Skip to main content

แถลงการณ์ร่วมภาคประชาสังคม เรื่องภาคประมงของไทยในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ

นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน

สำนักนายกรัฐมนตรี

รัฐบาลไทย

ประเทศไทย

 

15 ตุลาคม พ.ศ.2566

 

เรียน นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน 

พวกเราคือกลุ่มองค์กรที่มีรายนามตามท้ายหนังสือฉบับนี้ซึ่งดำเนินงานส่งเสริมให้ภาคประมงของประเทศไทยดำเนินการเป็นไปตามกฎหมาย เป็นธรรม และมีความยั่งยืน พวกเราเขียนหนังสือฉบับนี้ร่วมกันขึ้นเพื่อแสดงเจตจำนงค์และความกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับข้อเรียกร้องถอยหลังและแนวทางการดำเนินนโยบายในอนาคตที่อาจเป็นผลให้การปฏิรูปภาคประมงไทยเดินถอยหลัง และใคร่ขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาและทบทวนแนวทางการจัดการกับประเด็นดังกล่าวอย่างเร่งด่วน

ข้อเรียกร้องถอยหลังเหล่านี้อาจถือได้ว่าเป็นจุดผกผันสำหรับการประมงของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำนึงถึงความก้าวหน้าที่เกิดจากความพยายาม เวลา และทรัพยากรต่างที่ถูกอุทิศให้แก่การพัฒนาภาคการประมงในช่วงแปดปีที่ผ่านมา ไม่นานมานี้ประเทศไทยได้รับคำชื่นชมจากนานาอารยประเทศในการเข้าร่วมพันธกรณีระหว่างประเทศและได้ให้คำมั่นสัญญาแก่ประชาคมโลกว่าจะกำจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing: IUU) ออกจากห่วงโซ่อุปทานอาหารทะเลของประเทศไทย ซึ่งหากรัฐบาลเลือกที่จะทำตามข้อเรียกร้องถอยหลังดังกล่าวจะเป็นการขัดกับคำมั่นสัญญาที่ประเทศไทยเคยได้ให้ไว้ต่อประชาคมโลก

ความก้าวหน้าของรัฐบาลไทยในการบรรลุภาคประมงไทยที่ยั่งยืน ถูกกฎหมาย และมีจริยธรรม เป็นสิ่งที่น่ายกย่อง อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปถอยหลังในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญนี้อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงร้ายแรงต่อประเทศไทยและอุตสาหกรรมประมง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประชาคมโลกกำลังมุ่งสู่ความโปร่งใสและความรับผิดชอบในอุตสาหกรรมอาหารทะเลมากขึ้น

อุตสาหกรรมประมงไทยก่อนปี พ.ศ. 2553 นั้น ถือว่าดำเนินการภายใต้การกำกับดูแลที่ไม่ทันสมัย ไม่เข้มแข็ง และไม่มีประสิทธิภาพ จนนำไปสู่การถดถอยทางสิ่งแวดล้อม ร่วมถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนและแรงงานอย่างเป็นระบบ จำนวนสัตว์น้ำลดปริมาณลงอย่างน่าตกใจ เมื่อวัดด้วยปริมาณการจับสัตว์น้ำต่อหน่วยการลงแรงประมง (catch per unit effort: CPUE) พบว่าปริมาณสัตว์น้ำลดลงถึงร้อยละ 88 ในระหว่างปี พ.ศ. 2509 ถึง พ.ศ. 2560 อันเป็นผลโดยตรงจากการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม สิ่งนี้เองที่ทำให้ระบบนิเวศทางทะเลของไทยอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงต่อการล่มสลาย และยังเป็นภัยคุกคามต่อการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตของชาวประมงพื้นบ้านและประมงเชิงพาณิชย์หลายแสนชีวิต ยิ่งไปกว่านั้นในอดีตยังเป็นที่รับทราบกันดีในระดับนานาชาติว่ากองเรือของไทยจำนวนหนึ่งประวัติพัวพันอาชญากรรมอันน่าหดหู่ ไม่ว่าจะเป็นการทารุณกรรม การบังคับใช้แรงงาน และแม้แต่การฆาตกรรมแรงงานข้ามชาติ

ซึ่งเหตุการณ์ในอดีตดังกล่าวที่ถูกเปิดเผยโดยภาคประชาสังคมและสื่อมวลชนระดับโลกอย่าง New York Times Associated Press The Guardian และอื่นๆ ส่งผลให้นานาชาติประณามการละเมิดดังกล่าว จนก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อชื่อเสียงประเทศไทยในประชาคมโลกและภาพลักษณ์ของอาหารทะเลไทยในตลาดโลก

