(กรุงเทพฯ) – สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยและไต้หวัน ร่วมกับฮิวแมนไรท์วอทช์ และคณะการสื่อสารมวลชนและวารสารศาสตร์ครอนไคต์ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐแอริโซนา ในการเป็นเจ้าภาพมอบรางวัลสื่อเพื่อสิทธิมนุษยชนสำหรับการรายงานข่าวในเอเชีย ทางกลุ่มได้ประกาศในวันนี้ ทั้งยังจะกำหนดให้มีรางวัลประเภทใหม่ เพื่อยกย่องการรายงานข่าวที่ดีสุดของ “สำนักข่าวผู้ลี้ภัย”
จะมีการขยายความเป็นภาคีและเพิ่มประเภทรางวัลใหม่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นปัญหาท้าทายที่เพิ่มขึ้น และสถานการณ์ใหม่สำหรับการรายงานข่าวสิทธิมนุษยชนในเอเชีย เนื่องจากมีสำนักข่าวจำนวนมากขึ้น ซึ่งไม่สามารถดำเนินงานได้อย่างปลอดภัยในประเทศของตนเอง
“เราได้ก่อตั้งรางวัลประเภท ‘สำนักข่าวผู้ลี้ภัย’ เพื่อยกย่องนักข่าวที่กล้าหาญจำนวนมาก ซึ่งอาจรายงานปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศของตนเองระหว่างที่อยู่ในประเทศอื่น เพราะไม่ปลอดภัยที่พวกเขาจะรายงานข่าวจากประเทศของตนเอง” ทีรานา ฮัสซัน ผู้อำนวยการบริหารฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “บทบาทของพวกเขาในการเปิดโปงความจริง เป็นเรื่องสำคัญอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน”
รางวัลสื่อเพื่อสิทธิมนุษยชนมีประวัติศาสตร์ที่โดดเด่นมายาวนาน เป็นการยกย่องรายงานข่าวด้านสิทธิมนุษยชนที่ยอดเยี่ยมในเอเชีย ก่อนหน้านี้ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งฮ่องกงเป็นผู้จัดงานมอบรางวัลนี้ แต่หลังจากรัฐบาลจีนประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติในฮ่องกง เมื่อเดือนมิถุนายน 2563 และนำไปสู่การสั่งปิดสำนักข่าวอย่างน้อยเก้าแห่งในฮ่องกง ทำให้การมอบรางวัลต้องระงับไป
ฮิวแมนไรท์วอทช์ และมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแอริโซนา ร่วมกันเป็นเจ้าภาพมอบรางวัลปี 2565 ส่วนสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไต้หวัน (TFCC) และสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) จะมาเข้าร่วมเป็นเจ้าภาพมอบรางวัลนี้สำหรับปี 2566
“การขยายภาคีความร่วมมือจะช่วยให้เราประสบความก้าวหน้ามากขึ้น ในการทำให้รางวัลสื่อเพื่อสิทธิมนุษยชนเป็นการยกย่องอย่างถาวรต่อการรายงานข่าวสิทธิมนุษยชนที่ยอดเยี่ยมในโลก” บาตตินโต แอล บาตส์ จูเนียร์ คณบดีคณะการสื่อสารมวลชนและวารสารศาสตร์ครอนไคต์กล่าว “คณะการสื่อสารมวลชนและวารสารศาสตร์ครอนไคต์ภาคภูมิใจที่มีบทบาทสำคัญในการดำเนินงานที่สำคัญนี้”
รางวัลสื่อเพื่อสิทธิมนุษยชนมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความเคารพต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน และชี้ให้เห็นภัยคุกคามต่อเสรีภาพเหล่านี้ โดยมีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดหลายร้อยชิ้นในแต่ละปีจากทั่วเอเชีย ช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการแบ่งรางวัลออกเป็น 16 ประเภท อย่างไรก็ดีสำหรับปี 2567 ทางทีมงานได้ปรับลดประเภทรางวัลลงเหลือเจ็ดประเภท รวมทั้งประเภท “สำนักข่าวผู้ลี้ภัย”
ผู้ได้รับรางวัลก่อนหน้านี้รวมถึงมาเรีย เรสสา ผู้สื่อข่าวชาวฟิลิปปินส์และผู้ได้รับรางวัลโนเบล และมาร์คัส แยม ช่างภาพที่เกิดในมาเลเซียและทำงานให้กับหนังสือพิมพ์ลอสแอนเจลิสไทมส์ และเป็นผู้ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์สำหรับการถ่ายภาพประกอบข่าวด่วน
“ประทศไทยเป็นพื้นที่ทำงานของนักข่าวชาวพม่าที่กล้าหาญ พวกเขาถูกบีบให้ต้องลี้ภัยเพื่อหลบหนีการกดขี่ปราบปรามจากรัฐบาลทหารเมียนมา ภายหลังการทำรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 จึงเป็นเรื่องเหมาะสมอย่างยิ่งที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) จะทำหน้าที่ยกย่องการทำงานที่ยอดเยี่ยมของพวกเขาโดยการมอบรางวัลเหล่านี้ให้” ลิซา มาร์ติน ประธาน FCCT กล่าว “ในฐานะเป็นสมาคมผู้สื่อข่าวเก่าแก่มากสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ FCCT ภาคภูมิใจที่ได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรที่สำคัญนี้ เพื่อยกย่องนักข่าวจากทั่วเอเชีย ซึ่งเสี่ยงอันตรายอย่างยิ่งในการรายงานเรื่องราวที่สำคัญกับสิทธิมนุษยชน”
สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศในทั้งสองประเทศ ได้กลายเป็นพื้นที่ทำงานของนักข่าวผู้ลี้ภัยจำนวนมากขึ้น “ไต้หวันได้พัฒนาจนกลายเป็นศูนย์กลางสำคัญของนักข่าวที่รายงานข่าวเป็นภาษาจีนในโลก และภูมิภาคเอเชียตะวันออก เพราะเสรีภาพ ความปลอดภัย และที่ตั้งของไต้หวัน ไต้หวันทำหน้าที่เป็นที่พักพิงสำหรับผู้ชื่อข่าวภาษาจีนจำนวนมาก รวมทั้งเป็นที่ทำงานของนักข่าวที่รายงานงานจากภูมิภาคต่าง ๆ ในเอเชีย” ทอมสัน เชา ประธานสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไต้หวัน (TFCC) กล่าว “เราภาคภูมิใจที่ได้เข้าร่วมเป็นเจ้าภาพที่ทรงเกียรติ เพื่อมอบรางวัลสื่อเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำปี 2567 การกำหนดประเภทของรางวัล ‘สำนักข่าวผู้ลี้ภัย’ เป็นสัญญาณบ่งบอกที่ชัดเจนถึงสภาพในปัจจุบันของการสื่อสารมวลชนในเอเชีย เนื่องจากผู้สื่อข่าวและสำนักข่าวจำนวนมากที่เน้นการทำข่าวเกี่ยวกับประเทศจีน รวมทั้งฮ่องกง เมียนมา และที่อื่น ๆ ต่างถูกบังคับให้ต้องไปทำงานจากที่ตั้งในต่างประเทศ”
จะมีการประกาศผู้ชนะรางวัลประจำปี 2567 ในวันที่ 3 พฤษภาคม 2567 เนื่องในวันเสรีภาพสื่อโลก
ท่านสามารถเสนอผลงานเข้าประกวดทางออนไลน์ได้ที่ https://cronkite.submittable.com/submit/281186/human-rights-press-awards-2024