Skip to main content

ประเทศไทยทุ่มงบประมาณเพื่อสุขภาพของคนข้ามเพศ

ก้าวต่อไปจะเป็นการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพตามกฎหมายหรือไม่?

Patients wait at the Tangerine Clinic, a community health center with gender affirming care, in Bangkok, Thailand, June 21, 2016. © 2016 Diego Azubel/EPA/Shutterstock

รัฐบาลไทยประกาศเมื่อสัปดาห์นี้ว่า จะจัดสรรงบประมาณ 145 ล้านบาท (4.3 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพื่อให้บริการบำบัดด้วยฮอร์โมนแก่คนข้ามเพศ นับเป็นความพยายามที่สำคัญเพื่อส่งเสริมการรับรองสิทธิของคนข้ามเพศ

ประเทศไทยมีชื่อเสียงมากขึ้นในระดับนานาชาติ ในด้านสิทธิของเลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล และทรานส์เจนเดอร์ (LGBT) โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับแต่การประกาศใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมเมื่อปีที่แล้ว นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นศูนย์กลางระดับโลกสำหรับการผ่าตัดแปลงเพศ และการดูแลสุขภาพของคนข้ามเพศ อย่างไรก็ตาม พัฒนาการเหล่านี้บดบังช่องทางกฎหมายที่จำกัดอย่างมากในการปกป้องสิทธิพื้นฐานของคนข้ามเพศ

ตัวอย่างเช่น การไม่มีขั้นตอนการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพตามกฎหมายในประเทศไทย หมายความว่าคนข้ามเพศทุกคนต้องพกพาเอกสารที่ระบุเพศสภาพที่แตกต่างจากอัตลักษณ์และการแสดงออกของตน เมื่อคนข้ามเพศถูกขอให้แสดงเอกสารดังกล่าว เช่น ที่โรงพยาบาล ระหว่างถูกเรียกตรวจโดยตำรวจ หรือเมื่อเปิดบัญชีธนาคาร พวกเขามักจะต้องเผชิญกับการดูหมิ่นและปฏิเสธ

ในรายงานปี 2564 ผู้ให้สัมภาษณ์เกือบทั้งหมดที่บอกกับฮิวแมนไรท์วอตช์ว่า พวกเขาใช้ฮอร์โมนเพื่อยืนยันอัตลักษณ์ทางเพศของตน บอกว่าพวกเขาเริ่มใช้ยาดังกล่าว โดยไม่ได้รับคำแนะนำจากผู้ให้บริการด้านการแพทย์ พวกเขาบอกว่าพวกเขาพึ่งพาคำแนะนำของเพื่อนหรือรุ่นพี่ในชุมชน ไม่ใช่ผู้ให้บริการด้านการแพทย์ ในการตัดสินใจเลือกประเภทและขนาดยา อย่างน้อยในช่วงเวลาที่ยังใช้ฮอร์โมนอยู่ การค้นพบที่น่ากังวลนี้ได้รับการยืนยันจากการศึกษาทางวิชาการ และการวิจัยขององค์การสหประชาชาติ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะระบบดูแลสุขภาพของไทยล้มเหลวในแง่ของการให้บริการรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทนที่เข้าถึงได้และเหมาะสมสำหรับคนข้ามเพศ

การจัดสรรงบประมาณใหม่ของรัฐบาลเพื่อสนับสนุนการบำบัดด้วยฮอร์โมน รวมทั้งการออกกฎหมายใหม่ จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยเริ่มร่วมมือกับองค์กรภาคประชาสังคมและหน่วยงานของสหประชาชาติ ในการพัฒนากระบวนการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพตามกฎหมาย แต่กระบวนการดังกล่าวหยุดชะงัก และไม่มีความคืบหน้าในการพิจารณาร่างกฎหมาย

ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยได้แสดงความปรารถนาที่จะเป็นเจ้าภาพจัดงาน World Pride ในปีต่อๆ ไป ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่รัฐบาลจะเฉลิมฉลองความก้าวหน้าด้านสิทธิของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หากรัฐบาลให้ความสำคัญกับการผ่านกฎหมายการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพตามกฎหมายที่สอดคล้องกับกรอบสิทธิในตอนนี้

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.