(กรุงเทพฯ) –ตำรวจ ไทย ใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูงอย่างไม่จำเป็นต่อผู้ประท้วงอย่างสงบเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 เป็นการละเมิดมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้ ทางการไทยใช้อำนาจตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีการประกาศใช้เมื่อวันก่อนหน้า ให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่ความมั่นคงที่จะปฏิบัติมิชอบโดยไม่ต้องรับผิด
เมื่อเวลาประมาณ 18.30 น. ตำรวจใช้กำลังสลายการชุมนุมของคณะราษฎร 2563 ที่จัดการชุมนุมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย โดยมีผู้มาเข้าร่วมหลายพันคน รวมทั้งนักเรียนและนักศึกษาจำนวนมาก ฮิวแมนไรท์วอทช์สังเกตเห็นตำรวจใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง ฉีดน้ำผสมสีน้ำเงินและสารเคมีที่ใช้ทำก๊าซน้ำตา เพื่อสลายการชุมนุมที่ย่านการค้าในเขตปทุมวัน จากนั้นตำรวจยังเดินเรียงแถวเข้าหาพร้อมกับโล่และไม้กระบอง เพื่อสลายผู้ชุมนุมที่เหลืออยู่ มีผู้ถูกจับกุมจำนวนมาก รัฐบาลยังไม่ให้ข้อมูลว่ามีผู้ใดถูกตำรวจจับกุมตัวไปบ้าง ภายหลังการปราบปราม ยังมีการออกหมายจับแกนนำการประท้วง 12 คน
“การส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปใช้ความรุนแรงเพื่อสลายการชุมนุมอย่างสงบ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยจะเริ่มการปราบปรามอย่างกว้างขวางเพื่อยุติการชุมนุมประท้วงของนักเรียนและนักศึกษามากขึ้น” แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “การใช้อำนาจตามพรก. ฉุกเฉิน เป็นการอนุญาตให้ตำรวจสามารถปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิได้โดยไม่ต้องรับผิด”
ตาม แนวปฏิบัติขององค์การสหประชาชาติ ปี 2563 ว่าด้วยการใช้อาวุธที่รุนแรงไม่ถึงขั้นชีวิตเพื่อบังคับใช้กฎหมาย “ปืนฉีดน้ำแรงดันสูงควรนำมาใช้ เฉพาะเมื่อเกิดสถานการณ์ปั่นป่วนอย่างร้ายแรงต่อสาธารณะ กรณีที่มีแนวโน้มอย่างมากว่าจะเกิดการสูญเสียชีวิต การบาดเจ็บร้ายแรง หรือการทำลายทรัพย์สินอย่างกว้างขวาง” นอกจากนั้น ไม่ควรเล็งปืนฉีดน้ำแรงดันสูง “ไปที่เป้าหมายซึ่งเป็นบุคคลหรือกลุ่มบุคคลในระยะใกล้ เนื่องจากมีความเสี่ยงจะทำให้เกิดการตาบอดอย่างถาวร หรืออาการบาดเจ็บที่รุนแรงน้อยกว่า กรณีที่บุคคลถูกกระแสน้ำฉีดใส่อย่างรุนแรง”
ตำรวจจับกุมนายกิตติ พันธภาค นักข่าวประชาไท ระหว่างที่เขาถ่ายทอดสดเหตุสลายการชุมนุมผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ โดยกิตติแจ้งต่อตำรวจว่าเขาเป็นผู้สื่อข่าว และยังสวมปลอกแขนของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เขาอาจถูกดำเนินคดีตามพรก.ฉุกเฉิน ซึ่งห้ามการเผยแพร่ข้อมูลและการถ่ายทอดเหตุการณ์ที่อาจกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ
ทั้งยังมีการปิดกั้นการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับประเทศไทยจากสำนักข่าวระหว่างประเทศ รวมทั้ง BBC World Service ที่เผยแพร่ทางทรูวิชั่นส์ เคเบิลทีวีหลักของประเทศ ทางการไทยยังกดดันผู้ให้บริการสัญญาณดาวเทียม ให้ปิดกั้นการถ่ายทอดรายการของวอยซ์ทีวี สถานีโทรทัศน์ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่ามักเผยแพร่รายงานวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล
พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้อำนาจทางการไทยในการเซ็นเซอร์สื่ออย่างกว้างขวาง เป็นการละเมิดสิทธิในการแสดงออกอย่างเสรีและเสรีภาพสื่อ ในวันที่ 16 ตุลาคม ตำรวจแจ้งเตือนหลายครั้ง เกี่ยวกับรายงานข่าวและการแสดงความเห็นทางโซเชียลมีเดียที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐบาลและสถานการณ์การเมืองในประเทศ มีการประกาศว่า การไลฟ์สดเหตุการณ์การประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย รวมทั้งการโพสต์รูปเซลฟีจากที่ชุมนุมประท้วง
