(นิวยอร์ค, 27 มกราคม 2559) – ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กระชับอำนาจมากขึ้น และปราบปรามปิดกั้นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างหนักในรอบปีที่ผ่านมา คณะทหารไม่ได้ทำตามคำสัญญาที่กล่าวว่าจะเคารพสิทธิมนุษยชน และนำพาประเทศไทยกลับคืนสู่การปกครองโดยรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง
ในรายงานประจำปีฉบับที่ 29 ความยาว 659 หน้า ฮิวแมนไรท์วอทช์ตรวจสอบสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในกว่า 90 ประเทศ เรียงความของเคนเน็ธ ร็อธ ผู้อำนวยการบริหาร กล่าวถึงการแพร่กระจายของการก่อการร้ายออกนอกภูมิภาคตะวันออกกลาง และการไหลบ่าของผู้ลี้ภัยจำนวนมาก เนื่องจากการกดขี่ และความขัดแย้งที่เป็นผลมาจากละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งรัฐบาลของหลายประเทศอ้างว่าทำไปเพื่อปกป้องความมั่นคง ขณะเดียวกัน รัฐบาลเผด็จการทั่วโลกได้ปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างหนักที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน เพราะเกรงกลัวต่อการแสดงความคิดเห็นอย่างสันติ ซึ่งมักเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์
แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวว่า “วิกฤติสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยย่ำแย่มากขึ้น มองไม่เห็นเลยว่าจะจมลึกลงไปในระบอบเผด็จการทหารของ คสช. ต่อไปอีกเท่าไหร่” “คณะทหารใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ โดยไม่ต้องรับผิดใดๆ และใช้เวลาส่วนใหญ่ของปีที่แล้วคุกคาม และดำเนินคดีผู้เห็นต่าง ปิดกั้นการชุมนุม เซ็นเซอร์สื่อ และจำกัดการแสดงออกทางการเมืองที่คณะทหารไม่เห็นด้วย”
ตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 คสช. ซึ่งมีหัวหน้า คือ นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจโดยไม่ต้องรับผิดใดๆ ต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งยังไม่ใส่ใจต่อความกังวลของสหประชาชาติ องค์กรสิทธิมนุษยชน และรัฐบาลประเทศต่างๆ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2558 การบังคับใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก 2457 ได้ถูกแทนที่ด้วยการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งยกเว้นความรับผิดตามกฎหมายแก่ผู้ที่ดำเนินการต่างๆ ในนามของ คสช. เมื่อเดือนพฤศจิกายน คณะทหารเสนอว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังร่างอยู่ควรรับประกันการนิรโทษกรรมต่อการใช้กำลังทหารเพื่อ “ปกป้องความมั่นคงแห่งชาติ”
กำหนดเวลาที่คณะทหารสัญญาว่าจะนำพาประเทศกลับสู่การปกครองโดยพลเรือนยังคงเลื่อนออกไปเรื่อยๆ โดยไม่มีความชัดเจนว่าในที่สุดแล้วจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ขณะเดียวกัน คณะทหารยังคงห้ามกิจกรรมทางการเมือง และการชุมนุมอย่างสันติในที่สาธารณะ ใช้อำนาจตามอำเภอใจจับกุมคุมขังหลายร้อยกรณี โดยเพิกเฉยต่อข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงเกี่ยวกับการซ้อมทรมาน และการปฏิบัติอย่างมิชอบต่อผู้ที่อยู่ในการควบคุมตัวของทหาร มีผู้ที่ถูกดำเนินคดีข้อหายุยงปลุกปั่นอย่างน้อย 27 คน เนื่องจากวิพากษ์วิจารณ์การปกครองของคณะทหาร และฝ่าฝืนคำสั่งห้ามการชุมนุมในที่สาธารณะ ในรอบปีที่ผ่านมา คสช.ดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหารมากขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นกรณีของผู้ที่ต่อต้านคณะทหาร และผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นสถาบันกษัตริย์ แต่ศาลทหารนั้นขาดความเป็นอิสระ และไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานระหว่างประเทศเกี่ยวกับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม
ในปี 2558 งานสัมมนา เวทีวิชาการ และกิจกรรมที่มีหัวข้อเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมือง และสิทธิมนุษยชนอย่างน้อย 60 ครั้งถูกสั่งให้ยกเลิก รวมถึงการเสนอรายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์ เนื่องจากคณะทหารเห็นว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นภัยคุกคามต่อเสถียรภาพ และความมั่นคงของประเทศ
คณะทหารดำเนินคดีผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ด้วยกฎหมายที่ร้ายแรง มีคดีหมิ่นสถาบันกษัตริย์อย่างน้อย 56 กรณีนับตั้งแต่การรัฐประหาร โดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องการแสดงความคิดเห็นออนไลน์ โดยศาลทหารได้พิพากษาลงโทษอย่างหนัก เช่น เมื่อเดือนสิงหาคม 2558 ศาลทหารพิพากษาจำคุกพงษ์ศักดิ์ ศรีบุญเพ็ง 60 ปี เนื่องจากโพสต์เฟซบุ๊คที่มีเนื้อหาหมิ่นสถาบันกษตริย์ (ลดโทษเหลือ 30 ปี เนื่องจากสารภาพผิด) ซึ่งเป็นการลงโทษรุนแรงที่สุด ในคดีหมิ่นสถาบันกษัตริย์เท่าที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย
พลเอกประยุทธ์กล่าวในที่สาธารณะหลายครั้งว่า ทหารไม่ควรถูกตำหนิ และลงโทษในกรณีความสูญเสียที่เกิดจากกระทำของกองทัพในเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองเมื่อปี 2553 จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีบุคคลกรของกองทัพแม้แต่คนเดียวที่ถูกดำเนินคดีอาญาจากการละเมิดสิทธิ์มนุษยชนอย่างร้ายแรงในปฏิบัติการต่อต้านการก่อความไม่สงบในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
รัฐบาลไทยไม่รับฟังคำร้องขอขอสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) และรัฐบาลหลายประเทศ โดยละเมิดกติการะหว่างประเทศที่ห้ามไม่ให้บังคับส่งตัวผู้ลี้ภัย และผู้แสวงหาการลี้ภัยกลับไปยังประเทศที่คนเหล่านั้นอาจจะถูกประหัตประหาร ซึ่งรวมถึงกรณีการส่งตัวนักกิจกรรมชาวจีน 2 คนกลับไปประเทศจีนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 และการส่งตัวชาวอุยกูร์ 109 คนกลับไปประเทศจีนเมื่อเดือนกรกฎาคม 2558
แบรด อดัมส์ กล่าวว่า “การเคารพสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยถดถอย โดยมองไม่เห็นว่าปัญหานี้จะจบลงเมื่อใด” “ประชาคมระหว่างประเทศจำเป็นจะต้องกดดันคณะทหารอย่างเร่งด่วน เพื่อให้เปลี่ยนท่าที ยุติการปราบปรามปิดกั้นสิทธิมนุษยชน และทำตามคำสัญญาด้วยการนำพาประเทศกลับสู่การกครองโดยพลเรือนตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง”