รียน พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ
วันแห่งการรำลึกถึงผู้ถูกบังคับสูญหายสากล (INTERNATIONAL DAY OF THE VICTIMS OF ENFORCED DISAPPEARANCES)
คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International) ฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (International Federation for Human Rights - FIDH) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (Thai Lawyers for Human Rights) และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (Cross Cultural Foundation) ขอนำส่งจดหมายถึงท่าน ณ วันแห่งการรำลึกถึงผู้ถูกบังคับสูญหายสากล พ.ศ. 2560 นี้ เพื่อแสดงถึงความกังวลเป็นอย่างมากขององค์กรข้างต้นต่อความล่าช้าในการผ่านร่างกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำการทรมาน การปฏิบัติที่โหดร้าย และการบังคับให้สูญหาย ตลอดจนปัญหาในด้านการสืบสวนสอบสวนที่ไม่มีความคืบหน้าอย่างชัดเจนในกรณีที่มีการกล่าวอ้างว่ามีผู้ถูกบังคับให้สูญหาย อาทิ กรณี นายสมชาย นีละไพจิตร และ นายพอละจี “บิลลี่” รักจงเจริญ ซึ่งเป็นกรณีการบังคับให้สูญหายที่ยังไม่ได้รับความกระจ่าง แม้จะมีความพยายามจากครอบครัวและกลุ่มสิทธิมนุษยชนไทยและนานาชาติที่เรียกร้องเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวอยู่หลายครั้ง ด้วยเหตุนี้ องค์กรผู้มีรายนามข้างท้ายนี้ขอเรียกร้องให้รัฐบาลริเริ่มมาตรการทางกฎหมายและมาตรการทางปกครองที่สอดคล้องกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทยเพื่อให้มีการป้องกันมิให้มีการกระทำให้เกิดการบังคับให้สูญหายขึ้น
องค์การที่มีรายนามข้างท้ายนี้ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการดังต่อไปนี้
- ขอให้รัฐบาลเร่งรัดให้มีการประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย[1] (ร่างพระราชบัญญัติฯ) โดยมิชักช้า หลังจากที่ร่างพระราชบัญญัติฯดังกล่าวได้รับการเเก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานทางกฎหมายระหว่างประเทศ และพันธกรณีระหว่างประเทศของประเทศไทยแล้ว[2]
- สืบสวนสอบสวนกรณีที่มีการกล่าวอ้างว่าเป็นกรณีที่ถูกบังคับให้สูญหาย ได้แก่ กรณีนายสมชาย นีละไพจิตร นายพอละจี “บิลลี่” รักจงเจริญ และกรณีการบังคับให้สูญหาย การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย กรณีอื่น ๆ ในประเทศไทย อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นกลาง และเป็นอิสระ เพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดมารับโทษตามกฎหมายผ่านการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม ตลอดจนให้ความช่วยเหลือและเยียวยาความเสียหายแก่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการบังคับสูญหายอย่างมีประสิทธิภาพ[3] และ
- ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance (ICPPED)) [4] และพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (the Optional Protocol to the Convention against Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment (OPCAT))
ความเป็นมา
มีรายงานว่ามีกรณีการบังคับสูญหายอย่างน้อย 82 กรณีในประเทศไทยนับตั้งเเต่ พ.ศ. 2523 [5] องค์กรภาคประชาสังคมและองค์กรสิทธิมนุษยชนเองก็รายงานกรณีที่มีการอ้างว่ามีการทรมานและการปฏิบัติอย่างโหดร้ายโดยฝ่ายความมั่นคงโดยเฉพาะการควบคุมตัวบุคคลโดยลับในพื้นที่ของกองทัพหลังรัฐประหาร พ.ศ. 2557 และการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้[6] ทั้งนี้ ความเสี่ยงในการถูกบังคับให้สูญหายในสถานที่ควบคุมตัวนั้นถูกทำให้เพิ่มขึ้น ผ่านการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารในการควบคุมตัวบุคคลต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงคำสั่ง หัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 ซึ่งอนุญาตให้มีการควบคุมตัวบุคคลโดยไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาเเละโดยไม่ต้องพิจารณาคดีในสถานที่คุมขังอย่างไม่เป็นทางการนานถึงเจ็ดวันโดยไม่มีการกำกับดูแลโดยฝ่ายตุลาการหรือกลไกการป้องกันการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้าย[7]
