Skip to main content

จดหมายถึงนายกรัฐมนตรีไทยเกี่ยวกับการสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

21 มิถุนายน 2559

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
สำนักนายกรัฐมนตรี
ถนนพิษณุโลก ดุสิต
กรุงเทพฯ 10300 ประเทศไทย

อ้างถึง: การสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

เรียน นายกรัฐมนตรี

ฮิวแมนไรท์วอทช์เป็นองค์กรเอกชน ซึ่งติดตามและรายงานประเด็นสิทธิมนุษยชนในกว่า 90 ประเทศทั่วโลก เราได้รายงานข้อมูลเกี่ยวกับประเทศไทยมาเกือบสามทศวรรษ

ในปัจจุบัน ประเทศไทยพยายามสมัครเพื่อเข้าดำรงตำแหน่งสมาชิกไม่ถาวร ในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ สมัยปี 2560-2561 ซึ่งจะมีการเลือกตั้งในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2559 โดยทางผู้แทนประเทศไทยให้คำสัญญาในฐานะผู้สมัครว่า จะให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกกับการคุ้มครองหลักการด้านสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมทั่วโลก [1]

ในบันทึกแถลงทางการทูต (aide memoire) ของไทย เพื่อสนับสนุนการหาเสียงเพื่อเข้าเป็นสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ รัฐบาลไทยประกาศว่า “เรามีพันธกิจต่อสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่อาจละเมิด ไม่อาจพรากไปได้ และเป็นสากล ไทยเป็นหนึ่งใน 48 ประเทศแรกในโลก ซึ่งให้ความเห็นชอบต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเมื่อปี 2491 ที่ผ่านมาเรายังให้ความสนับสนุนอย่างต่อเนื่องกับการดำเนินงานของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (HRC) นับแต่ก่อตั้งเมื่อปี 2519 นโยบายด้านสิทธิมนุษยชนของเราได้รับการชี้นำจากหลักการที่มุ่งแสวงหา รับฟัง และเคารพความเห็นของบุคคลทั้งปวง”

ฮิวแมนไรท์วอทช์ได้รับทราบประกาศพันธกิจด้านสิทธิมนุษยชนของท่าน และมีความเห็นว่าการสมัครเป็นสมาชิกครั้งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญที่รัฐบาลของท่านจะดำเนินมาตรการอย่างเป็นรูปธรรมโดยทันที เพื่อปรับปรุงสถิติด้านสิทธิมนุษยชนของไทยในประเทศ

ยุติอำนาจในการปราบปรามของคสช.ที่ไม่อาจตรวจสอบได้

นับแต่มีการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ปราบปรามอย่างรุนแรงต่อสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ตรงข้ามกับพันธกรณีตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) ซึ่งไทยเป็นรัฐภาคี ท่านไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนถึงคุณลักษณะ ขอบเขต และองค์ประกอบของภัยคุกคาม ซึ่งทางคสช.อ้างเพื่อแสดงความชอบธรรมในการใช้มาตรการจำกัดสิทธิต่อไป

รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ให้อำนาจคสช.ในการดำเนินการตามนโยบายและมาตรการต่าง ๆ โดยไม่มีการกำกับดูแลหรือการตรวจสอบอย่างเป็นผล คสช.ยังสามารถใช้อำนาจดุลพินิจอย่างกว้างขวาง เพื่อประกาศใช้คำสั่งและดำเนินการตามที่หน่วยงานทางทหารเห็นว่าเหมาะสม โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด [2] รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวยังกำหนดว่า สมาชิกของคสช.และบุคคลใดที่ดำเนินการในนามของคสช. “พ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง” [3] ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่จัดทำโดยคณะกรรมการร่างที่แต่งตั้งโดยคสช. ยังกำหนดให้กองทัพมีบทบาทที่ไม่อาจตรวจสอบได้ในการปกครอง แม้ว่าจะมีรัฐบาลใหม่แล้วก็ตาม

ที่ผ่านมาท่านได้ให้สัญญากับประชาชนคนไทยและประชาคมระหว่างประเทศหลายครั้งว่า รัฐบาลของท่านจะยอมรับการปกครองแบบประชาธิปไตยและเคารพมาตรฐานสิทธิมนุษยชน ก้าวย่างแรกที่สำคัญในการปฏิบัติตามคำสัญญาเหล่านี้ คือการยกเลิกมาตรา 44 และข้อบทอื่น ๆ ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งอนุญาตให้คสช.สามารถดำเนินการโดยไม่ต้องรับผิดและไม่มีการกำกับดูแลอย่างเป็นผล

ยุติการเซ็นเซอร์และประกันให้มีการแสดงออกอย่างเสรี

เสรีภาพในการแสดงออกเป็นองค์ประกอบสำคัญ เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามคำสัญญาของท่านที่จะนำไปสู่ความปรองดองในประเทศไทย การรณรงค์หาเสียงของประเทศไทยในการสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เน้นด้านนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการชี้นำจากหลักการ “มุ่งแสวงหา รับฟัง และเคารพความเห็นของบุคคลทั้งปวง” [4] แต่นับแต่รัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา รัฐบาลได้บังคับใช้การเซ็นเซอร์สื่อ การสอดแนมที่เพิ่มขึ้นด้านอินเตอร์เน็ตและการสื่อสารออนไลน์ และการจำกัดอย่างเข้มงวดต่อการแสดงออกอย่างเสรี คสช.ยังปราบปรามการแสดงความเห็นของบุคคลอย่างเปิดเผย ในลักษณะที่วิพากษ์วิจารณ์นโยบายหรือการปฏิบัติของตน โดยมีทั้งการจับกุมและการดำเนินคดีทั้งในศาลพลเรือนและศาลทหาร

ฮิวแมนไรท์วอทช์กังวลอย่างยิ่งเนื่องจากการปราบปรามอย่างต่อเนื่องต่อการถกเถียงหรือการวิพากษ์วิจารณ์ใด ๆ ที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลสนับสนุน ซึ่งจะมีการทำประชามติออกเสียงร่างรัฐธรรมนูญนี้ในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ผู้แสดงความเห็นออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญนี้ ได้ถูกควบคุมตัว นักกิจกรรม นักวิชาการ และนักการเมืองจำนวนมากถูกข่มขู่ด้วยบทลงโทษที่รุนแรงตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งโทษจำคุก 10 ปี กรณีที่กระตุ้นให้พลเรือนไปออกเสียงไม่รับรองร่างรัฐธรรมนูญ รัฐบาลของท่านต้องตระหนักว่า การถกเถียงอย่างเสรีและเปิดเผยเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญเป็นองค์ประกอบที่สำคัญต่อการฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงของไทย การมีคำสั่ง

ลงโทษผู้เห็นต่างและผู้วิพากษ์วิจารณ์ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลต้องการตอกย้ำบรรยากาศของความหวาดกลัว ก่อนจะถึงการออกเสียงประชามติ

คสช.ยังมีคำสั่งห้ามการชุมนุมของบุคคลกว่าห้าคนขึ้นไป และห้ามกิจกรรมต่อต้านรัฐประหาร ผู้ประท้วงซึ่งแสดงความไม่เห็นด้วยหรือแสดงการต่อต้านรัฐบาลอย่างสงบ ได้ถูกจับกุมและดำเนินคดีในศาลทหาร โดยอาจได้รับโทษจำคุกไม่เกินสองปี นับแต่เดือนพฤษภาคม 2557 มีบุคคลอย่างน้อย 46 คนที่ถูกดำเนินคดีในข้อหายุยงปลุกปั่น เนื่องจากการวิพากษ์วิจารณ์ระบอบปกครองของทหารและละเมิดคำสั่งห้ามการชุมนุมสาธารณะและการรวมตัวทางการเมืองของคสช. ในวันที่ 28 เมษายน 2559 มีการจับกุมและดำเนินคดีในข้อหายุยงปลุกปั่นและความผิดทางคอมพิวเตอร์กับบุคคลแปดคน เนื่องจากการเขียนและโพสต์แสดงความเห็นและรูปล้อเลียนท่านในฐานะนายกรัฐมนตรี่ ผ่านทางหน้าเฟซบุ๊กในเชิงขบขัน

