Skip to main content

การปฏิเสธที่จะให้การรักษาเอชไอวี กัดกร่อนความสำเร็จเรื่องเอดส์

ผู้ใช้ยาถูกผลักไสให้ออกห่างจากโครงการเอชไอวีที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผล

(กรุงเทพมหานคร) – ความล้มเหลวของประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาเอชไอวีในกลุ่มผู้ใช้ยา ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่มีการระบาดมากที่สุด ได้ทำให้สถิติของประเทศไทยในฐานะผู้นำของโลกด้านการต่อสู้กับเอดส์ต้องตกอยู่ในภาวะอันตราย นี่เป็นคำกล่าวในวันนี้ขององค์การฮิวแมนไรท์วอชท์ (Human Rights Watch) และกลุ่มรณรงค์เพื่อการรักษาเอดส์ (Thai AIDS Treatment Action Group) ที่ได้เสนอไว้ในรายงานฉบับหนึ่งที่เผยแพร่ล่วงหน้าก่อนวันเอดส์โลก

ในการละเมิดรัฐธรรมนูญของตนเองและพันธกรณีนานาชาติด้านสิทธิมนุษยชน รัฐบาลไทยประสบความล้มเหลวเชิงระบบในการป้องกันและรักษาการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มผู้ใช้ยา รัฐบาลไทยประมาณการว่า ร้อยละ40 – 50 ของผู้ใช้ยาโดยการฉีดในประเทศไทยเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งถือได้ว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลยในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา

รายงานยาว 55 หน้า เรื่อง "การปฏิเสธอย่างเลือดเย็น: อุปสรรคในการเข้าถึงการรักษาเอชไอวี/เอดส์ของผู้ใช้ยาในประเทศไทย" พบว่าการกลั่นแกล้งและการจับกุมของตำรวจ รวมทั้งผลกระทบระยะยาวจากสงครามปราบปรามยาเสพติดของ พณฯ นายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ในปี 2546 ได้ทำให้ผู้ใช้ยาไม่สามารถได้รับข้อมูลข่าวสารหรือบริการด้านเอชไอวีซึ่งอาจช่วยรักษาชีวิตพวกเขาเอาไว้ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลได้สัญญาไว้ว่าจะจัดให้ ในรายงานยังได้บันทึกไว้ด้วยว่าผู้ใช้ยาต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติโดยเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการสุขภาพอย่างไรบ้าง ซึ่งเจ้าหน้าที่เหล่านี้ยังคงปฏิเสธต่อไปที่จะให้การรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอดส์แก่ผู้ที่จำเป็นต้องได้รับ ด้วยเหตุที่พวกเขาเป็นผู้ใช้ยา

“ประเทศไทยต้องการที่จะถูกมองว่าเป็นตัวอย่างแห่งความสำเร็จในการต่อสู้กับเอดส์ แต่ประเทศไทยกำลังประสบความล้มเหลวในการแก้ไขการระบาดในกลุ่มประชากรที่โดนเอชไอวีคุกคามหนักที่สุด” รีเบคคา ชไลเฟอร์ (Rebecca Schleifer) นักรณรงค์จากโครงการเอชไอวีเอดส์และสิทธิมนุษยชน ขององค์การฮิวแมนไรท์วอชท์ กล่าว “รัฐบาลไทยตระหนักมาโดยตลอดว่าอัตราการติดเชื้อเอชไอวีนั้นอยู่ในระดับที่ ‘สูงเกินกว่าจะยอมรับได้’ และรัฐบาลเองก็มีความเชี่ยวชาญอยู่แล้วสำหรับการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขเช่นนี้”

ประเทศไทยได้รับการยกย่องมาโดยตลอดว่าเป็นผู้นำของกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาทั่วโลกในเรื่องของการดำเนินโครงการป้องกันเอชไอวีในเชิงรุกแบบเข้มข้น และเรื่องของความพยายามในการจัดบริการให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอดส์ได้อย่างเท่าเทียมกัน แต่ประเทศไทยยังไม่ได้ขยายโครงการด้านการป้องกันให้ครอบคลุมถึงกลุ่มผู้ใช้ยาแต่อย่างใด

ในปี 2546 รัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรี พณฯ ทักษิณ ชินวัตร ได้ดำเนิน “สงครามปราบปรามยาเสพติด” ที่ส่งผลให้มีการวิสามัญฆาตกรรมผู้ใช้ยาหรือผู้ค้ายาไปไม่น้อยกว่า 2,275 คน ผลกระทบถาวรของการรณรงค์นี้ได้ผลักดันให้ผู้ใช้ยาจำนวนมากหนีห่างไกลจากบริการด้านการป้องกันและการรักษาเอชไอวี/เอดส์ที่ได้ผล เพราะกลัวว่าจะถูกจับหรือได้รับการปฏิบัติที่รุนแรงจากตำรวจ

