น้ำเป็นพิษ ระบบยุติธรรมแปดเปื้อน
ประเทศไทยไม่เร่งขจัดสารพิษที่ห้วยคลิตี้
มรดกสารพิษ
หมู่บ้านแห่งนี้
เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2556 ศาลปกครองสูงสุดแห่งประเทศไทยได้พิพากษาคดีที่สำคัญยิ่งคดีหนึ่ง โดยมีผู้ฟ้องคดีจำนวน 22 คนเดินทางมารับฟังคำพิพากษาที่กรุงเทพจากหมู่บ้านเล็กๆ ในป่าใหญ่ใกล้ชายแดนไทยที่ติดต่อกับพม่า ชาวบ้านกลุ่มนี้มาพร้อมกับความหวังว่าจะได้รับฟังคำตัดสิน ที่จะช่วยบรรเทาปัญหาด้วยทางออก ซึ่งพยายามแสวงหากันมานานแล้ว
หมู่บ้านของพวกเขาอยู่ที่ด้านปลายลำห้วยคลิตี้ ที่ไหลลงสู่เขื่อนใหญ่ในจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งมีชื่อเสียงด้วยทิวทัศน์ของวนอุทยานแห่งชาติและน้ำตกที่สวยงาม ที่ด้านใต้ของลำห้วยคลิตี้นี้เป็นที่ตั้งถิ่นฐานของชาวกะเหรี่ยงราว 400 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวนาชาวไร่ที่เลี้ยงชีพด้วยการทำนาข้าว ไร่มันสำปะหลัง และพืชผักต่างๆ
ห้วยคลิตี้ไหลคดเคี้ยวมาตามเทือกเขาในป่า ผ่านหมู่บ้านของพวกเขาสู่เขื่อนใหญ่ ห่างจากหมู่บ้านนี้ไปทางเหนือของห้วยคลิตี้ประมาณสิบเอ็ดกิโลเมตร มีหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่งซึ่งเคยเป็นที่ตั้งโรงงานผลิตสารตะกั่วของภาคเอกชน โรงงานแห่งนี้เริ่มเปิดกิจการในช่วงกลางทศวรรษ 1960 และถูกสั่งให้ปิดกิจการเมื่อปี 2541 แต่มรดกสารพิษที่โรงงานแห่งนี้ทิ้งไว้ ยังคงทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนกระทั่งทุกวันนี้
ผู้ร้องทุกข์หลายรายต้องทนทุกข์กับอาการเจ็บป่วยเรื้อรังที่เกิดจากสารพิษของตะกั่ว เช่น อาการปวดในช่องท้อง ร่างกายอ่อนแรง ปวดศีรษะ และอารมณ์แปรปรวน ลูกหลานบางรายของชาวบ้านเกิดภาวะด้อยพัฒนาทางสติปัญญาขั้นร้ายแรง ชาวบ้านในชุมชนคลิตี้ล่างได้รับสารตะกั่วจากน้ำและอาหารที่เป็นพิษ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขชุมชนของไทย ได้แนะนำให้ชาวบ้านเลิกบริโภคน้ำ ปลา และสัตว์น้ำจากลำห้วยนี้
คำพิพากษาเป็นคุณต่อชาวบ้าน เนื่องด้วยผู้พิพากษาตัดสินว่า กรมควบคุมมลพิษของประเทศไทย ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเรื่องมลภาวะ ละเลยในการปฏิบัติตามหน้าที่เพราะดำเนินการกำจัดสารพิษในลำห้วยล่าช้าเกินเหตุ[1] อีกทั้งยังไม่มีการกำหนดแผนเร่งด่วนใดๆ หลังจากที่ได้พบว่ามีมลภาวะ เมื่อปี 2541 การเริ่มดำเนินการในเรื่องนี้เป็นไปอย่างล่าช้า โดยแถลงว่าจำเป็นต้องปล่อยให้มีการ “ฟื้นตัวโดยธรรมชาติ” ในกรณีเช่นนี้ ซึ่งการรอคอยให้ห้วยคลิตี้ขจัดสารพิษด้วยกระบวนการตามธรรมชาติ จะเป็นผลให้ชาวบ้านต้องเผชิญอันตรายจากสารตะกั่วที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำอีกยาวนานในอนาคต[2]
ศาลจึงมีคำพิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษจ่ายค่าชดเชยรวมทั้งสิ้นเกือบสี่ล้านบาท ให้กับผู้ฟ้องคดีรวม 22 ราย ทว่าในคดีนี้ผู้พิพากษายังได้ปฏิบัติในสิ่งซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ที่ศาลออกคำสั่งให้รัฐบาลไทยทำความสะอาดแหล่งสารพิษ
ศาลมิได้กำหนดว่ากรมควบคุมมลพิษต้องทำความสะอาดด้วยวิธีใด แต่ได้กำหนดไว้โดยเด็ดขาดว่าทางกรมฯ จะต้องทำงานโดยครอบคลุมทุกด้าน กล่าวคือต้องมีการทดสอบผลงานจากดิน น้ำ พืชผัก และสัตว์น้ำ ทั้งที่อยู่ในลำห้วยและบริเวณโดยรอบ เพื่อดูว่ามีปริมาณสารพิษต่ำกว่าระดับมาตรฐานที่กำหนดไว้ จากการตรวจสอบทั้งสี่ครั้งในระยะเวลาหนึ่งปี
บรรดาโจทย์จากห้วยคลิตี้ล่างมิใช่เป็นเพียงคนกลุ่มเดียวที่ได้รับผลกระทบจากโรงงานร้างที่เคยเป็นแหล่งผลิตสารตะกั่ว แต่ยังมีชาวบ้านกลุ่มอื่นในหมู่บ้านนั้นที่ยังยื่นฟ้องคดีแพ่งต่อบริษัทผู้เปิดโรงงาน (และเหมืองแร่ตะกั่วที่อยู่ใกล้กัน) บริษัทนั้นคือบริษัทตะกั่วคอนเซนเทรท (ประเทศไทย) จำกัด คดีนี้ยื่นฟ้องโดยโจทย์ร่วมกัน 8 คน เมื่อปี 2546 และต่อมามีโจทย์เพิ่มขึ้นอีกจนรวมกันทั้งหมด 151 คน
ในปี 2553 ศาลประจำจังหวัดกาญจนบุรีมีคำตัดสินที่เป็นคุณต่อชาวบ้านเช่นกัน ถึงแม้ว่าฝ่ายจำเลยจะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ขณะนี้คดีดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการรอคำตัดสินชี้ขาด[3]
ในขณะที่ชาวบ้านในเขตห้วยคลิตี้ล่าง กำลังรอคอยการทำงานที่ล่าช้าอย่างยิ่ง
ของระบบยุติธรรมในประเทศไทยด้วยความอดทนนั้น ผู้ที่อยู่อาศัยในเขตห้วยคลิตี้บนก็กำลังเฝ้ารอผลคดีที่จะเกิดจากการทำความสะอาดสารพิษอยู่เช่นกัน ชาวบ้านบางคนในเขตนั้นอาศัยอยู่ข้างโรงงานผลิตสารตะกั่ว หรือไม่ก็อยู่ติดกับบ่อกำจัดของเสียจากการทำเหมืองแร่
แต่นับจากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาดังกล่าว เมื่อเดือนมกราคม 2556 แล้ว กรมควบคุมมลพิษก็ยังคงปฏิบัติตามคำสั่งศาลด้วยความล่าช้า และมีข้อจำกัดในการเยียวยาสถานการณ์ต่อมาในเดือนมีนาคม 2556 ทางกรมฯ ได้ว่าจ้างให้บริษัทมานำดินที่ปนเปื้อนสารตะกั่วรอบบริเวณโรงงานที่ห้วยคลิตี้บนออกไป พร้อมกันนั้น อธิบดีกรมควบคุมมลพิษได้กล่าวต่อสื่อในประเทศไทยว่า จะจัดทำแผนฟื้นฟูให้เสร็จสมบูรณ์ภายในสิ้นปี 2556[4]
แต่เมื่อถึงสิ้นปี 2556 ปรากฏว่าทางกรมฯ ยังไม่มีแผนดังกล่าวแต่อย่างใด อันที่จริง ตามกำหนดการของกรมฯ ที่จัดทำขึ้นมาหลังจากคำพิพากษาดังกล่าวไม่นานนั้น การศึกษากระบวนการฟื้นฟูควรจะเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนมีนาคม 2557 โดยต้องเริ่มลงมือทำความสะอาดตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2557[5]แต่แม้เวลาจะล่วงเลยเกินเส้นตายที่กำหนดไว้ในเดือนพฤษภาคมมานานกว่าหกเดือนแล้ว ก็ยังไม่มีการลงมือปฏิบัติการฟื้นฟูแต่อย่างใด ด้วยเหตุที่กรมควบคุมมลพิษยังกำลังศึกษาอยู่ว่าจะทำความสะอาดลำห้วยด้วยวิธีใด
ในขณะที่ยังไม่มีการลงมือทำการฟื้นฟูนี้ จากการทดสอบสภาพแวดล้อมพบว่า ระดับสารตะกั่วในดินตามฝั่งลำห้วยยังคงมีระดับสูงเกินมาตรฐาน รวมทั้งในน้ำและตะกอนก้นลำห้วย ตลอดจนในสัตว์น้ำ เช่น กุ้ง ปู ปลา รวมทั้งในพืชผักที่ปลูกอยู่ในบริเวณสองฝั่งลำห้วย ระหว่างปี 2556 (ตามข้อมูลที่จัดพิมพ์เมื่อปีที่แล้ว)[6]
การได้รับสารพิษ
ผู้ที่อยู่อาศัยในบริเวณห้วยคลิตี้ล่าง อาจสัมผัสกับสารตะกั่วในชีวิตประจำวันทุกวัน เช่น จากการดื่มน้ำ หรือกินปลาตลอดจนสัตว์น้ำอื่นๆ จากห้วยคลิตี้ รวมทั้งการกินอาหารที่ปลูกอยู่ในแปลงผักที่มีสารตะกั่วปนเปื้อน หรือทำอาหารด้วยน้ำที่มีสารตะกั่วปนเปื้อน แม้กระทั่งด้วยการสัมผัสกับดินที่มีมลพิษรอบบ้านเรือน หรือการหายใจเอาอากาศที่มีฝุ่นตะกั่วปนเปื้อนอยู่ด้วยเข้าสู่ร่างกาย [7]
ตะกั่วเป็นโลหะที่มีพิษซึ่งเป็นอันตรายร้ายแรงต่อร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการพัฒนาระบบประสาทของเด็ก คือระบบโลหิตวิทยา (hematology) และระบบหลอดเลือดหัวใจ (cardiovascular) รวมทั้งไต[8] ทำให้เกิดอาการทางประสาทและร่างกายคือ วิตกกังวล นอนไม่หลับ โลหิตจาง สูญเสียความทรงจำ พฤติกรรมแปรปรวนฉับพลัน สมาธิสั้น ปวดศีรษะ ปวดในช่องท้อง อ่อนเพลีย ซึมเศร้า ได้ยินเสียงไม่ชัด พูดจาติดขัด (hearing impediments) กล้ามเนื้อกระตุก เกิดความสับสน กล้ามเนื้อหดเกร็งอย่างรุนแรง (convulsion) และความดันโลหิตสูง[9]ด้วยเหตุที่สารพิษจากตะกั่วก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยและผิดปกติทางกายหลากหลาย-
ดังกล่าวนี้เอง จึงอาจทำให้สังเกตเห็นได้ยาก หรือก่อความสับสนว่าเป็นอาการที่เกิดจากโรคอื่น [10]
เจ้าหน้าที่สาธารณสุขลงความเห็นว่า การได้รับสารตะกั่วไม่ว่าจะในระดับใดถือว่าเป็นอันตรายทั้งสิ้น ตามที่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) กล่าวว่า
การสัมผัสสารตะกั่วในระดับต่ำที่ไม่ปรากฏอาการชัดเจน ซึ่งเคยพิจารณาว่ายังปลอดภัยนั้น ปัจจุบันเป็นที่รู้กันแล้วว่า สารตะกั่วก่อให้เกิดอันตรายต่อระบบร่างกายได้มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่สารตะกั่วมีผลต่อการพัฒนาระบบประสาทของเด็กนั้น จะทำให้เด็กมีระดับเชาวน์ปัญญา (Intelligence quotient หรือ IQ) ลดลง มีพฤติกรรมแปรปรวน เช่น สมาธิสั้นและมีพฤติกรรมต่อต้านสังคมมากขึ้น รวมทั้งเอาใจใส่ในการเรียนน้อยลง การสัมผัสสารตะกั่วยังทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง ความดันโลหิตสูง ไตพิการ ภูมิคุ้มกันเป็นพิษ (Immunotoxicity) และอวัยวะเจริญพันธุ์เป็นพิษ ผลกระทบที่เกิดต่อระบบประสาทจากสารตะกั่วเป็นพิษนั้น เชื่อกันว่าไม่อาจรักษาให้หายได้[11]
สตรีมีครรภ์กับเด็กเล็กคือผู้ที่มีความเสี่ยงต่ออันตรายจากพิษของสารตะกั่วเป็นพิเศษ โดยเป็นผลให้มีการคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักน้อยเมื่อแรกเกิด หรือทำลายการพัฒนาสมองของทารกในครรภ์ ทั้งนี้ ยังไม่มีการบ่งชี้ระดับสารตะกั่วในเลือดที่ไม่เป็นอันตรายต่อเด็ก[12]
ในสหรัฐศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ได้ลด “ระดับความปลอดภัย” ของสารตะกั่วในเลือดของเด็ก จาก 25 ไมโครกรัม เป็น 10ไมโครกรัม เมื่อปี 2543[13] ต่อมาในปี 2555 CDC ให้ข้อเสนอแนะต่อเจ้าหน้าที่อนามัยใหม่ว่า ควรดำเนินการดูแลรักษาเด็กที่พบว่ามีสารตะกั่วเทียบเท่าหรือมากกว่า 5 ไมโครกรัม ต่อโลหิตหนึ่งเดซิลิตร[14]
จากการตรวจเลือดตั้งแต่ปี 2541 ถึงปี 2551 ได้พบว่า ประชาชนที่อาศัยอยู่รอบบริเวณห้วยคลิตี้มีระดับสารตะกั่วในเลือดเพิ่มขึ้น แม้ว่าผลดังกล่าวจะแตกต่างกันตามเวลาในการตรวจเลือดว่าทำเมื่อไร แต่จากการศึกษาได้พบว่าผู้เข้ารับการตรวจมีสารตะกั่วในเลือดตั้งแต่ 10 ไมโครกรัม ถึง 50 ไมโครกรัม โดยมีอัตราเฉลี่ยประมาณ 20 ถึง 30 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร [15] ในปี 2545-2546 กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า มีเด็ก 235 คน มีสารตะกั่วในเลือดมากกว่า 25 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร (จากจำนวนเด็กที่เข้ารับการตรวจ 1558 คน) ใน ขณะที่ผู้ใหญ่นั้นพบว่ามี 83 คนที่มีสารตะกั่วในเลือดมากกว่า 40 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร (จากจำนวนผู้เข้ารับการตรวจ 93 คน) [16]
