Skip to main content

จุดสิ้นสุดของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทย?

ต้องมีการยกเครื่องอย่างเร่งด่วน เพื่อประกันความน่าเชื่อถือและความเป็นอิสระ

โฆเซ แอล คุยเซีย จูเนียร์ ประธานมูลนิธิรามอน แมกไซไซ มอบรางวัลรามอน แมกไซไซประจำปี 2562 ให้กับอังคณา นีละไพจิตรจากประเทศไทย ในพิธีซึ่งจัดขึ้นที่กรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์ วันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม 2562 © 2019 AP Photo/Aaron Favila
การลาออกของผู้รณรงค์สิทธิมนุษยชนคนสำคัญสองท่านจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ของไทย เป็นสัญญาณเตือนที่น่ากลัวถึงความจำเป็นที่จะต้องยกเครื่องหน่วยงานที่เต็มไปด้วยข้อบกพร่องและเรื่องอื้อฉาว

อังคณา นีละไพจิตรและเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชน ประกาศลาออกเมื่อวันอังคาร ระบุว่าไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นอิสระและเป็นผล เนื่องจากระเบียบที่ควบคุมจำกัด และบรรยากาศภายในที่ทำงานที่เป็นปรปักษ์และไม่เกื้อหนุน ก่อนหน้านี้กรรมการสิทธิฯ อีกสองท่านได้ลาออกไปแล้ว ส่งผลให้คณะกรรมการซึ่งมีอยู่เจ็ดท่านไม่สามารถทำงานได้ เนื่องจากไม่ครบองค์ประชุม  

จากที่เคยเป็นต้นแบบคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กสม.ได้ถูกลดอันดับสากลเมื่อปี 2558 โดยกลุ่มพันธมิตรโลกสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เนื่องจากรัฐบาลเข้ามาแทรกแซงกระบวนการสรรหากรรมการ สนับสนุนให้มีแต่กรรมการที่มีจุดยืนทางการเมืองลำเอียงเข้าข้างรัฐบาล สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น เนื่องจากการตราพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ซึ่งยิ่งทำให้หน่วยงานขาดความเป็นอิสระมากยิ่งขึ้น และกลายเป็นเพียงกระบอกเสียงของรัฐบาลโดยปริยาย ตรงข้ามกับหลักการแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสถานะของสถาบันแห่งชาติ (หลักการปารีส

อังคณาและเตือนใจพยายามขัดขืนระเบียบที่ควบคุมจำกัดดังกล่าว แต่ต้องเผชิญกับการตอบโต้จากฝ่ายบริหารขององค์กร ในเดือนพฤษภาคม 2562 ประธานกสม.ตอบโต้ด้วยการสั่งให้สอบสวนทางวินัยกับอังคณา และขู่จะถอดถอนเธอ เนื่องจากไปสังเกตการณ์ในกระบวนการยุติธรรม และเก็บข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชนของนักการเมืองฝ่ายค้าน และผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ในวันศุกร์ มีการประกาศว่าอังคณาเป็นผู้รับรางวัลรามอน แมกไซไซ ซึ่งถือว่าเป็น “รางวัลโนเบลแห่งเอเชีย” จาก “การทำงานส่งเสริมความยุติธรรม ซึ่งหลายกรณีสร้างความเจ็บปวดเป็นอย่างยิ่ง”

ประเทศไทยจำเป็นต้องมีหน่วยงานสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่น่าเชื่อถือ รัฐบาลและทุกพรรคการเมืองในรัฐสภาควรร่วมมือกันแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่เป็นปัญหา ให้มีเนื้อหาสอดคล้องอย่างเต็มที่กับมาตรฐานระหว่างประเทศ กระบวนการสรรหากรรมการควรมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ และโปร่งใสมากกว่ากระบวนการในปัจจุบัน ซึ่งส่งผลให้มีการแต่งตั้งกรรมการที่ขาดประสบการณ์และขาดคุณสมบัติ โดยมักเป็นผู้สมัครที่เป็นอดีตข้าราชการ แทนที่จะเป็นผู้รณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชน

หากไม่มีการปฏิรูปอย่างจริงจัง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนย่อมไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นอิสระเพื่อต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย 

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.