ประเทศไทยมีพันธกรณีทางด้านกฎหมายระหว่างประเทศภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน (CAT) ในการสืบสวนสอบสวน ดำเนินคดี ลงโทษ และให้ชดเชยเยียวยาและชดใช้ค่าเสียหายจากอาชญากรรมการทรมาน การปฏิบัติที่โหดร้าย และการบังคับให้สูญหาย[8] ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2555 ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (ICPPED) ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงพันธสัญญาในการป้องกันและห้ามมิให้มีการก่ออาชญากรรมการบังคับให้บุคคลสูญหาย เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2560 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ของประเทศไทยได้มีมติเห็นชอบให้มีการให้สัตยาบันแก่ ICPPED[9] อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยยังไม่ได้ดำเนินการและยังไม่ได้กำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนในการส่งมอบสัตยาบันสารกับเลขาธิการสหประชาชาติตามที่กำหนดไว้[10]
หนึ่งในความท้าทายของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการทรมาน การปฏิบัติที่โหดร้าย และการบังคับให้สูญหายในประเทศไทยในการแสวงหาตัวผู้กระทำผิดมารับโทษนั้นคือประเด็นที่ว่าอาชญากรรมดังกล่าวนั้นยังมิได้ถูกระบุไว้เป็นการเฉพาะว่าเป็นความผิดที่มีโทษทางอาญาในกฎหมายภายในประเทศ ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2560 คณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญซึ่งแต่งตั้งขึ้นตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีโดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน ได้ประชุมครั้งแรกและยืนยันหน้าที่ในการรับเรื่องร้องเรียน ค้นหาข้อเท็จจริง ตรวจสอบตลอดจนให้ความช่วยเหลือ เยียวยา และปกป้องสิทธิของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการทรมานหรือการบังคับให้สูญหาย[11] แต่ทว่าบทบาทและหน้าที่ของคณะกรรมการดังกล่าวยังคงไม่ชัดเจนและไม่ควรถูกมองว่าเป็นกลไกที่นำมาใช้ทดแทนกฎหมายภายในประเทศที่กำหนดโทษทางอาญาต่อการทรมาน การปฏิบัติที่โหดร้าย และการบังคับให้สูญหาย[12]
เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2560 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งเป็นกลไกติดตามดูการนำกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองเเละสิทธิทางการเมืองไปปฏิบัติโดยรัฐภาคี ได้กล่าวในข้อสังเกตเชิงสรุปแก่ประเทศไทยว่า
“19. คณะกรรมการยังคงกังวลว่ากฎหมายอาญาของรัฐภาคียังไม่ได้มีการรับรองอย่างเพียงพอว่าการกระทำการทรมานและการบังคับให้สูญหายเป็นความผิดอาญาตามที่ระบุไว้ในกติกาฯ และมาตรฐานระหว่างประเทศ คณะกรรมการรู้สึกเสียใจต่อความล่าช้าในการผ่านร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย (ข้อ 2 6-7 9-10 และ 16)
20. รัฐภาคีควรตรวจสอบให้แน่ใจว่ากฎหมายนั้นสอดคล้องกับกติกาฯ โดยสมบูรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การห้ามมิให้มีการทรมานและการบังคับให้สูญหายให้เป็นไปตามกติกาฯเเละมาตรฐานสากล รัฐภาคีควรเร่งรัดการออกกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย”[13]
ด้วยเหตุนี้ องค์กรดังรายชื่อแนบท้ายจึงรู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลไทยมีความล่าช้าในการแก้ไขปัญหาความบกพร่องของร่างพระราชบัญญัติฯเเละการประกาศให้ร่างพระราชบัญญัติฯเป็นกฎหมาย[14]
ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 สภานิติบัญญัติแห่งชาติประกาศว่าจะไม่มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ ซึ่งเป็นร่างที่ผ่านกระบวนการร่างเป็นระยะเวลาหลายปีโดยเจ้าหน้าที่จากกระทรวงยุติธรรมโดยมีการหารือกับองค์กรเอกชนและภาคประชาสังคม รวมถึง คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล แอมเนสตี อินเตอร์เนชั่นแนล และ ฮิวแมนไรท์วอทช์[15] ต่อมา มีรายงานว่าร่างพระราชบัญญัติฯดังกล่าว ถูกส่งกลับไปยังคณะรัฐมนตรี “เพื่อรับฟังความเห็นจากฝ่ายต่าง ๆ...ทั้งจากมหาดไทย ตำรวจ ฝ่ายความมั่นคง ทหาร อัยการ”[16]
เมื่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติพิจารณาทบทวนการปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองเเละสิทธิทางการเมืองของประเทศไทยในเดือนมีนาคมปี พ. ศ. 2560 คณะผู้แทนไทยได้ยืนยันว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ “ได้ยื่นต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งสนช.ได้ขอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาทบทวนร่างพระราชบัญญัติฯนี้ เพื่อทำการแก้ไขและให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะต่อไป"[17]
