(กรุงเทพฯ) – รัฐบาลไทย ควรปฏิเสธคำขอของเวียดนาม ให้ส่งตัวนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนชนพื้นเมืองชาวมองตานญาดเป็นผู้ร้ายข้ามแดน และอนุญาตให้เขาไปพำนักในประเทศที่สามทันที ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้
อี ควิน เบดั๊บ อายุ 32 ปี นักกิจกรรมชนพื้นเมืองชาวเอดีในที่ราบสูงภาคกลางของเวียดนาม หลบหนีออกจากประเทศเมื่อปี 2561 หลังจากตกเป็นเป้าสอดแนมข้อมูลอย่างเข้มงวดของทางการ ภายหลังเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ หลังมีคำขอส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนจากเวียดนาม ตำรวจไทยจับกุมตัวเขาเมื่อเดือนมิถุนายน 2567 ทำให้เขาเสี่ยงจะตกเป็นเหยื่อการทรมานและการปฏิบัติมิชอบที่ร้ายแรงอย่างอื่นในเวียดนาม และเขายังได้รับสถานะเป็นผู้ลี้ภัยจาก UNHCR ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
“อี ควิน เบดั๊บ ซึ่งเป็นนักกิจกรรมหลบหนีจากเวียดนามมายังประเทศไทย เพื่อหลบหนีจากการประหัตประหาร” จอห์น ซิฟตัน ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “รัฐบาลไทยไม่ควรช่วยเหลือเวียดนามในการปราบปรามนักกิจกรรม และควรอนุญาตให้เขาเดินทางไปพำนักในประเทศที่สาม”
ในเดือนกันยายน ศาลอาญา กรุงเทพฯ วินิจฉัยว่า รัฐบาลไทยอาจส่งตัวอี ควิน เบดั๊บกลับไปเวียดนาม และเขาอาจถูกเนรเทศอย่างเร็วสุดภายในวันที่ 30 ตุลาคม ในคำขอส่งตัวอี ควิน เบดั๊บเป็นผู้ร้ายข้ามแดน ทางการเวียดนามกล่าวหาว่าเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับ จลาจล ในจังหวัดดั๊กลักเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 หลังการพิจารณาคดีหมู่เป็นเวลาสั้น ๆ ในเดือนมกราคม 2567 ศาลเวียดนามพิพากษาว่าเบดั๊บมีความผิด และลงโทษจำคุกเขา 10 ปี โดยเป็นการพิพากษาลับหลัง
ช่วงต้นปีนี้มีรายงานว่า รัฐบาลแคนาดาพิจารณาจะให้สิทธิพำนักอาศัยกับอี ควิน เบดั๊บ รัฐบาลแคนาดาและประเทศอื่น ๆ ควรดำเนินงานให้มีการปล่อยตัวเขาจากการถูกกักตัว และช่วยเหลือให้เขาเดินทางไปพำนักในประเทศที่สามอย่างปลอดภัยได้ ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว
ประเทศไทยเสี่ยงจะละเมิดกฎหมายในประเทศและพันธกรณีต่อกฎหมายผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศ หากมีการส่งตัว อี ควิน เบดั๊บกลับไปเวียดนาม พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ห้ามส่งตัวบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดน กรณีที่มีความเสี่ยงอย่างแท้จริงว่า อาจต้องตกเป็นเหยื่อการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้าย เมื่อเดินทางกลับไป
นอกจากนั้น ประเทศไทยยังมีพันธกรณีตามหลักการไม่ส่งกลับ ซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ห้ามไม่ให้ประเทศส่งกลับบุคคลไปยังดินแดนที่มีความเสี่ยงอย่างแท้จริงว่าจะตกเป็นเหยื่อของการประหัตประหาร การทรมาน หรือการปฏิบัติที่โหดร้ายอย่างร้ายแรง หรือภัยคุกคามต่อชีวิต หลักการนี้เป็นส่วนหนึ่งของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานแห่งสหประชาชาติ ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคี และเป็นกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ
อี ควิน เบดั๊บ ตกเป็นเหยื่อการประหัตประหารในเวียดนามเป็นเวลาหลายปี ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว สื่อ ของรัฐในเวียดนามกล่าวหาว่าเขาเป็นบุตรหลานของครอบครัวซึ่งมี “จารีตประเพณี” ในการต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเวียดนาม และกล่าวหาว่าปู่ของเขาเป็น “ลูกสมุน” ของสหรัฐฯ ในระหว่างสงครามเวียดนาม พ่อของเขาเคยถูกจำคุกเป็นเวลาสามปีในข้อหา “ยุยง” ให้เกิดการประท้วงของประชาชน
ในปี 2555 ตำรวจควบคุมตัวอี ควิน เบดั๊บไว้ห้าเดือนโดยไม่ให้ติดต่อกับทนายความ ในข้อหา “ทำลายความสามัคคีในชาติ” ตามมาตรา 87 ของประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2542 ทางการในท้องถิ่นของที่ราบสูงภาคกลางมักใช้ข้อหานี้เพื่อลงโทษชาวมองตานญาด ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มศาสนาที่เป็นอิสระ ซึ่งทางการประกาศว่าเป็น “ความชั่วร้าย” สุดท้ายทางการได้ปล่อยตัวเขาออกมา ในเดือนธันวาคม 2566 ทางการได้ทำการ ประณามอี ควิน เบดั๊บต่อหน้าสาธารณะและบังคับให้เขาสัญญาว่าจะยุติการทำกิจกรรมทางศาสนาทั้งปวง
ในปี 2559 อี ควิน เบดั๊บเดินทางมาประชุมเกี่ยวกับเสรีภาพด้านศาสนาในประเทศไทย เมื่อกลับไปยังเวียดนาม ตำรวจควบคุมเขาไว้เป็นเวลาเจ็ดวัน และได้สอบปากคำเขาเกี่ยวกับการเดินทางครั้งนี้ และต่อมาเขายังตกเป็นเป้าหมายการสอดแนมข้อมูลอย่างเข้มงวด ส่งผลให้เขาตัดสินใจหลบหนีมาที่กรุงเทพฯ ในปี 2561 เพื่อขอที่ลี้ภัย ระหว่างอยู่ในประเทศไทย เขาได้ก่อตั้งองค์กร Montagnards Stand for Justice ในเดือนมีนาคม 2567 รัฐบาลเวียดนามประกาศว่ากลุ่มนี้และกลุ่มสนับสนุนชาวมองตานญาดเป็น องค์การ “ก่อการร้าย” ที่เชื่อมโยงกับการจลาจลเมื่อปี 2566
ฮิวแมนไรท์วอทช์เก็บข้อมูลตาม รายงานเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทางการไทยให้ความช่วยเหลือเวียดนามและประเทศอื่น ๆ ในปฏิบัติการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและผู้เห็นต่างจากรัฐ ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นสถานที่ที่ไม่ปลอดภัยมากขึ้นสำหรับผู้ที่หลบหนีมาจากการประหัตประหาร
เดื่อง วาน ไถ อายุ 42 ปี เป็นนักกิจกรรมอีกคนหนึ่งที่รณรงค์เป็นเวลาหลายปีเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในเวียดนาม เขาหลบหนีมาประเทศไทยเมื่อปี 2562 ระหว่างที่มีการปราบปรามอย่างเข้มงวด ระหว่างที่รอเดินทางไปพำนักในประเทศที่สาม เขาถูกลักพาตัวเมื่อเดือนเมษายน 2566 และถูกบังคับส่งกลับไปเวียดนาม ต่อมาทางการดำเนินคดีกับเขาในข้อหา “ปฏิบัติการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อต่อต้านรัฐ” โดยมีกำหนดเข้ารับการพิจารณาของศาลที่กรุงฮานอยในวันที่ 30 ตุลาคม และอาจได้รับโทษจำคุก 12 ปี หากศาลตัดสินว่ามีความผิด
ในวันที่ 14 มีนาคม ตำรวจเวียดนามพร้อมด้วยตำรวจไทย เดินทางไปยังชุมชนผู้ลี้ภัยชาวมองตานญาดสองแห่งในประเทศไทยเพื่อข่มขู่และกดดันให้ผู้ลี้ภัยเดินทางกลับไปเวียดนาม ทั้งยังได้สอบปากคำพวกเขาบางคนเกี่ยวกับที่อยู่ของ อี ควิน เบดั๊บ ตำรวจไทยจึงสามารถตามตัวและจับกุมตัวเขาได้อีกสามเดือนต่อมา
“อี ควิน เบดั๊บใช้เวลาหลายปีในการรณรงค์กดดันเพื่อสิทธิของชนพื้นเมืองชาวมองตานญาดในเวียดนาม” ซิฟตันกล่าว “เวียดนามไม่ควรดำเนินคดีกับเขาเนื่องจากการใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพด้านการแสดงความเห็น และประเทศไทยไม่ควรมีส่วนร่วมกับความพยายามของเวียดนามเพื่อโจมตีเสรีภาพขั้นพื้นฐานของเขา”