Skip to main content

ประเทศไทยบังคับส่งชาวอุยกูร์ไปจีน หลังจากกักขังพวกเขาโดยพลการเป็นเวลานานกว่าทศวรรษ

โลกสร้างความผิดหวังให้กับชาวอุยกูร์อีกครั้ง

Published in: The Diplomat
เจ้าหน้าที่ตำรวจติดอาวุธชาวจีนลาดตระเวนในเขตหยาร์กานด์ เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ วันที่ 11 มิถุนายน 2558 © Kyodo via AP Images

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ ผมตื่นขึ้นมาจากฝันร้ายซ้ำแล้วซ้ำอีก ข้อความต่าง ๆ หลั่งไหลเข้ามาในโทรศัพท์ของผม เที่ยวบินพิเศษของสายการบิน China Southern Airlines ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ เมื่อเวลา 04.48 น. และลงจอดที่เมืองคัชการ์ ตอนใต้ของเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ในประเทศจีน ซึ่งเป็นสถานที่ที่รัฐบาลจีนได้ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติต่อชาวอุยกูร์ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และเป็นที่ที่ผมเติบโตขึ้นมา

บนเที่ยวบินดังกล่าวมีชายชาวอุยกูร์อย่างน้อย 40 คนที่หลบหนีออกจากจีนเมื่อกว่าทศวรรษก่อน พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของชาวอุยกูร์หลายร้อยคนที่พยายามหลบหนี โดยใช้เส้นทางบกที่อันตรายผ่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2557 บางคนสามารถไปถึงตุรกีซึ่งค่อนข้างปลอดภัย ส่วนคนอื่นถูกเจ้าหน้าที่ไทยควบคุมตัว และถูกส่งไปที่สถานกักตัวคนต่างด้าว

ในเดือนกรกฎาคม 2558 ประเทศไทยปล่อยตัวผู้หญิงอุยกูร์และเด็กประมาณ 170 คนให้กับตุรกี แต่ประเทศไทยยังส่งตัวผู้ชายอุยกูร์อีก 109 คนทางเครื่องบินไปยังจีน โดยพวกเขาถูกสวมหมวกคลุมศีรษะและใส่โซ่ตรวน

ผู้ชายที่เหลืออีกหลายสิบคนถูกกักตัวที่สถานกักตัวคนต่างด้าวของไทย เป็นการควบคุมตัวโดยพลการ ไม่มีกำหนดเวลา และผิดกฎหมาย ในเช้าวันที่ 27 กุมภาพันธ์ หลังจากถูกกักตัวเป็นเวลานานถึง 10 ปี ซึ่งในระหว่างนั้น มีอย่างน้อยสามคนที่เสียชีวิตในห้องกักที่มีสภาพทรุดโทรม ประเทศไทยได้บังคับให้กลุ่มที่เหลือขึ้นเครื่องบินแต่เช้าเพื่อมุ่งหน้าสู่ประเทศจีน

ระหว่างอยู่ในลอนดอนที่ปลอดภัย ผมเผลอหลับไปหลังจากดูวิดีโอของสื่อไทย เป็นภาพของรถบรรทุกหลายคันขณะแล่นออกจากสถานกักตัวคนต่างด้าวที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ชายเหล่านี้ถูกกักตัว ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทั้งหมดเป็นเพียงความเข้าใจผิด

เมื่อกว่าสิบปีที่แล้ว ผมเห็นด้วยตาตัวเองว่าเกิดอะไรขึ้นกับชาวอุยกูร์ที่ถูกส่งตัวกลับประเทศจีนโดยไม่ได้รับอนุญาต ผมได้เห็นฝูงชนหลายร้อยคนยืนอยู่หน้าที่ทำการศาลในบ้านเกิดของผม เมื่อชายอุยกูร์สองคนถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลานาน หลังจากบังคับส่งตัวกลับมาจากมาเลเซีย

“พวกเขาเกือบจะได้รับอิสรภาพแล้ว” มีคนหนึ่งบอก

“ทำไมต้องส่งพวกเขากลับมาที่นี่ พวกเขาไม่ไม่รู้หรือว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับคนเหล่านี้” อีกคนหนึ่งร้องไห้ออกมา

เรารออยู่ข้างนอกศาลอย่างสิ้นหวัง ไร้เรี่ยวแรง และผิดหวังอย่างมาก เราไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมฟังการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผย แม้จะมีตำรวจติดอาวุธหนักอยู่เต็มไปหมด แต่เรารอเพียงเพื่อจะได้เห็นชายสองคนนี้สักครู่ ก่อนที่พวกเขาจะถูกพาตัวไปยังห้องขังอันมืดมิด

ฉากนี้วนเวียนอยู่ในหัวของผมตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา นับตั้งแต่มีข่าวลือแพร่สะพัดว่าประเทศไทยเตรียมส่งชายเหล่านี้กลับประเทศจีน

