Skip to main content

เวียดนามรับรองมาตรฐานด้านสุขภาพระดับโลกสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ

คำสั่งใหม่ของกระทรวงสาธารณสุขคุ้มครองศักดิ์ศรีและการไม่เลือกปฏิบัติ

© 2017 AP Photo/Hau Dinh

(กรุงเทพฯ) กระทรวงสาธารณสุขเวียดนามยืนยันอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2565 ว่า การรักเพศเดียวกันและการเป็นคนข้ามเพศ ไม่ถือเป็นอาการของสุขภาพทางจิต ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้ มติครั้งนี้ทำให้นโยบายด้านสุขภาพของเวียดนามสอดคล้องกับมาตรฐานด้านสุขภาพและสิทธิมนุษยชนระดับโลก

คำสั่งใหม่ของทางการเวียดนามระบุว่า “สมาคมจิตเวชแห่งอเมริกาและองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ยืนยันว่า การรักเพศเดียวกันไม่ถือเป็นโรค ด้วยเหตุดังกล่าว การรักเพศเดียวกันจึงไม่สามารถ “รักษาให้หายขาดได้” ทั้งไม่จำเป็นจะต้อง “รักษาให้หายขาด” และไม่สามารถบำบัดเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมได้”

“การที่กระทรวงสาธารณสุขเวียดนามยอมรับว่า รสนิยมทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศไม่ถือเป็นโรคชนิดหนึ่ง ทำให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศและครอบครัวทั่วเวียดนามต่างมีความโล่งใจ” Kyle Knight นักวิจัยด้านสิทธิของเลสเบียน เกย์ ไบเซ็กชวล และคนข้ามเพศ (LGBT) ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “ผู้มีความหลากหลายทางเพศในเวียดนามควรสามารถเข้าถึงข้อมูลและบริการด้านสุขภาพโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ และคำสั่งใหม่ของกระทรวงสาธารณสุขนับเป็นก้าวย่างสำคัญในทิศทางที่ถูกต้อง”

เวียดนามได้ส่งเสริมความก้าวหน้าด้านสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว ในปี 2556 รัฐบาลได้ยกเลิกการกำหนดให้การมีความสัมพันธ์ของเพศเดียวกัน เป็นความสัมพันธ์ต้องห้าม แต่การแก้ไขกฎหมายดังกล่าวยังไม่ถึงขั้นเป็นการอนุญาตให้มีความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันตามกฎหมายได้ ในปี 2558 สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่ง ทำให้การเปลี่ยนชื่อและเพศตามกฎหมายของคนข้ามเพศ ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายอีกต่อไป แต่การแก้ไขกฎหมายดังกล่าวไม่ได้นำไปสู่ขั้นตอนในการยอมรับสถานะทางเพศตามกฎหมาย

ในปี 2559 ในขณะที่เป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เวียดนาม ออกเสียงให้ความเห็นชอบต่อ มติเกี่ยวกับความจำเป็นที่จะต้องคุ้มครองไม่ให้เกิดความรุนแรง และการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งรสนิยมทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ คณะผู้แทนเวียดนามได้มีถ้อยแถลงสนับสนุนการลงมติดังกล่าว โดยบอกว่า “เหตุผลที่เวียดนามลงมติเห็นชอบปูทางไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบาย ทั้งในประเทศรวมทั้งในระดับสากล ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ”

อย่างไรก็ดี ฮิวแมนไรท์วอทช์บันทึกข้อมูลใน รายงานปี 2563 ว่า ความเข้าใจผิดด้านข้อเท็จจริงและอคติในด้านลบ กระตุ้นให้เกิดการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศในเวียดนาม ความเชื่อที่ว่าการรักเพศเดียวกันเป็นโรคที่วินิจฉัยได้ เป็นอาการของสุขภาพทางจิต ยังคงแพร่หลายอยู่ในเวียดนาม ความเชื่อผิด ๆ เช่นนี้เป็นผลมาจากการที่รัฐบาลและสมาคมทางการแพทย์ ไม่สามารถสื่อสารข้อมูลอย่างเป็นผล เพื่อยืนยันว่าการรักเพศเดียวกันเป็นรูปแบบหนึ่งของประสบการณ์มนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติ  

นักวิจัย ได้เขียนรายงานว่า เวียดนามไม่เคยประกาศยอมรับจุดยืนขององค์การอนามัยโลกอย่างเป็นทางการ ซึ่งเดิมเคยเสนอให้มีการวินิจฉัยการรักเพศเดียวกันว่าเป็นโรคเมื่อปี 2512 เนื่องจากการวินิจฉัยการรักเพศเดียวกันไม่เคยถูกกำหนดเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายในเวียดนาม รัฐบาลเวียดนามจึงไม่เคยประกาศยกเลิกการวินิจฉัยดังกล่าว ต่างจากที่ หลายประเทศทั่วโลก ได้ทำ เมื่อองค์การอนามัยโลกได้ยกเลิกการวินิจฉัยดังกล่าวเมื่อปี 2533 การปฏิบัติของรัฐบาลต่อการรักเพศเดียวกันเสมือนว่าเป็นพฤติกรรมเบี่ยงเบน ประกอบกับบุคลากรทางการแพทย์คนสำคัญที่สนับสนุนแนวคิดดังกล่าว ส่งผลให้เกิดความเชื่ออย่างแพร่หลายว่าการรักเพศเดียวกันเป็นโรคชนิดหนึ่ง  

ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการรักเพศเดียวกันที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน “ได้เกิดแรงกดดันอย่างมากต่อเด็กเพื่อบังคับให้พวกเขาต้องทำตัวตรงเพศ” อาจารย์แนะแนวที่โรงเรียนในกรุงฮานอยบอกกับฮิวแมนไรท์วอทช์ “มักมีการอ้างอย่างสม่ำเสมอว่า ความสนใจต่อบุคคลเพศเดียวกัน เป็นสิ่งที่สามารถและควรได้รับการเปลี่ยนแปลงและแก้ไขได้”  

Natalie Newton นักมานุษยวิทยาเขียนบทความเมื่อปี 2558 ว่า “คอลัมน์ให้ความรู้ในหนังสือพิมพ์เวียดนาม มักเสนอความเห็นของแพทย์และนักจิตวิทยา ซึ่งมีงานเขียนที่ระบุว่า การรักเพศเดียวกันเป็นโรคทางร่างกาย เป็นความผิดปกติทางพันธุกรรม เกิดจากความไม่สมดุลด้านฮอร์โมน หรือเป็นอาการป่วยทางจิต”  

หน่วยงานสาธารณสุขระหว่างประเทศและหน่วยงานสาธารณสุขระดับประเทศจำนวนมาก รวมทั้งสมาคมด้านสาธารณสุขทั่วโลก ต่างได้ประกาศใช้นโยบายเพื่อยืนยันว่า รสนิยมทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศไม่ใช่อาการเจ็บป่วย รวมทั้งประกาศใช้นโยบายการไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ ทั้งนี้รวมถึงกระทรวงสาธารณสุขของไทยที่ประกาศเมื่อปี 2545 ว่า “บุคคลที่รักเพศเดียวกันไม่ถือว่าเป็นผู้มีอาการทางจิต หรือไม่ถือว่าเป็นผู้เจ็บป่วยแต่อย่างใด” สมาคมสาธารณสุขระดับชาติใน ฮ่องกง, ฟิลิปปินส์ และอินเดียต่างยืนยันจุดยืนเช่นนี้ และสนับสนุนสิทธิทางสุขภาพของผู้มีความหลากหลายทางเพศโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ

กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศคำสั่งดังต่อไปนี้ไปยังหน่วยงานด้านสาธารณสุขทั่วประเทศเวียดนาม:

  1. ให้ส่งเสริมการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูล ทั้งนี้เพื่อทำให้แพทย์ บุคลากร และผู้ป่วยที่เข้ารับบริการตรวจและรักษาที่โรงพยาบาล มีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับคนรักเพศเดียวกัน, ไบเซ็กชวล และคนข้ามเพศ
  2. ระหว่างให้บริการตรวจรักษากับผู้ป่วยที่เป็นเกย์ ไบเซ็กชวล และคนข้ามเพศ บุคลากรสาธารณสุขต้องประกันให้เกิดความเท่าเทียมระหว่างเพศ และให้ความเคารพโดยหลีกเลี่ยงการเลือกปฏิบัติและอคติต่อคนกลุ่มเหล่านี้
  3. ไม่มองว่าการรักเพศเดียวกัน, การรักได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง และการเป็นคนข้ามเพศ เป็นโรคชนิดหนึ่ง
  4. ไม่แทรกแซงหรือบังคับจับตัวกลุ่มผู้ป่วยเหล่านี้มารักษา หากจะมีการรักษาใด ๆ ต้องอยู่ในรูปของความช่วยเหลือด้านจิตวิทยา และต้องเป็นหน้าที่ของผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศ   
  5. สนับสนุนการประเมินและตรวจสอบภายในเพื่อประกันว่า หน่วยงานให้บริการตรวจและรักษา รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ ได้ปฏิบัติตามจรรยาบรรณทางวิชาชีพในการให้บริการทางการแพทย์อย่างสอดคล้องตามกฎหมาย

คำสั่งของทางการฉบับนี้เกิดขึ้น หลังจากภาคประชาสังคมได้ร่วมกันรณรงค์ล่ารายชื่อกว่า 76,000 คน และส่งจดหมายไปยังสำนักงานขององค์การอนามัยโลกที่เวียดนาม โดยยืนยันว่า “องค์การอนามัยโลกยืนยันอย่างหนักแน่นในความเห็นที่ว่า ความพยายามใด ๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงรสนิยมทางเพศของผู้รักเพศเดียวกัน ขาดความชอบธรรมด้านเหตุผลทางการแพทย์ และเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ทางศีลธรรม”  

“ปัจจุบันเวียดนามเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลทั่วโลกที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งยืนยันว่าการรักเพศเดียวกันและอัตลักษณ์ทางเพศ เป็นรูปแบบหนึ่งของประสบการณ์มนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติ” Knight กล่าว “คำสั่งของกระทรวงสาธารณสุขเวียดนาม เป็นการส่งเสริมสิทธิขั้นพื้นฐานที่สำคัญ และในปัจจุบันผู้มีความหลากหลายทางเพศเริ่มมีพื้นฐานที่มั่นคงมากขึ้นในการแสดงตัวตนออกมา โดยไม่ต้องหวาดกลัวต่อปฏิกิริยาในทางลบ”

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.

Region / Country
Topic