Skip to main content

ประเทศไทย: 20 ปีของความอยุติธรรมสำหรับเหยื่อการสังหารหมู่ที่ตากใบ

ความล้มเหลวในการฟ้องคดีต่อเจ้าหน้าที่ซึ่งรับผิดชอบต่อความตาย การบาดเจ็บ

Community members call for justice at a mass grave for victims of the October 2004 Tak Bai massacre, Narathiwat, Thailand, October 25, 2024. © 2024 Tohlala/AFP via Getty Images

(กรุงเทพฯ) – รัฐบาลไทย ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ล้มเหลวในการนำตัวอดีตเจ้าหน้าที่ที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนาและความผิดอื่น ๆ มาเข้าสู่กระบวนการไต่สวน โดยเป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของบุคคล 85 คน รวมทั้งมีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายร้อยคนภายหลังการใช้ความรุนแรงเพื่อสลายการประท้วงของชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูในอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อสองทศวรรษที่แล้วฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้ อายุความของคดี 20 ปีสิ้นสุดลงในวันที่ 25 ตุลาคม 2567 ทำให้ไม่สามารถดำเนินคดีใหม่ได้ 

วันที่ 25 ตุลาคม 2547 หน่วยงานทหารและตำรวจไทยหลายหน่วย ได้สลายการชุมนุมของผู้ประท้วงด้านนอกสถานีตำรวจภูธรตากใบในภาคใต้ของไทย ผู้ประท้วงเจ็ดคนถูกยิงจนเสียชีวิตกองทัพบกได้จับตัวบุคคลประมาณ 1,300 คน ใส่ไว้ในรถบรรทุกทหาร 26 คัน เพื่อนำตัวไปยังที่กักตัวในค่ายทหารซึ่งอยู่ห่างออกไป 150 กิโลเมตรในจังหวัดปัตตานีที่อยู่ติดกัน ส่งผลให้มีผู้ถูกกดทับจนเสียชีวิต 78 คน กองทัพบกยังได้ควบคุมตัวบุคคลอื่น ๆ ไว้เป็นเวลาหลายวัน โดยไม่ให้การรักษาพยาบาลอย่างเหมาะสม ส่งผลให้ต้องมีการตัดแขนขาและเกิดการบาดเจ็บที่รุนแรงอย่างอื่น 

“ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่สามารถดำเนินคดีกับผู้ที่รับผิดชอบต่อการตายและบาดเจ็บที่น่าสยดสยองที่อำเภอตากใบ” สุณัย ผาสุข นักวิจัยอาวุโสภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “แต่เหยื่อของการปราบปรามที่รุนแรงและครอบครัวของพวกเขา ไม่เคยยุติความพยายามที่จะแสวงหาความยุติธรรม” 

ในเดือนสิงหาคมและตุลาคม 2567 ฮิวแมนไรท์วอทช์สัมภาษณ์บุคคล 20 คน ซึ่งเข้าร่วมการประท้วงที่อำเภอตากใบ ผู้หญิงจากครอบครัวที่มีญาติถูกสังหารหรือได้รับบาดเจ็บ และทนายความของเหยื่อหรือครอบครัวเหล่านี้ฮิวแมนไรท์วอทช์ได้รวบรวมข้อมูลและเปรียบเทียบกับเอกสารของทางการ รายงานข่าวจากสื่อมวลชน และปากคำจากหน่วยงานภาคประชาสังคมและงานวิจัยทางวิชาการ

ในเดือนธันวาคม 2547 คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงที่แต่งตั้งโดยอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร มีข้อสรุปว่า วิธีการที่ใช้เพื่อสลายผู้ประท้วงไม่เหมาะสม และไม่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติและการปฏิบัติในระดับสากล คณะกรรมการฯ ยังพบว่า ผู้บังคับบัญชาไม่สามารถกำกับดูแลการขนส่งผู้ประท้วงที่ถูกจับกุม แต่กลับมอบหมายภารกิจให้กับเจ้าหน้าที่ระดับล่างที่ขาดประสบการณ์

ภายหลังการทำรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 อดีดนายกรัฐมนตรีสุรยุทธ์ จุลานนท์ได้ประกาศ ขอโทษ ต่อเหตุการณ์ที่อำเภอตากใบ และสัญญาว่าจะดำเนินการให้เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดชอบ แต่ผ่านไปสองทศวรรษ ทางการไทยยังไม่สามารถดำเนินการให้เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อการสังหารหมู่นี้ได้ แม้จะมีพยานหลักฐานมากมายที่สนับสนุนการดำเนินคดีต่อพวกเขา

