Skip to main content

ประเทศไทย: รัฐบาลใหม่เพิกเฉยต่อสิทธิ

การแถลงนโยบายของรัฐไม่ตอบสนองข้อกังวลที่สำคัญ

นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชาของไทยเข้าร่วมการถ่ายภาพหมู่กับคณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ © 2019 Vichan Poti/Pacific Press/Sipa USA via AP Images
(นิวยอร์ก) – คำแถลงนโยบายของรัฐบาลใหม่ของไทย ยัไมใช่แนวทางเพื่อฟื้นฟูการเคารพสิทธิมนุษยชนหลังการปกครองของทหารห้าปี ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้ นายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาจะแถลงนโยบายของรัฐ ในการดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่สองในระหว่างวันที่ 25-26 กรกฎาคม 2562

“การดำรงตำแหน่งในสมัยที่สองของนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ เริ่มต้นด้วยการเพิกเฉยอย่างสิ้นเชิงต่อสิทธิมนุษยชน แบบเดียวกับที่เกิดขึ้นในระหว่างดำรงตำแหน่งนายกฯ ครั้งแรกของเขา” แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “นโยบายที่เขาแถลงไม่มีเนื้อหาที่สามารถแก้ปัญหาร้ายแรงที่เคยเกิดขึ้นระหว่างการปกครองของทหารอย่างกดขี่นับแต่รัฐประหารปี 2557 ความหวังว่ารัฐบาลใหม่จะปฏิรูปสิทธิมนุษยชน และทำให้เกิดความก้าวหน้าด้านประชาธิปไตยภายใต้การปกครองของพลเรือน ต้องเผชิญกับความถดถอยร้ายแรง เนื่องจากไม่มีการประกาศเจตนารมณ์ใด ๆ ในเรื่องนี้ในคำแถลงนโยบาย”

คำแถลงนโยบายความยาว 40 หน้าของประยุทธ์ ซึ่งส่งมอบให้กับประธานรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ไม่กล่าวถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศเลย ไม่พูดถึงแม้แต่ “วาระสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ” ซึ่งเป็นข้อเสนอของประยุทธ์เอง โดยเขาได้แถลงวาระเรื่องนี้จนเป็นข่าวครึกโครมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561

 

ปัญหาด้านสิทธิทางพลเรือนและทางการเมืองที่สำคัญ ซึ่งรัฐบาลใหม่ต้องแก้ไขประกอบด้วย

 

การไม่รับผิดต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ใช้อำนาจระหว่างปี 2557-2562 โดยไม่มีการตรวจสอบจากกลไกทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ หรือตุลาการ และโดยไม่มีความรับผิดใด ๆ รวมทั้งเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน แม้ว่าคสช.จะสลายตัวไปแล้วหลังการเข้าดำรงตำแหน่งของรัฐบาลใหม่ แต่รัฐธรรมนูญซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2560 ยังคงให้ความคุ้มครองต่อสมาชิกคสช.และบุคคลใด ๆ ซึ่งกระทำการตามคำสั่งของคสช. ไม่ให้ต้องถูกดำเนินคดีเนื่องจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นระหว่างการปกครองของทหาร และไม่กำหนดให้มีการเยียวยาชดเชยใด ๆ ต่อผู้เสียหายจากการละเมิดเหล่านั้น

 

การจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก

คสช.ดำเนินคดีกับนักเคลื่อนไหว ผู้สื่อข่าว นักการเมือง และผู้เห็นต่างที่แสดงความเห็นอย่างสงบหลายร้อยคน โดยใช้ข้อหาอาญาร้ายแรง ทั้งการยุยงปลุกปั่น ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในระหว่างการดำรงตำแหน่งในสมัยแรกของนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ รัฐบาลทหารมักใช้กฎหมายที่ให้อำนาจอย่างกว้างขวางเหล่านี้โดยพลการ เพื่อลงโทษและปิดปากผู้วิพากษ์วิจารณ์ ภายใต้รัฐบาลใหม่ กองทัพยังคงมีอำนาจในการเรียกตัวบุคคลที่ถูกมองว่าวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือสถาบันฯ เพื่อมาซักถามโดยไม่มีทนายอยู่ร่วมด้วย และสามารถบังคับให้พวกเขาต้องสัญญาว่าจะยุติการวิพากษ์วิจารณ์ เป็นเงื่อนไขแลกกับการปล่อยตัว

 

การคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

บรรยากาศของความหวาดกลัวยังคงครอบงำนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิและผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลตลอดมา แม้แต่ผู้ซึ่งหลบหนีการประหัตประหารทางการเมืองไปจากประเทศไทยก็ไม่ปลอดภัย โดยมีนักเคลื่อนไหวทางการเมืองของไทยอย่างน้อยสามคน ซึ่งถูกบังคับให้สูญหายระหว่างอยู่ในประเทศลาว ส่วนอีกสองคนถูกสังหาร นักเคลื่อนไหวทางการเมืองของไทยอีกสามคน ถูกทางการเวียดนามส่งกลับมายังประเทศไทย แต่ยังคงหายตัวไป

รัฐบาลชุดที่ผ่าน ๆ มาล้วนเพิกเฉยต่อพันธกรณีของไทย ที่จะต้องประกันว่า นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและหน่วยงานต่าง ๆ สามารถดำเนินการในสภาพแวดล้อมที่เกื้อหนุนและปลอดภัยได้ แม้ที่ผ่านมาจะเกิดการโจมตีทำร้ายอย่างทารุณอย่างต่อเนื่องกับนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและผู้เห็นต่างจากรัฐคนสำคัญหลายคน แต่รัฐบาลยังไม่กำหนดนโยบายที่น่าเชื่อถือ เพื่อให้การคุ้มครองที่ดีขึ้นกับพวกเขา ทางการไทยไม่ดำเนินการสอบสวนการโจมตีทำร้ายเหล่านี้อย่างจริงจัง ในทางตรงกันข้าม ทางการไทยมักบอกนักเคลื่อนไหวและผู้เห็นต่างเหล่านี้ให้ยุติการเคลื่อนไหว เพื่อแลกกับการคุ้มครองจากรัฐ