ผลงานวิจัยจากการสำรวจชาวบ้านในบริเวณห้วยคลิตี้บนและล่าง ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 2550 แสดงให้เห็นการเปรียบเทียบกับชาวบ้านในชุมชนที่ใกล้เคียงกันว่า ผู้ที่อยู่ใกล้บริเวณห้วยคลิตี้มีอาการที่แสดงให้เห็นว่ามีการสัมผัสกับสารตะกั่ว คนกลุ่มนี้มีผลคะแนนทดสอบ IQ ที่ค่อนข้างต่ำกว่า และมีอาการป่วยบ่อยกว่า เช่น อาการวิงเวียนศีรษะและอาเจียน ปวดในช่องท้อง ท้องผูก มีปัญหาในการใช้สมาธิ ปวดตามกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ และสูญเสียความทรงจำ[17]
การไม่ได้รับการรักษา
รัฐบาลมิได้ให้การเอาใจใส่ดูแลต่อผู้ที่ได้รับสารตะกั่วตามสมควร ในปี 2543 มีองค์การเอกชนคือ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชาวกะเหรี่ยง ได้เริ่มเข้าไปให้การดูแลรักษาสารตะกั่วเป็นพิษ ซึ่งต่อมากระทรวงสาธารณสุขได้เข้าไปร่วมด้วย (อาทิ การทำโลหะบำบัด หรือ Chelation therapy) เพื่อให้การดูแลรักษาผู้ที่มีสารตะกั่วในเลือดสูงมาก ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า ควรทำโลหะบำบัดเมื่อตรวจพบว่าเด็กมีสารตะกั่วในเลือดมากกว่า หรือเท่ากับ 45 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร เนื่องจากการบำบัดนี้จะไม่ได้ผลสำหรับระดับที่ต่ำกว่า [18]
เนื่องจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดและอำเภอไม่ได้แจ้งผลต่อผู้เข้ารับการตรวจเลือดทุกราย และไม่มีการรักษาดูแลเพื่อติดตามดูอาการให้แก่ผู้ที่ได้รับการแจ้งผลแต่อย่างใด [19] ด้วยเหตุนี้เองชาวบ้านบางคนจึง
ปฏิเสธการเข้ารับการตรวจเลือด ชาวบ้านหลายคนบอกกับฮิวแมน ไรท์ ว็อทช์ว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขยุติการเข้ามาตรวจระดับสารตะกั่วในเลือด ตั้งแต่ปี 2550-2551 [20]
สำหรับผู้ที่ได้รับการแจ้งผลการตรวจเลือดนั้น บางคนได้รับรู้ว่าสมาชิกในครอบครัวของเขาจะยังคงปลอดภัย หากสารตะกั่วในเลือดของเด็กอยู่ในระดับต่ำกว่า 25 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร และในผู้ใหญ่ต่ำกว่า 40 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร [21] มาตรฐานดังกล่าวปรากฎอยู่ในเอกสารที่แจ้งผลการตรวจเลือดสำหรับผู้ที่อยู่อาศัยในเขตห้วยคลิตี้ล่าง [22]
ยุติการสัมผัสสารตะกั่ว
ดังที่ได้กล่าวก่อนหน้านี้แล้วว่าศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ในสหรัฐ แนะนำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเอาใจใส่ดูแลเด็ก ที่ปรากฏจากผลการตรวจเลือดว่ามีสารตะกั่วมากกว่าหรือเทียบเท่ากับ 5 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร โดยเสนอแนะให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขตรวจหาแหล่งที่มาของสารตะกั่วในสิ่งแวดล้อม จัดการควบคุมหรือกำจัดแหล่งสารตะกั่ว และตรวจเลือดซ้ำอีกภายในเวลากี่สัปดาห์หรือกี่เดือน (ขึ้นอยู่กับระดับสารตะกั่วในเลือด) เพื่อให้รู้ว่าระดับสารตะกั่วมิได้เพิ่มขึ้นอีก[23]
เด็กเหล่านี้ควรได้รับการตรวจสอบว่าขาดธาตุเหล็กหรืออยู่ในภาวะขาดแคลนสารอาหารหรือ -
ทุพโภชนาการหรือไม่ เนื่องจากการได้รับธาตุเหล็ก
แคลเซียม และวิตามินซีไม่เพียงพอสามารถลดการดูดซึมสารตะกั่วที่เข้าสู่ร่างกายได้ [24]
การที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะเข้าไปกำจัดแหล่งสารตะกั่วนั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่งในกรณีของหมู่บ้านห้วยคลิตี้ล่าง เพราะแหล่งสำคัญของสารตะกั่วคือน้ำดื่มและอาหารโปรตีน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดพยายามให้ชาวบ้านหยุดบริโภคน้ำและปลาตลอดจนสัตว์น้ำอื่นๆ จากลำห้วย[25] ทว่าเป็นเรื่องยากสำหรับชาวบ้านหลายคนในเขตนี้ที่จะปฏิบัติตามคำแนะนำดังกล่าว เนื่องจากไม่สามารถหาน้ำจากแหล่งอื่นมาทดแทน หรือไปซื้อหาอาหารอย่างอื่นมาได้
ผู้ฟ้องคดีที่ได้รับเงินชดเชยตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ร่วมกันบริจาคเงินส่วนใหญ่ เพื่อเป็นทุนขยายท่อส่งน้ำประปาเข้ามายังบ้านเรือนของชาวบ้านในหมู่บ้าน แต่ก็ยังไม่สามารถช่วยให้ทุกครัวเรือนได้ใช้น้ำประปาโดยทั่วถึง ท่อเก่าและข้อต่อของระบบประปาแตกอยู่เสมอ ทำให้ชาวบ้านไม่มีทางเลือกนอกจากจะต้องใช้และบริโภคน้ำที่มีสารพิษจากลำห้วย ชาวนาทั้งชายและหญิงต่างต้องดื่มน้ำจากลำห้วยเมื่อเดินทางจากหมู่บ้านไปที่ทุ่งนา
ในกรณีของห้วยคลิตี้นี้ การป้องกันมิให้สัมผัสต่อสารตะกั่วจำเป็นต้องมีการทำความสะอาด โดยทั่วถึงทั้งบริเวณ ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด
ประวัติแห่งความล้มเหลวของการทำความสะอาด
สาเหตุที่ทำให้การทำความสะอาดขาดประสิทธิภาพและไม่ทั่วถึง เนื่องมาจากการที่กรมควบคุมมลพิษมีคำสั่งเมื่อปี 2542 ให้บริษัทผลิตสารตะกั่ว คือบริษัท ตะกั่วคอนเซนเทรท (ประเทศไทย) จำกัด ทำการขุดลอกลำห้วยเป็นระยะทาง 2.5 กิโลเมตรเพื่อกำจัดสารตะกั่วที่ตกตะกอนอยู่ให้หมดสิ้นไป ต่อมาทางกรมฯ ได้พบว่า บริษัทดังกล่าวได้นำเอาตะกอนสารตะกั่วจำนวนมากไปทิ้งไว้ตามริมลำห้วย ในบ่อดินฝังกลบที่ขุดไว้โดยไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นเหตุให้สารพิษอาจถูกชะล้างและไหลกลับลงมาที่ลำห้วยใต้ [26]
ดังนั้น ในปี 2545 ทางกรมฯ จึงได้สร้างเขื่อนกั้นลำห้วยไว้สองเขื่อน เพื่อป้องกันมิให้เกิดตะกอนของสารตะกั่วไหลลงมาที่ปลายน้ำ แต่จากการศึกษาโดยนักวิชาการปรากฏว่า เขื่อนไม่สามารถทำหน้าที่ดังกล่าวได้ [27]