วันที่ 29 พฤษภาคม 2552 ศาลจังหวัดสงขลา มีคำสั่ง ในการไต่สวนการตายว่า ผู้ประท้วง 78 คนเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจระหว่างการขนส่งไปให้ทหารควบคุมตัว โดยไม่ระบุถึงพฤติการณ์อันเป็นเหตุให้เสียชีวิต และไม่ได้จำแนกตัวผู้รับผิดชอบ ครอบครัวของเหยื่อจึงได้อุทธรณ์คำสั่งนี้ วันที่ 1 สิงหาคม 2556 ศาลฎีกา พิพากษายืน ตามคำสั่งของศาลจังหวัดสงขลา และมีความเห็นว่าเจ้าหน้าที่ความมั่นคงปฏิบัติหน้าที่ของตน และไม่มีความรับผิดชอบทางกฎหมาย

ผู้รอดชีวิตจากการสังหารหมู่ที่ตากใบ และญาติของผู้เสียชีวิต ยังคงพยายามแสวงหาความยุติธรรมทางอาญา วันที่ 25 เมษายน 2567 เหยื่อและครอบครัวจากเหตุการณ์ตากใบจึงได้ฟ้องคดีอาญาโดยตรงต่อศาลจังหวัดนราธิวาส วันที่ 23 สิงหาคม ศาลได้ประทับรับฟ้องคดีต่ออดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงเจ็ดคน รวมทั้งพล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4; พล.ต.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีตผู้บัญชาการผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5; พล.ต.อ.วงกต มณีรินทร์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า; พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 9; พล.ต.ต.ศักดิ์สมหมาย พุทธกูล อดีต อดีตผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จ.นราธิวาส; นายศิวะ แสงมณี อดีตรองผู้อำนวยการกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และนายวิชม ทองสงค์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส 

สำนักงานอัยการสูงสุดของไทยยังได้สั่งฟ้องคดีอาญาอีกคดีหนึ่ง เมื่อวันที่ 18 กันยายน เพื่อเอาผิดในข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนาต่อพล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร และเจ้าหน้าที่ของรัฐอีกเจ็ดคน รวมทั้งร.ต.ณัฐวุฒิ เลื่อมใส, ร.ท.วิสนุกรณ์ ชัยสาร, พ.จ.ต. รัชเดช ศรีสุวรรณ, พ.ท.ประเสริฐ มัทมิฬ, ร.ท.ฤทธิรงค์ พรหมฤทธิ์, นายวิษณุ เลิศสงคราม และนายปิติ ญาณแก้ว ซึ่งเป็นพลขับและผู้ควบคุมขบวนรถที่ใช้ขนส่งผู้ถูกจับกุม ภายหลังการสลายการชุมนุมที่อำเภอตากใบไปค่ายของกองทัพบก

จำเลยทั้ง 14 คนในคดีอาญาทั้งสองคดี ได้ หลบหนี และปัจจุบันถูกศาลออกหมายจับ ไม่มีผู้ใดทราบที่อยู่ของพวกเขา ยกเว้นเฉพาะพิศาลและศิวะ โดยพิศาลได้ขอลาจากการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสมาชิกรัฐสภาของพรรคเพื่อไทย เพื่อเข้ารับการรักษาตัวที่ สหราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 26 สิงหาคม ถึง 30 ตุลาคม ส่วนศิวะเดินทางไป ญี่ปุ่น ในวันที่ 22 สิงหาคม

การขัดกันด้วยอาวุธระหว่างกลุ่มแบ่งแยกดินแดนภายใต้การนำของ Barisan Revolusi Nasional และรัฐบาลไทยในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และจังหวัดสงขลาในภาคใต้ของไทย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 7,000 คน ตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้ก่อความไม่สงบมักพุ่งเป้าหมายไปที่พลเรือน แทนที่จะเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร 

รัฐบาลยังคงล้มเหลวอย่างต่อเนื่อง ไม่สามารถดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่กองกำลังความมั่นคงที่รับผิดชอบต่อการทรมาน การสังหารอย่างมิชอบด้วยกฎหมาย และการปฏิบัติมิชอบอื่น ๆ ต่อชาวมุสลิมเชื้อสายมลายู ในหลายกรณี ทางการไทยได้ให้เงินเยียวยากับเหยื่อหรือครอบครัว เพื่อแลกกับข้อตกลงที่จะไม่ออกมาวิจารณ์เจ้าหน้าที่ หรือไม่ให้ฟ้องคดีอาญาต่อเจ้าหน้าที่ 

แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทย ซึ่งพ่อของเธอเคยเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่เกิดการสังหารหมู่ที่ตากใบ ควรดำเนินการตาม คำมั่น ที่จะส่งเสริมหลักนิติธรรมในประเทศไทย ด้วยการเห็นชอบต่อการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 95 ของประมวลกฎหมายอาญาของไทย ซึ่งมีข้อบทเกี่ยวกับอายุความของความผิดอาญา โดยไม่ควรกำหนดให้มีอายุความสำหรับการละเมิดอย่างร้ายแรงต่อสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายระหว่างประเทศ ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว

“การสังหารหมู่ที่ตากใบเป็นเพียงหนึ่งในหลายกรณีในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งผู้มีส่วนรับผิดชอบต่อการละเมิดที่รุนแรงในภาคใต้ของไทยสามารถลอยนวลจากการถูกฟ้องคดีได้” สุณัยกล่าว “นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ควรป้องกันไม่ให้เกิดความอยุติธรรมเช่นนี้ โดยการยกเลิกการกำหนดอายุความกรณีที่เป็นการละเมิดอย่างร้ายแรงต่อสิทธิมนุษยชน” 

 

มีการปกปิดหรือเปลี่ยนชื่อโดยใช้ตัวย่อ เพื่อปกปิดอัตลักษณ์ของชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูที่เราสัมภาษณ์

การประท้วงที่อำเภอตากใบ

วันที่ 25 ตุลาคม 2547 ตั้งแต่เวลาประมาณ 06.00 น. ผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูกว่า 1,000 คน ได้มารวมตัวที่ด้านหน้าสถานีตำรวจอำเภอตากใบ บางส่วนระบุว่า พวกเขามาเพื่อประท้วงเพราะเชื่อว่ามีการควบคุมตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) หกคนอย่างไม่เป็นธรรม โดยพวกเขาถูกจับกุมเพราะถูกกล่าวหาว่าส่งมอบอาวุธของทางราชการให้กับกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ผู้ประท้วงเรียกร้องให้ปล่อยตัวพวกเขาโดยทันที ส่วนคนอื่นบอกว่าพวกเขาไปที่อำเภอตากใบเพื่อจะไปตลาด หรือไปด้วยเหตุผลอื่น ๆ และไปติดอยู่ท่ามกลางฝูงชน บางส่วนบอกว่าเพียงแต่มามุงดู เพราะต้องการรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น 

ดีอี ซึ่งเข้าร่วมการประท้วง กล่าวว่า:

เพื่อนของผมโทรศัพท์มาหาในตอนเช้า บอกให้มาประท้วงที่ด้านหน้าสถานีตำรวจ [อำเภอตากใบ] พวกเขาบอกว่าต้องการความช่วยเหลือเพื่อกดดันให้เจ้าหน้าที่ให้ปล่อยตัวชรบ.หกคน และบอกว่าผู้ชายเหล่านี้เป็นผู้บริสุทธิ์ ผมจึงไปที่สถานีตำรวจพร้อมกับหลานชาย มีคนอยู่ที่นั่นหลายพันคน ทั้งผู้ชาย ผู้หญิงและเด็ก พวกเขาพากันตะโกนว่า “ปล่อยผู้บริสุทธิ์! เราจะไม่ไปไหน หากพวกเขายังถูกควบคุมตัวไว้”

วายซี ไปที่ตลาดอำเภอตากใบพร้อมกับลูกชาย และไม่สามารถออกมาได้หลังการประท้วงเริ่มบานปลาย:

ดิฉันไปตลาดพร้อมกับลูกชาย แต่เกิดการประท้วงที่หน้าสถานีตำรวจ เราสอบถามคนแถวนั้นว่าเกิดอะไรขึ้น พวกเขาบอกว่าพวกเขากำลังประท้วงเรียกร้องให้ปล่อยตัวชรบ. เราไม่ได้เข้าร่วมในการประท้วง แต่เราก็ออกจากพื้นที่เพื่อกลับบ้านไม่ได้ เพราะมีคนอยู่เยอะมาก ตอนนั้นดิฉันได้เจอกับสามีโดยบังเอิญ เขากำลังเข้าร่วมการประท้วง 

เอ็มเอ็น อธิบายว่าเขาไปอยู่ในที่ประท้วงได้อย่างไร:

เวลา 08.00 น. ผมได้รับโทรศัพท์จากเพื่อนหลายคน พวกเขาบอกว่ากำลังมีการประท้วงที่หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ ผมเกิดความสนใจอยากรู้ เลยไปกับพวกเขาเพื่อดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ภรรยาของผมก็ไปด้วย แต่เราไปติดอยู่ในฝูงชนและออกมาไม่ได้ มีคนอยู่เยอะมาก พวกเขาพากันตะโกนเรียกร้องให้ปล่อยตัวชรบ.ทันที

คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงของรัฐบาลมีความเห็นว่า เจ้าหน้าที่ไทยเกิดความหวาดระแวงต่อการประท้วง เนื่องจากได้รับข่าวกรองจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่เตือนว่า กลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่นำโดยBarisan Revolusi Nasional เป็นผู้จัดตั้งประชาชนมาจากจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา เพื่อยุยงให้เกิดการประท้วงในอำเภอตากใบ โดยใช้การจับกุมชรบ.หกคนเป็นตัวล่อ 

ประมาณ 09.00 น. ตำรวจได้ตั้งด่านสกัด แต่ไม่สามารถหยุดยั้งฝูงชนที่มาเข้าร่วมการประท้วงได้ มีการเจรจาระหว่างเจ้าหน้าที่ แกนนำชุมชน ผู้นำทางศาสนากับผู้ประท้วงหลายครั้ง แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ

ประมาณสิบโมงเช้า ฝูงชนพยายามบุกเข้าไปในสถานีตำรวจภูธรตากใบ ผู้ชายบางส่วนซึ่งเจ้าหน้าที่ไทยเชื่อว่าเป็นแกนนำผู้ประท้วง ได้ยุยงให้ผู้ประท้วงโยนก้อนอิฐและเศษไม้เข้าไปใส่ตำรวจและทหาร ตำรวจและทหารตอบโต้ด้วยการยิงกระสุนจริงขึ้นไปในอากาศเพื่อเตือน ทำให้ผู้ชุมนุมสลายตัวไปสักพักหนึ่ง 

วายซีกล่าวว่า การเผชิญหน้าได้ขยายตัวขึ้นจนเกิดความรุนแรง 

ผมเห็นบางคนตะโกนว่า “อัลลอฮุอักบัร!” หลังจากนั้นผู้ประท้วงก็ขว้างปาก้อนอิฐและไม้ใส่สถานีตำรวจ ประมาณสิบโมงเช้า ผมได้ยินเสียงปืน เหมือนเป็นการยิงเพื่อเตือน ผู้ประท้วงได้ล่าถอยไป แต่ก็กลับมารวมตัวใหม่อย่างรวดเร็ว ผมบอกกับลูกชายว่า เราควรออกจากพื้นที่นี้ไป แต่เขายังต้องการอยู่และติดตามสถานการณ์ 

ประมาณสิบเอ็ดโมงเช้า ศิวะ รองผู้อำนวยการศอ.บต.เดินทางมาถึงยังที่ประท้วง และบอกกับมวลชนว่า การขอประกันตัวชรบ.ที่ถูกควบคุมตัว อาจเป็นทางออกทำให้ไม่ต้องเผชิญหน้ากันได้ แต่ผู้ประท้วงต้องการให้ปล่อยตัวชรบ.ทั้งหกคนทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข และได้ปฏิเสธข้อเสนอของเขา 

ดีอีกล่าวว่า:

มีกลุ่มของผู้ชายซึ่งใช้เสื้อยืดปกปิดใบหน้าเอาไว้ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นแกนนำผู้ประท้วง พวกเขากระตุ้นให้ผู้ประท้วงไม่ยอมรับเงื่อนไขใด ๆ ซึ่งเจ้าหน้าที่เสนอเพื่อคลี่คลายการเผชิญหน้า โดยยืนยันว่าต้องมีการปล่อยตัวชรบ.ทันที ผู้ประท้วงจึงได้ขว้างปาก้อนอิฐและไม้ใส่สถานีตำรวจ พวกเขาพยายามฝ่าแนวกั้นเพื่อเข้าไปข้างในสถานีตำรวจ ตำรวจและทหารได้ยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อเตือน สถานการณ์เริ่มเข้มข้นมากขึ้น 

เวลาประมาณ 11.45 น. ผู้ประท้วงได้พยายามบุกเข้าไปในสถานีตำรวจภูธรตากใบอีกครั้ง ตำรวจและทหารตอบโต้ด้วยการยิงกระสุนจริงขึ้นฟ้าเพื่อเตือน ในขณะนั้น ศิวะและเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยคนอื่น รวมทั้งพิศาล, วงกต, วิชม, มาโนช และเฉลิมชัย ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่เพื่อสลายกลุ่มผู้ประท้วง เฉลิมชัยซึ่งอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของพิศาล เป็นผู้กำกับดูแลการสลายการชุมนุม

