Skip to main content

กัมพูชา: สอบสวน ‘การหายตัวไป’ ของนักกิจกรรมชาวไทย

ครบรอบหนึ่งปีการอุ้มหายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์

Sitanun Satsaksit holds a portrait of her brother, Wanchalearm, who was forcibly disappeared while living in exile in Cambodia on June 4, 2020.  © 2021 Mirror Foundation 

(นิวยอร์ก) – ทางการกัมพูชา ไม่ได้สอบสวนอย่างจริงจังต่อการบังคับให้สูญหายซึ่งเกิดขึ้นกับวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมชาวไทยคนสำคัญ ซึ่งหายตัวไปที่กรุงพนมเปญเมื่อหนึ่งปีที่แล้ว ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าว รัฐบาลไทยก็แทบไม่ได้ทำอะไรเลย เพื่อสนับสนุนการสอบสวนหรือกดดันให้มีความคืบหน้า

วันเฉลิม นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยวัย 37 ปี หลบหนีไปกัมพูชาหลังการทำรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ในประเทศไทย ในเวลาประมาณ 16.45 น. ของวันที่ 4 มิถุนายน 2563 กลุ่มผู้ชายติดอาวุธไม่ทราบฝ่ายได้ลักพาตัวเขาไปจากด้านหน้าของแม่โขงการ์เดนส์คอนโดมิเนียม ซึ่งเป็นที่พักอาศัยของเขาในกรุงพนมเปญ ประจักษ์พยานหลายคนเห็นกลุ่มผู้ชายผลักเขาเข้าไปในรถโตโยต้าไฮแลนด์เดอร์สีเข้ม ติดแผ่นป้ายทะเบียนกัมพูชา 2X2307 จากนั้นก็ขับหนีออกไปอย่างรวดเร็ว


“ผ่านไปหนึ่งปี การที่รัฐบาลกัมพูชาและไทยไม่สามารถค้นหาวันเฉลิมได้ เป็นเรื่องที่ร้ายแรง” แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “ทางการในทั้งสองประเทศดูเหมือนจะจงใจเตะถ่วงการสอบสวน แม้การอุ้มหายครั้งนี้จะเกิดขึ้นกลางวันแสก ๆ ต่อหน้าพยานหลายคน การเสแสร้งเช่นนี้ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับบทบาทของพวกเขาที่มีต่อการบังคับให้สูญหายต่อวันเฉลิม”

กล้องวงจรปิดของคอนโดมิเนียมบันทึกภาพช่วงท้ายของการลักพาตัวได้ ฟุตเตจจากกล้องวงจรปิด ที่สำนักข่าวประชาไทได้รับมา เป็นช่วงที่รถเอสยูวีสีเข้มกำลังขับออกไปอย่างรวดเร็ว พยานบอกกับนักข่าวว่า คนร้ายได้ทำร้ายวันเฉลิม จากนั้นก็บังคับให้เขาเข้าไปนั่งในรถโตโยต้าไฮแลนด์เดอร์ ขณะที่เขาตะโกนร้องตลอดว่า “ช่วยผมด้วย” เป็นภาษากัมพูชา

สิตานันท์ สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของวันเฉลิมกำลังคุยกับเขาทางโทรศัพท์ขณะที่เกิดเหตุ เธอบอกกับฮิวแมนไรท์วอทช์ ว่า เธอได้ยินเสียงเขาตะโกนร้อง “หายใจไม่ออก” หลายครั้งก่อนที่โทรศัพท์จะตัดไป

พี่สาวของวันเฉลิมและทนายความที่เป็นคนไทย ได้ยื่นเอกสารและคำให้การความยาวกว่า 177 หน้าต่อศาลกัมพูชาในระหว่างพิจารณาเมื่อเดือนธันวาคม 2563 อย่างไรก็ดี จนถึงปัจจุบันทางการกัมพูชายังคงบอกกับครอบครัวของเขา นักการทูตต่างประเทศ และหน่วยงานสหประชาชาติว่า ยังสืบไม่พบข้อมูลใด ๆ พวกเขาไม่สามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับที่อยู่ และชะตากรรมของวันเฉลิม และคนร้ายที่ลักพาตัวเขาไปได้ แม้เมื่อมีการเปิดเผยข้อมูลว่า วันเฉลิมครอบครอง หนังสือเดินทางกัมพูชา ที่ใช้ชื่อ “ซกเฮง” แต่ทางการกลับไม่สอบสวนเรื่องนี้อย่างจริงจัง  