คสช.มีท่าทีต่อการพูดคุยทางการเมืองโดยทั่วไปและความเห็นที่แตกต่างทางการเมือง โดยถือเป็นภัยคุกคามต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของประเทศ เป็นไปตามคำสั่งของคสช. ทางการได้สั่งห้ามการอภิปรายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย สถาบันพระมหากษัตริย์ และการดำเนินงานของรัฐบาล ในมหาวิทยาลัยและสถานที่สาธารณะอื่น ๆ รัฐบาลได้สั่งปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์กว่า 200 แห่งอ้างว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติ

การวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นความผิดอาญาร้ายแรงในประเทศไทย บุคคลที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมักไม่ได้รับการประกันตัว และมักถูกควบคุมตัวในเรือนจำเป็นเวลาหลายเดือนระหว่างรอการพิจารณา โดยส่วนใหญ่มักมีการลงโทษอย่างรุนแรงเมื่อพบว่ามีความผิด ในฐานะนายกรัฐมนตรีท่านได้กล่าวเสมอว่าเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่จะดำเนินคดีกับผู้วิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ ทางการไทยได้สั่งฟ้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแล้วอย่างน้อย 59 คดี นับแต่รัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการแสดงความเห็นทางอินเตอร์เน็ต ในวันที่ 14 ธันวาคม 2558 รัฐบาลได้ดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพซึ่งต้องเข้ารับการไต่สวนในศาลทหารกับพลเรือน ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเผยแพร่ภาพและความเห็นเชิงเสียดสีในเฟซบุ๊ก ซึ่งถูกมองว่าเป็นการล้อเลียนสุนัขทรงเลี้ยง ในเดือนสิงหาคม 2558 นายพงษ์ศักดิ์ ศรีบุญเพ็ง ถูกศาลตัดสินจำคุกเป็นเวลา 60 ปี ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเนื่องจากการโพสต์ในเฟซบุ๊ก (มีการลดโทษเหลือ 30 ปีเนื่องจากรับสารภาพ) นับเป็นโทษจำคุกที่ยาวนานสุดสำหรับคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทย

เพื่อให้ประเทศไทยสามารถปฏิบัติตามคำสัญญาในบันทึกแถลงทางการทูตที่จะเคารพสิทธิมนุษยชน รัฐบาลควรยุติการจำกัดทั้งปวงต่อสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพของสื่อ กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพควรห้ามผู้ฟ้องคดีที่เป็นเอกชน ซึ่งที่ผ่านมากฎหมายนี้ได้ถูกใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองอย่างสม่ำเสมอ จากการปฏิบัติที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่าทางการมักไม่สามารถปฏิเสธการรับแจ้งความของบุคคลทั่วไปได้ เนื่องจากกลัวว่าจะถูกกล่าวหาว่าไม่จงรักภักดีเสียเอง

ยุติการควบคุมตัวแบบลับโดยพลการและการใช้ศาลทหารกับพลเรือน

นับแต่รัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 หน่วยงานทหารได้เรียกตัวนักกิจกรรม ผู้สนับสนุนพรรคการเมือง ผู้สื่อข่าว และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างน้อย 1,340 คน เพื่อสอบปากคำ และเข้ารับ “การปรับทัศนคติ” หากไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกของคสช. จะกลายเป็นความผิดทางอาญาและต้องเข้ารับการพิจารณาในศาลทหาร ตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 และ 13/2559 กองทัพสามารถควบคุมตัวบุคคลแบบลับโดยไม่มีข้อหาหรือไม่มีการไต่สวน และสามารถสอบปากคำพวกเขาโดยไม่ให้เข้าถึงทนายความ หรือไม่มีหลักประกันเพื่อป้องกันการปฏิบัติมิชอบ ผู้ถูกควบคุมตัวบางคนถูกควบคุมตัวนานเกินกว่าเจ็ดวัน ตามคำสั่งของฝ่ายบริหาร ฮิวแมนไรท์วอทช์ได้ยื่นจดหมายต่อรัฐบาลไทยเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 แสดงความกังวลอย่างร้ายแรงเกี่ยวกับสภาพภายในมณฑลทหารบกที่ 11 หลังการเสียชีวิตของนายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือหมอหยอง และพ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา ซึ่งถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และได้ถูกควบคุมตัวที่นั่น [5] เกี่ยวกับข้อกล่าวหาในกรณีเหล่านี้และอื่น ๆ คสช.ได้บอกปัดข้อกล่าวหาทั้งหมด ระบุว่าทหารไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายกับผู้ถูกควบคุมตัว แต่ที่ผ่านมาก็ไม่ได้ให้พยานหลักฐานใด ๆ เพื่อตอบโต้กับข้อกล่าวหาเหล่านั้น

