วันนี้ 30 สิงหาคม เป็นวันผู้สูญหายสากล (International Day of the Victims of Enforced Disappearances)
แม้ว่ารัฐบาลไทยจะให้คำสัญญาหลายครั้ง แต่การบังคับบุคคลให้สูญหาย หรือการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐควบคุมตัวบุคคลเอาไว้แต่ปฏิเสธว่าไม่ได้ทำ ยังไม่ถือเป็นความผิดทางอาญาในประเทศไทย บุคคลที่ถูกอุ้มหาย รวมทั้งครอบครัว ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม
นับแต่ปี 2523 คณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการบังคับบุคคลให้สูญหายหรือการสูญหายโดยไม่สมัครใจ ได้บันทึกข้อมูลการบังคับบุคคลให้สูญหาย 82 กรณีในประเทศไทย รวมทั้งการหายตัวไปของสมชาย นีละไพจิตร ทนายความชาวมุสลิมคนสำคัญเมื่อเดือนมีนาคม 2547 และพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ นักกิจกรรมชาวกะเหรี่ยงเมื่อเดือนเมษายน 2557 โดยจำนวนผู้สูญหายที่แท้จริงอาจมากกว่านี้ เนื่องจากครอบครัวผู้สูญหายและพยานอาจจะไม่กล้าพูดหรือร้องเรียน เนื่องจากกลัวถูกตอบโต้
หลายทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลไทยหลายชุดต่างล้มเหลว ไม่สามารถดำเนินการให้มีการสอบสวนอย่างน่าเชื่อถือ เมื่อเกิดข้อกล่าวหาว่ามีการบังคับบุคคลให้สูญหาย กรณีของทนายสมชายเป็นกรณีเดียวที่เข้าสู่การไต่สวนของศาล เนื่องจากประมวลกฎหมายอาญาของไทยไม่กำหนดให้การบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นฐานความผิดทางอาญา ส่งผลให้พนักงานอัยการต้องสั่งฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจห้านายที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการอุ้มหายทนายสมชาย ในข้อหาลักทรัพย์และบังคับขืนใจ การไต่สวนคดีที่อยู่บนพื้นฐานการสอบสวนที่มีการปกปิดข้อมูลและบกพร่อง ถึงที่สุดเมื่อเดือนธันวาคม 2558 โดยศาลฎีกาพิพากษาให้ยกฟ้องจำเลยทั้งหมด กระบวนการทั้งหมดถือเป็นการเย้ยหยันความยุติธรรม
ในระหว่างการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตามวาระ (UPR) ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 รัฐบาลไทยสัญญาว่าจะดำเนินการเพื่อให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามเมื่อปี 2555 และจะออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องและจำเป็น
แม้จะมีคำสัญญาเหล่านี้ แต่รัฐบาลไทยยังคงดำเนินการในลักษณะที่เอื้อให้เกิดเงื่อนไขที่นำไปสู่การบังคับบุคคลให้สูญหาย เช่น การให้อำนาจหน่วยงานสอบสวนด้านยาเสพติดสามารถควบคุมตัวบุคคลอย่างเป็นความลับ การให้อำนาจกองทัพในการควบคุมตัวผู้เห็นต่างทางการเมืองอย่างเป็นความลับ รวมทั้งการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง และการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยว่าก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้
เราเริ่มหมดความหวังเมื่อรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาได้ส่งร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ...กลับไปให้คณะผู้ร่างพิจารณาทบทวนใหม่ โดยไม่กำหนดกรอบเวลาในการทบทวน ในขณะที่การดำเนินงานเพื่อให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญายังไม่บรรลุผล
ในเวลาเดียวกัน คณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ ที่มีการกล่าวถึงกันอย่างกว้างขวาง เป็นเพียงหน่วยราชการที่มีอำนาจหรือเจตจำนงทางการเมืองไม่มากนักในการพิจารณาการกระทำที่ร้ายแรง ไม่อาจถือได้ว่าเป็นกลไกที่จะสามารถทดแทนกฎหมายนี้ได้อย่างเพียงพอ
รัฐบาลไทยไม่สามารถให้ข้อแก้ตัวใด ๆ ต่อการล้มเหลวไม่ปฏิบัติตามคำสัญญา ครอบครัวของ ‘ผู้สูญหาย’ ในประเทศไทยต้องการรู้ว่ารัฐบาลทำอะไรอยู่ เพื่อหาทางยุติการปฏิบัติที่โหดร้าย และนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