Skip to main content

ประเทศไทย: แรงงานบังคับ การค้ามนุษย์ ยังคงเกิดขึ้นในฝูงเรือประมง

การปฏิรูปที่เกิดขึ้นยังไม่ตอบสนองต่อข้อกังวลของสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ

แรงงานประมงผูกเชือกด้านหัวเรือระหว่างเรือเข้าจอดเทียบท่าในปัตตานี 12 สิงหาคม 2559  © 2016 ภาพของ Daniel Murphy สำหรับฮิวแมนไรท์วอทช์

(บรัสเซล 23 มกราคม 2561) – การใช้แรงงานบังคับ และการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิอื่น ๆ เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในฝูงเรือประมงของประเทศไทย ถึงแม้รัฐบาลและภาคอุตสาหกรรมจะแสดงพันธกิจว่าจะทำการปฏิรูปอย่างรอบด้านก็ตาม ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในรายงานที่เผยแพร่วันนี้ โดยเปิดตัวรายงานและภาพยนตร์ความยาว 15 นาทีในเวทีให้ข้อมูลกับรัฐสภายุโรปวันที่ 23 มกราคม

รายงาน “โซ่ที่ซ่อนไว้: การปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิและแรงงานบังคับในอุตสาหกรรมประมงไทย (Hidden Chains: Forced Labor and Rights Abuses in Thailand’s Fishing Industry ) ความยาว 134 หน้า กล่าวถึงกรณีแรงงานประมงข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมักตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์เพื่อเป็นแรงงานภาคประมง พวกเขาถูกขัดขวางไม่ให้เปลี่ยนนายจ้าง ไม่ได้รับค่าจ้างตามเวลา และได้รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ แรงงานข้ามชาติไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานของไทย และไม่มีสิทธิจัดตั้งสหภาพแรงงาน

แม้ว่าประเทศไทยจะได้รับ “ใบเหลือง”  เพื่อเตือนว่า อาจถูกสั่งห้ามส่งออกอาหารทะเลไปสหภาพยุโรป เนื่องจากปัญหาการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) และสหรัฐฯ ได้จัดให้ประเทศไทยอยู่ในบัญชีประเทศที่จับตามองระดับ Tier 2 ในรายงานการค้ามนุษย์ (TIP report) ฉบับล่าสุด ฮิวแมนไรท์วอทช์พบว่า ยังมีข้อบกพร่องมากมายในการดำเนินงานตามมาตรการใหม่ของรัฐบาล และการต่อต้านของอุตสาหกรรมประมงที่มีต่อการปฏิรูป

“ผู้บริโภคในยุโรป สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ควรจะมั่นใจได้ว่าอาหารทะเลซึ่งมาจากประเทศไทย ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์หรือแรงงานบังคับ” แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “แต่ถึงแม้รัฐบาลไทยได้ประกาศอย่างกว้างขวางว่ามีพันธกิจจะสะสางอุตสาหกรรมประมง ปัญหาต่างๆ กลับยังเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง”

ฮิวแมนไรท์วอทช์สัมภาษณ์แรงงานประมง ทั้งในปัจจุบันและอดีต 248 คน เกือบทุกคนมาจากพม่าและกัมพูชา รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไทย เจ้าของเรือ และไต้ก๋ง นักกิจกรรมภาคประชาสังคม ผู้แทนสมาคมประมง และเจ้าหน้าที่หน่วยงานสหประชาชาติ ในบรรดาผู้ที่ให้สัมภาษณ์ 95 คนเคยเป็นแรงงานประมง และได้รับความช่วยเหลือจากการตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ซึ่งมีการบันทึกข้อมูลไว้ ส่วนแรงงานอีก 153 คน เป็นแรงงานประมงที่ยังทำงานอยู่ ยกเว้นเพียงไม่กี่กรณี เราได้ทำวิจัยในท่าเทียบเรือประมงขนาดใหญ่เกือบทุกแห่งในประเทศไทยระหว่างปี 2558-2560

