12 พฤษภาคม 2565
ประธานาธิบดี โจเซฟ อาร์ ไบเดน จูเนียร์
ทำเนียบขาว
วอชิงตัน ดีซี
เรื่อง: ร่างกฎหมายองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ละเมิดสิทธิในประเทศไทย
เรียน ประธานาธิบดีไบเดน
พวกเราที่มีรายชื่อด้านท้ายเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร และต้องการเขียนจดหมาย เพื่อแสดงข้อกังวลอย่างร้ายแรงเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ....ของประเทศไทย ซึ่งคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในหลักการเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 การประกาศใช้ร่างกฎหมายนี้ จะทำให้เกิดการละเมิดอย่างเป็นระบบต่อสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการสมาคม และเสรีภาพด้านการแสดงออกของกลุ่มไม่แสวงหากำไร เราจึงกระตุ้นให้ท่านเรียกร้องให้รัฐบาลไทย ถอนร่างกฎหมายนี้ ในระหว่างที่ท่านจะได้ประชุมกับนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา และตัวแทน ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน - สหรัฐฯ สมัยพิเศษ ซึ่งจะมีขึ้นที่ทำเนียบขาวในวันที่ 12-13 พฤษภาคม 2565
ร่างกฎหมายนี้ให้อำนาจเจ้าพนักงานสามารถสั่งการเพียงฝ่ายเดียว ให้มีการยุติการดำเนินกิจกรรมทั้งแบบชั่วคราวหรือถาวรขององค์กรไม่แสวงหากำไร ซึ่งดำเนินงานในประเทศไทย กรณีที่เป็นการดำเนินกิจกรรมหรือการแสดงออกต่อสาธารณะ ซึ่งรัฐบาลไทยเห็นว่า จะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อ “ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ”; “กระทบต่อความเป็นอยู่โดยปกติสุขของบุคคลอื่น”; กระทบต่อ “ประโยชน์สาธารณะรวมทั้งความปลอดภัยสาธารณะ”; กระทบต่อ “ความสงบเรียบร้อย” หรือ “ศีลธรรมอันดีของประชาชน” หรือ “ก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม” ในประเทศไทย องค์กรไม่แสวงหากำไรยังถูกห้ามไม่ให้กระทำการ “ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น” หรือกระทบต่อ “ความมั่นคงของรัฐ รวมถึงความมั่นคงของรัฐด้านเศรษฐกิจ” โดยไม่มีการกำหนดนิยามของถ้อยคำเหล่านี้อย่างชัดเจน ส่งผลให้เจ้าพนักงานสามารถใช้ดุลพินิจเต็มที่ในการตีความ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนในเบื้องต้นต่อร่างกฎหมายที่ลงโทษอย่างรุนแรงและละเมิดสิทธิ ทำให้สามารถใช้อำนาจตามอำเภอใจกับหน่วยงานเหล่านี้ได้
หากมีการประกาศให้ร่างพระราชบัญญัติฯ เป็นกฎหมาย เราคาดว่าหลายหน่วยงานที่ลงนามและสนับสนุนจดหมายที่ส่งถึงท่านจะถูกมาตรการลงโทษ ทั้งโดยการสอบสวนที่ล่วงล้ำความเป็นส่วนตัว ถูกจัดว่าเป็นภัยคุกคามต่อสาธารณะ และหน่วยงานของรัฐบาลอาจสั่งการให้พวกเขายุติการดำเนินกิจกรรม
