปรึกษาจากเพื่อนเกี่ยวกับจำนวนโดสและการให้ฮอร์โมน[57]

ในการศึกษาปี 2562 UNDP พบว่า กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ให้ข้อมูลที่เป็นผู้หญิงข้ามเพศระบุว่า ได้ใช้ฮอร์โมนโดยไม่มีการกำกับดูแลทางการแพทย์ ผู้ให้ข้อมูลเพียงส่วนน้อย ประมาณ 40% ที่ระบุว่า พวกเขาฉีดฮอร์โมนทดแทนโดยไม่มีการกำกับดูแลทางการแพทย์[58] บทความปี 2563 ของ UNDP ยืนยันว่า ผู้หญิงข้ามเพศเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เข้าถึงการรักษาพยาบาลในช่วงของการเปลี่ยนผ่านทางเพศอย่างช้า ๆ”[59] ผู้ให้สัมภาษณ์บอกกับฮิวแมนไรท์วอทช์ว่า ส่วนใหญ่แล้ว พวกเขาไม่ได้ปรึกษากับผู้ให้บริการทางสุขภาพ ก่อนเริ่มการให้ฮอร์โมนทดแทน

ยกตัวอย่างเช่น บุญศรี พ. อธิบายว่า ในช่วงเรียนปีสุดท้ายระดับมัธยม และช่วงปีแรก ๆ ในระดับมหาวิทยาลัย เธอเริ่มใช้ฮอร์โมนตามคำแนะนำของเพื่อน แต่ไม่เคยไปพบแพทย์ “บางครั้งดิฉันรู้สึกปวดศีรษะอย่างรุนแรง หรืออาเจียนเยอะมาก” เธอกล่าว มีอยู่ครั้งหนึ่งที่อาการเกิดขึ้นรุนแรงมาก แต่เธอก็ยังประสบกับอุปสรรคสำคัญในการขอรับบริการทางการแพทย์ โดยเธอบอกว่า

ครั้งหนึ่งที่ดิฉันใช้ฮอร์โมนมากเกินไป จนต้องไปโรงพยาบาล และดิฉันอยากจะอธิบายให้พวกเขารู้ว่าได้ใช้ฮอร์โมนมากเกินไป จึงทำให้มีอาการแบบนี้ แต่ก็ไม่สามารถพูดได้อย่างเปิดเผย เพราะดิฉันรู้สึกว่าพวกเขาไม่เข้าใจร่างกายดิฉัน ดิฉันก็เลยไม่กล้าที่จะสอบถามพวกเขา ดิฉันรู้สึกว่า ถ้ามีโรงพยาบาลที่มีหมอที่เป็นคนข้ามเพศ หรือเป็นหมอที่รับการอบรมด้านนี้มาเป็นอย่างดี ก็จะทำให้เราสามารถพูดคุยเรื่องแบบนี้ได้อย่างเปิดเผยมากขึ้นในสถานการณ์เช่นนี้[60]

“สถาบันการแพทย์โดยทั่วไปสนับสนุนคนข้ามเพศ เพียงแต่ยังไม่มีความเชี่ยวชาญอย่างกว้างขวาง” จริยา ก. ผู้หญิงข้ามเพศอายุ 39 ปี บอก เธอเริ่มใช้ฮอร์โมนตั้งแต่อายุ 15 ปี[61] ตอนแรกเธอพยายามปรึกษากับแพทย์ “หนูจะเป็นเหมือนค้างคาว” แพทย์คนนั้นบอกเธอ “ดิฉันถามเขาว่าหมายถึงอะไร เขาบอกว่า ค้างคาวก็คือสัตว์ครึ่งหนูครึ่งนก และดิฉันก็จะเป็นแบบนั้น เธอไม่มีทางเป็นผู้ชายเต็มร้อย หรือเป็นผู้หญิงเต็มร้อยได้” เธอบอก “มันทำให้ดิฉันไม่อยากไปพบแพทย์”[62]

แม่ของเพื่อนซึ่งเป็นพยาบาลเป็นคนที่คอยฉีดฮอร์โมนให้กับจริยา ก. อยู่ช่วงหนึ่ง จากนั้นเธอก็เปลี่ยนไปใช้ยาพรีมาริน (เป็นฮอร์โมนแบบกิน) ระหว่างเรียนมหาวิทยาลัย เธอมาหยุดใช้ฮอร์โมน หลังถูกนายจ้างบังคับให้ตรวจสุขภาพ และแพทย์ที่ตรวจบอกว่า ปริมาณฮอร์โมนที่เธอใช้อาจทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย “หมอบอกให้ดิฉันหยุดดื่ม แต่ดิฉันไม่เคยดื่มเหล้า ฮอร์โมนเหล่านี้กำลังทำอันตรายกับร่างกายดิฉัน ดิฉันจึงต้องหยุดใช้” เธอกล่าว “หลายคนที่มีปัญหากับไตและต่อมไทรอยด์จากการใช้ฮอร์โมนเป็นยานอกข้อบ่งใช้ เนื่องจากขาดการดูแลของผู้เชี่ยวชาญ”[63]

ในปัจจุบัน การให้ฮอร์โมนทดแทนไม่เป็นส่วนหนึ่งของระบบประกันสุขภาพในประเทศไทย และไม่ใช่บริการที่มีอยู่ในโรงพยาบาลของรัฐ[64] ในปี 2560 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แจ้งต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่า บุคคลอินเตอร์เซ็กสามารถเข้าถึงการผ่าตัดเพื่อยืนยันเพศสภาพได้ ผ่านระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่ไม่มีการใช้ขั้นตอนปฏิบัติเดียวกันกับบุคคลข้ามเพศ[65] ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลินิกของเอ็นจีโอสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศได้เริ่มเข้ามาอุดช่องว่าง และมีการให้ฮอร์โมนที่มีการกำกับดูแล[66] อย่างไรก็ดี บุคคลข้ามเพศหลายคนในประเทศไทยยังคงซื้อฮอร์โมนจากร้านขายยา เพราะไม่ต้องใช้ใบสั่งยาจากแพทย์ และนำมาฉีดด้วยตนเอง[67]

อุปสรรคในการเข้าถึงการให้ฮอร์โมนอย่างมีการกำกับดูแลของบุคคลข้ามเพศในประเทศไทยได้แก่ ข้อบังคับปี 2552 ของแพทยสภาแห่งประเทศไทย แม้จะมีจุดประสงค์เพื่อยืนยันและกำหนดช่องทางเพื่อการทำศัลยกรรมเพื่อยืนยันเพศสภาพ แต่ข้อบังคับนี้กำหนดให้บุคคลข้ามเพศต้องเข้ารับการประเมินด้านจิตเวช เพื่อให้มีคุณสมบัติที่จะได้รับการให้ฮอร์โมนอย่างมีการกำกับดูแล และกำหนดว่าการให้ฮอร์โมนทดแทนเป็นขั้นตอนหนึ่งของแนวทางที่นำไปสู่การทำศัลยกรรม ซึ่งไม่ใช่ว่าบุคคลข้ามเพศทุกคนต้องการไปในเส้นทางนี้[68] อันที่จริงแล้ว งานวิจัยชี้ให้เห็นว่า ผู้ชายข้ามเพศและผู้หญิงข้ามเพศส่วนน้อยในประเทศไทยต้องการทำศัลยกรรม การกำหนดให้ต้องเข้ารับการให้ฮอร์โมนอย่างมีการกำกับดูแลก่อนทำศัลยกรรม จึงอาจถูกมองว่าเป็นหลักเกณฑ์ที่กีดกันพวกเขา[69]

การเข้าถึงอย่างไม่เป็นทางการซึ่งเป็นผลตามมา และการให้ฮอร์โมนทดแทน จึงกลายเป็นความเสี่ยงที่สำคัญต่อสุขภาพของบุคคลข้ามเพศ

ตามข้อมูลของสหพันธ์​วางแผนครอบครัวระหว่างประเทศ (International Planned Parenthood Federation - IPPF) การให้ฮอร์โมนที่ขาดการกำกับดูแลทางการแพทย์ของบุคคลข้ามเพศ “มักเป็นผลมาจากการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญต่อการรักษาบุคคลข้ามเพศ หรือเป็นเพราะบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ ไม่ประสงค์จะจ่ายฮอร์โมนให้กับบุคคลข้ามเพศ”[70] IPPF มีข้อสังเกตว่า

ส่วนใหญ่แล้ว บุคคลมักได้รับข้อมูลเกี่ยวกับประเภทและโดสของยาเม็ดฮอร์โมนที่ใช้กิน หรือฮอร์โมนที่ใช้ฉีด จากคำบอกเล่าของเพื่อน ๆ หรือเป็นข้อมูลจากในอินเตอร์เน็ต ซึ่งข้อมูลจากทั้งสองแหล่งอาจไม่ถูกต้อง แม้ข้อมูลที่ได้รับจะถูกต้อง แต่บุคคลข้ามเพศก็ยังอาจใช้ฮอร์โมนในปริมาณที่มากและ/หรือบ่อยเกินไป เพื่อเร่งการเปลี่ยนแปลงให้เป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย การใช้ฮอร์โมนโดยไม่มีการกำกับดูแลเช่นนี้ อาจส่งผลกระทบด้านลบต่อการทำงานของตับหรือหัวใจ และเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ความเสี่ยงจะยิ่งเพิ่มขึ้นถ้ามีการดื่มสุราร่วมด้วย ซึ่งเป็นสาเหตุที่ส่งผลกระทบต่อตับอยู่แล้ว[71]

สมาคมวิชาชีพเพื่อสุขภาพคนข้ามเพศ (World Professional Association for Transgender Health - WPATH) ซึ่งเป็นสมาคมสหวิชาชีพระหว่างประเทศ ที่มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการดูแล การศึกษา การวิจัย การรณรงค์กดดัน นโยบายสาธารณะและการเคารพต่อสุขภาพของบุคคลข้ามเพศ ที่มีพื้นฐานจากหลักฐานข้อมูล และมีสมาชิกกว่า 700 คนทั่วโลก ยังได้ออกแนวปฏิบัติเพื่อการให้ฮอร์โมนสำหรับบุคคลข้ามเพศ โดยแม้ว่า WPATH ให้ข้อแนะนำถึงหลักเกณฑ์สำคัญที่กำหนดคุณสมบัติของบุคคลข้ามเพศที่ควรเข้ารับการให้ฮอร์โมนทดแทน แต่ได้มีข้อสังเกตด้วยว่า

ในบางสภาพการณ์ อาจมีความเหมาะสมที่จะให้ฮอร์โมนกับผู้ป่วย ซึ่งอาจไม่เข้าหลักเกณฑ์นี้ทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น การสนับสนุนการให้ฮอร์โมนที่มีการกำกับดูแลในปริมาณที่เปิดเผย เพื่อเป็นทางเลือกไม่ให้บุคคลหันไปใช้ฮอร์โมนที่ผิดกฎหมายหรือขาดการกำกับดูแล หรือเป็นทางเลือกให้กับผู้ป่วยที่ได้เริ่มกระบวนการเปลี่ยนผ่านทางเพศสภาพแล้ว และผู้ที่เคยมีประวัติการใช้ฮอร์โมนมาก่อนแล้ว[72]

ดังที่จะกล่าวถึงในช่วงท้ายของรายงาน อุปสรรคเชิงนโยบายต่อการเข้าถึงฮอร์โมนในประเทศไทย รวมทั้งปัญหาตราบาปและการเลือกปฏิบัติที่เกิดขึ้นกับบุคคลข้ามเพศ ในระหว่างที่พยายามเข้าถึงบริการดูแลสุขภาพโดยทั่วไปแล้ว มีลักษณะเป็นการละเมิดสิทธิที่จะเข้าถึงบริการด้านสุขภาพสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จึงเป็นเรื่องน่าประหลาดใจที่ประเทศไทยยังคงไม่ให้บริการเหล่านี้ แม้ว่าศัลยแพทย์ในไทยได้เริ่มให้บริการรักษาเพื่อยืนยันเพศสภาพแล้วตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970 และรัฐบาลก็ได้โฆษณาว่าไทยเป็นจุดหมายปลายทางด้านบริการดูแลสุขภาพของบุคคลข้ามเพศ[73] นอกจากนั้น แม้ว่าบุคคลที่เข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ภายนอก อาจไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเพศสภาพตามกฎหมายได้ เท่ากับปล่อยให้พวกเขาต้องตกเป็นเป้าหมายการเลือกปฏิบัติ และการดูหมิ่นศักดิ์ศรีต่อไป แม้ว่าพวกเขาจะเคยเข้าถึงและเคยได้รับการดูแลเพื่อยืนยันเพศสภาพของตนมาก่อน

การจ้างงาน

“ปัญหาท้าทายใหญ่สุดในชีวิตดิฉันคือการหางานทำ ดิฉันเคยหัวหน้านักศึกษา และเป็นนักศึกษาดีเด่น ตอนที่ธนาคารโทรมาสัมภาษณ์งาน คำถามแรกกลับเป็นเรื่องเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศของดิฉัน ซึ่งไม่เกี่ยวอะไรเลยกับความสามารถในการทำงาน”

- สร้อย ว., ผู้หญิงข้ามเพศอายุ 37 ปี, พัทยา 21 มกราคม 2563

การขาดการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมายในประเทศไทย ได้ส่งผลกระทบด้านลบต่อความสามารถของบุคคลข้ามเพศในแง่การจ้างงาน และสิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างมีศักดิ์ศรีและความเคารพ ประกอบกับทัศนะด้านลบของสังคม ทำให้บุคคลข้ามเพศเสียเปรียบอย่างยิ่งในแง่การหางานทำ และการรักษางานนั้นไว้

บุคคลข้ามเพศหลายคนบอกกับฮิวแมนไรท์วอทช์บอกว่า พวกเขาถูกเลือกปฏิบัติตอนสมัครงาน เนื่องจากอัตลักษณ์ทางเพศของตนเอง ไม่ตรงกับคำสรรพนามในบัตรประจำตัวที่ราชการออกให้ พวกเขายังอธิบายว่าต้องเผชิญกับทัศนคติที่ต่อต้านคนข้ามเพศในระหว่างการสัมภาษณ์งาน และถูกเลือกปฏิบัติด้านการจ้างงานอย่างชัดเจน

ผู้หญิงข้ามเพศหลายคนที่ให้สัมภาษณ์กับฮิวแมนไรท์วอทช์ ทำงานในอุตสาหกรรมด้านความงาม ซึ่งถือเป็นอาชีพเฉพาะทางและเป็นวงการที่มักให้การยอมรับบุคคลข้ามเพศมากกว่าอาชีพอื่น[74] ทั้งการทำงานในตำแหน่งของพนักงานขายเครื่องสำอาง ช่างแต่งหน้า และการประกวดนางงาม ผู้ให้สัมภาษณ์บางคนมีความสุขกับการทำงานนี้ ส่วนคนอื่นบอกว่า พวกเขาต้องจำใจประกอบอาชีพนี้ เพราะไม่สามารถหางานอื่นทำได้ แม้ว่าบางคนจะเรียนบัญชีหรือพยาบาลมาก็ตาม

นักวิจัยได้บันทึกข้อมูลการเลือกปฏิบัติด้านการจ้างงานต่อบุคคลข้ามเพศในประเทศไทย ในการศึกษาปี 2562 ของเครือข่ายคนข้ามเพศเอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific Transgender Network - APTN) และ Curtin University titled ที่ชื่อว่า “งานที่ถูกปฏิเสธ: การตรวจสอบการเลือกปฏิบัติด้านการจ้างงานด้วยเหตุแห่งอัตลักษณ์ทางเพศในประเทศไทย” นักวิจัยได้ส่งประวัติส่วนบุคคล​ 1,600 ชิ้นเพื่อสมัครงานในตำแหน่งงานแบบเริ่มต้น 800 งาน (ใบสมัครสองใบสำหรับงานแต่ละตำแหน่ง) ในประเทศไทย[75] โดยมีเป้าหมายเป็นงานสี่ประเภท ได้แก่ สามประเภทเป็นงานสำหรับผู้จบมหาวิทยาลัย (ตำแหน่งงานด้านบัญชี ภาษา และคอมพิวเตอร์ไซแอนซ์) และอีกหนึ่งประเภทสำหรับผู้จบการศึกษาระดับโรงเรียนมัธยม[76] โดยในประวัติส่วนบุคคล​แต่ละชิ้น มีการใช้คำนำหน้านามแบบสุ่ม บางฉบับเป็นของบุคคลข้ามเพศ บางฉบับเป็นของบุคคลตรงเพศ ประวัติส่วนบุคคลที่เป็นของบุคคลข้ามเพศ จะมีการเขียนข้อมูลในลักษณะที่ระบุถึง “คำระบุเพศและเพศสภาพ (เช่น ‘เพศ: ชาย, เพศสภาพ: หญิง’)” หรือ “การใช้คำสรรพนามที่ตรงกับเพศตามกำเนิด คู่กับชื่อของบุคคลที่ตรงกับอัตลักษณ์ทางเพศของบุคคลนั้น”[77] ตามมาตรฐานทั่วไปในประเทศไทย ในประวัติส่วนบุคคลจะมีการติดรูปผู้สมัครงาน ซึ่งตรงกับอัตลักษณ์ทางเพศที่ระบุไว้ในประวัติส่วนบุคคล ผู้สมัครที่ตรงเพศก็จะมีการระบุในลักษณะดังกล่าว “ด้วยการระบุเพศอย่างตรงไปตรงมา และมีการใส่ชื่อและภาพที่ตรงกับเพศนั้น”[78]