การขาดความโปร่งใสโดยสิ้นเชิงและบทลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วนต่อผู้ประกอบการเรือประมงที่ไร้จริยธรรมในอดีตถือเป็นเชื้อเพลิงของการก่ออาชญากรรมที่ร้ายแรงจำนานมาก จนเป็นเหตุให้เกิดมาตรการแทรกแซงจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา (ผ่านการลดอันดับตามรายงานการค้ามนุษย์ประจำปี (Trafficking in Persons: TIP) โดยจัดอันดับให้ประเทศไทยอยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 ในปี พ.ศ. 2557) และคณะกรรมาธิการยุโรป (ผ่านการออกใบเหลืองเพื่อตักเตือนในปี พ.ศ. 2558) ผลสืบเนื่องนี้ไม่เพียงสร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในระดับนานาชาติดังที่ระบุไว้ในแถลงการณ์ข้างต้นซึ่งมีผู้อ่านทั่วโลก แต่ยังรวมถึงเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการที่อาหารทะเลของไทยที่ถูกมองว่าเป็นสินค้าที่มีความเสี่ยงสูงในตลาดต่างประเทศ ปัญหาดังกล่าวยังคงส่งแรงกระเพื่อมมาจนถึงปัจจุบัน: ประเทศไทยตกอันดับจากการเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารทะเลอันดับสามของโลกที่มีมูลค่าราว 8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี พ.ศ. 2555 มาอยู่อันดับที่ 13 ที่มีมูลค่าการส่งออกเพียง 5.4 พันล้านในปี พ.ศ. 2564 ทั้งนี้ในปี พ.ศ. 2563 อุตสาหกรรมประมงมีสัดส่วนในผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross domestic product: GDP) อยู่ที่ร้อยละ 0.72

เพื่อแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าวทางการไทยได้ทุ่มเทความพยายาม ทรัพยากร และเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อดำเนินการปฏิรูปครั้งสำคัญ อันประกอบด้วยพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม การเปิดเผยบัญชีใบอนุญาตเรือประมงเชิงพาณิชย์สู่ฐานข้อมูลสาธารณะการจัดทำรายชื่อลูกเรือให้เป็นดิจิทัล และการนำกลไกควบคุม ติดตามและเฝ้าระวัง (monitoring, control and surveillance: MCS) มาใช้ดำเนินการเพื่อเพิ่มความโปร่งใสและความรับผิดชอบทั่วทั้งอุตสาหกรรมประมง ผลจากความพยายามและการปฏิรูปที่มีประสิทธิภาพและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกฎหมายประมงของไทยมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการโน้มน้าวให้สหภาพยุโรปปลดใบเหลือง และยกระดับสถานะของประเทศไทยในรายงาน TIP ในปีถัดไป

เจ็ดปีหลังจากนั้นเราเพิ่งจะเริ่มเห็นสัญญาณผลกระทบเชิงบวกจากการฟื้นตัวของประชากรปลา ระหว่างปี พ.ศ. 2560 ถึง พ.ศ. 2564 ปริมาณการจับสัตว์น้ำต่อหน่วยการลงแรงประมง (CPUE) ในทะเลอันดามันเพิ่มขึ้นจาก 11 กก./ชม. เป็น 20 กก./ชม. และในอ่าวไทยจาก 33 กก./ชม. เป็น 45 กก./ชม. อย่างไรก็ตามปริมาณนี้ยังเป็นถือว่าน้อยนิดเมื่อเทียบกับปที่ริมาณที่จับได้ในช่วงปี พ.ศ. 2523 – 2533 ด้วยธรรมชาติของการฟื้นฟูอันละเอียดอ่อน เราเชื่อว่าการรักษาความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นจากการปฏิรูปในช่วงเจ็ดปีที่ผ่านมาเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง  การกระทำการใดๆ ก็ตามที่เบี่ยงเบนไปจากแนวทางพัฒนาที่เป็นอยู่อาจส่งผลเชิงลบต่อการฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลในอนาคต และอาจนำไปสู่การล่มสลายของประชากรปลาที่เพิ่งมีได้รับฟื้นฟูขึ้นมาในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังเป็นการกระทำที่จะลดทอนความสามารถของประเทศไทยในการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และส่งผลเสียต่อสถานะระหว่างประเทศของไทยในตลาดอาหารทะเล การหันเหออกจากแนวทางพัฒนาที่มีอยู่ยังอาจทำให้ปัญหาการเอารัดเอาเปรียบแรงงานข้ามชาติซึ่งเป็นแรงงานส่วนใหญ่บนเรือประมงไทยทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะกัดกร่อนความก้าวหน้าที่เพิ่งจะเกิดขึ้นจากการขึ้นทะเบียนแรงงานประมงข้ามชาติให้ให้มีสถานะทางกฎหมายที่ถูกต้อง รวมถึงการยกระดับสภาพความเป็นอยู่และการทำงานบนเรือ นอกจากนี้ควรที่จะตระหนักว่าการปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติของไทยทั้งด้านสิทธิแรงงานและสิทธิมนุษยชนของพวกเขาจะเป็นประเด็นสำคัญในการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (free trade agreement: FTA)  ระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศไทยที่กำลังดำเนินการอยู่

