(เบอร์ลิน 12 เมษายน 2567) – เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2567 รัฐสภา เยอรมนี ออกเสียงเพื่อรับรองกฎหมายสำคัญ ซึ่งอนุญาตให้คนข้ามเพศและนอนไบนารี สามารถขอแก้ไขเอกสารทางกฎหมายให้สะท้อนถึงอัตลักษณ์ทางเพศของตน โดยมีขั้นตอนปฏิบัติทางราชการในแง่การจำแนกเพศด้วยตนเอง ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้
กฎหมายใหม่ซึ่งจะใช้ทดแทนกฎหมายที่ล้าสมัยของเยอรมนีที่ชื่อว่า กฎหมายคนข้ามเพศ 1980 (Transsexuellengesetz) ซึ่งกำหนดให้คนข้ามเพศต้องยื่นเอกสารต่อศาลในท้องถิ่น รวมทั้ง “รายงานของผู้เชี่ยวชาญ” สองฉบับที่ยืนยันบนพื้นฐาน “ความน่าจะเป็นระดับสูง” ว่าผู้ร้องจะไม่กลับไปใช้เพศสภาพตามกฎหมายเดิมของตนอีกต่อไป ก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนีได้วินิจฉัยให้ต้องแก้ไขข้อกำหนดที่เข้มงวดของกฎหมายนี้แล้ว รวมทั้งข้อกำหนดให้ต้องมีการผ่าตัดแปลงเพศก่อนจะขอรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ
“เยอรมนีเป็นอีกหนึ่งในหลายประเทศที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น ที่กำลังยกเลิกข้อกำหนดที่ปฏิบัติต่อคนข้ามเพศเหมือนเป็นความผิดปกติหรือโรคชนิดหนึ่ง เพื่อให้สามารถขอการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศได้ ซึ่งไม่ใช่การปฏิบัติที่ควรเกิดขึ้นอีกต่อไปในสังคมที่หลากหลายและเป็นประชาธิปไตย” คริสเตียน กอนซาเลซ กาเบรรา นักวิจัยอาวุโสด้านสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “ในขณะที่นักการเมืองแนวประชานิยมในยุโรปและประเทศอื่น ๆ ได้พยายามชูประเด็นสิทธิของคนข้ามเพศเพื่อสร้างความแตกแยกทางการเมือง กฎหมายใหม่ของเยอรมนีส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่า คนข้ามเพศมีอยู่จริง และสมควรได้รับการยอมรับและการคุ้มครอง โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ”
ตามกฎหมายใหม่นี้ คนข้ามเพศและนอนไบนารีจะสามารถยื่นคำร้องที่สำนักทะเบียนราษฎร เพื่อขอแก้ไขคำระบุเพศสถานะและชื่อของตน โดยเป็นเพียงขั้นตอนการแจ้งข้อมูลที่เรียบง่าย ไม่จำเป็นต้องนำความเห็นของ “ผู้เชี่ยวชาญ” หรือใบรับรองทางการแพทย์มาประกอบการยื่นคำร้อง โดยผู้ร้องยังจะสามารถเลือกคำระบุเพศสถานะที่เหมาะสม รวมทั้งเพศชาย หญิง หรือ “หลากหลาย” หรืออาจเลือกที่จะไม่ระบุเพศสถานะเลยก็ได้
ตามข้อมูลใน รายงานปี 2560 ของกระทรวงกิจการครอบครัว พลเมืองอาวุโส สตรีและเยาวชนแห่งสหพันธรัฐ ตามกฎหมายคนข้ามเพศ ผู้ร้องระบุว่า ในการขอรายงานของ “ผู้เชี่ยวชาญ” ซึ่งเป็นเอกสารที่จำเป็น พวกเขาต้องยินยอมเปิดเผยข้อมูลที่ไม่ใช่สาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับชีวิตในวัยเด็กและชีวิตทางเพศในอดีตของตนเอง และยังถึงขั้นต้องเข้ารับการตรวจทางการแพทย์อีกด้วย ทางกระทรวงเห็นว่า ขั้นตอนทางกฎหมายเช่นนี้อาจกินเวลานานถึง 20 เดือน และมีค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ย 1,868 ยูโร (ประมาณ 2,000 เหรียญ)
