Skip to main content

ประเทศไทย: รัฐบาลใหม่ยังคงล่าช้าในการคุ้มครองสิทธิ

ต้องมีการปฏิรูปเพื่อยุติการดำเนินคดีที่ไม่เป็นธรรม, “การบังคับให้สูญหาย”, การส่งกลับผู้ลี้ภัย

อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชนชาวไทย ชูสามนิ้วเมื่อเดินทางมาถึงศาลอาญา ก่อนที่ศาลจัดตพิพากษาให้เขามีความผิดฐาน “หมิ่นประมาทกษัตริย์” และให้จำคุกเป็นเวลาสี่ปีที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย 26 กันยายน 2566 © 2023 AP Photo/Sakchai Lalit.

(กรุงเทพฯ) – รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ซึ่งเข้าดำรงตำแหน่งในประเทศไทยตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 ยังไม่ทำการปฏิรูปด้านสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง ทั้งยังไม่ได้แก้ไขปัญหาความอยุติธรรมในอดีต ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้ ใน รายงานระดับโลกปี 2567 สถาบันอนุรักษ์นิยมรวมทั้งวุฒิสภาที่ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารเมื่อปี 2557 ยังคงปิดกั้นพรรคก้าวไกลที่เน้นการปฏิรูป และชนะได้รับที่นั่งมากสุดในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม เป็นเหตุให้ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้

“เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ควรแสดงให้เห็นว่า เขาจะทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากการปฏิบัติมิชอบในอดีต โดยต้องดำเนินการให้เกิดการปฏิรูปเพื่อสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง และเพื่อยุติการดำเนินคดีที่มีแรงจูงใจทางการเมือง” อีเลน เพียร์สัน ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “ทางการไทยควรยกเลิกข้อหาทั้งปวงต่อผู้ประท้วงอย่างสงบ และผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นข้อหาที่เกิดจากรัฐบาลประยุทธ์ตั้งแต่ปี 2564”

ในรายงานระดับโลกปี 2567 ความยาว 740 หน้า ซึ่งตีพิมพ์เป็นปีที่ 34 ฮิวแมนไรท์วอทช์ทบทวนการปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนในกว่า 100 ประเทศ  ใน คำนำของรายงาน ทีรานา ฮัสซัน ผู้อำนวยการบริหารกล่าวว่า ปี 2566 เป็นปีที่มีเหตุการณ์สำคัญที่ไม่เพียงเกี่ยวข้องกับการปราบปรามสิทธิมนุษยชนและความทารุณโหดร้ายระหว่างสงคราม  แต่ยังรวมถึงการตอบโต้ด้วยความรุนแรงของรัฐบาลบางประเทศและการทูตแบบมีข้อแลกเปลี่ยน ซึ่งส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อสิทธิมนุษยชนของกลุ่มคนที่ถูกใช้เป็นเงื่อนไขต่อรอง แต่เธอบอกว่ามีสัญญาณแห่งความหวังอยู่บ้าง มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดเส้นทางที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง และเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ยึดมั่นปฏิบัติตามต่อพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนของตนอย่างเคร่งครัด 

ทางการไทยใช้มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา (หมิ่นประมาทกษัตริย์) ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 15 ปีต่อกรรม ในปี 2566 ทางการได้ฟ้องคดีต่อบุคคลอย่างน้อย 258 คนในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ เนื่องจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในระหว่างการประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย หรือการแสดงความเห็นผ่านโซเชียลมีเดีย

รัฐบาลชุดที่ผ่านมาได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ แต่หน่วยราชการยังไม่ได้บังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นผล หรือยังไม่ได้คลี่คลายกรณีที่เกิดขึ้นในอดีต

ประเทศไทยยังคงมีกรณีของผู้ถูกบังคับให้สูญหายจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการคลี่คลาย โดยมีการรายงาน 76 กรณีเช่นนี้ให้กับคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการหายสาบสูญโดยถูกบังคับหรือไม่สมัครใจ ตั้งแต่ปี 2523 นับแต่ปี 2560 มีฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลไทยอย่างน้อยเก้าคนซึ่งหลบหนีไปกัมพูชา ลาว และเวียดนาม ได้ถูกบังคับให้สูญหายในประเทศเหล่านั้น คณะทำงานฯ และองค์กรภาคประชาสังคมเน้นถึงกรณีที่ประเทศไทยบังคับส่งกลับผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัย กลับไปประเทศเหล่านี้และประเทศอื่น ๆ ที่ละเมิดสิทธิประชาชน เหตุการณ์เหล่านี้เน้นให้เห็นแนวโน้มที่ชัดเจนและขยายตัวขึ้นของการกดขี่ปราบปรามข้ามชาติโดยรัฐบาลเผด็จการในภูมิภาค

การสู้รบที่เพิ่มขึ้นในเมียนมายังส่งผลให้มีผู้แสวงหาที่ลี้ภัยจำนวนมากขึ้นจากเมียนมา ที่เดินทางเข้าสู่ประเทศไทย หลายคนถูกผลักดันให้กลับไปบริเวณพรมแดน

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.