ดังที่ท่านอาจทราบว่า นอกจากการทำงานที่น่าชื่นชมขององค์กรภาคประชาสังคมของไทยในแง่การสนับสนุนสิทธิมนุษยชน สวัสดิการด้านสังคม การดำเนินกิจกรรมภาคพลเมือง และงานด้านมนุษยธรรมในประเทศไทยแล้ว ภาคประชาสังคมของไทยยังมีบทบาทระดับภูมิภาคอีกด้วย โดยมีองค์กรมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่สำคัญที่ดำเนินกิจกรรมในประเทศไทย เพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นที่หลบหนีจากวิกฤตในเมียนมา (พม่า) และให้ความช่วยเหลือในฝั่งเมียนมาด้วย การดำเนินงานเหล่านี้จะต้องเผชิญกับความเสี่ยง หากมีการประกาศรับรองร่างกฎหมายนี้ เนื่องจากมีข้อบทที่ขัดขวางไม่ให้ภาคประชาสังคมสามารถดำเนินงาน ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการทำลายความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านได้
ในทำนองเดียวกัน ประเทศไทยได้ให้ที่พักพิงเป็นเวลานานกับนักกิจกรรมทางการเมือง และนักกิจกรรมด้านสิทธิ ที่หลบหนีจากรัฐบาลเผด็จการในเวียดนาม กัมพูชา และลาว และองค์กรไม่แสวงหากำไรซึ่งทำงานสนับสนุนผู้ลี้ภัยเหล่านี้ ยังอาจเสี่ยงอย่างมากที่จะถูกสั่งปิด หากมีการประกาศให้ร่างพระราชบัญญัติฯ นี้เป็นกฎหมาย
คุ้มครองภาคประชาสังคมไทย
เพื่อปฏิบัติตามข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญไทย รัฐบาลไทยโดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จึงได้จัดกระบวนการรับฟังความเห็นระหว่างปลายเดือนมกราคม 2565 ถึงสิ้นเดือนเมษายน 2565 เพื่อให้สอดคล้องกับกระบวนการปรึกษาหารือในเบื้องต้นนี้ องค์กรไม่แสวงหากำไร 1,867 แห่งทั่วประเทศไทย จึงได้เผยแพร่แถลงการณ์ร่วม และต่อมาได้จัด การชุมนุมประท้วง เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยถอนร่างพระราชบัญญัติฯ นี้
กลุ่มของเราประสงค์ที่จะแจ้งให้ท่านทราบว่า พวกเราเป็นกลุ่มประชาสังคมซึ่งทำงานในหลากหลายประเด็น ในการทำงานเป็นองค์กร เราได้ทำงานในหลายภาคส่วน และมุ่งส่งเสริมกระบวนการประชาธิปไตย คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ลดความยากจน ช่วยเหลือครอบครัว สนับสนุนเด็ก คนพิการ และผู้สูงวัย การยุติการค้ามนุษย์ การสอบสวนห่วงโซ่อุปทานภาคธุรกิจ การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม การสนับสนุนกิจกรรมภาคพลเมือง การเปิดโปงการทุจริตและการใช้อำนาจอย่างมิชอบของรัฐบาล การคุ้มครองผู้เปิดโปงเบาะแสการทุจริต และการช่วยเหลือบุคคลให้เข้าถึงการดูแลด้านสุขภาพและการศึกษาอย่างเหมาะสม
ภาคประชาสังคมของไทยและผู้สนับสนุนจากนานาชาติ ประสงค์ที่จะทำให้ประชาธิปไตยของไทยดีขึ้นและมีส่วนร่วมมากขึ้น และหน่วยงานเหล่านี้ไม่ควรจะต้องเผชิญกับข้อจำกัดที่มีบทลงโทษรุนแรง ตามร่างกฎหมายที่รัฐบาลไทยเสนอ
ความเสี่ยงเนื่องจากร่างพระราชบัญญัติฯ นี้
ร่างกฎหมายนี้คุกคามการทำงานที่สำคัญของภาคประชาสังคม และรัฐบาลไทยไม่ได้แสดงหลักการและเหตุผลสนับสนุนกฎหมายนี้ เว้นแต่บอกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ก็มีกฎหมายลักษณะเดียวกัน ผู้จัดทำร่างระบุอย่างชัดเจนว่า ได้รับอิทธิพลจากประเทศอินเดีย ซึ่งรัฐบาลที่นั่นใช้กฎหมายสั่งปิดหน่วยงานภาคเอกชนระหว่างประเทศหลายแห่ง ข้ออ้างของรัฐบาลไทยที่ว่ามีเป้าหมายสนับสนุนให้เกิด “ความโปร่งใส” ในภาคองค์กรไม่แสวงหากำไร ไม่มีหลักฐานรองรับแต่อย่างใด เนื่องจากประเทศไทยมีกฎหมายและระเบียบที่เหมาะสมอยู่แล้วในการกำกับดูแลองค์กรไม่แสวงหากำไร กล่าวโดยสรุป ร่างกฎหมายนี้เป็นเพียงการขยายอำนาจอย่างกว้างขวางของรัฐบาล เพื่อที่จะควบคุมเหนือการทำงานทุกด้านและการรวมตัวทุกประเภทของภาคประชาสังคมในประเทศไทย