อนึ่ง ความล่าช้าในการออกกฎหมายนี้ดูเหมือนจะมิใช่เพื่อการรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะ เมื่อคำนึงถึงว่ามีการรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะเกิดขึ้นแล้วอย่างกว้างขวางและสถานะของร่างพระราชบัญญัติฯนั้นถูกผลักดันไปยังระดับการพิจารณาที่สูงแล้ว ดังนั้น องค์กรดังรายชื่อแนบท้ายจึงขอเรียกร้องด้วยความเคารพให้รัฐบาลไทยเร่งรัดการหารือในระดับคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ผู้เสียหายจากอาชญากรรมเหล่านี้สามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้อย่างทันท่วงที
องค์กรดังรายชื่อแนบท้ายตระหนักดีว่าร่างพระราชบัญญัติฯฉบับล่าสุดยังมีจุดบกพร่องบางอย่างที่เราเชื่อว่าควรได้รับการแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทยภายใต้ ICCPR CAT และ ICPPED
ข้อกังวลเหล่านี้รวมถึง แต่ไม่จำกัดเพียงเฉพาะประเด็นดังต่อไปนี้ [18]
- นิยาม – การละเลยองค์ประกอบสำคัญตาม ICPPED และ CAT ในการนิยามการบังคับสูญหายและการทรมานในร่างพระราชบัญญัติฯ โดยบทบัญญัติเหล่านี้ควรได้รับการแก้ไขให้สอดคล้องต้องกัน
- ความรับผิดทางอาญานอกเหนือจากการกระทำผิดโดยตรง (ตัวการ) –- ร่างพระราชบัญญัติฯยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับความรับผิดทางอาญาที่นอกเหนือไปจากการเป็นผู้กระทำอาชญากรรมการบังคับให้สูญหายและการกระทำทรมานโดยตรง โดยประเด็นนี้ควรได้รับการแก้ไขเพื่อแสดงให้เห็นถึงขอบเขตความรับผิดนอกเหนือจากการกระทำความผิดโดยตรง และมีการกำหนดบทลงโทษที่เหมาะสมแก่ผู้กระทำความผิดในระดับต่าง ๆ
- การปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรี – ร่างพระราชบัญญัติฯไม่ระบุว่าการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีเป็นอาชญากรรม ร่างพระราชบัญญัติฯควรได้รับการแก้ไขเพื่อให้การปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายโดยเฉพาะเจาะจง ซึ่งการกระทำดังกล่าวและการทรมานถูกห้ามอย่างชัดเจนภายใต้มาตรา 7 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองเเละสิทธิทางการเมือง ในฐานะสิทธิที่ไม่สามารถละเว้นไม่ปฏิบัติตามได้[19]
- การนำข้อมูลที่ได้จากการทรมานมาใช้เป็นหลักฐาน – ร่างพระราชบัญญัติฯมิได้ห้ามใช้คำให้การและข้อมูลอื่น ๆ ที่ได้จากการทรมานหรือการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรี มาเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีโดยเฉพาะเจาะจง ร่างพระราชบัญญัติฯฉบับนี้ควรได้รับการแก้ไขให้มีการปฏิเสธการใช้หลักฐานดังกล่าวอย่างชัดเจน และ
- การคุ้มครอง – ร่างพระราชบัญญัติฯขาดบทบัญญัติว่าด้วยการป้องกันมิให้เกิดการบังคับให้สูญหาย การทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรี ได้แก่ การให้ทนายความและครอบครัวเข้าพบผู้ถูกควบคุมตัว การให้ข้อมูลเกี่ยวกับชะตากรรมและที่อยู่ของผู้ถูกควบคุมตัวต่อทนายความและครอบครัวอยู่เสมอ การอนุญาตให้มีที่ปรึกษาทางกฎหมายเข้าร่วมการสอบปากคำด้วย และการบันทึกวิดีโอและ/หรือการบันทึกเสียงในช่วงการสอบสวนทั้งหมด การคุ้มครองเหล่านี้ควรจะรวมอยู่ในร่างพระราชบัญญัติฯด้วย
องค์กรดังรายชื่อแนบท้ายขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้เป็นอันดับต้น ๆ และบังคับใช้ร่างพระราชบัญญัติฯฉบับนี้โดยมิชักช้า การแก้ไขร่างพระราชบัญญัติฯนี้เเละตราเป็นกฎหมายมีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่งเพราะความล้มเหลวของเจ้าหน้าที่หลายต่อหลายครั้งในการนำตัวผู้กระทำการบังคับบุคคลอื่นให้สูญหายมารับผิด ซึ่งเห็นได้ชัดจากสองกรณีที่มีการกล่าวอ้างว่ามีการบังคับให้สูญหาย ซึ่งถูกนำมาสู่ความสนใจของทั้งเจ้าหน้าที่ไทยและประชาคมระหว่างประเทศเป็นอันมาก แต่จนกระทั้งปัจจุบัน กรณีดังกล่าวยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน กรณีที่ว่า คือกรณีนายสมชาย นีละไพจิตร และ นายพอละจี "บิลลี่" รักจงเจริญ ซึ่งทั้งผู้เสียหายและครอบครัวของพวกเขาถูกปฏิเสธความยุติธรรม
นายสมชาย นีละไพจิตร
นายสมชาย นีละไพจิตร เป็นทนายความชาวมุสลิมผู้ทำงานเพื่อปกป้องสิทธิของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กว่าสองทศวรรษ มีรายงานว่านายสมชาย ถูกดึงออกจากรถและถูกบังคับให้ขึ้นพาหนะอีกคันโดยชายห้าคนในใจกลางกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2547 หลังจากนั้นนายสมชาย ก็หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย[20]
ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2547 ศาลอาญาในกรุงเทพมหานครได้ออกหมายจับเจ้าหน้าที่ตำรวจห้านายซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้เกี่ยวข้องกับการปล้นเเละการลักพาตัวนายสมชาย นีละไพจิตร การพิจารณาคดีอาญาต่อเจ้าหน้าที่ทั้งห้าเริ่มต้นขึ้นตั้งเเต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2548[21] ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2549 ศาลตัดสินให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสี่นายพ้นผิดและเจ้าหน้าที่ตำรวจหนึ่งนายถูกตัดสินลงโทษในข้อหาที่มีโทษสถานเบา คือ ข้อหาบังคับข่มขู่ ต่อมาในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2554 ศาลชั้นอุทธรณ์ตัดสินยกฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ถูกตัดสินลงโทษเพียงคนเดียว[22] ในคำพิพากษาเดียวกันนี้ ศาลอุทธรณ์ในกรุงเทพมหานครได้ปฏิเสธคำร้องของนางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของนายสมชาย นีละไพจิตร ที่ร้องขอให้ตนเองเเละลูก ๆ เป็นโจทก์ร่วมในการดำเนินคดีด้วยเหตุผลว่า “ไม่อาจยืนยันได้โดยสมบูรณ์ว่านายสมชาย นีละไพจิตร ได้รับบาดเจ็บจนไม่สามารถกระทำการใดๆได้ด้วยตัวเองหรือถูกทำร้ายจนเสียชีวิต”[23] โดยศาลอุทธรณ์มีข้อสรุปเช่นนี้ แม้ว่าในปี พ.ศ. 2552 ศาลแพ่งจะได้มีคำสั่งให้นายสมชาย นีละไพจิตรเป็นบุคคลที่ “สาบสูญ"[24] ในวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้ตำรวจทั้งห้านายพ้นผิด[25]
ในปลาย พ.ศ. 2559 เมื่อครบวาระการสืบสวนสอบสวน 11 ปี เเละสามเดือน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (หรือ ดีเอสไอ) ภายใต้กระทรวงยุติธรรมซึ่งรับผิดชอบการสืบสวนสอบสวนคดีนายสมชาย นีละไพจิตร ได้ประกาศยุติการสืบสวนสอบสวนคดี โดยระบุว่า การสืบสวนสอบสวนได้ถูกยุติลงเนื่องจากไม่พบผู้กระทำความผิด[26]
เมื่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติพิจารณาทบทวนการปฏิบัติตามพันธกรณีในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองเเละสิทธิทางการเมืองของประเทศไทย เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2560 คณะผู้แทนรัฐบาลไทยได้ยืนยันว่า “การสืบสวนสอบสวนคดีของนายสมชาย ได้ยุติลงแล้วเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2559 แต่อาจถูกนำกลับมาสืบสวนสอบสวนอีกครั้ง หากมีการระบุตัวผู้กระทำความผิดในภายหลัง"[27] หลังจากนั้นตัวแทนประเทศไทยกล่าวว่า “กระทรวงยุติธรรมได้พิจารณาส่งกรณีของนายสมชาย นีละไพจิตรและนาย พอละจี "บิลลี่" รักจงเจริญ ให้กับคณะกรรมการพิเศษของกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อติดตามต่อไป"[28]
นายพอละจี "บิลลี่" รักจงเจริญ
เมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2558 นายพอละจี "บิลลี่" รักจงเจริญ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงถูกพบเห็นครั้งสุดท้ายภายใต้การควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและหายไปโดยไม่มีผู้ใดพบเห็นอีก ในเวลานั้นบิลลี่ได้ทำงานร่วมกับชาวบ้านชาวกะเหรี่ยงและนักกิจกรรมในการดำเนินคดีต่อกรณีที่มีการกล่าวอ้างว่ามีการเผาบ้านเรือนและทรัพย์สินอื่น ๆ ของชาวบ้านในอุทยานแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. 2553 และ พ.ศ. 2554 เจ้าหน้าที่อุทยานกล่าวว่าได้กักตัวบิลลี่เพราะ"ครอบครองน้ำผึ้งป่าผิดกฎหมาย" และอ้างว่าได้ปล่อยตัวบิลลี่ในวันเดียวกัน[29]
หลังจากนั้นไม่นาน เมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2557 นางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของบิลลี่ได้ยื่นคำร้องขอไต่สวนการควบคุมตัวโดยมิชอบ (habeas corpus) ต่อศาลจังหวัดเพชรบุรีเพื่อตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการควบคุมตัวของบิลลี่[30] ศาลได้มีคำตัดสินเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 หลังจากดำเนินการไต่สวนเป็นเวลาหกวันว่าไม่มีหลักฐานเพียงพอและไม่สามารถที่จะสรุปได้ว่าบิลลี่ยังคงถูกคุมตัวอยู่ในขณะที่หายตัวไป[31] ครอบครัวยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาแต่ไม่ประสบความสำเร็จในการเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับชะตากรรมและสถานที่อยู่ของบิลลี่ [32]
เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2558 นางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ ร้องขอให้ดีเอสไอรับคดีของบิลลี่เป็นคดีพิเศษ[33] เมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2560 ดีเอสไอปฏิเสธที่จะรับคดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษโดยให้อยู่ภายใต้การสืบสวนสอบสวนของตำรวจปกติ[34] มีรายงานว่าดีเอสไอได้ชี้แจงไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่ามีเหตุผลสามประการที่เป็นเหตุให้ดีเอสไอไม่รับคดีนี้เป็นคดีพิเศษ ได้แก่ การสืบสวนสอบสวนกรณีดังกล่าวยังไม่สามารถสรุปเรื่องได้ ประกอบกับนางสาว พิณนภา พฤกษาพรรณ ไม่ใช่ภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมายของนายพอละจี จึงไม่สามารถยื่นคำร้องเพื่อขอให้ดีเอสไอตรวจสอบคดีของนายพอละจี ได้[35] และทางดีเอสไอจะดำเนินคดีต่อได้ถ้าหากพบร่างของนายพอละจี [36]
หนึ่งในเหตุผลที่เจ้าหน้าที่มักนำมาใช้หลายครั้งหลายคราเมื่อไม่สามารถนำตัวผู้กระทำความผิดฐานบังคับให้บุคคลสูญหายมาสู่กระบวนการยุติธรรมได้คือการกล่าวว่าไม่สามารถหาศพหรือชิ้นส่วนของร่างกายได้จึงไม่สามารถสรุปว่ามีการตายเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เชื่อว่าการบังคับสูญหายเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย การสรุปว่าบุคคลได้เสียชีวิตไปแล้วมิใช่องค์ประกอบที่จำเป็นในการพิสูจน์ความผิดว่าด้วยการบังคับสูญหาย หรือแม้แต่ในกรณีที่ไม่เชื่อว่าการบังคับสูญหายเป็นเหตุให้เสียชีวิต การบังคับให้บุคคลสูญหายในตัวมันเองนั้นเป็นอาชญากรรมที่ควรได้รับการสืบสวนสอบสวน พิธีสารมินนิโซตาว่าด้วยการสืบสวนสอบสวนกรณีที่ต้องสงสัยว่าเป็นการเสียชีวิตที่มิชอบด้วยกฎหมาย (2559) (‘พิธีสารมินนิโซตา’) ซึ่งกำหนดมาตรฐานทางกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการสืบสวนสอบสวนกรณีที่ต้องสงสัยว่าเป็นการเสียชีวิตโดยมิชอบด้วยกฎหมายระบุว่า "ถ้าพนักงานสอบสวนไม่สามารถหาศพหรือชิ้นส่วนศพได้ พนักงานสอบสวนยังควรที่จะรวบรวมพยานหลักฐานโดยตรงและพยานหลักฐานแวดล้อมอื่น ๆ ที่อาจเพียงพอสำหรับการระบุตัวผู้กระทำความผิดต่อไป” [37]
ทั้งนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้กล่าวระหว่างการทบทวนการปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางพลเมืองเเละสิทธิทางการเมืองของไทยในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2560 ว่าเหตุผลที่ประเทศไทยได้ให้ไว้เพื่อที่จะยุติการสืบสวนสอบสวนคดีของนายสมชาย นีละไพจิตรและนายพอละจี "บิลลี" รักจงเจริญ ว่าเป็น “กรณีที่ไม่พบศพหรือชิ้นส่วนศพ หรือคู่สมรสของบุคคลนั้นไม่สามารถแสดงหนังสือรับรองการสมรสได้ ... เป็นข้อกล่าวอ้างที่มีน้ำหนักน้อยเกินกว่าที่รัฐภาคีจะปฏิเสธพันธกรณีในการสืบสวนสอบสวนว่ามีการบังคับสูญหายโดยตำแหน่งหน้าที่เกิดขึ้น โดยไม่คำนึงถึงว่ามีการร้องเรียนหรือไม่” [38]
ในการตอบคำถามต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติระหว่างการทบทวนการปฏิบัติตามกติกาฯ คณะผู้แทนรัฐบาลไทยกล่าวว่า “ได้มีการตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษเพื่อสืบสวนสอบสวนกรณีของนายพอละจี “บิลลี่” รักจงเจริญ แต่ได้พบหลักฐานไม่เพียงพอที่จะดำเนินคดีอาญาต่อผู้ต้องสงสัย ทั้งนี้ ได้มีความพยายามในการถ่ายโอนคดีจากคณะทำงานสืบสวนสอบสวนในพื้นที่ไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ แต่กรมสอบสวนคดีพิเศษปฏิเสธที่จะรับเป็นคดีพิเศษ อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังคงให้ความช่วยเหลือในการค้นหาตัวนายพอละจี “บิลลี่” รักจงเจริญและการสืบสวนเบื้องต้นต่อไป” [39] ทั้งนี้ ผู้เเทนรัฐบาลไทยกล่าวเพิ่มเติมในภายหลังว่า “กระทรวงยุติธรรมพิจารณาจะส่งกรณีของนายสมชาย นีละไพจิตรและนายพอละจี “บิลลี่” รักจงเจริญให้กับคณะกรรมการพิเศษของกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อติดตามต่อไป"[40]
ข้อเสนอแนะ
เนื่องในวันแห่งการรำลึกถึงผู้ถูกบังคับสูญหายสากล คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ฮิวแมนไรท์วอทช์ สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ขอให้รัฐบาลดำเนินการตามข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้
- ให้สัตยาบันต่อ ICPPED และ OPCAT
- ให้ความสำคัญกับการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติฯเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศและนำมาบังคับใช้โดยไม่ล่าช้า
- ให้การประกันว่าดีเอสไอจะปฏิบัติตามพันธกรณีในการดำเนินการสืบสวนสอบสวนเมื่อมีการฟ้องร้องว่ามีการบังคับให้บุคคลสูญหายอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นกลาง และเป็นอิสระ ซึ่งรวมถึงกรณีของนายสมชาย นีละไพจิตร ซึ่งเป็นกรณีที่มีการกล่าวอ้างว่าเป็นกรณีถูกบังคับให้สูญหาย จนกว่าจะทราบชะตากรรมหรือสถานที่อยู่ของเขา โดยหากมีบุคคลใดๆที่ทราบชะตากรรมหรือสถานที่อยู่ของนายสมชาย นีละไพจิตร หรือผู้เสียหายจากกรณีที่ต้องสงสัยว่าเป็นการบังคับให้สูญหายกรณีอื่นๆ ข้อมูลเหล่านั้นควรถูกเปิดเผยทันที
