Skip to main content

ประเทศไทย: สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศสควรกระตุ้นให้ยุติระบอบปกครองของทหาร

กดดันให้ผู้นำรัฐบาลทหารที่มาเยือน ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาว่าด้วยสิทธิและประชาธิปไตย

นักกิจกรรมที่เรียกร้องประชาธิปไตยถือพัดระหว่างการประท้วงรัฐบาลทหารใกล้กับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561  © 2018 Reuters/Soe Zeya Tun
(ลอนดอน) –นายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ แห่งสหราชอาณาจักร และประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส ควรกดดันผู้นำรัฐบาลทหารของไทย ให้เคารพสิทธิมนุษยชน และประกันให้มีการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยพลเรือนโดยเร็ว ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้ นายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีกำหนดการเข้าพบนายกรัฐมนตรีเมย์ในวันที่ 20 มิถุนายน 2561 ที่กรุงลอนดอน และเข้าพบประธานาธิบดีมาครงวันที่ 25 มิถุนายนที่กรุงปารีส

“นายกรัฐมนตรีเมย์และประธานาธิบดีมาครงควรแสดงความกังวลอย่างลึกซึ้งและจริงจัง เกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนที่เลวร้ายลง ภายใต้ระบอบปกครองของทหารในประเทศไทย” แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “พวกเขาควรแสดงความเห็นอย่างชัดเจนต่อพล.อ. ประยุทธ์ว่า จะไม่หวนคืนไปสู่ความสัมพันธ์แบบเดิมกับประเทศไทย จนกว่าจะมีการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม การจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนตามระบอบประชาธิปไตย และการเคารพสิทธิมนุษยชนมากยิ่งขึ้น”

สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสเป็นพันธมิตรสำคัญของประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาได้เคยให้ความเห็นหลายครั้งว่า จะยังไม่ฟื้นฟูความสัมพันธ์แบบทวิภาคีที่เป็นปรกติ จนกว่าจะมีการฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์โดยผ่านการจัดเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม

ที่ผ่านมาไม่ได้เกิดความก้าวหน้าใด ๆ ในประเทศไทย ในแง่การเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐบาลประชาธิปไตยที่เคารพสิทธิ ตามคำสัญญาของพล.อ. ประยุทธ์ ในขณะที่ย่างเข้าสู่ปีที่สี่ หลังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พล.อ. ประยุทธ์ได้ใช้อำนาจที่ปราศจากการตรวจสอบถ่วงดุล ทั้งจากอำนาจฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ หรือตุลาการ ทั้งปราศจากการตรวจสอบและการรับผิด เพื่อทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 และ 13/2559 ให้อำนาจหน่วยงานทหารในการควบคุมตัวบุคคลอย่างเป็นความลับ ไม่เกินเจ็ดวันโดยไม่มีการตั้งข้อหา และสามารถสอบปากคำผู้ต้องสงสัย โดยไม่ให้มีโอกาสเข้าถึงทนายความได้ หรือไม่มีหลักประกันเพื่อป้องกันการปฏิบัติมิชอบ

โรดแมป” ของพล.อ. ประยุทธ์ซึ่งมีการโฆษณาชวนเชื่อว่า จะคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยโดยพลเรือน กลายเป็นคำสัญญาที่ว่างเปล่า ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว ที่ผ่านมามีการเลื่อนวันเลือกตั้งตามที่รัฐบาลสัญญาเอาไว้ออกไปเรื่อย ๆ ทำให้เกิดกรอบเวลาที่ไม่มีความแน่นอนเอาเลย ทั้งยังไม่มีการแสดงท่าทีที่ทำให้เชื่อได้ว่าหากมีการเลือกตั้ง จะเป็นไปอย่างเสรีและเป็นธรรม จนกว่ารัฐบาลทหารจะยกเลิกมาตรการจำกัดเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างเข้มงวด พรรคการเมือง สื่อมวลชนและผู้มีสิทธิออกเสียงในประเทศไทย จะไม่สามารถมีส่วนร่วมอย่างจริงจังในกระบวนการประชาธิปไตยได้

ที่ผ่านมารัฐบาลทหารมักแทรกแซงด้วยการเซ็นเซอร์ และขัดขวางไม่ให้มีการอภิปรายสาธารณะเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในประเทศไทย นักกิจกรรมและผู้เห็นต่างหลายร้อยคนถูกดำเนินคดีอาญา ทั้งในข้อหายุยงปลุกปั่น ความผิดทางคอมพิวเตอร์ และ หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จากการแสดงความเห็นของตนอย่างสงบ ทั้งยังมีคำสั่งห้ามการชุมนุมของบุคคลกว่าห้าคนขึ้นไป และการจัดกิจกรรมส่งเสริมประชาธิปไตยใด ๆ

นักกิจกรรมที่เรียกร้องประชาธิปไตยกว่า 100 คนถูกดำเนินคดีในข้อหาชุมนุมอย่างผิดกฎหมายเมื่อเร็ว ๆ นี้ บางส่วนยังถูกดำเนินคดีในข้อหายุยงปลุกปั่น เนื่องจากการเรียกร้องอย่างสงบให้รัฐบาลทหารจัดการเลือกตั้งตามที่สัญญาโดยไม่เลื่อนออกไปอีก และให้ยกเลิกมาตรการจำกัดเสรีภาพขั้นพื้นฐานทั้งปวง กว่าสี่ปีที่ผ่านมา กองทัพได้เรียกตัวบุคคลหลายพันคนเพื่อเข้ารับ “การปรับทัศนคติ” และกดดันให้ยุติการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหาร

การดำเนินคดีกับพลเรือนในศาลทหาร ซึ่งขาดความเป็นอิสระ และมีกระบวนการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม ยังคงเป็นปัญหาสำคัญ ผลจากคำวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้ เป็นเหตุให้เมื่อเดือนกันยายน 2559 พล.อ. ประยุทธ์ได้ยกเลิกคำสั่งคสช.ที่ให้ศาลทหารมีอำนาจไต่สวนพลเรือน แต่คำสั่งดังกล่าวไม่มีผลย้อนหลัง ส่งผลให้ยังคงมีคดีที่พลเรือนต้องขึ้นศาลทหารอยู่อีกกว่า 1,800 คดี จำเลยหลายคนเป็นนักกิจกรรมที่เรียกร้องประชาธิปไตย นักการเมือง นักกฎหมาย และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

รัฐบาลทหารไทยได้เพิกเฉยต่อพันธกรณีของไทยที่จะต้องประกันว่า นักปกป้องสิทธิมนุษยชนทุกคนและทุกหน่วยงานสามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเกื้อหนุน ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว ที่ผ่านมาหน่วยงานของรัฐบาลมักตอบโต้บุคคลที่รายงานว่ามีการปฏิบัติมิชอบ โดยการดำเนินคดีอาญากับพวกเขา รวมทั้งการฟ้องหมิ่นประมาททางอาญา

นายกรัฐมนตรีเมย์และประธานาธิบดีมาครงควรตระหนักว่า ทั้งสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสย่อมได้รับประโยชน์มากขึ้นมาก จากความสัมพันธ์กับประเทศที่เคารพสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม พวกเขาจึงควรกระตุ้นรัฐบาลไทยอย่างเร่งด่วนให้

  • ยุติการใช้อำนาจซึ่งเป็นการปฏิบัติมิชอบและขาดการตรวจสอบตามมาตรา 44 และ 48 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557
  • ยุติการจำกัดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงความเห็น การสมาคม และการชุมนุมอย่างสงบ
  • ยกเลิกข้อห้ามต่อการจัดกิจกรรมทางการเมือง
  • ปล่อยตัวผู้เห็นต่างและผู้วิพากษ์วิจารณ์ที่ถูกรัฐบาลทหารควบคุมตัวเพียงเพราะการวิพากษ์วิจารณ์อย่างสงบ
  • ยกเลิกการดำเนินคดีในข้อหายุยงปลุกปั่นและคดีอาญาอื่น ๆ ต่อผู้ที่คัดค้านระบอบปกครองของทหารอย่างสงบ
  • ให้ถ่ายโอนการดำเนินคดีต่อพลเรือนทั้งหมดจากศาลทหารไปยังศาลพลเรือนที่มีกระบวนการสอดคล้องกับมาตรฐานการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม และ
  • ประกันให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเกื้อหนุนสำหรับการทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมทั้งยกเลิกการดำเนินคดีอาญากับพวกเขา 

“การตกลงเจรจาทางธุรกิจไม่ควรเกิดขึ้น โดยเพิกเฉยต่อการพูดคุยอย่างจริงจังในประเด็นสิทธิมนุษยชน และการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลทหาร” อดัมส์กล่าว “รัฐบาลสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสต้องกดดันรัฐบาลทหารให้ยุติการปราบปราม เพื่อให้ประเทศไทยเดินหน้าไปสู่ระบอบปกครองแบบประชาธิปไตยโดยพลเรือน” 

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.