คำพูดถากถางเหยียดเชื้อชาติของนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาของไทยต่อชาวโรฮิงญา ถือว่าแย่แล้ว แต่ที่แย่กว่านั้นคือเป็นคำพูดที่สะท้อนถึงนโยบายที่ทารุณโหดร้ายของรัฐบาลไทยต่อผู้แสวงหาที่ลี้ภัยชาวโรฮิงญา ซึ่งเสี่ยงภัยเดินทางหลบหนีจากการประหัตประหาร และการปฏิบัติมิชอบอย่างร้ายแรงในรัฐยะไข่ของเมียนมา
ในการอ่านคำแถลงนโยบายของรัฐบาลใหม่ต่อที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ประยุทธ์กล่าวว่า “ขณะที่เรื่องโรฮิงญา ตนเห็นใจเขา แต่รูปร่างลักษณะอัตลักษณ์ต่างจากเรามาก ถ้าวันหน้ามีคนเหล่านี้ในไทยมากยิ่งขึ้นก็แล้วแต่ท่าน”
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทางการไทยระบุว่าไม่ต้องการยอมรับผู้แสวงหาที่ลี้ภัยชาวโรฮิงญา และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ซึ่งมีประยุทธ์เป็นประธานได้หยุดพวกเขาด้วยแผนปฏิบัติการสามขั้นตอน
ตามแผนปฏิบัติการดังกล่าว กองทัพเรือไทยสามารถส่งเรือไปดักรอเรือของชาวโรฮิงญานอกชายฝั่ง นำเชื้อเพลิง อาหาร น้ำ และเสบียงอื่น ๆ ไปให้ กรณีที่ผู้อยู่บนเรือยินยอมเดินทางต่อไปยังมาเลเซียหรืออินโดนีเซียทันที ถ้าเรือลำใดแล่นเข้ามาจอดที่ชายฝั่งไทยก็จะถูกจับ ประเทศไทยปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญาเหมือนเป็นผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย มีการกักตัวพวกเขาโดยไม่มีเวลากำหนดในห้องควบคุมตัวของตม.และตำรวจที่มีสภาพเลวร้าย และยังปฏิเสธไม่ให้หน่วยงานด้านผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติดำเนินการพิสูจน์สถานะผู้ลี้ภัยของพวกเขา
แต่ตามกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ประเทศไทยไม่สามารถปฏิเสธการขอที่ลี้ภัยที่พรมแดนอย่างรวบรัดเช่นนั้น ประเทศไทยมีพันธกรณีต้องอนุญาตให้ผู้แสวงหาที่ลี้ภัยชาวโรฮิงญา สามารถเดินทางเข้าประเทศและขอความคุ้มครองได้
ควรมีการยกเลิกนโยบาย “ผลักดันและส่งกลับ” ที่ไร้มนุษยธรรมของประเทศไทยที่กระทำต่อเรือที่เข้ามาใหม่โดยทันที ในฐานะประธานสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ประเทศไทยควรเป็นผู้นำในการสร้างความพร้อมและกลไกคุ้มครองระดับภูมิภาคสำหรับผู้แสวงหาที่ลี้ภัยชาวโรฮิงญา โดยร่วมมือกับมิตรประเทศที่เห็นใจพวกเขา รวมทั้งหน่วยงานสหประชาชาติที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศไทยควรอนุญาตให้หน่วยงานด้านผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติสามารถเข้าถึง และดำเนินการพิสูจน์สถานะผู้ลี้ภัยโดยการสัมภาษณ์ชาวโรฮิงญาทุกคนที่เดินทางเข้าสู่ประเทศไทย โดยไม่มีการปิดกั้น
ประยุทธ์ควรตระหนักว่า หนทางที่ดีสุดเพื่อลดจำนวนผู้แสวงหาที่ลี้ภัยในอนาคต คือการกดดันให้เมียนมายุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวโรฮิงญา แต่ถึงอย่างนั้น รัฐบาลไทยชุดที่ผ่าน ๆ มา ไม่กล้าออกมาแสดงความเห็นเช่นนี้ การเพิกเฉยต่อชะตากรรมของชาวโรฮิงญาต่อไป ย่อมทำให้เกิดความเสี่ยงต่อชื่อเสียงเกียรติภูมิของประเทศไทย เนื่องจากไม่ดำเนินการเพื่อยุติการหลั่งไหลออกนอกประเทศของชาวโรฮิงญาผู้ทุกข์ทน ประเทศไทยจึงควรเปลี่ยนแนวทางของตนอย่างเร่งด่วน หากต้องการมีบทบาทเป็นผู้นำในการแสวงหาทางออกระดับภูมิภาคต่อวิกฤตของชาวโรฮิงญา