Skip to main content

เอเชีย: ต้องมีภาวะผู้นำระดับภูมิภาคเพื่อสนับสนุนสิทธิมนุษยชน

การปราบปรามที่เพิ่มขึ้นทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสิทธิทั้งในและระหว่างประเทศ

(ด้านบนซ้าย) ผู้ลี้ภัยชาวอัฟกันเดินทางออกจากปากีสถานกลับประเทศอัฟกานิสถาน ในเมืองทอร์คาม อัฟกานิสถาน 3 พฤศจิกายน 2566 (ด้านบนขวา) บ้านเรือนที่ถูกทำลายจากการโจมตีทางอากาศและทิ้งระเบิดในค่ายผู้ลี้ภัยมุงล่ายเจ็ต ในเมืองไลซา เมียนมา 10 ตุลาคม 2566 (ด้านล่างซ้าย) ญาติของเหยื่อความรุนแรงทางการเมืองระหว่างการประท้วงในกรุงธากา บังคลาเทศ 28 พฤศจิกายน 2566 (ด้านล่างขวา) ผู้หญิงคนหนึ่งวางเทียนไว้ระหว่างรูปของเหยื่อการบังคับให้สูญหาย ระหว่างที่ญาติและผู้สนับสนุนมารวมตัวกันเพื่อรำลึกถึงพวกเขาในวัน All Souls Day ในเกซอนซิตี้ เมโทรมะนิลา ฟิลิปปินส์ 2 พฤศจิกายน 2566 © 2023 AP Photo/Ebrahim Noroozi / 2023 AP Photo/ 2023 Kazi Salahuddin Razu/NurPhoto via AP / 2023 ROLEX DELA PENA/EPA-EFE/Shutterstock

(กรุงเทพฯ) – การปราบปรามที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย ส่งผลกระทบด้านลบต่อสิทธิมนุษยชนทั้งในและระหว่างประเทศ ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้ ในการเปิดตัว รายงานระดับโลกปี 2567

ในปี 2566 รัฐบาล จีน ยังคงก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติต่อชาวอุยกูร์และชาวมุสลิมเชื้อสายเตอร์กิกในซินเจียง และยังคงใช้นโยบายและการปฏิบัติมิชอบเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ เกาหลีเหนือ และ เวียดนาม เพิ่มการปราบปรามในประเทศ อินเดีย, ปากีสถาน, อินโดนีเซีย และ บังคลาเทศ ซึ่งต่างมีกำหนดการเลือกตั้งในปี 2567 ยิ่งเร่งโจมตีสถาบันด้านประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม

“ภัยคุกคามของรัฐบาลที่ปฏิบัติมิชอบในเอเชีย ส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนทั้งในและระหว่างประเทศ รัฐบาลที่เคารพสิทธิและสถาบันด้านประชาธิปไตย จำเป็นต้องใช้แนวทางใหม่ที่กล้าหาญเพื่อแก้ปัญหานี้” อีเลน เพียร์สัน ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “ประชาชนทั่วเอเชียได้เห็นสิทธิและเสรีภาพของตนเองถูกเหยียบย่ำ หรือถูกเพิกเฉย จำเป็นต้องมีภาวะผู้นำที่เข้มแข็งขึ้น เพื่อคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคนี้ ไม่เช่นนั้นสถานการณ์จะเลวร้ายลงไปอีก”

ในรายงานระดับโลกปี 2567 ความยาว 740 หน้า ซึ่งตีพิมพ์เป็นปีที่ 34 ฮิวแมนไรท์วอทช์ทบทวนการปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนในกว่า 100 ประเทศ  ใน คำนำของรายงาน ทีรานา ฮัสซัน ผู้อำนวยการบริหารกล่าวว่า ปี 2566 เป็นปีที่มีเหตุการณ์สำคัญที่ไม่เพียงเกี่ยวข้องกับการปราบปรามสิทธิมนุษยชนและความทารุณโหดร้ายระหว่างสงคราม  แต่ยังรวมถึงการตอบโต้ด้วยความรุนแรงของรัฐบาลบางประเทศและการทูตแบบมีข้อแลกเปลี่ยน ซึ่งส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อสิทธิมนุษยชนของกลุ่มคนที่ถูกใช้เป็นเงื่อนไขต่อรอง แต่เธอบอกว่ามีสัญญาณแห่งความหวังอยู่บ้าง มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดเส้นทางที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง และเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ยึดมั่นปฏิบัติตามต่อพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนของตนอย่างเคร่งครัด

ต่างจากทวีปยุโรป แอฟริกา และอเมริกา ทวีปเอเชียไม่มีธรรมนูญด้านสิทธิมนุษยชน หรือสถาบันระดับภูมิภาคอย่างจริงจัง ซึ่งจะสามารถคุ้มครองมาตรฐานสิทธิมนุษยชนได้ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ซึ่งเป็นองค์กรทางการเมือง ได้พิสูจน์ให้เห็นครั้งแล้วครั้งเล่าว่า ไม่สามารถแก้ไขวิกฤตสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาคได้ โดยเฉพาะกรณีของ วิกฤตในเมียนมา

