(ลอนดอน) ในวาระครบรอบสองปีของการเสียชีวิตของชาวมุสลิมกว่า 80 คนในเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงที่ตากใบ ฮิวแมนไรท์วอทช์ และแอมเนสตีอินเตอร์เนชันแนลเรียกร้องให้รัฐบาลใหม่ของประเทศไทยดำเนินการให้ผู้ที่มีส่วนทำให้เกิดการเสียชีวิต และการบาดเจ็บของผู้ชุมนุมประท้วง ทั้งในช่วงระหว่าง และภายหลังจากที่มีการเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของไทยจะต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น
ฮิวแมนไรท์วอทช์ และแอมเนสตีอินเตอร์เนชันแนลยังแสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อการที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวมุสลิมที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับการรณรงค์เรียกร้องความยุติธรรมให้กับเหยื่อของเหตุการณ์ตากใบถูกสังหารเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจากหน่วยต่างๆ ถูกระดมมาเพื่อสลายผู้ชุมนุมชาวมุสลิมที่มารวมตัวกันอยู่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ผู้ชุมนุมประท้วง 7 คนถูกยิงเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ขณะที่ผู้ชุมนุมประท้วงอีก 78 คนขาดอากาศหายใจ หรือถูกทับจนเสียชีวิตระหว่างที่ถูกขนย้ายไปยังสถานที่ควบคุมตัว การดูแลทางการแพทย์ที่ไม่เหมาะสมในช่วงเวลาหลายวันที่ผู้ชุมนุมประท้วงกว่า 1,200 คนอยู่ในความควบคุมของทหาร ทำให้มีผู้ประท้วงจำนวนมากมีอาการบาดเจ็บรุนแรง และต้องถูกตัดแขน หรือขา
ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงต้องแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ตากใบ แต่ผู้ชุมนุมประท้วงชาวมุสลิม 58 คนกลับถูกตั้งกล่าวหาว่า กระทำความผิดในทางอาญา
“ถึงแม้จะมีหลักฐานมากมาย แต่รัฐบาลทักษิณกลับปฏิเสธที่จะดำเนินคดีกับผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบต่อการเสียชีวิต และการบาดเจ็บที่ตากใบ รวมทั้งการจัดให้มีการชดเชยที่เหมาะสมกับเหยื่อ” แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “การจัดการกับประเด็นเหตุการณ์ตากใบจะเป็นเครื่องทดสอบ ถ้าหากรัฐบาลใหม่ของประเทศไทยต้องการที่จะแสดงให้เห็นว่า ความยุติธรรมในภาคใต้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ”
คณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงที่รัฐบาลแต่งตั้งขึ้น โดยมีอดีตผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา พิเชต สุนทรพิพิธ เป็นประธาน สรุปเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2547 ว่า วิธีการสลายการชุมนุมที่ใช้กำลังติดอาวุธและใช้กระสุนจริง โดยเฉพาะใช้กำลังทหารเกณฑ์ และทหารพรานซึ่งมีวุฒิภาวะไม่สูงพอเข้าร่วมในการเข้าสลายการชุมนุมนั้น เป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสม ไม่เป็นไปตามแบบแผน และวิธีปฏิบัติที่ใช้กันตามหลักสากล นอกจากนี้ คณะกรรมการดังกล่าวยังพบว่า ผู้บังคับบัญชาที่เกี่ยวข้องละเลยไม่ควบคุมดูแลการลำเลียง และเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมประท้วงที่ถูกควบคุมตัวให้แล้วเสร็จ แต่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหารระดับชั้นผู้น้อยที่มีข้อจำกัดด้านประสบการณ์ โดยแม่ทัพภาคที่ 4 รองแม่ทัพภาคที่ 4 (คนที่สอง) และผู้บัญชาการกองพลทหาราบที่ 5 ถูกระบุว่า ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ขาดความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชา
ทางการไทยได้จัดเงินชดเชยให้กับเหยื่อของเหตุการณ์ตากใบบางส่วน และครอบครัว อย่างไรก็ตาม ฮิวแมนไรท์วอทช์ และแอมเนสตีอินเตอร์เนชันแนลระบุว่า การชดเชยดังกล่าวยังไม่เพียงพอ
“การมอบเงินให้กับเหยื่อบางส่วนไม่ได้ทำให้ทางการไทยหลุดพ้นจากภาระความรับผิดชอบในการที่จะดำเนินคดีกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารที่ผิดกฏหมาย ซึ่งเกิดขึ้นที่ตากใบ และการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นจากการถูกปฏิบัติอย่างเลวร้ายในระหว่างที่มีการเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมประท้วง” นาตาลี ฮิลล์ รองผู้อำนวยการโครงการณ์เอเชีย-แปซิฟิกของแอมเนสตีอินเตอร์เนชันแนล กล่าว “ขณะนี้ สำนักงานอัยการสูงสุดควรจะพยายามตั้งข้อหากับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่มีส่วนรับผิดชอบต่อการเสียชีวิต และการบาดเจ็บ ทั้งที่เกิดขึ้นระหว่าง และภายหลังการชุมนุมประท้วง”
ความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องมีความยุติธรรมในภาคใต้ถูกชี้ชัดเมื่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวมุสลิมที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับการรณรงค์ทางกฏหมายเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมจากทางการไทยให้กับเหยื่อของเหตุการณ์ตากใบถูกสังหาร โดยเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2549 มูฮัมหมัด ดือไน ตันยีโน อายุ 40 ปีผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 บ้านจาเราะ ตำบลไพรวัน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ถูกยิงเสียชีวิตใกล้บริเวณบ้านที่พักอาศัย ผู้มีบทบาทหน้าที่ในการช่วยเหลือชาวบ้านที่ตกเป็นผู้ต้องหาและญาติผู้เสียชีวิตกรณีตากใบมาโดยตลอด ทั้งนี้ มีรายงานว่า มูฮัมหมัด ดือไนถูกสังหารภายหลังจากที่เขาพยายามนำตัวเหยื่อเหตุการณ์ตากใบ และครอบครัวเข้าพบกับแม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่ง
ฮิวแมนไรท์วอทช์ และแอมเนสตีอินเตอร์เนชันแนลมีความกังวลอย่างยิ่งต่อเหตุการณ์สังหารนี้ และเรียกร้องให้ทางการไทยริเริ่มดำเนินการสอบสวนที่รวดเร็ว เที่ยงตรง โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ
สำหรับประชากรชาวมุสลิมในภาคใต้ของประเทศไทย การเสียชีวิตของมูฮัมหมัด ดือไนส่งผลกระทบร้ายแรงต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการทางกฏหมาย และความยุติธรรม ซึ่งเดิมก็มีสถานะเสื่อมถอยอยู่แล้ว
การละเมิดสิทธิมนุษยนชนที่ยังคงเกิดขึ้น และบรรยากาศของการไม่ต้องรับผิดได้ทำให้การสร้างความสมานฉันท์เป็นไปได้ยาก และยังทำให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยกลุ่มติดอาวุธเกิดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล และพลเรือนเสียชีวิต และบาดเจ็บหลายร้อยคนจากการถูกวางระเบิด ถูกยิง และถูกตัดศรีษะ ขณะเดียวกัน ความรู้สึกไม่พอใจต่อทางการไทยที่ได้กลายเป็นแรงสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธก็เพิ่มสูงขึ้นด้วย ฮิวแมนไรท์วอทช์ และแอมเนสตีอินเตอร์เนชันแนลเรียกร้องให้กลุ่มติดอาวุธยุติการโจมตีทั้งหมดที่กระทำต่อพลเรือน รวมทั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ในทันที
ประชาชนภาคใต้ รวมทั้งผู้สังเกตการณ์ในประเทศไทย และในต่างประเทศได้แนะนำให้ทางการไทยว่า องค์ประกอบสำคัญของการฟื้นฟูความเชื่อมั่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ การแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะทำให้เจ้าหน้าที่ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตน อย่างไรก็ตาม ตามที่ปรากฏให้เห็นในเหตุการณ์ตากใบ ระบบยุติธรรมประสบความล้มเหลวในการที่จะทำให้ผู้ที่ต้องสงสัยว่า ละเมิดสิทธิมนุษยชนต้องรับผิดชอบ
ในเรื่องนี้ ฮิวแมนไรท์วอทช์ และแอมเนสตีอินเตอร์เนชันแนลเรียกร้องให้มีการยกเลิกพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งรัฐบาลนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชิน
วัตรประกาศเป็นกฏหมายเมื่อเดือนกรกฎาคม 2548 และการบังคับใช้ในภาคใต้เพิ่งได้รับการต่ออายุอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2549 มาตรา 17 ได้มอบภูมิคุ้มกันที่ไม่จำเป็นต่อการที่พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใช้อำนาจตามกฏหมายฉบับนี้ ซึ่งจะไม่ต้องรับผิดในทางอาญา ทางแพ่ง และทางวินัย ขณะที่ผู้ที่จะร้องเรียนกลับต้องมีภาระในการพิสูจน์ว่า พนักงานเจ้าหน้าที่เหล่านั้นมิได้กระทำการไปโดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุ หรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น
ในการแถลงข่าวภายหลังจากที่เข้ารับตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี พลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ระบุว่า ปัญหาในจังหวัดภาคใต้นั้นมีต้นตอมาจากการขาดความยุติธรรม
“เรายินดีที่รัฐบาลยอมรับปัญหานี้” ฮิลล์กล่าว “ตอนนี้ รัฐบาลรักษาการ และฝ่ายทหารจะต้องดำเนินมาตรการที่ชัดเจนเพื่อยุติวัฒนธรรมการไม่ต้องรับผิดที่เกิดขึ้นในภาคใต้ของประเทศไทย”
ข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