(นิวยอร์ก) – รัฐบาลไทย ไม่ได้ดำเนินการอย่างจริงจังใด ๆ เพื่อฟื้นฟูระบอบปกครองที่เป็นประชาธิปไตยและเสรีภาพขั้นพื้นฐานในปี 2560 ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้ในรายงานระดับโลกประจำปี 2561 การที่รัฐบาลทหารประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ และคำสัญญาครั้งแล้วครั้งเล่าของพวกเขาที่จะจัดการเลือกตั้งเพื่อให้มีรัฐบาลพลเรือน ไม่ได้ช่วยแก้ไขวิกฤตสิทธิมนุษยชนของประเทศเลย
ในรายงาน World Report ความยาว 643 หน้า ซึ่งพิมพ์เป็นครั้งที่ 28 ฮิวแมนไรท์วอทช์ทบทวนสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในกว่า 90 ประเทศ ในบทนำ Kenneth Roth ผู้อำนวยการบริหารบอกว่า ผู้นำการเมืองที่พร้อมจะยืนหยัดปกป้องหลักการสิทธิมนุษยชน พิสูจน์ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะควบคุมจำกัดบทบาทของนักประชานิยมเผด็จการได้ ด้วยการหนุนหลังของพลังมวลชนและภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ผู้นำเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า เราสามารถจัดตั้งรัฐบาลที่ต่อต้านการขยายตัวของฝ่ายขวาจัดได้
“รัฐบาลทหารของไทยได้ใช้อำนาจที่ปราศจากการตรวจสอบของตน เพื่อทำให้ประเทศตกต่ำลงไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุดในแง่การปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชน” แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “แทนที่จะฟื้นฟูสิทธิขั้นพื้นฐานตามที่สัญญา รัฐบาลทหารกลับดำเนินคดีกับผู้วิพากษ์วิจารณ์และผู้เห็นต่าง มีการสั่งห้ามการประท้วงอย่างสงบและมีการเซ็นเซอร์สื่อมวลชน”
ในเดือนสิงหาคม ทางการได้ดำเนินคดีกับประวิตร โรจนพฤกษ์ นักข่าวอาวุโส และพิชัย นริพทะพันธุ์และวัฒนา เมืองสุข นักการเมืองคนสำคัญสองคนในข้อหายุยงปลุกปั่นและละเมิดพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จากการที่พวกเขาแสดงความเห็นในเฟซบุ๊กเกี่ยวกับปัญหาทางการเมืองและเศรษฐกิจของไทย ผู้วิพากษ์วิจารณ์คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มักถูกบังคับให้เข้ารับ “การปรับทัศนคติ” ในค่ายทหาร ในเดือนพฤศจิกายน เจ้าหน้าที่ไทยได้ใช้กำลังอย่างรุนแรงเพื่อสลายการชุมนุมประท้วงอย่างสงบในจังหวัดสงขลา เพื่อสกัดไม่ให้ผู้ประท้วงยื่นหนังสือร้องเรียนเพื่อต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ต่อพลเอกประยุทธ์ ส่งผลให้มีแกนนำผู้ประท้วงอย่างน้อย 16 คนถูกจับกุม
ในระหว่างปีนี้ ทางการได้ระงับการออกอากาศว็อยซ์ทีวี สถานีวิทยุสปริงนิวส์ พีซทีวีและ TV24 เนื่องจากวิพากษ์วิจารณ์ระบอบปกครองของทหาร สถานีของสื่อเหล่านี้ได้รับอนุญาตให้ออกอากาศในเวลาต่อมา หลังจากยินยอมที่จะเซ็นเซอร์ตัวเอง
ในฐานะหัวหน้าคสช. นายกรัฐมนตรีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ใช้อำนาจอย่างไม่จำกัด รวมทั้งอำนาจของกองทัพในการจับกุม ควบคุมตัวและสอบปากคำพลเรือนโดยไม่มีหลักประกันเพื่อป้องกันการปฏิบัติมิชอบ โดยยังคงมีพลเรือนอย่างน้อย 1,800 คนที่ต้องเข้ารับการไต่สวนในศาลทหาร ซึ่งไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรฐานการพิจารณาคดีที่เป็นธรมระหว่างประเทศได้
นับแต่รัฐประหารปี 2557 ทางการไทยได้จับกุมบุคคลอย่างน้อย 105 คนในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ การปราบปรามในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้รุนแรงขึ้นหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเมื่อเดือนตุลาคม 2559 ในเดือนสิงหาคม ศาลจังหวัดขอนแก่น ได้สั่งลงโทษจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (ไผ) นักศึกษาที่เป็นนักกิจกรรมคนสำคัญ โดยให้จำคุกเป็นเวลา 30 เดือน เนื่องจากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กโดยเป็นเนื้อหาจากบทความในบีบีซีไทย ซึ่งเป็นพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร กษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย
ในเดือนกุมภาพันธ์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลทหาร ได้ระงับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งกำหนดให้การทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นความผิดทางอาญา สอดคล้องกับพันธกรณีของประเทศไทย รัฐบาลยังไม่ได้ชี้แจงว่าจะมีการบรรจุร่างกฎหมายนี้เข้าสู่การพิจารณาอีกหรือไม่
ที่ผ่านมายังไม่มีการดำเนินคดีต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้น รวมทั้งในเหตุการณ์ “สงครามปราบปรามยาเสพติด” เมื่อปี 2546 และการสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 รวมทั้งยังไม่มีการดำเนินคดีอาญาเนื่องจากการปฏิบัติมิชอบของเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าวกลุ่มก่อความไม่สงบเพื่อแบ่งแยกดินแดนก็ได้ปฏิบัติมิชอบหลายครั้งต่อพลเรือน ซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ
“คำสัญญาที่ว่างเปล่าของนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ ไม่อาจสร้างความชอบธรรมให้การปฏิบัติต่อประเทศไทยเหมือนที่เคยเป็นมา” อดัมส์กล่าว “รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกควรกดดันรัฐบาลทหารให้ยุติการปราบปราม เคารพสิทธิขั้นพื้นฐาน และให้ฟื้นฟูระบอบปกครองที่เป็นประชาธิปไตยของพลเรือนโดยทันที”