Skip to main content

ประเทศไทย: จดหมายร่วมว่าด้วยมาตรการข้อจำกัดในการเยี่ยมและการติดต่อสื่อสารในเรือนจำ

เรื่อง มาตรการข้อจำกัดในการเยี่ยมและการติดต่อสื่อสารในเรือนจำ

คุณอายุตม์ สินธพพันธุ์
อธิบดีกรมราชทัณฑ์
ตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมือง
จังหวัดนนทบุรี
ประเทศไทย

กรุงเทพฯ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564

เรื่อง มาตรการข้อจำกัดในการเยี่ยมและการติดต่อสื่อสารในเรือนจำ

เรียนคุณอายุตม์

เราซึ่งเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนระดับประเทศและนานาชาติที่ร่วมกันลงนามนี้ ขอเรียกร้องให้กรมราชทัณฑ์เร่งยกเลิกมาตรการจำกัดการเยี่ยมและการติดต่อสื่อสารในเรือนจำ ที่ถูกบังคับใช้มาตั้งแต่การเริ่มระบาดของโรคโควิด-19 ในเดือนมีนาคม 2563

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2563 กรมราชทัณฑ์ได้ประกาศงดการเยี่ยมผู้ต้องขังในเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศเป็นการชั่วคราว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการรัฐบาลในการควบคุมการแพร่กระจายของโรคโควิด-19

ถึงแม้ว่าเราจะยินดีกับการประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม คุณสมศักดิ์ เทพสุทิน เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 ว่าเรือนจำ 38 แห่งได้เปิดให้ครอบครัวเยี่ยมอีกครั้ง เราตั้งขอสังเกตุว่ายังมีการประกาศงดเยี่ยมอยู่ในทัณฑสถานที่เหลืออีก 97 แห่งทั่วประเทศไทย[1]

นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 การสื่อสารทั้งหมดระหว่างผู้ต้องขังและครอบครัวต้องดำเนินการผ่านวิดีโอหรือโทรศัพท์บนแอปพลิเคชัน Line หรืออีเมล์เท่านั้น โดยขึ้นอยู่กับความพร้อมของเรือนจำแต่ละแห่ง มาตรการเยี่ยมผู้ต้องขังออนไลน์โดยกรมราชทัณฑ์ดังกล่าวได้สร้างข้อจำกัดที่ไม่เป็นธรรมต่อครอบครัวของผู้ต้องขัง ซึ่งรวมถึงการจำกัดเวลาการเยี่ยม 10 นาทีต่อครั้ง ให้เยี่ยมได้หนึ่งครั้งต่อเดือน และห้ามเยี่ยมออนไลน์สำหรับผู้ต้องขังที่กำลังกักตัว นอกจากนี้ ครอบครัวของผู้ต้องขังบางรายไม่สามารถเข้าถึงช่องทางสื่อสารออนไลน์ ทำให้ไม่สามารถติดต่อกับญาติผู้ต้องขังได้เลย

การเข้าพบทนายจะต้องได้รับการพิจารณาและได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่เรือนจำเป็นรายกรณี ตามแนวทางการป้องกันโรคที่ออกโดยกระทรวงสาธารณสุข มีหลายครั้งที่เจ้าหน้าที่เรือนจำปฏิเสธการอนุญาตการการเข้าพบของทนายกับผู้ต้องขังโดยอ้างสถานการณ์โรคโควิด-19หรือช่วงกักตัวของผู้ต้องขัง ในหลายกรณี เจ้าหน้าที่เรือนจำเฝ้าติดตาม แทรกแซงการเข้าพบ หรือตรวจสอบเอกสารและจดหมายระหว่างทนายกับผู้ต้องขัง ในเรือนจำบางแห่งยังมีอุปกรณ์สื่อสารอย่างโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ไม่เพียงพอ ซึ่งส่งผลให้เวลาเข้าพบระหว่างทนายและลูกความมีอย่างจำกัด

แม้เราจะเข้าใจว่ามาตรการข้อจำกัดการเยี่ยมนั้นเป็นไปเพื่อปกป้องสุขภาพและสวัสดิภาพของเจ้าหน้าที่เรือนจำ ผู้ต้องขัง และผู้เยี่ยมในช่วงการระบาดใหญ่ แต่ข้อจำกัดเหล่านี้ควรเคารพสิทธิของผู้ต้องขังในการติดต่อกับครอบครัว มิตรสหาย และโลกภายนอก เราคำนึงถึงคำแนะนำระหว่างกาล [interim guidance] ในช่วงโควิด-19ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ [United Nations (UN) Office of the High Commissioner for Human Rights (OHCHR)] ที่แนะนำว่า “มาตรการป้องกันใดๆ ต้องคำนึงถึงสิทธิและความจำเป็นของครอบครัวผู้ต้องขัง รวมทั้งหลีกเลี่ยงการเพิ่มภาระให้พวกเขา” และ “การแซกแทรงความเป็นส่วนตัวหรือครอบครัวจะต้องไม่เป็นไปโดยพลการหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย”[2]

คำแนะนำระหว่างกาลยังระบุด้วยว่า ในช่วงการระบาดโรคโควิด-19นั้น “นักโทษต้องได้รับการรักษาไว้ซึ่งความสามารถในการเข้าพบที่ปรึกษาทางกฎหมาย และเจ้าหน้าที่เรือนจำหรือทัณฑสถานควรรับรองว่าทนายสามารถพูดคุยกับลูกความได้อย่างเป็นความลับ”

