Skip to main content

ประเทศไทยควรปล่อยตัวผู้แสวงหาที่ลี้ภัยชาวอุยกูร์ที่ถูกกักตัว

Published in: Bangkok Post
ผู้ต้องกักหลังลูกกรงที่สถานกักตัวคนต่างด้าวของตำรวจที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย 21 มกราคม 2562. © 2019 AP Photo/Sakchai Lalit

มีไม่กี่คนที่รู้ว่า ประเทศไทยได้กักตัวผู้แสวงหาที่ลี้ภัยชาวอุยกูร์กว่า 40 คนในสถานกักตัวคนต่างด้าวมาเป็นเวลาหนึ่งทศวรรษแล้ว คนกลุ่มที่เหลือนี้กำลังเผชิญกับอันตรายอย่างแท้จริง รัฐบาลใหม่ของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ควรปล่อยตัวคนที่ถูกลืมเหล่านี้ พวกเขาหลบหนีจากสภาพที่อันตรายในประเทศจีน และควรดำเนินการให้พวกเขาได้ตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม

สิบปีที่แล้ว ในวันที่ 13 มีนาคม 2557 เจ้าหน้าที่หน่วยตรวจคนเข้าเมืองไทยได้ไปตรวจในจังหวัดสงขลา ใกล้กับพรมแดนประเทศไทย-มาเลเซีย และได้ จับกุมบุคคล 220 คน ในป่า เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาที่ยืดยาวมาจนทุกวันนี้ ในเดือนกรกฎาคม 2558ม ทางการไทยได้บังคับส่งกลับชายชาวอุยกูร์ 109 คน จากสถานกักตัวคนต่างด้าวทั่วประเทศไทย ตามคำขอของรัฐบาลจีน

นอกจากจะไม่ให้ชาวอุยกูร์มีโอกาสขอรับการลี้ภัย ตามข้อกำหนดภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศแล้ว ทางการไทยได้รวบรวมตัวชาย 109 คนเหล่านี้ที่ถูกกักตัวในสถานกักตัวต่าง ๆ ทั่วประเทศ ใส่กุญแจมือ ใส่ผ้าปิดตา และส่งตัวพวกเขาให้กับเจ้าหน้าที่จีนที่กรุงเทพฯ จากนั้นมีการส่งตัวขึ้นเครื่องบินพร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจชาวจีนที่มารับตัวในระหว่างการส่งตัว และปฏิบัติต่อชาวอุยกูร์เหมือนกับเป็นอาชญากรร้ายแรง ดูหมิ่นศักดิ์ศรีพวกเขา และถ่ายภาพขณะที่มีการผูกตาและใส่กุญแจมือ จากนั้นมาชายเหล่านี้ก็หายตัวไปในระบบราชทัณฑ์ที่ขาดความโปร่งใสและปฏิบัติมิชอบของจีน ไม่มีผู้พบเห็นพวกเขาอีกเลย

ในขณะนั้น ประเทศไทยตัดสินใจกักตัวชายชาวอุยกูร์ประมาณ 50 คนเอาไว้ ปล่อยให้พวกเขาต้องทนทุกข์ทรมานจากการถูกกักตัวโดยไม่มีเวลากำหนด หลังผ่านไปกว่า 10 ปีนับแต่ถูกกักตัวเป็นครั้งแรก ยังคงมีชายชาวอุยกูร์อย่างน้อย 43 คนในสถานกักตัวคนต่างด้าวซอยสวนพลูที่กรุงเทพฯ หน่วยตรวจคนเข้าเมืองได้ปฏิเสธอย่างต่อเนื่องไม่ให้หน่วยงานผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติและ UNHCR สามารถเข้าถึงตัวคนเหล่านี้ ปฏิเสธไม่ให้ชายเหล่านี้มีสิทธิที่จะขอรับสถานะของผู้ลี้ภัย แม้ว่าพวกเขาจะใช้โทษจนครบเนื่องจากการเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายมาเป็นเวลานานแล้ว