ในเดือนมิถุนายน 2556 กัมพูชาให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย ซึ่งนิยามว่าการบังคับให้สูญหาย หมายถึงการจับกุมหรือควบคุมตัวบุคคลโดยเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้กระทำการแทน จากนั้นยังปฏิเสธไม่ยอมรับว่ามีการควบคุมตัว หรือไม่ยอมเปิดเผยชะตากรรมหรือที่อยู่ของบุคคลดังกล่าว เนื่องจากบุคคลเหล่านี้อยู่พ้นจากการคุ้มครองตามกฎหมาย ทำให้บุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะถูกทรมานและสังหารอย่างมิชอบด้วยกฎหมาย 

อนุสัญญานี้กำหนดเป็นพันธกรณีให้รัฐบาลต้องสอบสวนตามข้อกล่าวหาเมื่อมีบุคคลถูกบังคับให้สูญหาย แม้จะยังไม่มีการแจ้งความอย่างเป็นทางการก็ตาม ทางการยังจะต้องใช้มาตรการที่เหมาะสม เพื่อคุ้มครองญาติจากการปฏิบัติที่โหดร้าย การข่มขู่ หรือการแทรกแซงอันเป็นผลมาจากการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับบุคคล “ที่ถูกทำให้สูญหาย” 

คำสัญญา ที่รัฐบาลไทยให้ไว้หลายครั้งว่าจะสอบสวนการบังคับให้สูญหายกรณีวันเฉลิม ยังไม่เป็นความจริงสักที ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว ทางการไทยไม่ได้สอบสวนกรณีนี้อย่างจริงจัง ปฏิเสธที่จะแจ้งข้อมูลให้ครอบครัวของเขาทราบ ทั้งไม่มีการส่งพนักงานสอบสวนไปกัมพูชาเพื่อดำเนินการสอบสวนอย่างเป็นทางการ ที่ผ่านมายังไม่มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม นับแต่สำนักงานอัยการสูงสุดและกรมสอบสวนคดีพิเศษของกระทรวงยุติธรรม ได้แถลงเมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 ว่า จะสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับวันเฉลิม

ในวันที่ 2 มิถุนายน 2564 สำนักข่าวประชาไทรายงานว่า นายชาญชัย ชลานนท์นิวัฒน์ รองอธิบดีอัยการสูงสุด สำนักงานคดีอาญา ไม่ยอมรับกับพี่สาวของวันเฉลิมด้วยซ้ำว่าได้เกิดการอุ้มหายขึ้นมา โดย เขาอ้างว่าทางการไทยจำเป็นต้องรอ ผลการสอบสวนของศาลกัมพูชา ซึ่งมีความยืดเยื้ออย่างต่อเนื่อง

นับแต่การทำรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ทางการไทยได้พยายามอย่างยิ่งที่จะควบคุมตัวนักกิจกรรมฝ่ายประชาธิปไตย ซึ่งลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้าน ทางการไทยได้ร้องขอหลายครั้งให้ทางการลาว เวียดนาม และกัมพูชาส่งตัวนักกิจกรรมชาวไทยที่ลี้ภัยกลับมา โดยมีอย่างน้อยแiปดคนที่ตกเป็นเหยื่อการบังคับให้สูญหาย ประเทศไทยไม่เคยให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย ทั้งไม่เคยกำหนดให้การบังคับให้สูญหายเป็นความผิดทางอาญาตามกฎหมายไทย   

ในช่วงเจ็ดปีที่ผ่านมา กัมพูชาและไทยได้ร่วมมืออย่างใกล้ชิดเพื่อคุกคาม จับกุมโดยพลการ และบังคับส่งกลับผู้เห็นต่างที่ลี้ภัย เป็นการกระทำที่ขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศ ความร่วมมือเหล่านี้ยังส่งผลกระทบต่อบุคคลที่ขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการ ว่าเป็นบุคคลภายใต้ความห่วงใยของหน่วยงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ก่อนหน้านี้วันเฉลิมเคยบอกกับฮิวแมนไรท์วอทช์ว่า เขาได้ตกเป็นเป้าการสอดแนมข้อมูลเป็นครั้งคราวโดยเจ้าหน้าที่ไทยในกัมพูชา

“รัฐบาลกัมพูชาและไทยไม่สามารถซุกเรื่องที่เกิดขึ้นกับวันเฉลิมไว้ใต้พรม” อดัมส์กล่าว “รัฐบาลและแหล่งทุนต่างชาติควรกดดันทางการทั้งกัมพูชาและไทย ให้ใช้มาตรการทั้งปวงที่จำเป็นเพื่อค้นหาวันเฉลิม และคืนความยุติธรรมให้กับเขาและครอบครัว”  

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.

Most Viewed