ในระหว่างการดำรงตำแหน่งสมัยแรก นายกรัฐมนตรีประยุทธ์มักพูดว่า ประเทศไทยจะดำเนินการเพื่อยุติสิ่งที่เรียกว่าการฟ้องคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขัดขวางการมีส่วนร่วมของประชาชน หรือการฟ้องคดีปิดปาก ซึ่งได้ถูกใช้โดยหน่วยงานของรัฐและเอกชน เพื่อข่มขู่และปิดปากผู้ที่รายงานข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมายังคงมีการฟ้องคดีเหล่านี้ โดยมักเป็นการฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาททางอาญา คำแถลงนโยบายของนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ ไม่ได้กล่าวถึงเจตนารมณ์ที่มีการประกาศอย่างแพร่หลายของไทย ที่จะส่งเสริมการดำเนินงานด้านธุรกิจ ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนเลย

คำแถลงนโยบายยังไม่กล่าวถึงความจำเป็นเร่งด่วน ที่จะต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ผ่านมาคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้ลดอันดับความน่าเชื่อถือของกสม.ลงไป สืบเนื่องจากกระบวนการสรรหากรรมการที่ต่ำกว่ามาตรฐาน และการขาดความเป็นอิสระทางการเมือง การแก้ไขพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในการดำรงตำแหน่งนายกฯ สมัยแรกของประยุทธ์ ยังทำให้กสม.อ่อนแอลงมาก และเปลี่ยนให้กลายเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลในทางปฏิบัติ

 

การบังคับบุคคลให้สูญหาย การทรมาน ความรุนแรงและการปฏิบัติมิชอบในจังหวัดชายแดนใต้

นับแต่เดือนมกราคม 2547 กว่า 90% ของผู้เสียชีวิต 6,800 คน ท่ามกลางการขัดกันด้วยอาวุธอย่างต่อเนื่องในจังหวัดชายแดนใต้ของไทย เป็นพลเรือนจากทั้งชุมชนชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูและชุมชนไทยพุทธ แม้ว่าผู้ก่อความไม่สงบจะทำให้เกิดการปฏิบัติมิชอบที่ทารุณ แต่การละเมิดสิทธิโดยหน่วยงานความมั่นคงของไทยก็เป็นเหตุให้สถานการณ์เลวร้ายลงอย่างมาก 

ทางการไทยมักไม่สามารถดำเนินการสอบสวนอย่างจริงจังและอย่างน่าเชื่อถือ เมื่อเกิดข้อกล่าวหาว่ามีการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย การควบคุมตัวของทหารขาดหลักประกันที่เป็นผลเพื่อป้องกันการปฏิบัติมิชอบ แต่มักมีการควบคุมตัวเช่นนี้ในระหว่างปฏิบัติการต่อต้านการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ รัฐบาลไทยชุดที่ผ่าน ๆ มา ไม่สามารถดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ความมั่นคงที่มีส่วนรับผิดชอบต่อการทรมาน การสังหารอย่างมิชอบด้วยกฎหมาย และการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงอื่น ๆ ซึ่งเกิดขึ้นกับชาวมุสลิมเชื้อสายมาลายูได้ ในหลายกรณี ทางการไทยจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้เสียหายหรือครอบครัว เพื่อแลกกับสัญญาที่จะไม่ออกมาเปิดเผยข้อมูลหรือดำเนินคดีอาญากับเจ้าหน้าที่ แม้จะมีข้อกังวลเช่นนี้ แต่คำแถลงนโยบายของนายกรัฐมนตรีประยุทธ์กลับไม่กล่าวถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนใต้เลย

 

พันธกรณีระหว่างประเทศ

คำแถลงนโยบายของนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ พูดอย่างคลุมเครือเกี่ยวกับความสำคัญที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ รัฐบาลทหารแทบไม่ได้ทำอะไรเลยเพื่อส่งเสริมการปฏิบัติตามสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่สำคัญ แม้ว่าประเทศไทยจะลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหายในปี 2555 แต่ยังไม่มีการให้สัตยาบันรับรอง และประมวลกฎหมายอาญาไม่กำหนดความผิดฐานการบังคับบุคคลให้สูญหาย ประเทศไทยยังคงไม่มีกฎหมายเพื่อเอาผิดต่อการทรมาน ซึ่งเป็นข้อกำหนดตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานที่ไทยให้สัตยาบันรับรองเมื่อปี 2550 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลทหาร ได้ระงับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... อย่างไม่คาดคิดในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 และรัฐบาลไม่ได้กำหนดกรอบเวลาใหม่ในการพิจารณาร่างกฎหมายนี้ คำแถลงนโยบายของนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ไม่ได้กล่าวถึงกฎหมายฉบับนี้ และไม่ได้ระบุว่าเป็นกฎหมายที่เป็นวาระเร่งด่วนสำหรับรัฐบาล

“มิตรประเทศของไทยไม่ควรยอมให้การเลือกตั้งที่ผ่านมา เป็นข้อแก้ตัวที่จะเพิกเฉยต่อสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนที่เลวร้ายลงในประเทศ” อดัมส์กล่าว “ไม่จำเป็นต้องเร่งรีบฟื้นฟูความสัมพันธ์แบบปรกติ หากรัฐบาลใหม่ไม่แสดงเจตจำนงและการปฏิบัติอย่างจริงจังที่จะเคารพสิทธิมนุษยชน”

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.