สมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการนิตยสารของไทยและนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำที่กรุงเทพฯ ในวันนี้ หลังต้องใช้โทษตามคำพิพากษาในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และคดีหมิ่นประมาท
การคุมขังสมยศเป็นเวลานานเน้นให้เห็นการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพโดยมิชอบของทางการไทย ทั้งนี้เพื่อลงโทษผู้ที่ถูกมองว่าวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล
สมยศซึ่งมีอายุ 56 ปีในขณะนี้ ได้ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2554 เนื่องจากบทความล้อเลียนสองชิ้นที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร Voice of Taksin ซึ่งทางการไทยมองว่ามีเนื้อหาหมิ่นพระเกียรติของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช แม้ว่าพระราชบัญญัติการพิมพ์จะให้ความคุ้มครองบรรณาธิการ เพื่อไม่ให้ต้องรับผิดต่อเนื้อหาจากงานเขียนของบุคคลอื่น
ตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”
ทางการไทยเพิกเฉยต่อการที่คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการขององค์การสหประชาชาติ แสดงความกังวลเมื่อปี 2555 ว่าการควบคุมตัวสมยศเป็นการกระทำโดยพลการ และเขาควรได้รับการปล่อยตัว ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเมื่อเดือนตุลาคม 2555 ให้ยกคำร้องของสมยศ ซึ่งโต้แย้งว่าการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็น และบทลงโทษทางอาญาของความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยศาลเห็นว่าการกระทำที่เป็นการดูหมิ่นพระเกียรติยศ คุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติ
นับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 รัฐบาลทหารไทยได้ควบคุมเพิ่มขึ้นต่อเสรีภาพในการแสดงออก โดยอ้างว่าเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ คณะรักษาความสงบแห่งชาติซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นหัวหน้าคณะ กำหนดให้การฟ้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นเรื่องเร่งด่วนสูงสุด นับแต่ยึดอำนาจ รัฐบาลทหารได้จับกุมบุคคลอย่างน้อย 105 คนในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการโพสต์หรือการแชร์ความเห็นเชิงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับสถาบันฯ ในอินเตอร์เน็ต โดยผู้ต้องหาบางส่วนที่โพสต์ความเห็นวิพากษ์วิจารณ์เช่นนี้ทางเฟซบุ๊ก ได้ถูกศาลตัดสินลงโทษจำคุกเป็นเวลาหลายสิบปี
ทางการไทยและศาลได้ตีความกฎหมายนี้กว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ และมีลักษณะเหลวไหล เช่น คนงานคนหนึ่งถูกจับกุมเมื่อเดือนธันวาคม 2558 โดยถูกกล่าวหาว่าโพสต์ความเห็นในเชิงล้อเลียนต่อสุนัขทรงเลี้ยง ส่วนนักวิชาการคนสำคัญอีกท่านหนึ่งถูกกล่าวหาในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจากการบรรยายเรื่องราวสงครามยุทธหัตถีเมื่อศตวรรษที่ 16
รัฐบาลไทยยังคงได้รับเสียงประณามจากทั่วโลกต่อไป จนกว่าจะมีความพยายามอย่างจริงจังเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และปฏิรูปการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้ประชาชนคนไทยสามารถใช้เสรีภาพในการแสดงออกได้อย่างแท้จริง