- ให้การประกันว่าดีเอสไอจะดำเนินการสืบสวนสอบสวนกรณีที่มีลักษณะเป็นการบังคับให้สูญหายอย่างชัดแจ้งของนายพอละจี “บิลลี่” รักจงเจริญ อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นกลาง และเป็นอิสระ จนกว่าจะทราบชะตากรรมหรือสถานที่อยู่ของเขา
- ให้การเยียวยาและชดเชยอย่างมีประสิทธิภาพแก่ครอบครัวของผู้เสียหายทั้งสองกรณี ซึ่งรวมไปถึงการให้ข้อมูลเกี่ยวกับความคืบหน้าในการสืบสวนสอบสวนอย่างสม่ำเสมอ
- ให้การประกันว่าในกรณีของนายสมชาย นีละไพจิตร และ นายพอละจี “บิลลี่” รักจงเจริญ ถ้าการสืบสวนสอบสวนนำไปสู่พยานหลักฐานที่รับฟังได้เพียงพอที่จะลงโทษจำเลย บุคคลซึ่งเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้กระทำความผิดในคดีดังกล่าวต้องได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมโดยไม่มีการใช้โทษประหารชีวิต และ
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนตามข้อสังเกตเชิงสรุปที่ให้ไว้แก่ประเทศไทยในปี 2560 ได้แก่ การ“ปรับปรุงเนื้อหาของกฎหมายและการปฏิบัติให้สอดคล้องกับมาตรา 9” ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งรวมถึงการยุติการคุมขังตามอำเภอใจโดยไม่อนุญาตให้ติดต่อสื่อสารกับบุคคลภายนอก (เป็นการลับ)[41] และให้หลักประกันที่จะ “ไม่ให้มีการคุมขังเป็นการลับตามที่ได้กล่าวถึงในคำแนะนำโดยทั่วไปของคณะกรรมการ ฉบับที่ 35 (2014) ในประเด็นเกี่ยวกับเสรีภาพและความปลอดภัยของบุคคล” [42]
หากท่านมีคำถามหรือข้อคิดเห็นประการใด กรุณาติดต่อกับองค์กรที่มีรายชื่อดังแนบท้ายนี้ได้ทันที องค์กรที่มีรายชื่อดังแนบท้ายนี้ล้วนแต่ยินดีให้ความช่วยเหลือใด ๆ ตามที่ท่านร้องขอ
ทั้งนี้ ขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่งที่ท่าน ให้ความสำคัญประเด็นนี้โดยเร่งด่วน
ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
นายแมท พอลลาร์ด
ที่ปรึกษากฎหมายอาวุโส
สำนักงานกฎหมายและนโยบาย
คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล
นายเจมส์ โกเมซ
ผู้อำนวยการภูมิภาค
สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล
นายแบรด อาดัมส์
ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเซีย
ฮิวแมนไรท์วอทช์
นายดิมิทริส คริสโตปู
ประธาน
สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล
น.ส. เยาวลักษณ์ อนุพันธ์
หัวหน้า
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
น.ส. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ
ผู้อำนวยการ
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
[1] หลักการและเหตุผลร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …
[2] แถลงการณ์ร่วมโดย คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล เเละแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล “ประเทศไทย: ต้องให้ความสำคัญกับการแก้ไขและการออกกฎหมายเกี่ยวกับการทรมาน และการบังคับบุคคลให้สูญหาย” 9 มีนาคม 2560
https://www.icj.org/thailand-prioritize-the-amendment-and-passage-of-legislation-on-torture-and-enforced-disappearances/ (ต่อจากนี้จะเรียกว่า "แถลงการณ์ร่วมระหว่าง คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลเเละแอมเนสตี้ฯ" ลงวันที่ 9 มีนาคม 2560)
[3] รายงานคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลและศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน “ข้อเสนอเพื่อการพิจารณาจากคณะกรรมการนิติศาสตร์สากลและศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน สำหรับการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยรอบที่สองภายใต้ข้อ 40 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองเเละสิทธิทางการเมือง” 6 กุมภาพันธ์ 2560 https://www.icj.org/wp-content/uploads/2560/02/Thailand-ICCPR-Submission-ICJ-TLHR-Advocacy-Non-legal-submissions-2560-ENG.pdf (ต่อไปนี้จะเรียกว่า ‘รายงานฯ โดยคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล และ ศูนย์ทนายความฯ ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560’)
