(นิวยอร์ก) – ทางการไทยควรถอนฟ้องคดีโดยทันที ต่อนักวิชาการอาวุโสและผู้เข้าร่วมการประชุมอีกสี่คน ในข้อหาละเมิดคำสั่งห้ามชุมนุมสาธารณะของรัฐบาลทหารในที่ประชุมที่เชียงใหม่ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2560 ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้ การประชุมนานาชาติงานไทยศึกษาประกอบด้วยการอภิปรายและกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รัฐบาลทหารเห็นว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ระบอบปกครองของทหาร
ศาสตราจารย์ชยันต์ วรรธนะภูติ ซึ่งอาจได้รับโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหากศาลตัดสินว่ามีความผิด มีกำหนดเข้ารายงานตัวกับตำรวจที่จังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 23 สิงหาคม ส่วนผู้เข้าร่วมประชุมอีกสี่คน ได้แก่ ภัควดี วีระภาสพงษ์ ชัยพงษ์ สำเนียง นลธวัช มะชัย และธีรมล บัวงาม ถูกแจ้งข้อหาเดียวกันเนื่องจากการถือป้ายที่บอกว่า “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” เพื่อประท้วงกรณีที่กองทัพส่งเจ้าหน้าที่มาสอดแนมข้อมูลของผู้เข้าร่วมการประชุม ระหว่างการประชุมเมื่อวันที่ 15-18 กรกฎาคม ทั้งหมดยังไม่ได้ถูกควบคุมตัวแต่อย่างใด
“การเซ็นเซอร์ของรัฐบาลและการสอดแนมข้อมูลของกองทัพ ไม่ควรปรากฏขึ้นในที่ประชุมวิชาการ” แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “การดำเนินคดีต่อผู้จัดการประชุมและผู้เข้าร่วม แสดงให้โลกเห็นว่ารัฐบาลทหารไทยดูถูกอย่างยิ่งต่อเสรีภาพทางวิชาการและเสรีภาพด้านอื่น ๆ”
นับแต่ยึดอำนาจจากการทำรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 นายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เน้นย้ำว่า การแสดงความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางสังคม ทางการมักใช้กำลังเพื่อสั่งให้ยกเลิกการประชุมตามหมู่บ้าน การอภิปรายทางวิชาการ การสัมมนาในประเด็นต่าง ๆ และเวทีสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการเมือง โดยเฉพาะเมื่อเป็นการแสดงความเห็นต่างต่อนโยบายของคสช. หรือต่อสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย
บ่อยครั้งที่ทางคสช.ใช้อำนาจตามคำสั่งห้ามชุมนุมสาธารณะของบุคคลกว่าห้าคนและคำสั่งอื่น ๆ เพื่อเข้าแทรกแซงและปราบปราม โดยเป็นคำสั่งที่ห้ามไม่ให้สาธารณะวิพากษ์วิจารณ์ต่อระบอบปกครองของทหารไม่ว่าแง่มุมใด รัฐบาลทหารมองว่าบุคคลที่มักออกมาแสดงความคิดและความเห็นต่าง หรือแสดงความสนับสนุนต่อรัฐบาลพลเรือนที่ถูกขับไล่ออกจากอำนาจ ว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติ และมักใช้อำนาจตามกฎหมายต่าง ๆ เพื่อจับกุมและดำเนินคดีต่อบุคคลเหล่านั้น
ในช่วงสามปีที่ผ่านมา นักกิจกรรม นักการเมือง ผู้สื่อข่าว และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหลายพันคน ได้ถูกจับกุมและนำตัวเข้าไปในค่ายทหารทั่วประเทศไทย เพื่อทำการสอบสวนในฐานะปรปักษ์กับรัฐ โดยมีเป้าหมายเพื่อขัดขวางไม่ให้มีการแสดงความเห็นต่าง และเป็นการบังคับให้บุคคลเหล่านั้นเปลี่ยนทัศนคติทางการเมือง หลายกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ทางภาคเหนือของไทย ซึ่งเป็นบ้านเกิดของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
บุคคลที่ได้รับการปล่อยตัวจากการสอบสวน ซึ่งทางคสช.เรียกว่า “การปรับทัศนคติ” มักถูกบังคับให้ต้องลงชื่อในสัญญาอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ระบุว่าจะยุติการแสดงความเห็นทางการเมืองใด ๆ ไม่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเมือง หรือไม่ดำเนินการใด ๆ อันเป็นการต่อต้านระบอบปกครองของทหาร หากไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเหล่านี้อาจส่งผลให้ถูกควบคุมตัวอีกครั้ง หรือถูกดำเนินคดีในข้อหาละเมิดคำสั่งคสช. ซึ่งอาจมีโทษจำคุกไม่เกินสองปี
กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) ซึ่งไทยเป็นรัฐภาคี คุ้มครองสิทธิของบุคคลที่จะมีเสรีภาพด้านความเห็น การแสดงออก การสมาคม และการชุมนุม ทางคณะกรรมการแห่งสหประชาชาติซึ่งดูแลการปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights) ซึ่งไทยให้สัตยาบันรับรองเช่นกัน ได้เคยเสนอแนะต่อรัฐบาลว่า เสรีภาพทางวิชาการ ซึ่งเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของสิทธิด้านการศึกษา ครอบคลุมถึง “เสรีภาพของบุคคลที่จะแสดงความเห็นอย่างเสรี เกี่ยวกับสถาบันหรือระบบที่ตนทำงานอยู่ด้วย รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่ โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติหรือความหวาดกลัวต่อการปราบปรามจากรัฐหรือหน่วยงานอื่นใด ความสามารถที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์กรทางวิชาการหรือหน่วยงานด้านวิชาชีพอื่นใด และการได้รับความคุ้มครองต่อสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เช่นเดียวกับบุคคลอื่นที่อยู่ในเขตอำนาจศาลเดียวกัน”
“นักวิชาการทั่วโลกควรร่วมกันเรียกร้องให้มีการถอนฟ้องข้อหาที่กุขึ้นมานี้ต่อศาสตราจารย์ชยันต์ และผู้เข้าร่วมการประชุมอีกสี่คนโดยทันที” อดัมส์กล่าว “ประเทศไทยกำลังเผชิญอนาคตที่มืดมน หากมีการเซ็นเซอร์การแสดงความเห็น มีการลงโทษต่อการวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงวิชาการ และมีการสั่งห้ามการอภิปรายทางการเมืองแม้แต่ในเขตมหาวิทยาลัย”