นายเศรษฐา ทวีสิน
นายกรัฐมนตรีไทย
ทำเนียบรัฐบาล
เลขที่ 1 ถนนนครปฐม
เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300
สำเนาถึง
1. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
2. นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
3. นายทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
4. พลตำรวจเอก ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
5. คณะอนุกรรมาธิการศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยและผู้หนีภัยการสู้รบตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา สภาผู้แทนราษฎร
6. คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืนต่อการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ สภาผู้แทนราษฎร
12 ธันวาคม 2566
เรื่อง: ขอให้ยกเว้นการดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองกับผู้เข้ารับการคัดกรองตามกลไกคัดกรองแห่งชาติ
เรียน นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน
พวกเรา ตามที่ได้ลงชื่อแนบท้ายมากับจดหมายฉบับนี้ เขียนจดหมายถึงท่านในวันนี้เกี่ยวกับการดำเนินการตามกลไกคัดกรองระดับชาติ (National Screening Mechanism) เพื่อให้สถานะ “ผู้ได้รับการคุ้มครอง” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราขอให้ท่านและคณะรัฐมนตรีใช้อำนาจตามมาตรา 17 ของพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 เพื่อยกเว้นให้บุคคลที่ขอรับ หรือเข้ารับการคัดกรองปลอดพ้นจากการจับกุม การควบคุมตัว และการดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง การดำเนินงานเช่นนี้จะช่วยอุดช่องว่างระหว่างตัวหลักการกลไกคัดกรองฯ ในการคัดกรองและกำหนดสถานะของ “ผู้ได้รับการคุ้มครอง” ให้กับผู้ที่มีคุณสมบัติ และเป้าประสงค์ของพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองที่ถือว่าผู้เข้าเมืองอย่างผิดปกติในประเทศไทยเป็นอาชญากรที่จะต้องถูกจับกุม ควบคุมตัว และส่งกลับ
ก่อนการประชุมเวทีผู้ลี้ภัยโลกที่กรุงเจนีวาที่จะถึงนี้ เราคาดหวังว่าประเทศไทยจะให้พันธสัญญาที่จะดำเนินงานตามข้อตกลงโลกว่าด้วยเรื่องผู้ลี้ภัย (GCR) และเราคาดหวังว่า การดำเนินการเพื่อยกเว้นบุคคลที่ประสงค์จะเข้ารับการคุ้มครองตามกลไกคัดกรองฯ ให้ปลอดพ้นจากการถูกดำเนินคดี จะเป็นการส่งสัญญาณถึงพันธสัญญาของประเทศไทยที่มีต่อกรอบความร่วมมือตามข้อตกลงโลกว่าด้วยเรื่องผู้ลี้ภัย
กลไกคัดกรองฯ จัดทำขึ้นตาม “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักร และไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็นภูมิลำเนาได้ พ.ศ. 2562” (ระเบียบกลไกคัดกรองฯ) โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2562 ตามระเบียบดังกล่าว รัฐบาลจะจัดทำกลไกคัดกรองฯ เพื่อให้สถานะ “ผู้ได้รับการคุ้มครอง” กับพลเมืองต่างชาติในประเทศไทย ซึ่ง “ไม่สามารถหรือไม่สมัครใจที่จะเดินทางกลับไปยังประเทศอันเป็นภูมิลำเนาของตน เนื่องจากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจะได้รับอันตรายจากการถูกประหัตประหารตามที่คณะกรรมการ (คัดกรอง) กำหนด” ในวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออก “ประกาศคณะกรรมการพิจารณาคัดกรองผู้ได้รับการคุ้มครอง เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการพิจารณาคัดกรอง คำขอเป็นผู้ได้รับการคุ้มครอง” (ประกาศกลไกคัดกรองฯ) ในราชกิจจานุเบกษา เป็นสัญญาณว่ากลไกคัดกรองฯ พร้อมที่จะรองรับผู้เข้ารับการคัดกรองในวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป
ถึงแม้ข้อ 15 ของระเบียบว่าด้วยกลไกคัดกรองฯ จะกำหนดให้ชะลอการส่งกลับบุคคลที่ขอรับสถานะ “ผู้ได้รับการคุ้มครอง” แต่ระเบียบไม่ได้ยกเว้นผู้เข้ารับการคัดกรองจากการถูกดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง นอกจากนั้น เนื่องจากสถานะทางกฎหมายที่ด้อยกว่าของระเบียบว่าด้วยกลไกคัดกรองฯ เมื่อเปรียบเทียบกับพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง ในสถานการณ์ที่เป็นอยู่ย่อมทำให้ผู้เข้ารับการคัดกรองอาจถูกจับกุม ควบคุมตัว และดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง ก่อนที่จะได้รับการพิจารณาตามกระบวนการของกลไกคัดกรองฯ ด้วยซ้ำ หลักการเช่นนี้ไม่เพียงขัดแย้งต่อเป้าหมายและเจตนารมณ์ที่ระบุไว้ของกลไกคัดกรองฯ หากยังทำให้ผู้ที่ประสงค์จะเข้ารับการคัดกรองเกิดความลังเลและขาดแรงจูงใจที่จะดำเนินการตามกลไกดังกล่าว นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดภาระที่ไม่จำเป็นต่อศาลและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับระบบกักตัวคนเข้าเมืองของประเทศไทยทั้งหมด ซึ่งต้องมาดำเนินการจัดการกับผู้เข้ารับการคัดกรอง
มาตรา 17 ของพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองระบุว่า “ในกรณีพิเศษเฉพาะเรื่อง รัฐมนตรี [มหาดไทย] โดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีจะอนุญาตให้คนต่างด้าวผู้ใดหรือจำพวกใดเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรภายใต้เงื่อนไขใด ๆ หรือจะยกเว้นไม่จำต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ในกรณีใด ๆ ก็ได้” เพื่อแก้ไขสถานะทางกฎหมายในปัจจุบันของผู้เข้ารับการคัดกรอง และผู้ที่อาจเข้ารับการคัดกรองในอนาคต เราร้องขอให้รัฐบาลของท่านใช้อำนาจตามมาตรา 17 ของพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง เพื่อยกเว้นบุคคลที่ขอรับหรือได้เข้ารับการคัดกรอง จากการบังคับใช้มาตราต่าง ๆ ของพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง ซึ่งจะส่งผลให้พวกเขาถูกจับกุม ถูกควบคุมตัว หรือถูกดำเนินคดี
ในระหว่างที่รัฐบาลไทยเตรียมตัวเพื่อให้พันธสัญญาต่อข้อตกลงโลกว่าด้วยเรื่องผู้ลี้ภัยอีกครั้งนั้น พวกเราที่มีรายชื่อตามด้านท้ายของจดหมายฉบับนี้หวังว่าจะได้ร่วมมือจากรัฐบาลของท่าน เพื่อรับประกันอนาคตที่ดีขึ้นสำหรับผู้ลี้ภัยทุกคนในประเทศไทย
ขอขอบคุณที่ท่านพิจารณาคำร้องขอของเรา มา ณ ที่นี้ และเรายินดีอย่างยิ่งที่จะมีโอกาสได้พูดคุยกับท่านหรือเจ้าหน้าที่ของท่านในเรื่องนี้ต่อไป หากมีคำถามใด ๆ เกี่ยวกับคำร้องขอครั้งนี้ ท่านสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ แพททริค พงศธร เจ้าหน้าที่อาวุโสรณรงค์สิทธิมนุษยชนเชิงกลยุทธ์ ฟอร์ตี้ฟายไรต์ ได้ที่อีเมล์ patrick.phongsathorn@fortifyrights.org หรือเบอร์โทรศัพท์ +66946968477
ขอแสดงความนับถือเป็นอย่างสูง
Asylum Access Thailand
CRSP
EqualAsia Foundation
Fortify Rights
Human Rights Watch
Migrant Working Group
People Serving People Foundation
Refugee Rights Litigation Project