[4] คณะกรรมการนิติศาสตร์สากล “สิบปีอันไร้ซึ่งความจริง: สมชาย นีละไพจิตรและการบังคับสูญหายในประเทศไทย” (Ten Years Without Truth: Somchai Neelapaijit and Enforced Disappearances in Thailand’) มีนาคม 2014 หน้า 15 http://icj.wpengine.netdna-cdn.com/wp-content/uploads/2014/03/Ten-Years-Without-Truth-Somchai-Neelapaijit-and-Enforced-Disappearances-in-Thailand-report-2014.pdf (ต่อไปนี้จะเรียกว่า ‘รายงานคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล เรื่องนายสมชาย นีละไพจิตร เดือนมีนาคม 2557’)
[5] คณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ‘รายงานคณะทำงานด้านการบังคับให้บุคคลสูญหายโดยไม่สมัครใจ’ วันที่ 10 สิงหาคม 2558 ที่ A/HRC/30/38 ดู: http://www.ohchr.org/EN/HRBodies/HRC/RegularSessions/Session30/Pages/ListReports.aspx
[6] ฮิวแมนไรท์วอทช์และคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล ‘หนังสือถึงผู้แทนถาวรประเทศไทยประจำสหประชาชาติ’ ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 https://www.hrw.org/news/2015/11/24/joint-letter-permanent-mission-thailand-un และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล “บังคับให้มันพูดให้ได้ภายในพรุ่งนี้: การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายในประเทศไทย” 28 กันยายน 2559 https://www.amnesty.org/en/documents/asa39/4747/2016/en/
[7] ดู คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ข้อสังเกตเชิงสรุปของรายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย รอบที่ 2 CCPR/C/THA/CO/2 วันที่ 25 เมษายน 2560 ย่อหน้า 25 และ 26
[8] คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ข้อเสนอแนะทั่วไป ฉบับที่ 31 ลักษณะของพันธะตามกฎหมายทั่วไปของรัฐภาคีแห่งกติกาฯ ที่ UN Doc. CCPR/C/21/Rev.1/Add.13 (2004) http://www.refworld.org/docid/478b26ae2.html
[9] กระทรวงต่างประเทศราชอาณาจักรไทย ‘ข่าวสารนิเทศ : พัฒนาการของไทยต่อการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสาบสูญ’ ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2560 http://www.mfa.go.th/main/en/news3/6886/78828-Thailand’s-Progress-on-Prevention-and-Suppression.html
[10] ฮิวแมนไรท์วอทช์ ‘ประเทศไทย: ปฏิบัติตามขั้นตอนสุดท้ายของการรับรองอนุสัญญาคนหาย’ ลงวันที่ 13 มีนาคม 2560 https://www.hrw.org/news/2017/03/13/thailand-finalize-disappearances-convention (ต่อจากนี้จะเรียกว่า ‘ฮิวแมนไรท์วอทช์ ‘ประเทศไทย: ปฏิบัติตามขั้นตอนสุดท้ายของการรับรองอนุสัญญาคนหาย’ 13 มีนาคม 2560); ฮิวแมนไรท์ วอทช์, ‘ประเทศไทย: ปฏิบัติตามพันธกิจที่จะยุติการทรมาน’ ลงวันที่ 26 มิถุนายน 2560 https://www.hrw.org/news/2017/06/26/thailand-fulfill-pledge-end-torture (ต่อจากนี้จะเรียกว่า ‘ฮิวแมนไรท์ วอทช์ ‘ประเทศไทย: ปฏิบัติตามพันธกิจที่จะยุติการทรมาน’, 26 มิถุนายน 2560’)
[11] กระทรวงการต่างประเทศ ราชอาณาจักรไทย ‘ข่าวสารนิเทศ : พัฒนาการของไทยต่อการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสาบสูญ’ 30 มิถุนายน 2560 http://www.mfa.go.th/main/en/news3/6886/78828-Thailand’s-Progress-on-Prevention-and-Suppression.html
[12] ฮิวแมนไรท์วอทช์ ‘ประเทศไทย: ปฏิบัติตามพันธกิจที่จะยุติการทรมาน' 26 มิถุนายน 2560
[13] คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ข้อสังเกตเชิงสรุปกรณีประเทศไทยตามรายงานตรวจสอบการปฏิบัติตามพันธกรณีในกติกาฯ รอบที่ 2 ที่ CCPR/C/THA/CO/2 ลงวันที่ 25 เมษายน 2560 ย่อหน้า 19 และ 20
[14] คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แถลงการณ์ร่วม ลงวันที่ 9 มีนาคม 2560 และ ฮิวแมนไรท์ วอทช์ ‘ประเทศไทย: ปฏิบัติตามขั้นตอนสุดท้ายของการรับรองอนุสัญญาคนหาย’ 13 มีนาคม 2560’ และ ฮิวแมนไรท์ วอทช์ ‘ประเทศไทย: ปฏิบัติตามพันธกิจที่จะยุติการทรมาน' 26 มิถุนายน 2560
[15] อ้างแล้ว
[16] แถลงการณ์ร่วม คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลและแอมเนสตี อินเตอร์เนชั่นแนล, 9 มีนาคม 2560
[17] คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ วาระที่ 119 การพิจารณารายงานของรัฐภาคีตามมาตรา 40 ของกติกาฯ - รายงานประเทศไทยรอบที่ 2 (ต่อ) ที่ CCPR/C/SR.3350 ลงวันที่ 22 มีนาคม 2560 ย่อหน้า 5
[18] คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล และ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แถลงการณ์ร่วม 9 มีนาคม 2560
[19] กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองเเละสิทธิทางการเมือง, ข้อ 4