การปฏิรูปเพื่อรับรองอัตลักษณ์ทางเพศเกิดขึ้น ในขณะที่นักกิจกรรมที่เป็นเลสเบียน เกย์ ไบเซ็กชวล และคนข้ามเพศเตือนว่ามี การเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ของความรุนแรงเพื่อต่อต้านผู้มีความหลากหลายทางเพศในเยอรมนี รัฐมนตรีมหาดไทยแห่งสหพันธรัฐ กล่าว ในเดือนมิถุนายน 2566 ว่า ในปีก่อนหน้านั้น ตำรวจได้รับแจ้งความคดีอาชญากรรมด้วยความเกลียดชังที่กระทำต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศถึงกว่า 1,400 คดี การละเมิดหลายครั้งเกิดขึ้น ระหว่างการเดินขบวนไพรด์ในหลายปีที่ผ่านมา ทั้งยังเคยเป็นเหตุให้เกิด การเสียชีวิตของชายข้ามเพศคนหนึ่ง ในปี 2565
ในเดือนพฤษภาคม 2566 กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหพันธรัฐ แสดงความกังวล เกี่ยวกับความถดถอยของสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ในเดือนมิถุนายน 2566 รัฐมนตรีมหาดไทยระดับรัฐ แสดงพันธกิจ ที่จะสนับสนุนการป้องกันอาชญากรรมด้วยความเกลียดชังและความรุนแรงที่กระทำเพื่อต่อต้านผู้มีความหลากหลายทางเพศ รวมทั้งโดยผ่านการอบรมเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมาย และการกำหนดให้มีบุคคลเพื่อประสานงานที่สถานีตำรวจตลอดทั้งประเทศเยอรมนี
การปฏิรูปกฎหมายเพื่อรับรองอัตลักษณ์ทางเพศบนพื้นฐานการจำแนกเพศโดยตัวผู้ร้องเอง โดยตัวของมันเองอาจจะไม่ช่วยประกันให้เกิดความคุ้มครองต่อคนข้ามเพศในเยอรมนี ให้ปลอดพ้นจากการปฏิบัติมิชอบและการเลือกปฏิบัติ แต่กฎหมายใหม่นี้เป็นสัญญาณชี้ว่า รัฐบาลสนับสนุนสิทธิพื้นฐานของคนข้ามเพศและนอนไบนารี ซึ่งจะช่วยทำให้เกิดความเข้าใจและการยอมรับมากขึ้นต่ออัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลาย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว
ประเทศต่าง ๆ จำนวนมากขึ้นได้ยกเลิกข้อกำหนดที่สร้างภาระในแง่ของการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมาย รวมทั้งข้อกำหนดให้ต้องมีการประเมินทางการแพทย์หรือทางจิตวิทยา ประเทศต่าง ๆ รวมทั้ง อาร์เจนตินา, เบลเยียม, เดนมาร์ก, ไอร์แลนด์, ลักเซมเบิร์ก, มอลตา, นอร์เวย์, โปรตุเกส, สเปน และ อุรุกวัย ต่างกำหนดขั้นตอนที่เรียบง่ายของกระบวนการการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมายบนพื้นฐานการจำแนกเพศโดยตัวผู้ร้องเอง
ความก้าวหน้ารวมถึงขั้นตอนปฏิบัติทางราชการที่ตรงไปตรงมา สะท้อนถึงฉันทามติทางการแพทย์และมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระดับสากล สมาคมวิชาชีพเพื่อสุขภาพของคนข้ามเพศโลก ซึ่งเป็นสมาคมวิชาชีพแบบสหวิทยาและมีสมาชิกทั่วโลกมีความเห็นว่า อุปสรรคทางการแพทย์และอื่น ๆ ที่ขัดขวางการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ สำหรับคนข้ามเพศ รวมทั้งข้อกำหนดให้ต้องไปเข้ารับการตรวจ “อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพทางกายและใจ” ใน บัญชีจำแนกโรคระดับสากล ฉบับล่าสุดขององค์การอนามัยโลก ซึ่งเป็นคู่มือการจำแนกโรคระดับโลก ได้ลดการปฏิบัติต่ออัตลักษณ์ของคนข้ามเพศเหมือนเป็นโรคชนิดหนึ่งแล้วอย่างเป็นทางการ
กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง (ICCPR) ซึ่งเยอรมนีเป็นรัฐภาคี กำหนดให้ทุกคนมีสิทธิพลเมืองและการเมืองที่เท่าเทียมกัน บุคคลทุกคนได้รับการรับรองสิทธิเบื้องหน้ากฎหมาย รวมทั้งสิทธิความเป็นส่วนตัว คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาชาติที่ดูแลการตีความเนื้อหาของกติกา ICCPR ได้เรียกร้อง รัฐบาลต่าง ๆ ให้ ประกันสิทธิของคนข้ามเพศ รวมทั้งสิทธิที่จะได้รับการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศของตนตามกฎหมาย และสี่ประเทศได้ยกเลิกข้อกำหนดที่เป็นการปฏิบัติมิชอบและไม่ได้สัดส่วนต่อการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมาย
ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปวินิจฉัยในคดี Goodwin v. United Kingdom (2002) ว่า “ความขัดแย้งระหว่างปรากฏการณ์จริงในสังคมกับกฎหมาย” จะเกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลไม่รับรองอัตลักษณ์ทางเพศของบุคคล โดยย่อมถือเป็น “การแทรกแซงอย่างร้ายแรงต่อชีวิตส่วนตัว” นับแต่นั้นมา ศาลได้วินิจฉัยว่า ข้อกำหนดที่เป็นการปฏิบัติมิชอบในหลายกรณีต่อการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ รวมทั้งข้อกำหนดให้ต้องทำหมันและให้ต้องมีการแทรกแซงทางการแพทย์ เป็นการละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนของคนข้ามเพศ
ยุทธศาสตร์ความเท่าเทียมของผู้มีความหลากหลายทางเพศ (2563-2568) ของสหภาพยุโรป คุ้มครอง “การเข้าถึงการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมายบนพื้นฐานการจำแนกเพศโดยตัวผู้ร้องเอง และไม่มีข้อจำกัดด้านอายุ” โดยให้ถือเป็นมาตรฐานสิทธิมนุษยชนในกลุ่มประเทศสมาชิก
หลักการข้อสามของ หลักการยอกยาการ์ตาว่าด้วยการใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในประเด็นวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ ยืนยันว่า อัตลักษณ์ทางเพศตามที่จำแนกโดยแต่ละบุคคล “เป็นส่วนหนึ่งของบุคลิกภาพของตนเอง และเป็นหนึ่งในองค์ประกอบขั้นพื้นฐานมากสุดของการกำหนดชะตากรรมของตนเอง ศักดิ์ศรี และเสรีภาพในตนเอง”
ในฐานะสมาชิกของ พันธมิตรเพื่อสิทธิที่เท่าเทียม, กองทุนโลกเพื่อความเท่าเทียม และ กลุ่มหลักเพื่อสนับสนุนผู้มีความหลากหลายทางเพศแห่งสหประชาชาติ เยอรมนีมีบทบาทสำคัญในการกดดันเพื่อสนับสนุนสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศและบุคคลอินเตอร์เซ็ก (LGBTI) นอกเหนือจากในพรมแดนประเทศของตน ในเดือนมีนาคม 2564 รัฐบาลแห่งสหพันธรัฐ ให้คำมั่น ที่จะทำงานมากขึ้นโดยผ่าน ยุทธศาสตร์การมีส่วนร่วมของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งมีเป้าหมายส่วนหนึ่งเพื่อส่งเสริมบทบาทของเยอรมนีในการสนับสนุนสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศในสถาบันสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ
“การปฏิรูปเพื่อรับรองอัตลักษณ์ทางเพศของเยอรมนี ช่วยขจัดรอยด่างของสถิติด้านสิทธิมนุษยชนระดับประเทศ และยังช่วยหนุนเสริมพันธกิจของประเทศที่มีต่อสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศทั้งในและต่างประเทศ” กอนซาเลซกล่าว “หลังการปฏิรูปกฎหมายเพื่อรับรองอัตลักษณ์ทางเพศครั้งสำคัญนี้ ทางการเยอรมนีควรกดดันต่อไปเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมอย่างสมบูรณ์ เพื่อขจัดการปฏิบัติด้วยความรุนแรงเพื่อต่อต้านผู้มีความหลากหลายทางเพศ และเพื่อส่งเสริมกฎหมายต่อต้านผู้มีความหลากหลายทางเพศในต่างประเทศ”