ในเดือนมกราคม 2544 เจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษผู้หนึ่งได้กล่าวผ่านสื่อของไทยว่า มีการจัดทำแผนแม่บทเพื่อทำความสะอาดห้วยคลิตี้ โดยกำหนดให้มีการขุดลอกลำน้ำต่อเนื่องกันเป็นเวลาสี่ถึงห้าปี แล้วนำตะกอนตะกั่วไปฝังไว้ในหลุมฝังกลบ [28]
อย่างไรก็ตามไม่มีการปฏิบัติตามแผนแม่บทหรือดำเนินการใดๆ แต่กลับปรากฏว่าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลกรมควบคุมมลพิษและกำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมได้ประกาศอย่างเป็นทางการ
ในปี 2548 เรื่องนโยบาย “การฟื้นตัวโดยธรรมชาติ” ของห้วยคลิตี้ [29] ซึ่งเป็นนโยบายที่ศาลปกครองสูงสุดให้ความเห็นว่า เป็นการละเลยให้ชาวบ้านต้องดื่มน้ำที่มีสารพิษเจือปนต่อไปอีกยาวนาน โดยไม่อาจกำหนดเวลาได้[30]
ตามข้อผูกพันภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รัฐบาลไทยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดให้ทำความสะอาดห้วยคลิตี้โดยทันที ประเทศไทยเป็นภาคีของข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights) และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของเด็ก (Convention on the Rights of the Child) สนธิสัญญาทั้งสองฉบับนี้ ทำให้รัฐบาลมีพันธกรณีที่จะต้องปกป้องคุ้มครองสุขภาพของพลเมือง โดยมุ่งเน้นที่เด็กเป็นสำคัญ [31] ตามกฎหมายระหว่างประเทศนั้น สิทธิว่าด้วยสุขภาพหมายรวมถึงสิทธิที่ต้องได้รับการเยียวยาจากการถูกละเมิดสิทธิด้วย [32]
น้ำดื่มและการสุขาภิบาลที่ปลอดภัยคือสิทธิมนุษยชนอันเนื่องด้วยสิทธิในการมีมาตรฐานการดำรงชีวิตที่พอเพียง ตามที่กล่าวไว้ใน (นอกจากสนธิสัญญาฉบับอื่นๆ) ข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม [33] เมื่อเดือนกรกฎาคม 2553 ประเทศไทยออกเสียงลงมติในที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ เพื่อ
“(รับรอง) สิทธิว่าด้วยการมีน้ำดื่มและการสุขาภิบาลที่ปลอดภัยและสะอาด ซึ่งถือว่าเป็นสิทธิมนุษยชนที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตด้วยความสำราญและด้วยสิทธิมนุษยชนทั้งปวง” [34]
ปัจจุบันมีรายงานการศึกษาทางวิชาการ ว่าด้วยการทำความสะอาด[35] แต่ไม่ว่าทางกรมฯ จะดำเนินการอย่างไร การทำความสะอาดก็จะต้องทำอย่างครบถ้วนตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด โดยต้องมีการกำหนดแผนงานด้วยการปรึกษาหารืออย่างใกล้ชิดกับชาวบ้านในท้องที่ รวมทั้งต้องมีการเจรจาต่อรองกันด้วยความเปิดเผยและโปร่งใส
ทั้งนี้ ต้องมีการเข้าร่วมในวงกว้างของชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องพยายามให้สตรีและเด็กเข้ามีส่วนร่วมในการปรึกษาหารือนี้ด้วย
เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้ชาวบ้านต้องเผชิญปัญหาสาหัสด้วยการสัมผัสสารตะกั่ว แผนดังกล่าวควรคำนึงถึงการเผชิญปัญหาเรื่องแหล่งอาหารและน้ำดื่มด้วย รวมทั้งผลกระทบในด้านต่างๆ จากปัญหาดังกล่าวที่จะมีต่อสตรี เด็ก และผู้พิการ ในช่วงของการลงมือทำความสะอาดอย่างจริงจัง และกำหนดให้มีทางเลือกเพื่อช่วยลดผลกระทบในทางลบ
กรณีห้วยคลิตี้คือโอกาสดีที่กรมควบคุมมลพิษแห่งประเทศไทย จะกำหนดแผนปฏิบัติการอันเป็นต้นแบบที่สามารถลอกเลียนไปใช้กับท้องที่อื่นในประเทศได้ การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของไทย ทำให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมที่ขยายไปทั่ว ในท้องถิ่นอื่นที่เกิดมลภาวะจากอุตสาหกรรมซึ่งคุกคามต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตของผู้อยู่อาศัยในบริเวณนั้น กรมควบคุมมลพิษย่อมต้องเผชิญกับปัญหาที่คล้ายคลึงกัน หรือเกี่ยวข้องกันกับปัญหาที่ต้องหาทางออกให้ได้ที่ห้วยคลิตี้
ในปี 2554 กรมทรัพยากรเหมืองแร่ แห่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับมอบหมายให้กำหนดยุทธศาสตร์ในการประเมินสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจว่าจะอนุญาตให้มีการทำเหมือง แร่ ตะกั่วในจังหวัดกาญจนบุรีอีกหรือไม่ [36]
ฮิวแมน ไรท์ ว็อทช์ เชื่อว่าการทำความสะอาดห้วยคลิตี้โดยครอบคลุมทุกด้านต้องเร่งดำเนินการ ก่อนหน้าที่ประเทศไทยจะสามารถประเมินผลเพื่อเปรียบเทียบระหว่างต้นทุนและประโยชน์ที่จะได้รับ จากการเปิดเหมืองแร่ตะกั่วอีกครั้งหนึ่งในจังหวัดกาญจนบุรี
ชาวชุมชนห้วยคลิตี้ล่าง ยังคงต้องสัมผัสกับพิษสารตะกั่วต่อไป ดังที่เคยสัมผัสมาแล้วหลายทศวรรษ มีคนจำนวนไม่น้อยที่ต้องทนทุกข์ไปตลอดชีวิตจากผลร้ายที่เกิดกับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี โดยไม่สามารถหลีกพ้นจากแหล่งสารพิษที่เป็นต้นเหตุพ่อแม่หลายคนต้องกลัดกลุ้มและทุกข์ร้อนที่ได้รู้ว่าตนกำลังเลี้ยงลูกอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่คุกคามอนาคตของเด็ก ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลไทยจะต้องดำเนินการในเรื่องที่ละเลยจนล่าช้ามานานเช่นนี้ เพื่อปกป้องคุ้มครองสุขภาพของชุมชนในถิ่นนี้
ผู้ได้รับผลกระทบ
1. สมชัย
