Skip to main content

ประเทศไทย: นักการเมืองถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นโดยไม่มีมูลความจริง

โฆษกพรรคเพื่อไทยตกเป็นเป้าโจมตีเนื่องจากการวิจารณ์หัวหน้าคสช

(นิวยอร์ก) – หน่วยงานกองทัพไทย ได้กล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่พรรคการเมืองทำการยุยงปลุกปั่นและทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เนื่องจากการโพสต์ความเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารในหน้าเฟซบุ๊กของตัวเอง ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้ ร.ท.หญิงสุณิสา เลิศภควัต โฆษกพรรคเพื่อไทยและอดีตสมาชิกรัฐสภา ได้รับหมายเรียกให้ไปรายงานตัวต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ในข้อหาต่อเธอในวันที่ 13 ธันวาคม 2560

ร.ท.หญิงสุณิสา เลิศภควัต โฆษกพรรคเพื่อไทยและอดีตสมาชิกรัฐสภา ได้รับหมายเรียกให้ไปรายงานตัวต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี  © 2017 Sunisa Lertpakawat


“การดำเนินคดีในข้อหายุยงปลุกปั่นและความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์กับนักการเมือง ที่แสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ในหน้าเฟซบุ๊ก แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลทหารไทยดูหมิ่นเหยียดหยามเสรีภาพขั้นพื้นฐานมากยิ่งขึ้น” แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “ทางการควรยกเลิกการดำเนินคดีใด ๆ ต่อร.ท.หญิงสุณิสาโดยทันที”

ในวันที่ 6 ธันวาคม เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้แจ้งความดำเนินคดีต่อร.ท.หญิงสุณิสาในข้อหาละเมิดพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และความผิดต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร เนื่องจากการเผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือนหรือเป็นเท็จผ่านอินเตอร์เน็ต รัฐบาลทหารกล่าวหาว่าร.ท.หญิงสุณิสาทำการยุยงปลุกปั่น โดยกล่าวหาว่าการโพสต์ในเฟซบุ๊กของเธอไม่ได้เป็นการติชมโดยสุจริต และทำให้เกิดความกระด้างกระเดื่องของสาธารณะต่อรัฐบาล

ในการแจ้งความมีการระบุว่าเป็นการดำเนินคดีต่อข้อความในเฟซบุ๊กของร.ท.หญิงสุณิสาดังต่อไปนี้

  • 22 พฤศจิกายน วิจารณ์รัฐบาลทหารเนื่องจากไม่สามารถอธิบายได้อย่างน่าเชื่อถือ เกี่ยวกับการเสียชีวิตของนักเรียนเตรียมทหาร ซึ่งมีการกล่าวหาว่าเสียชีวิตเนื่องจากการลงโทษทางกายที่โรงเรียนเตรียมทหาร
     
  • 3 ธันวาคม วิจารณ์การจัดสรรงบประมาณของรัฐบาล ซึ่งไม่ให้ความสำคัญกับบริการสาธารณสุข และต้องพึ่งพาการรับบริจาคจากประชาชน เพื่ออุดช่องว่างด้านงบประมาณที่ใช้เพื่อสนับสนุนโรงพยาบาลของรัฐ และ  
     
  • 4 ธันวาคม วิจารณ์นายกรัฐมนตรีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาในการต้อนรับนักร้องเพลงร็อคที่ทำเนียบรัฐบาล แต่กลับปฏิบัติอย่างโหดร้ายต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งการสลายกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายนที่จังหวัดสงขลา
    การดำเนินคดีในข้อหายุยงปลุกปั่นและความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์กับนักการเมือง ที่แสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ในหน้าเฟซบุ๊ก แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลทหารไทยดูหมิ่นเหยียดหยามเสรีภาพขั้นพื้นฐานมากยิ่งขึ้น
    Brad Adams

    ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย


คำสัญญาของพลเอกประยุทธ์ที่ให้ไว้กับประชาชนครั้งแล้วครั้งเล่าว่า จะฟื้นฟูระบอบปกครองแบบประชาธิปไตย และการที่รัฐบาลประกาศให้ “สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ” เมื่อเร็ว ๆ นี้ ไม่ได้ช่วยให้รัฐบาลทหารไทยผ่อนคลายการกดขี่เลย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว สถิติด้านเสรีภาพในการแสดงออกของรัฐบาลทหารช่วงที่ผ่านมาถือว่าเลวร้ายเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากทางการไทยมักคุกคามและดำเนินคดีต่อบุคคลที่แสดงความเห็นของตนทั้งการพูด การเขียน และการโพสต์ข้อความในอินเตอร์เน็ต ซึ่งมีลักษณะวิพากษ์วิจารณ์ระบอบปกครองของทหาร

รัฐบาลทหารมักปฏิบัติต่อผู้ซึ่ง แสดงความเห็นต่าง, ล้อเลียนพลเอกประยุทธ์, หรือ แสดงความสนับสนุนต่อรัฐบาลของทักษิณ ชินวัตรและยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ถูกโค่นล้มจากอำนาจ โดยถือเป็นการแสดงความเห็นที่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง นับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ทางการได้ดำเนินคดีต่อบุคคลอย่างน้อย 40 คน ตามความผิดฐานยุยงปลุกปั่น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี

รัฐบาลยังมองว่าการโพสต์ความเห็นทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและระบอบปกครองของทหาร ว่าเป็นความผิดตามมาตรา 14 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เกี่ยวกับข้อมูลที่ “บิดเบือน” และ “เป็นเท็จ” โดยผู้ละเมิดข้อหานี้อาจได้รับโทษจำคุกไม่เกินห้าปี

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งเป็นคณะผู้ชำนาญการอิสระที่ดูแลการปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) (ICCPR) ซึ่ง ประเทศไทยให้สัตยาบันรับรอง กล่าวในความเห็นทั่วไปว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงออก เมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 ว่า
 

“เพียงข้อเท็จจริงที่ว่ารูปแบบการแสดงออกมีลักษณะเป็นการดูหมิ่นบุคคลสาธารณะ ไม่ใช่เหตุผลเพียงพอที่จะสนับสนุนให้กำหนดบทลงโทษ...นอกจากนั้น เป็นการชอบแล้วที่บุคคลสาธารณะทั้งปวง รวมทั้งผู้ซึ่งสามารถใช้อำนาจสูงสุดทางการเมือง อย่างเช่น ประมุขแห่งรัฐและรัฐบาล ย่อมต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์และถูกต่อต้านทางการเมืองได้ ด้วยเหตุดังกล่าว คณะกรรมการจึงแสดงข้อกังวลเกี่ยวกับกฎหมายในประเด็นนี้ รวมทั้ง....การแสดงความไม่เคารพต่อทางการ....และกฎหมายที่คุ้มครองเกียรติยศของเจ้าพนักงานของรัฐ [รัฐบาล] ประเทศต่าง ๆ ไม่ควรห้ามการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันต่าง ๆ รวมทั้งกองทัพหรือฝ่ายบริหาร”

“นายพลทหารไทยเริ่มกุมอำนาจได้เข้มแข็งยิ่งขึ้นในแต่ละปีที่ผ่านไป ในขณะที่สิทธิของประชาชนชาวไทยอ่อนแอลงเรื่อย ๆ” อดัมส์กล่าว “รัฐบาลประเทศที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องกดดันรัฐบาลทหารให้ยุติการปราบปราม ฟื้นฟูการเคารพสิทธิขั้นพื้นฐาน และกลับไปสู่ระบอบปกครองแบบประชาธิปไตยของพลเรือน”

 

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.