Skip to main content

ตู้ปณ. 4278

ซิดนีย์ NSW 2001 ออสเตรเลีย

โทรศัพท์: +61-26-9114-1764

เว็บไซต์: www.hrw.org/asia/australia อีเมล์: Australia@hrw.org   

 

26 กรกฎาคม 2560

 

ฯพณฯ จูลี บิชอป สส.และรัฐมนตรีต่างประเทศ

ตู้ปณ. 6022

อาคารรัฐสภา

House of Representatives Parliament House Canberra ACT 2600

 

อ้างถึง: ปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

 

เรียน รัฐมนตรีต่างประเทศ

ดิฉันเขียนจดหมายในนามฮิวแมนไรท์วอทช์ เกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย เราขอกระตุ้นให้ท่านใช้โอกาสที่จะกดดันรัฐบาลไทย ทั้งในทางสาธารณะและในการประชุมส่วนตัว เพื่อให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อปรับปรุงสถิติด้านสิทธิมนุษยชน และใช้มาตรการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อฟื้นฟูระบอบปกครองแบบประชาธิปไตยโดยพลเรือน

 มีข้อกังวลสำคัญหลายประการ ซึ่งเราหวังว่าท่านจะหยิบยกมาพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สอดคล้องกับความเชื่อที่ท่านเคยบอกว่า “เรามักพบเห็นเสถียรภาพทางการเมืองที่ยั่งยืน จากการฟื้นฟูรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตย ซึ่งบริหารประเทศตามหลักนิติธรรม”

 

อำนาจทหารที่กว้างขวาง ปราศจากการตรวจสอบและปราศจากความรับผิด

กองทัพไทยได้ทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และได้ก่อตั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขึ้นมา ในวันที่ 31 มีนาคม 2558 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ทั่วประเทศ ซึ่งต่อมาได้ถูกทดแทนด้วยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ซึ่งเป็นเหตุให้นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ในฐานะหัวหน้าคสช.สามารถใช้อำนาจอย่างปราศจากการกำกับดูแลหรือการตรวจสอบจากอำนาจฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติหรือตุลาการ รวมทั้งสามารถละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ นอกจากนั้น มาตรา 47 ยังกำหนดให้ประกาศหรือคำสั่งดังกล่าว “ชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญและเป็นที่สุด” มาตรา 48 ยังกำหนดด้วยว่า สำหรับสมาชิกของคสช.และบุคคลใดซึ่งได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ในนามของคสช. "หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง”

หน่วยงานตามรัฐธรรมนูญที่สำคัญซึ่งคสช.จัดตั้งขึ้นมา อย่างเช่น สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปพ.) ล้วนแต่มีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ทหารและผู้จงรักภักดีต่อรัฐบาลทหาร เป็นเหตุให้ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลอย่างเป็นผลต่อระบอบปกครองของทหารเลย

รัฐธรรมนูญใหม่ซึ่งมีการประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2560 ประกันว่า สมาชิกของคสช.จะไม่ต้องรับผิดใด ๆ ต่อการละเมิดสิทธิต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนับแต่ยึดอำนาจ ทั้งยังเพิ่มความเข้มแข็งและสืบทอดอำนาจปกครองประเทศของทหาร แม้จนภายหลังมีการเลือกตั้งซึ่งรัฐบาลทหารสัญญาว่าจะจัดขึ้นภายในปี 2561 แล้วก็ตาม

 

การเซ็นเซอร์และการจำกัดการแสดงออกอย่างเสรี  

ประเทศไทยได้ถูกปกครองด้วยกองทัพมาเป็นเวลากว่าสามปี คำสัญญาของรัฐบาลทหารที่จะปรองดองและเสนอ “โรดแมป” เพื่อฟื้นฟูระบอบปกครองแบบประชาธิปไตยโดยพลเรือน เป็นคำสัญญาที่ว่างเปล่า เนื่องจากยังมีการเซ็นเซอร์และการดำเนินคดีกับผู้แสดงความเห็นต่างจากรัฐ