พบว่าผู้สมัครที่ส่งประวัติส่วนบุคคล​พร้อมกับคำบ่งชี้อัตลักษณ์ทางเพศว่าเป็นคนข้ามเพศ มักจะไม่ได้รับการเรียกตัวเพื่อไปสัมภาษณ์ เมื่อเทียบกับใบสมัครของผู้ที่ระบุว่าตนเองเป็นคนตรงเพศ

งานวิจัยของ APTN-Curtin University พบว่า:

I. บุคคลข้ามเพศถูกเลือกปฏิบัติในระหว่างการหางานทำในประเทศไทย และมีโอกาสน้อยกว่าคนตรงเพศอย่างมาก ที่จะถูกเรียกตัวให้มาทำงาน

II. แม้จะมีประสบการณ์และคุณสมบัติเท่าเทียมกัน แต่ผู้สมัครงานที่เป็นบุคคลตรงเพศ จะมีโอกาสมากกว่าผู้สมัครงานที่เป็นบุคคลข้ามเพศ ในแง่ที่จะถูกเรียกตัวให้มาทำงาน เป็นสัดส่วนมากกว่า 24.1%

III. ผู้หญิงตรงเพศมีโอกาสมากกว่าที่จะถูกเรียกตัวให้มาทำงาน เมื่อเทียบกับผู้ชายข้ามเพศ เป็นสัดส่วนมากกว่า 42.2%

IV. ตลาดงานเป็นปัญหาท้าทายของผู้สมัครทุกคน จากการส่งใบสมัครงาน 800 ชิ้น พบว่ามีการเรียกตัวเพื่อสัมภาษณ์ผู้สมัครที่มีเพศตรง 177 ครั้ง แต่เป็นปัญหาท้าทายมากยิ่งกว่าสำหรับผู้สมัครงานที่เป็นบุคคลข้ามเพศ เพราะพบว่ามีการเรียกสัมภาษณ์ผู้สมัครงานที่เป็นบุคคลข้ามเพศเพียง 133 ครั้ง น้อยกว่า 44 ครั้ง แม้ว่าผู้สมัครทั้งสองประเภทมีคุณสมบัติและประสบการณ์เท่าเทียมกัน[79]

ตามข้อมูลที่บันทึกในรายงานนี้ ฮิวแมนไรท์วอทช์พบหลักฐานที่บ่งบอกถึงการเลือกปฏิบัติที่ยังคงเกิดขึ้น ตลอดทั้งกระบวนการจ้างงาน ผู้ให้สัมภาษณ์ส่วนใหญ่ที่มีคุณสมบัติสอดคล้องกับตำแหน่งงาน และมีการเรียกตัวเพื่อไปสัมภาษณ์บอกว่า พวกเขามักได้รับแจ้งข้อมูลดังต่อไปนี้

  • ได้รับแจ้งว่าจะได้งานทำ หากไม่ได้เป็นบุคคลข้ามเพศ
  • มีการสอบถามว่าจะสามารถแต่งกายให้สอดคล้องตามคำบ่งชี้ทางเพศในบัตรประชาชนหรือไม่
  • มีการถามคำถามที่ไม่เหมาะสมและล่วงล้ำความเป็นส่วนตัว

ตามรายละเอียดด้านล่าง ผู้ให้สัมภาษณ์บางคนยังระบุว่า พวกเขายังเคยเจอกับประกาศรับสมัครงานที่ระบุอย่างชัดเจนว่า จะไม่รับพิจารณาบุคคลข้ามเพศ

ทัศนคติต่อต้านการจ้างงานคนข้ามเพศอย่างชัดเจน

บุคคลข้ามเพศหลายคนที่ให้สัมภาษณ์กับฮิวแมนไรท์วอทช์ ได้รับการแจ้งระหว่างการสัมภาษณ์งานว่า จะไม่มีการจ้างงานพวกเขาเนื่องจากเป็นบุคคลข้ามเพศ

สมร น. ผู้หญิงข้ามเพศอายุ 25 ปี มีปัญหาในการหางานทำหลังเรียนจบด้านการท่องเที่ยว เพื่อนซึ่งทำงานในโรงแรมได้พาตัวไปที่โรงแรมเพื่อสัมภาษณ์

คนที่สัมภาษณ์งานบอกว่า น่าเสียดายนะที่คุณเป็นคนข้ามเพศ เพราะถ้าคุณไม่ใช่คนข้ามเพศ เราก็คงจ้างงานคุณแล้วล่ะ [เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น] สองปีที่แล้ว ตอนที่ดิฉันเรียนจบและเริ่มหางานทำ ตอนนั้นกำลังจบใหม่ ๆ ดิฉันจึงรู้สึกทุกข์ใจมากเพราะต้องหางานทำ รู้สึกเสียใจมาก[80]

พอตา พ. ผู้หญิงข้ามเพศอายุ 27 ปีบอกว่า เธอเป็นคนเรียนเก่ง แต่มีปัญหาในการหางานทำ เธอรู้สึกว่าเป็นคนที่เรียนเก่งกว่าเพื่อนนักเรียนคนอื่นในโรงเรียน แต่ถูกปฏิเสธงานเพียงเพราะเป็นบุคคลข้ามเพศ เธอบอกว่า

ดิฉันเป็นเด็กเรียนเก่ง ได้ GPA ดี [เกรดเฉลี่ย] หลังเรียนจบ ดิฉันยังหางานทำไม่ได้ ปัญหาคือ สำหรับบุคคลข้ามเพศ ไม่ว่าเราจะเรียนเก่งแค่ไหน เราก็ไม่สามารถหางานที่เหมาะสมทำได้ หลายอุตสาหกรรมปฏิเสธเรา ไม่ให้เราทำงาน ส่งผลให้พวกเราหลายคนต้องกลายเป็นพนักงานขายบริการ[81]

หนึ่งในงานที่พอตาสมัครไปคือการทำงานเป็นพีอาร์และการทำงานด้านกราฟฟิกดีไซน์ให้กับโรงเรียน เธอบอกกับฮิวแมนไรท์วอทช์ว่า เธอมีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับงานนั้น และทางมหาวิทยาลัยที่เธอเรียนจบก็มีความสัมพันธ์กับนายจ้าง แต่พอตาไม่ได้งานทำหลังการสัมภาษณ์ เธอบอกว่า

พวกเขา [นายจ้าง] หวังว่าดิฉันจะไม่ได้เป็นแบบนี้ หลังการสัมภาษณ์ พวกเขาบอกว่า ไม่น่าเลยที่ดิฉันเป็นบุคคลข้ามเพศ และพวกเขาก็เลือกอีกคนหนึ่งแทน [ผู้สมัครที่เป็นชายตรงเพศ]....นี่ถ้าดิฉันไม่ได้เป็นคนข้ามเพศ ป่านนี้คงได้งานทำไปแล้ว[82]

พอตาจึงได้สมัครงานที่สถานีโทรทัศน์ในท้องถิ่น และไม่ประสบความสำเร็จ แม้จะรู้สึกว่าผู้จัดการฝ่ายจ้างพนักงานมีความเมตตา

กุหลาบ ซ. ผู้หญิงข้ามเพศอายุ 32 ปี ถูกปฏิเสธงานหลายครั้งในระหว่างการสัมภาษณ์ เมื่อผู้สัมภาษณ์เห็นบัตรประจำตัวของเธอ และรู้ว่าเธอเป็นบุคคลข้ามเพศ เธอบอกว่า

ตอนอายุ 22 ปี ดิฉันเริ่มหางานทำ และถูกปฏิเสธงานสี่หรือห้าครั้ง พวกเขามักพูดออกมาห้วน ๆ ว่า ดิฉันไม่มีคุณสมบัติเหมาะสม ทั้งที่ก่อนหน้านี้ได้เรียกตัวให้มาสัมภาษณ์ จากข้อมูลในประวัติส่วนตัวของดิฉัน และนี่เป็นเหตุผลที่พวกเขาให้กับดิฉัน[83]

นายจ้างหลายคนบอกกับ อิเรชิ ส. กะเทย อายุ 24 ปีว่า เธอไม่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับงานเนื่องจากเป็นบุคคลข้ามเพศ อิเรชิ ส. บอกว่า

ในระหว่างการสัมภาษณ์งาน พวกเขาแจ้งให้ทราบอย่างตรงไปตรงมา ว่ารับเฉพาะผู้หญิงและผู้ชาย จากนั้นพวกเขาก็บอกว่าจะไม่จ้างดิฉันแม้จะสามารถทำงานนี้ได้ก็ตาม มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นถึงสามครั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ครั้งหนึ่งเป็นงานของพนักงานขายโทรศัพท์ อีกสองครั้งเป็นงานของพนักงานขายปลีกเครื่องสำอาง ดิฉันเคยมีประสบการณ์ด้านเครื่องสำอางมาก่อน แต่พวกเขาเอาแต่พูดว่าไม่แน่ใจว่าดิฉันจะทำยอดได้ ทำให้ดิฉันร้องห่มร้องไห้ และหยุดสมัครงานไปเลย ดิฉันจึงกลับไปทำงานเป็นช่างแต่งหน้าอิสระแบบเดิม ซึ่งเป็นงานที่มีความมั่นคงน้อยกว่างานขาย[84]

แม้ว่าอุตสาหกรรมด้านความงามดูเหมือนจะเปิดรับกับการจ้างงานผู้หญิงข้ามเพศ แต่กมล พ. ผู้หญิงข้ามเพศ อายุ 34 ปีก็ต้องเจอกับทัศนะที่ต่อต้านคนข้ามเพศ ในระหว่างที่พยายามสมัครงานในแผนกเครื่องสำอางของห้างสรรพสินค้าหลายครั้ง “พวกเขาบอกว่า พวกเขาจ้างเฉพาะผู้หญิง แม้ว่าดิฉันจะมีรูปร่างหน้าตาเหมือนผู้หญิงก็ตาม แต่คำนำหน้าชื่อ [ในบัตรประชาชนของดิฉัน] ระบุว่าดิฉันเป็นผู้ชาย ดิฉันจึงสมัครงานไม่ได้[85]

กานดา บ. ผู้หญิงข้ามเพศอายุ 29 ปี สมัครงานที่โรงงานหลายแห่ง ที่โรงงานแรก ผู้จัดการฝ่ายจ้างงานบอกว่าเธอ “มีคุณสมบัติสูงเกินไป” สำหรับตำแหน่งงาน[86] ส่วนโรงงานที่สอง เธอกล่าวว่า

พวกเขาให้เหตุผลต่าง ๆ นานา จนสุดท้ายผู้จัดการฝ่ายจ้างงานบอกดิฉันตรง ๆ ว่า เพราะดิฉันเป็นผู้หญิงข้ามเพศ และก่อนหน้านี้พวกเขามีประสบการณ์ไม่ดีจากการจ้างงานผู้หญิงข้ามเพศ ผู้จัดการบอกว่า พวกเรามักเป็นคนที่รุนแรง ชอบโต้เถียง พูดเสียงดัง พวกเขาจึงไม่รับดิฉันเข้าทำงาน[87]

แหวน ส., ผู้หญิงข้ามเพศอายุ 25 ปี ซึ่งทำงานเป็นพนักงานเต้นในบาร์ เล่าให้ฟังถึงสองเหตุการณ์ที่เธอต้องเจอกับอคติต่อต้านคนข้ามเพศอย่างชัดเจน ในระหว่างการสมัครงาน ตอนที่เธอสมัครงานในร้านอิเลกทรอนิกส์ นายจ้างบอกว่าพวกเขาไม่จ้างบุคคลข้ามเพศ “เพราะลูกจ้างเดิมที่เป็นคนข้ามเพศชอบดราม่า”[88] หลังเหตุการณ์ครั้งนั้น เธอได้สมัครงานเป็นพนักงานต้อนรับของโรงแรมที่พัทยา และถูกปฏิเสธ เมื่อเธอถามถึงเหตุผล เธอได้รับคำตอบว่า “เพราะผู้หญิงข้ามเพศชอบขโมยแฟนไปจากผู้หญิงแท้”[89]

หลังจากต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติและการปฏิเสธงาน บุคคลข้ามเพศบางคนพยายามหางานนอกระบบทำ[90] หอม ช. ผู้หญิงข้ามเพศอายุ 26 ปี เล่าถึงประสบการณ์ที่ไปฝึกงานขณะเป็นนักศึกษากับตำรวจท่องเที่ยว เพื่อศึกษางานด้านบัญชีการเงิน ในระหว่างการสัมภาษณ์งานวันแรก หอมบอกว่า

ผู้หญิงคนหนึ่งสอบถามดิฉันเกี่ยวกับเอกสาร จากนั้นก็บอกดิฉันว่า “อ้าว เธอเป็น นาย ไม่ใช่เหรอ” จากนั้นก็เดินเข้ามาหาและเอามือแตะที่หน้าดิฉัน ทำให้ดิฉันรู้สึกอับอาย “ดูท้วม ๆ นะ” จากนั้นผู้หญิงคนนั้นก็เริ่มพูดเกี่ยวกับข้าราชการที่เป็นกะเทยคนหนึ่ง และบอกว่าจะไม่จ้างกะเทยหรอก จ้างแต่ผู้หญิงเท่านั้น ดิฉันจึงต้องไปทำงานที่องค์กรของผู้มีความหลากหลายทางเพศ เพราะรู้สึกไม่อาจยอมรับการปฏิบัติแบบนี้ได้[91]

เกี้ยว พ. ผู้หญิงข้ามเพศอายุ 29 ปี กำลังกรอกข้อมูลในใบสมัครงาน จนถึงบรรทัดสุดท้าย เธอจึงเห็น “ข้อความที่ระบุว่าไม่รับบุคคลข้ามเพศ”[92] เกี้ยวบอกว่า “ดิฉันมีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับงาน แต่ต้องหยุดกรอกข้อมูลตรงจุดนั้น ดิฉันคิดว่าอาจมีตำแหน่งงานที่กำหนดข้อมูลในทางตรงกันข้าม และได้เริ่มค้นหางานทางอินเตอร์เน็ต โดยเฉพาะองค์กรที่รับคนข้ามเพศเข้าทำงาน ส่งผลให้ดิฉันได้ทำงาน [กับเอ็นจีโอของผู้มีความหลากหลายทางเพศ]”[93]

รัตนา ร. ผู้หญิงข้ามเพศ อายุ 42 ปี ฝันที่จะเป็นครู แต่ตอน ป.6 ช่วงที่เธอเริ่มแสดงอัตลักษณ์ของตนเอง ครูบอกเธอว่า ถ้าอยากเป็นครู เธอจะต้องปกปิดอัตลักษณ์ของตนเอง[94] เธอจึงตัดสินใจที่จะไม่เป็นครู เพราะไม่ต้องการปกปิดว่าเป็นบุคคลข้ามเพศ และต่อมาเรียนจบมหาวิทยาลัยได้ปริญญาด้านการเงิน (แม้ว่าจะไม่ได้เข้าร่วมพิธีพระราชทานปริญญาบัตร เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตให้แต่งกายเป็นหญิง) รัตนาใช้เวลาหางานทำห้าปี ต้องเจอกับปัญหาต่าง ๆ เนื่องจากคำบ่งชี้เพศของเธอ

ที่ทำงานที่ดิฉันติ๊กในช่องว่าเป็น “นาย” [ในใบรับสมัครงาน] บอกว่า พวกเขาไม่สามารถรับดิฉันไว้ได้ เพราะดิฉันแต่งตัวเหมือนผู้หญิง ดิฉันเป็นผู้หญิงคนหนึ่ง พวกเขาเลยไม่รับดิฉัน ส่วนที่อื่นเวลาที่ดิฉันติ๊ก [ในช่อง] ว่าเป็น “นางสาว” พวกเขาก็ไม่รับดิฉันเหมือนกัน เพราะในบัตรประชาชนบอกว่าดิฉันเป็น นาย ดิฉันจึงรู้สึกเหมือนกับว่า แล้วจะติ๊กช่องไหนดี?[95]

เมื่อรัตนาถูกเรียกตัวไปสัมภาษณ์งาน เธอต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติเนื่องจากตัวบ่งชี้เพศ ทั้งยังต้องเจอกับคำถามที่ไม่เหมาะสม

พวกเขาไม่พูดถึงคุณสมบัติของดิฉันเลย ดิฉันไปสมัครงานเป็นเลขานุการ ไปสมัครกับธนาคาร แต่ไม่มีใครพูดถึงคุณสมบัติและผลการเรียนของดิฉันเลย พวกเขาเอาแต่ถามว่า “คุณมีแฟนหรือยัง?” “อยู่กับผู้ชายหรือเปล่า?” “ไปทำหน้าอกมาจากที่ไหน?” “ทำศัลยกรรมเสร็จแล้วหรือ?” หลังจากผ่าน [กระบวนการ] ทั้งหมดแล้ว พวกเขาก็พูดแค่ว่า แล้วจะติดต่อไปนะ แต่ไม่มีใครติดต่อมา เป็นเวลาห้าปีที่ดิฉันรู้สึกตัวเองไม่มีคุณค่าเอาเลย[96]