สมชาย ชาวนาวัย 60 เป็นหนึ่งในโจทย์จำนวน 22 คน ผู้ชนะคดีที่ยื่นฟ้องรัฐบาล เขามีครอบครัวและมีลูกเจ็ดคน ลูกคนที่หกซึ่งเป็นเด็กชายวัยรุ่น เป็นผู้พิการทางปัญญา และต้องเข้าเรียนในโรงเรียนสำหรับเด็กผู้ต้องรับการศึกษาพิเศษในตัวเมืองที่อยู่ไม่ไกลนัก
ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาแล้ว แต่พวกเราจะทำอย่างไรได้ถ้าเขาไม่ทำตามคำสั่งศาล ก่อนคำตัดสินของศาลและหลังคำตัดสิน กรมควบคุมมลพิษมาตรวจสอบระดับสารตะกั่วในดินตะกอน เขาก็ยังมาเป็นประจำทุกเดือน แต่มาทำงานวิจัยเท่านั้น เขาควรหยุดการวิจัยและลงมือทำความสะอาด ได้แล้ว
2. จันธิรา
จันธิราเป็นแม่ของลูกสามคน ไม่สบายบ่อยด้วยอาการปวดในช่องท้องและกล้ามเนื้อ เธอเป็นกังวลมากกับสุขภาพของลูกชายวัย 15 ปี
หมอของรัฐบาลบอกฉันว่า สารตะกั่วในตัวลูกชายยังไม่สูงเกินขีดที่เป็นอันตราย แต่ฉันไม่เข้าใจว่าคุณหมอหมายความว่าอย่างไร แล้วก็ยังอดเป็นห่วงลูกไม่ได้ ลูกชายฉันมีนิ้วมือเกินข้างละนิ้ว และมีหัวแม่เท้าเกินทั้งสองเท้า ตั้งแต่เขาอายุราว 5 เดือนจนถึงสองขวบ เขาท้องเสียตลอดเวลา เขาเรียนหนังสือช้า ช้ากว่าเพื่อนๆ ที่อายุเท่ากัน ลูกชายฉันกินน้อย และไม่ค่อยหิว เขาวิ่งเร็วๆ ไม่ได้ เล่นกีฬาไม่ได้ เขาอ่อนแอ และแรงน้อยเสมอ
3. มะอองเส่ง
มะอองเส่ง เป็นสตรีวัยต้น 50 ปี และสูญเสียการมองเห็นตอนช่วง ปลาย ปี 2530
ต่อมาในปี 2545 แพทย์ที่กรุงเทพวินิจฉัยว่า เธอป่วยด้วยสารตะกั่วในร่างกายที่มีระดับสูง ขณะนี้เธออยู่กับมารดาและมีลูกชายวัยรุ่นสองคน
ฉันกินปลาเวลาที่เราไม่มีเงิน และมีอาหารอื่นบ้างเล็กน้อย อาจจะเดือนละสองสามครั้ง ฉันกลัว (สารตะกั่วเป็นพิษ) หรือเปล่าไม่ใช่ปัญหา แต่อยู่ที่ว่าฉันจะมีอะไรกินบ้างไหม เวลาไม่มีน้ำประปาเพราะหัวต่อท่อหัก เราก็มีแต่น้ำในห้วยสำหรับดื่มกิน เมื่อเดือนที่แล้วไม่มีน้ำประปาเลย ทุกคนที่นี่ก็ต้องมาใช้น้ำในห้วย เพื่อดื่ม และใช้หุงหาอาหาร
4. มินห์
มินห์ อายุ 20 ปีปลายๆ มาอยู่ที่ห้วยคลิตี้ล่าง เมื่อแต่งงานกับชาวบ้านคนหนึ่ง เขามีลูกด้วยกันสองคน คนโตเป็นผู้ชายอายุ 7 ขวบ และมีลูกสาวคนเล็กอายุ 9 เดือน บ้านของมินห์อยู่ในเขตที่ยังไม่มีน้ำประปาใช้ เหมือนกับครัวเรือนอื่นๆในเขตเดียวกัน
ฉันเป็นห่วงว่าลูกๆ จะเป็นอันตรายจากน้ำในห้วย โดยเฉพาะลูกชายที่ตัวเล็กกว่าอายุมาก และไม่สบายบ่อยๆ เขาผอมและตัวซีด เรียนหนังสือช้ามาก บางครั้งเขาไม่เข้าใจว่าฉันพูดว่าอะไร หรือไม่เข้าใจที่ครูพูด ฉันกังวลว่าที่มีปัญหาอย่างนี้เป็นเพราะสารตะกั่วใช่ไหม ฉันอยากให้หน่วยงานของรัฐบาลที่รับผิดชอบมาทำความสะอาดลำห้วย
เมื่อตอนที่ลูกชายฉันยังเล็กๆ เขาได้รับการตรวจเลือด ฉันถามเจ้าหน้าที่ว่าผลตรวจเป็นอย่างไร เมื่อเขากลับมาที่นี่หลังจากนั้นอีกปีหนึ่ง เขาบอกว่ายังไม่รู้ผล ชาวบ้านคนอื่นๆ ก็ยังไม่รู้ผลตรวจเหมือนกัน หลังจากที่ลูกชายฉันตรวจเลือดครั้งแรกแล้ว ฉันก็ไม่ยอมให้เขามาเจาะเลือดลูกไปอีก เพราะฉันยังไม่เคยเห็นผลการตรวจครั้งแรกเลย
5. กำธร
กำธรซึ่งปลูกข้าวและข้าวโพด ต้องทนทุกข์เพราะปวดศีรษะและปวดตามข้อต่อที่หัวไหล่และหลัง เขาเป็นหนึ่งในจำนวนผู้ฟ้องคดี 22 คนที่ชนะคดีจากการยื่นฟ้องกรมควบคุมมลพิษเมื่อปี 2556 เขายังไม่เคยตรวจเลือดเพื่อหาสารตะกั่วเลยตั้งแต่ปี 2551 เขาบอกว่าไม่เคยได้รับรายงานผลการตรวจเลือด
เมื่อปี 2548 รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมมาที่นี่ พร้อมกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลอีกหลายคน และขอให้พวกเราถอนคำฟ้อง รัฐมนตรีบอกว่า “ปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นฟูตัวเอง” ผมถามเขาว่าการฟื้นฟูตัวเองของธรรมชาติจะใช้เวลานานเท่าไร รัฐมนตรีหันไปหาอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เพื่อหา คำตอบ แต่อธิบดีก็ตอบไม่ได้ ชาวบ้านดีใจมากเมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา แต่รัฐบาลต่อสู้กับเราด้วยการถ่วงเวลาในการทำงานตลอดมา เมื่อไ ห ร ่ รัฐบาลจะลงมือทำงานเสียที
6. ยะเสอะ
ยะเสอะ เป็นชาวนาวัยกลาง 60 ย้ายมาอยู่หมู่บ้านห้วยคลิตี้ล่าง เมื่ออายุราว 20 ปี หลังจากแต่งงานกับสาวชาวบ้าน เขาต้องทรมานกับอาการปวดศีรษะเป็นประจำ รู้สึกเหมือนจะเป็นลม และปวดเมื่อยขา หลัง และแขนมานานกว่า 30 ปีแล้ว
หมอบอกกับผมว่า อย่าใช้น้ำในลำห้วย แต่ว่าเราทำไม่ได้ ผมต้องออกไปอยู่ที่นาครั้งละสามอาทิตย์ทุกเดือน เมื่อถึงเวลาปลูกข้าวหรือเก็บเกี่ยว ผมมีกระท่อมเล็กๆ อยู่ที่นั่นและต้องใช้น้ำในห้วย ไม่ว่าจะทำอาหาร ดื่มกินหรือว่าซักล้าง ผมยังต้องจับปลามากินด้วย ในเวลาช่วงอื่นของแต่ละปี ผมต้องออกไปที่ท้องนาในตอนกลางวัน และเมื่อดื่มน้ำที่เอาติดไปด้วยหมดแล้ว ผมก็ต้องดื่มน้ำจากห้วย
ผมเข้าร่วมฟ้องรัฐบาลกับศาลก็เพราะกรมควบคุมมลพิษ ต้องการให้ธรรมชาติ “ฟื้นฟูตัวเอง” แต่ถ้าเรารอให้ธรรมชาติฟื้นฟูตัวเอง อาจต้องใช้เวลาถึง 100 ปี หรือนานกว่านั้น แล้วก็ยังไม่สะอาดด้วย
ข้อเสนอแนะ
ต่อกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- ปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด โดยร่วมกันจัดหางบประมาณมาใช้ดำเนินการป้องกันในแต่ละเรื่องตามที่กำหนด เพื่อป้องกันการสัมผัสสารตะกั่ว ด้วยการทำความสะอาดห้วยคลิตี้
ต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