การปราบปรามที่รุนแรง 

ประมาณบ่ายสามโมง พิศาลใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกเพื่อสั่งการให้สลายการชุมนุม เจ้าหน้าที่เริ่มจากการยิงปืนฉีดน้ำแรงดันสูงจากรถดับเพลิง เพื่อผลักดันผู้ประท้วงออกจากสถานีตำรวจภูธรตากใบ จากนั้นมีการใช้แก๊สน้ำตา และตามด้วยการยิงกระสุนปืน ศอ.บต.อ้างว่าหน่วยควบคุมฝูงชนได้ยิงปืนขึ้นบนฟ้าเพื่อเตือน แต่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงพบว่ามีการยิงปืนบางส่วนใส่ผู้ประท้วงโดยตรง การสลายการชุมนุมดำเนินต่อไปและสิ้นสุดลงประมาณ 30 นาทีต่อมา

ดีอี อธิบายถึงตอนที่ถูกยิงว่า:

หลังจากบ่ายสามโมง พวกเขาเริ่มยิงปืนฉีดน้ำแรงดันสูงและแก๊สน้ำตาใส่พวกเรา ผมพยายามหาที่หลบภัย ตอนนั้นผมได้ยินเสียงปืนดังต่อเนื่องไม่หยุดเลย ผมวิ่งไปที่สนามเด็กเล่นที่อยู่ใกล้ ๆ คิดว่าอาจสามารถไปซ่อนอยู่ด้านหลังกระถางต้นไม้แถวนั้น แต่ตอนที่ผมวิ่งหนี ผมถูกยิงด้วยกระสุน ผมถูกยิงเข้าที่ข้างหลัง กระสุนทะลุผ่านซี่โครงเข้าไปข้างในหน้าอกของผม ผมล้มลง หัวฟาดพื้น และหมดสติไป ตื่นขึ้นมาตอนอยู่ที่โรงพยาบาล 

วีวายอธิบายถึงการสลายการประท้วงว่า:

ตอนที่ตำรวจและทหารเริ่มยิงปืน ดิฉันติดอยู่ในฝูงชน หลายคนติดอยู่ที่ด้านหน้าสถานีตำรวจ เราร้องไห้และร้องขอหลายครั้งว่า “หยุดยิง พอแล้ว ได้โปรดหยุดยิง” แต่การกราดยิงยังเกิดขึ้นต่อไป ตำรวจและทหารบางส่วนยิงปืนเข้าใส่ผู้ประท้วงโดยตรง ดิฉันเห็นตอนที่หลายคนถูกยิง เราพยายามหนีไปทางแม่น้ำ ล้มตัวลงนอนกับพื้น ผู้หญิงและเด็กอยู่ด้านใต้ของผู้ชาย เมื่อมีการหยุดยิง ทหารได้เดินมายังที่ที่ดิฉันหลบซ่อนตัวอยู่ และบอกให้ยืนขึ้น ลูกชายของดิฉันถูกจับ แต่โชคดีที่เขาไม่ถูกยิง ผู้หญิงและเด็กไม่ถูกจับ ต่อมาพวกเขาให้อาหารเรากินและส่งเรากลับบ้าน

ผู้ประท้วงเจ็ดคนถูกยิงจนเสียชีวิต ห้าคนถูกยิงเข้าที่ศีรษะ

วายซี อธิบายถึงตอนที่หลบหนีจากการปราบปรามว่า:

ตอนนั้นมีเสียงปืนตลอดเวลา สามีดิฉันบอกว่าถ้าไปแถวริมฝั่งแม่น้ำน่าจะปลอดภัย เราก็เลยพยายามคลานด้วยการไปที่แม่น้ำ เขาพยายามยืนค้ำตัวดิฉันไว้ ใช้ร่างกายเขาเป็นโล่กำบัง เราพยายามคลานไปให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ตอนนั้นดิฉันเห็นชายสูงวัยคนหนึ่งถูกยิงเข้าที่ศีรษะ เขาเสียชีวิตทันที 

เธอกล่าวว่า หลังมีการสลายการชุมนุม เธอถูกแยกตัวจากสามี:

ผู้หญิงและเด็กถูกนำตัวมาไว้ที่ลานจอดรถของสถานีตำรวจ ส่วนผู้ชายถูกจับกุม มีการสั่งให้ถอดเสื้อ ให้มัดมือไว้ด้านหลัง บางคนถูกเตะและถูกตีโดยทหาร ระหว่างที่รอการนำตัวขึ้นไปยังรถบรรทุกทหาร เป็นครั้งสุดท้ายที่ดิฉันได้เห็นสามีตอนที่ยังมีชีวิต ตอนค่ำวันนั้น ผู้หญิงและเด็กจากหมู่บ้านเดียวกันกับดิฉันถูกส่งตัวกลับไป เราไม่ถูกจับ ทหารให้อาหารและน้ำกับเรา ก่อนจะส่งตัวเรากลับหมู่บ้าน

การปฏิบัติอย่างมิชอบและการเพิกเฉยต่อผู้ถูกควบคุมตัว

ตามเอกสารของทางการที่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงได้รับมา เจ้าหน้าที่ความมั่นคงได้จับกุมบุคคล 1,370 คนที่สถานีตำรวจ มีการแยกตัวผู้หญิงและเด็กจากผู้ถูกควบคุมตัวที่เป็นผู้ชาย ผู้ถูกควบคุมตัวที่เป็นผู้ชายถูกสั่งให้นอนคว่ำหน้าบนพื้นและถอดเสื้อออก ทหารได้ใช้เสื้อของผู้ถูกควบคุมตัว หรือใช้เชือกเพื่อผูกมือของพวกเขาไว้ด้านหลัง ทั้งยังได้เตะ ต่อย และใช้พานท้ายปืนตีผู้ถูกควบคุมตัวที่เป็นผู้ชายบางคน 

พิศาลให้ข้อมูลกับคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงว่า เพราะเจ้าหน้าที่ไม่สามารถจำแนกตัวแกนนำผู้ประท้วงในบรรดาผู้ถูกควบคุมตัวได้ เขาจึงสั่งการให้ทหารนำตัวผู้ถูกควบคุมตัวทุกคนไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ในจังหวัดปัตตานี ซึ่งอยู่ห่างไปประมาณ 150 กิโลเมตรจากจังหวัดนราธิวาส จากข้อมูลของศอ.บต. มีการใช้รถบรรทุกทหาร 26 คันเพื่อส่งตัวผู้ถูกควบคุมตัว รถแต่ละคันบรรทุกผู้ถูกควบคุมตัวประมาณ 50 คน และใช้ทหารสี่นายเพื่อควบคุมตัวระหว่างเดินทาง 

ทหารสั่งให้ผู้ถูกควบคุมตัวนอนคว่ำหน้าลง โดยเป็นการนอนทับซ้อนกันประมาณสามถึงห้าชั้น ทหารได้เตะและใช้พานท้ายปืนตีผู้ถูกควบคุมตัวที่ส่งเสียงดัง หรือเรียกหาความช่วยเหลือระหว่างที่รถเคลื่อนตัวออกไป 

เอ็มเอ็นกล่าวว่า ทหารปฏิบัติต่อเขาและบุคคลอื่นที่ถูกจับกุมอย่างโหดร้าย:

พวกเขาถอดเสื้อผมออก และมัดมือไว้ด้านหลัง ทหารสั่งให้ผมและชายคนอื่นคลานโดยใช้ท้องไปยังรถบรรทุกที่รออยู่ พวกเขาเตะและใช้พานท้ายปืนตีพวกเราระหว่างที่คลานไป เมื่อขึ้นไปบนรถบรรทุกแล้ว ทหารสั่งให้นอนลง พื้นเหล็กมีความร้อนสูงมาก เหมือนเตาย่าง ทำให้ผิวของผมไหม้ และหายใจไม่ออก จากนั้นพวกเขาก็เอาชายคนอื่น ๆ นอนทับซ้อนผมไว้ กองขึ้นไปประมาณห้าชั้น 

เขาอธิบายถึงการเดินทางเจ็ดชั่วโมงไปยังค่ายของกองทัพบกว่า:

ผมคิดว่ารถเดินทางออกจากอำเภอตากใบประมาณห้าโมงเย็น และไปถึงค่ายของกองทัพบกในจังหวัดปัตตานีก่อนเที่ยงคืนเล็กน้อย พวกเราร้องตะโกนด้วยความเจ็บปวด บางส่วนได้ร้องขอน้ำ และบอกว่ากำลังขาดอากาศหายใจ ทหารเตะพวกเขาและบอกให้เงียบ เมื่อเราไปถึงที่จังหวัดปัตตานี หลายคนที่ถูกทับอยู่ชั้นล่างสุดได้เสียชีวิตแล้ว 

เอฟจีอธิบายถึงความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้นว่า:

ทหารเตะผมตอนที่ผมขึ้นไปบนรถบรรทุก ตอนที่ผมขึ้นไปบนรถบรรทุกแล้ว พวกเขาบอกให้นอนทับร่างผู้ประท้วงคนอื่น ผมอยู่ในชั้นที่สาม คิดว่ามีคนที่นอนทับผมอีกสองหรือสามชั้น ผมรู้สึกเจ็บปวดเพราะถูกกดทับ ทำให้หายใจลำบาก แต่ทหารจะเตะและตบทุกคนที่ส่งเสียง คนที่ขอน้ำกิน หรือคนที่ขอความช่วยเหลือ เป็นการเดินทางที่นานมากจากอำเภอตากใบไปจังหวัดปัตตานี สุดท้ายเสียงก็เงียบลง เพราะคนที่อยู่รอบตัวผมเริ่มหยุดหายใจและเสียชีวิต

ศอ.บต.รายงานว่า ผู้ถูกควบคุมตัว 78 คนเสียชีวิตเมื่อเดินทางไปถึงค่ายอิงคยุทธบริหาร การชันสูตรพลิกศพได้ข้อสรุปว่า สาเหตุของการเสียชีวิตเกิดจากการขาดอากาศหายใจ เนื่องจากการกดทับที่หน้าอก ผู้ตายบางส่วนมีอาการชักเกร็งเนื่องจากภาวะกล้ามเนื้อลายสลายตัว (rhabdomyolysis) และความไม่สมดุลทางเคมีในเลือด

บางส่วนได้รับบาดเจ็บจากการถูกทุบตีด้วยของแข็ง อาการเหล่านี้รวมทั้งการอดอาการช่วงเดือนรอมฎอน การขาดน้ำ และความเหนื่อยล้าทางร่างกาย เป็นปัจจัยทำให้เกิดการเสียชีวิต ผู้รอดชีวิตถูกทหารควบคุมตัวไว้เป็นเวลาหลายวัน โดยไม่ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเหมาะสม บางคนเกิดภาวะกล้ามเนื้อสลายตัวอย่างรุนแรง ทำให้ต้องตัดอวัยวะออกไป 

การเยียวยา แต่ไม่มีความยุติธรรม

ครอบครัวของเหยื่อเหล่านี้ได้ฟ้องคดีแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหายจากกระทรวงกลาโหมและกองทัพบก วันที่  20 มีนาคม 2550 มีการจ่ายเงิน จำนวนรวมกันทั้งหมด 42 ล้านบาทให้กับโจทก์ 79 คน ตาม สัญญาประนีประนอม โจทก์จะต้องระบุว่า “มีความพอใจกับการเยียวยา และไม่ติดใจดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญาต่อไป” บางครอบครัวรู้สึกว่าถูกกดดันให้ต้องยอมรับเงื่อนไขนี้ และกลัวว่าจะทำให้พวกเขาไม่สามารถฟ้องคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้อีก

ปี 2555 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรในขณะนั้น เห็นชอบ การให้เงินเยียวยาเพิ่มเติม คิดเป็นจำนวน 7.5 ล้านบาท ให้กับแต่ละครอบครัวที่มีผู้เสียชีวิต ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บจนเกิดการพิการถาวรแต่ละคนจะได้รับเงิน 4.5 ล้านบาท เหยื่อคนอื่น ๆ จะได้รับค่าชดเชยตั้งแต่ 225,000 บาท ถึง 1,125,000 บาท ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการบาดเจ็บ ส่วนผู้ที่ถูกควบคุมตัวและต่อมาถูกดำเนินคดีจะได้รับเงิน 30,000 บาท

แม้ว่าการจ่ายเงินชดเชยจะเป็นขั้นตอนสำคัญอย่างยิ่งของการเยียวยา แต่เหยื่อและครอบครัวหลายคนกล่าวว่า พวกเขาอยากได้รับความยุติธรรมทางอาญา

อีเอฟ ซึ่งเสียลูกชายไปกล่าวว่า “ไม่ว่าจะเป็นเงินมากแค่ไหน ก็ไม่มีค่าเท่าชีวิตของเขา ดิฉันยังอยากให้มีคนมารับผิดชอบต่อการตายของลูกชาย แต่สิ่งที่ได้รับคือความอยุติธรรมซึ่งยังเกิดขึ้นแม้จนทุกวันนี้” 

เอ็นเอ็มกล่าวว่า การจ่ายเงินชดเชยไม่สามารถทดแทนการเสียชีวิตของสามีเธอได้ 

ดิฉันแบ่งเงิน 7.5 ล้านบาทเพื่อใช้ในการศึกษาของลูก ๆ และเพื่อการครองชีพของครอบครัว แต่ชีวิตของพวกเราเกิดปัญหาตั้งแต่ไม่มีสามี ลูกต้องเติบโตขึ้นมาโดยไม่มีพ่อเป็นผู้ชี้นำ ทหารมีปืน พวกเขาคิดว่าจะทำอะไรกับคนอย่างเราก็ได้ สิ่งนี้ต้องยุติลง ดิฉันพยายามแสวงหาความยุติธรรม สามีดิฉันถูกสังหารอย่างไม่เป็นธรรม ดิฉันต้องการเห็นผู้ที่รับผิดชอบต่อความตายของสามีดิฉันได้รับการลงโทษ 

ดีอีกล่าวว่า เขายังคงมุ่งแสวงหาความยุติธรรมกับตนเองและผู้ประท้วงคนอื่นที่อำเภอตากใบ

ผมไม่กลัวที่จะออกมาพูด ผมได้รับเงินเยียวยาแล้ว แต่มันก็ไม่สามารถทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นกับผมเลือนหายไปได้ ตัวผมถูกยิง ส่วนเพื่อนของผมถูกสังหาร แล้วความยุติธรรมอยู่ที่ไหน? นายกรัฐมนตรีสุรยุทธ์อกมาขอโทษ แต่ยังไม่พอ ยังไม่มีคนที่ยอมรับว่ามีส่วนรับผิดชอบต่อความรุนแรงเหล่านี้ 

ความพยายามครั้งใหม่เพื่อความยุติธรรม 

อาร์เอสกล่าวว่า เธอสวดอ้อนวอนให้เกิดความยุติธรรมต่อสามีของเธอและคนอื่น ๆ ที่ต้องสูญเสียชีวิตระหว่างการปราบปรามการประท้วงที่อำเภอตากใบ  

ดิฉันกับครอบครัวอื่น ๆ ได้ยื่นฟ้องคดีอาญา ดิฉันสวดวิงวอนพระเจ้าทุกวันเพื่อให้มีการลงโทษคนที่มีส่วนรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของสามีดิฉัน แต่พวกเขาก็หลบหนีไป ไม่ยอมมาขึ้นศาล ตอนนี้เวลาก็เกือบจะหมดลงแล้ว

เอสทีกล่าวว่า เธฮได้ฟ้องคดีอาญาเพื่อลูกชายซึ่งเสียชีวิตภายหลังการสลายการประท้วง

ดิฉันฟ้องคดีเพื่อให้มีการดำเนินคดีอาญาต่อเจ้าหน้าที่ ซึ่งรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของลูกชาย ดิฉันต้องการให้พวกเขาทราบว่าสิ่งที่พวกเขาทำมันไม่ถูกต้อง การจับคนซ้อนทับกันในรถบรรทุก และมีการกดทับจนพวกเขาเสียชีวิต คนที่ทำงานแบบนี้ต้องเข้าสู่การไต่สวน และควรได้รับการลงโทษ 

แอลเอ็ม ซึ่งถูกตัดขาหลังได้รับบาดเจ็บภายหลังการสลายการชุมนุมกล่าวว่า เขายังคงมุ่งมั่นที่จะแสวงหาความยุติธรรม:

ผมไม่มีวันลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่อำเภอตากใบ ในช่วง 20 ปีมานี้ ผมอยู่กับความทุกข์ทรมานใจ ผมต้องการความยุติธรรม ผมมีชีวิตอยู่เพื่อแสวงหาความยุติธรรมให้กับผู้ที่เสียชีวิตในวันนั้น ผมออกมาพูดเพื่อพวกเขาและตัวผมเอง เป็นเหตุผลให้ผมฟ้องคดีอาญาเพื่อเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบต่อการสังหารหมู่ครั้งนี้

รัษฎา มนูรัษฎา ทนายความของเหยื่อและครอบครัวในคดีตากใบ กล่าวว่า:

การฟ้องคดีอาญาในคดีการสังหารหมู่ที่ตากใบจะแสดงให้เห็นว่าไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย แต่ความหวังที่จะได้รับความยุติธรรมเริ่มจางหายไป เนื่องจากผู้ที่รับผิดชอบต่อโศกนาฎกรรมครั้งนี้ยังไม่ได้รับการลงโทษ และมีแนวโน้มว่าทางการไทยจะไม่สามารถจับกุมตัวพวกเขาได้ 

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.