ระบบประชาธิปไตยในเอเชียยังคงถูกโจมตีตลอดทั้งปี 2566 หลังการเลือกตั้งเดือนพฤษภาคมใน ประเทศไทย พรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงมากสุดถูกปิดกั้นโดยวุฒิสภาที่แต่งตั้งโดยทหารและกลไกอื่น ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลทหารเป็นผู้จัดทำร่าง จนทำให้ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ การเลือกตั้งพอเป็นพิธีใน กัมพูชา ในเดือนกรกฎาคมไม่อาจถือเป็นการเลือกตั้งเลยด้วยซ้ำไป เนื่องจากรัฐบาลขัดขวางไม่ให้พรรคการเมืองหลักสามารถเข้าร่วมการเลือกตั้งได้ ก่อนการเลือกตั้งในปี 2567 ในบังคลาเทศ ทางการเร่งโจมตีนักการเมืองฝ่ายค้าน โดยได้จับกุมผู้เห็นต่างจากรัฐและสมาชิกพรรคฝ่ายค้านกว่า 10,000 คน

ในเวียดนามและอินเดียทางการเพิ่มการจับกุมโดยพลการ และการฟ้องคดีต่อผู้เห็นต่างจากรัฐและผู้วิจารณ์รัฐบาล รวมทั้งนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ใน ฟิลิปปินส์ แกนนำสหภาพแรงงาน ผู้สื่อข่าว และนักกิจกรรม ยังคงตกเป็นเป้าหมายของการรณรงค์ “ล่าแม่มด” เพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ฮุนเซน ผู้นำประเทศกัมพูชามาอย่างยาวนาน ได้ส่งต่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้กับฮุนมาเนตที่เป็นลูกชาย ซึ่งก็ไม่ได้ผ่อนคลายมาตรการจำกัดอย่างรุนแรงที่มีต่อกลุ่มประชาสังคมและสื่อมวลชนอิสระ

 

รัฐบาลเผด็จการเกาหลีเหนือยังคงปิดกั้นพรมแดน และแทบจะตัดขาดประชากรของตนออกจากโลกภายนอก ทำให้สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนที่เลวร้ายอยู่แล้ว เลวร้ายลงไปอีก ใน อัฟกานิสถาน กลุ่มฏอลิบานยิ่งเพิ่มมาตรการจำกัดสิทธิอย่างรุนแรง โดยเฉพาะต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิง ท่ามกลางวิกฤตด้านมนุษยธรรม

รัฐบาลหลายประเทศในเอเชียเข้าร่วมปฏิบัติการปราบปรามนอกพรมแดนของตนในปี 2566 รัฐบาลจีนได้ข่มขู่ประชาชนและสถาบันในประเทศอื่น ผู้แสวงหาที่ลี้ภัยในประเทศไทยต้องผชิญกับการขู่ว่าจะถูกบังคับส่งกลับไป เมียนมา จีน ลาว กัมพูชา และเวียดนาม

ในเดือนกันยายน รัฐบาลแคนาดารายงานว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลอินเดียมีส่วนร่วมในการสังหารนักกิจกรรมกลุ่มแบ่งแยกดินแดนชาวซิกข์ในแคนาดา ซึ่งรัฐบาลอินเดียปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ ในเดือนพฤศจิกายน ทางการสหรัฐฯ สั่งฟ้องคดีต่อชายคนหนึ่งในข้อหาวางแผนร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลอินเดีย เพื่อสังหารนักกิจกรรมชาวซิกข์ในสหรัฐฯ

รัฐบาลประชาธิปไตยในเอเชียแทบไม่ได้ดำเนินงาน เพื่อส่งเสริมหรือสนับสนุนมาตรฐานสิทธิมนุษยชน ทั้งในระดับภูมิภาคหรือระหว่างประเทศ ในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ญี่ปุ่น ยังคงเงียบเฉยต่อปัญหาด้านสิทธิและปฏิเสธที่จะใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อรัฐบาลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ปฏิบัติมิชอบ เกาหลีใต้ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงในวาระปี 2567-2568 เช่นกัน ก็แทบไม่ได้ดำเนินงานเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศเอเชียอื่น ๆ  ออสเตรเลีย ดำเนินการช้ากว่าประเทศตะวันตกอื่น ๆ มาก ในแง่การใช้มาตรการคว่ำบาตรอย่างมีเป้าหมายต่อผู้ปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลจีนที่ปฏิบัติมิชอบ ซึ่งตกเป็นเป้าหมายการคว่ำบาตรของรัฐบาลอื่น

รัฐบาลอินเดียได้เพิกเฉยอย่างสิ้นเชิงต่อการปฏิบัติในอดีต เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้ง เมียนมา, ศรีลังกา และ เนปาล บทบาทที่เพิ่มขึ้นของอินโดนีเซียในช่วงหลายปีที่ผ่านมาในฐานะเป็นประเทศที่เคารพสิทธิ ไม่ได้ส่งผลให้รัฐบาลส่งเสริมสิทธิมนุษยชนหรือระบอบประชาธิปไตยในที่อื่นเลย

“ประเทศประชาธิปไตยที่ตั้งมั่นในเอเชีย โดยเฉพาะอินเดีย, อินโดนีเซีย, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ไม่ได้แสดงความเป็นผู้นำมากพอที่จะส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคนี้หรือของโลก” เพียร์สันกล่าว “พวกเขาจำเป็นต้องตระหนักว่า การปราบปรามนอกพรมแดนของตน ส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนในประเทศของตนด้วย”

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.

Region / Country