- ยกเลิกนโยบาย “การฟื้นฟูโดยธรรมชาติ” ของห้วยคลิตี้ และกำหนดนโยบายตามกลยุทธ์ในการทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมทุกด้านรอบบริเวณห้วยคลิตี้ ตามระยะเวลาที่เหมาะสม
ต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- ปฏิบัติตามกลยุทธ์ในการทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมทุกด้าน รอบบริเวณห้วยคลิตี้ตามระยะเวลาที่เหมาะสม
- จัดให้มีเวทีสาธารณะเพื่อการมีส่วนร่วมและการปรึกษาหารือกับประชาชนในเรื่องการพัฒนา เพื่อมุ่งประโยชน์ในวงกว้างอย่างสม่ำเสมอ ปฏิบัติตามกลยุทธ์ในการทำความสะอาดและการติดตามผล รวมทั้งกำหนดให้มีมาตรการพิเศษเพื่อให้กลุ่มคนที่อาจได้รับผลกระทบโดยตรง หรือไม่ได้รับความสนใจเข้ามีส่วนร่วมด้วย อาทิ สตรี เด็ก ผู้สูงวัย และคนพิการ
- เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารตะกั่วในระดับร้ายแรง กลยุทธ์ดังกล่าวควรเตรียมแก้ปัญหาเรื่องแหล่งอาหารและน้ำดื่มในระหว่างการทำความสะอาดห้วย รวมทั้งคำนึงถึงผลกระทบดังกล่าวที่อาจเกิดกับสตรี เด็ก ผู้สูงวัย และคนพิการ ตลอดจนเตรียมทางเลือกเพื่อช่วยลดผลกระทบทางลบดังกล่าวด้วย
- จัดทำโครงการทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมรอบด้าน เพื่อแก้ปัญหาการก่อมลภาวะในแหล่งอุตสาหกรรมอื่น ไม่ว่าจะเป็นโรงงานที่ทิ้งร้างไว้หรือยังทำการอยู่ ซึ่งคุกคามและเป็นภัยต่อสุขภาพมนุษย์ในภูมิภาคอื่นของประเทศไทย
ต่อกระทรวงสาธารณสุข
- ทบทวนมาตรฐานปัจจุบันว่าด้วยระดับสารตะกั่วในเลือด เพื่อบ่งชี้อันตรายของสารตะกั่ว ในระดับที่ต่ำกว่ามาตรฐานดังกล่าว
- เริ่มทำการตรวจเลือดครั้งใหม่ให้ผู้อยู่อาศัยรอบบริเวณห้วยคลิตี้ พร้อมทั้งกำหนดให้มีมาตรฐานในการควบคุมคุณภาพ และกำกับดูแล เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้เข้ารับการตรวจเลือดแต่ละรายต้องได้รับการแจ้งผลในระยะเวลาที่ควรจะได้รับ และเข้าใจด้วยว่าผลการตรวจเป็นอย่างไร
- จัดให้มีการบริการก่อนการคลอดสำหรับสตรีมีครรภ์ และเด็กหญิงที่อยู่อาศัยในบริเวณรอบห้วยคลิตี้ รวมทั้งจัดให้มีการตรวจติดตามผลโดยสมัครใจ
- จัดให้ผู้ที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาทางการแพทย์ในบริเวณและโดยรอบห้วยคลิตี้ มีโอกาสเข้าถึงบริการดังกล่าว เพื่อให้มีการดูแลสารตะกั่วเป็นพิษเป็นรายบุคคล กำหนดให้มีการตรวจติดตามผลระดับสารตะกั่วในเลือด การขาดธาตุเหล็ก พัฒนาการทางสมองและระบบประสาท รวมทั้งภาวะโภชนาการ
ต่อกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
- เมื่อการตรวจเลือดให้บุคคลที่อยู่ในเขตและโดยรอบบริเวณห้วยคลิตี้แสดงให้เห็นว่า
- มีระดับสารตะกั่วสูงขึ้น ต้องจัดบริการทางสังคมที่เหมาะสมให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ผู้มีหรืออาจมี ความบกพร่องทางระบบประสาทและการรับรู้ อันเนื่องจากภาวะสารตะกั่วเป็นพิษ บริการดังกล่าวรวมทั้งการให้การศึกษา การจัดหางาน และความช่วยเหลือทางการเงิน ตามบทบัญญัติในกฎหมายว่าด้วย การส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้พิการ พ.ศ. 2550
[1] กรมควบคุมมลพิษ เป็นหน่วยงานในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเสนอรายงานประจำปีเรื่องคุณภาพสิ่งแวดล้อม ต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พร้อมทั้งกำกับดูแลนโยบายสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
[2]นายยะเสอะ นาสวนสุวรรณ และผู้ฟ้องคดีร่วมอีก 21 คน กับกรมควบคุมมลพิษ ศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่อ.597/2551 คำตัดสิน เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555ตามข้อมูลในไฟล์ ฮิวแมนไรท์ว็อทช์
[3]ดูจาก, Yossaran Suphan and Supoj Kaewkasi, “ผู้ประกอบการเหมืองแร่ตะกั่ว ได้รับคำสั่งให้จ่ายค่าชดเชยให้ชาวบ้าน, เพื่อทำความสะอาดห้วยคลิตี้,” เดอะ เนชั่น, 21 ตุลาคม 2553, http://www.nationmultimedia.com/2010/12/21/national/Lead-mine-operator-ordered-to-compensate-villagers-30144835.html (ใช้ข้อมูลเมื่อ 22 ตุลาคม 2557)
[4]ดูจาก, ผอ.ทั่วไปของกรมควบคุมมลพิษ, Wichian Jungrungreon, กล่าวใน Pongphon Sarnsamak และ Tanpisit Lerdbamrungchai, “ชาวบ้านคลิตี้ต้องการให้ห้วยถูกทำความสะอาดโดยเร็ว,” เดอะ เนชั่น, 30 มีนาคม 2556, http://www.nationmultimedia.com/national/Klity-villagers-want-creek-cleaned-quickly-30203018.html (ใช้ข้อมูลเมื่อ 22 ตุลาคม 2557).
[5]กรมควบคุมมลพิษ “แผนปฏิบัติการเพื่อแก้ปัญหาพิษสารตะกั่วที่ห้วยคลิตี้ ปี 2556-2559” ไม่มีวันที่ (แปลโดยฮิวแมนไรท์ว็อทช์) ตามข้อมูลไฟล์ของฮิวแมนไรท์ว็อทช์
[6]กรมควบคุมมลพิษ “ผลการตรวจวัดสิ่งแวดล้อมที่ห้วยคลิตี้, ตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี 11-17 มีนาคม 2556” “ผลการตรวจวัดสิ่งแวดล้อมที่ห้วยคลิตี้3-8 มิถุนายน 2556” “ผลการตรวจวัดสิ่งแวดล้อมที่ห้วยคลิตี้ 9-4 กันยายน 2556” “ผลการตรวจวัดสิ่งแวดล้อมที่ห้วยคลิตี้ 25-30 พฤศจิกายน 2556” http://www.pcd.go.th/Download/Pollution-kity.cfm (ใช้ข้อมูลเมื่อ 22 ตุลาคม 2557).
