Skip to main content

รายงานเกี่ยวกับประเทศไทยของฮิวแมนไรท์วอทช์ เสนอต่อคณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบต่อสตรี (Committee on the Elimination of Discrimination against Women)

รายงานเกี่ยวกับประเทศไทยของฮิวแมนไรท์วอทช์ เสนอต่อคณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบต่อสตรี (Committee on the Elimination of Discrimination against Women)

เราเขียนรายงานนี้ ก่อนจะมีรายการประชุมเพื่อทบทวนการปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบต่อสตรี (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women-CEDAW) (“อนุสัญญา”) ของรัฐบาลไทย เนื้อหาของรายงานเกี่ยวข้องกับข้อ 2, 3, 6, 10, 11 และ 15 ของอนุสัญญา เป็นการนำเสนอประเด็นปัญหาและคำถามซึ่งคณะกรรมการอาจเสนอต่อรัฐบาล ระหว่างการทบทวนการปฏิบัติตามข้อบทเหล่านี้

การศึกษา (ข้อ 10)

หลักฐานในเนื้อหาส่วนนี้ได้มาจากการทำวิจัยของฮิวแมนไรท์วอทช์ เกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงต่อนักเรียน ครู และโรงเรียนในจังหวัดชายแดนใต้ของไทย รวมทั้งนราธิวาส ปัตตานี และยะลา และกรุงเทพฯ งานวิจัยนี้เป็นผลจากการสัมภาษณ์บุคคลกว่า 90 คน ประกอบด้วยเด็กอายุ 8-17 ปีจำนวน 15 คน จากโรงเรียน 19 แห่งในจังหวัดชายแดนใต้ ทั้งยังรวมถึงผู้ปกครอง ครู ครูใหญ่ เจ้าหน้าที่ของหมู่บ้าน ผู้นำทางศาสนา เจ้าหน้าที่กองกำลังความมั่นคงของรัฐบาล เจ้าหน้าที่ของรัฐ สมาชิกกลุ่มก่อความไม่สงบทั้งในอดีตและปัจจุบัน และสมาชิกขององค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่และระหว่างประเทศ เนื้อหาส่วนนี้ยังได้มาจากงานวิจัย กรณีการใช้ประโยชน์จากโรงเรียนเพื่อเป้าประสงค์ทางทหาร และการโจมตีทำร้ายนักเรียน ครู เจ้าหน้าที่ด้านการศึกษา และโรงเรียน ตั้งแต่ปี 2553 เมื่อมีการตีพิมพ์รายงานนี้

นับแต่เดือนมกราคม 2547 ได้เกิดเหตุก่อความไม่สงบที่มีการใช้อาวุธเพิ่มขึ้นอย่างมากในจังหวัดชายแดนใต้ของไทย รวมทั้ง ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวมทั้งจังหวัดสตูลที่อยู่ใกล้เคียง โดยจังหวัดเหล่านี้เป็นพื้นที่ซึ่งราษฎรส่วนใหญ่มีเชื้อสายมาลายูและเป็นมุสลิม ต่างจากพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นคนไทยและนับถือศาสนาพุทธ นับแต่ปี 2547 คาดการณ์ว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 6,500 คน ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน [1]

ความรุนแรงระหว่างกลุ่มแบ่งแยกดินแดนกับเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของรัฐบาลเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่งผลกระทบต่อการศึกษา จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้พยายามใช้สถานศึกษาและระบบการศึกษา เพื่อหลอมรวมประชากรเชื้อสายมาลายูมุสลิมให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งกับประชากรไทยพุทธที่เป็นกระแสหลัก รวมทั้งได้ถูกใช้เพื่อกดขี่อัตลักษณ์ทางศาสนาและชาติพันธุ์ [2] กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบมองว่าระบบการศึกษาเช่นนี้เป็นสัญลักษณ์การกดขี่ปราบปรามของรัฐไทยพุทธ และได้ตอบโต้ด้วยการวางระเบิดและเผาโรงเรียนรัฐ การคุกคามและสังหารครู รวมทั้งการก่อเหตุรุนแรงเพื่อข่มขู่นักเรียนและผู้ปกครอง กลุ่มแบ่งแยกดินแดนได้ใช้โรงเรียนปอเนาะและโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามเพื่อปลูกฝังความเชื่อ เพื่อคัดเลือกสมาชิกที่เข้าร่วมขบวนการ และเพื่อฝึกอบรมสมาชิกใหม่ รวมทั้งบรรดานักรบ

