Skip to main content

เมียนมา: การเพิ่มขึ้นของการโจมตีทางอากาศที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติควรมีมติคว่ำบาตรรัฐบาลทหาร

บ้านเรือนที่ถูกทำลายจากการโจมตีทางอากาศและการทิ้งระเบิดในค่ายผู้ลี้ภัยมุงลายเจ็ต เมืองลาซา ประเทศเมียนมา 10 ตุลาคม 2566  © 2023 AP Photo

(กรุงเทพฯ) – ในปี 2566 รัฐบาลทหารเมียนมา เพิ่มการโจมตีทางอากาศที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายต่อหมู่บ้านของชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ และผู้ต่อต้านการทำรัฐประหาร ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้ ใน รายงานระดับโลกปี 2567 กองกำลังความมั่นคงปฏิบัติการสังหารอย่างกว้างขวาง บังคับบุคคลให้สูญหาย ทรมาน ข่มขืนกระทำชำเรา และก่อความรุนแรงทางเพศอย่างอื่น รวมทั้งการจับกุมและควบคุมตัวโดยพลการ

“การโจมตีทางอากาศที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาลทหาร สะท้อนให้เห็นสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนที่เลวร้ายลงในเมียนมา นับแต่การทำรัฐประหารปี 2564” อีเลน เพียร์สัน ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ควรเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรกองทัพ และกระตุ้นให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ประกาศใช้มาตรการห้ามซื้อขายอาวุธกับเมียนมา และให้ส่งกรณีนี้เข้าสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศ”

ในรายงานระดับโลกปี 2567 ความยาว 740 หน้า ซึ่งตีพิมพ์เป็นปีที่ 34 ฮิวแมนไรท์วอทช์ทบทวนการปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนในกว่า 100 ประเทศ  ใน คำนำของรายงาน ทีรานา ฮัสซัน ผู้อำนวยการบริหารกล่าวว่า ปี 2566 เป็นปีที่มีเหตุการณ์สำคัญที่ไม่เพียงเกี่ยวข้องกับการปราบปรามสิทธิมนุษยชนและความทารุณโหดร้ายระหว่างสงคราม  แต่ยังรวมถึงการตอบโต้ด้วยความรุนแรงของรัฐบาลบางประเทศและการทูตแบบมีข้อแลกเปลี่ยน ซึ่งส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อสิทธิมนุษยชนของกลุ่มคนที่ถูกใช้เป็นเงื่อนไขต่อรอง แต่เธอบอกว่ามีสัญญาณแห่งความหวังอยู่บ้าง มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดเส้นทางที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง และเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ยึดมั่นปฏิบัติตามต่อพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนของตนอย่างเคร่งครัด  

ในเดือนเมษายน กองทัพเมียนมาใช้ ระเบิดสุญญากาศ อาวุธระเบิดที่เกิดจากการจุดระเบิดของเชื้อเพลิงทำให้แผ่คลื่นอัดอากาศในภาคสะกาย ส่งผลให้มีพลเรือนเสียชีวิตกว่า 160 คน ในเดือนตุลาคม กองทัพ โจมตีหมู่บ้าน ซึ่งเป็นที่พักพิงของพลเรือนผู้พลัดถิ่นหลายร้อยคนในรัฐคะฉิ่น ทำให้พลเรือนเสียชีวิต 28 คนรวมทั้งเด็ก 11 คน และนับแต่การทำรัฐประหารเดือนกุมภาพันธ์ 2564 กองทัพได้ใช้ระเบิดลูกปรายที่ผลิตในประเทศ ซึ่งมีลักษณะที่เป็นการยิงอย่างไม่เลือกเป้าหมายเข้าใส่พื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น

รัฐบาลทหารปิดกั้นไม่ให้มีการส่งความช่วยเหลือที่จำเป็น ไปยังประชาชนหลายล้านคนในพื้นที่สงคราม เป็นการละเมิดต่อกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ประชาชนกว่าสองล้านคนต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นฐานในประเทศ หลายคนต้องหลบหนีจากการโจมตีทั้งทางอากาศและภาคพื้นดินมาแล้วหลายครั้ง ในเดือนตุลาคม ประชาชนหลายหมื่นคนหลบหนีจากการสู้รบระหว่างกองทัพกับพันธมิตรกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ และกองกำลังปกป้องประชาชนที่ต่อต้านรัฐบาลทหารในตอนเหนือของรัฐฉาน