[7]ในการจัดเก็บข้อมูลสำหรับเอกสารฉบับนี้ นักวิจัยอาวุโสคนหนึ่งของฮิวแมนไรท์ว็อทช์ไปปฏิบัติงานที่ห้วยคลิตี้ ระหว่างเดือนกรกฎาคม และสิงหาคม 2557 เพื่อสัมภาษณ์ผู้ที่อยู่อาศัยในหมู่บ้านห้วยคลิตี้ล่าง 14 คน รวมทั้งพูดคุยกับบุคคลอีก 12 คน จากกลุ่มประชาสังคม สำนักงานกฎหมาย และมหาวิทยาลัย ผู้มีความรู้และประสบการณ์เรื่องห้วยคลิตี้ฮิวแมนไรท์ว็อทช์ สัมภาษณ์บุคคลทั้งหมดตัวต่อตัว โดยมีล่ามภาษาไทย ผู้ให้สัมภาษณ์ทุกคนยินยอมให้เราอ้างถึงคำพูดและภาพ ซึ่งมีการเปลี่ยนชื่อ และไม่กล่าวถึงรายละเอียดของผู้ที่เราสัมภาษณ์ ตามคำขอและเพื่อความปลอดภัย บางท่านยินยอมให้เราบอกชื่อและให้ข้อมูลทั้งหมดตามรายงานนี้
[8]กรมอนามัยและบริการมนุษย์สำนักงานสำหรับลงทะเบียนสารพิษและโรคแห่งสหรัฐ, “รายละเอียดทางพิษวิทยาของสารตะกั่ว,” สิงหาคม 2550, http://www.atsdr.cdc.gov/toxprofiles/tp.asp?id=96&tid=22 (ใช้ข้อมูลเมื่อ 23 ตุลาคม 2557), p. 21.
[9]กรมอนามัยและบริการมนุษย์สำนักงานสำหรับลงทะเบียนสารพิษและโรคแห่งสหรัฐ, “กรณีศึกษาในเวชศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม (CSEM): ความเป็นพิษของสารตะกั่ว,” ปรับปรุง, http://www.atsdr.cdc.gov/csem/csem.asp?csem=7 (ใช้ข้อมูลเมื่อ 22 ตุลาคม 2557).
[10]องค์กรอนามัยโลก, “สารพิษแร่ตะกั่วในวัยเด็ก,” 2010, http://www.who.int/ceh/publications/childhoodpoisoning/en/ (ใช้ข้อมูลเมื่อ 22 ตุลาคม 2557), p. 53.
[11]องค์กรอนามัยโลก, “ใบแสดงความคิดเห็น: สารพิษแร่ตะกั่วและสุขภาพ,” 2557, http://www.who.int/mediacentre/factsheets/fs379/en/# (ใช้ข้อมูลเมื่อ 23 ตุลาคม 2557).
[12]กรมอนามัยและบริการมนุษย์สำนักงานสำหรับลงทะเบียนสารพิษและโรคแห่งสหรัฐ, “รายละเอียดทางพิษวิทยาของสารตะกั่ว,” สิงหาคม 2550, http://www.atsdr.cdc.gov/toxprofiles/tp13.pdf (ใช้ข้อมูลเมื่อ 23 ตุลาคม 2557), p. 10.
[13]Helen Binns et al., “การตีความและผู้จัดการระดับตะกั่วในเลือดน้อยกว่า 10 ไมโครกรัม / เดซิลิตรในเด็กและลดการรับสารตะกั่วในวัยเด็ก:คำแนะนำของศูนย์ควบคุมโรคและคณะกรรมการที่ปรึกษาการ
ป้องกันพิษตะกั่วในวัยเด็ก,”Pediatrics, 120(2007): 1285-1298 ใช้ข้อมูลเมื่อ 22 ตุลามคม 2557, doi: 10.1542/peds.2005-1770.
[14]คณะกรรมการที่ปรึกษาสำหรับเด็กเรื่องการป้องกันพิษสารพิษตะกั่วของสหรัฐ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค, “ค่าระดับต่ำของสารตะกั่วที่ได้รับเป็นอันตรายต่อเด็ก: การเรียกร้องใหม่สำหรับการป้องกันเบื้องต้น,” 4 มกราคม 2555, p. x, http://www.cdc.gov/nceh/lead/acclpp/final_document_010412.pdf (ใช้ข้อมูลเมื่อ10 ตุลาคม 2557).
[15]ดูตัวอย่างจากผลการวัดระดับสารตะกั่วในโลหิตของชาวบ้านที่ห้วยคลิตี้ (ปี 2542 และ 2543) โดยกระทรวงสาธารณสุข จากภาสนันทน์ อัศวรักษ์ “การกำหนดมาตรการลดผลกระทบของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ : บทเรียนจากห้วยคลิตี้ล่าง จังหวัดกาญจนบุรี” (Ph. D. diss., มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์, 2555) หน้า 59 (จากไฟล์ของฮิวแมนไรท์ว็อทช์)
[16]ผลการทดสอบของกระทรวงสาธารณสุข ตามบันทึกของคณะอนุกรรมการกำกับดูแลการแก้ปัญหาสารตะกั่วปนเปื้อนที่ห้วยคลิตี้ “บันทึกการประชุมครั้งแรก” 20 มีนาคม (แปลโดยฮิวแมนไรท์ว็อทช์) ดูจากไฟล์ฮิวแมนไรท์ว็อทช์
[17]จิตรพรรณ ภูษาภักดีภพและอื่นๆ., “การประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้พื้นที่เหมืองตะกั่ว: กรณีศึกษาหมู่บ้านคลิตี้จังหวัดกาญจนบุรีประเทศไทย,” เอเชียตะวันออกเฉียงใต้วารสารเวชศาสตร์เขตร้อนและการสาธารณสุข, 38(2007):168-77, ใช้ข้อมูลเมื่อ 23 ตุลาคม 2557, https://www.google.com/url?sa=t&rct=j&q=&esrc=s&source=web&cd=2&cad=rja&uact=8&ved=0CCkQFjAB&url=http%3A%2F%2Fwww.researchgate.net%2Fpublication%2F6297483_Health_risk_assessment_of_villagers_who_live_near_a_lead_mining_area_a_case_study_of_Klity_village_Kanchanaburi_Province_Thailand%2Flinks%2F0046352340a6fa7413000000&ei=9F9qVI7fBrOasQSv64DIDA&usg=AFQjCNFUNv3MUhy5INjmt_Tf3Fz3Q33Tag&sig2=0GxcsjIRx7jl6TlVe_nqnA&bvm=bv.79908130,d.cWc.
[18]ศูนย์การป้องกันและควบคุมโรคแห่งสหรัฐ, “ใบแสดงความคิดเห็นค่าระดับของสารตะกั่วในเลือดของเด็ก,” 2557, www.cdc.gov/nceh/lead/acclpp/lead_levels_in_children_fact_sheet.pdf (ใช้ข้อมูลเมื่อ 21 ตุลาคม 2557).
[19]บุคคลเหล่านี้บอกฮิวแมนไรท์ว็อทช์ว่า ตัวเองหรือสมาชิกในครอบครัวรับการตรวจเลือดเพื่อหาสารตะกั่ว แต่ไม่ได้รับแจ้งผล ฮิวแมนไรท์ว็อทช์สัมภาษณ์ มะอองเส่ง “วันนิ” “พรุนนิ” กัมธร ตองโซ ยะเซอร์ และมินห์ ที่ห้วยคลิตี้กรกฏาคมและสิงหาคม 2557 บุคคลกลุ่มนี้บอกฮิวแมนไรท์ว็อทช์ว่า ไม่มีการรักษาหรือดูแลทางการแพทย์หลังจากรู้ผลการตรวจ ฮิวแมนไรท์ว็อทช์ สัมภาษณ์สัมปอง “วันนิ” สมชาย ยะเซอร์ และมินห์ ที่ห้วยคลิตี้ กรกฎาคมและสิงหาคม 2557
[20]บุคคลเหล่านี้บอกฮิวแมนไรท์ว็อทช์ ไม่มีการตรวจเลือดชาวบ้านเพื่อดูสารตะกั่วในปี 2550-2551 ผู้ให้สัมภาษณ์คือ มะอองเส่งสัมปอง “ซับตา” “วัน นิ” สมชาย และกัมธร ที่ห้วยคลิตี้ กรกฎาคมและสิงหาคม 2557
[21]ฮิวแมนไรท์ว็อทช์ สัมภาษณ์ สมปองและจันจิรา ที่ห้วยคลิตี้ กรกฎาคมและสิงหาคม 2557
[22]แบบฟอร์มผลการทดสอบ ไม่มีวันที่ ฮิวแมนไรท์ว็อทช์ ได้ดูเมื่อกรกฎาคม 2557
[23]คณะกรรมการที่ปรึกษาสำหรับเด็กเรื่องการป้องกันพิษสารพิษตะกั่วของสหรัฐ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค, “ค่าระดับต่ำของสารตะกั่วที่ได้รับเป็นอันตรายต่อเด็ก: การเรียกร้องใหม่สำหรับการป้องกันเบื้องต้น,” 4 มกราคม 2555, pp. x-xi.