การโจมตีทำร้ายนักเรียน ครู และโรงเรียน

การโจมตีทำร้ายโรงเรียนส่งผลให้เด็กเสี่ยงจะได้รับบาดเจ็บหรือล้มตาย ส่งผลกระทบต่อความสามารถของนักเรียนในการเข้ารับการศึกษา การโจมตีทำร้ายโรงเรียน ครู และนักเรียน ส่งผลให้เด็กต้องออกจากโรงเรียนกลางคันหรือมาโรงเรียนน้อยลง ทำให้โรงเรียนต้องจำกัดเวลาเรียน และมีการทำลายอาคารและวัสดุต่าง ๆ ในการเรียนการสอน นอกจากนั้น ในบรรยากาศของความรุนแรงและความกลัว คุณภาพด้านการศึกษาสำหรับเด็กก็ลดลงอย่างมาก

การโจมตีทำร้ายด้านการศึกษาส่งผลกระทบโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อเด็กผู้หญิง ซึ่งในบางครั้งได้ตกเป็นเป้าหมายการโจมตีทำร้าย และเป็นเหตุให้ผู้ปกครองไม่ส่งลูกที่เป็นผู้หญิงเข้าเรียน เพราะกังวลเรื่องความปลอดภัย คณะกรรมการตระหนักถึงข้อนี้โดยระบุในความเห็นทั่วไปที่ 30 ว่า “ในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง โรงเรียนจะถูกสั่งปิดเนื่องจากการขาดความมั่นคง ถูกยึดโดยกลุ่มติดอาวุธของรัฐ หรือกลุ่มติดอาวุธอื่น ๆ หรือถูกทำลาย ซึ่งล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงการศึกษาของเด็กผู้หญิง ปัจจัยอื่น ๆ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงการศึกษาของเด็กผู้หญิงยังประกอบด้วย การพุ่งเป้าโจมตีและการข่มขู่เด็กผู้หญิงและครูโดยกลุ่มที่ไม่ใช่ของรัฐ” [3] นับเป็นผลกระทบร้ายแรงต่อเด็กผู้หญิงและการศึกษาของพวกเธอ
 

ฮิวแมนไรท์วอทช์ได้เก็บข้อมูลอย่างกว้างขวาง เกี่ยวกับการโจมตีทำร้ายนักเรียน ครู และโรงเรียนโดยกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ของไทย ระหว่างเดือนมกราคม 2547-สิงหาคม 2553 คนร้ายได้จุดไฟเผาโรงเรียนของรัฐอย่างน้อย 327 แห่งในสามจังหวัด การวางเพลิงโรงเรียนในบางกรณี ได้ถูกใช้ เพื่อเป็นเป้าล่อในการซุ่มโจมตีกองกำลังของรัฐบาล นอกจากนั้น ในบางโรงเรียน ผู้ก่อความไม่สงบยังจุดระเบิดในสนามของโรงเรียน เพื่อพุ่งเป้าทำร้ายเจ้าหน้าที่ความมั่นคง ทำลายโครงสร้างขั้นพื้นฐาน หรือเพียงเพื่อให้เกิดความหวาดกลัว [4]

งานวิจัยของฮิวแมนไรท์วอทช์ทำให้พบว่า แม้การโจมตีทำร้ายโดยรวมจะลดลง แต่ยังคงเกิดความรุนแรงอย่างต่อเนื่องที่คุกคามต่อภูมิภาค รายงานประจำปี 2556 ของเลขาธิการองค์การสหประชาชาติว่าด้วยเด็กและพื้นที่ที่มีการขัดกันด้วยอาวุธ ตามโครงร่างที่เสนอในปี 2555 พบว่ามีโรงเรียนอย่างน้อย 11 แห่ง ซึ่งเกิดความเสียหายบางส่วนหรือถูกทำลายไปจากการวางเพลิง หรือจากการโจมตีด้วยระเบิดแสวงเครื่อง นอกจากนั้น มีการเก็บข้อมูลการพุ่งเป้าโจมตีอีก 11 ครั้งในปี 2555 ส่งผลให้ครูหกคนเสียชีวิต และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกหกคน ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2555 ผู้อำนวยการโรงเรียนท่ากำชำ ในอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานีได้ถูกสังหาร ส่งผลให้ทางสมาพันธ์ครูชายแดนใต้สั่งปิดโรงเรียน 332 แห่งในภูมิภาคเป็นเวลา 10 วัน ในวันที่ 11 ธันวาคม 2555 กลุ่มคนร้ายได้บุกเข้าไปที่โรงเรียนบ้านบาโง อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี และได้สังหารผู้อำนวยการโรงเรียนและครูอีกหนึ่งคนต่อหน้านักเรียน โรงเรียนของรัฐประมาณ 1,200 แห่งซึ่งมีเด็กเรียนอยู่กว่า 200,000 คนในสี่จังหวัด จึงได้ถูกสั่งปิดอีกครั้ง [5]