นับแต่ยึดอำนาจ รัฐบาลทหารได้ควบคุมจำกัดเสรีภาพสื่ออย่างเข้มงวด และทำการสอดแนมอย่างกว้างขวางทั้งในระบบอินเตอร์เน็ตและการสื่อสารออนไลน์อื่น ๆ มีคำสั่งให้สื่อสิ่งพิมพ์ต้องไม่รายงานความเห็นที่วิพากษ์วิจารณ์ต่อรัฐบาลทหาร และมีการส่งทหารไปยังห้องข่าวต่าง ๆ เพื่อนำคำสั่งของรัฐบาลทหารไปให้กับบรรณาธิการและผู้สื่อข่าวโดยตรง มีคำสั่งให้สถานีโทรทัศน์และวิทยุต้องไม่นำเสนอรายงานที่เป็นลบต่อระบอบปกครองทหารในประเทศไทย สถานีโทรทัศน์ซึ่งไม่ปฏิบัติตามคำสั่งอย่างเช่น Voice TV จึงถูกระงับการออกอากาศ และสถานีบางแห่งได้รับอนุญาตให้ออกอากาศอีกครั้ง เมื่อเห็นชอบว่าจะเซ็นเซอร์ตนเอง โดยห้ามไม่ให้มีผู้แสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ หรือหลีกเลี่ยงการพูดประเด็นทางการเมืองโดยสิ้นเชิง

ทางการไทยอ้างว่า หากปล่อยให้มีการพูดคุยทางการเมืองและการแสดงความเห็นทางการเมืองที่แตกต่าง จะทำให้เกิดความแตกแยกในสังคมและทำลายความมั่นคงแห่งชาติ และได้ใช้เหตุผลนี้เข้าทำการสั่งระงับการจัดกิจกรรมทางการเมือง การอภิปรายทางวิชาการ การสัมมนา และเวทีสาธารณะอื่น ๆ ในประเด็นซึ่งเกี่ยวกับสถานะของสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในประเทศไทย 

ทางการไทยยังคงสั่งห้ามการชุมนุมทางการเมืองของบุคคลกว่าห้าคนขึ้นไป และกำหนดบทลงโทษกรณีที่ฝ่าฝืนเป็นการจำคุกหนึ่งปี หรือปรับ 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นักกิจกรรม นักการเมือง ผู้สื่อข่าวและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่แสดงความเห็นต่างจากรัฐบาล ได้ถูกนำตัวเข้าค่ายทหารเพื่อสอบปากคำ ตามภาษาของคสช.ที่เรียกว่า “การปรับทัศนคติ” รัฐบาลทหารยังบังคับให้ผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวจากการ “ปรับทัศนคติ” ต้องลงนามในบันทึกข้อตกลงอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ว่าจะไม่แสดงความเห็นทางการเมือง ไม่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเมือง หรือไม่ต่อต้านระบอบปกครองของทหาร โดยหากไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวอาจส่งผลให้ถูกสั่งควบคุมตัวอีกครั้ง หรือได้รับโทษจำคุกสองปี

ก่อนจะถึงการออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 รัฐบาลทหารได้เร่งปราบปรามสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมอย่างสงบ โดยใช้อำนาจตามกฎหมายเผด็จการหลายฉบับ อย่างเช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญาในข้อหายุยงปลุกปั่น รวมทั้งประกาศคำสั่งซึ่งเซ็นเซอร์สื่อมวลชน และห้ามการชุมนุมสาธารณะของบุคคลกว่าห้าคนขึ้นไป ทางการไทยได้จับกุมบุคคลอย่างน้อย 120 คน รวมทั้งนักการเมือง นักกิจกรรม ผู้สื่อข่าว และผู้สนับสนุนกลุ่มการเมืองซึ่งวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญซึ่งได้ประกาศอย่างเปิดเผยว่าจะออกเสียงไม่เห็นชอบ กระตุ้นให้ผู้มีสิทธิไปออกเสียงไม่รับรองร่างรัฐธรรมนูญ หรือพยายามตรวจสอบกระบวนการออกเสียง 

พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ของไทย ซึ่งผ่านการรับรองของสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ตั้งขึ้นโดยรัฐบาลทหารเมื่อเดือนธันวาคม 2559 ให้อำนาจกับรัฐบาลอย่างกว้างขวางในการจำกัดการแสดงความเห็นอย่างเสรีและการเซ็นเซอร์ กฎหมายดังกล่าวใช้เหตุผลที่คลุมเครือและกว้างขวาง ให้อำนาจรัฐบาลในการดำเนินคดีกับบุคคลใดที่ถูกมองว่าเผยแพร่ข้อมูล “อันเป็นเท็จ” หรือ “บิดเบือน” แม้แต่เนื้อหาทางอินเตอร์เน็ตซึ่งไม่ผิดกฎหมายก็อาจถูกสั่งห้าม หรือถูกสั่งให้ลบตามคำสั่งศาล ขึ้นอยู่กับความเห็นของคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ ที่แต่งตั้งโดยรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรณีที่ระบุว่าเนื้อหานั้นขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การตีความของทางการไทยเช่นนี้ ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการรายงานข้อมูลด้านสิทธิมนุษยชน ภายหลังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 รัฐบาลได้ปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ของฮิวแมนไรท์วอทช์ ประเทศไทย ซึ่งทางการอ้างว่ามีข้อมูลที่ “ไม่เหมาะสม”

บุคคลที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งเป็นความผิดอาญาร้ายแรงในประเทศไทย มักไม่ได้รับการประกันตัว และมักถูกควบคุมตัวในเรือนจำเป็นเวลาหลายเดือนระหว่างรอการพิจารณา ดังเช่นกรณีของนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักศึกษาที่เป็นนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยคนสำคัญ เขาถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและความผิดทางคอมพิวเตอร์ จากการแชร์พระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร กษัตริย์พระองค์ใหม่ ในเฟซบุ๊กของเขา เป็นรายงานที่ตีพิมพ์โดยสำนักข่าวบีบีซีภาคภาษาไทย  ทางการไทยเห็นว่าบทความดังกล่าววิพากษ์วิจารณ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มากเกินไป และปิดกั้นไม่ให้สามารถเข้าถึงได้จากประเทศไทย นับแต่รัฐประหารเดือนพฤษภคม 2557 มีบุคคลอย่างน้อย 105 คนที่ถูกจับกุมในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ส่วนใหญ่เป็นเพราะการโพสต์หรือแชร์ความเห็นออนไลน์ หลายคนถูกตัดสินว่ามีความผิดและได้รับโทษจำคุกหลายปีหรือหลายทศวรรษ ในเดือนพฤษภาคม 2560 ทางการไทยขู่ที่จะปิดกั้นไม่ให้ผู้ใช้งานในประเทศไทยสามารถเข้าถึงเฟซบุ๊ก เพื่อกดดันให้โซเชียลมีเดียดังกล่าวปิดกั้นหรือลบเนื้อหาที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งเกิดจากการโพสต์ของผู้ใช้งานหลายคน นับแต่ปี 2559 รัฐบาลไทยได้ร้องขอซ้ำแล้วซ้ำอีกให้รัฐบาลสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร สวีเดน ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น กัมพูชา และลาว ส่งตัวพลเมืองไทยซึ่งลี้ภัยอยู่ที่นั่น กลับมาดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ  

 

การควบคุมตัวแบบลับและโดยพลการและศาลทหาร

ตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 และ 13/2559 กองทัพสามารถควบคุมตัวบุคคลแบบลับโดยไม่มีข้อหาหรือไม่มีการไต่สวน และสามารถสอบปากคำพวกเขาโดยไม่ให้เข้าถึงทนายความ หรือไม่มีหลักประกันเพื่อป้องกันการปฏิบัติมิชอบ รัฐบาลทหารได้ปฏิเสธอย่างต่อเนื่องถึงข้อกล่าวหาว่า ทหารได้ซ้อมทรมานผู้ถูกควบคุมตัว แต่ก็ไม่ได้ให้หลักฐานเพื่อโต้แย้งกับข้อกล่าวหาดังกล่าวเลย