กฎหมายนี้มีการใช้ถ้อยคำที่ระบุอย่างเฉพาะเจาะจงว่า “องค์กรไม่แสวงหากำไร” หมายความว่า คณะบุคคลภาคเอกชน ซึ่งรวมกลุ่มกันจัดตั้งในรูปแบบใด ๆ ที่มีบุคคลร่วมดำเนินงานเพื่อจัดทำกิจกรรมต่าง ๆ ในสังคม โดยไม่มุ่งแสวงหากำไรมาแบ่งปันกัน แต่ไม่รวมถึงการรวมกลุ่มของคณะบุคคลเพื่อดำเนินกิจกรรมเป็นการเฉพาะคราว หรือดำเนินกิจกรรมเฉพาะเพื่อประโยชน์ของคณะบุคคลนั้น หรือพรรคการเมือง” นอกจากนั้น กฎหมายนี้ยังระบุว่า “องค์กรไม่แสวงหากำไรแห่งใดมีการจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายโดยเฉพาะ นอกจากต้องปฏิบัติตามกฎหมายโดยเฉพาะนั้นแล้ว ให้อยู่ในบังคับตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ด้วย”
จากการนิยามที่กว้างขวางขององค์กร “ไม่แสวงหากำไร” ทำให้กฎหมายนี้มีเนื้อหาครอบคลุมองค์กรแทบทุกอย่าง ตั้งแต่หอการค้าของต่างประเทศ ไปจนถึงกลุ่มเกษตรกร องค์กรซึ่งช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งผู้มีเชื้อเอชไอวี/เอดส์ องค์กรแรงงานข้ามชาติ องค์กรผู้มีความหลากหลายทางเพศ ชาวบ้านที่ทุกข์ทนเพราะการประท้วงการเวนคืนที่ดิน กลุ่มอนุรักษ์ป่าไม้และสิ่งแวดล้อม สมาคมกีฬาชุมชนและมูลนิธิในท้องถิ่น องค์กรสิทธิมนุษยชน และกลุ่มพัฒนาชุมชน ทั้งนี้โดยไม่มีข้อจำกัดอย่างชัดเจนในแง่ขององค์กรที่จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากกฎหมายนี้
กล่าวโดยสรุป รัฐบาลไทยดูเหมือนจะคาดหวังให้ประชาคมระหว่างประเทศเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ขณะที่รัฐบาลไทยมุ่งจำกัดอย่างรุนแรงต่อเสรีภาพขั้นพื้นฐานทั่วประเทศไทย ในประเทศที่มีประชากรเกือบ 70 ล้านคน และมีรัฐบาลที่อยู่ใต้อิทธิพลของผู้นำกองทัพ เป็นที่ชัดเจนว่าข้อบทตามร่างพระราชบัญญัติฯ นี้ จะถูกนำมาใช้โดยพลการ เพื่อมุ่งจำกัดอย่างรุนแรงต่อสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุมอย่างสงบ และการสมาคม รวมทั้งสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ
รายละเอียดของร่างพระราชบัญญัติฯ
ดังที่กล่าวถึงข้างต้น ร่างกฎหมายนี้มีเนื้อหาที่คลุมเครืออย่างยิ่ง การใช้ถ้อยคำที่ต้องตีความย่อมเป็นเหตุให้การดำเนินงานแทบทุกประการ อาจถูกพิจารณาว่าเป็นการละเมิดข้อบทในกฎหมายนี้ โดยมีข้อบทกำกับให้องค์กรไม่แสวงหากำไรด้านล่าง จะต้องไม่ดำเนินการที่กระทบต่อ “ศีลธรรมอันดี” ของประชาชน หรือ “กระทบต่อความเป็นอยู่โดยปกติสุข” ไม่เช่นนั้นก็จะถูกปรับวันละ 10,000 บาท
มาตรา 20 องค์กรไม่แสวงหากำไรต้องไม่ดำเนินงานในลักษณะดังต่อไปนี้
(1) กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ รวมถึงความมั่นคงของรัฐด้านเศรษฐกิจ หรือด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
(2) กระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม
(3) กระทบต่อประโยชน์สาธารณะรวมทั้งความปลอดภัยสาธารณะ
(4) เป็นการกระทำความผิดต่อกฎหมาย
(5) เป็นการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น หรือกระทบต่อความเป็นอยู่โดยปกติสุขของบุคคลอื่น
มาตรา 26 องค์กรไม่แสวงหากำไรแห่งใดไม่ยุติการดำเนินงานตามคำสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา 20 วรรคสอง หรือมาตรา 21 กรณีที่มีการบังคับใช้ตามมาตรา 20 วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท และปรับอีกวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
ร่างกฎหมายนี้ยังขัดขวางไม่ให้หน่วยงานซึ่งช่วยเหลือชุมชนทั่วประเทศไทย สามารถเข้าถึงแหล่งทุนที่จำเป็นสำหรับการทำงานที่สำคัญนี้ได้ ข้อจำกัดและข้อกำหนดให้รายงานข้อมูลเกี่ยวกับความสนับสนุนด้านแหล่งทุนจากนอกประเทศไทย มีเนื้อหาขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งยังเป็นอุปสรรคต่อแหล่งทุนที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับหน่วยงานที่ช่วยเหลือประชาชนในประเทศไทยทุกวัน
มาตรา 21 องค์กรไม่แสวงหากำไรแห่งใดที่ได้รับเงินอุดหนุนหรือเงินบริจาคจากแหล่งเงินทุนต่างประเทศให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(1) แจ้งชื่อแหล่งเงินทุนต่างประเทศ บัญชีธนาคารที่จะรับเงิน จำนวนเงินที่จะได้รับ และวัตถุประสงค์ของการนำเงินไปใช้จ่าย ต่อนายทะเบียน
(2) ต้องรับเงินผ่านบัญชีของธนาคารตามที่องค์กรไม่แสวงหากำไรแจ้งไว้ต่อนายทะเบียน
(4) ต้องใช้เงินที่ได้รับจากแหล่งเงินทุนต่างประเทศเฉพาะตามวัตถุประสงค์ที่ได้แจ้งต่อนายทะเบียนตาม (1)
(5) ต้องไม่ใช้เงินที่ได้รับจากแหล่งเงินทุนต่างประเทศเพื่อดำเนินกิจกรรมในลักษณะการแสวงหาอำนาจรัฐ หรือเอื้อประโยชน์ต่อพรรคการเมือง
ร่างกฎหมายนี้ยังสร้างความถดถอยมากขึ้นต่อประเทศไทย ในแง่การสูญเสียความเป็นส่วนตัวและสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการสมาคม
มาตรา 19 เพื่อประโยชน์แห่งความโปร่งใสและให้ประชาชนได้รับรู้กิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร ให้องค์กรไม่แสวงหากำไรมีหน้าที่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับชื่อขององค์กร วัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง วิธีดำเนินงาน แหล่งที่มาของเงินทุนรายชื่อผู้รับผิดชอบดำเนินงาน โดยให้หน่วยงานของรัฐและบุคคลทั่วไปเข้าถึงข้อมูลนั้นโดยง่าย
องค์กรภาคประชาสังคม บุคคลที่ทำงานกับหน่วยงานเหล่านี้ และชุมชนที่ได้รับประโยชน์จากกลุ่มเหล่านี้ มีสิทธิในการรวมตัว แสดงความเห็น และดำเนินการเพื่อชุมชนของตน สิทธิทางพลเมืองและการเมืองที่สำคัญเหล่านี้ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งประเทศไทยให้สัตยาบันรับรอง และมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม
ข้อเสนอแนะ
ด้วยความเคารพ เราจึงเรียกร้องให้ท่านและรัฐบาลของท่าน กดดันรัฐบาลไทยให้ถอนร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ....ทันที และประกันว่ากฎหมายและระเบียบอย่างอื่นที่ประเทศไทยเสนอและมีส่วนเกี่ยวข้องกับองค์กรไม่แสวงหากำไร จะมีเนื้อหาที่สอดคล้องอย่างจริงจังกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
ขอแสดงความนับถือ
- Amnesty International
- APCOM
- Asian Cultural Forum on Development (ACFOD)
- Asia Network for Free Elections (ANFREL)
- Asia Pacific Refugee Rights Network (APRRN)
- Asia Pacific Transgender Network (APTN)
- Article 19
- Asia Democracy Network (AND)
- Be Slavery Free
- Campaign Committee for Human Rights (CCHR)
- Campaign for Popular Democracy (CPD)
- CIVICUS: World Alliance for Citizen Participation
- Community Resource Center (CRC)
- Cross Cultural Rights Foundation (CrCF)
- CSO Coalition for Ethical and Sustainable Seafood (CSO Coalition)
- Democracy Restoration Group (DRG)
- EnLAW
- Environmental Justice Foundation (EJF)
- Equal Asia Foundation
- Finnwatch
- Fishwise
- Fortify Rights
- Forum Asia (Asian Forum for Rights and Development)
- Freedom Fund
- Freedom United
- Global Labor Justice-International Labor Rights Foundation
- Glom Duayjai
- Green America
- Greenpeace Thailand
- Greenpeace USA
- Human Rights Watch
- Human Rights and Development Foundation (HRDF)
- Human Rights Lawyers Association (HRLA)
- Humanity United Action
- ILGA Asia (Asian Region of the International Lesbian, Gay, Bisexual, Trans and Intersex Association)
- Inter Mountain People's Education and Culture in Thailand Association
- International Commission of Jurists (ICJ)
- International Federation for Human Rights (FIDH)
- International Justice Mission (Thailand)
- Jaringan Mangsa Dari Undang–Undang Darurat (JASAD)
- Justice for Peace Foundation
- Kru Kor Sorn
- Labour Protection Network (LPN)
- Lawyers Rights Watch Canada (LRWC)
- Manushya Foundation
- MAP Foundation (Migrant Assistance Program)
- MobNews
- NGOs for the People
- Patani Human Rights Organization (HAP)
- Peace and Human Rights Resource Center (PHRC)
- Protection International
- SEA Junction
- SHero Thailand
- Solidarity Center
- Stop Drink Network Thailand (SDN)
- Thai Action Coalition for Democracy in Burma (TACDB)
- Thai Lawyers for Human Rights (TLHR)
- Thai Teachers for Child Rights Association (TTCR)
- Togetherness for Equality and Action (TEA)
- Union for Civil Liberty (UCL)
- United Front of Thammasat and Demonstration
- Verite
- Women4Oceans
- Workers’ Union (Thailand)
- Young Pride Club (YPC)
สำเนา:
แอนโทนี เจ บลิงเคน, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ
เวนดี อาร์ เชอร์แมน, รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