ในเดือนพฤษภาคม 2557 รัฐบาลจีนเริ่มปฏิบัติการตามโครงการ “Strike Hard Campaign เพื่อต่อต้านการก่อการร้ายที่รุนแรง” ซึ่งเป็นการปฏิบัติมิชอบ และเร่งดำเนินการในปี 2560 คาดว่ามีการจับกุมตัวโดยพลการและคุมขังชาวอุยกูร์และชาวมุสลิมเชื้อสายเตอร์กิกประมาณหนึ่งล้านคนในซินเจียง ในช่วงที่มีปฏิบัติการนี้เข้มข้นมากสุด พวกเขาถูกสอดแนมข้อมูล ถูกบังคับใช้แรงงาน ถูกบังคับให้พลัดพรากจากครอบครัว และถูกปฏิบัติมิชอบอย่างอื่น แม้จะเป็นโครงการที่อ้างว่ามุ่งต่อต้านการก่อการร้าย แต่ก็มีการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่ทำกิจกรรมอย่างชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งการรับโทรศัพท์ผ่านว็อทส์แอปจากคนที่อยู่ต่างประเทศ ในปี 2565  องค์การสหประชาชาติระบุว่า สภาพในซินเจียง “อาจมีลักษณะเป็นอาชญากรรมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ”

ตามโครงการนี้ รัฐบาลจีนยังได้ละเมิดต่อชาวอุยกูร์ที่หลบหนีไปต่างประเทศ นับแต่ปี 2557 ทางการไทยได้จับกุมผู้ชาย ผู้หญิงและเด็กชาวอุยกูร์มากถึง 350 คนที่หลบหนีการประหัตประหารมาจากจีน แม้รัฐบาลไทยจะอนุญาตให้ ผู้หญิงและเด็กกว่า 170 คน เดินทางออกจากประเทศไทยไปตุรกี ตามความปรารถนาของพวกเขา แต่กลับปฏิบัติต่างไปอย่างสิ้นเชิงและละเมิดสิทธิของชายชาวอุยกูร์ที่ถูกกักตัวไว้
                                       
นอกจากชายชาวอุยกูร์ที่ต้องอยู่ในสถานกักตัวคนต่างด้าวต่อไป ยังมีชายชาวอุยกูร์อีกห้าคนที่ถูกคุมขังเพื่อใช้โทษทางอาญา เนื่องจากพยายาม หลบหนีออกจากสถานกักตัวคนต่างด้าวในจังหวัดมุกดาหาร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย หลังใช้โทษจนครบ คาดว่าพวกเขาจะยังคงถูกกักตัวโดยไม่มีเวลากำหนดต่อไป

สำหรับชาวอุยกูร์ทุกคนที่ถูกกักตัวในประเทศไทย หน่วยตรวจคนเข้าเมืองไทยได้ปฏิเสธไม่ให้พวกเขาเข้าถึงทนายความ ครอบครัว กลุ่มมนุษยธรรม และบุคคลอื่น ๆ สภาพภายในสถานกักตัวคนต่างด้าวของไทยมีลักษณะแออัดอย่างมาก และขาดสุขอนามัย ผู้ต้องกักขาดแคลนอาหาร น้ำ และ บริการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม

ผู้ต้องกักในสถานกักตัวคนต่างด้าวของไทยมักถูกกักในห้องแบบเปิด บางครั้งมีคนอยู่แออัดมากกว่า 100 คน ในอดีต เด็กจะถูกควบคุมตัวพร้อมกับผู้ใหญ่ ทำให้เกิดอันตรายในแง่ความคุ้มครองทางสังคมหลายประการ ในปี 2562 เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล รวมทั้งรองนายกรัฐมนตรีประวิตร วงษ์สุวรรณในขณะนั้น ลงนามบันทึกความเข้าใจเห็นชอบที่จะงดเว้นการกักตัวเด็ก แต่ในบางกรณี เรายังคงเห็นการกักตัวเด็กอยู่

ผู้เข้าเมืองที่ได้รับการปล่อยตัวออกมาจากสถานกักตัวคนต่างด้าวซอยสวนพลู ได้ พูดถึงการทุบตีและการปฏิบัติมิชอบและการปฏิบัติอย่างเลวร้ายรูปแบบอื่น ที่เกิดขึ้นกับพวกเขาโดยตรง หรือได้พบเห็น สมาชิกของกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนและนักกฎหมายที่ทำงานในคดีเกี่ยวกับสถานกักตัวคนต่างด้าวซอยสวนพลู ได้รวบรวมพยานหลักฐานที่ชี้ถึงสภาพดังกล่าว จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลไทยชุดต่าง ๆ ไม่ได้แสดงความใส่ใจอย่างจริงจังที่จะแก้ปัญหาร้ายแรงเหล่านี้

พยานบางคน ระบุว่าชาวอุยกูร์ได้รับการปฏิบัติเลวร้ายกว่าผู้ต้องกักคนอื่น ในบทความปี 2566 ของ VICE News ได้มีการอ้างคำพูดของผู้ต้องกักที่บอกว่า “พวกเขาถูกปฏิบัติเหมือนเป็นผู้ก่อการร้าย...ไม่อนุญาตให้ใครมาเยี่ยม ไม่สามารถรับเงินได้ และไม่รับอนุญาตให้ใช้โทรศัพท์มือถือ แกนนำของพวกเขาจะถูกลงโทษ ถ้าหน่วยตรวจคนเข้าเมืองพบว่าพวกเขาใช้โทรศัพท์มือถือ”

ในเดือนเมษายน 2566, มัตโทที มัตเทอร์สัน ชาวอุยกูร์วัย 40 ปีที่ถูกกักที่สถานกักตัวคนต่างด้าวซอยสวนพลู เสียชีวิตระหว่างถูกนำตัวไปโรงพยาบาล ด้วยปัญหาที่ตับและระบบทางเดินหายใจ เขาเป็นผู้แสวงหาที่ลี้ภัยชาวอุยกูร์คนที่ห้าที่เสียชีวิตระหว่างการกักตัวในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา  คนอื่นยังรวมถึงอาซิซ  อับดุลลาห์ ผู้แสวงหาที่ลี้ภัยชาวอุยกูร์วัย 49 ปี ซึ่งเสียชีวิตจากอาการปอดอักเสบในสถานกักตัวคนต่างด้าวที่เดียวกันเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ชายวัย 27 ปี เสียชีวิตจากมะเร็งในปี 2561 และในปี 2557 ทารกแรกเกิดคนหนึ่งและเด็กสามขวบอีกคนหนึ่ง ก็เสียชีวิตเช่นกัน หากทางการไทยอำนวยความสะดวกอย่างเหมาะสมให้เข้าถึงบริการด้านสุขภาพ ให้เข้าถึงทนายความ หรือหน่วยงานช่วยเหลือผู้ลี้ภัยอื่น ๆ เราอาจป้องกันไม่ให้เกิดการเสียชีวิตเช่นนี้ได้ แต่ชาวอุยกูร์ถูกตัดขาดจากความสนับสนุน และถูกปล่อยทิ้งให้ต้องทนทรมานระหว่างการกักตัว ซึ่งชัดเจนว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่มุ่งเอาใจรัฐบาลจีน ซึ่งยังคงเรียกร้องให้ประเทศไทยบังคับส่งกลับบุคคลเหล่านี้มาที่จีน

ในขณะที่รัฐบาลไทยกลัวว่าจะกระทบกับความสัมพันธ์กับรัฐบาลจีน แต่พวกเขาก็กังวลกับปฏิกิริยาด้านลบจากนานาชาติ แบบที่เกิดขึ้นในปี 2558 ตอนที่ไทยส่งกลับคนเหล่านี้อีก 109 คน กลุ่มรัฐบาลประเทศต่าง ๆ รวมทั้งสหรัฐฯ แคนาดา และสหภาพยุโรป และประเทศสมาชิก จึงทำสิ่งที่ถูกต้องในการกระตุ้นให้ประเทศไทยปล่อยตัวชาวอุยกูร์ที่ยังกักตัวอยู่ และอนุญาตให้พวกเขาเดินทางอย่างปลอดภัยไปประเทศที่สาม

ในฐานะรัฐภาคีของ อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ประเทศไทยมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะไม่ส่งตัวบุคคลไปยังสถานที่ใด ที่เสี่ยงจะทำให้เขาถูกทรมาน

นอกจากนั้น ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายของไทยเองเริ่มมีผลบังคับใช้ กฎหมายนี้กำหนดว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐจะไม่ “ขับไล่  ส่งกลับ  หรือส่งบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอีกรัฐหนึ่ง  หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้น  จะไปตกอยู่ในอันตรายที่จะถูก กระทำทรมาน ถูกกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือถูกกระทำให้สูญหาย”

รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ควรงดเว้นจากการตัดสินใจส่งชาวอุยกูร์ไปประเทศจีน และตระหนักถึงพันธกรณีของไทยที่มีต่ออนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และควรปล่อยตัวชาวอุยกูร์ที่เหลืออยู่ ปล่อยให้พวกเขากลับไปอยู่ร่วมกับครอบครัว และอนุญาตให้พวกเขาเดินทางอย่างปลอดภัยไปประเทศที่สาม

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.