ความรุนแรงยังเกิดขึ้นต่อเนื่องในปีต่อมา โดยมีรายงานข่าวว่ากลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเริ่มใช้ความรุนแรงโดยพุ่งเป้าโจมตีผู้หญิง [6] ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์และเมษายน 2557 หญิงไทยพุทธอย่างน้อยห้าคนได้ตกเป็นเป้าหมายและถูกสังหาร โดยมีการทำลายซากศพสามกรณี [7] ในเดือนมีนาคม 2557 กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบได้ยิงครูระหว่างขี่มอเตอร์ไซค์ไปทำงานที่โรงเรียนชุมชนบ้านตะบิงตีงี จังหวัดปัตตานี มีรายงานข่าวว่าคนร้ายยังได้นำน้ำมันมาราดและจุดไฟเผาศพของครูท่านนี้ [8] รายงานประจำปี 2556 ของเลขาธิการองค์การสหประชาชาติว่าด้วยเด็กและพื้นที่ที่มีการขัดกันด้วยอาวุธได้

จำแนกเหตุก่อความไม่สงบซึ่งส่งผลให้มีการสังหารเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย 23 คนและยังทำให้อีก 65 คนได้รับบาดเจ็บสาหัสจนถึงขั้นพิการ

รายงานล่าสุดของเลขาธิการองค์การสหประชาชาติว่าด้วยเด็กและพื้นที่ที่มีการขัดกันด้วยอาวุธ ซึ่งตีพิมพ์เมื่อเดือนเมษายน 2559 ระบุว่า โรงเรียนและบุคลากรทางการศึกษายังคงตกเป็นเป้าหมายของกลุ่มติดอาวุธ จากข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 ครูสองคนและนักเรียนหนึ่งคนได้ถูกสังหาร และครูหนึ่งคนและนักเรียนอีกสองคนได้รับบาดเจ็บจากการโจมตีทำร้าย นอกจากนั้นในวันที่ 11 กันยายน 2558 ได้เกิดเหตุระเบิดที่ทางเข้าโรงเรียนชุมชนในจังหวัดปัตตานี ส่งผลให้นักเรียนอายุระหว่าง 3-15 ปีได้รับบาดเจ็บ [9]

นอกจากนี้ยังมีการโจมตีทำร้ายครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2559 โดยผู้ก่อความไม่สงบได้กดระเบิดน้ำหนัก 20 กิโลกรัมที่ด้านหน้าโรงเรียนตาบา ในจังหวัดนราธิวาส ส่งผลให้เด็กผู้หญิงอายุสี่ขวบและพ่อเสียชีวิต แรงระเบิดยังทำให้พลเรือนที่อยู่ใกล้เคียงบาดเจ็บอย่างน้อย 10 คนรวมทั้งผู้ปกครองและครู [10] ในวันที่ 28 ตุลาคม 2559 กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบได้ยิงครูผู้หญิงจากโรงเรียนชุมชนในจังหวัดปัตตานีจนเสียชีวิต และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกหนึ่งคน [11] จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2559 มีครูที่ถูกสังหารไปแล้วอย่างน้อย 184 คน และอีก 127 คนได้รับบาดเจ็บในจังหวัดชายแดนใต้ของไทยนับแต่ปี 2547

การใช้ประโยชน์จากโรงเรียนโดยทหาร

ฮิวแมนไรท์วอทช์ได้เก็บข้อมูลการใช้ประโยชน์จากโรงเรียน เพื่อจุดประสงค์ทางทหารของกองกำลังความมั่นคงของรัฐบาลไทยระหว่างปี 2549-2553 ในปี 2553 กองกำลังของรัฐบาลได้ใช้โรงเรียนอย่างน้อย 79 แห่งเพื่อเป็นค่ายที่พัก และเป็นฐานทัพ ทำให้เกิดความเสี่ยงภัยด้านการศึกษาต่อนักเรียนประมาณ 20,500 คน เป็นเรื่องปรกติที่ทั้งกองทัพบกและทหารพรานจะสร้างและปฏิบัติงานจากฐานทัพซึ่งตั้งอยู่ในอาคารเรียน หรือตั้งอยู่ในบริเวณโรงเรียนในภาคใต้ของไทย โดยจะยึดพื้นที่เหล่านั้นเป็นที่ปฏิบัติการเป็นเวลาหลายเดือน หรือแม้กระทั่งหลายปี ทั้งนี้เป็นไปตาม “ความต้องการในส่วนของกองทัพเพื่อจัดหาที่พักให้กับทหาร รวมทั้งการได้รับประโยชน์จากการมีที่ตั้งฐานทัพอยู่ในศูนย์กลาง อยู่ในที่ดินของรัฐ มีอาคารมั่นคงแข็งแรง และยังได้ใช้น้ำและไฟฟรี”[12] การใช้ประโยชน์จากโรงเรียนโดยกองทัพเช่นนี้ ส่งผลกระทบด้านลบต่อสภาพการเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งไม่เพียงทำให้เกิดความเสี่ยงด้านความปลอดภัยต่อเด็ก ๆ การที่เด็กจะได้เห็นอุปกรณ์ด้านการทหาร และอาจตกอยู่ในสถานการณ์สู้รบ หากยังส่งผลกระทบต่อศักยภาพของเด็ก ๆ ในการเรียนรู้ เนื่องจากทั้งนักเรียนและครูต่างก็ตื่นตระหนกจากบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว

แม่คนหนึ่งบอกกับฮิวแมนไรท์วอทช์ว่า “ดิฉันไม่ได้ต่อต้านทหารตอนที่ทหารตั้งอยู่นอกโรงเรียน...แต่พอทหารย้ายเข้ามาในโรงเรียน ดิฉันกลัวว่าจะเป็นเหตุให้มีการโจมตีโรงเรียน...ดิฉันจึงให้ลูกลาออก...เพราะหากมีการยิงเข้าไปในโรงเรียน เด็ก ๆ จะต้องได้รับบาดเจ็บแน่นอน”[13]

ที่โรงเรียนบ้านคลองช้าง อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ได้ยึดพื้นที่ครึ่งหนึ่งของโรงเรียนเมื่อปี 2553 ส่งผลให้ผู้ปกครองหลายคนส่งลูกเข้าโรงเรียนเอกชนในอีกหมู่บ้านหนึ่งแทน เป็นเหตุให้เด็กต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งชั่วโมงในการเดินทางไปโรงเรียนในแต่ละวัน และยังมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพิ่มเติม [14]

การใช้ประโยชน์จากโรงเรียนด้านการทหารยังส่งผลกระทบต่อเด็กผู้หญิงและผู้หญิงเป็นการเฉพาะ นอกจากส่งผลกระทบต่อสิทธิด้านการศึกษาของเด็ก การที่ทหารตั้งอยู่ในโรงเรียนเป็นเหตุให้นักเรียนและครูเสี่ยงที่จะถูกใช้แรงงานบังคับและได้รับความรุนแรงทางเพศ โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงมีความเสี่ยงอย่างมาก เนื่องจากความกลัวที่จะถูกกระทำด้วยความรุนแรงทางเพศ มักเป็นเหตุกดดันให้เด็กผู้หญิงลาออกจากโรงเรียน ในการสัมภาษณ์ครั้งหนึ่ง หะสินา ส. เด็กผู้หญิงอายุ 10 ขวบจากโรงเรียนบ้านคลองช้าง ในปัตตานี ให้ข้อมูลกับฮิวแมนไรท์วอทช์ ว่า เธอรู้สึก “หวาดกลัว [ทหาร] เนื่องจากทหารชอบเข้ามาแตะเนื้อต้องตัว มักจะเข้ามาอุ้มเด็ก ๆ สำหรับเด็กผู้ชายก็ไม่เป็นไร แต่สำหรับเด็กผู้หญิง เราไม่สามารถปล่อยให้ผู้ชายมาแตะต้องตัวเราได้ และหนูไม่สบายใจเลยเวลาที่ทหารถามว่าหนูมีพี่สาวหรือไม่ และยังขอเบอร์โทรศัพท์ของพี่สาวด้วย” เด็กผู้หญิงคนนั้นกล่าว เนื่องจากความหวาดกลัวเป็นเหตุให้เธออยากย้ายไปอยู่อีกโรงเรียนหนึ่งเมื่อปีที่แล้ว แต่ไม่สามารถทำได้เนื่องจากแม่อยากให้เรียนอยู่ในโรงเรียนใกล้บ้าน ส่วนแม่อีกคนหนึ่งซึ่งย้ายลูกสาวออกไปจากโรงเรียนแห่งนี้บอกว่า “มันอันตรายสำหรับเด็กผู้หญิงมากกว่าเด็กผู้ชาย เนื่องจากเด็กผู้หญิงสมัยนี้โตเร็วมาก ดิฉันกลัวว่าเด็กผู้หญิงจะตั้งท้องกับทหาร”[15]

ดูเหมือนว่าในเวลาต่อมากองกำลังของรัฐบาลไทยได้ยุติการใช้โรงเรียนเพื่อเป้าประสงค์ดังกล่าว

ฮิวแมนไรท์วอทช์มีข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการเพื่อให้สอบถามรัฐบาลไทยว่า:

· ที่ผ่านมามีโรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือสถานศึกษาอื่นใด ที่ถูกทำให้เกิดความเสียหายหรือถูกทำลาย เนื่องจากการโจมตีของ ก) กองกำลังของรัฐ ข) กลุ่มติดอาวุธที่ไม่ใช่ของรัฐ ในแต่ละปีในช่วงที่มีรายงานนี้ และนับตั้งแต่ปีใด?

· รัฐบาลได้ใช้มาตรการใดเพื่อป้องกันการโจมตีของกลุ่มติดอาวุธที่ไม่ใช่รัฐในบริเวณโรงเรียนและมหาวิทยาลัย และมีการบรรเทาผลกระทบอย่างไรหากเกิดเหตุเหล่านี้ขึ้นมา?

· ที่ผ่านมามีโรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือสถานศึกษากี่แห่ง ที่ถูกครอบครองทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน หรือถูกใช้จาก ก) กองกำลังของรัฐ และ ข) กลุ่มติดอาวุธที่ไม่ใช่ของรัฐในแต่ละปีที่มีการรายงานข้อมูล และนับตั้งแต่เมื่อใด?

· รัฐบาลได้ยุติการใช้โรงเรียนเพื่อเป้าหมายทางการทหารอย่างสิ้นเชิงหรือไม่? ถ้าใช่ ได้เกิดขึ้นเมื่อใดและทำไม? การกระทำในลักษณะนี้ได้ถูกสั่งห้ามหรือควบคุมตามนโยบาย หลักการ หรือกฎของทหารอย่างไร?

· รัฐบาลได้ดำเนินการอย่างไรเพื่อประกันว่า การโจมตีทำร้ายโรงเรียนซึ่งขัดแย้งกับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ได้ถูกสอบสวนและผู้ที่รับผิดชอบได้ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีอย่างเหมาะสม? มีการดำเนินคดีตามหน้าที่?

· พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวและตัวบทที่เกี่ยวข้องกับการจับกุม ควบคุมตัว และการไต่สวนคดีต่อเด็กในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ยังคงมีผลบังคับใช้ภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือไม่?

ฮิวแมนไรท์วอทช์มีข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการเพื่อให้เรียกร้องต่อรัฐบาลไทยว่า:

· ให้ดำเนินการสอบสวนและฟ้องคดีต่อบุคคลที่รับผิดชอบ รวมทั้งผู้มีส่วนรับผิดชอบในฐานะผู้บังคับบัญชา ต่อการโจมตีทำร้ายนักเรียน ครู และโรงเรียนที่เกิดขึ้น

· ให้ตอบสนองเมื่อเกิดเหตุโจมตีทำร้ายโรงเรียน โดยให้ซ่อมแซมความเสียหายโดยทันที และประกันว่านักเรียนจะสามารถกลับเข้าเรียนได้อย่างปลอดภัย

· ให้เห็นชอบต่อปฏิญญาว่าด้วยโรงเรียนปลอดภัย (Safe Schools Declaration) ซึ่งเปิดให้รัฐต่าง ๆ เข้าร่วมในการประชุมโรงเรียนปลอดภัยที่กรุงออสโล ในเดือนพฤษภาคม 2558

· ดำเนินมาตรการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อป้องกันการใช้ประโยชน์จากโรงเรียนในทางทหาร ภายหลังมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ 2143 (2557) และ 2225 (2558) รวมทั้งให้นำเนื้อหาจากหลักปฏิบัติเพื่อคุ้มครองโรงเรียนและมหาวิทยาลัยจากการใช้ประโยชน์ทางทหารในระหว่างการขัดกันด้วยอาวุธ (Guidelines for Protecting Schools and Universities from Military Use) มากำหนดเป็นนโยบายและกรอบการดำเนินงานภายในประเทศ

