(นิวยอร์ก) – รัฐบาลทหารของไทยไม่สามารถปฏิบัติตามคำสัญญาที่จะเคารพสิทธิมนุษยชนและฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตย สามปีหลังการทำรัฐประหารของกองทัพ ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้ รัฐบาลทหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดยนายกรัฐมนนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชากลับยังคงใช้วิธีปราบปรามสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และจัดทำระบอบประชาธิปไตยแบบเทียม ซึ่งเปิดโอกาสให้กองทัพเข้ามามีส่วนร่วมและควบคุม
“รัฐบาลทหารไทยให้คำสัญญาที่ว่างเปล่าว่าจะเคารพและฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตย กลายเป็นเหมือนตลกฝืด ๆ ที่คนไทยและประชาคมระหว่างประเทศคุ้นเคย” แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “สามปีหลังรัฐประหาร รัฐบาลทหารยังคงฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างสงบ ห้ามจัดกิจกรรมทางการเมือง เซ็นเซอร์สื่อ และปราบปรามเสรีภาพในการแสดงออก”
อำนาจทหารที่กว้างขวาง ตรวจสอบไม่ได้และปราศจากความรับผิด
พลเอกประยุทธ์และกองทัพได้ทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และได้ก่อตั้งรัฐบาลคสช.ขึ้นมา ในวันที่ 31 มีนาคม 2558 มีการยกเลิกการประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 ทั้งประเทศ และมีการนำมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 มาใช้แทน ซึ่งเปิดโอกาสให้พลเอกประยุทธ์ในฐานะหัวหน้า คสช. สามารถใช้อำนาจโดยปราศจากความรับผิดและการตรวจสอบทั้งจากฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ รวมทั้งกรณีที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน นอกจากนั้น มาตรา 47 กำหนดให้บรรดาประกาศและคำสั่งเหล่านั้น “เป็นประกาศหรือคำสั่งหรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญและเป็นที่สุด” มาตรา 48 ยังกำหนดให้สมาชิกคสช.และผู้ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ “ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง”
องค์กรตามรัฐธรรมนูญที่จัดตั้งขึ้นโดยคสช.รวมทั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ล้วนแต่มีสมาชิกที่เป็นเจ้าหน้าที่ทหารและผู้จงรักภักดีต่อรัฐบาลทหาร ทำให้แทบจะไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลต่อระบอบทหารเลย
รัฐธรรมนูญใหม่ซึ่งมีการประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2560 ประกันว่าสมาชิกคสช.จะไม่ต้องรับผิดต่อการละเมิดสิทธิใด ๆ ที่เกิดขึ้นนับแต่การยึดอำนาจ ทั้งยังเป็นการกระชับและสืบทอดอำนาจของกองทัพในการควบคุมรัฐบาล แม้ภายหลังการเลือกตั้งซึ่งรัฐบาลทหารสัญญาว่าจะจัดให้มีขึ้นในปี 2561
“รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นเพียงเครื่องมือเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับการละเมิดสิทธิของรัฐบาลทหาร เป็นการประกันว่าผู้นำกองทัพไทยจะยังคงสามารถปฏิบัติมิชอบต่อไปโดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกดำเนินคดี” อดัมส์กล่าว
การเซ็นเซอร์และการควบคุมเสรีภาพในการแสดงออก
คำสัญญาของรัฐบาลทหารในเรื่องการปรองดองและ “โรดแมป” ที่จะฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยแบบพลเรือน เริ่มจะไร้ความหมาย โดยเป็นผลมาจากการเซ็นเซอร์และการฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้แสดงความเห็นต่าง ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว
ทันทีหลังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 คสช.ได้สั่งให้สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม และสถานีวิทยุชุมชนของทุกขั้วการเมืองยุติการออกอากาศ ต่อมามีการอนุญาตให้บางสถานีออกอากาศได้บ้างหากยอมตกลงที่จะเซ็นเซอร์ตัวเองด้วยการยกเลิกรายการเกี่ยวกับการเมือง
นับแต่นั้นมา รัฐบาลทหารได้ควบคุมจำกัดเสรีภาพสื่ออย่างเข้มงวดยิ่งขึ้น มีการสอดแนมข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตและข้อมูลออนไลน์อื่น ๆ อย่างกว้างขวาง สื่อสิ่งพิมพ์ถูกสั่งไม่ให้ตีพิมพ์บทความที่แสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหาร รายการโทรทัศน์และวิทยุถูกสั่งการไม่ให้เชิญวิทยากรที่อาจให้ความเห็นที่เป็นลบเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทยมาออกรายการ
สามปีหลังรัฐประหาร การปราบปรามต่อบุคคลที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างเปิดเผยต่อรัฐบาลยังคงดำเนินต่อไป ในวันที่ 27 มีนาคม 2560 รัฐบาลสั่งพักใบอนุญาตการออกอากาศของวอยซ์ทีวี สถานีโทรทัศน์เอกชนซึ่งมักวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหาร วอยซ์ทีวีได้ออกอากาศข้อมูลที่ขัดแย้งและลดความน่าเชื่อถือของข้อมูลจากหน่วยงานทหาร กรณีการบุกตรวจค้นวัดพระธรรมกาย การสังหารนักกิจกรรมเยาวชนชาติพันธุ์ลาหู่ การจับกุมกลุ่มต่อต้านรัฐบาลในข้อหาครอบครองอาวุธและวางแผนสังหารนายกรัฐมนตรีและบุคคลอื่น ๆ และการก่อสร้างบ่อนคาสิโนอันอื้อฉาวบริเวณพรมแดนไทย-กัมพูชา
ทางการไทยอ้างว่า การอภิปรายทางการเมืองและการแสดงความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน สร้างความแตกแยกในสังคมและกระทบต่อความมั่นคงของชาติ จึงเป็นเหตุให้เข้ามาแทรกแซงกิจกรรมทางการเมืองบ่อยครั้ง รวมทั้งการแทรกแซงการจัดอภิปรายและสัมมนาทางวิชาการ และการจัดเวทีสาธารณะในประเด็นเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในประเทศไทย โดยในครั้งล่าสุดในโอกาสวันเสรีภาพสื่อโลก เมื่อวันที่ 3 มีนาคม ทางการไทยได้สั่งให้สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศในประเทศไทยให้ยกเลิกรายการอภิปรายเกี่ยวกับการหายไปของหมุดคณะราษฎร์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการสิ้นสุดลงของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชในประเทศไทยเมื่อปี 2475 ในวันที่ 19 พฤษภาคม ตำรวจได้จับกุมนักกิจกรรมแปดคนที่กรุงเทพฯ หลังจากพวกเขาแสดงละครใบ้เพื่อรำลึกถึงผู้ที่ถูกสังหารและได้รับบาดเจ็บ เนื่องจากการใช้กำลังอย่างเกินกว่าเหตุของกองทัพในระหว่างการลุกฮือทางการเมืองเมื่อปี 2553 เรียกได้ว่าประชาชนไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์กองทัพได้เลย ในขณะที่ผู้นำกองทัพหลายคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปราบปรามเมื่อปี 2553 รวมทั้งพลเอกประยุทธ์ กลับเป็นผู้ปกครองประเทศในปัจจุบัน
พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ของไทย ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐบาลทหารให้ความเห็นชอบเมื่อเดือนธันวาคม 2559 ให้อำนาจอย่างกว้างขวางกับรัฐบาลในการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก และการสอดแนมและการเซ็นเซอร์ข้อมูล ในวันที่ 16 พฤษภาคม ทางการไทยขู่ที่จะปิดกั้นไม่ให้ผู้ใช้งานในประเทศไทยเข้าถึงเว็บไซต์เฟซบุ๊ก เพื่อกดดันให้โซเชียลมีเดียดังกล่าวปิดกั้นหรือลบเนื้อหาที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งเกิดจากการโพสต์ของผู้ใช้งานหลายคน
บุคคลที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งเป็นคดีอาญาร้ายแรงในประเทศไทย มักจะถูกปฏิเสธไม่ให้ได้รับการประกันตัว และถูกควบคุมตัวในเรือนจำเป็นเวลาหลายเดือนหรือหลายปีระหว่างรอการพิจารณา ในกรณีของนักกิจกรรมที่เป็นนักศึกษาที่เป็นฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยคนสำคัญอย่างจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา เขาถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและความผิดทางคอมพิวเตอร์ เนื่องจากการแชร์ข้อมูลที่เป็นพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรที่ตีพิมพ์โดยเว็บไซต์ BBC Thai ในหน้าเฟซบุ๊กของตนเอง ทางการไทยเห็นว่าบทความดังกล่าวมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ และปิดกั้นการเข้าถึงในประเทศไทย นับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 มีบุคคลอย่างน้อย 105 คนที่ถูกจับกุมในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการโพสต์หรือแชร์ความเห็นทางอินเตอร์เน็ต บางคนได้ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดและลงโทษด้วยการจำคุกเป็นเวลาหลายปีหรือหลายสิบปี
ทางการไทยยังคงบังคับใช้คำสั่งห้ามชุมนุมทางการเมืองของบุคคลกว่าห้าคนขึ้นไป ซึ่งเป็นคำสั่งของคสช. โดยผู้ละเมิดคำสั่งนี้อาจได้รับโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีและปรับ 20,000 บาท ที่ผ่านมามีการควบคุมตัวนักกิจกรรมที่แสดงความเห็นต่าง นักการเมือง ผู้สื่อข่าว และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหลายพันคนไว้ในค่ายทหารเพื่อสอบปากคำ โดยรัฐบาลทหารใช้ภาษาที่อ้างว่าเป็น “การปรับทัศนคติ” รัฐบาลทหารยังบังคับให้ผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวจาก “การปรับทัศนคติ” ให้ต้องเซ็นบันทึกความตกลงว่าจะไม่แสดงความเห็นทางการเมือง ไม่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเมือง หรือไม่ต่อต้านระบอบปกครองของทหาร ซึ่งล้วนเป็นเงื่อนไขที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมอย่างสงบ หากไม่ปฏิบัติตามความตกลงดังกล่าวอาจส่งผลให้ต้องถูกควบคุมตัวอีกครั้ง หรืออาจถูกศาลตัดสินลงโทษจำคุกสองปี
การควบคุมตัวโดยพลการและเป็นความลับ การทรมานและศาลทหาร
ตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 และ 13/2559 หน่วยงานทหารมีอำนาจควบคุมตัวบุคคลแบบลับเป็นเวลาไม่เกินเจ็ดวัน โดยไม่ต้องมีข้อหา ไม่สามารถเข้าถึงทนายความ หรือไม่มีหลักประกันเพื่อป้องกันการปฏิบัติมิชอบ ที่ผ่านมารัฐบาลทหารมักปฏิเสธข้อกล่าวหาว่าทหารได้ซ้อมทรมานผู้ถูกควบคุมตัว แต่ก็ไม่ได้ให้หลักฐานพิสูจน์เพื่อตอบโต้ข้อกล่าวหาอย่างชัดเจน
ที่ผ่านมาฮิวแมนไรท์วอทช์มักแสดงข้อกังวลอย่างจริงจังต่อการควบคุมตัวบุคคลแบบลับของกองทัพในประเทศไทย ความเสี่ยงที่จะเกิดการบังคับบุคคลให้สูญหาย การทรมาน และการปฏิบัติที่โหดร้ายจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก เมื่อบุคคลถูกควบคุมตัวโดยทหารโดยไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอก แต่รัฐบาลทหารก็ยังคงปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่ถูกควบคุมตัวแบบลับต่อไป ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว
เมื่อวันที่ 29 เมษายน นายประเวศ ประภานุกูล ทนายความสิทธิมนุษยชนที่มีชื่อเสียงและผู้วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ และบุคคลอื่นอีกห้าคนได้ถูกจับกุมตัวแบบลับ ๆ และถูกควบคุมตัวโดยทหารและไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอก พวกเขาถูกกล่าวหาว่าได้โพสต์ข้อความและแชร์ความเห็นทางเฟซบุ๊ก ซึ่งทางการไทยเห็นว่าเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ไม่มีผู้ใดทราบว่าพวกเขาอยู่ที่ใดในช่วงที่ถูกควบคุมตัวหกวัน จนกระทั่งมีการส่งตัวไปที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และแจ้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ขบถล้มล้างการปกครองและความผิดทางคอมพิวเตอร์
ที่ผ่านมาไม่มีสัญญาณว่าทางการไทยจะทำการสอบสวนอย่างเป็นทางการ อย่างจริงจัง หรือน่าเชื่อถือ ต่อรายงานว่ามีการทรมานและการปฏิบัติมิชอบในระหว่างการควบคุมตัวของทหาร ในเดือนพฤศจิกายน 2558 ฮิวแมนไรท์วอทช์ได้ยื่นจดหมายต่อรัฐบาลไทย แสดงข้อกังวลอย่างจริงจังเกี่ยวกับสภาพการควบคุมตัวบุคคลในเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรีภายในมณฑลทหารบกที่ 11 ซึ่งมักเป็นที่ควบคุมตัวของบุคคลที่เห็นต่างจากรัฐบาล การเขียนจดหมายดังกล่าวเป็นผลมาจากการเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำของหมอดูคือ นายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ และพันตำรวจตรี ปรากรม วารุณประภาในระหว่างการควบคุมตัวในที่แห่งนั้น
การใช้ศาลทหารซึ่งขาดความเป็นอิสระ และไม่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม เพื่อไต่สวนคดีต่อพลเรือน ยังคงเป็นปัญหาสำคัญ ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว ในเดือนกันยายน 2559 พลเอกประยุทธ์ได้ยกเลิกประกาศฉบับที่ 37 และประกาศคสช.อีกสองฉบับ ซึ่งให้อำนาจศาลทหารในการไต่สวนคดีกับพลเรือนสำหรับความผิดด้านความมั่นคงแห่งชาติ รวมทั้งความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและขบถล้มล้างการปกครอง อย่างไรก็ดี มาตรการนี้ไม่มีผลบังคับใช้ย้อนหลัง และไม่ส่งผลต่อพลเรือนในอีกกว่า 1,800 คดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลทหารทั่วประเทศไทย
“แต่ละปีที่ผ่านไปในฐานะผู้กุมอำนาจ รัฐบาลทหารไทยได้เข้าสู่สภาพที่เป็นเผด็จการมากยิ่งขึ้น” อดัมส์กล่าว “ผู้ที่เป็นมิตรต่อประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างแรงกดดันอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ยุติการปราบปรามและฟื้นฟูการเคารพสิทธิขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของการฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยแบบพลเรือน”