Skip to main content

แถลงการณ์ร่วม ว่าด้วยการลงนาม บันทึกความเข้าใจเรื่องการกำหนดมาตรการและแนวทางแทนการกักตัวเด็กในสถานกักตัวคนต่างด้าวเพื่อรอการส่งกลับ

พวกเราซึ่งเป็นหน่วยงานทำงานด้านสิทธิผู้ลี้ภัยในประเทศไทย ยินดีกับการยืนยันตามเจตนารมย์ของรัฐบาลไทยในวันนี้ ที่จะยุติการกักตัวเด็กผู้ลี้ภัยและผู้อพยพ นับเป็นก้าวย่างที่น่าชื่นชม และเป็นเหตุให้ประเทศไทยดำเนินการสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศมากขึ้น ในแง่การปฏิบัติต่อเด็กผู้ลี้ภัยและผู้อพยพ และการยอมรับสิทธิขั้นพื้นฐานของพวกเขาตามกฎหมายระหว่างประเทศ

เราขอให้ทางการไทยปล่อยตัวผู้ลี้ภัยทุกคนที่ถูกกักตัวโดยพลการในประเทศไทยโดยทันที และคุ้มครองอย่างเต็มที่ต่อสิทธิของผู้ลี้ภัยรวมทั้งเด็กผู้ลี้ภัย โดยให้การสนับสนุนเด็กผู้ลี้ภัยได้อยู่ร่วมกับครอบครัว และดำเนินการในลักษณะที่ตอบสนองต่อประโยชน์สูงสุดของเด็ก

ในวันนี้ รองนายกรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ตัวแทนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงแรงงาน ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจเรื่องการกำหนดมาตรการและแนวทางแทนการกักตัวเด็กในสถานกักตัวคนต่างด้าวเพื่อรอการส่งกลับ บันทึกความเข้าใจฉบับนี้จัดทำขึ้นบนพื้นฐานแนวความคิดที่ว่า การกักตัวเด็กควรเป็นมาตรการสุดท้ายที่นำมาใช้ และให้กักตัวในระยะเวลาสั้นสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ บันทึกความเข้าใจฉบับนี้กำหนดให้เคารพประโยชน์สูงสุดของเด็ก และเน้นย้ำความรับผิดชอบของรัฐบาลที่จะต้องประกันให้เด็กอยู่ภายใต้การดูแลของครอบครัวตนเอง การส่งตัวเด็กเข้าไปยังสถานสงเคราะห์ของเอกชนหรือรัฐบาล ให้ถือเป็นมาตรการสุดท้าย โดยรัฐบาลอยู่ในระหว่างการจัดทำขั้นตอนปฏิบัติอย่างละเอียด เพื่อให้สามารถบังคับใช้ตามข้อกำหนดนี้ได้

บันทึกความเข้าใจฉบับนี้สะท้อนถึงแนวทางเบื้องต้น เพื่อยุติการกักตัวเด็กผู้เข้าเมือง จำเป็นต้องมีความพยายามอย่างต่อเนื่องเพื่อคุ้มครองประโยชน์สูงสุดของเด็ก และทำให้นโยบายและการปฏิบัติของไทยสอดคล้องกับมาตรฐานขั้นพื้นฐานระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตามบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ไม่ได้เน้นย้ำถึงประเด็นความเป็นเอกภาพของครอบครัว แม่ผู้เข้าเมืองจะได้รับการปล่อยตัวโดยต้องมีการประกันตัวออกไปโดยการวางหลักทรัพย์เป็นเงินจำนวน 50,000 บาท เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับลูกในสถานสงเคราะห์ หรือกลับสู่ชุมชนได้ ซึ่งถือเป็นอัตราค่าประกันตัวที่สูงมากสำหรับผู้เข้าเมืองส่วนใหญ่ โดยเฉพาะผู้ลี้ภัย ซึ่งถูกห้ามไม่ให้ทำงานระหว่างอยู่ในประเทศไทย การให้ประกันตัวยังไม่ครอบคลุมถึงพ่อของเด็กผู้เข้าเมือง ปิดกั้นสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่กับครอบครัวของเด็ก ซึ่งเป็นสิทธิตามบัญญัติของกฎหมายระหว่างประเทศ และแนวปฏิบัติเพื่อประโยชน์สูงสุด อีกทั้งการประกันตัวยังจำกัดอยู่เฉพาะแม่ที่มีลูกซึ่งถูกกักตัวเท่านั้น

ทางการไทยยังคงตรวจค้นผู้เข้าเมือง ส่งผลให้มีการจับกุมและควบคุมตัวโดยพลการต่อเด็กและผู้ลี้ภัย นับแต่เดือนตุลาคม 2561 หน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองได้มีปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องในทุกพื้นที่ของกรุงเทพฯ และพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศไทย ทางการไทยได้จับกุมผู้ลี้ภัยหลายร้อยคน รวมทั้งเด็ก ซึ่งได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UN High Commissioner for Refugees - UNHCR) แล้ว  การจับกุมเหล่านี้ถือว่าขัดกับบรรทัดฐานกฎหมายระหว่างประเทศ ในแง่การคุ้มครองผู้ลี้ภัย และขัดต่อพันธกิจที่รัฐบาลประกาศว่าจะเคารพสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

เรายังคงมีความกังวลใจ ด้วยว่ายังมีเด็กถูกกักอยู่ในสถานกักตัวคนต่างด้าวเพื่อรอการส่งกลับของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสวนพลู กรุงเทพฯ ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก (U.N. Convention on the Rights of the Child - CRC) ซึ่งห้ามการควบคุมตัวเด็กโดยพลการและไม่ชอบด้วยกฎหมาย อนุสัญญาฯ มีข้อยกเว้นให้แยกเด็กจากพ่อหรือแม่โดยไม่สมัครใจได้ เฉพาะในกรณีที่ “หน่วยงานที่มีอำนาจได้รับการพิจารณาจากศาล ซึ่งวินิจฉัยว่า...การแยกเช่นว่านี้จำเป็นเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก” มาตรา 22 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 กำหนดให้คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ ในการปฏิบัติต่อเด็กไม่ว่ากรณีใด  การกักตัวนี้สะท้อนว่า ประเทศไทยยังไม่ได้ปฏิบัติตามพันธกิจที่มีต่อกฎหมายระหว่างประเทศแต่อย่างใด

แม้ว่าประเทศไทยไม่ได้เป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 และพิธีสารเลือกรับ พ.ศ. 2510 แต่ที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้แสดงเจตนารมย์ที่จะคุ้มครองผู้ลี้ภัยในประเทศไทย รวมทั้งการรับรองข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐาน ที่ปลอดภัย เป็นระเบียบ และปกติ (Global Compact for Safe, Orderly and Regular Migration -GCM) และเห็นชอบต่อข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยผู้ลี้ภัย (Global Compact on Refugees - GCR) ในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อเดือนธันวาคม 2561 รัฐบาลไทยยังย้ำถึงเจตนารมย์ที่มีต่อ “มนุษยธรรมและการดูแลกลุ่มผู้เข้าเมืองแบบไม่ปรกติหลากหลายกลุ่ม” ในระหว่างที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติทบทวนพันธกรณีของประเทศไทยตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) ในเดือนมีนาคม 2560 ในวันที่ 10 มกราคม 2560 รัฐบาลยังมีมติคณะรัฐมนตรีเพื่อให้จัดทำกรอบกฎหมายในการจำแนกและยอมรับสถานะผู้ลี้ภัย อย่างไรก็ดี จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลไทยยังไม่ได้กำหนดมาตรการทางกฎหมายเพื่อปฏิบัติตามมติดังกล่าว

แม้ว่าจะมีการแสดงเจตนารมย์ของรัฐบาลเช่นนี้ แต่กฎหมายไทยยังไม่รับรองหรือไม่ได้คุ้มครองผู้ลี้ภัย และผู้อพยพทุกคนที่พบว่าอยู่ในประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาต ดังนั้นผู้ลี้ภัย และผู้อพยพยังคงมีความเสี่ยงต่อการถูกจับกุม ถูกปรับ คุมขัง ถูกกัก รวมทั้งอาจถูกส่งตัวกลับ ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่ละเมิดต่อการคุ้มครองผู้ลี้ภัยตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่ให้การคุ้มครองการไม่ลงโทษจากการเข้าเมือง และการคุ้มครองพื้นฐานที่เป็นส่วนหนึ่งของกติกาด้านสิทธิมนุษยชนหลายฉบับ

เราจึงขอเรียกร้องรัฐบาลไทยให้

  • ยุติการกักตัวผู้ลี้ภัยทุกคนที่ถูกควบคุมตัวเพียงเพราะสถานะการเข้าเมืองของพวกเขา
  • ประกันว่าการกักตัวผู้อพยพจะเป็นทางเลือกสุดท้าย ซึ่งต้องมีการประเมินเป็นรายบุคคลเสียก่อน และหลังจากมีการพิจารณาใช้มาตรการอื่นนอกจากการกักตัวจนหมดแล้ว
  • ให้ทำการปรึกษาหารืออย่างจริงจังและอย่างเป็นทางการกับกลุ่มตัวแทนผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย และภาคประชาสังคม เพื่อจัดทำกรอบกฎหมายที่ยอมรับและคุ้มครองผู้ลี้ภัย ให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ และประกันให้พวกเขามีสิทธิในการทำงาน เพื่อให้มีมาตรฐานการดำรงชีพที่เหมาะสมระหว่างรอการไปประเทศที่สาม หรือกลับประเทศด้วยความสมัครใจ
  • ให้ยกเลิกประกาศข้อสงวนที่มีต่อข้อ 22 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งกำหนดให้มีการคุ้มครองอย่างเหมาะสมต่อเด็กผู้ลี้ภัย
  • ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 และพิธีสารเลือกรับ พ.ศ. 2510 และอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของคนงานอพยพและสมาชิกครอบครัว (Convention on the Protection of All Migrant Workers and Members of Their Families)

ลงนาม

Asia Pacific Refugee Rights Network (APRRN)

Asylum Access Thailand (AAT)  อไซลัมแอคเซส ประเทศไทย

Center for Asylum Protection (CAP)

Coalition for the Rights of Refugees and Stateless Persons (CRSP) เครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ

Fortify Rights ฟอร์ติไฟต์ ไรท์

Human Rights Watch (HRW)

Migrant Working Group (MWG) เครือข่ายประชากรข้ามชาติ

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.