ในจดหมายเปิดผนึกจากชายเหล่านี้ลงวันที่ 10 มกราคม พวกเขาเขียนว่า “เราอาจจะถูกจำคุก และอาจถึงขั้นเสียชีวิตด้วยซ้ำ พวกเราขอเรียกร้องอย่างเร่งด่วนต่อองค์กรระหว่างประเทศ และประเทศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน ให้เข้ามาแทรกแซงทันที เพื่อช่วยเราจากชะตากรรมอันน่าสลดใจนี้ ก่อนที่มันจะสายเกินไป”

เพื่อนนักเคลื่อนไหวและตัวผมเองได้พยายามที่จะเผยแพร่ข้อเรียกร้องอันสิ้นหวังของชายเหล่านี้ เราได้ร้องขอต่อเจ้าหน้าที่ไทย องค์การสหประชาชาติ และรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง

แต่ผู้มีอำนาจสร้างความผิดหวังให้กับพวกเขา

ประเทศไทยยอมจำนนต่อจีน แทนที่จะปล่อยตัวชายเหล่านี้ และให้พวกเขาเดินทางไปยังประเทศที่สามที่ปลอดภัย เจ้าหน้าที่ของไทยปฏิเสธซ้ำแล้วซ้ำเล่าที่จะให้หน่วยงานผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติเข้าถึงตัวชายเหล่านี้ ทำให้ไม่ได้รับสถานะของผู้ลี้ภัยและไม่สามารถตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สามได้

เพราะการเนรเทศที่น่าชิงชังเช่นนี้ ประเทศไทยได้ละเมิดกฎหมายของตนเอง รวมทั้งพันธกรณีระหว่างประเทศ

ในปี 2566 รัฐบาลไทยได้นำหลักการทางกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วย “การไม่ส่งกลับ” ซึ่งห้ามประเทศต่างๆ ส่งตัวบุคคลกลับไปยังสถานที่ที่มีความเสี่ยงต่อการประหัตประหารอย่างแท้จริง เข้ามาผนวกไว้เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายในประเทศ จนกระทั่งถึงช่วงเวลาที่ถูกเนรเทศ เจ้าหน้าที่ของไทย รวมถึงนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ยังคงรักษาภาพลักษณ์ที่หลอกลวงว่าเคารพกฎหมายระหว่างประเทศ และให้คำมั่นซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าจะไม่เนรเทศชายเหล่านี้

ที่น่าอับอายยิ่งกว่านั้น เจ้าหน้าที่ของไทยและจีนกำลังร่วมมือกันเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ และปกปิดความโหดร้ายที่เกิดขึ้นกับชาวอุยกูร์ โดยมองว่าการที่ชายเหล่านี้ถูกบังคับส่งตัวกลับประเทศ เป็นการกระทำด้วยความเมตตา เพื่อให้เกิดการ “รวมญาติ” อีกครั้ง

ความจริงที่ชายเหล่านี้ต้องเผชิญในปัจจุบันนั้นแตกต่างอย่างสิ้นเชิง ตั้งแต่ปลายปี 2559 เป็นต้นมา รัฐบาลจีนได้ใช้นโยบาย “การปราบปรามอย่างหนัก” (Strike Hard Campaign) เพื่อลงโทษประชาชนในซินเจียง ด้วยการควบคุมตัวชาวอุยกูร์และชาวมุสลิมเชื้อสายเติร์กประมาณหนึ่งล้านคนโดยพลการในค่ายฝึกอบรมทางการเมือง ทำให้พวกเขาถูกละเมิดสิทธิต่าง ๆ เช่น การบังคับใช้แรงงาน และการพลัดพรากจากครอบครัว คาดว่ายังมีชายอีกประมาณครึ่งล้านคนที่ถูกจำคุกเป็นเวลานานเพียงเพราะท่องบทสวดในอัลกุรอ่านในโทรศัพท์ของพวกเขา ชาวอุยกูร์ในปัจจุบันอาศัยอยู่ภายใต้การสอดแนมข้อมูล และการปราบปรามที่ไม่เพียงเพื่อกดขี่พวกเขาเท่านั้น แต่ยังบังคับให้พวกเขาแสดงความขอบคุณต่อ “มาตุภูมิอันยิ่งใหญ่” อีกด้วย

ไม่มีใครในซินเจียงกล้าที่จะรวมตัวกันหน้าที่ทำการศาลอีกต่อไป ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะมีการไต่สวนคดีอีกหรือไม่ ผมสงสัยแต่ว่าผู้ชายเหล่านี้จะลงเอยในห้องขังเดียวกับพ่อของผม เมเมต ยาคุป ซึ่งหายตัวไปในปี 2561 และตอนนี้กำลังรับโทษจำคุก 16 ปี โดยที่ไม่ได้ก่ออาชญากรรมใดๆ

ในฝันร้ายของผม ผมไม่สามารถช่วยพ่อของผมได้ เช่นเดียวกัน ผมก็ไม่สามารถทำอะไรเพื่อช่วยชาวอุยกูร์เหล่านี้ได้เลย

โลกจะสร้างความผิดหวังให้กับพวกอุยกูร์อีกกี่ครั้งกัน?

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.

Tags