คสช.ยังได้บังคับบุคคลที่ได้รับการปล่อยตัวจากการควบคุมตัวของทหาร ให้ลงนามในความตกลงอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรว่า จะไม่แสดงความเห็นทางการเมือง ไม่เข้าร่วมกับกิจกรรมทางการเมืองใด ๆ หรือไม่เดินทางไปต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของพวกเขาอย่างชัดเจน ผู้ถูกควบคุมตัวได้รับแจ้งจากคสช.ว่า หากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในความตกลงเหล่านั้น อาจส่งผลให้ถูกควบคุมตัวอีกครั้ง หรืออาจได้รับโทษจำคุกสองปี

ประกาศคสช.ที่ 37/2557 ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 ให้อำนาจศาลทหารในการพิจารณาคดีต่อพลเรือนในความผิดทางอาญาหลายประการ รวมทั้งการละเมิดมาตรา 107-112 ของประมวลกฎหมายอาญา หรือข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติและการยุยงปลุกปั่นตามมาตรา 113-118 นอกจากนั้น บุคคลซึ่งละเมิดคำสั่งคสช.ยังต้องเข้ารับการไต่สวนในศาลทหาร นับแต่เดือนพฤษภาคม 2557 มีการฟ้องคดีต่อพลเรือนอย่างน้อย 1,629 คดีในศาลทหารทั่วประเทศไทย

ในฐานะรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) ประเทศไทยมีพันธกรณีต้องดำเนินการและใช้มาตรการ เพื่อประกันสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมในขั้นพื้นฐาน ซึ่งห้ามไม่ให้รัฐบาลใช้ศาลทหารเพื่อไต่สวนพลเรือน กรณีที่ศาลพลเรือนยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ชำนาญการระหว่างประเทศ ที่ดูแลการปฏิบัติตามกติกา ICCPR ได้ระบุในความเห็นทั่วไปเกี่ยวกับสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมว่า “การไต่สวนพลเรือนในศาลทหารหรือศาลพิเศษ อาจทำให้เกิดปัญหาร้ายแรง ในแง่ของการบริหารงานยุติธรรมอย่างเท่าเทียม อย่างไม่ลำเอียง และอย่างเป็นอิสระ”

เพื่อปฏิบัติตามคำสัญญาซึ่งประเทศไทยได้ให้ไว้ในบันทึกแถลงทางการทูต ฮิวแมนไรท์วอทช์กระตุ้นให้มีการสั่งการให้กองทัพยุติการจับกุมบุคคลโดยพลการ และการควบคุมตัวพวกเขาในสถานที่ลับ และให้อนุญาตให้บุคคลเหล่านั้นสามารถติดต่อกับครอบครัวและสามารถเข้าถึงทนายความที่ตนเลือกได้โดยไม่มีการปิดกั้น นอกจากนั้น เรายังกระตุ้นให้รัฐบาลไทยให้สัตยาบันรับรองและดำเนินการโดยทันทีตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย

(Convention against Enforced Disappearance) และพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน เรายังเรียกร้องให้ยกเลิกคำสั่งคสช.ที่อนุญาตให้ดำเนินคดีต่อพลเรือนในศาลทหารโดยทันที

ประกันให้มีการตรวจสอบได้เมื่อมีการละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม

ประเทศไทยระบุในบันทึกแถลงทางการทูตว่า “ความปลอดภัยของพลเรือนผู้บริสุทธิ์ เป็นเรื่องที่เราให้ความใส่ใจเป็นอย่างมาก” ทั้งยังระบุว่า “ในแง่การป้องกันความขัดแย้ง ประเทศไทยเป็นแนวหน้าในระดับภูมิภาค ในการเสริมสร้างความจริงและความไว้วางใจ และการส่งเสริมมาตรการทางการทูตในเชิงป้องกัน โดยผ่านกลไกและกรอบปฏิบัติที่หลากหลาย”

เพื่อให้สามารถทำหน้าที่ผู้ไกล่เกลี่ยและป้องกันความขัดแย้งระดับสากลได้อย่างน่าเชื่อถือ ประเทศไทยจึงควรดำเนินการให้เป็นตัวอย่างที่ดีในประเทศ ซึ่งหมายถึงว่ารัฐบาลไทยควรนำตัวผู้มีส่วนรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงมาเข้ารับการไต่สวน ดำเนินการให้ผู้เสียหายจากการปฏิบัติมิชอบเข้าถึงความยุติธรรม และลงโทษผู้มีส่วนรับผิดชอบต่อการปฏิบัติมิชอบ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะดำรงตำแหน่งหรือมียศอย่างไร

กองกำลังความมั่นคงของไทยยังคงกระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงโดยไม่ต้องรับผิด ที่ผ่านมาไม่มีการลงโทษเจ้าหน้าที่ ผู้บังคับบัญชา ทหาร หรือตำรวจ เนื่องจากการสังหารอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือเนื่องจากการใช้กำลังอย่างไม่ถูกต้อง ซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างการเผชิญหน้าทางการเมืองเมื่อปี 2553 ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 90 คนและบาดเจ็บกว่า 2,000 คน ทั้งยังไม่เคยมีการฟ้องคดีอาญาต่อเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง เนื่องจากการละเมิดอย่างร้ายแรงต่อกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ในระหว่างปฏิบัติการปราบปรามการก่อความไม่สงบในภาคใต้ ในจังหวัดปัตตานี นราธิวาส และยะลา ซึ่งกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบและแบ่งแยกดินแดนได้ปฏิบัติมิชอบในหลากหลายรูปแบบเช่นกัน รัฐบาลที่ผ่าน ๆ มาของไทยไม่ได้แสดงความสนใจที่จะสอบสวนการสังหารนอกกระบวนการกฎหมายกว่า 2,000 ครั้งที่เกิดขึ้นในช่วง “สงครามปราบปรามยาเสพติด” ของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2546

เรากระตุ้นรัฐบาลของท่านให้แก้ปัญหาการละเมิดสิทธิของคู่กรณีทุกฝ่าย โดยผ่านระบบยุติธรรมที่น่าเชื่อถือ ไม่ลำเอียง และเป็นอิสระ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการส่งเสริมความยุติธรรมและความปรองดองทางการเมือง รัฐบาลจึงควรดำเนินการโดยพลันเพื่อให้ค่าชดเชยที่เป็นธรรมและเพียงพอต่อผู้เสียหายและญาติที่ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการใช้กำลังอย่างมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ

รัฐบาลไทยยังควรปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ความมั่นคงที่เป็นองค์รวม โดยสอดคล้องอย่างเต็มที่กับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และควรยกเลิกพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกและพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งยกเว้นความผิด ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ความมั่นคงในจังหวัดชายแดนใต้ไม่ต้องถูกฟ้องคดี

คุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

ทางการไทยมีพันธกรณีต้องประกันให้บุคคลทุกคนและหน่วยงานทุกแห่ง ซึ่งมีส่วนร่วมในการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน สามารถดำเนินงานได้ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเกื้อหนุน แต่การสังหารและการบังคับบุคคลให้สูญหายที่เกิดขึ้นกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมภาคประชาสังคมอื่น ๆ นับเป็นมลทินร้ายแรงต่อสถิติด้านสิทธิมนุษยชนของไทย โดยที่ผ่านมามีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมภาคประชาสังคมกว่า 20 คนที่ถูกสังหารหรือถูกบังคับให้สูญหาย นับแต่ปี 2544 โดยการสอบสวนกรณีสังหารเหล่านี้ มักมีความไม่แน่นอน และไม่ได้รับความใส่ใจจากตำรวจ ทำให้ไม่มีการคุ้มครองที่เพียงพอต่อพยาน และไม่สามารถแก้ปัญหาการใช้อิทธิพลทางการเมืองต่ออาชญากรรมเหล่านี้

แม้แต่ในคดีอาญาร้ายแรง ซึ่งมีการใช้อำนาจสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม ก็มักไม่นำไปสู่การฟ้องคดีต่อผู้รับผิดชอบแต่อย่างใด ยกตัวอย่างเช่น ที่ผ่านมายังไม่มีการฟ้องร้องดำเนินคดีเนื่องจากการสังหารพระสุพจน์ สุวโจ พระนักอนุรักษ์ซึ่งถูกแทงจนมรณภาพเมื่อเดือนมิถุนายน 2548 โดยเป็นผลมาจากการทำงานอนุรักษ์ป่าในจังหวัดเชียงใหม่ทางภาคเหนือของไทย เพื่อป้องกันการบุกรุกเพื่อยึดที่ดินอย่างผิดกฎหมาย การดำเนินงานเพื่อฟ้องคดีมีสภาพที่เลวร้ายในคดีของนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความมุสลิม ซึ่งถูกอุ้มหายเมื่อเดือนมีนาคม 2547 โดยผู้ต้องสงสัยเป็นกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลังจากที่นายสมชายได้ทำหน้าที่ในคดีสำคัญ เพื่อเปิดโปงการซ้อมทรมานของตำรวจและการปฏิบัติมิชอบอื่น ๆ อันเนื่องมาจากปฏิบัติการต่อต้านการก่อความไม่สงบในภาคใต้ และไม่มีความคืบหน้าในการสอบสวนของตำรวจเพื่อค้นหาตัวนายพอละจี รักจงเจริญ หรือ “บิลลี่” นักกิจกรรมชาวกะเหรี่ยงคนสำคัญ ซึ่งถูกบังคับให้สูญหาย หลังเจ้าหน้าที่ได้จับกุมตัวเขาในเดือนเมษายน 2557 ที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

เรายังกังวลกับการฟ้องคดีอาญาของทหารเพื่อปิดปากนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ทำให้ผู้เสียหายไม่กล้าร้องเรียน ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งดูแลงานด้านความมั่นคงแห่งชาติในจังหวัดชายแดนใต้ ได้แจ้งความดำเนินคดีอาญาต่อน.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ นายสมชาย หอมลออ และน.ส.อัญชนา หีมมิหน๊ะ นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนคนสำคัญ พวกเขาถูกกล่าวหาว่าทำลายชื่อเสียงของกองทัพ โดยการตีพิมพ์เผยแพร่รายงานที่เปิดโปงการซ้อมทรมานต่อผู้ต้องสงสัยว่าก่อความไม่สงบซึ่งเป็นชาวมาลายูมุสลิมโดยผู้กระทำเป็นเจ้าหน้าที่ความมั่นคง โดยเป็นการแจ้งความดำเนินคดีหมิ่นประมาททางอาญาต่อบุคคลทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา และการถูกกล่าวหาว่าเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จในระบบคอมพิวเตอร์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

คุ้มครองสิทธิที่จะมีที่พักพิงและป้องกันการส่งกลับ

ในการสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ประเทศไทยได้อ้างถึงการปฏิบัติที่มีมายาวนานเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่น [6] โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศไทยระบุในบันทึกแถลงทางการทูตว่า “ประเทศไทยได้ยึดมั่นตามจารีตด้านมนุษยธรรมมาเป็นเวลานาน เพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นจากประเทศเพื่อนบ้าน และได้รองรับบุคคลเหล่านี้กว่าหนึ่งล้านคนในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยยังขยายความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมข้ามพรมแดนอีกด้วย"

แม้จะมีสถิติที่น่ายกย่องด้านงานมนุษยธรรม แต่ประเทศไทยไม่ได้ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาผู้ลี้ภัยเกี่ยวกับสถานะของผู้ลี้ภัย พ.ศ.2494 และพิธีสารเลือกรับ พ.ศ.2510 และไม่มีกฎหมายว่าด้วยที่พักพิงในระดับประเทศ รัฐบาลไทยจึงควรให้สัตยาบันและดำเนินการอย่างสอดคล้องกับสนธิสัญญาเหล่านี้โดยพลัน

รัฐบาลไทยได้บังคับส่งกลับผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงไปยังประเทศที่บุคคลเหล่านี้มีความเสี่ยงจะถูกปราบปราม ซึ่งถือว่าละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่ฟังเสียงคัดค้านจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UN High Commissioner for Refugees - UNHCR) และรัฐบาลต่างประเทศหลายแห่ง รวมทั้งการส่งกลับนักกิจกรรมชาวจีนสองคนไปยังประเทศจีนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 และผู้ลี้ภัยชาวอุยเก๋อจำนวน 109 คนไปยังจีนในเดือนกรกฎาคม 2558

ในเดือนพฤษภาคม 2558 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระหว่างประเทศเพื่อแก้ปัญหาผู้แสวงหาที่พักพิงและผู้อพยพชาวโรฮิงญา ซึ่งถูกทอดทิ้งอยู่กลางทะเลในเรือขนาดเล็ก แตกต่างจากมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ประเทศไทยปฏิเสธที่จะทำงานกับ UNHCR ในกระบวนการจำแนกสถานะผู้ลี้ภัยและจัดตั้งที่พักพิงชั่วคราวให้กับผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือให้รอดชีวิตมา

ผู้แสวงหาที่พักพิง รวมทั้งชาวโรฮิงญาจากพม่าและชาวอุยเก๋อจากจีน ซึ่งถูกจับกุมในประเทศไทย ต้องถูกควบคุมตัวเป็นเวลานานจนกว่าจะยอมเดินทางไปพำนักในประเทศที่สาม หรือเห็นชอบที่จะถูกส่งกลับประเทศโดยต้องจ่ายค่าเดินทางเอง ผู้เข้าเมืองและผู้แสวงหาที่พักพิงที่เป็นเด็กมักถูกควบคุมตัวในศูนย์กักตัวและห้องขังในโรงพักซึ่งมีสภาพเลวร้าย รัฐบาลไทยจึงควรกำหนดทางเลือกอื่นนอกเหนือจากการควบคุมตัวมาใช้กับผู้เข้าเมืองและผู้แสวงหาที่พักพิงที่เป็นเด็กโดยทันที และให้ปล่อยตัวผู้ลี้ภัยซึ่งได้รับสถานะจาก UNHCR ไปโดยไม่ต้องมีหลักประกันอย่างอื่น

เรากระตุ้นอย่างยิ่งให้รัฐบาลของท่านเคารพพันธกรณีระหว่างประเทศ ที่จะไม่บังคับส่งกลับผู้แสวงหาที่พักพิงหรือผู้ลี้ภัยไปยังประเทศที่มีความเสี่ยงต่อชีวิตหรือเสรีภาพของตนเอง รัฐบาลจึงควรประกาศว่าจะไม่ใช้วิธีการบังคับส่งกลับต่อผู้แสวงหาที่พักพิงชาวพม่ากว่า 140,000 คน ซึ่งอาศัยอยู่ในค่ายที่พักพิงตามพรมแดนไทย-พม่า แต่รัฐบาลควรประกันให้ผู้แสวงหาที่พักพิงทุกคนเข้าถึงกระบวนการคัดกรองและจำแนกสถานะอย่างเหมาะสมและอย่างไม่ลำเอียง รวมทั้งผู้ที่ถูกควบคุมตัวที่ศูนย์กักตัวคนต่างด้าว ก่อนจะมีการส่งกลับหรือบังคับส่งกลับ กรณีที่ไม่มีกระบวนการเพื่อรับพิจารณาคำขอที่พักพิงที่เป็นผล รัฐบาลของท่านก็ควรเปิดโอกาสให้ UNHCR ได้ดำเนินการตามขั้นตอนการจำแนกสถานะผู้ลี้ภัยสำหรับผู้แสวงหาที่พักพิงทุกคนต่อไป อย่างสอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ของตนในการให้ความคุ้มครองระหว่างประเทศกับผู้ลี้ภัย 

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.