(นิวยอร์ก) - รัฐบาลไทยควรดำเนินการโดยทันทีให้เป็นไปตามพันธกิจที่ให้ไว้ ที่จะกำหนดฐานความผิดต่อการทรมาน ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้ ในวันที่ 26 มิถุนายน 2560 ในโอกาสวันสนับสนุนเหยื่อการทรมานแห่งโลกตามที่ประกาศโดยองค์การสหประชาชาติ (United Nations International Day in Support of Victims of Torture) รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อรับพิจารณาข้อร้องเรียน และสอบสวนข้อกล่าวหาว่ามีการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย แต่หากไม่มีกฎหมายกำหนดฐานความผิดต่ออาชญากรรมเหล่านี้ หน่วยงานใหม่ดังกล่าวคงไม่สามารถทำหน้าที่ได้มากไปกว่าการจ่ายค่าชดเชยให้กับเหยื่อและครอบครัวของพวกเขา
นับแต่ยึดอำนาจโดยการทำรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้คำสัญญาอย่างต่อเนื่องว่า จะกำหนดฐานความผิดต่อการทรมานในกฎหมายไทย และปฏิบัติให้สอดคล้องกับพันธกรณีของไทยที่มีต่ออนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment) ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันรับรองเมื่อปี 2550 อย่างไรก็ดี ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลทหารลงมติให้ชะลอการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายพ.ศ. และรัฐบาลไม่ได้ชี้แจงว่าจะมีการนำร่างกฎหมายดังกล่าว บรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาอีกหรือไม่
“ประเทศไทยต้องยุติการเสแสร้งว่าได้ปฏิบัติตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และยอมรับว่าการที่ไม่มีกฎหมายห้ามการทรมานเท่ากับเป็นการส่งเสริมให้มีการปฏิบัติมิชอบต่อผู้ถูกควบคุมตัว” แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “หากไม่มีแนวทางให้เกิดการลงโทษอย่างจริงจัง กองทัพไทยและตำรวจก็จะยังคงซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยต่อไป”
ร่างกฎหมายดังกล่าวกำหนดฐานความผิดต่อการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย โดยไม่มีข้อยกเว้นด้วยเหตุผลทางการเมืองหรือความมั่นคง เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งทำการทรมานอาจได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 20 ปี หรือ 30 ปี หากการทรมานนั้นส่งผลให้เกิดอาการบาดเจ็บสาหัส และอาจได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิตหากเป็นสาเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีหน้าที่กำกับดูแลเจ้าหน้าที่ซึ่งทำการทรมาน อาจได้รับโทษกึ่งหนึ่ง หากศาลเห็นว่าบุคคลเหล่านั้นจงใจเพิกเฉยต่อข้อมูล หรือปฏิเสธว่าไม่รู้เห็นเกี่ยวกับการทรมานหรือการบังคับบุคคลให้สูญหายที่เกิดขึ้นโดยผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของตน เจ้าหน้าที่ซึ่งมีส่วนรับผิดชอบต่อการบังคับบุคคลให้สูญหายจะได้รับโทษในลักษณะเดียวกันด้วย
การทรมานเป็นปัญหามาเป็นเวลานานในประเทศไทย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว ฮิวแมนไรท์วอทช์ได้บันทึกข้อมูลหลายกรณีที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารถูกกล่าวหาว่าซ้อมทรมานชาวมุสลิมเชื้อสายมาลายูระหว่างถูกควบคุมตัว รูปแบบการซ้อมทรมานที่เกิดขึ้นมากสุดคือการตบบ้องหู การต่อย การเตะ การทุบตี การใช้ไฟช็อต และการบีบคอหรือการคลุมด้วยถุงพลาสติกจนทำให้แทบจะขาดอากาศหายใจ ทั้งยังมีรายงานที่น่าเชื่อถือว่ามีการใช้การทรมานเป็นการลงโทษรูปแบบหนึ่งสำหรับทหารเกณฑ์ ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายราย นับแต่รัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 หลายคนซึ่งเคยถูกทหารควบคุมตัวแบบไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอก กล่าวหาว่าตนเองถูกทรมานหรือถูกปฏิบัติอย่างโหดร้ายระหว่างถูกควบคุมตัวและสอบปากคำโดยทหาร
รัฐบาลชุดที่ผ่าน ๆ มาไม่ได้ดำเนินการสอบสวนต่อข้อหาว่ามีการทรมานอย่างจริงจังและอย่างน่าเชื่อถือ ในหลายกรณี ทางการไทยยังตอบโต้กับผู้ที่ออกมากล่าวหาว่ามีการทรมานและการปฏิบัติมิชอบอย่างร้ายแรง โดยการแจ้งความดำเนินคดีหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โดยอ้างว่าบุคคลเหล่านั้นจงใจทำให้หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่บางคนเสียชื่อเสียง
อนุสัญญาต่อต้านการทรมานกำหนดเป็นพันธกรณีอย่างชัดเจนให้รัฐบาลต้องสอบสวนและดำเนินคดีกับผู้มีส่วนรับผิดชอบต่อการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ข้อ 4 ของอนุสัญญาระบุว่า รัฐบาลควร “ประกันว่า การกระทำทรมานทั้งปวงเป็นความผิดตามกฎหมายอาญาของตน ให้ใช้หลักการเดียวกันนี้สำหรับการพยายามกระทำการทรมาน และสำหรับการกระทำโดยบุคคลใดที่เป็นการสมรู้ร่วมคิด หรือการมีส่วนร่วมในการทรมานด้วย” รัฐบาลยังควร “ทำให้ความผิดเหล่านี้เป็นความผิดที่มีโทษ ซึ่งมีระวางโทษที่เหมาะสมกับความร้ายแรงของการกระทำเหล่านี้”
ในวันที่ 10 มีนาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ความเห็นชอบต่อการให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามเมื่อปี 2555 อย่างไรก็ดี รัฐบาลยังไม่กำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนในการส่งมอบสัตยาบันสารให้กับเลขาธิการองค์การสหประชาชาติตามข้อกำหนด ตามกฎหมายระหว่างประเทศ การบังคับบุคคลให้สูญหายหมายถึงการจับกุมหรือควบคุมตัวบุคคลโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือตัวแทน จากนั้นมีการปฏิเสธว่าไม่รู้เห็นเกี่ยวกับการควบคุมตัวนั้น หรือไม่ยอมเปิดเผยชะตากรรมหรือที่อยู่ของบุคคลดังกล่าว
“คำสัญญาของนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ที่ให้ไว้กับเวทีระหว่างประเทศว่าจะยุติการทรมาน เป็นสิ่งที่ไม่อาจยึดถือเป็นเรื่องจริงจัง” อดัมส์กล่าว “รัฐบาลที่กังวลเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เลวร้ายลงในประเทศไทย ควรส่งเสียงและกระตุ้นให้มีการผ่านร่างกฎหมายต่อต้านการทรมานดังกล่าว”