ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับลึกแต่น่ากังวลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับไทย ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากการซ้อมรบคอบร้าโกลด์ (Cobra Gold) ที่เกี่ยวข้องกับหลายประเทศโดยมีสหรัฐฯ เป็นแกนนำ และนับเป็นการซ้อมรบใหญ่สุดครั้งหนึ่งในภูมิภาค ซึ่งจะเริ่มขึ้นในประเทศไทยในสัปดาห์นี้
ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-ไทยตึงเครียดอย่างมาก นับแต่รัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 ซึ่งนายพลของกองทัพไทยได้โค่นล้มอำนาจรัฐบาลพลเรือน คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รัฐบาลทหารที่นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งในปัจจุบันได้กลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ได้ทำการยึดอำนาจ ประกาศใช้กฎอัยการศึกแทนรัฐธรรมนูญ ทำให้คสช.มีอำนาจแทบจะไม่มีขอบเขตจำกัด และไม่สามารถตรวจสอบได้ มีการละเมิดคำสัญญาที่ให้ไว้ครั้งแล้วครั้งเล่าว่าจะจัดการเลือกตั้ง และฟื้นฟูระบอบปกครองของพลเรือนในประเทศ และไม่มีสัญญาณว่ารัฐบาลทหารมีแผนการจะลงจากอำนาจในเร็ววัน
นับแต่รัฐประหาร นักการเมือง นักกิจกรรม และฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองกว่า 1,000 คนถูกจับกุม หลายคนถูกบังคับให้เข้ารับ “การปรับทัศนคติ” แบบที่ทหารเรียก ในค่ายทหาร กองทัพยังทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย มีการสั่งฟ้องคดีต่อผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารหลายคนในศาลทหาร ทั้งยังมีข้อกล่าวหาบ่อยครั้งและน่าเชื่อถือว่าได้เกิดการทรมานขึ้น กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เองได้รายงานถึงการปฏิบัติมิชอบเหล่านี้ สื่อมวลชนไทยส่วนใหญ่ถูกปิดปากโดยทหาร ซึ่งเข้าไปแทรกแซงในห้องขัง เป็นเหตุให้สื่อต้องเซ็นเซอร์ตนเอง ในขณะที่สื่อของรัฐกลายเป็นกระบอกเสียงของกองทัพไปโดยปริยาย
ในปี 2557 รัฐบาลสหรัฐฯ แสดงปฏิกิริยายอย่างรุนแรงต่อรัฐประหาร โดยกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เรียกมันว่าเป็นการทำรัฐประหาร ซึ่งต่างจากกรณีของการทำรัฐประหารในอียิปต์เมื่อปี 2556 ซึ่งทางการสหรัฐฯ ไม่ได้เรียกเช่นนั้นแม้จนถึงปัจจุบัน “คุณจะเรียกการกระทำเช่นนั้นตามชื่อของมันได้หรือไม่?” นักข่าวถามในระหว่างการแถลงข่าวของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งคุณเจน ซากิ (Jen Psaki) โฆษกของกระทรวงก็ตอบว่า “ได้สิ เราเรียกมันว่ารัฐประหาร รัฐประหาร รัฐประหาร”