ด้วยเหตุผลเหล่านี้พวกเราจึงมีความกังวลเป็นอย่างยิ่งเกี่ยวกับท่าทีของรัฐบาลไทยที่มีต่อนโยบายการบริหารจัดการประมงที่กำลังพิจารณาเพิกถอนกฎหมายและระเบียบการที่สำคัญ โดยพบว่าผู้สนับสนุนการเพิกถอนกฎระเบียบดังกล่าวมักอ้างว่ามูลค่าการค้ากับสหภาพยุโรปมีเพียงร้อยละ 5.6 ของการส่งออกอาหารทะเลไทย แม้สถิติดังกล่าวจะเป็นความจริง แต่มาตรการเฝ้าระวังการจับสัตว์น้ำและข้อกำหนดสำหรับการสืบทวนกลับ การปฏิบัติตามกฎหมาย การจับสัตว์ทะเลอย่างยั่งยืนและเป็นธรรมภายใต้กฎระเบียบ IUU ของสหภาพยุโรป ซึ่งประเทศไทยเพิ่งจะดำเนินการได้สำเร็จนั้น มิได้เป็นเพียงหลักมาตรฐานเฉพาะในสหภาพยุโรปเท่านั้น ในทางตรงกันข้ามนานาประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทยล้วนให้ความสำคัญกับการนำหลักมาตรฐานดังกล่าวมาพิจารณาในการนำเข้าสินค้าอาหารทะเล กระบวนทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในด้านความโปร่งใสของการประมงและข้อกำหนดในการตรวจสอบย้อนกลับของอาหารทะเลที่เกิดขึ้นในประเทศต่าง ๆ อาจทำให้ข้อมูลรับรองการส่งออกอาหารทะเลของไทยที่มีอยู่ตกอยู่ในความเสี่ยงสูง และอาจส่งผลให้ตลาดการค้าอาหารทะเลของไทยมากกว่าครึ่งตกอยู่ในสถานะสุ่มเสี่ยง ทั้งนี้ยังไม่นับรวมกฎเกณฑ์การห้ามนำเข้าสินค้าที่มีความเกี่ยวข้องกับการบังคับใช้แรงงาน เช่น คำสั่งกักกันโดยอัตโนมัติสำหรับสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการผลิตโดยใช้แรงงานบังคับ (Withhold Release Orders) ของหน่วยงานศุลกากรและป้องกันชายแดนสหรัฐอเมริกาที่จะถูกนำมาพิจารณาร่วมด้วย ในภาพรวมจะเห็นได้ว่ามูลค่าของการค้าอาหารทะเลระหว่างประเทศที่เป็นไปตามข้อกำหนดด้านความโปร่งใส และการตรวจสอบย้อนกลับอย่างเข้มข้นมีมูลค่าโดยรวมประมาณถึงราวร้อยละ 59.9 ของการค้าอาหารทะเลของไทย ซึ่งประกอบด้วย  สหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 22.4) ญี่ปุ่น (ร้อยละ 18.7)  สหภาพยุโรป (ร้อยละ 5.6) ออสเตรเลีย (ร้อยละ 5.0)  แคนาดา (ร้อยละ 3.7)  (เกาหลีใต้ 3.5%)  และนิวซีแลนด์ (ร้อยละ 0.8)

การไม่รักษาคำมั่นสัญญาที่ประเทศไทยเคยให้ไว้ในการสร้างความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบย้อนกลับของอาหารทะเลนั้น ย่อมส่งผลกระทบรุนแรงและหายนะต่ออุตสาหกรรมประมง ประเทศไทยอาจถูกโดดเดี่ยวและอุตสาหกรรมประมงไทยจะเดินถอยหลังกลับไปนับทศวรรษ ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกกำลังก้าวไปสู่อนาคต การเพิกถอนกฎหมายตามคำเรียกร้องของผู้ประกอบการไม่เพียงแค่เป็นการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมต่อทรัพยากรประมงอย่างผิวเผินเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมากอีกด้วย การเพิกถอนกฎหมายนี้จะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมประมงเพียงร้อยละ 20 หากนับจากจำนวนเรือประมง แต่ในขณะเดียวกันกลับส่งผลให้ชาวประมงพื้นบ้านและชุมชนชายฝั่งกลายเป็นผู้เสียประโยชน์อย่างมหาศาล ถือเป็นการคุกคามวิถีชีวิต และความมั่นคงทางอาหารต่อจำนวนมาก ด้วยการกำกับดูแลที่หละหลวมและอ่อนแอ นอกจากนี้การกระทำดังกล่าวจะส่งผลให้แรงงานประมงข้ามชาติตกอยู่ในสถานะที่ไม่ปลอดภัยและอยู่ภายใต้ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นเป็นอย่างยิ่ง ส่วนหนึ่งของรูปธรรมปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นคือการเพิ่มชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน รายได้ที่น้อยลง และสภาพความเป็นอยู่ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ทำให้สถานการณ์ที่เลวร้ายต่อแรงงานข้ามชาติที่มีอยู่แล้วทวีความรุนแรงมากขึ้นไปอีก

เป็นที่น่าชื่นชมที่ประเทศไทยให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 (อนุสัญญาว่าด้วยการทำงานประมง) ในปี พ.ศ. 2562 อย่างไรก็ดีข้อเรียกร้องโดยสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย สุ่มเสี่ยงที่จะขัดแย้งนโยบายและกรอบกฎหมายที่มีอยู่ซึ่งเป็นไปตามการอนุวัติอนุสัญญาฉบับที่ 188 ไม่ว่าจะเป็นการกำกับดูแลที่ลดลง แรงงานประมงข้ามชาติจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มั่นคงมากขึ้น ซึ่งจะเพิ่มความเปราะบางต่อชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานขึ้น ค่าแรงที่ลดลง และสภาพความเป็นอยู่ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ซึ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายที่พวกเขาเผชิญอยู่รุนแรงขึ้น

การเพิกถอนกฎหมายยังนำมาซึ่งผลสืบเนื่องทางเศรษฐกิจที่ร้ายแรงต่อประเทศไทย นอกเหนือไปจากการทำให้กว่าครึ่งของมูลค่าการค้าอาหารทะเลของไทยตกอยู่ในความเสี่ยงดังที่ได้อธิบายไว้แล้ว การเพิกถอนกฎหมายยังเป็นภัยคุกคามต่อภาคเศรษฐกิจที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งซึ่งนั่นก็คืออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การปกป้องทรัพยากรทางทะเลของไทยคือสิ่งสำคัญในการรักษาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งมีมูลค่ามากถึง 2.8 พันล้านบาท (82 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปี พ.ศ. 2560 คิดเป็นร้อยละ 18 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศไทย อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมดำน้ำลึกนั้นมีมูลค่ามากถึง 161 ล้านเหรียญสหรัฐ (5.52 พันล้านบาท) เทียบได้กับมูลค่าการส่งออกอาหารทะเลที่ไทยส่งไปยังสหภาพยุโรปในปี พ.ศ. 2561 เนื่องด้วยอุตสาหกรรมดำน้ำทั่วโลกกำลังฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-19 รัฐบาลไทยควรตระหนักถึงการอนุรักษ์ทางทะเลและการคุ้มครองแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตนั้นจะส่งผลดีต่อทั้งสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจในภาพรวม   ควบคู่ไปกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังการระบาดของโควิด-19 ดังนั้นแล้วจึงสามารถกล่าวได้ว่านี่ไม่ใช่ช่วงเวลาที่รัฐจะเพิ่มความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจที่อาจทำลายตลาดการค้าอาหารทะเลระหว่างประเทศของไทย 

ต่อไปนี้จะเป็นการอภิปรายถึงอันตรายจากข้อเรียกร้องถอยร้องที่เป็นปัญหาซึ่งกำลังถูกผลักดันโดยสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยและกลุ่มผู้ประกอบการเรือประมง โดยรัฐบาลไทยควรทบทวนข้อเสนอดังกล่าวและพิทักษ์การพัฒนาอุตสาหกรรมประมงที่กำลังดำเนินการอยู่ให้สัมฤทธิ์ผลต่อไป:

  • การยกเลิกการควบคุม (1) การขนถ่ายกลางทะเลของสัตว์ทะเลที่จับได้ และ (2) การขนถ่ายลูกเรือกลางทะเลระหว่างการประมง: จากการศึกษาเมื่อไม่นานมานี้พบว่าการขนถ่ายกลางทะเลเพิ่มความเสี่ยงต่อการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) รวมถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างมีนัยสำคัญ เป็นที่ทราบกันว่าในอดีตเรือประมงไทยทำเช่นนี้เพื่อขนถ่ายลูกเรือข้ามชาติที่ไม่ได้จดทะเบียนกลางทะเลเพื่อป้องกันไม่ให้พวกเขาหลบหนี นี่เป็นวิธีกักขังพวกเขาไว้บนเรือได้อย่างมีประสิทธิผล หรือราวกับที่กักกันกลางทะเล ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างถูกต้องและรุนแรงจากประชาคมระหว่างประเทศและผู้บริโภคอาหารทะเลทั่วโลก เมื่อพิจารณาถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติดังกล่าว กรมประมงจึงได้แก้ไขการห้ามการขนถ่ายสัตว์น้ำและลูกเรือกลางทะเลในปี พ.ศ. 2558

การอนุญาตให้สามารถทำการขนถ่ายกลางทะเลได้อีกครั้งจะเป็นหายนะต่อความโปร่งใสในอุตสาหกรรมประมงไทย สิ่งนี้จะลดความสามารถของหน่วยงานต่าง ๆ ในการบังคับใช้กฎหมาย และการติดตามการปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านการประมงและตรวจสอบสภาพความเป็นอยู่และการทำงานของแรงงานบนเรือประมง นอกจากนั้นนี่ยังเปิดช่องให้กับการเอารัดเอาเปรียบลูกเรือและการขนถ่ายแรงงานกลางทะเลอย่างไร้จุดหมายได้มากขึ้น

การย้อนกลับไปสู่แนวทางปฏิบัติดังกล่าวจะเป็นการละเมิดหลักจรรยาบรรณ กฎระเบียบ (Code of Conduct)  หรือ กฎระเบียบด้านการตรวจสอบย้อนกลับของบริษัทอาหารทะเลรายใหญ่หลายราย และอาจส่งผลให้นานาประเทศพิจารณาเลิกซื้ออาหารทะเลจากประเทศไทย

