(นิวยอร์ก) – รัฐบาล ไทย ยังคงปราบปรามการใช้สิทธิขั้นพื้นฐาน และการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยที่มีเยาวชนเป็นแกนนำในปี 2564 ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้ใน รายงานระดับโลกปี 2565
“ทางการไทยดำเนินคดีกับผู้เห็นต่าง ใช้ความรุนแรงเพื่อสลายการชุมนุมอย่างสงบ และเซ็นเซอร์ข่าวสารและโซเชียลมีเดีย” แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “การเคารพสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยได้เลวร้ายลงไปอีก ในขณะที่รัฐบาลไม่ปฏิบัติตามคำสัญญาที่จะปฏิรูป”
ในหน้า 752 ของรายงานสถานการณ์โลก 2565 ซึ่งพิมพ์เป็นปีที่ 32 ฮิวแมนไรท์วอทช์ทบทวนการปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนในเกือบ 100 ประเทศ เคนเนธ โรธ์ ผู้อำนวยการบริหาร ค้านความเชื่อทั่วไปว่าระบอบเผด็จการกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น เราได้เห็นในประเทศแล้วประเทศเล่า ในช่วงที่ผ่านมา ประชาชนจำนวนมากได้ออกมาประท้วงในท้องถนน แม้จะเสี่ยงต่อการถูกจับกุม หรือถูกยิง แสดงให้เห็นว่าผู้คนยังคงศรัทธาต่อระบอบประชาธิปไตย ในเวลาเดียวกัน บรรดาผู้นำเผด็จการกลับพบปัญหามากขึ้นในการบิดเบือนผลเลือกตั้งเพื่อประโยชน์ของตน ถึงอย่างนั้น เคนเนธยังบอกว่า ผู้นำฝ่ายประชาธิปไตยต้องทำงานให้ดีขึ้น เพื่อให้สามารถรับมือกับปัญหาท้าทายทั้งในระดับประเทศและระดับโลก และเพื่อให้ประชาธิปไตยออกดอกผลตามที่สัญญาเอาไว้
พลังจากการเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศไทย ซึ่งมีสัญลักษณ์เป็นการชูสามนิ้วของผู้ประท้วง ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาดของโรคโควิด-19 รวมทั้งมาตรการล็อคดาวน์ที่เป็นผลตามมา ในขณะที่ทางการยังคงคุกคาม ปราบปรามด้วยความรุนแรงและดำเนินคดีกับผู้ประท้วง
รัฐบาลยังคงบังคับให้มีการเซ็นเซอร์ข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งในแพลตฟอร์มของโซเชียลมีเดีย หลังจากนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา รื้อฟื้นการฟ้องคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ ในเดือนพฤศจิกายน 2563 ส่งผลให้มีบุคคลอย่างน้อย 154 คน ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญาในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ผู้วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ยังถูกดำเนินคดีในข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญา กฎหมายว่าด้วยความผิดทางคอมพิวเตอร์ และกฎหมายฉบับอื่น ๆ
แกนนำฝ่ายประชาธิปไตยรุ่นเยาว์ รวมทั้งอานนท์ นำภา, พริษฐ์ ชิวารักษ์, จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ต่าง ถูกควบคุมตัวระหว่างรอการพิจารณา ในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ ซึ่งอาจใช้เวลาอีกหลายปีกว่าที่ศาลจะตัดสิน
รัฐบาลไม่สามารถประกันให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชน สามารถทำงานในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเกื้อหนุนได้ ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการทำร้ายร่างกายและการฟ้องคดีเพื่อตอบโต้ มีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อยในการสอบสวนกรณีการทำร้ายร่างกาย การบังคับให้สูญหาย และการสังหารนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ในเดือนกุมภาพันธ์ รัฐบาลได้เสนอร่างกฎหมายเพื่อควบคุมอย่างเข้มงวดต่อองค์กรภาคประชาสังคม และบังคับให้ต้องขึ้นทะเบียน โดยร่างกฎหมายนี้อยู่ระหว่างการแก้ไขในช่วงสิ้นปี
แม้รัฐบาลจะให้คำมั่นหลายครั้ง รวมทั้งในระหว่างการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตามวาระ (UPR) ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เพื่อพิจารณาสถิติด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายน แต่ประเทศไทยยังคงไม่สามารถออกกฎหมาย เพื่อกำหนดให้ การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย เป็นความผิดอาญาได้
รัฐบาลแสดงความเพิกเฉยอย่างสิ้นเชิงต่อพันธกรณีตามกฎหมายที่จะต้องคุ้มครองผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัย มีการจับกุมและส่งกลับพวกเขาไปยังกัมพูชาและที่อื่น ๆ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อชีวิตและเสรีภาพของพวกเขา รัฐบาลที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ประณามอย่างรุนแรงต่อการปฏิบัติเช่นนี้ ในเดือนพฤศจิกายน รัฐบาลบังคับส่งกลับผู้ลี้ภัยที่ได้รับการรับรองจาก UNHCR สามคนไปยังประเทศกัมพูชา แม้ว่า UNHCR ได้แจ้ง ให้พวกเขาทราบก่อนหน้านี้แล้วว่า บุคคลเหล่านี้อยู่ภายใต้ความคุ้มครองของหน่วยงาน
สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และรัฐบาลที่มีความเห็นใกล้เคียงกัน ยังคงกดดันประเทศไทยต่อไปเนื่องจากความกังวลด้านสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง แต่ที่ผ่านมามีความคืบหน้าน้อยมากในการแก้ไขนโยบาย กฎหมาย และการปฏิบัติที่ละเมิดสิทธิของรัฐบาล