เนื่องจากไทยมีความสัมพันธ์ที่ยาวนานและใกล้ชิดกับสหรัฐฯ การตัดสินใจดังกล่าวจึงถือว่าไม่ใช่เรื่องเล็ก รัฐประหารครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สองของไทยในรอบแปดปี โดยรัฐประหารทั้งสองครั้งมีเป้าหมายเพื่อต่อต้านบุคคลที่มีอิทธิพลทางการเมืองอย่างยิ่งคือนายทักษิณ ชินวัตร และครอบครัวของเขา (น้องสาวของเขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงที่เกิดรัฐประหารปี 2557) โดยฐานการเมืองของนักการเมืองเหล่านี้ ซึ่งเป็นฐานการเมืองใหม่และขยายตัวอย่างมาก ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามมากขึ้นต่อกองทัพและบรรดาชนชั้นอำมาตย์ฝ่ายอนุรักษ์นิยมของไทย การเรียกปฏิบัติการครั้งนั้นว่ารัฐประหารถือว่ามีผลลัพธ์สำคัญในแง่กฎหมายสหรัฐฯ เนื่องจากตามกฎหมายของรัฐบาลกลางว่าด้วย “ข้อบทเกี่ยวกับรัฐประหาร” (coup clause) กำหนดให้รัฐบาลต้องตัดความช่วยเหลือด้านต่างประเทศโดยตรงที่ให้กับประเทศใด ๆ ซึ่งรัฐบาลถูกโค่นล้มจากการทำรัฐประหาร จนกว่าจะมีการฟื้นฟูระบอบปกครองที่เป็นประชาธิปไตยของพลเรือน นับแต่รัฐประหารครั้งนั้น สหรัฐฯ ยังไม่ได้จัดอบรมหรือให้ทุนสนับสนุนการจัดซื้อทางการทหารโดยตรงกับประเทศไทยแต่อย่างใด
ความไม่พึงพอใจของรัฐบาลสหรัฐฯ ต่อทั้งรัฐประหาร และการละเมิดคำสัญญาที่จะฟื้นฟูระบอบปกครองของพลเรือน สะท้อนให้เห็นจากการที่สหรัฐฯ ลดบทบาทการมีส่วนร่วมในการซ้อมรบทางทหารแบบพหุภาคีซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพ โดยมีการลดขนาดการซ้อมรบคอบร้าโกลด์ประจำปีในภูมิภาคลง แม้ว่าจะไม่ได้เป็นเงื่อนไขในข้อบทเกี่ยวกับรัฐประหารตามกฎหมายก็ตาม ทั้งยังมีการส่งเฉพาะเจ้าหน้าที่ระดับล่างเข้าร่วมการซ้อมรบ
ดูเหมือนว่าผู้กำหนดนโยบายที่กระทรวงกลาโหม มีเจตนาจะใช้การซ้อมรบคอบร้าโกลด์เป็นช่องทางในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทหารระหว่างสหรัฐฯ กับกองทัพไทย พิธีเปิดการซ้อมรบคอบร้าโกลด์ซึ่งน่าขันที่ตรงกับวันวาเลนไทน์พอดี มีประธานในพิธีเปิดเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่แสดงอาการเยินยอความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลทั้งสองอย่างผู้บัญชาการระดับจอมพลเรือ ซึ่งดูแลภาคพื้นแปซิฟิกอย่างจอมพลเรือเรือ แฮรี่ แฮรีส (Harry Harris) นับเป็นเจ้าหน้าที่อเมริกันที่มีตำแหน่งสูงสุดในโลกซีกตะวันออก ที่น่าสนใจกว่านั้นคือจอมพลเรือแฮรีสมีกำหนดการเข้าพบนายประยุทธ์และสมาชิกระดับสูงคนอื่นของรัฐบาลทหาร
กระทรวงกลาโหมอาจแตกตื่นตกใจ เนื่องจากกองทัพไทยได้แสดงท่าทีอย่างชัดเจนหลายครั้ง ที่จะพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศจีน เจ้าหน้าที่บางส่วนกังวลถึงการสูญเสียอิทธิพลของสหรัฐฯ ซึ่งนับเป็นข่าวเท็จแบบเก่า ๆ เนื่องจากกองทัพสหรัฐฯ และไทย และความสัมพันธ์ด้านความมั่นคง การเมือง และเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ มีความลึกซึ้งและไม่อาจแบ่งแยกได้ โดยเช่นเดียวกับกองทัพอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กองทัพไทยเองก็ไม่ได้ต้องการเป็นทาสของจีน
