Skip to main content

ประเทศไทย : การขุดลอกห้วยคลิตี้

เผชิญปัญหามรดกจากสารพิษก่อนเปิดเหมืองตะกั่วรอบใหม่

(กรุงเทพ, 16 ธันวาคม 2557) – รัฐบาลไทยยังไม่ได้จัดการขุดลอกพิษสารตะกั่วในลำน้ำทางตะวันตกของประเทศไทย  ซึ่งเป็นอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพของประชาชนหลายร้อยครัวเรือน  ฮิวแมนไรท์ว็อทช์รายงานในการแถลงข่าววันนี้ ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งมาเกือบสองปีแล้ว  เพื่อให้มีการทำความสะอาดห้วยคลิตี้ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประเทศไทย แต่รัฐบาลยังคงเพิกเฉย ปล่อยให้ชาวบ้านต้องสัมผัสกับสารตะกั่วต่อไป  ทั้งในน้ำในดินในพืชผักและในปลา

รายงานจำนวน สามสิบ หน้า เรื่อง “น้ำเป็นพิษ ระบบยุติธรรมแปดเปื้อน”  ที่บรรยายถึงความล้มเหลวของประเทศไทย  โดยการปฏิบัติงานของกรมควบคุมมลพิษและหน่วยงานสาธารณสุข ที่ไม่ได้ป้องกันการสัมผัสกับสารตะกั่วของชาวบ้านในชุมชนชาวกะเหรี่ยง  ดังจะเห็นได้จากวิดีทัศน์ประกอบการรายงานข่าวนี้ ที่แสดงถึงการทำลายสิ่งแวดล้อมและก่ออันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพของชุมชน  โดยโรงงานผลิตสารตะกั่วที่ขณะนี้ทิ้งร้างอยู่  รวมทั้งความพยายามของชาวบ้านที่จะพยายามเรียกร้องความยุติธรรม   ผู้ที่อยู่อาศัยในหมู่บ้านห้วยคลิตี้ล่างจำนวนมาก ต้องทนทุกข์จากอาการป่วยเรื้อรังจากสารตะกั่วเป็นพิษ เช่น อาการเจ็บปวดในช่องท้อง ปวดศรีษะ อ่อนเพลีย และอารมณ์แปรปรวน เด็กบางคนถือกำเนิดมาพร้อมกับความบกพร่องทางปัญญาและการพัฒนาตามวัย

“ทางการไทยแสดงออกโดยชัดเจนว่า กำลังเพิกเฉยต่อคำสั่งของศาล ที่ให้ทำความสะอาดแหล่งสารพิษ” ริชาร์ด เพียร์สเฮาส์ กล่าว เขาเป็นนักวิจัยอาวุโสของฮิวแมนไรท์ว็อทช์ผู้เขียนรายงานนี้ “ที่นี่เป็นแหล่งอุตสาหกรรมที่ทำให้เกิดมลพิษมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ทำให้คนนับร้อยต้องได้รับความทรมานและจำเป็นที่รัฐบาลต้องดำเนินการโดยทันที”

เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2546  ศาลปกครองสูงสุดของประเทศไทยมีคำสั่งให้รัฐบาลไทยจัดการขุดลอกทำความสะอาดลำห้วยที่มีสารตะกั่ว

เป็นพิษ  จนกว่าผลการตรวจสอบน้ำ ดิน พืชผักและสัตว์น้ำในบริเวณลำห้วย  จะแสดงให้เห็นว่ามีสารตะกั่วต่ำกว่าระดับที่เป็นอันตราย  ถึงแม้ว่าการขุดลอกและทำความสะอาดลำห้วยควรจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2557  แต่กรมควบคุมมลพิษของประเทศไทยยังคงออกมากล่าวว่า กำลังศึกษาวิธีทำความสะอาดลำห้วยว่าควรจะทำด้วยวิธีใด

ชาวบ้านในบริเวณลำห้วยคลิตี้ล่างมีโอกาสสัมผัสกับสารตะกั่วในชีวิตประจำวันด้วยการดื่มน้ำ หรือกินปลาและสัตว์น้ำชนิดอื่น  รวมทั้งพืชผักที่ปลูกจากแปลงดินที่ปนเปื้อนสารตะกั่วหรืออาหารที่ทำด้วยน้ำที่มีสารพิษ  จากการสัมผัสกับดินที่ปนเปื้อนสารตะกั่วรอบบริเวณบ้านหรือหายใจเอาอากาศที่มี่ฝุ่นตะกั่วเข้าไปในปอด  ทั้งนี้ จากการทดสอบกรมควบคุมมลพิษได้พบว่ามีสารตะกั่วอยู่ในดินสองฝั่งลำห้วย  รวมทั้งในน้ำและตะกอนก้นลำห้วย สูงกว่าระดับที่ไม่เป็นอันตราย  อีกทั้งยังพบสารตะกั่วปนเปื้อนอยู่ในปลา กุ้ง ปูและพืชผักในที่ต่างๆ ตามฝั่งลำห้วยด้วย

ทั้งที่มีสภาวะแห่งอันตรายเช่นนี้  เมื่อปี 2554 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังได้แต่งตั้งให้มีคณะกรรมการประเมินสิ่งแวดล้อมในบริเวณ