[20] สำหรับความเป็นมาเเละบทวิเคราะห์โดยละเอียดของกรณีนี้ โปรดดู คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล รายงานเรื่อง สมชาย นีละไพจิตร มีนาคม 2014
[21] คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล รายงานเรื่อง สมชาย นีละไพจิตร มีนาคม 2014 หน้า 6; ฮิวแมนไรท์วอทช์, ‘ประเทศไทย: 12 ปี ยังไม่มีคำตอบ’ 10 มีนาคม 2016 https://www.hrw.org/news/2016/03/10/thailand-12-years-bring-no-answers
[22] คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล รายงานเรื่อง สมชาย นีละไพจิตร มีนาคม 2014 หน้า 7
[23] อ้างแล้ว หน้า 8
[24] อ้างแล้ว หน้า 9
[25] ประชาไท ภาษาอังกฤษ ‘Supreme Court rules no one guilty for Somchai’s enforced disappearance’, 29 ธันวาคม 2558 https://prachatai.com/english/node/5735
[26] ประชาไท ภาษาอังกฤษ, ‘Case closed on disappeared human rights lawyer’, 13 ตุลาคน 2559 https://prachatai.com/english/node/6648
[27] คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ วาระที่ 119 การพิจารณารายงานของรัฐภาคีตามมาตรา 40 ของกติกาฯ - รายงานประเทศไทยรอบที่ 2 (ต่อ) ที่ CCPR/C/SR.3349 ลงวันที่ 22 มีนาคม 2560 ย่อหน้า 65
[28] คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ วาระที่ 119 การพิจารณารายงานของรัฐภาคีตามมาตรา 40 ของกติกาฯ - รายงานประเทศไทยรอบที่ 2 (ต่อ) ที่ CCPR/C/SR.3350 ลงวันที่ 22 มีนาคม 2560 ย่อหน้า 4
[29] คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล เเละ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานฯ 6 กุมภาพันธ์ 2560 หน้า 10 และ 11
[30] คณะกรรมการนิติศาสตร์สากล ‘ประเทศไทย: “การหายตัวไป” ของบิลลี่ ต้องเข้าสู่กระบวนการสอบสวนคดีพิเศษ’ 17 กรกฎาคม 2557 https://www.icj.org/thailand-disappearance-of-billy-demands-special-investigation/
[31] ดู เชิงอรรถที่ 30
[32] ดู เชิงอรรถที่ 30
[33] คณะกรรมการนิติศาสตร์สากล และ JPF ‘ประเทศไทย: “การหายตัวไป” ของบิลลี่ ต้องเข้าสู่กระบวนการสอบสวนคดีพิเศษ’ 6 สิงหาคม 2558
https://www.icj.org/thailand-launch-special-investigation-into-enforced-disappearance-of-billy/
[34] ประชาไท ภาษาอังกฤษ ‘DSI refuses to accept case of disappeared Karen activist’ 31 มกราคม 2560 http://prachatai.org/english/node/6886
[35] บางกอกโพสต์ ‘NHRC pursues fight for 'Billy' with DSI’ 10 กุมภาพันธ์ 2560 http://m.bangkokpost.com/news/crime/1195813/nhrc-pursues-fight-for-billy-with-dsi
[36] คณะกรรมการนิติศาสตร์สากล เเละ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานฯ ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560 หน้า 11
[37] สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ พิธีสารมินนิโซตาว่าด้วยการสืบสวนสอบสวน กรณีที่ต้องสงสัยว่าเป็นการเสียชีวิตที่มิชอบด้วยกฎหมาย (2559), (The Minnesota Protocol on the Investigation of Potentially Unlawful Death (2016), ‘เอกสารคู่มือของสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันและการสอบสวนคดีการคุมขังโดยพลการเเละการสังหารบุคคลโดยพลการ (ฉบับปรับปรุง)’ ย่อหน้าที่ 56, เชิงอรรถ 87
[38] คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ วาระที่ 119 การพิจารณารายงานของรัฐภาคีตามมาตรา 40 ของกติกาฯ - รายงานประเทศไทยรอบที่ 2 (ต่อ) ที่ CCPR/C/SR.3349 ลงวันที่ 22 มีนาคม 2560 ย่อหน้า 31
[39] คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ วาระที่ 119 การพิจารณารายงานของรัฐภาคีตามมาตรา 40 ของกติกาฯ - รายงานประเทศไทยรอบที่ 2 (ต่อ) ที่ CCPR/C/SR.3349 ลงวันที่ 22 มีนาคม 2560 ย่อหน้า 66
[40] คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ วาระที่ 119 การพิจารณารายงานของรัฐภาคีตามมาตรา 40 ของกติกาฯ - รายงานประเทศไทยรอบที่ 2 (ต่อ) ที่ CCPR/C/SR.3350 ลงวันที่ 22 มีนาคม 2560 ย่อหน้า 4
[41] คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ, ข้อสังเกตเชิงสรุปกรณีประเทศไทย รายงานกลไกการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ รอบที่ 2, CCPR/C/THA/CO/2, 25 เมษายน 2560, ย่อหน้า 25, 26
[42] คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ, ข้อสังเกตเชิงสรุปกรณีประเทศไทย รายงานกลไกการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ รอบที่ 2, CCPR/C/THA/CO/2, 25 เมษายน 2560, ย่อหน้า 23