ในการตอบสนองการรณรงค์เชิงนโยบายของผู้ใช้ยา รัฐบาลไทยได้ดำเนินขั้นตอนบางประการเพื่อลดอุปสรรคบางอย่างที่ผู้ใช้ยาต้องเผชิญในการเข้าถึงบริการด้านเอชไอวี ในปี 2547 ประเทศไทยได้ยกเลิกนโยบายหนึ่งซึ่งเป็นนโยบายระดับชาติที่มีการอนุญาตอย่างชัดแจ้งให้ตัดผู้ใช้ยาออกจากการเป็นผู้มีสิทธิ์เข้ารับการรักษาในโครงการยาต้านไวรัสเอดส์

อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้ยายังคงเผชิญอุปสรรคที่สำคัญอีกหลายอย่างในการเข้าถึงบริกาสุขภาพที่จำเป็น ผู้ให้บริการสุขภาพหลายคนไม่ทราบเกี่ยวกับแนวปฏิบัติด้านการรักษาเอชไอวี หรือทราบแต่ไม่ปฏิบัติตาม และยังปฏเสธต่อไปที่จะให้การรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอดส์แก่ผู้ใช้ยา ไม่เว้นแม้แต่ผู้ใช้ยาที่อยู่ในโครงการบำบัดการติดยาโดยการให้เมธาโดนทดแทน

“การวินิจฉัยว่าติดเชื้อเอชไอวี ยังคงเป็นเหมือนคำพิพากษาประหารชีวิตสำหรับผู้ใช้ยาส่วนใหญ่ในประเทศไทย” ไพศาล สุวรรณวงษ์ ผู้อำนวยการกลุ่มรณรงค์เพื่อการรักษาเอดส์กล่าว “ประเทศไทยต้องเลิกการเลือกปฏิบัติต่อผู้ใช้ยาที่เข้ามารับบริการสุขภาพ มิฉะนั้น ประเทศไทยจะไม่มีทางปฏิบัติได้ตามสัญญาที่เคยให้ไว้ว่าจะจัดการให้ทุกคนที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา สามารถเข้าถึงการรักษาเอดส์ได้อย่างเท่าเทียมกัน”

จากความกลัวว่าจะถูกแก้แค้นกลับ ผู้ใช้ยาที่เข้ารับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอดส์มักจะไม่กล้าบอกแพทย์เกี่ยวกับการใช้ยาของตน หรือไม่กล้าขอข้อมูลเกี่ยวกับการบำบัดการติดยาจากผู้ให้บริการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอดส์ ความกลัวเช่นนี้ไม่ใช่ว่าจะไม่มีมูล รายงานนี้ยืนยันว่าโรงพยาบาลและคลีนิกของรัฐบาลหลายแห่งได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ยาแก่หน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมาย ทั้งที่เป็นการปฏิบัติตามนโยบายและที่เป็นการปฏิบัติตามแนวการปฏิบัติทั่วไป แพทย์บางคนนำนโยบาย “หากไม่ถาม ก็ไม่ตอบ” มาใช้กับผู้ใช้ยา โดยปฏิเสธที่จะสอบถามประวัติการใช้ยาและการบำบัดการติดยาของผู้ป่วย แม้ว่าในบางรายแพทย์จะทราบหรือสงสัยว่าผู้ป่วยมีการใช้ยาหรือกำลังได้รับการบำบัดการติดยาโดยการให้เมธาโดนทดแทนอยู่

การที่รัฐบาลไม่สามารถจัดให้มีสภาวะสำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลได้อย่างปลอดภัย อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อความสามารถของผู้ใช้ยาในการเข้าถึงบริการด้านเอชไอวีและบริการสุขภาพอื่นๆได้อย่างเพียงพอ ส่งผลให้ผู้ใช้ยาต้องเผชิญกับอันตรายจากการมีปฏิกิริยาต่อกันของยา โดยไม่มีเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการสุขภาพคอยให้คำปรึกษาเกี่ยวกับผลที่อาจเกิดตามมา ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของพวกเขา และท้ายที่สุด อาจทำให้พวกเขาเสียชีวิตได้

ผู้มีอำนาจหน้าที่ของไทยให้ความสนับสนุนในการจัดบริการลดอันตรายสำหรับผู้ใช้ยาน้อยมาก แม้จะมีการพิสูจน์ทราบแล้วว่าวิธีการเช่นนี้ใช้ได้ผล โครงการลดอันตรายที่มีอยู่จำนวนจำกัดก็ถูกบ่อนทำลายโดยการรณรงค์ต่อต้านและปราบปรามยาเสพติดอย่างต่อเนื่องของรัฐบาล เจ้าหน้าที่ตำรวจคอยขัดขวางพยายามของผู้ใช้ยาในการมาขอรับบริการสุขภาพ คอยกลั่นแกล้งผู้มารับบริการ ณ บริเวณด้านนอกของศูนย์บำบัดการติดยานั่นเอง ตำรวจใช้การมีกระบอกฉีดยาที่สะอาดอยู่ในการครอบครองหรือการมาปรากฏตัวที่คลีนิกเมธาโดน เป็นมูลเหตุในการตั้งข้อหาทางอาญาว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับยา

“สำหรับนโยบายที่จัดทำอย่างเป็นทางการว่าจะปฏิบัติต่อผู้ใช้ยาในฐานะผู้ป่วย ไม่ใช่ในฐานะอาชญากรนั้น รัฐบาลไทยก็เห็นด้วยแต่เพียงลมปาก” ไพศาล สุวรรณวงษ์กล่าว “แต่ในความเป็นจริง ตำรวจก็รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้ยาจากคลีนิกสุขภาพ และจับกุมเพื่อนผู้ใช้ยาที่ปฏิบัติงานเป็นเจ้าหน้าที่ภาคสนามในบริเวณด้านนอกของศูนย์บำบัดยาเสพติดนั่นเอง หากผู้ใช้ยาเข้ามารับบริการสุขภาพ พวกเขาก็เสี่ยงต่อการถูกตั้งข้อหาทางอาญา ทั้งๆที่พวกเขาก็มีสิทธิ์ที่จะมาใช้บริการนั้นๆ”

รายงานนี้ยังพบอีกว่า ผู้ใช้ยาที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำมีความลำบากยิ่งขึ้นไปอีกในการเข้าถึงบริการที่จำเป็นในด้านการป้องกัน การดูแล และการรักษาเอชไอวี ส่วนการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอดส์สำหรับผู้ต้องขังก็มีอยู่ในจำนวนที่จำกัดยิ่ง ขณะที่ผู้ใช้ยาชาวไทยส่วนใหญ่มักถูกกักตัวอยู่ในห้องขังก่อนการพิจารณาคดีหรือไม่ก็อยู่ในเรือนจำ กล่าวคือ เข้าๆออกๆทัณฑสถานของรัฐอยู่เป็นประจำ รัฐบาลก็ยังไม่สามารถใช้มาตรการใดๆเพื่อให้บริการขั้นพื้นฐานต่างๆ (เช่น การรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอดส์และการรักษาทางการแพทย์เกียวกับเอชไอวีอื่นๆ การลดอันตรายจากการใช้ยา การบำบัดสภาวะการพึ่งพายา และบริการด้านจิตสังคม) ที่จัดบริการอยู่ในชุมชนทั่วไป ได้มีการประสานงานที่ดีระหว่างบริการเหล่านี้ด้วยกันเอง หรือมีการประสานที่ดีกับบริการต่างๆที่จัดให้ ณ เวลาที่บุคคลถูกส่งตัวเข้ามาหรือออกจากเรือนจำ

แผนเอดส์ชาติของประเทศไทย ที่ประกาศใช้ในปี 2550 ภายใต้รัฐบาลทหารชุดปัจจุบันของ พณฯ พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้แสดงความตระหนักถึงความล้มเหลวของผู้มีอำนาจหน้าที่ในการต่อสู้กับเอชไอวีในกลุ่มผู้ใช้ยาและผู้ต้องขัง และได้เสนอให้เพิ่มความพยายามในการจัดการให้กลุ่มนี้สามารถเข้าถึงบริการด้านการป้องกัน การดูแล และการรักษาเอชไอวี อย่างไรก็ตาม การให้พันธสัญญานี้กระทำขึ้นหลังจากที่เคยให้คำมั่นสัญญาต่อสาธารณะในลักษณะเดียวกันมาก่อนหน้านี้หลายครั้งหลายครา ซึ่งนับถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่สามารถปฏิบัติตามนั้นได้สำเร็จ

“ประเทศไทยต้องเปลี่ยนพันธสัญญาของตนเกี่ยวกับเอชไอวีที่เขียนไว้เป็นตัวหนังสือไปสู่การกระทำ” รีเบคคา ชไลเฟอร์กล่าว “หากผู้มีอำนาจหน้าที่ไม่ดำเนินการโดยทันที ในการแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ตำรวจและผู้ให้บริการสุขภาพกระทำกันอย่างเป็นระบบต่อผู้ใช้ยา รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบโดยตรงต่อการระบาดของเอชไอวีที่จะยังคงดำเนินต่อไป”

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.