  • การยินยอมให้มีการใช้แรงงานเด็ก: ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565 กระทรวงแรงงานได้ออกกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเลฉบับใหม่ (พ.ศ. 2565) (“ระเบียบ”) ซึ่งอนุญาตให้เด็กอายุ 16 ถึง 18 ปีสามารถฝึกงานในเรือประมงได้ภายใต้ข้อจำกัดบางประการ[xiv]  ภาคประชาสังคมของไทยแสดงข้อกังวลโดยทันทีเกี่ยวกับข้อกำหนดใหม่นี้ โดยเรียกร้องให้มีการเพิกถอนโดยเร็วเนื่องจากมีรายงานอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับความเป็นอยู่และสภาพการทำงานที่ย่ำแย่บนเรือไทย รวมถึงอัตราการสูญหายของแรงงานประมงในทะเลเป็นจำนวนมาก (109 คนในปี พ.ศ. 2564 และ 122 คนในปี พ.ศ. 2565 ตามข้อมูลจากศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร.))

กฎระเบียบดังกล่าวยังขัดแย้งกับจุดยืนของประเทศไทยต่อการคุ้มครองเด็ก และสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดอนุสัญญาฉบับที่ 182 การใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเอาไว้ และอาจทำให้ชื่อเสียงที่น่าชื่นชมของประเทศไทยที่ได้มาจากการทำงานอย่างทุมเทในฐานะผู้นำตลาดอาหารทะเลระดับนานาชาติตกอยู่ในความเสี่ยง หลักจรรยาบรรณ (Code of Conduct) ของอุตสาหกรรมอาหารทะเลระหว่างประเทศส่วนใหญ่ไม่อนุญาตให้มีแรงงานอายุต่ำกว่า 18 ปีอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของตน ผู้ซื้อในตลาดอาหารทะเลที่สำคัญ เช่น สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา อาจไม่เต็มใจยอมรับความเสี่ยงในการซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทะเลจากประเทศไทยหากผลิตภัณฑ์เหล่านั้นอาจเกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานเด็กอย่างไม่เป็นธรรม เราเชื่อว่าระเบียบดังกล่าวจำเป็นต้องมีการทบทวนอย่างเร่งด่วนเพื่อให้แน่ใจว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีความเกี่ยวข้องกับระบบการเฝ้าระวังตลอดจนข้อกำหนดการทำงานที่แน่นอนของแรงงานเด็กบนเรือ

  • การทำให้มาตรการเชิงลงโทษที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันการทำประมง IUU อ่อนแอลง: อาชญากรรมประมงคุกคามความมั่นคงทางอาหาร และบ่อนทำลายความถูกต้องตามกฎหมาย เป็นธรรม และความยั่งยืนของอุตสาหกรรมอาหารทะเล โดยทำลายหลักนิติธรรมและความรับผิดรับชอบชอบ หากไม่มีมาตรการแทรกแซงที่เหมาะสมเพื่อยับยั้งการทำประมง IUU และการละเมิดสิทธิแรงงานที่เกี่ยวข้อง การปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านการประมงของไทยจะลดน้อยลง ซึ่งจะทำลายความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ซื้ออาหารทะเลไทยในตลาดโลก
  • การขยายจำนวนวันออกเรือทำประมงที่อนุญาตต่อครั้ง: ข้อเสนอปัจจุบันแนะนำให้ขยายจำนวนวันจับปลาตามกฎหมายต่อการออกเรือจาก 30 วันเป็น 45 วัน หรือแม้แต่ 60 วัน การขยายเวลาดังกล่าวอาจเพิ่มความพยายามในการประมงเกินกว่าระดับที่ยั่งยืน และในขณะเดียวกันก็เพิ่มโอกาสของการขนถ่ายสัตว์น้ำที่จับได้และลูกเรือในทะเล เนื่องจากเรือสามารถทำการประมงได้ไกลและใช้เวลาจากฝั่งได้มากขึ้น
  • ขยายระยะเวลาที่ผู้ประกอบการเรือสามารถแก้ไขรายชื่อลูกเรือหลังจากออกจากท่าได้: การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะทำให้มีการนำคนงานขึ้นเรือเพิ่มเติมได้หลังจากการตรวจสอบที่ท่าเรืออย่างเป็นทางการแล้วเสร็จ ซึ่งจะเปิดโอกาสต่อความเป็นไปได้ในการค้ามนุษย์และการเอารัดเอาเปรียบแรงงานรวมถึงการใช้แรงงานที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ซึ่งมักจะไม่ได้รับการกำกับดูแลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  • การยกเลิกระบบการจ่ายเงินเดือนผ่านบัญชีธนาคารสำหรับแรงงานประมง: ระบบการจ่ายค่าแรงทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านบัญชีธนาคารแสดงให้เห็นว่าได้ช่วยเพิ่มความโปร่งใสและความน่าเชื่อถืออย่างมากในอุตสาหกรรมที่มีรูปแบบการจ่ายค่าจ้างสับสน การยึดค่าแรงค่าจ้าง และการหักหนี้ที่ไม่โปร่งใส หากไม่มีระบบการจ่ายค่าแรงค่าจ้างที่ปลอดภัยและสามารถตรวจสอบได้ แรงงานประมงอาจถูกหักค่าจ้างและมีหนี้สินผูกมัดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

แม้ว่าจะมีความท้าทายหลายประการต่อประสิทธิผลโดยรวมของระบบการจ่ายค่าแรงผ่านบัญชีธนาคารแต่นี่ยังคงเป็นวิธีที่มีประสิทธิผลมากที่สุดในปัจจุบันเพื่อที่จะรับประกันได้ว่าคนงานจะได้รับค่าจ้าง และพวกเขาจะได้รับเงินในจำนวนที่ถูกต้อง เป็นไปได้อย่างยิ่งว่าการผ่อนปรนนโยบายเพียงเล็กน้อยโดยการยินยอมให้สามารถชำระค่าแรงส่วนหนึ่งของคนงานเป็นเงินสดได้จะทวีคูณความเสี่ยงของการหลอกลวง การหักค่าจ้าง และการผูกมัดด้วยหนี้สิน (ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นตัวบ่งชี้การบังคับใช้แรงงาน) ในกลุ่มชาวประมง

  • การกลับไปจ่ายเงินเดือนลูกเรือเป็นค่าจ้างรายวัน: การยกเลิกการจ่ายเงินเดือนที่ทำอยู่ในปัจจุบันไปสู่การจ่ายเงินสดตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำรายวันเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการหักหรือลดค่าจ้าง การจ่ายเงินเดือนที่ไม่ตรงกัน ไม่สามารถตรวจสอบและการขาดความโปร่งใสทางการเงินโดยสิ้นเชิง นายจ้างยังควรต้องจ่ายเงินเดือนให้กับแรงงานประมงอย่างน้อยเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำรายวันตามกฎหมายคูณด้วย 30 วัน การจ่ายเงินจะต้องทำผ่านบัญชีธนาคารเพื่อให้กระบวนการมีความโปร่งใส
  • ยกเลิกข้อกำหนดที่ผู้ประกอบเรือจะต้องระบุพิกัดการทำประมงในสมุดบันทึกการทำประมง: พิกัดตำแหน่งการทำประมงที่ถูกต้องเป็นสิ่งจำเป็นในการตรวจสอบว่าสัตว์ทะเลถูกจับในพื้นที่การทำประมงที่ถูกกฎหมาย การเปลี่ยนแปลงนี้อาจทำลายความโปร่งใส และเปิดโอกาสให้สามารถทำการประมง IUU ในพื้นที่คุ้มครองได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเรือประมงเชิงพาณิชย์จำนวนนึงยังไม่มีระบบติดตามเรือผ่านดาวเทียม (Vessel Monitoring System: VMS) และ/หรือปิดระบบระบุตัวตนอัตโนมัติ (Automatic Identification System: AIS)
  • ยินยอมให้ต่ออายุใบอนุญาตทำการประมงกับเรือประมงพาณิชย์ที่ถูก 'ล็อก': เรือกลุ่มนี้ (ประมาณ 949 ลำ) ถูกห้ามทำการประมงในปี พ.ศ. 2558 และรวมถึงเรือประมงหรือเรือสนับสนุนการประมงที่พบว่ามีทะเบียนเรือหรือใบอนุญาตทำการประมงไม่ถูกต้อง ณ เวลานั้น การอนุญาตให้เรือเหล่านี้ขึ้นทะเบียนใหม่และกลับมาทำการประมงจะทำให้กองเรือมีกำลังการจับปลาที่มากเกินไปและนำไปสู่การจับปลาเกินขนาดที่ไม่ยั่งยืนในช่วงเวลาที่ปริมาณปลาของประเทศไทยเพิ่งจะอยู่ในระยะเริ่มแรกของการฟื้นฟูหลังจากการลดลงอย่างรุนแรง

พวกเราที่มีรายนามตามท้ายของหนังสือฉบับนี้ ขอเรียกร้องท่านนายกรัฐมนตรีด้วยความเคารพและใคร่ขอให้ท่านดำเนินการโดยทันทีเพื่อให้แน่ใจว่ากฎระเบียบป้องกัน IUU และกลไกความโปร่งใสที่มีอยู่ในปัจจุบันทั้งในกฎหมายและข้อบังคับได้รับการคุ้มครองและมีความเข้มแข็ง แทนที่จะถูกผ่อนปรนหรือเพิกถอน รัฐบาลควรขยายการคุ้มครองสิทธิของลูกเรือข้ามชาติ ไม่ใช่ลดทอนกฎระเบียบให้อ่อนแอลง นอกจากนี้ยังควรปฏิรูปพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 เพื่ออนุญาตให้แรงงานข้ามชาติสามารถจัดตั้ง จดทะเบียนอย่างเป็นทางการ และเป็นผู้นำสหภาพแรงงานที่ตนสร้างขึ้นเอง

พวกเราขอเน้นย้ำว่ารัฐบาลไทยชุดใหม่ควรมีการปฏิบัตินโยบายประมงที่มีความรอบคอบและมีแนวทางการป้องกันที่คำนึงถึงผลกระทบอย่างรอบด้านและชัดเจน ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์และมาตรฐานสากล มากกว่าการดำเนินการตามคำโน้มน้าวที่ให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมในระยะสั้น รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการรักษาความมั่นคงในระยะยาว ความยั่งยืน และการเคารพในสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน และทำให้แน่ใจว่าการแก้ไขกฎหมายและข้อบังคับใด ๆ จะต้องทำอย่างมีส่วนร่วม โดยครอบคลุมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมถึงภาคการประมงเชิงพาณิชย์ ผู้ผลิตอาหารทะเล สมาคมประมงพื้นบ้าน องค์กรภาคประชาสังคม แรงงานข้ามชาติและลูกเรือ และสถาบันการศึกษา ผ่านกระบวนการที่เปิดเผยและเป็นสาธารณะซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนการหารืออย่างสร้างสรรค์และการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างแท้จริง

พวกเราเชื่อว่าภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี ท่านจะให้ความสำคัญกับการรักษาความก้าวหน้าที่ได้มาอย่างยากลำบากนี้ และปูทางไปสู่อนาคตที่สดใสและยั่งยืนมากขึ้นสำหรับอุตสาหกรรมประมงของประเทศไทยตลอดจนทุกคนที่พึ่งพาอุตสาหกรรมนี้ พวกเราขอนัดพบกับท่านหรือตัวแทนของท่าน เพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นที่ระบุในหนังสือฉบับนี้ และขอให้ท่านกรุณาตอบกลับมาที่ ผู้แทนมูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โทรศัพท์ +66-92-968-3057 อีเมล์ info@ejfoundation.org โดยเร็วตามที่ท่านสะดวก

องค์กรที่ร่วมลงนาม:

    1. กรีนพีซ (Greenpeace)
    2. กลุ่มประพื้นบ้านบ้านปากคลอง
    3. กลุ่มประมงบ้านหาดยาวเจ้าไหม
    4. กลุ่มประมงพื้นบ้าน บ้านน้ำราบ
    5. กลุ่มประมงพื้นบ้านเกาะลิบง
    6. กลุ่มประมงพื้นบ้านบ้านแหลมมะขาม
    7. กลุ่มแปรรูปสัตว์น้ำบ้านตะเสะ
    8. กลุ่มแปรรูปอาหารทะเลบ้านฉางหลาง
    9. กลุ่มเฝ้าระวังน้ำผิวดินระยอง
    10. กลุ่มเพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (Human Dignity Group)
    11. กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทุ่งกระบือร่วมใจพัฒนา
    12. กลุ่มวิสาหกิจชุมชนประมงบ้านแหลมไทร
    13. กลุ่มอนุรักทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ต.เกาะสุกร
    14. กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งบ้านต้นไทร (สุโสะ)
    15. คณะทำงานด้านสิทธิมนุษยชน (Human Rights Working Group: HRWG)
    16. คริสตจักรเอกภาพในออสเตรเลีย สมัชชาแห่งวิกตอเรีย และแทสเมเนีย (Uniting Church in Australia, Synod of Victoria and Tasmania)
    17. เครือข่ายฟื้นฟูอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมลำน้ำพอง
    18. เครือข่ายแรงงานข้ามชาติเมียนมาร์ กรุงเทพมหานคร (Myanmar Migrant Network Bangkok: MMNB)
    19. เครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (Labour Protection Network: LPN)
    20. เครือข่ายสิทธิแรงงานประมง (Fishers' Rights Network: FRN)
    21. เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group: MWG)
    22. โครงการริเริ่มความยุติธรรมแห่งมหาสมุทรอินโดนีเซีย (Indonesia Ocean Justice Initiative)
    23. ชมรมประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง
    24. โซลิดาลิตี้ เซ็นเตอร์ (Solidarity Center)
    25. ที่ปรึกษาด้านการวิจัยมนุษยชาติ (Humanity Research Consultancy)
    26. เนเจอร์มายด์ เอ็ด (NatureMind-ED)
    27. แนวร่วมประชาชนเพื่อความยุติธรรมด้านการประมง (The People’s Coalition for Fisheries Justice - Koalisi Rakyat untuk Keadilan Perikanan/KIARA)
    28. ป่าสาละ (Sal Forest)
    29. ฟรีดอม ฟันด์ (Freedom Fund)
    30. ฟอร์ติฟายไรท์ (Fortify Rights)
    31. ฟิชไวส์ (FishWise)
    32. ภาคีเครือข่ายปฏิบัติการประมง (Fisheries Action Coalition Team: FACT)
    33. ภาคีเครือข่ายเพื่อความโปร่งใสด้านการประมง (Coalition for Fisheries Transparency)
    34. มูลนิธิ Nexus3 (Nexus3 Foundation)
    35. มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice Foundation: EJF)
    36. มูลนิธิบูรณะนิเวศ (Ecological Alert and Recovery – Thailand)
    37. มูลนิธิเปจวง ซูอารา เปลาต์ (PSP) แห่งอินโดนีเซีย (Pejuang Suara Pelaut (PSP) Indonesia)
    38. มูลนิธิเพื่อผู้เดินทางข้ามชาติ (Migrant Care)
    39. มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.)
    40. มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP Foundation)
    41. มูลนิธิมานุษยะ (Manushya Foundation)
    42. มูลนิธิรักษ์ไทย (Rak Thai Foundation)
    43. มูลนิธิรักสัตว์ป่า (Love Wildlife Foundation)
    44. มูลนิธิโลกสีเขียว (Green World Foundation)
    45. มูลนิธิสิ่งแวดล้อม การพัฒนา และพลังงานหมุนเวียน( Environnement, Développement et Énergies Renouvelables)
    46. มูลนิธิอีโคนูซา (EcoNusa)
    47. มูลินิธิเปเลาต์ อินโดนีเซีย เซจาห์เทรา (Pelaut Indonesia Sejahtera)
    48. รีรีฟ (ReReef)
    49. เวอริเต้ (Verité)
    50. เวอริเต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Verité Southeast Asia)
    51. ไวล์ดเอด (WildAid)
    52. ศูนย์ปฏิบัติการความรับผิดชอบองค์กร (Corporate Accountability Lab)
    53. ศูนย์ปฏิบัติการนักเดินเรือนานาชาติ มูลนิธิฟิลิปปินส์ อิงค์ (International Seafarers Action Center (ISAC) Philippines Foundation Inc.)
    54. ศูนย์พันธมิตรแรงงานและสิทธิมนุษยชน (Center for Alliance of Labor and Human Rights: CENTRAL)
    55. ศูนย์สนับสนุนผู้อพยพ (Center for Migrants Advocacy: CMA)
    56. สมาคมชาวประมงชายฝั่งมาเลเซียเพื่อการศึกษาและสวัสดิการ (Persatuan Pendidikan dan Kebajikan Jaringan Nelayan Pantai Malaysia: JARING)
    57. สมาคมชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้
    58. สมาคมผู้บริโภคแห่งปีนัง (Consumers' Association of Penang)
    59. สมาคมพราว (PROUD Association)
    60. สมาคมเพื่อการพัฒนาและติดตามการวิจัยแห่งมอริเตเนีย (Baba Cheikh ONG ADRES Association Mauritanienne de développement de recherche et de suivi)
    61. สมาคมเพื่อนโลกแห่งมาเลเซีย (Sahabat Alam Malaysia - Friends of the Earth)
    62. สมาคมแรงงานก่อสร้างและแรงงานไม้นานาชาติ (Building and Wood Worker’s International: BWI)
    63. สมาคมสิ่งแวดล้อมและสัตว์แห่งไต้หวัน (Environment & Animal Society of Taiwan: EAST)
    64. สมาพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (International Federation for Human Rights: FIDH)
    65. สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)
    66. สหพันธ์เพื่อการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมแห่งเกาหลี (Korea Federation for Environmental Movements)
    67. สหพันธ์อิสระคนเดินเรือแห่งเมียนมาร์ (Independent Federation of Myanmar Seafarers: IFOMS)
    68. สหภาพแรงงานข้ามชาติแห่งอินโดนีเซีย (Serikat Buruh Migran Indonesia: SBMI)
    69. สหภาพแรงงานประมงชาวแห่งอินโดนีเซีย (Serikat Pekerja Perikanan Indonesia: SPPI)
    70. องค์การการอนุรักษ์สากล (Conservation International)
    71. องค์การความยุติธรรมแรงงานสากล-สิทธิแรงงานระหว่างประเทศ (Global Labor Justice-International Labor Rights Forum: GLJ-ILRF)
    72. องค์การจังการ์ กะรัต (Jangkar Karat)
    73. องค์การต่อต้านการทำประมงทำลายล้างแห่งอินโดนีเซีย (Destructive Fishing Watch Indonesia)
    74. องค์การบลูเวนเจอร์ส(Blue Ventures)
    75. องค์การปลดปล่อยทาส (Be Slavery Free)
    76. องค์การผู้หญิงเพื่อทะเล (Women4Oceans)
    77. องค์การยุติธรรมนานาชาติ (International Justice Mission)
    78. องค์การหยุดระเบิดปลา มาเลเซีย (Stop Fish Bombing Malaysia)
    79. องค์การเอโคโลกี มาริทิม อินโดนีเซีย (เอโกมาริน) (Ekologi Maritim Indonesia: EKOMARIN)
    80. อ็อกซ์แฟม อินเตอร์เนชั่นแนล-เอเชีย (Oxfam International-Asia)
    81. เอสโอเอส เอิร์ธ (SOS Earth)
    82. โอเชียน่า (Oceana)
    83. ฮิวแมนนิตี้ ยูไนเต็ด แอคชั่น (Humanity United Action)
    84. ฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch)

องค์กรที่ร่วมลงนาม:

85. ฟินน์วอทช์

86. มูลนิธิ เอ-ทเวนตี้วัน

87. มูลนิธิการศึกษาเพื่อการพัฒนา

88. มูลนิธิเพื่อสิทธิแรงงาน

89. มูลนิธิวัฒนเสรี

90. ศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเ

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.