[24]คณะกรรมการที่ปรึกษาสำหรับเด็กเรื่องการป้องกันพิษสารพิษตะกั่วของสหรัฐ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค, “ค่าระดับต่ำของสารตะกั่วเป็นอันตรายต่อเด็ก: การเรียกร้องใหม่สำหรับการป้องกันเบื้องต้น,” 4 มกราคม 2555,
p. x.
[25]ตัวอย่างเช่น ในแบบฟอร์มแจ้งผลการทดสอบที่มอบให้บางคนมีคำแนะนำให้ “หยุดการบริโภคน้ำ และสัตว์น้ำจากห้วยคลิตี้” สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรีแบบผลการทดสอบ ไม่มีวันที่ ฮิวแมนไรท์ว็อทช์ ได้ดู เมื่อ สิงหาคม 2557
[26]กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม “รายงานภาวะมลพิษของประเทศไทย” 2552 หน้า 7.
[27]ปวีณา พานิชยพิเชษและอื่นๆ.,
“ การประเมินความสามารถในการตรวจสอบของเขื่อนหินเพื่อป้องกันการขนส่งของตะกอนตะกั่วที่ปนเปื้อนในห้วยคลิตี้ ประเทศไทย,” วารสารจีนแห่งธรณีวิทยา 25(2006): 119-120, ใช้ข้อมูลเมื่อ 23 ตุลาคม 2557,doi: 10.1007/BF02839968.
[28]โสภณ ตะติโชติพันธุ์ ผอ.กองตรวจมลพิษ กรมควบคุมมลพิษ, กล่าวใน Atiya Achakulwisut, “แม่น้ำตาย,” หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์, 30 มกราคม 2544, http://www.bangkokpost.com/outlookwecare/300101_Outlook01.html (ใช้ข้อมูลเมื่อ 23 ตุลาคม 2557).
[29]กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม “รายงานภาวะมลพิษของประเทศไทย” 2548 หน้า 110 การฟื้นฟูโดยธรรมชาติหมายถึง การเบาบางลงโดยธรรมชาติ หรือการตรวจติดตามการเบาบางลงโดยธรรมชาตินั้น เป็นวิธีทำความสะอาดสถานที่ปนเปื้อนมลพิษซึ่งยอมรับได้ และเป็นกระบวนการของธรรมชาติที่ทำให้สารพิษในดินและน้ำใต้ดินลดความเข้มข้นลงด้วย ตามความเห็นของสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐ “(การฟื้นฟูโดยธรรมชาติ) เป็นกระบวนการที่เลือกปฏิบัติ เมื่อมีการกำจัดแหล่งสารปนเปื้อน จนเหลือสารที่ปะปนอยู่ในดิน หรือน้ำใต้ดินเพียงเจือจาง โดยที่ระยะเวลาในการฟื้นฟูโดยธรรมชาตินั้น ต้องเหมาะสมเมื่อเปรียบเทียบกับวิธีทำความสะอาดที่ได้ผลวิธีอื่น” (US) สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐ, “คู่มือประชาชนเพื่อใช้ในการตรวจสอบการลดทอนธรรมชาติ,” 2555, http://www.clu-in.org/techfocus/default.focus/see/Natural_Attenuation/cat/Overview/ (accessed 13 พฤศจิกายน 2557).
[30]นายยะเสอะ นาสวนสุวรรณ และคนอื่นอีก 21 คน กับ กรมควบคุมมลพิษ ศาลปกครองสูงสุด คดีที่ Q597/2551 คำพิพากษา
[31]ข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม (ICESCR) เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 1966 G.A. Res. 2200 A (XXI), 21 U.N. GAOR Supp. (No. 16) at 49, U.N. Doc. A/6316 (1966), 993. U.N. T.S. 3, มีผลบังคับใช้วันที่ 3 มกราคม ค.ศ. 1976 เข้าร่วม โดยประเทศไทย วันที่ 5 กันยายน ค.ศ. 1999, มาตรา 12; อนุสัญญาสิทธิของเด็ก (CRC) เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1989G.A. Res. 44/25, annex, 44 U.N. GAOR Supp. (No 49) at 167, U.N. Doc. A/44/49 (1989) มีผลบังคับใช้วันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1990 ให้สัตยาบันโดยประเทศไทย 27 มีนาคม ค.ศ. 1992 มาตรา 24.
[32]คณะกรรมการสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เป็นหน่วยงานของ UN ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการติดตามให้มีการปฏิบัติตาม ICESCR ให้ความเห็นใน ความเห็นทั่วไป ข้อ. 14: สิทธิที่จะได้รับมาตรฐานสูงสุดของสุขภาพ, UN Doc. E/C. 12/2000/4, รับรองเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2543 ข้อที่ 59
[33]ICESCR, art. 11.
[34]องค์กรสหประชาชาติประชุมลงมติ, สิทธิมนุษยชนต่อน้ำและสุขอนามัย, UN Doc. A/RES/64/292, 29 กรกฏาคม 2553.
[35]A. Wangkiat, “การศึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับการฟื้นฟูของห้วยคลิตี้ จังหวัดกาญจนบุรี,” เอกสารไม่ได้ถูกตีพิมพ์, มิถุนายน 2549. ลอกมาจากไฟล์ฮิวแมนไรท์ว็อทช์; T. Phenrat, “การหยุดระงับชั่วคราวของสารตะกั่วที่เกิดจากการขุดลอกลำห้วยคลิตี้: ทฤษฎีของการประเมินพื้นฐานและข้อ จำกัด,” เอกสารไม่ได้ถูกตีพิมพ์, 17 มกราคม 2556. ลอกมาจากไฟล์ฮิวแมนไรท์ว็อทช์.
[36]เอกสารเรื่อง “การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์” ปี 2556 ไม่ได้เสนอแนะโดยตรงให้เปิดเหมืองแร่ตะกั่วครั้งใหม่ในจังหวัดกาญจนบุรี แต่เสนอแนะนโยบายทางเลือก (การสงวน การอนุรักษ์ และการพัฒนา) ต่อรัฐบาลไทย โดยรวมแล้วสนับสนุนให้มีการพัฒนา โดยแสดงความคิดเห็นว่าการปล่อยให้มีสารตะกั่วปนเปื้อนอยู่ในดิน จะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับอุตสาหกรรมแบ็ตเตอรี่ ดูศูนย์บริการวิชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง “การประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงกลยุทธ์เบื้องต้นสำหรับการจัดการทรัพยากรธรณีวิทยา (ตะกั่ว, สังกะสี)” เอกสารยังไม่มีการตีพิมพ์ พ.ศ. 2556 ดูจากไฟล์ฮิวแมนไรท์ว็อทช์ และดู Piyaporn