ฮิวแมนไรท์วอทช์มักแสดงข้อกังวลอย่างร้ายแรงต่อการควบคุมตัวแบบลับของกองทัพในประเทศไทย ความเสี่ยงที่จะเกิดการบังคับบุคคลให้สูญหาย การทรมาน และการปฏิบัติที่โหดร้ายอย่างอื่น จะเพิ่มขึ้นมากเมื่อบุคคลถูกควบคุมตัวโดยทหารและไม่ได้รับการติดต่อกับโลกภายนอก รัฐบาลทหารยังคงปฏิเสธไม่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่ถูกควบคุมตัวแบบลับ นอกจากนั้น ไม่มีสัญญาณบ่งบอกว่าทางการไทยได้ทำการสอบสวนอย่างจริงจังหรือน่าเชื่อถือ เมื่อมีรายงานว่าเกิดการซ้อมทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายต่อบุคคลที่ถูกทหารควบคุมตัว ในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่รัฐบาลทหารแต่งตั้ง มีมติชะลอการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายพ.ศ. ....ออกไปโดยไม่มีกำหนด และรัฐบาลไม่ได้ชี้แจงว่าจะมีการนำร่างกฎหมายนี้เข้าสู่การพิจารณาอีกหรือไม่

การใช้ศาลทหารซึ่งขาดความเป็นอิสระ และไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานการพิจารณาที่เป็นธรรมระหว่างประเทศ เพื่อไต่สวนพลเรือนยังคงเป็นปัญหาสำคัญ ในเดือนกันยายน 2559 นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ได้ยกเลิกคำสั่งคสช.ซึ่งให้อำนาจศาลทหารในการไต่สวนคดีต่อพลเรือนในความผิดต่อความมั่นคงแห่งชาติ รวมทั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและข้อหายุยงปลุกปั่นทางการเมือง  อย่างไรก็ดี คำสั่งดังกล่าวไม่มีผลย้อนหลังและไม่มีผลใด ๆ ต่อกว่า 1,800 คดี เป็นเหตุให้พลเรือนเหล่านั้นยังคงต้องเข้ารับการไต่สวนในศาลทหารทั่วประเทศไทย

 

การปฏิบัติมิชอบต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

รัฐบาลไทยมีพันธกรณีต้องประกันให้ บุคคลทุกคนและหน่วยงานทุกแห่งที่มีส่วนร่วมในการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน สามารถปฏิบัติหน้าที่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเกื้อหนุน อย่างไรก็ดี หน่วยงานของกองทัพและหน่วยงานของรัฐอื่น ๆ ได้ใช้การดำเนินคดีอาญา รวมทั้งข้อหาหมิ่นประมาทและข้อหายุยงปลุกปั่น เพื่อตอบโต้นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และทำให้เกิดปัญหายุ่งยากมากขึ้นสำหรับผู้เสียหายที่จะร้องเรียน

ยกตัวอย่างเช่น ในเดือนพฤษภาคม 2559 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ได้แจ้งความดำเนินคดีอาญากับนายสมชาย หอมลออ น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และน.ส.อัญชนา หีมมิหน๊ะ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยกล่าวหาว่าพวกเขาหมิ่นประมาททางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา และการตีพิมพ์เผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จในระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เป็นการแจ้งความเนื่องมาจากรายงานที่จัดทำโดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มด้วยใจ และเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปัตตานี ซึ่งเก็บข้อมูลการซ้อมทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายต่อผู้ต้องสงสัยว่าเข้าร่วมกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ถูกทหารควบคุมตัว 54 กรณีในระหว่างปี 2547-2558 หากศาลตัดสินว่ามีความผิด นักกิจกรรมเหล่านี้อาจได้รับโทษจำคุกไม่เกินห้าปีและปรับไม่เกิน 100,000 บาท ในวันที่ 7 มีนาคม 2560 ก่อนที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติจะทบทวนพันธกรณีของประเทศไทยตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) ทางกองทัพประกาศว่าจะยุติการดำเนินคดีนี้ แต่จนถึงปัจจุบันการดำเนินคดียังเกิดขึ้นต่อไป

ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ถูกดำเนินคดีในข้อหายุยงปลุกปั่น และความผิดอาญาอื่น ๆ ซึ่งอาจส่งผลให้ได้รับโทษจำคุกอย่างน้อย 10 ปี รัฐบาลทหารได้แจ้งความดำเนินคดีเพื่อตอบโต้กับการปฏิบัติหน้าที่ทนายความของศิริกาญจน์ ซึ่งว่าความให้กับนักศึกษา 14 คนที่ถูกจับเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2558 หลังการชุมนุมประท้วงอย่างสงบในกรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและยุติระบอบปกครองของทหาร

 

ข้อเสนอแนะ

นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ได้กล่าวครั้งแล้วครั้งเล่าในประเทศไทยและในเวทีระหว่างประเทศ ว่ารัฐบาลมีพันธกิจจะฟื้นฟูระบอบปกครองแบบประชาธิปไตยโดยพลเรือนในประเทศไทย และบอกว่ารัฐบาลทหารให้ความสำคัญเร่งด่วนกับภาพลักษณ์ของประเทศไทยในระดับนานาชาติ เพื่อให้คำสัญญานี้เป็นผลอย่างจริงจังและน่าเชื่อถือ ท่านควรเน้นย้ำต่อรัฐบาลไทย ถึงความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการอย่างชัดเจนเพื่อเคารพสิทธิมนุษยชนและฟื้นฟูหน่วยงานการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยพลเรือน

 ออสเตรเลียควรเตรียมพร้อมที่จะพูดคุยทั้งอย่างเปิดเผยและเป็นการส่วนตัว เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ดำเนินการดังต่อไปนี้โดยทันที

  • ยุติการใช้อำนาจอย่างมิชอบและปราศจากความรับผิดตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว
  • ยุติการจำกัดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมอย่างสงบ
  • ยกเลิกคำสั่งห้ามการจัดกิจกรรมทางการเมือง
  • ปล่อยตัวผู้ที่เห็นต่างจากรัฐและบุคคลอื่นที่ถูกควบคุมตัวเพราะการวิพากษ์วิจารณ์อย่างสงบต่อรัฐบาลทหาร
  • ยกเลิกการดำเนินคดีในข้อหายุยงปลุกปั่นและคดีอาญาอื่น ๆ อันเป็นผลมาจากการแสดงการต่อต้านอย่างสงบในระหว่างการออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญเมื่อเดือนสิงหาคม 2559
  • ให้ถ่ายโอนคดีของพลเรือนทั้งหมดจากศาลทหาร เข้าสู่การพิจารณาของศาลพลเรือน ซึ่งมีมาตรฐานทัดเทียมกับมาตรฐานการพิจารณาที่เป็นธรรมระหว่างประเทศ และ
  • ประกันให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเกื้อหนุนต่อการดำเนินงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมทั้งยกเลิกการดำเนินคดีหมิ่นประมาททางอาญาต่อพวกเขา

เราขอขอบคุณที่ท่านใส่ใจต่อข้อกังวลของเรา และเชื่อมั่นว่าท่านจะนำเสนอประเด็นเหล่านี้ในระหว่างการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทย การยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการจำกัดเสรีภาพขั้นพื้นฐาน เป็นองค์ประกอบสำคัญเพื่อการฟื้นฟูระบอบปกครองแบบประชาธิปไตยโดยพลเรือนอย่างแท้จริงในประเทศไทย

เรายินดีให้ข้อมูลเพิ่มเติมในประเด็นใด ๆ หรือกรณีใด ๆ ที่กล่าวถึงในจดหมายนี้

 

ขอแสดงความนับถือ

 

 

อีเลน เพียร์สัน (Elaine Pearson)

ผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ ออสเตรเลีย

 

สำเนา พอล โรบินลาด (Paul Robilliard) เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย

 

 

 

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.