นิวยอร์ก) – กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเพื่อแบ่งแยกดินแดนได้วางกับระเบิด เพื่อทำร้ายคนงานกรีดยาง สร้างผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อการดำรงชีวิตประจำวันของประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้ของประเทศไทย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบมุสลิมเชื้อสายมลายู ซึ่งมีส่วนเชื่อมโยงกับขบวนการแบ่งแยกดินแดน Barisan Revolusi Nasional (BRN) ควรยุติการใช้กับระเบิดต่อต้านบุคคล และยุติการโจมตีพลเรือนโดยทันที
ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2561 นายสุทิน แห้วขุนทด คนงานกรีดยางชาวไทยพุทธในอำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา ต้องเสียขาไปข้างหนึ่งจากการเหยียบกับระเบิด ซึ่งตามรายงานข่าวเป็นกับระเบิดที่ถูกวางไว้โดยกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในสวนยางพาราที่เขาทำงาน คนงานกรีดยางชาวไทยพุทธอีกสองคนคือ นางวิภาพรรณ ปลอดแก่นทอง และนายชุติพนธ์ นามวงค์ ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากกับระเบิดที่อำเภอยะหา จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน และที่อำเภอเมือง ในวันที่ 2 กรกฎาคม
“การวางกับระเบิดในสวนยางพารา และตามเส้นทางเดินของชาวบ้าน เป็นการกระทำที่โหดร้ายเกินกว่าจะบรรยาย” แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบควรยุติการใช้อาวุธที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเหล่านี้ และให้เคลื่อนย้ายกับระเบิดที่วางไว้ออกไปให้หมด"
กลุ่มแบ่งแยกดินแดนควรปฏิบัติตามสนธิสัญญาต่อต้านกับระเบิด พ.ศ.2540 (1997 Mine Ban Treaty) ซึ่งประเทศไทยให้สัตยาบันรับรองเมื่อปี 2541 ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว กับระเบิดต่อต้านบุคคลเป็นอาวุธต้องห้าม เนื่องจากส่งผลกระทบอย่างไม่เลือกปฏิบัติ ต่อทั้งพลเรือนและผู้มีส่วนร่วมในการสู้รบ และเพราะสามารถสังหารและทำให้บุคคลพิการ แม้จะมีการวางกับระเบิดนี้ไว้นานแล้ว
กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบอ้างว่า ชาวไทยพุทธไม่ควรอาศัยอยู่ในจังหวัดชายแดนใต้ ที่ผ่านมาพวกเขาได้ใช้กับระเบิดทั้งที่จุดชนวนจากการสัมผัสของเหยื่อ และการจุดชนวนจากทางไกล ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ตามข้อมูลของ Landmine Monitor กับระเบิดแบบจุดชนวนจากการสัมผัสของเหยื่อ ถือเป็นสิ่งต้องห้ามโดยเฉพาะตามสนธิสัญญาต่อต้านกับระเบิด นับแต่มีรายงานกรณีนี้เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2553 ฮิวแมนไรท์วอทช์พบว่า ผู้ก่อความไม่สงบในนามกลุ่ม BRN มักใช้ระเบิดที่จุดชนวนจากแรงกดบนแป้นหรือสายที่โดนเหยียบ เพื่อสังหารและทำร้ายคนงานสวนยางและคนงานสวนผลไม้
กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ หรือที่รู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า กฎหมายสงคราม ห้ามการโจมตีทำร้ายพลเรือน หรือการโจมตีที่ไม่แบ่งแยกระหว่างผู้มีส่วนร่วมในการสู้รบกับพลเรือน นับแต่มีการโจมตีเพิ่มขึ้นของฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 ฮิวแมนไรท์วอทช์สามารถเก็บข้อมูล การละเมิดกฎหมายสงครามได้หลายกรณี ผู้เสียหายส่วนใหญ่มักเป็นพลเรือนจากกลุ่มประชากรไทยพุทธและชาวมุสลิมเชื้อสายมลายู ทั้งในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา ไม่มีเหตุผลอันชอบธรรมตามที่ผู้ก่อความไม่สงบอ้างว่า การโจมตีพลเรือนไทยพุทธเหล่านี้ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทยพุทธ หรือการอ้างว่าตามกฎหมายอิสลาม พวกเขาสามารถปฏิบัติการโจมตีเช่นนี้ได้
ผลกระทบที่เห็นได้ชัดเจนสุดจากการโจมตีของฝ่ายก่อความไม่สงบคือ การอพยพหลบหนีของชาวไทยพุทธจากชุมชน ซึ่งเดิมพวกเขาเคยอยู่ร่วมกันกับชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูมาหลายรุ่นคน พวกเขาต้องทอดทิ้งสวนเกษตรของตนเองไป นายสุทิน แห้วขุนทด ซึ่งเป็นเหยื่อกับระเบิดครั้งนี้ เป็นคนงานกรีดยางชาวไทยพุทธคนสุดท้ายที่เหลืออยู่ในหมู่บ้านของเขา
แม้ว่ากลุ่มผู้ก่อความไม่สงบจะได้รับผลกระทบอย่างมากจากปฏิบัติการกวาดล้างของกองกำลังฝ่ายความมั่นคง แต่พวกเขายังคงมีอิทธิพลอยู่ในหมู่บ้านชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูอีกหลายร้อยแห่ง ผู้ก่อความไม่สงบในนามกลุ่ม BRN มักอ้างว่ายุทธวิธีซึ่งเป็นการปฏิบัติมิชอบและรุนแรงของเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของรัฐ เป็นเหตุผลอันชอบธรรมให้พวกเขาปฏิบัติการด้วยความรุนแรง และถูกใช้เป็นเหตุผลเพื่อชักจูงคนให้เข้าร่วมขบวนการ
ในจังหวัดชายแดนใต้ กองกำลังความมั่นคงของรัฐบาลไทยและกลุ่มอาสาสมัครพลเรือน ได้ปฏิบัติการโจมตีเพื่อตอบโต้ และได้ปฏิบัติมิชอบ ซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายสงครามเช่นกัน ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว กองกำลังของรัฐได้รับประโยชน์จากวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ฝังรากลึกในจังหวัดชายแดนใต้ ที่ผ่านมารัฐบาลยังไม่สามารถดำเนินคดีจนเป็นผลสำเร็จ ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือทหารรายใดที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนกับผู้ต้องสงสัยชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูที่เป็นสมาชิกกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ
“รัฐบาลไทยควรตอบโต้กับการใช้กับระเบิด และการโจมตีทำร้ายอย่างโหดเหี้ยมต่อพลเรือนของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ด้วยการปฏิบัติตามหลักนิติธรรม ยุติการปฏิบัติมิชอบของกองกำลังความมั่นคง และแก้ปัญหาตามข้อร้องเรียนที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลานานของชุมชนชาวมุสลิมเชื้อสายมลายู” อดัมส์กล่าว “หากรัฐบาลยังคงปกป้องเจ้าหน้าที่ของตนจากความรับผิดทางอาญาต่อไป ก็จะเป็นการสุมเชื้อไฟเพื่อเร่งเปลวเพลิงแห่งความรุนแรงจากการก่อความไม่สงบมากยิ่งขึ้น”
ฮิวแมนไรท์วอทช์เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นประธานโครงการรณรงค์นานาชาติเพื่อต่อต้านกับระเบิด (International Campaign to Ban Landmines - ICBL) ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปี 2540 จากการดำเนินงานจนเกิดสนธิสัญญาต่อต้านกับระเบิด ฮิวแมนไรท์วอทช์ยังเป็นบรรณาธิการของรายงานประจำปีว่าด้วยสถานการณ์กับระเบิด (Landmine Monitor report) ของ ICBL