(นิวยอร์ก) –รัฐบาลทหาร ไทย ไม่สามารถสร้างเงื่อนไขที่นำไปสู่การเลือกตั้งระดับชาติที่เสรีและเป็นธรรมในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ได้ ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้ กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ซึ่งอนุญาตให้วุฒิสภาที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลทหารสามารถออกเสียงได้ เท่ากับครึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง คุกคามอย่างรุนแรงต่อสิทธิของพลเมืองไทยในการเลือกผู้นำของตนเอง
“นับแต่รัฐประหารปี 2557 รัฐบาลทหารไทยให้สัญญาหลายครั้งที่จะฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตย แต่นายพลทหารยังคงจัดการเลือกตั้งอย่างมีเงื่อนไข เพื่อประกันการสืบทอดอำนาจของกองทัพที่เปลี่ยนจากชุดทหารมาใส่สูท” แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “รัฐบาลทหารยังคงใช้กฎหมายเผด็จการ สั่งยุบพรรคฝ่ายค้านที่สำคัญ ใช้อำนาจควบคุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง และยังเป็นผู้คัดเลือกและแต่งตั้งวุฒิสภา ซึ่งมีอำนาจมาก และสามารถขัดขวางการแสดงเจตนารมณ์ของประชาชนคนไทยได้”
ปัญหาร้ายแรงเกี่ยวกับกระบวนการเลือกตั้งของไทยประกอบด้วย:
- กฎหมายเผด็จการที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุม
- การเซ็นเซอร์สื่อ
- การเข้าถึงสื่อที่ไม่เท่าเทียมกันของบรรดาพรรคการเมือง
- วุฒิสภาที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลทหารมีอำนาจเกินกว่าที่ควรจะเป็นในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ และ
- คณะกรรมการการเลือกตั้งขาดความเป็นอิสระและความไม่ลำเอียง ส่งผลให้มีการยุบพรรคฝ่ายค้านที่สำคัญ
ข้อ 25 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคีระบุว่า “พลเมืองทุกคนย่อมมีสิทธิและโอกาส… ในการที่จะออกเสียงหรือได้รับเลือกตั้งในการเลือกตั้งอันแท้จริงตามวาระ ซึ่งมีการออกเสียงโดยทั่วไปและเสมอภาค และโดยการลงคะแนนลับเพื่อประกันการแสดงเจตนาโดยเสรีของผู้เลือก” คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติซึ่งทำหน้าที่ตีความกติกา ICCPR ระบุในความเห็นทั่วไปต่อข้อ 25 ว่า:
- “กรณีที่พลเมืองมีส่วนร่วมในการบริหารกิจการสาธารณะ โดยผ่านตัวแทนที่เลือกเข้ามาอย่างเสรี ข้อ 25 ระบุเป็นนัยว่า ตัวแทนเหล่านี้เป็นผู้ใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร และพวกเขาต้องถูกตรวจสอบในแง่การใช้อำนาจฝ่ายบริหาร ผ่านกระบวนการเลือกตั้ง”
- “เสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมเป็นเงื่อนไขที่จำเป็น เพื่อให้สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งอย่างเป็นผล และต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเต็มที่”
- “ควรมีการแต่งตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งที่เป็นอิสระ เพื่อกำกับดูแลกระบวนการเลือกตั้ง และประกันว่าคณะกรรมการปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นธรรม ไม่ลำเอียง และสอดคล้องกับกฎหมายที่มีเนื้อหาไม่ขัดแย้งกับกติกานี้”
- “เพื่อประกันให้มีการใช้สิทธิที่ได้รับการคุ้มครองตามข้อ 25 อย่างเต็มที่ จำเป็นต้องมีการเผยแพร่ข้อมูลและแนวคิดอย่างเสรี ในประเด็นสาธารณะและประเด็นทางการเมือง ระหว่างพลเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งหมายถึงว่าจำเป็นต้องมีสื่อเสรี และสื่ออื่น ๆ ที่สามารถแสดงความเห็นในประเด็นสาธารณะได้ โดยไม่ถูกเซ็นเซอร์หรือถูกจำกัดเสรีภาพ และสามารถเผยแพร่ความเห็นของสาธารณะได้”
“รัฐบาลต่างชาติที่สนับสนุนให้มีการฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย ควรประกาศอย่างเปิดเผยว่าจะรับรองการเลือกตั้งที่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศเท่านั้น” อดัมส์กล่าว “การเลือกตั้งของไทยย่อมไม่อาจถือว่าน่าเชื่อถือ หากมีการจำกัดเสรีภาพสื่อ และห้ามการแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหาร รัฐบาลทหารควรตระหนักว่า การเลือกตั้งที่เป็นเพียงพิธีกรรม ซึ่งนำไปสู่ชัยชนะตามแผนที่วางไว้แล้วสำหรับระบอบปกครองของทหาร จะถูกมองว่าเป็นประชาธิปไตยแบบจำแลงเท่านั้นเอง”
ข้อกังวลเกี่ยวกับกระบวนการเลือกตั้ง
การจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิในการออกเสียง
นับแต่รัฐประหารปี 2557 รัฐบาลทหารในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ใช้อำนาจอย่างกว้างขวางและโดยพลการเพื่อตีความว่า การวิพากษ์วิจารณ์อย่างสงบและการแสดงความเห็นต่างเป็นความผิดอาญาเกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ เป็นการยุยงปลุกปั่น และคุกคามความมั่นคงของรัฐ ในวันที่ 11 ธันวาคม 2561 รัฐบาลทหารยกเลิกข้อห้ามต่อการชุมนุมสาธารณะและการจัดกิจกรรมทางการเมือง เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองสามารถรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งได้ อย่างไรก็ดี ทางการยังคงบังคับใช้คำสั่งของทหารซึ่งจำกัดการแสดงออก อย่างรุนแรง และสั่งให้มีการดำเนินคดีอาญากับผู้แสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหาร ทั้งในส่วนของนโยบายและการปฏิบัติหน้าที่ และการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์
ประกาศคสช. ฉบับที่ 97/2557 ห้าม “การวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของคสช.” และการเผยแพร่ “ข้อมูลข่าวสารที่ส่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างให้เกิดความแตกแยกในราชอาณาจักร” ประกาศฉบับนี้ยังบังคับให้สำนักข่าวทุกแห่งต้องเผยแพร่ข้อมูลจากรัฐบาลทหาร
ประกาศคสช. ฉบับที่ 103/2557 ห้ามการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ กรณีที่เป็นข้อมูลซึ่งทางการเห็นว่า “บิดเบือน และ (สร้าง) ความเข้าใจผิด อันจะส่งผลกระทบต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม” ซึ่งเท่ากับเปลี่ยนให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กลายเป็นเครื่องมือการเซ็นเซอร์ของรัฐบาลทหาร ซึ่งมีอำนาจอย่างกว้างขวางและไม่อาจตรวจสอบได้ สามารถสั่งพักการออกอากาศของรายการโทรทัศน์และวิทยุได้ หากทางการเห็นว่าเนื้อหาของรายการมีลักษณะบิดเบือน สร้างความแตกแยก หรือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติ
ในวันที่ 1 มีนาคม อรวรรณ ชูดี ผู้ประกาศข่าวคนสำคัญของสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 อสมท. เขียนในเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า เธอถูกปลดจากการทำหน้าที่พิธีกรรายการ “รายการดีเบตเลือกตั้ง 2562” ที่มีคนดูจำนวนมาก และออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 อสมท. ที่อยู่ใต้การควบคุมของรัฐ อรวรรณถูกกล่าวหาว่ามีอคติทางการเมือง จากการจัดให้นักศึกษา 100 คนจากมหาวิทยาลัย 16 แห่ง มาที่ห้องออกอากาศ ทุกคนเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นครั้งแรก และมีการสอบถามนักศึกษาเหล่านั้นว่าเห็นด้วยกับการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะไม่ร่วมรายการดีเบทกับนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามหรือไม่ และยังได้ขอความเห็นเกี่ยวกับบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ซึ่งอนุญาตให้วุฒิสมาชิก 250 คนสามารถออกเสียงเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีได้ มีการสอบถามว่าแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของคสช.จำเป็นต่อประเทศไทยหรือไม่ และสอบถามว่าเห็นด้วยหรือไม่ ถ้าประเทศไทยจะมีการปกครองแบบประชาธิปไตยเต็มใบหรือครึ่งใบก็ได้ ถ้าทำให้ปากท้องประชาชนดีขึ้น แม้ว่าคณะกรรมการอสมท.ซึ่งอยู่ใต้การกำกับดูแลโดยตรงของสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิเสธว่าไม่ได้สั่งปลดคุณอรวรรณ แต่เธอก็ไม่ได้กลับมาจัดรายการอีกเลย
ในช่วงก่อนการเลือกตั้ง สื่อโทรทัศน์ระหว่างประเทศที่รายงานข่าวเกี่ยวกับประเทศไทยต้องเผชิญกับการเซ็นเซอร์เช่นกัน ทรูวิชั่นส์ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเคเบิลทีวีหลัก ได้เซ็นเซอร์การออกอากาศสำนักข่าวใหญ่ รวมทั้ง BBC, CNN, Al Jazeera, Bloomberg และ Australia Network ระหว่างวันที่ 8 และ 9 กุมภาพันธ์ และ 7 และ 8 มีนาคม โดยระหว่างเซ็นเซอร์จะขึ้นภาพบนจอที่เขียนว่า “จะมีการออกอากาศอีกไม่นานหลังจากนี้” (“Programming will return shortly”) ซึ่งทางทรูวิชั่นส์และทางการไทยไม่ได้แจ้งต่อสำนักข่าวเหล่านั้นอย่างเป็นทางการว่า เหตุใดจึงมีการเซ็นเซอร์
รัฐบาลทหารมักปฏิบัติต่อผู้แสดงความคิดและความเห็นต่างจากรัฐบาล หรือผู้แสดงความสนับสนุนต่อนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรและยิ่งลักษณ์ ชินวัตรที่ถูกโค่นจากตำแหน่ง ราวกับเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของรัฐ มีการจับกุมและดำเนินคดีในข้อหายุยงปลุกปั่น ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี
ทางการได้ดำเนินคดีกับนักการเมืองฝ่ายค้านคนสำคัญหลายคน โดยตั้งข้อหาอาญาที่ร้ายแรงจากการวิพากษ์วิจารณ์ระบอบปกครองของทหาร ตัวอย่างเช่น ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ถูกดำเนินคดี ฐานละเมิดพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ในเดือนสิงหาคม 2561 จากการแสดงความเห็นระหว่างการเฟซบุ๊กไลฟ์วิพากษ์วิจารณ์การใช้พรรคพลังประชารัฐของรัฐบาลทหารเพื่อสืบทอดอำนาจ
รัฐบาลได้ดำเนินคดีต่อพิชัย นริพทะพันธุ์ วัฒนา เมืองสุข และแกนนำคนอื่นของพรรคเพื่อไทยหลายครั้ง ในข้อหายุยงปลุกปั่นและความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จากการแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาทางการเมืองและเศรษฐกิจของไทยภายใต้ระบอบทหาร ในเดือนธันวาคม รัฐบาลทหารดำเนินคดีความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ต่อพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ซึ่งให้สัมภาษณ์สื่อวิพากษ์วิจารณ์ความพยายามในการสืบทอดอำนาจของกองทัพภายหลังการเลือกตั้ง
ในขณะที่พรรคฝ่ายค้านถูกจำกัดเสรีภาพนานัปการ ในแง่การใช้สื่อเพื่อรณรงค์หาเสียง แต่ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้าคสช. และนายกรัฐมนตรี กลับสามารถเข้าถึงสื่อของรัฐอย่างไม่มีขีดจำกัด เพื่อรณรงค์หาเสียง โดยประยุทธ์มีโอกาสออกรายการโทรทัศน์และวิทยุ ทั้งรายการทุกคืนวันศุกร์ที่เป็นการบังคับให้โทรทัศน์ต้องเผยแพร่ ในขณะที่แกนนำพรรคการเมืองอื่นไม่มีสิทธิเช่นนั้น
แม้ว่าการออกเสียงเป็นหน้าที่ตามกฎหมายของไทย แต่นักบวชในพุทธศาสนาและผู้ต้องขังในคดีอาญา ซึ่งแม้ยังไม่ถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิด ต่างถูกปฏิเสธไม่ให้มีสิทธิในการออกเสียง ซึ่งเป็นการละเมิดพันธกรณีของไทยที่มีต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ประกันสิทธิในการเลือกตั้งอย่างเท่าเทียม
คณะกรรมการการเลือกตั้งที่ไม่เป็นอิสระและลำเอียง
คณะกรรมการการเลือกตั้งที่เป็นอิสระและไม่ลำเอียง เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งเกิดขึ้นอย่างเสรีและเป็นธรรม ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว อย่างไรก็ดี คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แสดงอคติอย่างรุนแรงต่อผู้สมัครและพรรคการเมืองในฝ่ายที่ตรงข้ามกับรัฐบาลทหาร
ภายหลังจากพรรคไทยรักษาชาติเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี พระเชษฐภคินี เป็นนายกรัฐมนตรี กกต.ได้ประกาศว่าพระองค์ ขาดคุณสมบัติ และกล่าวหาว่าพรรคละเมิดกฎหมายเลือกตั้ง โดยกระทำการที่เป็นปรปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุข จากนั้นกกต.ได้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งในวันที่ 7 มีนาคม ได้อ้าง “ประเพณีการปกครอง” และมี คำวินิจฉัยเพื่อสั่งให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ
ศาลยังสั่งเพิกถอนสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค 14 คน ส่งผลให้ไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้ง ไม่สามารถจัดตั้งพรรคการเมือง หรือไม่สามารถเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองได้เป็นเวลา 10 ปี ในทางกฎหมายแล้ว ผลจากคำสั่งยุบพรรคยังเป็นเหตุให้ ผู้สมัครพรรคไทยรักษาชาติทุกคนขาดคุณสมบัติ ไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้
ในวันที่ 13 มีนาคม กกต.เริ่ม ไต่สวน แผนการของอดีตผู้สมัครพรรคไทยรักษาชาติที่ต้องการเทคะแนนจากผู้สนับสนุนให้กับพรรคอนาคตใหม่ที่เป็นพันธมิตรกัน หรือให้โหวต “โน” แม้ว่ากฎหมายเลือกตั้งไม่ได้ห้ามการกระทำเช่นนั้น กกต.ยัง ขู่พรรคอนาคตใหม่ ว่าจะทำการสอบสวน เนื่องจากอดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติได้รณรงค์หาเสียงให้พรรค แม้จะไม่ได้มีข้อห้ามตามกฎหมาย กกต.ยัง สอบสวนพรรคอนาคตใหม่ และธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ในฐานะหัวหน้าพรรคตามคำร้องต่าง ๆ ซึ่งผู้ยื่นคำร้องเป็นผู้สนับสนุนรัฐบาลทหาร
แต่กกต.กลับดำเนินการอย่างเชื่อช้า กรณีที่เป็นคำร้องเพื่อกล่าวหาพรรคพลังประชารัฐ ที่เป็นพรรคซึ่งสนับสนุนรัฐบาลทหาร รวมทั้งคำร้องที่กล่าวหาว่า มีการบริจาคของข้าราชการและหน่วยราชการ ในระหว่างการจัดโต๊ะจีนเพื่อระดมทุนให้พรรคพลังประชารัฐเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ซึ่งได้เงินจำนวน 650 ล้านบาท
กกต.ไม่สนับสนุนให้มีการสังเกตการณ์การเลือกตั้งอย่างเป็นอิสระและไม่ลำเอียง ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว แม้ว่ากกต.มักระบุว่าไม่คัดค้านการที่หน่วยงานต่างชาติจะขอเข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ส่วนนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ คัดค้านการมีส่วนร่วม ของผู้สังเกตการณ์ต่างชาติ โดยให้เหตุผลว่าการเลือกตั้งเป็นกิจการในประเทศ และไม่จำเป็นต้องมีคนเหล่านี้มาเกี่ยวข้อง และการมีส่วนร่วมของคนเหล่านี้ยังแสดงให้เห็นว่าประเทศมีปัญหา
เครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี (Asian Network for Free Elections -ANFREL) เป็นเพียงกลุ่มเดียวที่ได้รับอนุญาตจากกกต.ให้สังเกตการณ์การเลือกตั้งครั้งนี้ สหภาพยุโรปและรัฐบาลต่างชาติอื่น ๆ ต้องสังเกตการณ์ผ่านเจ้าหน้าที่การทูตในประเทศไทยของตน กลุ่มในประเทศที่สำคัญอื่น ๆ รวมทั้ง มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (People’s Network for Elections - P-Net) ต่างร้องเรียนว่า กกต.เชื่องช้ามากในการกำหนดแนวปฏิบัติอย่างเป็นทางการสำหรับกลุ่มและหน่วยงานของพรรคการเมือง ที่ต้องการสังเกตการณ์การเลือกตั้งครั้งนี้
วุฒิสภาที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลทหาร
รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่ร่างขึ้นโดยรัฐบาลทหาร ยังทำให้บทบาทของสภาผู้แทนราษฎรอ่อนแอลง ส่งผลให้พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งอาจไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ โดยคาดว่าการจัดตั้งรัฐบาลต้องอาศัยเสียงข้างมากจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง 500 คนรวมกับวุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้ง 250 คน
รัฐบาลคสช.ที่นำโดยประยุทธ์ ซึ่งเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ จะทำหน้าที่แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาทุกคน ยกเว้นหกคนที่เป็นสมาชิกวุฒิสภาโดยตำแหน่ง รวมทั้งปลัดกระทรวงกลาโหม
ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการ
ตำรวจแห่งชาติ ซึ่งทุกคนต่างเป็นสมาชิกคสช. หมายถึงว่าพรรคการเมืองที่ได้รับการหนุนหลังจากกองทัพ ต้องการเสียงจากสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งเพียงหนึ่งในสาม เพื่อจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก และแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แม้พรรคฝ่ายค้านจะชนะเลือกตั้งได้สส.มากถึงสองในสาม แต่ก็ยังไม่สามารถขัดขวางบุคคลดังกล่าวจากการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และจากการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี
ในวันที่ 13 มีนาคม พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดผลลัพธ์เช่นนั้น และบอกกับสื่อว่า คิดว่าเป็นเรื่องไม่ยากที่รัฐบาลทหารจะจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ เพราะวุฒิสภาจากการแต่งตั้งเป็นกลุ่มคนที่ “ควบคุมได้”
วุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งของรัฐบาลทหาร ยังจะมีบทบาทสำคัญและอาจทำให้ชัยชนะจากการเลือกตั้งและคำสัญญาระหว่างการเลือกตั้งของพรรคการเมืองไร้ความหมาย เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดให้วุฒิสภาทำหน้าที่ดูแลให้รัฐบาลและรัฐสภาชุดต่อไปของไทย ต้องปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์ชาติของคสช.เป็นเวลาอีก 20 ปี