หลังจากสมัครงานมาห้าปีแล้วไม่มีคนรับเข้าทำงานเลย พ่อของเธอจึงแนะนำให้เธอ “เป็นนายของตัวเอง” และเปิดร้านชำเพื่อให้เธอดูแล[97] นักวิจัยมีข้อสังเกตว่า ผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยที่มีเงินทุนส่วนตัว จะมีทางเลือกในการทำงานที่เป็นของตัวเอง แต่ก็จำกัดเฉพาะผู้ที่เข้าถึงเงินทุนเหล่านี้[98]

เกี้ยว พ. และสมร น. ต่างอธิบายถึงประสบการณ์เมื่อเจอกับประกาศรับสมัครงาน ที่ระบุอย่างชัดเจนว่า จะไม่รับบุคคลข้ามเพศเข้าทำงาน[99] สื่อมวลชนก็ได้รายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในลักษณะเดียวกัน

ยกตัวอย่างเช่น ตามรายงานของสื่อมวลชนเมื่อปี 2562 น้อง เพอร์รี ผู้หญิงข้ามเพศซึ่งมีประสบการณ์งานขายมาห้าปีจากการทำงานกับบริษัทโทรศัพท์มือถือ ได้สมัครเข้าทำงานในบริษัทโทรคมนาคมแห่งหนึ่ง หลังจากยื่นใบสมัครงานแล้ว เธอได้ผ่านการคัดเลือกในรอบแรก และทำคะแนนสอบได้ดี และต่อมาทางบริษัทรับที่จะเข้าทำงาน เมื่อเธอตอบตกลง เธอได้ซื้อตั๋วเดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อเข้าร่วมการปฐมนิเทศ และได้ลาออกจากงานเก่า อย่างไรก็ดี ไม่นานหลังจากนั้น ตัวแทนของบริษัทได้ติดต่อและแจ้งกับเธอว่าได้เกิด “ความผิดพลาด” เกี่ยวกับการสมัครงานของเธอ เนื่องจากคำบ่งชี้เพศในบัตรประจำตัวของเธอระบุว่าเป็น “นาย” แต่อัตลักษณ์ทางเพศของเธอเป็นผู้หญิง

จากนั้นตัวแทนบริษัทก็บอกเธอว่า ทางบริษัทไม่สามารถทำทะเบียนประวัติเธอในระบบออนไลน์ได้ เว้นแต่ว่าเธอจะแต่งตัวเป็นผู้ชายเพื่อมาเข้าร่วมในงานปฐมนิเทศ โดยให้ใส่วิกและให้รัดหน้าอกมาด้วย[100] พวกเขาพยายามให้เหตุผลว่า ความจริงแล้วทางบริษัทไม่มีนโยบายจ้างงานบุคคลข้ามเพศ และอันที่จริงพวกเขาไม่รู้ว่าเธอเป็นบุคคลข้ามเพศ[101] ต่อมามีคนหลายพันคนได้ลงชื่อในจดหมายประท้วงที่ยื่นต่อบริษัท เรียกร้องให้แสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เลือกปฏิบัติเช่นนี้ และเรียกร้องให้บริษัทและหน่วยงานที่รับสมัครงานออกมาขอโทษ[102] ทางบริษัทซัมซุงยังได้สอบสวนเรื่องนี้ในเวลาต่อมา[103]

เหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันได้รับการบันทึกไว้เมื่อปี 2563 เมื่อจูน ผู้หญิงข้ามเพศที่เคยทำงานขายเครื่องสำอางมาเจ็ดปี และจบปริญญาตรีด้านการสื่อสาร ได้สมัครงานกับบริษัทเครื่องสำอางสองแห่งที่อยู่ในเครือของบริษัท SSUP Beauty and Wellness หลังจากได้ยื่นใบสมัครงานแล้ว ฝ่ายทรัพยากรบุคคลได้ตอบกลับมาว่า พวกเขารับพิจารณาเฉพาะผู้หญิงตรงเพศ มีคนลงชื่อในจดหมายประท้วงออนไลน์กว่า 1,500 คน เพื่อสนับสนุนจูน[104] ในวันที่ 2 กันยายน 2563 ทางบริษัทได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า ได้แสดงพันธกิจที่จะปฏิบัติตามมาตรฐานการดำเนินงานด้านธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาการเลือกปฏิบัติต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ (Standard of Conduct for Business Tackling Discrimination against LGBTIQ people)[105]

ในเดือนกันยายน 2561 ผู้มีความหลากหลายทางเพศคนหนึ่งเล่าประสบการณ์สมัครงานเป็นครูในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงในจังหวัดปทุมธานี ประเทศไทย ประกาศรับสมัครงานระบุว่า ทางโรงเรียนจะไม่รับพิจารณาเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้ “มีความเบี่ยงเบนทางเพศ”[106] ในใบสมัครงาน ยังมีคำถามว่าผู้สมัครมีความสนใจในการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างเพศ หรือการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกัน หรือทั้งสอง

การขอให้เปลี่ยนการแต่งกายและการแสดงออก

ผู้หญิงข้ามเพศหลายคนบอกกับฮิวแมนไรท์วอทช์ว่า นายจ้างที่เธอสมัครงานได้บอกระหว่างการสัมภาษณ์งานว่า อยากให้เปลี่ยนการแต่งตัวและให้ทำตัวเหมือนผู้ชาย

บุญศรี พ. ผู้หญิงข้ามเพศ อายุ 30 ปี ได้ส่งประวัติส่วนตัวซึ่งระบุเพศว่าเป็น ชาย (เพศตามกฎหมาย) เมื่อถึงเวลาสัมภาษณ์งาน เธอได้แสดงออกถึงอัตลักษณ์ทางเพศของเพศหญิง ผู้สัมภาษณ์งานจึงสอบถามว่า เธอจะแต่งตัวเป็นผู้ชายมาทำงานหรือไม่[107] บุญศรีกล่าวว่า “ดิฉันตอบว่าไม่ และปฏิเสธที่จะทำงานนั้น เพราะว่าดิฉันเกิดมาเพื่อจะเป็นผู้หญิง และดิฉันรู้สึกว่า พวกเขาไม่ตระหนักถึงความสามารถหรือศักยภาพของดิฉันเลย พวกเขามองเห็นแต่เพศสภาพของดิฉัน ดิฉันจึงปฏิเสธงานนั้น”[108]

สร้อย ว. ผู้หญิงข้ามเพศอายุ 37 ปี ได้รับแจ้งระหว่างการสัมภาษณ์งาน โดยเธอถูกขอให้เปลี่ยนทรงผม เธอบอกว่าผู้จัดการฝ่ายจ้างงานบอกเธอว่า “การจ้างผู้หญิงข้ามเพศจะทำให้บริษัทเสียภาพลักษณ์ และยังทำให้โชคร้ายด้วย”[109]

หทัย พ. ซึ่งเรียนจบพยาบาลและเป็นผู้หญิงข้ามเพศ อายุ 32 ปี ได้รับแจ้งในการสัมภาษณ์งานว่า “พวกเขารับพิจารณาเฉพาะผู้ชายและผู้หญิง แต่ไม่เอากะเทย”[110] เธอจึงสมัครงานที่โรงพยาบาล แต่ “พวกเขาขอให้ดิฉันแต่งตัวเหมือนผู้ชายถ้าอยากได้งาน ดิฉันจึงปฏิเสธไป ทำให้ดิฉันไม่เคยได้ทำงานที่ตรงกับคุณสมบัติของตัวเองเลย”[111] บีม พ. ผู้หญิงข้ามเพศ อายุ 35 ปี ซึ่งเป็นพยาบาลเหมือนกันบอกว่า นายจ้างที่ไปสมัครงาน “ไม่ยอมรับดิฉันเข้าทำงาน เพราะพวกเขาต้องการให้ดิฉันแต่งตัวเหมือนผู้ชาย...ทำให้ไม่เคยได้ทำงานตรงกับที่เรียนมา เพราะทุกครั้งที่ไปสมัครงาน พวกเขาเอาแต่ขอให้ดิฉันแต่งตัวด้วยชุดของผู้ชาย”[112]

บางคนหาทางออกด้วยการเปลี่ยนยุทธวิธี โดยสอบถามนายจ้างล่วงหน้าตอนสมัครงานว่า จะรับพนักงานที่เป็นบุคคลข้ามเพศหรือไม่[113]

บีม พ. และหทัย ว. ต่างบอกว่า ได้รับแจ้งให้ไปสัมภาษณ์งาน และได้ถูกขอให้แต่งชุดพนักงานชาย เมื่อผู้สัมภาษณ์ตระหนักว่าพวกเธอเป็นบุคคลข้ามเพศ จากประสบการณ์เหล่านี้ ทั้งบีมและหทัยบอกว่า พวกเธอจะโทรไปสอบถามก่อนว่า พวกเขาจะรับพนักงานที่เป็นบุคคลข้ามเพศในตำแหน่งงานนั้นหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น บีมบอกว่า

นับจากนั้นมา ดิฉันจะต้องโทรศัพท์ไปสอบถามก่อนสัมภาษณ์งาน โดยจะถามตรง ๆ เลยว่า พวกเขารับพนักงานที่เป็นบุคคลข้ามเพศหรือไม่ ถ้าตอบว่าไม่ ดิฉันก็จะตัดชื่อบริษัทนั้นออกจากลิสต์ไป มันทำให้เกิดภาระงานเยอะมาก เพราะพวกเขายอมรับดิฉันในตอนแรกเมื่อดูจากประวัติส่วนตัว แต่พอไปเจอตัวจริง พวกเขาก็ปฏิเสธดิฉัน เนื่องจากการแสดงออกของดิฉันไม่ตรงกับตัวบ่งชี้ทางเพศ[114]

ลวันนา น. ผู้หญิงข้ามเพศอายุ 31 ปี ซึ่งได้สมัครงานมาหลายบริษัท และถูกปฏิเสธมาหลายครั้ง เล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ว่า “โดยพื้นฐานแล้ว [บริษัทเหล่านี้] บอกว่าพวกเขาไม่ต้องการรับพนักงานที่เป็นคนข้ามเพศ เว้นแต่ดิฉันจะยอมแต่งตัวเหมือนผู้ชาย ยอมตัดผม และยอมสวมเครื่องแบบพนักงานชายไปทำงาน”[115]

ประสบการณ์ที่เผชิญกับความรังเกียจและการเลือกปฏิบัติในระหว่างการจ้างงาน อาจส่งผลให้บุคคลข้ามเพศหลีกเลี่ยงความอับอายเพิ่มเติม และหาทางอื่นเพื่อสร้างรายได้ให้กับตนเอง

การแสวงหาช่องทางการทำงานทางเลือก

ผู้ให้สัมภาษณ์สองคนบอกกับฮิวแมนไรท์วอทช์ว่า พวกเขาเลือกที่จะทำอาชีพนี้ เพราะมีอิสระที่จะแต่งตัวไปทำงานตามที่ต้องการ และยังค้นพบวิธีการที่จะเปลี่ยนคำบ่งชี้เพศที่อยู่ในบัตรประจำตัวได้ด้วย

วิช พ. ผู้ชายข้ามเพศอายุ 36 ปีบอกว่า เขาต้องสวมชุดนักเรียนหญิง (กระโปรง) ตอนอยู่ชั้นประถมศึกษา แต่ “รู้สึกมีความสุขมากสุด” เมื่อเรียนวิชาพละศึกษา (หนึ่งวันต่อสัปดาห์) เพราะเขาจะสามารถสวมกางเกงได้[116] หลังจากชั้นประถมศึกษา วิชเลือกเข้าเรียนสายอาชีพ เพื่อจะได้ไม่ต้องใส่กระโปรง เขาบอกว่า

ผมเลือกบางโรงเรียน เลือกเรียนบางปริญญา เลือกเรียนบางเอก ในระดับมัธยมศึกษา เพียงเพราะว่าผมไม่ต้องการสวมกระโปรง สำหรับผมแล้ว ผมเลือกเรียนสถาปัตย์เพราะในระยะยาว ผมไม่ต้องการสวมกระโปรง[117]

ในรายงานปี 2563 UNDP ระบุว่า “ยกเว้นวิทยาลัยการอาชีพบางแห่งในกรุงเทพฯ และเชียงใหม่” โดยทั่วไปแล้วระบบการศึกษาไทยไม่อนุญาตให้บุคคลข้ามเพศแต่งกายที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศในสถาบันศึกษา[118]

อย่างไรก็ดี แม้ว่าวิชจะจบปริญญาด้านสถาปัตยกรรม แต่ก็ไม่ได้ทำงานเป็นสถาปนิก เพราะคิดว่าจะไม่ทำให้มีเงินมากพอที่จะไปผ่าตัดเพื่อยืนยันเพศของตนเองได้ หรือไม่มีเวลาหยุดมากพอสำหรับกระบวนการเยียวยา เขาจึงเลือกที่จะเป็นเจ้าของธุรกิจออนไลน์ ขายโลชั่นและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร[119]

วิชบอกว่า เขาตั้งใจเลือกอาชีพบางอย่างที่ช่วยให้สามารถเข้าถึงการใช้คำสรรพนามที่เป็นกลางทางเพศ เขาบอกว่า เขามีความปรารถนาตลอดเวลาที่จะเปลี่ยนคำนำหน้านาม จาก “นางสาว” เป็น “นาย”

ผมมีความปรารถนามาตลอดที่จะเปลี่ยนคำนำหน้านาม แม้กระทั่งปัจจุบัน ผมถึงกับคิดที่จะเรียนต่อจนถึงปริญญาเอก เพราะในประเทศไทย ถ้าคุณจบปริญญาเอก คุณสามารถเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อเป็น ดร. ได้ หรือเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ หรือศาสตราจารย์ ผมจึงพยายามหาหลักสูตรที่สามารถเรียนเพื่อเพิ่มพูนความรู้ และเพื่อให้สามารถเปลี่ยนคำนำหน้านามได้[120]

ในอีกตัวอย่างหนึ่ง เมื่อดาว ซ. ผู้หญิงข้ามเพศอายุ 34 ปี ไปทำบัตรประชาชนตอนอายุ 15 ปี และในบัตรระบุว่าเป็น “นาย” เธออยากจะตัดคำสรรพนามนั้นออกไป[121] เธอจึงเข้ารับราชการเป็นทหาร และฝึกอยู่สามปี จนได้รับยศเป็น “จ่า” เธอบอกว่า

ตอนที่ดิฉันได้รับ [ยศ “จ่า”] หลังจบ [การฝึก] แล้ว ดิฉันก็ไปยื่นคำขอแก้ชื่อในบัตรประชาชน เวลาที่มีคนมาเรียกดิฉันว่า “นาย” มันทำให้รู้สึกแปลก ๆ แต่พอมียศทหารแบบนี้ แม้จะไม่ได้บอกว่าตัวเราเป็นผู้ชาย แต่ก็รู้สึกดีขึ้น[122]

ตอนที่เธอได้รับยศ “จ่า” เธอสามารถแก้ชื่อในบัตรประชาชนโดยใส่คำว่า “จ่า” ลงไปก่อนคำบ่งชี้เพศชาย เธอบอกว่าการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ แบบนี้ก็มีความหมายกับตัวเธอมาก “ในสังคมของกะเทย คำว่า ‘นาย เป็นคำที่รุนแรงมาก แต่ [ยศทหาร] ทำให้ฟังดูดีขึ้น[123]

ดังที่จะกล่าวถึงต่อไปในรายงาน การเลือกปฏิบัติต่อบุคคลข้ามเพศ ในแง่ของเพศ เป็นสิ่งที่ขัดต่อกฎหมายทั้งของไทยและระหว่างประเทศ

เสรีภาพในการเดินทาง

แค่การเดินทางจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง อาจเป็นประสบการณ์ที่อันตรายและน่าอับอายสำหรับผู้ซึ่งถือเอกสาร ที่ไม่ตรงกับการแสดงออกทางเพศของตน ทำให้เกิดความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะในระดับสากล ตั้งแต่การถูกกล่าวหาว่าปลอมแปลงเอกสาร ไปจนถึงการตกเป็นเป้าการตรวจสอบอย่างเข้มงวด และการทำให้อับอาย ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประณามการที่บุคคลข้ามเพศตกเป็นเป้าหมายในขั้นตอนด้านความปลอดภัย[124]