ในเดือนพฤษภาคม พายุไซโคลนโมคา ซึ่งเป็นพายุไซโคลนที่มีความรุนแรงมากสุดหนึ่งในสองครั้ง จากสถิติที่บันทึกได้ในตอนเหนือของมหาสมุทรอินเดีย สร้างความเสียหายอย่างกว้างขวาง และส่งผลกระทบต่อประชาชนเกือบแปดล้านคน ทั้งในรัฐชิน คะฉิ่น และยะไข่ และในภาคสะกายและภาคมะก่วย รัฐบาลทหารปฏิเสธไม่อนุญาตและไม่ออกวีซ่าให้ผู้ทำงานด้านมนุษยธรรมเข้าไปในพื้นที่ ปฏิเสธไม่ให้มีการนำความช่วยเหลือเร่งด่วนออกจากด่านศุลกากรและคลังสินค้าโดยทันที ทั้งไม่ผ่อนคลายมาตราการปิดกั้นการส่งความช่วยเหลือที่จำเป็นต่อชีวิต ซึ่งเป็นมาตรการที่ซับซ้อนและไม่จำเป็น

มาตรการของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเพื่อคว่ำบาตรเมียนมา ได้ถูกสกัดโดยประเทศรัสเซียและจีนมาเป็นเวลานาน จากการออกเสียงวีโต้มติดังกล่าว รัฐบาลประเทศอื่น ๆ ควรแสวงหาวิธีการขยายมาตรการคว่ำบาตรระดับประเทศ เพื่อกดดันรัฐบาลทหารให้เปลี่ยนแนวทางการดำเนินงาน ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว รัฐภาคีสหประชาชาติควรปฏิบัติตามข้อมติในปี 2564 ของที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ซึ่งกระตุ้นให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ “ป้องกันไม่ให้มีการจัดส่งอาวุธเข้าสู่เมียนมา”

รัฐบาลประเทศที่สำคัญรวมทั้งสหรัฐอเมริกา ขยายการคว่ำบาตร ที่ครอบคลุมถึงธนาคารของเมียนมาสองแห่ง ซึ่งรัฐบาลทหารใช้ในการทำธุรกรรมซื้ออาวุธและยุทโธปกรณ์ทางทหาร ในเดือนสิงหาคม สหรัฐฯ มีคำสั่งห้ามไม่ให้ทำธุรกรรมการเงินที่เกี่ยวข้องกับบริษัท Myanma Oil and Gas Enterprise (MOGE) ของกองทัพ แต่สหภาพยุโรป สหรัฐฯ แคนาดา และสหราชอาณาจักร ควรประสานงานอย่างดีขึ้น และบังคับใช้มาตรการเหล่านี้ เพื่อบีบให้ประเทศสิงคโปร์ ไทย และประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ ของเมียนมาต้องปฏิบัติตาม

ปัจจุบัน ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) อยู่ระหว่างการสอบสวนอาชญากรรมเกี่ยวกับปฏิบัติการสังหารล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาเมื่อปี 2560 แต่ก็ทำในขอบเขตที่จำกัด การเสนอเรื่องนี้เข้าสู่การไต่สวนของศาลอาญาระหว่างประเทศจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อแก้ไขปัญหาอาชญากรรมที่ทารุณอย่างเต็มที่ในเมียนมา ในอีกด้านหนึ่ง กลไกสอบสวนอิสระกรณีเมียนมายังคงรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อการสั่งฟ้องคดีในอนาคต

ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีต่อเมียนมาที่ถูกกล่าวหาว่ามีความรับผิดชอบต่อการละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยการสังหารล้างเผ่าพันธุ์ ในวันที่ 15 พฤศจิกายน หกประเทศได้เข้าร่วมเป็นผู้ฟ้องคดีนี้หลังจากมีการฟ้องโดยแกมเบียเมื่อปี 2562

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.

Region / Country