Skip to main content

ประเทศไทย: ต้องไม่มีการนำพลเรือนขึ้นศาลทหารอีกต่อไป

กองทัพบกยังคงมีอำนาจในการจับกุมและควบคุมตัว รวมทั้งการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อคดีที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน

(นิวยอร์ก) – การตัดสินใจของรัฐบาลทหารไทยที่จะไม่นำพลเรือนขึ้นศาลทหารสำหรับคดีที่เกิดขึ้นใหม่ นับเป็นก้าวย่างที่จำกัด ที่มุ่งลดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติต่อประเทศไทย ในระหว่างการประชุมของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้ การปฏิบัติอันเป็นผลมาจากคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังมีผลน้อยลง เนื่องจากยังคงมีการใช้ศาลทหารเพื่อไต่สวนพลเรือนอยู่ต่อไปสำหรับคดีที่ค้างอยู่ และกองทัพยังคงมีอำนาจในการควบคุมตรวจสอบอย่างกว้างขวาง

นายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำวันทยาหัตถ์ต่อเจ้าหน้าที่ทหารที่ศูนย์บัญชาการกองทัพไทยที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย วันที่ 30 กันยายน 2557 

การประชุมสมัยที่ 33 ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเริ่มขึ้นที่กรุงเจนีวา เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2559

“เราไม่ควรหลงกลของรัฐบาลทหารไทยเนื่องจากอุบายเล็ก ๆ น้อย ๆ ก่อนที่การประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติจะเริ่มขึ้นที่กรุงเจนีวา” แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “การตัดสินใจครั้งนี้จะช่วยให้พลเรือนไทยจำนวนมากไม่ต้องขึ้นศาลทหาร แต่การปกครองด้วยระบอบทหารแบบเผด็จการจะยังคงดำรงอยู่ต่อไปในประเทศไทย”

เมื่อวันที่ 12 กันยายน นายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาได้ยกเลิกคำสั่งคสช.ซึ่งให้อำนาจศาลทหารในการไต่สวนพลเรือนสำหรับความผิดต่อความมั่นคงแห่งชาติ รวมทั้งข้อหาขบถล้มล้างการปกครองและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อย่างไรก็ดี คำสั่งครั้งนี้ไม่มีผลย้อนหลัง และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกว่า 1,000 คดีที่มีการฟ้องพลเรือนต่อศาลทหารอยู่แล้ว กองทัพยังคงมีอำนาจในการจับกุม ควบคุมตัว และสอบปากคำพลเรือนต่อไป โดยไม่มีหลักประกันเพื่อป้องกันการปฏิบัติมิชอบ หรือให้มีการตรวจสอบเมื่อมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้น

จนถึงทุกวันนี้ ยังคงมีการจำกัดสิทธิและเสรีภาพขึ้นพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การทำรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 การแสดงความเห็นที่แตกต่างจากรัฐบาลทหาร การต่อต้านอย่างสงบต่อการปกครองของทหาร การวิพากษ์วิจารณ์สถานบันกษัตริย์ และการชุมนุมสาธารณะของบุคคลกว่าห้าคนขึ้นไป ยังคงเป็นความผิดทางอาญา นับแต่เดือนพฤษภาคม 2557 มีพลเรือนอย่างน้อย 1,811 คนที่ต้องขึ้นศาลทหารทั่วทุกภูมิภาคของไทย

เราไม่ควรหลงกลของรัฐบาลทหารไทยเนื่องจากอุบายเล็ก ๆ น้อย ๆ ก่อนที่การประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติจะเริ่มขึ้นที่กรุงเจนีวา
แบรด อดัมส์

ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย

ที่ผ่านมาฮิวแมนไรท์วอทช์ได้ระบุว่า ประเทศไทยในฐานะเป็นรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) มีพันธกรณีต้องดำเนินมาตรการเพื่อประกันและคุ้มครองสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม โดยมีข้อห้ามไม่ให้รัฐบาลใช้ศาลทหารเพื่อไต่สวนพลเรือน กรณีที่ศาลพลเรือนยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ในระหว่างการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตามวาระของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UPR) กรณีประเทศไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 สำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Office of the High Commissioner for Human Rights - UNOHCHR) รวมทั้งรัฐบาลประเทศอื่น ๆ หลายแห่ง และกลุ่มสิทธิมนุษยชน แสดงความกังวลว่าระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับศาลทหารของไทย ละเมิดสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมในขั้นพื้นฐาน ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามกติกา ICCPR โดยเฉพาะรัฐภาคีหลายแห่งได้กระตุ้นรัฐบาลไทยให้ถ่ายโอนคดีต่อพลเรือนทั้งหมดออกจากศาลทหาร ให้ถอนฟ้องคดีที่เกี่ยวข้องกับการจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐาน และให้ยุติอำนาจของกองทัพที่สามารถจับกุม ควบคุมตัว และสอบปากคำพลเรือนโดยไม่สามารถตรวจสอบได้

“พลเอกประยุทธ์ควรแสดงให้เห็นถึงความจริงใจในการยุติการใช้ศาลทหารต่อพลเรือน ด้วยการถอนฟ้องคดีที่เป็นอยู่ทั้งหมด หรือให้ถ่ายโอนคดีเหล่านั้นไปยังศาลพลเรือน” อดัมส์กล่าว “นั่นจะเป็นก้าวย่างที่มีความหมายและถือว่าเกิดขึ้นช้าเกินไปมาก ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่การยุติการกดขี่ปราบปราม เพื่อให้เกิดการเคารพสิทธิขั้นพื้นฐาน และเพื่อฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยแบบพลเรือนในประเทศ” 

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.