· ประกันให้มีการจัดการศึกษาในพื้นที่วิกฤต และพื้นที่ซึ่งมีการอพยพ และนำมาตรการพิเศษมาใช้เพื่อประกันว่า เด็กจะยังคงเดินทางไปโรงเรียนได้ในพื้นที่ซึ่งมีความไม่มั่นคงอย่างยิ่ง รวมทั้งการลดระยะทางไปกลับระหว่างโรงเรียน การจัดให้มีการศึกษาทางไกล และการกำหนดพื้นที่คุ้มครองสำหรับเด็กผู้หญิงและครู

· ประกันว่าครูสามารถใช้ดุลพินิจอย่างเต็มที่ เพื่อตัดสินใจว่าจะร่วมมือกับมาตรการที่ให้ทหารเดินทางมาส่งหรือการนั่งมาในรถของทหารเพื่อความปลอดภัยหรือไม่

· ประกันให้มีการปรึกษาหารืออย่างเป็นทางการกับทั้งครูใหญ่และครู เกี่ยวกับความปลอดภัยของโรงเรียนและครู

· เว้นแต่กรณีที่มีความกังวลอย่างชัดเจนเกี่ยวกับความปลอดภัย ให้งดเว้นการจับกุมนักเรียน ครู หรือบุคคลอื่นใดภายในสถานศึกษา

· เว้นแต่เป็นข้อกำหนดที่จำเป็นด้านความปลอดภัย ทั้งหน่วยงานทหารและชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ควรมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่อำเภอในท้องที่ เป็นผู้ดำเนินการตรวจค้นพื้นที่ภายในสถานศึกษา ผู้บริหารโรงเรียนและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ควรได้รับแจ้งเป็นการล่วงหน้าว่าจะมีการตรวจค้น และควรอยู่ในที่เกิดเหตุระหว่างที่มีการตรวจค้น เพื่อประกันให้เกิดความโปร่งใสของกระบวนการ

· เว้นแต่มีความจำเป็นด้านความปลอดภัย ทั้งหน่วยงานทหารและชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ไม่ควรพกพาอาวุธเข้ามาภายในสถานศึกษา

คนงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัย (ข้อ 2, 3, 6, 11 และ 15)

ประเทศไทยไม่ได้ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2494 และพิธีสาร พ.ศ.2510 และไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย หรือไม่มีขั้นตอนปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ที่พักพิง [16] ในปัจจุบัน ประเทศไทยจึงไม่มีกฎหมายว่าด้วยการให้ที่พักพิงในประเทศ และหน่วยงานของไทยยังคงส่งกลับผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงไปยังประเทศที่พวกเขาเสี่ยงจะถูกคุกคาม [17]

คณะกรรมการได้ระบุในความเห็นทั่วไปที่ 26 ว่าด้วยคนงานข้ามชาติหญิงว่า “คนงานข้ามชาติหญิงมีความเสี่ยงมากกว่าในแง่การปฏิบัติมิชอบทางเพศ การคุกคามทางเพศ และการใช้ความรุนแรงทางร่างกาย โดยเฉพาะในงานประเภทที่มีการจ้างงานผู้หญิงเป็นจำนวนมาก” [18] คนงานข้ามชาติจากพม่า กัมพูชา เวียดนาม และลาว ถือเป็นสัดส่วนแรงงานจำนวนมากในประเทศไทย คาดว่าอยู่ที่ราว 2-3 ล้านคน 80% ของผู้เข้าเมืองในประเทศไทยเป็นคนพม่า [19] และประมาณ 45% ของคนงานข้ามชาติที่ไร้ฝีมือเป็นผู้หญิง และมักจะทำงานในโรงงานแปรรูปอาหารทะเล งานอุตสาหกรรมแบบเบา อุตสาหกรรมบริการ และการทำงานบ้าน [20]