พรก.ฉุกเฉินยังให้อำนาจอย่างกว้างขวางกับทางการในการจับกุมบุคคลโดยไม่มีข้อหา และการควบคุมตัวในสถานที่ควบคุมตัวอย่างไม่เป็นทางการรวมทั้งค่ายทหาร เจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามพรก.ฉุกเฉินยังได้รับความคุ้มครองทำให้ไม่ต้องรับผิดตามกฎหมาย พรก.ฉุกเฉินยังปิดกั้นการเข้าถึงทนายความ หรือการเข้าเยี่ยมโดยครอบครัว ทั้งยังมีการระงับไม่ให้มีการอภิปรายในรัฐสภาเกี่ยวกับประเด็นทางการเมือง และมีการห้ามการชุมนุมสาธารณะของบุคคลห้าคนหรือกว่านั้นในเขตกรุงเทพฯ
การปราบปรามครั้งนี้เกิดขึ้นเพียงหนึ่งวัน หลังจากนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในเขตกรุงเพทมหานครเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม โดยย้ำว่าเป็นผลจากการประท้วงที่เพิ่มขึ้นของฝ่ายที่เรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ คุกคามสถาบันพระมหากษัตริย์ ก่อให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวาย กระทบต่อความมั่นคงของรัฐและความปลอดภัยของสาธารณะ และกระทบต่อสัมฤทธิผลของมาตรการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ภายหลังการประกาศดังกล่าว รัฐบาลส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อใช้กำลังสลายการชุมนุมที่ด้านนอกของทำเนียบรัฐบาล ตำรวจจับกุมบุคคลอย่างน้อย 22 คน รวมทั้งแกนนำการประท้วงอย่าง อานนท์ นำภา, พริษฐ์ ชีวารักษ์, ประสิทธิ์ อุธาโรจน์ และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล
รัฐบาลแสดงการต่อต้านมากขึ้นกับการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม และต่อมาได้แพร่กระจายไปทั่วประเทศ ผู้ประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก ให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และให้ยุติการคุกคามประชาชนที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออก การประท้วงในบางครั้งยังเรียกร้องการปฏิรูปเพื่อจำกัดอำนาจของพระมหากษัตริย์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า มีผู้ประท้วงอย่างน้อย 85 คน ที่จะถูกดำเนินคดีในข้อหาชุมนุมมั่วสุม จากการจัดการชุมนุมประท้วงอย่างสงบในกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่น ๆ แกนนำการประท้วงบางคนยังถูกดำเนินคดีข้อหายุยงปลุกปั่น ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี จากการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์
กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมทั้งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งประเทศไทยให้สัตยาบันรับรองเมื่อปี 2539 คุ้มครองสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ แต่ทางการไทยมักเซ็นเซอร์และออกข้อกำหนดเพื่อควบคุมการอภิปรายของสาธารณะเกี่ยวกับประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน การปฏิรูปทางการเมือง และบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคม ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา นักกิจกรรมและผู้เห็นต่างจากรัฐหลายร้อยคนถูกดำเนินคดีในข้อหาอาญาร้ายแรง รวมทั้งยุยงปลุกปั่น ความผิดด้านคอมพิวเตอร์ และหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อันเป็นผลจากการแสดงความเห็นอย่างสงบ นอกจากนั้น ในช่วงห้าเดือนที่ผ่านมา ทางการไทยยังใช้มาตรการฉุกเฉินเพื่อช่วยควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 เป็นข้ออ้างเพื่อสั่งห้ามการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลและเพื่อคุกคามนักกิจกรรมที่เรียกร้องประชาธิปไตย
“ผู้ประท้วงในประเทศไทยเรียกร้องอย่างสงบให้เกิดประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และการปฏิรูป” อดัมส์กล่าว “รัฐบาลที่เกี่ยวข้องและองค์การสหประชาชาติควรแสดงจุดยืนอย่างเปิดเผย เรียกร้องให้รัฐบาลประยุทธ์ยุติการปราบปรามทางการเมือง”