ศาลฎีกาเนปาล วินิจฉัยว่า รักศนา กาปาลี ผู้หญิงข้ามเพศควรได้รับการรับรองสถานะตามกฎหมายว่าเป็นผู้หญิง โดยให้ระบุเช่นั้นในเอกสารทางราชการทั้งหมด และโดยไม่จำเป็นต้องยื่นผลตรวจจากแพทย์ เป็นคำวินิจฉัยล่าสุดในประวัติศาสตร์ของศาลที่เคยมีคำพิพากษาที่ก้าวหน้าเกี่ยวกับเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศ ทำให้ เนปาลมีชื่อเสียงระดับโลก ในแง่การส่งเสริมสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ
ภายหลัง คำสั่งของศาลฎีกาเมื่อปี 2550 ทางการได้ ออกเอกสารบางส่วน ระบุว่าเป็นเพศ “อื่น ๆ” หรือ “เพศที่สาม” ในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปตามการจำแนกด้วยตนเองของบุคคล แม้จะมีคำสั่งศาลเช่นนี้ แต่เนื่องจากไม่มีนโยบายที่ชัดเจนจากส่วนกลางจึงทำให้เกิดปัญหา ในทุกวันนี้ คนข้ามเพศในเนปาลที่ต้องการแก้ไขคำระบุเพศว่าเป็น “หญิง” หรือ “ชาย” มักถูกบังคับให้ต้องเข้ารับการผ่าตัด ซึ่งหมายถึงการที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ และยังต้องได้รับการประเมินทางการแพทย์ในประเทศอีกครั้งหนึ่ง รวมทั้งการตรวจที่ล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวภายหลังการผ่าตัดอวัยวะเพศ แม้แต่ผู้ที่ พยายามขอเอกสารที่ระบุเพศว่าเป็น “อื่น ๆ” ก็มักต้องถูกทำให้อับอายและต้องไปรับการตรวจประเมินทางการแพทย์ที่ไม่จำเป็น
หลักการยอกยาการ์ตา ที่จัดทำและลงนามในปี 2549 โดยคณะผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้ง สุนิล บาบู พันธ์ อดีตสมาชิกรัฐสภาชาวเนปาล และผู้รณรงค์เพื่อสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศระบุว่า เพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศที่บุคคลกำหนดให้ตนเองเป็น “ส่วนหนึ่งของบุคลิกภาพของพวกเขา” และเป็นคุณลักษณะพื้นฐานของอัตลักษณ์ การตัดสินใจด้วยตนเอง ศักดิ์ศรี และเสรีภาพ หลักเกณฑ์ระบุอย่างชัดเจนว่า ต้องมีการรับรองเพศ “กรณีที่มีการเลือกการปรับแต่งสภาพร่างกาย หรือการทำหน้าที่ของร่างกายอย่างเสรีโดยแพทย์ ศัลยแพทย์ หรือโดยวิธีการอื่น” หลักการเหล่านี้เป็นพื้นฐานให้ศาลฎีกาเนปาลมีคำสั่งเมื่อปี 2550 และมีการอ้างถึงในคดีที่กาปาลีชนะในศาลล่าสุดด้วย
กาปาลีเป็นนักศึกษากฎหมายและเป็นผู้หญิงข้ามเพศ เธอได้ ฟ้องคดีต่อรัฐบาลเนปาลกว่า 50 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2564 เพื่อกดดันให้มีการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมายและกรอบของสิทธิ แม้ว่าคำวินิจฉัยล่าสุดจะเป็นบรรทัดฐานสำหรับสิทธิของคนข้ามเพศ แต่ก็เป็นคำสั่งที่มีผลบังคับเฉพาะกรณีของกาปาลี หมายถึงว่าคนอื่น ๆ ต้องไปร้องต่อศาลเพื่อให้ได้มีการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศของตนตามกฎหมาย
ทางออกที่ดีกว่าคือการกำหนดนโยบายในส่วนกลาง รัฐบาลสามารถและควร ทำให้ระบบทำงานเพื่อประโยชน์ของทุกคน โดยการออกประกาศเพื่ออนุญาตให้บุคคลสามารถระบุเพศสภาพของตนได้ด้วยตนเอง และให้แสดงข้อมูลในเอกสารทางราชการ โดยไม่จำเป็นต้องผ่านการตรวจสอบทางการแพทย์หรืออื่น ๆ