คนงานข้ามชาติยังคงถูกปฏิบัติมิชอบต่อไป จากทั้งตำรวจในพื้นที่ ข้าราชการและนายจ้างโดยไม่มีผู้ใดถูกนำตัวมาดำเนินคดี ทั้งนี้ตามข้อมูลที่เราเก็บได้ในรายงานปี พ.ศ.2553 เรื่อง “หนีเสือปะจระเข้: การปฏิบัติมิชอบต่อคนงานข้ามชาติในประเทศไทย” (From the Tiger to the Crocodile: Abuse of Migrant Workers in Thailand) เป็นงานวิจัยที่เกิดจากการสัมภาษณ์ในเชิงลึก 82 ครั้งที่กรุงเทพฯ และอีก 10 จังหวัด โดยผู้ให้สัมภาษณ์เป็นคนงานข้ามชาติจากพม่า ลาว และกัมพูชา ทั้งยังมีการสัมภาษณ์เพิ่มเติมกับคนงานข้ามชาติอื่น ๆ ผู้รณรงค์ในเอ็นจีโอและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ฮิวแมนไรท์วอทช์พบว่า คนงานข้ามชาติในประเทศไทยต้องเผชิญกับการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางและรุนแรง ทั้งการสังหาร การทรมานในที่ควบคุมตัว การรีดไถ และการปฏิบัติมิชอบทางเพศ รวมทั้งการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิแรงงาน อย่างเช่น การค้ามนุษย์ การบังคับใช้แรงงาน และการจำกัดการรวมตัวจัดตั้งเป็นองค์กร คนงานข้ามชาติที่เป็นผู้หญิงและเด็กผู้หญิงมีความเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะต้องเผชิญกับความรุนแรงทางเพศและการค้ามนุษย์ นายจ้างมักยึดบัตรประจำตัวของคนงานข้ามชาติเอาไว้ ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญในการพิสูจน์สิทธิที่จะอาศัยอยู่ในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนายจ้างยังมีอำนาจที่จะเซ็นหรือไม่ยอมเซ็นเอกสารการย้ายงาน ซึ่งจะช่วยให้คนงานข้ามชาติเหล่านั้นสามารถเปลี่ยนงานและยังคงมีสถานภาพตามกฎหมายได้ [21]

ผู้เข้าเมืองมักให้ข้อมูลว่า ต้องหวาดกลัวต่อการรีดไถจากตำรวจ ซึ่งเรียกร้องเงินทองหรือทรัพย์สินจากผู้เข้าเมืองที่ถูกควบคุมตัวโดยตำรวจเพื่อแลกกับอิสรภาพ ซึ่งสิ่งที่เรียกร้องส่วนใหญ่จะมีมูลค่าเท่ากับเงินเดือนหนึ่งเดือนหรือหลายเดือน [22] ในกรณีที่ผู้เข้าเมืองตัดสินใจไปแจ้งความ เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ก็มักจะเพิกเฉย หรือไม่ดำเนินการสอบสวนอย่างเป็นผลตามคำร้อง [23] การดำรงชีพประจำวันของผู้เข้าเมืองก็มักต้องเผชิญข้อจำกัดในหลายด้าน คนงานข้ามชาติถูกห้ามไม่ให้รวมตัวก่อตั้งเป็นสมาคมและสหภาพแรงงาน ไม่ให้สามารถเข้าร่วมการชุมนุมอย่างสงบ และถูกจำกัดเสรีภาพในการเดินทาง บ่อยครั้งที่พวกเขาไม่สามารถเดินทางออกนอกพื้นที่ที่ตนทำงานอยู่ได้ หากไม่มีหนังสืออนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากนายจ้างและเจ้าหน้าที่อำเภอ [24]

คนงานข้ามชาติที่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายยังมีความเสี่ยงอย่างมากจากการถูกหลอกลวงโดยนายหน้า โดยเฉพาะนายหน้าซึ่งมาจากประเทศตนเอง พวกเขาจะถูกนำตัวไปส่งให้กับมือของนายจ้างคนไทย ซึ่งมักจะบังคับให้พวกเขาทำงานโดยใช้การข่มขู่ การใช้กำลัง และการควบคุมตัวให้อยู่ในบริเวณที่กำหนด [25] ฮิวแมนไรท์วอทช์พบว่ามีคนงานซึ่งถูกบังคับให้ทำงานในโรงงาน สถานบริการทางเพศ เรือประมง และการทำงานบ้าน [26]

