การโจมตีอย่างเผ็ดร้อนต่อผู้หญิงสองคนในการแข่งขันชกมวยที่ปารีสโอลิมปิก สะท้อนให้เห็นอันตรายอย่างร้ายแรงของนโยบาย “ตรวจเพศ” และชี้ให้เห็นความสำคัญของ กรอบที่เน้นการมีส่วนร่วม ของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ที่มีต่อสิทธิสตรี
หลิน หยู่ ถิง จากไต้หวัน และอิมาน เคลิฟ จากแอลจีเรีย กลายเป็นข่าวโด่งดังเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากระเบียบการตรวจเพศที่กระทบต่อการกีฬา และอคติที่มาจากคนดังในโลกอินเทอร์เน็ต พวกเขาโพสต์โซเชียลมีเดียมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอีลอน มัสก์ และเจเค ราวลิง เพื่อทำลายความเป็นส่วนตัว ศักดิ์ศรี และความปลอดภัยของผู้หญิง ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ข่าวลือและข่าวรั่วจากสื่อเกี่ยวกับลักษณะทางกายวิภาคของนักกีฬาหญิงได้ ทำลายชีวิต ส่งผลให้ผู้หญิงหลายคนเลิกเล่นกีฬาไป และในบางกรณีต้องลี้ภัยไปอยู่ที่อื่นเพื่อความปลอดภัย
ไอโอซีได้วิจารณ์อคติและการจงใจปล่อยข้อมูลเท็จ “ผมขอให้ทุกคนเคารพผู้หญิงเหล่านี้ เคารพพวกเขาในฐานะผู้หญิงและในฐานะมนุษย์ เวลาที่เราพูดถึงสิทธิมนุษยชน เราต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงทุกคนที่เข้าร่วมในการแข่งขันกีฬาของผู้หญิง” โทมัส บาค ประธานไอโอซี กล่าวในระหว่างการแถลงข่าว เมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่กรุงปารีส มาร์ค อดัมส์ โฆษกของไอโอซี บอกว่า “แทบจะไม่ต้องพูดเลยว่า ถ้าเราเริ่มจากการตั้งข้อสงสัยกับนักกีฬาทุกคนในทุกเรื่อง เรากำลังเข้าสู่เส้นทางที่เลวร้ายมาก”
ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา หน่วยงานด้านกีฬาได้ออกข้อบังคับเพื่อควบคุมการเข้าร่วมของผู้หญิง รวมทั้งการกำหนดให้มี “การตรวจเพศ” โดยมีเป้าหมายเป็นนักกีฬาหญิง ซึ่งส่วนใหญ่มักมีลักษณะการแสดงออกที่เบี่ยงเบนจากเพศตนเองอยู่บ้าง หรือมีฮอร์โมนเพศชายตามธรรมชาติสูงกว่าปรกติ การตรวจเพศมักมีพื้นฐานมาจากอคติทางเพศและการเหยียดเชื้อชาติ ยังไม่มีฉันทามติในทางวิทยาศาสตร์ว่า การที่ผู้หญิงมีฮอร์โมนเพศชายสูงกว่าจะทำให้ได้เปรียบในด้านกีฬา นอกจากนั้น ยังไม่เคยมีการตรวจเพศกับผู้ชายมาก่อน ทำให้การตรวจเพศโดยพื้นฐานแล้วเป็นการเลือกปฏิบัติเฉพาะผู้หญิง ทั้งภาษาที่คลุมเครือเกี่ยวกับข้อบังคับการตรวจเพศ การมีอำนาจควบคุมเด็ดขาดของหน่วยงานกีฬาต่อกระบวนการตรวจเพศ และการนำวิธีการที่ไม่สอดคล้องกับวิทยาศาสตร์เช่นนี้มาใช้โดยพลการ ทำให้เกิดการพุ่งเป้าสอดแนมผู้หญิง
แต่ก็มีกรณีที่ เกิดแรงต่อต้านจากนักกีฬา ในปี 2557 สหพันธ์นักกีฬาแห่งอินเดียได้ออกมาเปิดโปงว่า ดูตี จันทร์ นักวิ่งหญิงมีฮอร์โมนเพศชายสูง และห้ามไม่ให้ลงแข่งขัน ดูตี จันทร์จึงได้นำเรื่องนี้ไปฟ้องศาลกีฬาโลก (Court of Arbitration for Sport) และต่อมาศาลสั่งให้เธอลงแข่งขันได้ ส่งผลให้มีการชะลอการใช้ข้อบังคับตรวจเพศระดับโลกต่อนักวิ่งหญิงเป็นการชั่วคราว แคสเตอร์ เซเมนยา นักวิ่งจากแอฟริกาใต้ซึ่งเคยถูกกรรมการตัดสิทธิไม่ให้ลงแข่งขัน ก็ประสบความสำเร็จในการ ใช้สิทธิทางศาล เพื่อต่อต้านข้อบังคับตรวจเพศ โดยเป็นการฟ้องคดีต่อศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป และอยู่ระหว่างรอคำพิพากษา ในชั้นอุทธรณ์ หลังจากชนะในศาลชั้นต้นมาแล้ว
ความเท่าเทียมของผู้หญิงในกีฬาเป็นโครงการต่อเนื่อง และขบวนการเรียกร้องให้มีการจ่ายค่าตอบแทนที่เท่าเทียมและความรับผิดต่อการละเมิดทางเพศ กำลังเป็นที่สนใจของสังคม ความพยายามที่จะกีดกันผู้หญิงโดยเป็นผลจากอคติทางเพศและเชื้อชาติ เป็นเพียงสิ่งที่เบี่ยงเบนความสนใจของเราจากเป้าหมายที่ใหญ่กว่า