การติดต่อกับโลกภายนอกผ่านการเยี่ยม โทรศัพท์ และจดหมาย ตลอดจนการเข้าถึงทนายความนั้นได้รับการรับรองภายใต้พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2479 (แก้ไขเพิ่มเติมในปี 2560) ของประเทศไทย ภายใต้มาตรา 60 กำหนดว่าผู้ต้องขัง “พึงได้รับการอนุญาตให้ติดต่อกับบุคคลภายนอก” และมาตรา 61 กำหนดให้เรือนจำ “จัดสถานที่ให้ผู้ต้องขังได้พบและปรึกษากับทนายความหรือผู้ซึ่งจะเป็นทนายความเป็นการเฉพาะตัวได้”

การติดต่อกับโลกภายนอกและการเข้าถึงทนายความยังเป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐานสากลเกี่ยวกับสภาพเรือนจำ ข้อกำหนดที่ 58 ของข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง [United Nations Standard Minimum Rules for the Treatment of Prisoners] หรือข้อกำหนดเนลสันแมนเดลา [the Nelson Mandela Rules] ระบุว่า ผู้ต้องขังควรได้รับอนุญาต “ให้สื่อสารกับครอบครัวและเพื่อนของตนตามระยะเวลาที่เหมาะสม ทั้งนี้โดยมีการกำกับดูแลเท่าที่จำเป็น” ข้อกำหนดที่ 61.1 กำหนดว่า “ผู้ต้องขังต้องได้รับโอกาส เวลา และการอำนวยความสะดวกอย่างเพียงพอในการเยี่ยม และในการสื่อสารและปรึกษาหารือกับที่ปรึกษากฎหมายที่ตนเลือก หรือผู้ให้บริการด้านกฎหมายโดยไม่ชักช้า ไม่มีการลอบฟังข้อมูลหรือไม่มีการตัดข้อความใดๆ และให้เป็นการสื่อสารอย่างเป็นความลับโดยสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นด้านกฎหมายใดๆ ทั้งนี้โดยสอดคล้องกับกฎหมายในประเทศที่บังคับใช้อยู่ การปรึกษาหารือนั้นอาจกระทำในลักษณะที่อยู่ในสายตาของเจ้าพนักงานเรือนจำ แต่ต้องไม่ได้ยินข้อความในการปรึกษานั้น”

นอกจากนี้ การเยี่ยมผู้ต้องขังและการติดต่อกับโลกภายนอกยังเป็นการประกันการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังอย่างมีมนุษยธรรมและสมศักดิ์ศรี ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 10(1) แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง [International Covenant on Civil and Political Rights (ICCPR)] นอกจากนี้ ตามมาตรา 37 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก [(Convention on the Rights of the Child (CRC)] แล้ว เด็กที่ถูกลิดรอนเสรีภาพมีสิทธิที่จะคงไว้ซึ่งการติดต่อกับครอบครัวผ่านจดหมายและการเยี่ยม

การจำกัดการติดต่อกับโลกภายนอกเป็นเวลานานยังส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของผู้ต้องขัง ซึ่งทำให้ความเปราะบางต่อความทุกข์ทรมานทางอารมณ์และจิตใจที่ผู้ถูกลิดรอนเสรีภาพประสพอยู่แล้วแย่ลงไปอีก การรับรองให้ผู้ต้องขังสามารถติดต่อกับครอบครัวและมิตรสหายได้อย่างสม่ำเสมอจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการรักษาสวัสดิภาพที่ดีของผู้ต้องขัง

เนื่องจากรัฐบาลไทยได้ประกาศ “เปิดประเทศอีกครั้ง” ให้แก่นักท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เราขอเรียกร้องให้ท่านดำเนินการตามขั้นตอนที่จำเป็นและเร่งด่วนเพื่อเปิดเรือนจำให้กับครอบครัวและทนายด้วย และเนื่องจาก 64% ของประชากรนักโทษ (183,304 คน จากทั้งหมด 284,224 คน) ได้รับวัคซีนครบแล้ว จากข้อมูล ณ วันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 ทางกรมราชทัณฑ์ควรดำเนินการอย่างรวดเร็วให้เรือนจำกลับมาอนุญาตให้มีการเยี่ยมอย่างสม่ำเสมอและให้มีการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ต้องขังและครอบครัวโดยปราศจากข้อจำกัดที่ไม่สมสัดส่วนและไม่จำเป็น นอกจากนี้ เราขอเรียกร้องให้กรมราชทัณฑ์รับรองว่าผู้ต้องขังจะสามารถเข้าพบและติดต่อกับผู้ปรึกษาทางกฎหมายได้ โดยการแทรกแซงใดๆในการติดต่อระหว่างผู้ต้องขังและทนายจะต้องมีเหตุผลอันชอบธรรมด้วยกฎหมาย

สุดท้าย เราเห็นว่าการใช้หน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่างทางการภาพ การระบายอากาศในอาคาร การหลีกเลี่ยงฝูงชน และการล้างทำความสะอาดมือ ยังมีความสำคัญอย่างยิ่งในการลดการแพร่กระจายของเชื้อ SARS CoV-2 แม้แต่เมื่อมีการค้นพบเชื้อสายพันธุ์ Omicron การติดตามผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อโรค COVID-19 เพื่อหยุดยั้งการแพร่กระจายของเชื้อ SARS CoV-2 ยังเป็นที่แนะนำอย่างยิ่ง

ขอให้ท่านโปรดพิจารณาข้อเสนอแนะที่ได้กล่าวไปอย่างจริงจังและนำมาปฏิบัติใช้ด้วยความเร่งด่วน

ด้วยความเคารพ

 

ASEAN Parliamentarians for Human Rights (APHR)
FIDH – International Federation for Human Rights
Fortify Rights
Human Rights Watch
Manushya Foundation
Thai Lawyers for Human Rights (TLHR)
Union for Civil Liberty (UCL)

 

[1] Nation, 38 prisons reopen for family visits, eight more to follow suit by December, 18 November 2021

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.