เกษม พ. ผู้ชายข้ามเพศในกรุงเทพฯ บอกกับฮิวแมนไรท์วอทช์ว่า เขารู้สึกอายเพราะตำรวจจราจร เมื่อปี 2562 ตำรวจเรียกให้เขาและแฟนสาวหยุด เพื่อตรวจบัตรประชาชนของเขา “พอตำรวจได้บัตรประชาชนของผมไป ก็เอาบัตรมาชูไว้ข้าง ๆ หน้าของผม และถ่ายรูป” เขากล่าว แฟนสาวของเขาถามตำรวจว่า ทำไมต้องทำแบบนี้ “[พวกเขา] บอกว่า ที่ทำแบบนี้เพราะเป็นเรื่องแปลก ก็เลยอยากจะบันทึกเก็บเอาไว้ แล้วไปแชร์ให้เพื่อน ๆ ดู” เกษมกล่าว[125] “ผมรู้สึกว่ามันเกินไปแล้ว มันไม่ใช่หน้าที่การงานของเขาที่จะมาถ่ายรูป และพวกเขาถ่ายรูปเพียงเพราะเหตุผลส่วนตัว [เพราะผมเป็น] บางอย่างที่พวกเขาไม่เคยเห็นมาก่อน[126]

ผู้ให้สัมภาษณ์หลายคนอธิบายว่า ต้องประสบกับปัญหาระหว่างการเดินทางไปประเทศอื่น ทั้งฮ่องกง ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เพราะคำบ่งชี้เพศในหนังสือเดินทางไม่ตรงกับการแสดงออกทางเพศของพวกเขา

ดวงกมล ค. ผู้หญิงข้ามเพศอายุ 27 ปี ในกรุงเทพฯ ซึ่งบอกว่าถูกเจ้าหน้าที่ที่สนามบินกรุงโซลสอบถามด้วยคำถามมากมาย เนื่องจากคำบ่งชี้เพศของเธอ เธอบอกว่า ความสามารถในการเดินทางเป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้เธอสนับสนุนการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมาย ถ้ามีกฎหมายแบบนี้ขึ้นมาจริง “สำหรับดิฉันแล้ว การที่สามารถแก้ไขเอกสารส่วนตัว จะทำให้ดิฉันเดินทางเข้าประเทศอื่นได้ง่ายขึ้น” เธอกล่าว[127]

แม้แต่การเดินทางในประเทศก็กลายเป็นเรื่องซับซ้อนสำหรับคนบางคน บีม พ. ผู้หญิงข้ามเพศอายุ 35 ปี ในกรุงเทพฯ อธิบายว่า “ในประเทศไทย ตอนที่เราขึ้นเครื่องบินหรือใช้รถไฟ เราจะต้องระบุคำบ่งชี้เพศ และเวลาที่ทำเช่นนั้น พวกเขามักจับดิฉันเข้าไปนั่งในโบกี้ของผู้ชาย [รถไฟ] เนื่องจากเพศสภาพของดิฉัน”[128]

ตามข้อบังคับภาพถ่ายในหนังสือเดินทางของไทย ผู้ทำหนังสือเดินทางที่เป็นผู้หญิงจะต้องปล่อยผมลงด้านหลังใบหู เพื่อโชว์หน้า ส่วนผู้ทำหนังสือเดินทางชายจะต้องรวบผมไว้ด้านหลัง ตามกฎหมายแล้ว ผู้หญิงข้ามเพศมีสถานะเป็นเหมือนผู้ชาย จึงต้องถูกกำหนดให้ต้องทำแบบหลัง แต่บางคนก็หลีกเลี่ยงปัญหานี้ด้วยการยอมเขียนข้อความยืนยันในแบบคำขอทำหนังสือเดินทางว่า “ข้าพเจ้าขอยืนยันว่าในการถ่ายรูปเพื่อทำหนังสือเดินทาง ได้มีการปล่อยผมลง หากมีปัญหาใด ๆ เกิดขึ้น ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบอย่างเต็มที่ในทุกด้าน”[129]

III. การพัฒนานโยบายการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมายในประเทศไทย

“ถ้าคุณมีความรู้สึกที่ลึกซึ้งขนาดนั้น คุณก็ควรสามารถแก้ไขเอกสารประจำตัวได้”

- อิระวดี ซ., ผู้หญิงข้ามเพศอายุ 30 ปี ในกรุงเทพฯ , มกราคม 2563

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้เริ่มความร่วมมือกับหน่วยงานสหประชาชาติและกลุ่มภาคประชาสังคม เพื่ออภิปรายและพัฒนาขั้นตอนการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมาย พัฒนาการด้านกฎหมายอย่างอื่นรวมทั้งการอภิปรายเกี่ยวกับการรับรองความสัมพันธ์ของเพศเดียวกัน ได้เกิดขึ้นคู่ขนานไป และอาจมีอิทธิพลต่อทัศนะของผู้กำหนดนโยบายที่มีต่อสิทธิของบุคคลข้ามเพศ แม้กระบวนการปรึกษาหารือจะหยุดชะงักลง แต่หน่วยงานเพื่อสิทธิของบุคคลข้ามเพศได้จัดทำร่างกฎหมายและได้เสนอร่างกฎหมายเพื่อยืนยันเพศสภาพเพื่อการพิจารณา

พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 นับเป็นกฎหมายสำคัญ ซึ่งเผยให้เห็นแนวทางการพัฒนานโยบายเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศอย่างมีส่วนร่วมและให้ความคุ้มครองในประเทศไทย

พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ

ในเดือนกันยายน 2558 พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศเริ่มมีผลบังคับใช้ นับเป็นกฎหมายระดับชาติฉบับแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่กำหนดความคุ้มครองจากการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุเกี่ยวกับการแสดงออกทางเพศเป็นการเฉพาะ[130] กฎหมายใหม่นี้ห้ามอย่างชัดเจนต่อการเลือกปฏิบัติไม่ว่าในรูปแบบใดต่อบุคคลที่ “มีการแสดงออกที่แตกต่างจากเพศ โดยกำเนิด” นับเป็นข้อบทสำคัญเพื่อคุ้มครองบุคคลข้ามเพศ โดยในพระราชบัญญัตินี้ได้ใช้คำว่า “เพศ” ตามที่กล่าวถึงข้างต้น ซึ่งเข้าใจว่าจะครอบคลุมความหมายทั้งของคำว่า เพศ และเพศสภาพ และบางส่วนยังชี้ว่า ครอบคลุมถึงรสนิยมทางเพศ[131]

คณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (คณะกรรมการ วลพ.) เป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายนี้ และเป็นส่วนหนึ่งของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในรายงานปี 2563 ซึ่งเป็นการวิเคราะห์การดำเนินงานตามกฎหมายนี้ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และ UNDP ได้วิเคราะห์กรณีต่าง ๆ ที่คณะกรรมการ วลพ.ได้วินิจฉัยในช่วงห้าปีนับแต่มีกฎหมายนี้[132] นอกจากให้ข้อมูลต่าง ๆ ในรายงานยังมีข้อสังเกตว่า “แรงจูงใจให้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้ เป็นผลมาจากการรณรงค์กดดันของนักกิจกรรมและภาคประชาสังคมระหว่างประเทศ โดยไม่ได้มาจากความสนับสนุนของผู้กำหนดนโยบายหรือกลุ่มการเมือง” เป็นที่น่าเสียใจว่า ในรายงานมีข้อสรุป ซึ่งหมายถึงว่า “ผู้กำหนดนโยบายไม่ได้ให้ความสนับสนุนอย่างชัดเจน ส่งผลให้การบังคับใช้กฎหมายอ่อนแอ” ดังที่จะอภิปรายต่อไป พลวัตที่คล้ายคลึงกันได้เกิดขึ้นในระหว่างความร่วมมือกับผู้กำหนดนโยบายในการจัดทำกฎหมายเพื่อรับรองอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมาย

ระหว่างปี 2559 ถึง 2562 คณะกรรมการ วลพ.ได้วินิจฉัยคำร้อง 27 ข้อ ส่วนใหญ่เป็นกรณีของผู้หญิงข้ามเพศที่ถูกเลือกปฏิบัติ ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2562 คณะกรรมการได้พิจารณาหกคำร้อง ทั้งหมดมาจากผู้หญิงข้ามเพศ กรณีที่กล่าวถึงด้านล่าง สะท้อนถึงปัญหาหลายประการตามข้อมูลในรายงานนี้

ถูกห้ามไม่ให้เข้าเรียน ถูกห้ามเข้าสอบ หรือถูกห้ามไม่ให้ฝึกงาน อันเป็นผลมาจากการแต่งชุดเครื่องแบบ/ทรงผม ที่ไม่ตรงกับเพศสภาพของตนเอง

  • ถูกห้ามไม่ให้ใช้คำสรรพนามที่ตรงกับเพศสภาพของตนเองระหว่างยื่นคำขอทำบัตรประชาชน
  • ไม่ได้รับการจัดให้อยู่ในห้องที่เหมาะกับเพศสภาพของตนเอง ระหว่างเข้ารับการฝึกอบรมกับหน่วยราชการ
  • ร้านอาหารปฏิเสธไม่ให้บริการ
  • สถาบันการศึกษาปฏิเสธไม่รับเข้าทำงาน
  • ถูกเจ้าหน้าที่ของโรงเรียนห้ามไม่ให้สวมเครื่องแบบที่ตรงกับเพศสภาพของตนเอง

ในปี 2559 และ 2560 มีการยื่นข้อร้องเรียนสี่ข้อในแต่ละปี เกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติด้านการศึกษา ซึ่งอาจสรุปได้ว่ารวมถึง “ถูกห้ามไม่ให้เข้าเรียน ถูกห้ามเข้าสอบ หรือถูกห้ามไม่ให้ฝึกงาน ไม่ให้ใช้ภาพถ่ายในใบประกาศนียบัตร ไม่ให้เข้าร่วมพิธีพระราชทานปริญญาบัตร เนื่องจากแต่งชุดเครื่องแบบ/ทรงผม ที่ไม่ตรงกับเพศสภาพของตนเอง” ในแต่ละกรณีของทั้งแปดเรื่อง คณะกรรมการ วลพ.มีความเห็นว่า ผู้ถูกร้องได้กระทำการเลือกปฏิบัติจริง รายงานของ UNDP มีข้อสังเกตว่า คณะกรรมการใช้เวลาในการวินิจฉัยนานกว่าข้อกำหนด 90 วันในหลายกรณี ถือเป็นความล่าช้าอันเป็นผลมาจากการขาดขั้นตอนการดำเนินงานที่ชัดเจน และการขาดความร่วมมือจากฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา และแม้ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นว่ามีการกระทำผิดจริง แต่ก็ไม่ได้สั่งให้มีการลงโทษ

พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นกฎหมายสำคัญ ในแง่การคุ้มครองสิทธิของบุคคลข้ามเพศในประเทศไทย แม้ว่าการบังคับใช้อาจยังมีข้อบกพร่องอยู่บ้าง ดังจะเห็นได้จากการวินิจฉัยของคณะกรรมการ วลพ. ที่สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีกลไกบังคับใช้อย่างเข้มแข็งมากขึ้น และทำให้ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการกำหนดนโยบาย การรับรองอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมายที่เข้าถึงได้และโปร่งใส เพื่อคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลข้ามเพศในประเทศไทย

 

IV. กฎหมายระหว่างประเทศและการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมาย

ในปี 2560 ในระหว่างการทบทวนสถานการณ์ของประเทศไทย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งตรวจสอบการปฏิบัติของรัฐตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights - ICCPR)[133] แสดงความชื่นชมกับรัฐบาล ในการประกาศใช้พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 แต่ยังได้กระตุ้นทางการให้ “เพิ่มความเข้มข้นของมาตรการเพื่อประกันว่า เลสเบียน เกย์ ไบเซ็กชวล บุคคลข้ามเพศ อินเตอร์เซ็ก ชนพื้นเมืองและผู้ไร้รัฐ และผู้เข้าเมือง จะไม่ตกเป็นเหยื่อของการเลือกปฏิบัติและความรุนแรง”[134]

กติกา ICCPR ซึ่งประเทศไทยให้สัตยาบันรับรองเมื่อปี 2539 คุ้มครองสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่เท่าเทียมสำหรับบุคคลทุกคน (ข้อ 3) สิทธิที่จะได้รับการรับรองตามกฎหมายของบุคคลทุกคน (ข้อ 16) สิทธิที่จะมีความเป็นส่วนตัวและการเข้าถึงครอบครัว (ข้อ 17) และสิทธิของบุคคลในวัยที่อาจสมรสได้ในการที่จะสมรสและมีครอบครัว (ข้อ 23(2))

รัฐบาลประเทศต่าง ๆ มีพันธกรณีตามกติกา ICCPR ที่จะต้องประกันความคุ้มครองเท่าเทียมกันตามกฎหมาย และการคุ้มครองตามกฎหมายที่เท่าเทียมสำหรับบุคคลทุกคน โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด รวมทั้งเรื่องเพศ (ข้อ 26) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ยังมีข้อเสนอแนะเป็นการเฉพาะว่า รัฐบาลควรประกันสิทธิของบุคคลข้ามเพศ รวมทั้งสิทธิที่จะได้รับการรับรองเพศสภาพของตนตามกฎหมาย และรัฐควรยกเลิกข้อกำหนดเกี่ยวกับการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมาย ซึ่งเป็นการปฏิบัติมิชอบและไม่ได้สัดส่วน[135]

หลักการข้อ 3 ของหลักการยอกยาการ์ตาว่าด้วยการใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในประเด็นวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ ซึ่งเป็นชุดของหลักการที่จัดทำโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และรับรองโดยรัฐภาคีสหประชาชาติ ระบุว่า

มนุษย์ทุกคนมีสิทธิในการได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ในฐานะบุคคล ในทุกแห่งหน ผู้ที่มีวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศทุกรูปแบบ ต้องได้รับสิทธิทางกฎหมายในทุกด้านของชีวิต วิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศที่แต่ละคนกำหนดเอง ย่อมเป็นส่วนสำคัญของบุคลิกภาพและเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของการกำหนดวิถีชีวิต ศักดิ์ศรีและเสรีภาพ ห้ามมิให้มีการบีบบังคับผู้ใดให้รับกระบวนการทางการแพทย์ รวมถึงการผ่าตัดแปลงเพศ การทำหมัน หรือการรักษาด้วย ฮอร์โมน เพราะเป็นเงื่อนไขเพื่อให้ได้การรับรองอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมาย ต้องไม่มีการนําเอาสถานะอื่น ๆ เช่น การเป็นคู่สมรส หรือ บุพการีมาใช้อ้าง เพื่อกีดกันมิให้อัตลักษณ์ทางเพศของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ได้รับการรับรองตามกฎหมาย ต้องมิให้ผู้ใดถูกกดดันให้ต้องปิดบัง เก็บระงับ หรือปฏิเสธวิถีทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศของตน[136]

ในรายงานที่เสนอต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในปี 2561 วิกตอร์ มาดริกัล-โบร์ลอซ ผู้เชี่ยวชาญอิสระแห่งสหประชาชาติด้านการปกป้องความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศกล่าวว่า

การขาดการรับรองตามกฎหมาย เป็นการปฏิเสธอัตลักษณ์ของบุคคลที่เกี่ยวข้อง จนถึงขั้นที่อาจถือว่าเป็นการละเมิดต่อพันธกรณีขั้นพื้นฐานของรัฐ ดังที่นักวิชาการได้แสดงความเห็นไว้ว่า เมื่อรัฐปฏิเสธไม่ให้มีการเข้าถึงอัตลักษณ์ของบุคคลข้ามเพศตามกฎหมาย สิ่งที่พวกเขาทำ คือการส่งสัญญาณว่า พลเมืองดีควรมีลักษณะแบบใด[137]

การรับรองอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมาย

การจำแนกระหว่างกระบวนการทางการแพทย์และกระบวนการทางปกครอง

มีการยอมรับมากขึ้นว่า มาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศกำหนดให้แยกแยะระหว่างกระบวนการทางกฎหมาย และกระบวนการทางการแพทย์เกี่ยวกับการแปลงเพศของบุคคลข้ามเพศ

เอกสาร “แนวทางต้นแบบการให้บริการสุขภาพ ครอบคลุมแก่บุคคลข้ามเพศและชุมชนบุคคลข้ามเพศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก” ที่เผยแพร่เมื่อปี 2558 โดย WHO, UNDP, USAID, PEPFAR, Asia-Pacific Transgender Network และ Health Policy Project เสนอแนะให้รัฐบาล “ใช้มาตรการที่จำเป็นทั้งปวง ทั้งด้านกฎหมาย การปกครอง และอื่น ๆ เพื่อให้เกิดการยอมรับอย่างเต็มที่ซึ่งอัตลักษณ์ทางเพศ ตามที่กำหนดโดยแต่ละบุคคล โดยไม่ต้องมีเงื่อนไขทางการแพทย์ หรือไม่มีการเลือกปฏิบัติไม่ว่าด้วยเหตุผลใด”[138]

หลายประเทศได้ใช้แนวปฏิบัติที่ดีสุดเพื่อสะท้อนถึงหลักการนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สวีเดน เนเธอร์แลนด์ ไอร์แลนด์ โคลอมเบีย มอลตา และเดนมาร์ก ได้แก้ไขขั้นตอนการรับรองตามกฎหมาย เพื่อตัดเงื่อนไขทางการแพทย์ที่รุกล้ำความเป็นส่วนตัวออกไป เดนมาร์กและมอลตา รวมทั้งอาร์เจนตินา ไม่กำหนดให้แพทย์ต้องวินิจฉัยก่อนถึงจะมีการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมายได้[139] อาร์เจนตินาและมอลตาถือได้ว่าเป็นประเทศที่กำหนดมาตรฐานที่ดีสุดในขั้นตอนการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมาย[140] ในบางประเทศ สภานิติบัญญัติประกาศใช้มาตรฐานเหล่านี้ในกฎหมายและนโยบาย ในประเทศอื่น ๆ ศาลกำหนดให้นำหลักการเหล่านี้มาบังคับใช้เช่นกัน

ในปี 2556 ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการทรมานระบุว่า “ในหลายประเทศ มีข้อกำหนดให้บุคคลข้ามเพศต้องเข้ารับการผ่าตัดทำหมันที่ไม่สมัครใจ เพื่อเป็นเงื่อนไขก่อนจะได้รับการรับรองเพศสภาพที่ต้องการตามกฎหมาย”[141] ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติมีข้อสังเกตว่า มีแนวโน้มที่จะมองว่าการบังคับทำหมันเช่นนี้ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิที่จะไม่ถูกเลือกปฏิบัติ และสิทธิในบูรณภาพทางกาย และเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ “เอาผิดกับการบังคับหรือขืนใจให้ทำหมันในทุกกรณี และให้ความคุ้มครองเป็นพิเศษต่อบุคคลที่เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มชายขอบ”[142]

รายงานปี 2555 ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ซึ่งจัดทำขึ้นตามมติในปี 2554 ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ที่เรียกร้องให้ยุติความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุผลเกี่ยวกับรสนิยมทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ มีข้อสังเกตว่า

ข้อกำหนดในประเทศต่าง ๆ ในแง่การรับรองการเปลี่ยนเพศ มักกำหนดทั้งโดยทางตรงหรือทางอ้อมให้ ผู้ยื่นคำขอต้องเข้ารับการผ่าตัดทำหมันเสียก่อน บางรัฐยังกำหนดให้ผู้ยื่นคำขอรับรองการเปลี่ยนเพศตามกฎหมาย ต้องเป็นผู้ที่ยังไม่แต่งงาน ซึ่งหมายถึงการบังคับให้หย่าในกรณีที่บุคคลนั้นแต่งงานแล้ว[143]

ในแถลงการณ์ร่วมปี 2557 WHO, OHCHR, UN Program on HIV/AIDS (UNAIDS), UNDP, UNICEF และ UNFPA ประกาศว่า “พันธกรณีของรัฐภาคีที่จะต้องเคารพสิทธิด้านสุขภาพ กำหนดให้รัฐเหล่านี้ต้องงดเว้นจากการใช้มาตรการที่เลือกปฏิบัติ ทั้งนี้รวมถึงพันธกรณีที่จะต้องเคารพสิทธิของผู้พิการและบุคคลข้ามเพศ และบุคคลอินเตอร์เซ็ก ซึ่งมีสิทธิที่จะสงวนรักษาความสามารถในการสืบพันธุ์ของตน”[144] หน่วยงานเหล่านี้เรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ “กำหนดหลักประกันตามกฎหมาย เพื่อให้เกิดการตัดสินใจอย่างเต็มที่ เป็นอิสระ และได้รับข้อมูล การขจัดการทำหมันแบบบังคับ ขืนใจ และไม่สมัครใจ และให้ทบทวน แก้ไขเพิ่มเติม และจัดทำกฎหมาย ข้อบังคับ และนโยบายที่เกี่ยวข้อง”[145] ในรายงานปี 2558 ที่จัดทำขึ้นตามมติในปี 2557 ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ว่าด้วยรสนิยมทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ OHCHR เสนอแนะให้รัฐต่าง ๆ เริ่มโดยทันทีที่จะ “ออกเอกสารรับรองอัตลักษณ์ตามกฎหมาย เมื่อมีการร้องขอ ซึ่งสะท้อนถึงเพศสภาพตามที่ต้องการ ขจัดการกำหนดเงื่อนไขที่ละเมิดสิทธิ รวมทั้งการกำหนดให้ต้องทำหมัน การบังคับบำบัด และการบังคับให้หย่า”[146]

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หน่วยงานผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพระหว่างประเทศได้เสดงจุดยืนที่ชัดเจนมากขึ้น เพื่อต่อต้านการกำหนดเงื่อนไขทางการแพทย์ ในการขอการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมาย WPATH เรียกร้องให้ตัดเงื่อนไขที่ต้องทำหมัน ก่อนจะได้รับการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมาย โดยในแถลงการณ์เมื่อปี 2553[147] WPATH ระบุว่า

ไม่ควรกำหนดให้บุคคลต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือการทำหมัน เพื่อเป็นเงื่อนไขก่อนจะได้รับการรับรองอัตลักษณ์ กรณีที่ต้องใส่คำบ่งชี้เพศในเอกสารประจำตัวบุคคล คำบ่งชี้เพศที่ใช้ ควรรับรองเพศในชีวิตจริงของบุคคลนั้น ไม่ว่าจะมีความสามารถในการสืบพันธุ์หรือไม่ก็ตาม คณะกรรมการบริหารของ WPATH กระตุ้นรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ให้เดินหน้าเพื่อขจัดเงื่อนไขเกี่ยวกับการรับรองอัตลักษณ์ รวมทั้งเงื่อนไขที่กำหนดให้ต้องเข้ารับการผ่าตัด[148]

ในปี 2558 WPATH ได้ปรับปรุงแถลงการณ์นี้ เพื่อเน้นย้ำถึงการประณามการบังคับทำหมัน และยังได้วิจารณ์เพิ่มเติมถึงขั้นตอนปฏิบัติที่เข้มงวดและเกี่ยวข้องกับการแพทย์ ที่ถูกกำหนดเป็นเงื่อนไขก่อนการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมาย โดยบอกว่า “ไม่มีการรักษาหรือการวินิจฉัยทางการแพทย์ การผ่าตัด หรือด้านสุขภาพจิตใด ๆ ที่เป็นตัวบ่งชี้เพียงพอต่ออัตลักษณ์ทางเพศของบุคคล จึงไม่ควรมีข้อกำหนดเช่นนี้ก่อนการเปลี่ยนเพศตามกฎหมาย” และ “สถานภาพสมรสและสถานะของพ่อแม่ ไม่ควรส่งผลกระทบต่อการรับรองการเปลี่ยนเพศตามกฎหมาย และการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมายอย่างเหมาะสม ซึ่งควรเป็นสิ่งที่เยาวชนข้ามเพศสามารถเข้าถึงได้”[149]

และในปี 2560 WPATH ได้ปรับปรุงเนื้อหาของแถลงการณ์อีกครั้ง โดยย้ำว่า

WPATH ยืนยันเพิ่มเติมถึงสิทธิของบุคคลทุกคน ที่จะได้รับเอกสารประจำตัว ที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศของตน รวมทั้งเอกสารที่รับรองอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมายของ…. บุคคลข้ามเพศ ไม่ว่าพวกเขาจะแสดงตนหรือมีพฤติการณ์อย่างไร พวกเขาควรได้รับการรับรองอัตลักษณ์ตามที่คาดหวังและสมควรได้ทุกคน อุปสรรคด้านการแพทย์และอื่นใดต่อการรับรองอัตลักษณ์ของบุคคลข้ามเพศ อาจส่งผลร้ายต่อสุขภาพกายและจิต WPATH คัดค้านการกำหนดเงื่อนไขทางการแพทย์ใด ๆ ซึ่งกลายเป็นอุปสรรคของบุคคลที่ประสงค์จะเปลี่ยนเพศตามกฎหมาย หรือเปลี่ยนคำบ่งชี้เพศในเอกสารประจำตัว[150]

สิทธิของเด็กข้ามเพศ

สิทธิที่จะได้รับการรับรองว่าเป็นบุคคลตามกฎหมาย เป็นส่วนหนึ่งของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และได้รับการคุ้มครองตามกติกา ICCPR และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) ซึ่งประเทศไทยให้สัตยาบันรับรองเมื่อปี 2535[151] สิทธิที่จะสงวนรักษาอัตลักษณ์ของตน ได้รับการคุ้มครองตามข้อ 8 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก รวมทั้งด้านต่าง ๆ ของอัตลักษณ์ เช่น สัญชาติ ชื่อ และความสัมพันธ์ทางครอบครัว รวมทั้งอย่างอื่น ประกอบกับสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองจากการแทรกแซงความเป็นส่วนตัวโดยพลการ ในข้อ 17 ของกติกา ICCPR สิทธิในการสงวนรักษาอัตลักษณ์ของตนจึงครอบคลุมแง่มุมต่าง ๆ ของอัตลักษณ์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากเอกสารที่รัฐจัดทำให้บุคคล รวมทั้งเด็ก

อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กกำหนดอย่างชัดเจนว่า “ในการกระทำทั้งปวงที่เกี่ยวกับเด็ก ไม่ว่าจะกระทำโดยสถาบันสังคมสงเคราะห์ของรัฐ หรือเอกชน ศาลยุติธรรม หน่วยงานฝ่ายบริหาร หรือองค์กรนิติบัญญัติ ผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นลำดับแรก”[152] ทั้งนี้รวมถึงการตัดสินใจเกี่ยวกับการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมายของเด็กข้ามเพศ

ข้อ 12 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กกำหนดว่า ในการวินิจฉัยผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก ควรมีการรับฟังและให้ความสำคัญกับความเห็นของเด็กด้วย

1. รัฐภาคีจะประกันแก่เด็กที่สามารถมีความคิดเห็นเป็นของตนได้แล้ว ซึ่งสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นเหล่านั้นโดยเสรีในทุก ๆ เรื่องที่มีผลกระทบต่อเด็ก ทั้งนี้ ความคิดเห็นดังกล่าวของเด็กจะได้รับการพิจารณาตามสมควรแก่อายุและวุฒิภาวะ ของเด็กนั้น
2. เพื่อความมุ่งประสงค์นี้ เด็กจะได้รับโดยเฉพาะอย่างยิ่งโอกาสที่จะมีสิทธิ มีเสียงในกระบวนการพิจารณาทางตุลาการ และทางปกครองใด ๆ ที่มีผลกระทบต่อเด็ก ไม่ว่าโดยตรง หรือโดยผ่านผู้แทน หรือองค์กรที่เหมาะสม ในลักษณะที่สอดคล้องกับระเบียบวิธีปฏิบัติตามกฎหมายภายใน[153]

การที่รัฐบาลบกพร่องในการแก้ไขอุปสรรคของนักเรียนข้ามเพศในประเทศไทย ในแง่การเข้าถึงการศึกษา อาจถือได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิด้านการศึกษา ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก[154] ความคาดหวังด้านเพศสภาพที่มีต่อนักเรียน ยังส่งผลในทางควบคุมจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามกติกา ICCPR[155]

ปรับปรุงแนวปฏิบัติในการวินิจฉัย

ทั้งบัญชีจำแนกทางสถิติระหว่างประเทศของโรคและปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้อง (International Classification of Diseases and Related Health Problems - ICD) ที่ตีพิมพ์เผยแพร่โดยองค์การอนามัยโลก และคู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต (Diagnostic and Statistical Manual - DSM) ที่ตีพิมพ์เผยแพร่โดยสมาคมจิตเวชศาสตร์สหรัฐอเมริกา (American Psychiatric Association - APA) ได้ตัดเนื้อหาของการวินิจฉัย “ภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับ​เพศกำเนิด (GID) และ “การข้ามเพศ (transsexualism)” ออกจากหัวข้อ “ความผิดปรกติด้านจิตใจ” อย่างสิ้นเชิง

ในปี 2555 คณะกรรมการ APA ได้ปรับปรุงคู่มือ DSM ฉบับล่าสุด โดยได้ตัดคำว่า “ภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับ​เพศกำเนิด” ออกไป APA ได้นำคำว่า “ความทุกข์ใจในเพศสภาพ (Gender Dysphoria)” มาใช้แทน โดยกำหนดนิยามอย่างชัดเจนว่าหมายถึงความทุกข์ใจด้านอารมณ์เกี่ยวกับ “ความไม่สอดคล้องอย่างยิ่งระหว่างเพศสภาพตามประสบการณ์/ตามที่แสดงออกของตน กับเพศที่ถูกกำหนดมา” APA ชี้แจงอย่างชัดเจนว่า “เราจำเป็นต้องสังเกตว่า ความไม่สอดคล้องด้านเพศสภาพโดยตัวของมันเอง ไม่ได้เป็นความผิดปรกติด้านจิตใจ องค์ประกอบสำคัญของความทุกข์ใจในเพศสภาพ ได้แก่ ความทุกข์ใจอย่างยิ่งในเชิงการแพทย์ อันเป็นผลมาจากสภาพดังกล่าว”[156]

องค์การอนามัยโลกเห็นชอบต่อบัญชีจำแนกทางสถิติ ICD ฉบับปรับปรุงใหม่ในเดือนมิถุนายน 2562[157] โดยตามแนวปฏิบัติใหม่ของ WHO มีการเปลี่ยนแนวคิดของ “ภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับ​เพศกำเนิด” ให้เป็น “ความไม่สอดคล้องทางเพศ (gender incongruence)” และได้ย้ายเนื้อหาเกี่ยวกับการวินิจฉัยจากเดิมซึ่งอยู่ในบทที่ว่าด้วยความผิดปรกติด้านจิตใจ ไปอยู่ในบทที่ว่าด้วยสุขภาพทางเพศ นับเป็นผลประโยชน์สำคัญต่อวัยรุ่นข้ามเพศ และผู้ใหญ่ข้ามเพศ ซึ่งอาจจำเป็นต้องได้รับการดูแลทางการแพทย์โดยเร็ว ทำให้ไม่ถูกมองว่าเป็นผู้มี “ความผิดปรกติด้านจิตใจ” รัฐบาลมีเวลาจนถึงปี 2565 ในการแก้ไขระบบการวินิจฉัยในประเทศของตน

ตามความเห็นขององค์การอนามัยโลก “การดำเนินงานเช่นนี้สะท้อนถึงหลักฐานว่า อัตลักษณ์ทางเพศทั้งของคนข้ามเพศและอัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลาย ไม่ใช่อาการของปัญหาด้านสุขภาพจิต และการจำแนกเช่นนั้น ทำให้เกิดตราบาปอย่างใหญ่หลวง”[158]

คำบ่งชี้เพศของบุคคลไม่ประสงค์ระบุเพศ

รัฐบาลประเทศต่าง ๆ จำนวนมากขึ้นยอมรับอัตลักษณ์ทางเพศของบุคคลไม่ประสงค์ระบุเพศ อย่างน้อยในเอกสารทางราชการบางประเทศ รวมถึงเนปาล อินเดีย เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เป็นต้น ในสหรัฐอเมริกา 15 รัฐออกเอกสารรับรองอัตลักษณ์ของบุคคลไม่ประสงค์ระบุเพศ รวมทั้งที่ District of Columbia ในปี 2563 มีการเสนอร่างกฎหมายหนังสือเดินทางที่ครอบคลุมเพศสภาพต่าง ๆ เข้าสภา ซึ่งกำหนดให้กระทรวงการต่างประเทศออกหนังสือเดินทางแบบ “X (ไม่ระบุเพศ)” ให้กับบุคคลที่ขอรับหนังสือเดินทาง และเขียนข้อความยืนยันตนเอง (“self-attestation”)[159]

องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization - ICAO) ซึ่งกำหนดมาตรฐานระดับโลกของหนังสือเดินทางสำหรับเครื่องอ่านอัตโนมัติ อนุญาตให้มีการระบุเพศเป็นสามประเภท ได้แก่ เพศหญิง เพศชาย หรือ “X” สำหรับผู้ไม่ระบุเพศ[160] นักวิเคราะห์ได้ชี้ให้เห็นว่า ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ข้อบังคับเกี่ยวกับหนังสือเดินทางระหว่างประเทศ ไม่กำหนดให้ต้องระบุเพศสภาพในเอกสาร โดยเพิ่งมีการระบุเพศเพิ่มเติมภายหลังการรณรงค์กดดันของรัฐบาลสหรัฐฯ ต่อ ICAO ในช่วงทศวรรษ 1970[161]

การตัดคำบ่งชี้เพศจากเอกสารทางราชการ

ในปี 2515 สวีเดนประกาศใช้กฎหมายเกี่ยวกับบุคคลข้ามเพศฉบับแรกในโลก เพื่ออนุญาตให้สามารถเปลี่ยนเพศได้ตามกฎหมาย นับแต่นั้นมา ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกก็เริ่มแก้ไขกฎหมายเช่นกัน โดยมีประเทศต่าง ๆ มากขึ้นที่กำหนดให้มีขั้นตอนการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมาย หลายรัฐบาลที่เคยประกาศใช้กฎหมายกำหนดเงื่อนไขที่เลือกปฏิบัติและเงื่อนไขทางการแพทย์ ก็ได้ปรับปรุงกฎหมายใหม่ เพื่อขจัดอุปสรรคเกี่ยวกับการแพทย์ และบางประเทศได้ขอโทษต่อการกระทำผิดในอดีต[162] ทั้งนี้รวมถึงการมีทางเลือกให้บุคคลสามารถระบุว่าเป็นเพศที่สาม หรือบุคคลไม่ประสงค์ระบุเพศได้ บางประเทศอยู่ระหว่างพิจารณายกเลิกการใช้คำบ่งชี้เพศอย่างสิ้นเชิง[163]

ระบบทะเบียนราษฎรและเอกสารประจำตัวในประเทศไทย รวมทั้งคำสรรพนามที่เป็นกลางทางเพศในภาษาไทย ทำให้รัฐบาลมีโอกาสที่จะเป็นผู้นำในภูมิภาคและระดับโลก ในแง่การรับรองบุคคลข้ามเพศตามกฎหมาย ดังที่กล่าวถึงในรายงานนี้ ตามความเห็นของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ UNDP ระบบฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรของไทยมีข้อมูลเพื่อจำแนกอัตลักษณ์บุคคลมากเพียงพอ (รอยพิมพ์นิ้วมือและเลขประจำตัวบุคคล) เพื่อจะยืนยันอัตลักษณ์ของบุคคล ไม่ว่าเพศสภาพในสภาพปัจจุบันของเขาจะตรงกับเพศที่ถูกกำหนดมาตอนกำเนิดหรือไม่ก็ตาม ด้วยเหตุดังกล่าว จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใส่คำบ่งชี้เพศในบัตรประชาชน เพื่อป้องกันการปลอมแปลงอัตลักษณ์ แม้อาจมีความจำเป็นในการจัดเก็บและติดตามข้อมูลที่จำแนกตามเพศสภาพ เพื่อตรวจสอบและให้การเยียวยาเมื่อเกิดความไม่เท่าเทียมและการเลือกปฏิบัติขึ้นกับผู้หญิงและเด็กผู้หญิง ในแง่สิทธิด้านสุขภาพ การศึกษา และเศรษฐกิจ การปฏิบัติในแง่การจัดการข้อมูล ควรมีความสอดคล้องกับการปฏิบัติและกฎหมายเกี่ยวกับการเก็บ การรักษา และการคุ้มครองข้อมูลอย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะกรณีซึ่งเป็นข้อมูลที่มีความอ่อนไหว และผลกระทบอย่างกว้างขวางที่อาจเกิดขึ้นกับบุคคล กรณีที่มีการรั่วไหลหรือการนำข้อมูลไปเผยแพร่อย่างไม่เหมาะสม

หลักการยอกยาการ์ตา +10 (YP+10) ซึ่งเป็นการปรับปรุงหลักการยอกยาการ์ตาเดิม ระบุว่า

บุคคลทุกคนมีสิทธิในการได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย โดยไม่จำเป็นต้องอ้างอิง หรือไม่จำเป็นต้องมีการระบุหรือเปิดเผยเพศ เพศสภาพ รสนิยมทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ การแสดงออกทางเพศ หรือคุณลักษณะทางเพศ บุคคลทุกคนย่อมมีสิทธิได้รับเอกสารประจำตัว รวมทั้งใบสูติบัตร ไม่ว่าจะมีรสนิยมทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ การแสดงออกทางเพศ หรือคุณลักษณะทางเพศอย่างไรก็ตาม บุคคลทุกคนย่อมมีสิทธิในการเปลี่ยนแปลงข้อมูลเกี่ยวกับเพศสภาพของตนในเอกสารเหล่านั้น ซึ่งเป็นเอกสารที่ระบุถึงข้อมูลเกี่ยวกับเพศสภาพ[164] [เน้นโดยผู้เขียน]

หลักการยอกยาการ์ตา+10 กระตุ้นให้รัฐบาล

ประกันว่าเอกสารประจำตัวอย่างเป็นทางการ ครอบคลุมเฉพาะข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้อง ชอบด้วยเหตุผล และจำเป็นตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อเป้าประสงค์ที่ชอบธรรม และเป็นเหตุให้ต้องยุติการใส่ข้อมูลด้านเพศและเพศสภาพของบุคคลในเอกสารประจำตัว รวมทั้งใบสูติบัตร บัตรประชาชน หนังสือเดินทาง และใบขับขี่ และในเอกสารที่แสดงสภาพบุคคล

ในรายงานต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 วิกตอร์ มาดริกัล-โบร์ลอซ ผู้เชี่ยวชาญอิสระแห่งสหประชาชาติด้านการปกป้องความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศกล่าวว่า “แนวคิดที่ว่ามีบรรทัดฐานทางเพศ อันเป็นเหตุให้อัตลักษณ์ทางเพศบางอย่าง ‘ผิดแผก หรือ เบี่ยงเบน ไป มีพื้นฐานมาจากแนวคิดดั้งเดิมที่จะต้องถูกท้าทาย ทั้งนี้เพื่อให้มนุษยชาติทุกคนสามารถเข้าถึงสิทธิมนุษยชน[165]

รายงานของมาดริกัล-โบร์ลอซ ได้กล่าวถึงความก้าวหน้า และการขาดความก้าวหน้า ในแง่การรับรองอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมายในระดับโลก และในมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเขาเขียนไว้ว่า

ระบบกฎหมายจะต้องทบทวนอย่างสม่ำเสมอและรอบคอบ ถึงเหตุผลเบื้องหลังของการเก็บและแสดงข้อมูลบางประการ และระเบียบของรัฐบาลเกี่ยวกับการจัดการข้อมูล ซึ่งต้องครอบคลุมข้อพิจารณาที่แยกแยะถึงความจำเป็นในการเก็บ และความจำเป็นในการแสดงข้อมูลเหล่านั้น ด้วยเหตุดังกล่าว ในฐานะผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้อง ข้าพเจ้ามีความสงสัยอย่างยิ่งถึงความจำเป็นที่แท้จริง ของการแสดงคำบ่งชี้เพศอย่างกว้างขวางในเอกสารทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นการตอบสนองความจำเป็นที่ไม่มีอยู่จริงอีกต่อไป และได้ถูกทดแทนด้วยความจำเป็นอื่นมานานแล้ว หรือยังเป็นการยึดติดกับหลักการเหตุผล ที่ไม่ควรมีการนำมาใช้ตั้งแต่แรก หลักการพื้นฐานขึ้นอยู่กับว่า รัฐต้องงดเว้นจากการรวบรวมและแสดงข้อมูลใด ๆ หากปราศจากเป้าประสงค์ที่ชอบธรรม ได้สัดส่วน และจำเป็น

บุคคลข้ามเพศที่ให้สัมภาษณ์ในรายงานนี้ แสดงความเห็นประการต่าง ๆ เกี่ยวกับแนวทางที่ดีสุด สำหรับแผนของรัฐบาลที่จะจัดทำนโยบายการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมาย เนื่องจากคำบ่งชี้เพศในเอกสารประจำตัวของคนไทย เป็นสิ่งที่รับรู้ได้จากคำสรรพนามที่ใช้ หลายคนจึงบอกกับฮิวแมนไรท์วอทช์ว่า พวกเขาเห็นว่ามีคำสรรพนามที่เป็นกลางทางเพศซึ่งแสดงความเคารพและมีการใช้กันอยู่ทั่วไป ที่อาจนำมาใช้เพื่อช่วยให้พวกเขาได้รับการรับรองทางกฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพและโดยทันที

“ถ้าถามว่าดิฉันต้องการเปลี่ยนคำบ่งชี้เพศในบัตรประชาชนหรือไม่ ดิฉันคิดว่าไม่ควรใส่เลยจะดีกว่า” ละไม พ.กล่าว “ดิฉันรู้สึกว่าเราควรสามารถใช้คำว่า “คุณ” แทนได้ เพราะเป็นคำพูดที่เหมาะสมและแสดงความเคารพอย่างมาก”[166] “ดิฉันเห็นว่า ไม่ควรใส่คำบ่งชี้เพศเลย” เกี้ยว พ. ผู้หญิงข้ามเพศอายุ 29 ปีกล่าว “คำว่า ‘คุณ’ ดูเหมาะสมดีแล้ว ดิฉันไม่ต้องการคำว่า ‘นางสาว’ ดิฉันต้องการคำว่า คุณ หรือไม่ใส่อะไรเลย”[167] หวาน ก. อายุ 30 ปีกล่าวว่า “ดิฉันจะรู้สึกดีขึ้นถ้ามีคนเรียกว่าเป็น คุณ แม้ว่าทุกวันนี้ ใจจริงก็อยากใช้คำบ่งชี้เพศว่า ‘นางสาว’”[168]

บางคนบอกว่า ทุกวันนี้พวกเขาก็ใช้คำว่า “คุณ” เพื่อเป็นเครื่องมือคุ้มครองตัวเองอยู่แล้ว

ฉิมลิน พ. ผู้หญิงข้ามเพศอายุ 34 ปี กล่าวว่า เธอสนับสนุนให้ใช้คำว่า คุณ ในที่สาธารณะ เพื่อคุ้มครองศักดิ์ศรีและความปลอดภัยของตนเอง “ที่หน่วยงานกองทัพแห่งหนึ่ง ดิฉันต้องลงทะเบียนเพื่อขอรับบัตรเข้าออก เวลาที่ดิฉันไปเข้าคิว ทหารที่เป็นผู้ชายเรียกดิฉันว่า ‘นาย” เธอกล่าว

ดิฉันบอกเขาว่า: “เรียกดิฉันว่า คุณ ก็ได้นะ ไม่ต้องใช้คำว่า นาย หรอก เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อหน้าทุกคน ตอนที่เขาเรียกดิฉันว่า นาย ดิฉันจึงสวนกลับไปว่า อยากให้เรียกว่า คุณ ดิฉันรู้สึกอับอาย เนื่องจากมีคนเข้าคิวรอกันยาวเหยียด และสงสัยว่าทำไมต้องเรียกดิฉันว่า นาย ทำไมไม่เรียกว่า คุณ เพราะมันเป็นเรื่องน่าอับอายมาก ดิฉันรู้สึกอับอายมาก[169]

กำไล น. ผู้หญิงข้ามเพศอายุ 42 ปีกล่าวว่า ที่ผ่านมาเธอหลีกเลี่ยงที่จะไปขอรับบริการดูแลสุขภาพ เนื่องจากเคยมีประสบการณ์ที่ถูกเรียกว่า “นาย” ในคลินิกและโรงพยาบาล เมื่อเวลาผ่านไป เธอบอกว่าเธอและบุคคลข้ามเพศคนอื่นสามารถหว่านล้อมให้เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลท้องถิ่น เรียกทุกคนว่า “คุณ” เมื่ออยู่ในที่สาธารณะได้ ทำให้เธอรู้สึกสะดวกใจที่จะไปขอใช้บริการ[170]

วนิดา ล. ผู้ชายข้ามเพศอายุ 23 ปี ในกรุงเทพฯ กล่าวว่า “ทางที่ดีกว่า อาจจะไม่ต้องใส่ตัวบ่งชี้เพศให้กับใครเลย เราไม่สามารถจับคนยัดเข้าไปในแค่สองกล่อง หรือสองบทบาทได้”[171]

มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชนได้จัดทำร่างกฎหมายเพื่อเสนอให้รัฐบาลพิจารณา โดยร่างปัจจุบัน อยู่ในภาคผนวก 1 ของรายงานนี้ ซึ่งเป็นการรับรองเพศที่สาม โดยเรียกว่า “อื่น ๆ”

การเลือกปฏิบัติด้านการจ้างงาน

ประเทศไทยให้สัตยาบันรับรองทั้งอนุสัญญาฉบับที่ 100 ว่าด้วยค่าตอบแทนที่เท่าเทียมกัน และอนุสัญญาฉบับที่ 111 ว่าด้วยการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและอาชีพขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) อนุสัญญาทั้งสองฉบับยืนยันสิทธิที่จะไม่ถูกเลือกปฏิบัติของคนงานในประเทศไทย

อนุสัญญาว่าด้วยค่าตอบแทนที่เท่าเทียมกัน “ส่งเสริมการจ่ายค่าตอบแทนที่เท่าเทียมในการทำงานที่มีคุณค่าเท่ากันระหว่างหญิงและชาย เป็นการแก้ปัญหาการเลือกปฏิบัติด้านค่าตอบแทนด้วยเหตุผลทางเพศ”[172] อนุสัญญาว่าด้วยการเลือกปฏิบัติ “กำหนดมาตรฐานที่ครอบคลุมเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมด้านโอกาสและการปฏิบัติในโลกของการทำงาน”[173] โดยอนุสัญญาว่าด้วยการเลือกปฏิบัติได้นิยามว่า การเลือกปฏิบัติหมายถึง

(ก) การแยกแยะ การกีดกัน หรือการให้สิทธิพิเศษใด ๆ ด้วยเหตุเนื่องจากเชื้อชาติ สีผิว เพศ ศาสนา ความเห็นทางการเมือง ความเป็นมาด้านชนชาติหรือสังคม อันส่งผลให้เป็นการทำลายหรือบั่นทอนความเท่าเทียมในด้านโอกาสหรือการปฏิบัติในการจ้างงานหรืออาชีพ
(ข) การแยกแยะ การกีดกัน หรือการให้สิทธิพิเศษอื่น ๆ ที่ส่งผลให้เป็นการทำลายหรือบั่นทอนความเท่าเทียมในด้านโอกาสหรือการปฏิบัติในการจ้างงานหรืออาชีพ ซึ่งเกิดจากการค้นพบของสมาชิกที่เกี่ยวข้อง ภายหลังการปรึกษาหารือกับตัวแทนขององค์กรนายจ้างและคนงาน กรณีที่มี และการปรึกษากับหน่วยงานอื่นที่เหมาะสม[174]

อนุสัญญาว่าด้วยการเลือกปฏิบัติกำหนดให้รัฐต้องจัดให้มี “แนวทางการดำเนินงานในเชิงรุกและเชิงบวก เพื่อมุ่งส่งเสริมความเท่าเทียมด้านโอกาสและการปฏิบัติในการจ้างงานและอาชีพ”[175]

กฎหมายระดับประเทศของไทย

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 27 กำหนดว่า

บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน

ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน

การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเหตุอื่นใด จะกระทำมิได้[176]

ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง มาตรฐานแรงงานไทย ความรับผิดชอบทางสังคมของธุรกิจไทยพ.ศ. 2547 (2004) “ห้ามการเลือกปฏิบัติต่อคนงานในหลายเหตุผล รวมทั้ง ‘สัญชาติ เชื้อชาติ ศาสนา ภาษา อายุ เพศ สถานภาพสมรส ทัศนคติส่วนตัวในเรื่องเพศ ความพิการ การติดเชื้อเอชไอวี การเป็นผู้ป่วยเอดส์ การเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน และการเป็นกรรมการลูกจ้าง ความนิยมในพรรคการเมือง หรือแนวความคิดส่วนบุคคลอื่น ๆ’”[177]

 

กิตติกรรมประกาศ

ทีมวิจัยประกอบด้วย Aditi Shetty, เจ้าหน้าที่โครงการอาวุโส, Anjelica Jarrett, ผู้ประสานงานโครงการผู้มีความหลากหลายทางเพศ, และ Kyle Knight, นักวิจัยอาวุโสด้านสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ฮิวแมนไรท์วอทช์ และ Thaninta Wongprasert และ Sawita Rattivarakorn เป็นผู้ทำการวิจัยและเขียนรายงานนี้ เครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย ทำงานเป็นภาคีกับฮิวแมนไรท์วอทช์ เพื่อให้ความสนับสนุนในการทำวิจัย

ผู้อ่านทวนเนื้อหารายงานคือ Graeme Reid, ผู้อำนวยการโครงการสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ, สุณัย ผาสุข, นักวิจัยอาวุโสประจำประเทศไทย, Heather Barr, รักษาการผู้อำนวยการร่วมด้านสิทธิสตรี และบรรณาธิการด้านสุขภาพและสิทธิมนุษยชน, Petra Molnar, บรรณาธิการด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน, Michael Bochenek, ที่ปรึกษากฎหมายอาวุโสด้านสิทธิเด็ก. James Ross, ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายและนโยบาย และ Joseph Saunders, รองผู้อำนวยการโครงการ ซึ่งช่วยสนับสนุนการอ่านทวนด้านกฎหมายและโครงการตามลำดับ เอกรินทร์ เกิดสูง (โก๋) ผู้จัดการเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย, สุภาณี พงษ์เรืองพันธุ์ (เจ) ผู้จัดการโครงการ UNDP-Thailand และศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ช่วยอ่านร่างรายงานและเสนอความเห็น

Anjelica Jarrett ผู้ประสานงานอาวุโสด้านสิทธิของ LGBT และ Yasemin Smallens ผู้ประสานงานด้านสิทธิของ LGBT ให้ความช่วยเหลือด้านบรรณาธิการและการผลิต และการจัดรูปเล่มของรายงาน เรายังได้รับความช่วยเหลือด้านการผลิตจาก Travis Carr, ผู้ประสานงานด้านสิ่งพิมพ์ และ Fitzroy Hepkins, ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายธุรการ

ฮิวแมนไรท์วอทช์ขอขอบคุณบุคคลข้ามเพศทุกคนในประเทศไทย ซึ่งแบ่งปันเรื่องราวของพวกเขา จนทำให้เราสามารถจัดทำรายงานนี้ได้

 

[1] ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม เรื่อง เกณฑ์การรักษาเพื่อแปลงเพศ