ไม่ว่าเจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ จะสามารถแสดงบทบาทที่น่าเชื่อถือในฐานะผู้สนับสนุนสิทธิมนุษยชนได้หรือไม่ก็ตาม กระทรวงกลาโหมน่าจะตระหนักว่า ประเทศไทยในระบอบปกครองที่กดขี่ของทหารนับเป็นภัยคุกคามในระยะยาวต่อเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเมืองในภูมิภาค
เจ้าหน้าที่ของไทยต่างโหมโฆษณาว่า การมาเยือนไทยของจอมพลเรือแฮรีส เป็นสัญญาณว่าทางการสหรัฐฯ รู้เห็นเป็นใจกับการสืบทอดอำนาจอย่างไม่สิ้นสุดของรัฐบาลทหาร แม้ว่าการมาเยือนครั้งนี้อาจส่งผลในทางโฆษณาชวนเชื่อกับรัฐบาลทหารอยู่บ้าง แต่จอมพลเรือแฮรีสก็อาจบรรเทาความเสียหายนี้ได้โดยการตอกย้ำข้อกังวลของสหรัฐฯ อย่างชัดเจน
เนื่องจากมีชื่อเสียงในฐานะเป็นคนตรงไปตรงมา จอมพลเรือแฮรีสจึงควรใช้โอกาสนี้พูดคุยอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับการทรมานและการปฏิบัติมิชอบอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น กฎหมายที่ให้อำนาจปราบปรามเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างกว้างขวาง การคุมขังผู้วิพากษ์วิจารณ์อย่างสงบ และการปราบปรามสื่อมวลชนและภาคประชาสังคม
ทั้งเขายังควรพูดถึงการเลือกตั้งเพื่อให้ได้รัฐบาลพลเรือนตามระบอบประชาธิปไตย แม้ว่าในขณะนี้ดูเหมือนว่ารัฐบาลทหารจะมุ่งหน้าสู่แนวทางการเลือกตั้งในบางลักษณะในปี 2561 แต่เมื่อพิจารณาถึงสภาพในปัจจุบัน เชื่อว่ารัฐบาลทหารจะยังคงใช้มาตรการที่จำกัดอย่างเข้มงวดต่อเสรีภาพในการแสดงความเห็น การชุมนุมและการสมาคมต่อไป ในลักษณะเดียวกับที่ทำให้การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปีที่แล้ว เป็นละครตลกฉากหนึ่ง นอกจากนั้น รัฐธรรมนูญใหม่ของไทยและกฎหมายที่มีการเสนอ กำหนดให้กองทัพมีบทบาทเป็นแกนกลางในการแต่งตั้งวุฒิสภาที่ไม่ได้มาจากการ
เลือกตั้ง และการคัดเลือกบุคคลที่จะเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมทั้งรัฐบาลใหม่ยังต้องปฏิบัติตาม “แผนปฏิรูป 20 ปี” ของรัฐบาลทหาร
จอมพลเรือแฮรีสควรเน้นให้เห็นแนวทางที่เสนอซึ่งเป็นประชาธิปไตยแบบจอมปลอม เขาควรกล่าวอย่างชัดเจนต่อสาธารณะและในระหว่างการประชุมเป็นการส่วนตัวว่า ตราบที่รัฐบาลทหารยังคงมุ่งปราบปรามเสรีภาพต่อไป และตราบที่ประชาชนคนไทยยังไม่มีระบอบปกครองโดยพลเรือนที่เสรีและเป็นธรรม กฎหมายของสหรัฐฯ ก็จะยังคงห้ามการให้ความช่วยเหลือทางตรงซึ่งเป็นไปตามข้อบทเกี่ยวกับรัฐประหารต่อไป แผนการที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่ได้มุ่งตัดความช่วยเหลือลง ไม่ว่าการซ้อมรบคอบร้าโกลด์จะส่งผลในทางโฆษณาชวนเชื่ออย่างไร รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ควรทำหน้าที่สนับสนุนระบอบปกครองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จของนายพลทหารไทย