ภายหลังการเปิดโปงของสื่อ กรณีการค้ามนุษย์และการกระทำที่ทารุณโหดร้ายต่อแรงงานในเรือประมงของไทยเมื่อปี 2557 และ 2558 สหภาพยุโรปได้ให้ใบเหลืองกับประเทศไทย ฐานที่ไม่สามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของโครงการการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมได้ สหภาพยุโรปยังเรียกร้องให้ฝูงเรือประมงไทย ยุติการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิต่อแรงงานที่ไม่มีเอกสาร รวมทั้งแรงงานประมงต่างด้าวที่เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ในบางกรณี และบอกว่าประเทศไทยควรปฏิรูปเพื่อยุติการปฏิบัติมิชอบเหล่านี้ ส่วนโครงการการค้ามนุษย์ของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้กดดันประเทศไทยให้รักษาระดับในบัญชีประเทศที่จับตามองระดับ Tier 2 เอาไว้ ซึ่งถือว่าสูงกว่าระดับต่ำสุดเพียงขั้นเดียว

รัฐบาลไทยแก้ปัญหาด้วยการยกเลิกกฎหมายประมงที่เก่าโบราณ และออกระเบียบปฏิบัติใหม่ เพื่อกำกับดูแลอุตสาหกรรมประมง รัฐบาลได้ขยายผลการบังคับใช้ของกฎหมายแรงงานที่สำคัญ เพื่อให้ครอบคลุมค่าจ้าง และสภาพการทำงานในเรือประมง และได้นำเนื้อหาของอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) มาใช้ในกฎหมายของไทยรวมทั้งกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. 2557 มีการกำหนดให้แรงงานประมงข้ามชาติต้องถือเอกสารและมีการนับจำนวนลูกเรือในขณะที่เรือออกจาก และกลับเข้าสู่ฝั่ง ทั้งนี้เพื่อหาทางยุติการปฏิบัติมิชอบที่เลวร้ายสุด รวมทั้งกรณีที่ไต้ก๋งสังหารลูกเรือ ประเทศไทยยังจัดทำระบบควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง (PIPO) กำหนดให้เรือทุกลำต้องเข้ารับการตรวจระหว่างที่ออกและกลับสู่ท่าเทียบเรือ และกำหนดขั้นตอนปฏิบัติเพื่อการตรวจเรือประมงระหว่างอยู่ในทะเล

มาตรการบางอย่าง รวมทั้งระบบติดตามตรวจสอบเรือและการจำกัดเวลาออกเรือแต่ละครั้งไม่เกิน 30 วัน ทำให้เกิดการปรับปรุงที่สำคัญต่อแรงงานประมง อย่างไรก็ดี มาตรการเพื่อแก้ปัญหาแรงงานบังคับ และการคุ้มครองสิทธิแรงงานและสิทธิมนุษยชนที่สำคัญอื่น ๆ มักเน้นที่รูปแบบมากกว่าผลลัพธ์ ฮิวแมนไรท์วอทช์พบว่า ระบบการตรวจแรงงานเป็นการสร้างภาพเพื่อผู้ชมระหว่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุ ยกตัวอย่างเช่น ตามระบบควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง (PIPO) ฮิวแมนไรท์วอทช์พบว่า เจ้าหน้าที่พูดคุยกับไต้ก๋งและเจ้าของเรือและตรวจสอบเอกสาร แต่ไม่สัมภาษณ์แรงงานประมงข้ามชาติโดยตรง

แม้จะมีการจัดสรรทรัพยากรจำนวนมากให้กับกระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่กลับไม่มีการตรวจแรงงานประมงระหว่างออกทะเลในเรือประมงของไทยอย่างเป็นผลและอย่างเป็นระบบ ยกตัวอย่างเช่นในรายงานการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2558 รัฐบาลไทยเปิดเผยว่า จากการตรวจแรงงานประมง 474,334 คน กลับไม่พบแรงงานบังคับแม้แต่กรณีเดียว เมื่อเร็ว ๆ นี้ เป็นเรื่องเหลือเชื่อที่จากการตรวจแรงงานประมงกว่า 50,000 ครั้ง กลับไม่พบการละเมิดข้อกำหนดเกี่ยวกับสภาพการทำงานและเวลาทำงาน ค่าจ้าง การปฏิบัติต่อแรงงานระหว่างอยู่ในทะเล และปัญหาอื่น ๆ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และกฎกระทรวง พ.ศ.2557 เลยแม้แต่กรณีเดียว

ข้อกำหนดให้แรงงานประมงต้องมีบัตรประจำตัว ต้องได้รับ และได้เซ็นชื่อในสัญญาจ้างงานอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร และต้องได้รับค่าตอบแทนเป็นรายเดือน ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง เนื่องจากนายจ้างปฏิบัติต่อแรงงานประมงเหมือนเป็นแรงงานขัดหนี้ และกีดกันไม่ให้พวกเขาเปลี่ยนนายจ้างได้ เนื่องจากประมวลกฎหมายอาญาของไทยไม่มีฐานความผิดเป็นการเฉพาะต่อการใช้แรงงานบังคับ ส่งผลให้เกิดช่องว่างอย่างใหญ่หลวงระหว่างการบังคับใช้กฎหมาย และการป้องปราม

“การขาดพันธกิจของรัฐบาลไทย ส่งผลให้เกิดความล้มเหลวของระเบียบ และมาตรการเพื่อป้องกันแรงงานบังคับในภาคประมง” อดัมส์กล่าว “ผู้ผลิต ผู้ซื้อ และผู้ขายปลีกในระดับสากลที่ขายอาหารทะเลจากไทย มีบทบาทสำคัญที่ช่วยดูแลให้ยุติการใช้แรงงานบังคับและการปฏิบัติมิชอบอื่น ๆ”

ในบางด้าน ถือได้ว่าสถานการณ์เลวร้ายลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ฮิวแมนไรท์วอทช์พบว่า กรณีการขึ้นทะเบียน “บัตรชมพู” ของรัฐบาลซึ่งเริ่มนำมาใช้เมื่อปี 2557 เพื่อหาทางลดจำนวนแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสารในประเทศไทย กลับเป็นการผูกติดสถานะทางกฎหมายของแรงงานประมงกับบางพื้นที่ และกับนายจ้างบางคน และลูกจ้างจำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากนายจ้างจึงจะเปลี่ยนงานได้ ส่งผลให้เกิดสภาพแวดล้อมที่นำไปสู่การปฏิบัติมิชอบ ระบบบัตรชมพู รวมทั้งกรณีที่แรงงานข้ามชาติไม่ได้รับแจ้งรายละเอียด หรือไม่ได้รับสำเนาสัญญาจ้างงานตามกฎหมาย ได้กลายเป็นช่องทางให้เจ้าของเรือและไต้ก๋งเรือที่ไร้คุณธรรม ปกปิดการบังคับขืนใจ และการล่อลวง ทำให้ดูเสมือนว่ามีการปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว ในกรณีเช่นนี้ การปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิจึงเกิดขึ้นเป็นประจำ และขาดการตรวจสอบ โดยเป็นผลมาจากความเพิกเฉยของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งพอใจแค่การตรวจเอกสารที่บริษัทเรือยื่นมาให้เพื่อเป็นหลักฐานว่าปฏิบัติตามกฎหมายเท่านั้น

กฎหมายแรงงานของไทยขัดขวางการใช้สิทธิของแรงงานข้ามชาติ แรงงานประมงกลัวการตอบโต้ และการปฏิบัติมิชอบของไต้ก๋งเรือ และเจ้าของเรือ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ แต่รัฐบาลไทยจำกัดสิทธิของแรงงานข้ามชาติในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน และการรวมตัวเพื่อเรียกร้อง ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 บุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ถือว่ามีลักษณะต้องห้าม ไม่สามารถจัดตั้งแรงงาน หรือทำหน้าที่กรรมการสหภาพได้ 

ท่านสามารถดูข้อเสนอแนะของฮิวแมนไรท์วอทช์ต่อรัฐบาลไทย สหภาพยุโรป  สหรัฐฯ และหน่วยงานอื่น ๆ ได้ที่นี่

“เราไม่ควรหลงกลกับกฎระเบียบที่ดูดีแค่เพียงในเอกสาร แต่ไม่มีการปฏิบัติจริง” อดัมส์กล่าว “สหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ต้องเพิ่มแรงกดดันโดยทันที เพื่อให้ประเทศไทยคุ้มครองสิทธิ สุขภาพ และความปลอดภัยของแรงงานประมง”