[2] สำนักบริหารการทะเบียน, กรมการปกครอง, กระทรวงมหาดไทย (1969), “คู่มือปฏิบัติงานทะเบียนราษฎร” หัวข้อ ชื่อบุคคลและการใช้คำสรรพนาม, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ กรมการปกครอง, น. 44

[3] UNDP และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, “การรับรองอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมายในประเทศไทย: ประมวลกฎหมายและนโยบาย,” พฤษภาคม 2561, https://www.aidsdatahub.org/resource/legal-gender-recognition-thailand-legal-and-policy-review

[4] อ้างแล้ว

[5] ประชาไท, “Our genders need no approval from the state: LGBT activists,”15 มีนาคม 2560, https://prachatai.com/english/node/7006

[6] พระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. 2505

[7] UNDP และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, “การรับรองอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมายในประเทศไทย: ประมวลกฎหมายและนโยบาย,” พฤษภาคม 2561, https://www.aidsdatahub.org/resource/legal-gender-recognition-thailand-legal-and-policy-review

[8] อ้างแล้ว

[9] อ้างแล้ว

[10] UNDP และ USAID, “การเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศในเอเชีย: รายงานประเทศไทย,” 2557, https://www.refworld.org/pdfid/54ed82784.pdf

[11] Timo Ojanen, และคณะ, Intersections of LGBTI Exclusion and Discrimination in Thailand: the Role of Socio-Economic Status,” Sexuality Research and Social Policy, vol. 16 (2562), น. 529–542, https://doi.org/10.1007/s13178-018-0361-x; Winter S. and, Udomsak N., “Male, Female and Transgender: Stereotypes and Self in Thailand,”

International Journal of Transgenderism, vol. 6, No. 1 (2545)

[12] UNDP, “การอดออมแต่ยังไม่ถึงขั้นยอมรับ: การสำรวจประสบการณ์จากการเลือกปฏิบัติ และทัศนะทางสังคมที่มีต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย,” 2 ธันวาคม 2562, https://www.undp.org/content/undp/en/home/librarypage/democratic-governance/tolerance-but-not-inclusion.html

[13] Fongkaew K, Khruataeng A, Unsathit S, Khamphiirathasana M, Jongwisan N, Arlunaek O, Byrne J. "‘Gay Guys are Shit-Lovers’ and ‘Lesbians are Obsessed With Fingers’: The (Mis)Representation of LGBTIQ People in Thai News Media,” Journal of Homosexuality, vol.66(2) (2019), น. 260-273, doi: 10.1080/00918369.2017.1398026

[14] UNDP, “เรื่องราวของตราบาป: สำรวจตราบาปและการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลข้ามเพศในไทย ในแง่การเข้าถึงบริการดูแลสุขภาพและในสภาพแวดล้อมอื่น ๆ” 2563, https://www.th.undp.org/content/thailand/en/home/library/gender_equality/stories-of-stigma.html

[15] ฮิวแมนไรท์วอทช์ สัมภาษณ์ เกษม พ., กรุงเทพฯ 5 พฤษภาคม 2563

[16] สุณัย ผาสุข “Thailand ‘Bad Students’ are Rising Up for Democracy and Change,” Washington Post, 17 กันยายน 2563, https://www.washingtonpost.com/opinions/2020/09/17/thailands-bad-students-are-rising-up-democracy-change/ (เข้าถึงเมื่อ 25 พฤษภาคม 2564)

[17] Bangkok Post, “Rewriting the book on Transgenderism,” 29 ตุลาคม 2561, https://www.bangkokpost.com/life/social-and-lifestyle/1566410/rewriting-the-book-on-transgenderism; Thai PBS, “2-year campaign to include sexual diversity in school curricula succeeds,” 19 พฤษภาคม 2562, https://www.thaipbsworld.com/2-year-campaign-to-include-sexual-diversity-in-school-curricula-succeeds/

[18] UNDP, “เรื่องราวของตราบาป: สำรวจตราบาปและการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลข้ามเพศในไทย ในแง่การเข้าถึงบริการดูแลสุขภาพและในสภาพแวดล้อมอื่น ๆ” 2563 https://www.th.undp.org/content/thailand/en/home/library/gender_equality/stories-of-stigma.html

[19] Manash Shrestha, Pimpawun Boonmongkon, Pimnara Peerawaranun, Nattharat Samoh, Kunakorn Kanchawee & Thomas E. Guadamuz, “Revisiting the ‘Thai gay paradise’: Negative attitudes toward same-sex relations despite sexuality education among Thai LGBT students,” Global Public Health, vol. 15:3 (2020), น. 414-423, DOI: 10.1080/17441692.2019.1684541

[20] อ้างแล้ว

[21] Sam Winter, “Thai Transgenders in Focus: Demographics, Transitions and Identities,” International Journal of Transgenderism, vol. 9:1 (2006), pp. 15-27. DOI: 10.1300/J485v09n01_03

[22] UNESCO มหาวิทยาลัยมหิดล และองค์การแพลน อินเตอร์เนชั่น (ประเทศไทย) “การบุลลี่อย่างมีเป้าหมายต่อนักเรียนมัธยม ซึ่งมักถูกมองว่าเป็นบุคคลข้ามเพศ หรือชอบเพศเดียวกัน ความแพร่หลาย ผลกระทบ แรงจูงใจ และมาตรการเชิงป้องกันในห้าจังหวัดของประเทศไทย” 2557, https://unesdoc.unesco.org/ark:/48223/pf0000227518

[23] ธนาคารโลก, “การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย” 2561, http://documents1.worldbank.org/curated/en/269041521819512465/pdf/124554-WP-PUBLIC-LGBTI-Report2018-full-report-English-23March.pdf

[24] ฮิวแมนไรท์วอทช์ สัมภาษณ์ กุหลาบ ซ., อุบลราชธานี 18 มกราคม 2563

[25] ฮิวแมนไรท์วอทช์ สัมภาษณ์ อนงค์ ร., กรุงเทพฯ 13 มกราคม 2563

[26] อ้างแล้ว

[27] ฮิวแมนไรท์วอทช์ สัมภาษณ์ อรุณ ม., กรุงเทพฯ 5 พฤษภาคม 2563

[28] อ้างแล้ว

[29] องค์การแรงงานระหว่างประเทศ, “อัตลักษณ์ทางเพศและวิถีทางเพศในประเทศไทย,” 2557, https://www.ilo.org/wcmsp5/groups/public/---asia/---ro-bangkok/---sro-bangkok/documents/publication/wcms_356950.pdf

[30] ฮิวแมนไรท์วอทช์ สัมภาษณ์ ดาว ซ., อุบลราชธานี 18 มกราคม 2563

[31] ฮิวแมนไรท์วอทช์ สัมภาษณ์ พอตา พ., เชียงใหม่ 16 มกราคม 2563

[32] อ้างแล้ว

[33] ฮิวแมนไรท์วอทช์ สัมภาษณ์ แหวน ส., พัทยา 21 มกราคม 2563

[34] อ้างแล้ว

[35] ฮิวแมนไรท์วอทช์ สัมภาษณ์ กวาง ม., พัทยา 20 มกราคม 2563

[36] Timo Ojanen, และคณะ, “Intersections of LGBTI Exclusion and Discrimination in Thailand: the Role of Socio-Economic Status,” Sexuality Research and Social Policy, vol. 16 (2562), น. 529–542, https://doi.org/10.1007/s13178-018-0361-x

[37] UNDP, “การอดออมแต่ยังไม่ถึงขั้นยอมรับ: การสำรวจประสบการณ์จากการเลือกปฏิบัติ และทัศนะทางสังคมที่มีต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย,” 2 ธันวาคม 2562, https://www.undp.org/content/undp/en/home/librarypage/democratic-governance/tolerance-but-not-inclusion.html

[38] ฮิวแมนไรท์วอทช์ สัมภาษณ์ อิระวดี ซ. กรุงเทพฯ 14 มกราคม 2563

[39] ฮิวแมนไรท์วอทช์ สัมภาษณ์ วิลิสินี อ., ตรัง, 22 มกราคม 2563

[40] ฮิวแมนไรท์วอทช์ สัมภาษณ์ กุหลาบ ซ., อุบลราชธานี 18 มกราคม 2563

[41] ฮิวแมนไรท์วอทช์ สัมภาษณ์ รัตนา ร., ตรัง, 22 มกราคม 2563

[42] ฮิวแมนไรท์วอทช์ สัมภาษณ์ กำไล น., พัทยา, 20 มกราคม 2563

[43] อ้างแล้ว

[44] ฮิวแมนไรท์วอทช์ สัมภาษณ์ รัตนา ร., ตรัง, 22 มกราคม 2563

[45] ฮิวแมนไรท์วอทช์ สัมภาษณ์ เกี้ยว พ., กรุงเทพฯ 15 มกราคม 2563

[46] ฮิวแมนไรท์วอทช์ สัมภาษณ์ สร้อย ว., พัทยา 21 มกราคม 2563

[47] ฮิวแมนไรท์วอทช์ สัมภาษณ์ สมร น., เชียงใหม่ 17 มกราคม 2563

[48] อ้างแล้ว

[49] ฮิวแมนไรท์วอทช์ สัมภาษณ์ ฉิมลิน พ., พัทยา 20 มกราคม 2563

[50] ฮิวแมนไรท์วอทช์ สัมภาษณ์ ละไม พ., เชียงใหม่ 16 มกราคม 2563

[51] ฮิวแมนไรท์วอทช์ สัมภาษณ์ เกษม พ., กรุงเทพฯ 5 พฤษภาคม 2563

[52] UNDP, “เรื่องราวของตราบาป: สำรวจตราบาปและการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลข้ามเพศในไทย ในแง่การเข้าถึงบริการดูแลสุขภาพและในสภาพแวดล้อมอื่น ๆ” 2563, https://www.th.undp.org/content/thailand/en/home/library/gender_equality/stories-of-stigma.html.

[53] ฮิวแมนไรท์วอทช์ สัมภาษณ์ จริยา ก., กรุงเทพฯ 13 มกราคม 2563

[54] ฮิวแมนไรท์วอทช์ สัมภาษณ์ พอตา พ., เชียงใหม่ 16 มกราคม 2563

[55] ฮิวแมนไรท์วอทช์ สัมภาษณ์ หอม ช., กรุงเทพฯ มกราคม 14 2563

[56] ฮิวแมนไรท์วอทช์ สัมภาษณ์ บุญศรี พ., อุบลราชธานี 18 มกราคม 2563

[57] Louis J. Gooren, Tanapong Sungkaew, Erik J. Giltay & Thomas E. Guadamuz, “Cross-sex hormone use, functional health and mental well-being among transgender men (Toms) and Transgender Women (Kathoeys),” Thailand, Culture, Health & Sexuality, vol. 17:1 (2558), น.: 92-103, DOI: 10.1080/13691058.2014.950982

[58] UNDP, “การอดออมแต่ยังไม่ถึงขั้นยอมรับ: การสำรวจประสบการณ์จากการเลือกปฏิบัติ และทัศนะทางสังคมที่มีต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย,” 2 ธันวาคม 2562, https://www.undp.org/content/undp/en/home/librarypage/democratic-governance/tolerance-but-not-inclusion.html

[59] UNDP, “เรื่องราวของตราบาป: สำรวจตราบาปและการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลข้ามเพศในไทย ในแง่การเข้าถึงบริการดูแลสุขภาพและในสภาพแวดล้อมอื่น ๆ” 2563, https://www.th.undp.org/content/thailand/en/home/library/gender_equality/stories-of-stigma.html.

[60] ฮิวแมนไรท์วอทช์ สัมภาษณ์ บุญศรี พ., อุบลราชธานี 18 มกราคม 2563

[61] ฮิวแมนไรท์วอทช์ สัมภาษณ์ จริยา ก., กรุงเทพฯ 13 มกราคม 2563

[62] อ้างแล้ว

[63] ฮิวแมนไรท์วอทช์ สัมภาษณ์ จริยา ก., กรุงเทพฯ 13 มกราคม 2563

[64] Chokrungvaranont P, Selvaggi G, Jindarak S, และคณะ, “The development of sex reassignment surgery in Thailand: a social perspective,” Scientific World Journal, 2557, doi:10.1155/2014/182981

[65] หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ, “ประสบการณ์ตรง “คนข้ามเพศ” กับความหวังแปลงเพศด้วย "บัตรทอง",” บีบีซีไทย, 13 พฤศจิกายน 2561, https://www.bbc.com/thai/thailand-44822766 (เข้าถึงเมื่อ 20 พฤษภาคม 2564)

[66] UNAIDS, “ความก้าวหน้าของบริการด้านสุขภาพสำหรับบุคคลข้ามเพศในประเทศไทย,” 21 มิถุนายน 2559, https://www.unaids.org/en/resources/presscentre/featurestories/2016/june/20160621_thailand_transgender

[67] Chokrungvaranont P, Selvaggi G, Jindarak S, และคณะ The development of sex reassignment surgery in Thailand: a social perspective. ScientificWorldJournal. 2014;2014:182981. จัดพิมพ์เมื่อ 19 มีนาคม 2557 doi:10.1155/2014/182981

[68] ประกาศแพทยสภาที่ 58/2552 เรื่อง แนวทางการปฏิบัติต่อผู้ที่มีพฤติกรรมสับสนในเพศตนเอง หรือต้องการรักษาเพื่อการแปลงเพศ, http://www.thailawforum.com/Guidelines-sex-change-operations.html

[69] Louis J. Gooren, Tanapong Sungkaew, Erik J. Giltay & Thomas E. Guadamuz (2015) Cross-sex hormone use, functional health and mental well-being among transgender men (Toms) and Transgender Women (Kathoeys) in Thailand, Culture, Health & Sexuality, 17:1, 92-103, DOI: 10.1080/13691058.2014.950982

[70] International Planned Parenthood Federation, “IMAP Statement on hormone therapy for transgender people,” ตุลาคม 2558, https://www.ippf.org/sites/default/files/ippf_imap_transgender.pdf

[71] อ้างแล้ว

[73] Chokrungvaranont P, Selvaggi G, Jindarak S, และคณะ “The development of sex reassignment surgery in Thailand: a social perspective,” Scientific World Journal. 2014;2014:182981 พิมพ์เผยแพร่เมื่อ 19 มีนาคม 2557 doi:10.1155/2014/182981; Jason Gale, “How Thailand Became a Global Gender-Change Destination,” Bloomberg, 26 ตุลาคม 2558, https://www.bloomberg.com/news/features/2015-10-26/how-thailand-became-a-global-gender-change-destination

[74] Busakorn Suriyasarn, “อัตลักษณ์ทางเพศและวิถีทางเพศในประเทศไทย” องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO), 2557, น. 43

[75] “Denied Work: An Audit of Employment Discrimination on the Basis of Gender Identity in Thailand,” Asia Pacific Transgender Network (APTN)และ Curtin University,2562, น. 12

[76] อ้างแล้ว

[77] อ้างแล้ว

[78] อ้างแล้ว

[79] “Denied Work: An Audit of Employment Discrimination on the Basis of Gender Identity in Thailand,” Asia Pacific Transgender Network (APTN) และ Curtin University, 2562, น. 12

[80] ฮิวแมนไรท์วอทช์ สัมภาษณ์ สมร น., เชียงใหม่ 17 มกราคม 2563

[81] ฮิวแมนไรท์วอทช์ สัมภาษณ์ พอตา พ., เชียงใหม่ 16 มกราคม 2563

[82] ฮิวแมนไรท์วอทช์ สัมภาษณ์ พอตา พ., เชียงใหม่ 16 มกราคม 2563

[83] ฮิวแมนไรท์วอทช์ สัมภาษณ์ กุหลาบ ซ., อุบลราชธานี 18 มกราคม 2563

[84] ฮิวแมนไรท์วอทช์ สัมภาษณ์ อิเรชิ ส., กรุงเทพฯ 15 มกราคม 2563

[85] ฮิวแมนไรท์วอทช์ สัมภาษณ์ กมล พ., กรุงเทพฯ 14 มกราคม 2563

[86] ฮิวแมนไรท์วอทช์ สัมภาษณ์ กานดา บ., กรุงเทพฯ 15 มกราคม 2563

[87] อ้างแล้ว

[88] ฮิวแมนไรท์วอทช์ สัมภาษณ์ แหวน ส., พัทยา 21 มกราคม 2563

[89] อ้างแล้ว

[90] Busakorn Suriyasarn, “อัตลักษณ์ทางเพศและวิถีทางเพศในประเทศไทย,” องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO), 2014, น. 94

[91] ฮิวแมนไรท์วอทช์ สัมภาษณ์ หอม ช., กรุงเทพฯ 14 มกราคม 2563

[92] ฮิวแมนไรท์วอทช์ สัมภาษณ์ เกี้ยว พ., กรุงเทพฯ 15 มกราคม 2563

[93] อ้างแล้ว

[94] ฮิวแมนไรท์วอทช์ สัมภาษณ์ รัตนา ร., ตรัง, 22 มกราคม 2563

[95] อ้างแล้ว

[96] อ้างแล้ว

[97] อ้างแล้ว

[98] Nemoto, T., Cruz, T., Iwamoto, M., Trocki, K., Perngparn, U.,Areesantichai, C., . . . Roberts, C., “Examining the sociocultural context of HIV-related risk behaviors among kathoey (male-tofemale transgender women) sex workers in Bangkok, Thailand,” Journal of the Association of Nurses in AIDS Care, 2559, น. 27, 153–165 https://doi.org/10.1016/j.jana.2015.11.003

[99] ฮิวแมนไรท์วอทช์ สัมภาษณ์ เกี้ยว พ., กรุงเทพฯ 15 มกราคม 2563, และ สมร น., เชียงใหม่ 17 มกราคม 2563

[100] Sanook, “โซเชียลวิจารณ์แซ่ด! บริษัทยักษ์ใหญ่เขี่ย "สาวข้ามเพศ" ไม่รับเข้าทำงาน,” 14 กันยายน 2562, https://www.sanook.com/news/7895879/, (เข้าถึงเมื่อ 20 พฤษภาคม 2564)

[101] อ้างแล้ว

[102] Change.org petition (undated), “เรียกร้องให้ Samsung ออกมาแสดงความรับผิดชอบ เลือกปฎิบัติ ไม่รับบุคคลข้ามเพศเข้าทำงาน,” https://www.change.org/p/เรียกร้องให้-samsungthailand-ออกมาแสดงความรับผิดชอบ-เลือกปฎิบัติ-ไม่รับบุคคลข้ามเพศเข้าทํางาน, (เข้าถึงเมื่อ 20 พฤษภาคม 2564)

[103] BlogNone, “ซัมซุงไทยระบุกำลังตรวจสอบข้อเท็จจริง หลังมีข่าวปฏิเสธรับผู้หญิงข้ามเพศเข้าทำงาน,” September 14, 2019, https://www.blognone.com/node/111910, (เข้าถึงเมื่อ 20 พฤษภาคม 2564)

[104] Change.org petition (undated), “ลงชื่อขอให้ Cute Press & Oriental Princess แสดงความรับผิดชอบกรณีไม่รับคนข้ามเพศเข้าทำงาน,” https://www.change.org/p/บริษัทในเครือ-ssup-beauty-and-wellness-ลงชื่อขอให้-cute-press-oriental-princess-แสดงความรับผิดชอบกรณีไม่รับคนข้ามเพศเข้าทํ(เข้าถึงเมื่อ 20 พฤษภาคม 2564)

[105] ข้อมูลอยู่กับฮิวแมนไรท์วอทช์

[106] ภาพออนไลน์จาก https://mgronline.com/live/detail/9610000089105, (เข้าถึงเมื่อ 20 พฤษภาคม 2564)

[107] ฮิวแมนไรท์วอทช์ สัมภาษณ์ บุญศรี พ., อุบลราชธานี 18 มกราคม 2563

[108] อ้างแล้ว

[109] ฮิวแมนไรท์วอทช์ สัมภาษณ์ สร้อย ว., พัทยา 21 มกราคม 2563

[110] ฮิวแมนไรท์วอทช์ สัมภาษณ์ หทัย ว., กรุงเทพฯ 15 มกราคม 2563

[111] อ้างแล้ว

[112] ฮิวแมนไรท์วอทช์ สัมภาษณ์ บีม พ., กรุงเทพฯ 14 มกราคม 2563

[113] ฮิวแมนไรท์วอทช์ สัมภาษณ์ บีม พ., กรุงเทพฯ 14 มกราคม 2563; ฮิวแมนไรท์วอทช์ สัมภาษณ์ หทัย ว., กรุงเทพฯ 15 มกราคม 2563

[114] ฮิวแมนไรท์วอทช์ สัมภาษณ์ บีม พ., กรุงเทพฯ 14 มกราคม 2563

[115] ฮิวแมนไรท์วอทช์ สัมภาษณ์ ลวันนา น., กรุงเทพฯ 15 มกราคม 2563

[116] ฮิวแมนไรท์วอทช์ สัมภาษณ์ วิช พ., กรุงเทพฯ 4 พฤษภาคม 2563

[117] อ้างแล้ว

[118] UNDP, “เรื่องราวของตราบาป: สำรวจตราบาปและการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลข้ามเพศในไทย ในแง่การเข้าถึงบริการดูแลสุขภาพและในสภาพแวดล้อมอื่น ๆ” 2563, https://www.th.undp.org/content/thailand/en/home/library/gender_equality/stories-of-stigma.html

[119] ฮิวแมนไรท์วอทช์ สัมภาษณ์ วิช พ., กรุงเทพฯ 4 พฤษภาคม 2563

[120] ฮิวแมนไรท์วอทช์ สัมภาษณ์ วิช พ., กรุงเทพฯ 4 พฤษภาคม 2563

[121] ฮิวแมนไรท์วอทช์ สัมภาษณ์ ดาว ซ., อุบลราชธานี 18 มกราคม 2563

[122] อ้างแล้ว

[123] อ้างแล้ว

[124] ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานในระหว่างการต่อสู้กับลัทธิก่อการร้าย, “การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานในระหว่างการต่อสู้กับลัทธิก่อการร้าย,” A/64/211, 3 สิงหาคม 2552, https://www2.ohchr.org/english/issues/terrorism/rapporteur/docs/A-64-211.pdf

[125] ฮิวแมนไรท์วอทช์ สัมภาษณ์ เกษม พ., กรุงเทพฯ 5 พฤษภาคม 2563

[126] อ้างแล้ว

[127] ฮิวแมนไรท์วอทช์ สัมภาษณ์ ดวงกมล ค.., กรุงเทพฯ 14 มกราคม 2563

[128] ฮิวแมนไรท์วอทช์ สัมภาษณ์ บีม พ., กรุงเทพฯ 14 มกราคม 2563

[129] UNDP และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, “การรับรองอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมายในประเทศไทย: ประมวลกฎหมายและนโยบาย,” พฤษภาคม 2561, https://www.aidsdatahub.org/resource/legal-gender-recognition-thailand-legal-and-policy-review.

[130] ประเทศไทย พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ, 2558, https://www.hrw.org/news/2015/09/21/thailand-gender-equality-act

[131] Winter, S., “Language and identity in transgender: Gender wars, anatomania, and the Thai Kathoey,” in Problematizing Identity: Everyday Struggles in Language, Culture, and Education, 2013, น. 119-136, DOI: 10.4324/9780203822548

[132] UNDP, “การทบทวนความก้าวหน้าในการบังคับใช้พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558,” 2563, https://www.th.undp.org/content/dam/thailand/docs/UNDP%20TH_Gender%20Equality%20Act.pdf (เข้าถึงเมื่อ 20 พฤษภาคม 2564)

[133] กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR), G.A. res. 2200A (XXI), 21 U.N. GAOR Sup. (No. 16) at 52, U.N. Doc. A/6316 (1966), 999 U.N.T.S. 171,มีผลบังคับใช้เมื่อ 23 มีนาคม 2519 ประเทศไทยให้สัตยาบันรับรองกติกา ICCPR ในปี 2539

[134] คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ, ข้อสังเกตเชิงสรุปต่อรายงานตามวาระฉบับที่ 2 ของประเทศไทย, 25 เมษายน 2560, CCPR/C/THA/CO/2

[135] คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ, ข้อสังเกตเชิงสรุปต่อรายงานตามวาระฉบับที่ 4 ของประเทศไอร์แลนด์, 19 สิงหาคม 2557, CCPR/C/IRL/CO/4; คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ, ข้อสังเกตเชิงสรุปต่อรายงานตามวาระฉบับที่ 7 ของประเทศยูเครน, 22 สิงหาคม 2556, CCPR/C/UKR/CO/7

[136] หลักการยอกยาการ์ตาว่าด้วยการใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในประเด็นวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ (2550), http://www.yogyakartaprinciples.org/principles_en_principles.htm, หลักการข้อ 3

[137]ผู้เชี่ยวชาญอิสระแห่งสหประชาชาติด้านการปกป้องความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศ, A/73/152, 12 กรกฎาคม 2561, http://www.un.org/en/ga/search/view_doc.asp?symbol=A/73/152

[138]Health Policy Project, Asia Pacific Transgender Network, United Nations Development Programme, Blueprint for the Provision of Comprehensive Care for Trans People and Trans Communities in Asia and the Pacific (Washington, DC: Futures Group, Health Policy Project, 2558), น. 112, http://www.healthpolicyproject.com/pubs/484_APTBFINAL.pdf (เข้าถึงเมื่อ 24 มิถุนายน 2564)

[139]รัฐบาลเดนมาร์ก, Parliamentary Gazette, Law 182, Motion to Law amending the Law on the Central Office (Assigning new personal number for people who experience themselves as belonging to the other sex), 30 เมษายน 2557; สำหรับมอลตา โปรดดู http://justiceservices.gov.mt/DownloadDocument.aspx?app=lp&itemid=26805&l=1; รัฐบาลไอร์แลนด์, Oireachtas, Act No. 25 of 2015, Gender Recognition Act of 2015, http://www.oireachtas.ie/documents/bills28/acts/2015/a2515.pdf

[140]IDENTIDAD DE GENERO Ley 26.743 Establécese el derecho a la identidad de género de las personas. Available online at: http://tgeu.org/argentina-gender-identity-law/; สาธารณรัฐโคลอมเบีย, กระทรวงยุติธรรมและกฎหมาย, Decree 1227, 4 มิถุนายน 2558, http://www.minjusticia.gov.co/Portals/0/Ministerio/decreto%20unico/%23%20decretos/1.%20DECRETO%202015-1227%20sexo%20c%C3%A9dula.pdf;

ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์, กฎหมายฉบับวันที่ 18 ธันวาคม 2556 เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมบรรพ 1 ของพระราชบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่ง และฐานข้อมูลประวัติบุคคลในเทศบาลที่เชื่อมโยงกับเงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลงไป และอำนาจหน้าที่ในการแก้ไขเพิ่มเติมการบันทึกข้อมูลทางเพศในใบสูติบัตร, http://wetten.overheid.nl/BWBR0034670/2014-07-01

[141]รายงานของผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการทรมาน, A/HRC/22/53, 1 กุมภาพันธ์ 2556, ย่อหน้า 78

[142]อ้างแล้ว, ย่อหน้า 88

[143]คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ, กฎหมายและการกระทำที่เลือกปฏิบัติ และการใช้ความรุนแรงต่อบุคคลด้วยเหตุผลเกี่ยวกับวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ: รายงานของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ, UN Doc. A/HRC/19/41 (17 พฤศจิกายน 2554), ย่อหน้า 72

[144]OHCHR และคณะ, การขจัดการทำหมันแบบบังคับ ขืนใจ และไม่เป็นไปโดยสมัครใจ, น. 10

[145]อ้างแล้ว, น. 13

[146]คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ, กฎหมายและการกระทำที่เลือกปฏิบัติ และการใช้ความรุนแรงต่อบุคคลด้วยเหตุผลเกี่ยวกับวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ: รายงานของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ, UN Doc. A/HRC/19/41 (17 พฤศจิกายน 2554), ย่อหน้า 79(i)

[147] แถลงการณ์ของ WPATH (16 มิถุนายน 2553), https://amo_hub_content.s3.amazonaws.com/Association140/files/Identity%20Recognition%20Statement%206-6-10%20on%20letterhead.pdf (เข้าถึงเมื่อ 18 ธันวาคม 2561)

[148] อ้างแล้ว

[149]WPATH. แถลงการณ์ของ WPATH ว่าด้วยการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมาย, 19 มกราคม 2558

https://amo_hub_content.s3.amazonaws.com/Association140/files/WPATH%20Statement%20on%20Legal%20Recognition%20of%20Gender%20Identity%201-19-15.pdf (เข้าถึงเมื่อ 1 ธันวาคม 2561)

[150] WPATH. WPATH Identity Recognition Statement, 15 พฤศจิกายน 2560, https://www.wpath.org/media/cms/Documents/Web%20Transfer/Policies/WPATH%20Identity%20Recognition%20Statement%2011.15.17.pdf (เข้าถึงเมื่อ 23 มกราคม 2562)

[151]ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน, G.A. Res. 217(III) A, U.N. Doc. A/RES/217(III) (10 ธันวาคม 1948) ข้อ 6; และโปรดดู อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC), รับรองเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2532, G.A. Res. 44/25, annex, 44 U.N. GAOR Suน. (No. 49) at 167, U.N. Doc. A/44/49 (2532), มีผลบังคับใช้เมื่อ 2 กันยายน 2533, และโปรดดู CRC, ข้อ 7 และ 8; ICCPR, ข้อ 16

[152]CRC, ข้อ 3

[153] อ้างแล้ว

[154] กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR), G.A. res. 2200A (XXI), 21 U.N. GAOR Suน. (No. 16) at 49, U.N. Doc. A/6316 (1966), 993 U.N.T.S. 3,มีผลบังคับใช้เมื่อ 3 มกราคม 2519, ข้อ 13; CRC, ข้อ 28 และ 29

[155] โปรดดู ICCPR, ข้อ 19

[156] American Psychiatric Association, Gender Dysphoria Fact Sheet, 2555. http://www.dsm5.org/documents/gender%20dysphoria%20fact%20sheet.pdf

[157]องค์การอนามัยโลก ICD-11, https://icd.who.int/

[158] องค์การอนามัยโลก, “รายงานของ WHO/Europe– สุขภาพของบุคคลข้ามเพศในบริบทของ ICD-11,” https://www.euro.who.int/en/health-topics/health-determinants/gender/gender-definitions/whoeurope-brief-transgender-health-in-the-context-of-icd-11 (เข้าถึงเมื่อ 25 พฤษภาคม 2564)

[159] “Rep. Khanna Introduces Legislation to Add a Third Gender Onto US Passports,” 25 กุมภาพันธ์ 2563, https://khanna.house.gov/media/press-releases/release-rep-khanna-introduces-legislation-add-third-gender-us-passports

[160] องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ, “Machine Readable Travel Documents, Seventh Edition, 2015.” https://www.icao.int/publications/Documents/9303_p4_cons_en.pdf

[161] Samantha Allen, “How the Rise of Androgyny Changed Our Passports,” 14 ตุลาคม 2561, https://www.thedailybeast.com/how-the-rise-of-androgyny-changed-our-passports

[162] Reuters, “Sweden to offer compensation for transgender sterilizations,” 27 มีนาคม 2560, https://www.reuters.com/article/us-sweden-transgender-sterilisation/sweden-to-offer-compensation-for-transgender-sterilizations-idUSKBN16Y1XA; ฮิวแมนไรท์วอทช์, “Netherlands Apologizes for transgender Sterilizations,” 1 ธันวาคม 2563, https://www.hrw.org/news/2020/12/01/netherlands-apologizes-transgender-sterilizations

[163] Neela Ghoshal, “Transgender, Third Gender, No Gender: Rights Perspectives on Laws Assigning Gender,” Opinio Juris, 8 กันยายน 2563, https://www.hrw.org/news/2020/09/08/transgender-third-gender-no-gender-part-i

[164] หลักการยอกยาการ์ตาพลัสเท็น: หลักการเพิ่มเติมและพันธกรณีของรัฐเกี่ยวกับการใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในประเด็นวิถีทางเพศ, อัตลักษณ์ทางเพศ, การแสดงออกทางเพศ และเพศลักษณ์ เพื่อสนับสนุนหลักการยอกยาการ์ตา 10 พฤศจิกายน 2560, http://yogyakartaprinciples.org/wp-content/uploads/2017/11/A5_yogyakartaWEB-2.pdf

[165] รายงานของผู้เชี่ยวชาญอิสระแห่งสหประชาชาติด้านการปกป้องความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศ, 2561, A/73/152, https://undocs.org/en/A/73/152

[166] ฮิวแมนไรท์วอทช์ สัมภาษณ์ ละไม พ., เชียงใหม่ 16 มกราคม 2563

[167] ฮิวแมนไรท์วอทช์ สัมภาษณ์ เกี้ยว พ., กรุงเทพฯ 15 มกราคม 2563

[168] ฮิวแมนไรท์วอทช์ สัมภาษณ์ หวาน ก., พัทยา 20 มกราคม 2563

[169] ฮิวแมนไรท์วอทช์ สัมภาษณ์ ฉิมลิน พ.., พัทยา 20 มกราคม 2563

[170] ฮิวแมนไรท์วอทช์ สัมภาษณ์ กำไล น., พัทยา 20 มกราคม 2563

[171] ฮิวแมนไรท์วอทช์ สัมภาษณ์ วนิดา ล., กรุงเทพฯ 30 เมษายน 2563

[172] ILO: ความเท่าเทียมและการไม่เลือกปฏิบัติในการทำงานในเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้: แนวทางปฏิบัติ (กรุงเทพฯ 2554)

[173] อ้างแล้ว

[174] อ้างแล้ว

[175] ILO, อัตลักษณ์ทางเพศและวิถีทางเพศในประเทศไทย

[176] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย, https://www.constituteproject.org/constitution/thailand_2017.pdf?lang=en, มาตรา 27 วรรค 1-3

[177] กระทรวงแรงงาน ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง มาตรฐานแรงงานไทย ความรับผิดชอบทางสังคมของธุรกิจไทยพ.ศ. 2547 (2004)