เหมืองตะกั่วที่จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อพิจารณาว่าประเทศไทยจะสามารถเปิดเหมืองตะกั่วอีกครั้งได้ไหม เพื่อหาทางพัฒนาการทำเหมืองและอุตสาหกรรมแร่ตะกั่วต่อไป “ดูเหมือนว่ารัฐบาลไทยไม่ใส่ใจต่อบทเรียนเรื่องมลภาวะที่ห้วยคลิตี้ และการได้รับสารพิษของชาวบ้าน” เพียร์สเฮาส์ กล่าว “ประเทศไทยควรจะขุดลอกและทำความสะอาดห้วยคลิตี้ รวมทั้งให้การดูแลรักษาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ก่อนที่จะคิดถึงการขยายกิจการเหมืองตะกั่ว”

การรับมือกับสถานการณ์นี้ของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั้งระดับจังหวัดและระดับอำเภอ ไม่สามารถควบคุมภาวะอันตรายได้โดยสิ้นเชิง ฮิวแมนไรท์ว็อทช์ กล่าว ชาวบ้านหลายคนที่มารับการตรวจเลือดไม่ได้รับการแจ้งผล  อีกจำนวนไม่น้อยได้รับแจ้งว่าการตรวจเลือดปรากฎผลว่า “ปลอดภัย”  ทั้งที่มีแนวปฏิบัติสากลที่ระบุว่า  การสัมผัสกับสารตะกั่วไม่ว่าจะในระดับใดล้วนไม่ปลอดภัย  ส่วนเด็กที่มีระดับสารตะกั่วสูงขึ้นก็ไม่ได้รับการดูแลรักษาเพื่อติดตามผลแต่อย่างใด

ตะกั่วเป็นสารพิษอันตรายสูงซึ่งส่งผลกระทบร้ายแรงต่อระบบการทำงานของร่างกายคือระบบประสาท  ระบบชีววิทยา และระบบการรับรู้และทำความเข้าใจ  การได้รับสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกายในระดับสูงสามารถทำลายการทำงานของอวัยวะต่างๆ คือ สมอง ตับไต ประสาท และกระเพาะอาหาร  รวมทั้งทำให้โลหิตจาง หมดสติ  การหดเกร็งของกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง และแม้กระทั่งถึงขั้นเสียชีวิต  สำหรับเด็กและสตรีที่ตั้งครรภ์นั้นจะได้รับความกระทบกระเทือนเป็นพิเศษ  การสัมผัสกับสารตะกั่วในระดับสูงจะทำให้เกิดความบกพร่องทางปัญญาและพัฒนาการตามวัย  รวมทั้งความไม่สมประกอบในการอ่านและการเรียนรู้  มีปัญหาทางพฤติกรรมการใช้สมาธิ หรือแม้กระทั่งสูญเสียการรับฟังและการชะงักงันของพัฒนาการด้านสายตา มีปัญหาในระบบหายใจ ชีพจร และความดันโลหิต

การพัฒนาไปสู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรมรวมทั้งการขุดเจาะแร่ธาติ  ทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญปัญหาเพิ่มขึ้นในเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพจากมลภาวะ  ที่เกิดจากแหล่งต่างๆ มากหลายทั่วประเทศ  รวมทั้งที่ นาหนองบง ที่จังหวัดเลย (ไซยาไนด์ ปรอท และสารหนู)  แม่ตาว ที่จังหวัดตาก (แคดเมี่ยม) จังหวัดพิจิตร (แมงกานีส และสารหนู)  อีกแหล่งหนึ่งคือย่านอุตสาหกรรมที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง (สารเคมีจากอุตสาหกรรม)

ประเทศไทยได้ให้สัตยบรรณอนุสัญญาหลักด้านสิทธิมนุษยชน และสนธิสัญญาหลายฉบับด้านสิ่งแวดล้อม  ซึ่งเป็นพันธกรณีที่รัฐบาลต้องมุ่งยึดถือเพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อม น้ำดื่มที่ปลอดภัย และสุขภาพของประชาชน

พลเมือง  โดยต้องมุ่งเน้นเป็นพิเศษ สำหรับเด็กและกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ  รวมทั้งสตรี ผู้พิการ และชนกลุ่มน้อย  ยิ่งกว่านั้น พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติของไทยยังได้กำหนดให้ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้าง

สุขภาพ  ในขณะที่กฎหมายระหว่างประเทศกำหนดให้ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับมาตรฐานสูงสุดด้านสุขภาพและน้ำเพื่อการบริโภค  รวมทั้งสิทธิที่พึงได้รับการเยียวยาในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิดังกล่าว

“รัฐบาลไทยต้องยุติการเพิกเฉยต่อคำสั่งศาล และจัดทำแผนปฏิบัติงานที่ชัดเจนและเจาะจง พร้อมด้วยกำหนดเวลาในการนำไปสู่การปฏิบัติด้วย”  เพียร์สเฮาส์กล่าว  “การขุดลอกและทำความสะอาดห้วยคลิตี้อย่างครอบคลุม จะช่วยให้ประเทศไทยเป็นต้นแบบในการทำความสะอาดที่อื่นอีกมากมาย  ที่มลภาวะจากแหล่งอุตสาหกรรมหลักกำลังเป็นอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพมนุษย์” 

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.