ปากคำของแรงงานประมง

“ตอนที่มาถึงผมยังไม่รู้เรื่องอะไร พวกเขาจับตัวผมเข้าไปไว้ในห้องกักขัง ตอนที่ผมเห็นเรือเข้ามา ผมจึงรู้ว่าผมจะต้องทำงานในเรือ ผมไปทำบัตรชมพูวันที่สี่ พอวันที่ห้าก็ได้ออกเรือแล้ว”
–ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ชาวพม่า ต.บางริ้น, จังหวัดระนอง มีนาคม 2559

“ถ้าต้องการออกจากงาน ผมต้องขออนุญาตจากนายจ้างก่อน นายจ้างบางคนยอมให้เราไปได้ แต่บางคนจะอ้างว่าเราต้องจ่ายหนี้ให้เขาก่อน เช่น ถ้าผมสามารถจ่ายเงิน 25,000 บาทให้นายจ้างได้ … เขาอาจปล่อยให้ผมไป แต่ถ้าเขาไม่พอใจ...ผมก็ต้องจ่ายให้เขาเท่าที่เขาเรียกมา” 
—เต๊ดเพียวลิน แรงงานประมงชาวพม่า อ.เมือง จังหวัดปัตตานี สิงหาคม 2559

“คุณไม่สามารถลาออกได้ ถ้าคุณลาออกคุณจะไม่ได้รับค่าจ้าง และถ้าคุณจะลาออกจริง ๆ ก็ขึ้นอยู่กับว่าเขาจะยอมให้คุณไปหรือไม่ ถึงคุณจะยอมลาออกโดยไม่รับค่าจ้างและไม่เอาบัตร [ชมพู] ไปด้วย คุณก็ต้องได้รับอนุญาตก่อน”
–เบียน วอน แรงงานประมงชาวกัมพูชา อ.เมือง จังหวัดระนอง พฤศจิกายน 2559

“นายจ้างเก็บบัตรชมพูของผมไว้ [เขาเก็บเอาไว้] เพราะพวกเราบางคนชอบหนีไปทั้ง ๆ ที่ยังจ่ายหนี้ไม่หมด แต่นายจ้างบางคนคิดว่าพวกเราอาจทำ [บัตร] หาย หรือหนีไปพร้อมบัตร”
–วิเสธ แสน แรงงานประมงชาวกัมพูชา อ.เมือง จังหวัดระนอง พฤศจิกายน 2559

“[เจ้าหน้าที่ไทย] จะมาตรวจครั้งละ 10 คนโดยมาทางรถยนต์ มีทั้งผู้ชายและผู้หญิง พวกเขาจะสั่งให้เราเข้าแถวและโชว์บัตรชมพู มีการขานชื่อ พวกเราก็ยกมือขึ้น เสร็จแล้วพวกเขาก็ไป”
–ทอง เส็ง แรงงานประมงชาวกัมพูชา อ.เมือง จังหวัดระนอง พฤศจิกายน 2559

“ความจริงเราไม่ได้มีเวลาพักมากสักเท่าไร เช่น เราออกจากท่าเทียบเรือตอนหกโมงเช้า ต้องไปวางอวนเพื่อจับปลา จากนั้นก็ลากอวนขึ้นมาพร้อมกับปลา เราต้องทำแบบนี้เป็นประจำจนถึงกลางดึก ขึ้นอยู่กับจำนวนปลาที่เราจับได้ กว่าเราจะได้กลับมาที่ท่าเทียบเรืออีกครั้งก็เป็นเช้าวันรุ่งขึ้น ทำให้เราแทบไม่มีเวลาพัก เพราะหลังจากนั้นเราก็ต้องเริ่มขนถ่ายปลาออกจากเรืออีก”
–จายตุนลวิน แรงงานประมงชาวพม่า ท่าเทียบเรือรัษฎา ภูเก็ต มีนาคม 2559 

“มันเหมือนการทรมาน ครั้งหนึ่งผมเหนื่อยมากจนล้มตกออกจากเรือ แต่พวกเขาก็ลากตัวผมขึ้นมาทำงานอีก”
–ซินมินเต๊ด ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ชาวพม่า ตำบลบางริ้น จังหวัดระนอง มีนาคม 2559  

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.