คนทำงานบ้าน

คนทำงานบ้านส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงและเด็กผู้หญิง นับเป็นงานที่ถูกประเมินว่าด้อยค่ามากสุด และมีกรอบกฎหมายด้านการจ้างงานที่ควบคุมน้อยสุด เนื่องจากคนทำงานบ้านต้องทำงานอยู่หลังประตูในครอบครัว พวกเขาจึงมักไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย และเสี่ยงที่จะต้องถูกปฏิบัติมิชอบและถูกแสวงหาประโยชน์ บ่อยครั้งที่มีการมองว่าการทำงานบ้านไม่ถือว่าเป็นงาน “ที่แท้จริง” [27] ในประเทศไทย คนทำงานบ้านถูกกีดกันไม่ให้ได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายแรงงานหลายฉบับ ตามกฎหมายไทยในปัจจุบัน คนงานมีสิทธิที่จะทำงานแปดชั่วโมงต่อวัน และได้รับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท แต่กฎหมายดังกล่าวไม่ครอบคลุมไปถึงการทำงานบ้าน แต่ถึงจะครอบคลุมก็เฉพาะงานบ้านที่เป็นส่วนหนึ่งของงานในระบบเท่านั้น [28]

ผู้แสวงหาที่พักพิงและผู้อพยพชาวโรฮิงญา

มีหลักฐานยืนยันว่า ชาวโรฮิงญาที่หลบหนีจากการปฏิบัติมิชอบ การคุกคาม และความยากลำบากอื่น ๆ ในรัฐยะไข่ของพม่าหรือบังคลาเทศ มักตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์และถูกนำตัวเข้าสู่ประเทศไทย ในปี 2558 เรือหลายลำที่มีผู้แสวงหาที่พักพิงและผู้อพยพชาวโรฮิงญาหลายพันคนจากพม่าและบังคลาเทศ เดินทางมาถึงประเทศไทย รวมทั้งมาเลเซียและอินโดนีเซีย ในเดือนพฤษภาคม 2558 ทางการไทยได้พบศพอย่างน้อย 30 ศพที่ถูกทิ้งไว้ในค่ายที่กักขังตัวเหยื่อการค้ามนุษย์ในจังหวัดสงขลา ใกล้กับพรมแดนไทย-มาเลเซีย [29] จากรายงานสอบสวนของตำรวจระบุว่า บุคคลเหล่านี้เสียชีวิตจากการอดอาหาร หรือเสียชีวิตจากการปฏิบัติมิชอบ หรือโรคภัยไข้เจ็บ ระหว่างถูกควบคุมตัวโดยผู้ค้ามนุษย์ ซึ่งรอที่จะได้รับเงินค่าไถ่ก่อนจะนำตัวพวกเขาไปส่งยังประเทศมาเลเซีย [30]

แม้คนในเรือจะต้องเผชิญกับอันตราย แต่เราพบว่า ทางการไทยมักแทรกแซง เพื่อป้องกันไม่ให้เรือที่มีชาวโรฮิงญาเหล่านี้เข้าสู่ชายฝั่งของไทยได้ ในหลายกรณี มีการสกัดจับเรือและผลักดันให้ออกไปในทะเล หลังจากให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในขั้นพื้นฐานและการให้อาหารและน้ำจากทางการไทย [31] ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระหว่างประเทศเพื่อแก้ปัญหาผู้แสวงหาที่พักพิงและผู้อพยพชาวโรฮิงญาหลายพันคน ที่ถูกทอดทิ้งอยู่ในทะเล แต่ต่างจากมาเลเซียและอินโดนีเซีย ทางการไทยปฏิเสธที่จะร่วมมือกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UN High Commissioner for Refugees - UNHCR) ในการคัดกรองเพื่อจำแนกสถานะของผู้ลี้ภัย หรือการจัดให้มีที่พักพิงชั่วคราวสำหรับผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือมาจากทะเล [32]

เยาวชนเข้าเมืองที่ถูกควบคุมตัว

ตามกฎหมายไทย ผู้เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายทุกคนรวมทั้งเด็ก อาจถูกจับกุมและควบคุมตัวได้ ทางการไทยได้ควบคุมตัวเยาวชนผู้เข้าเมืองหลายพันคนในแต่ละปี โดยให้อยู่ในสภาพที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพทางกายของเด็ก ศูนย์กักตัวคนต่างด้าวยังส่งผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพจิตของเด็ก เป็นการซ้ำเติมความเจ็บปวดทรมานด้านจิตใจที่มีอยู่เดิมแล้ว และยังส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้าและตื่นตระหนักอย่างต่อเนื่อง มักมีการควบคุมตัวเด็กร่วมกับผู้ใหญ่ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน และมักไม่ได้รับโภชนาการหรือการออกกำลังกายที่จำเป็น เด็กเหล่านี้มักต้องเผชิญกับความรุนแรง ตามข้อมูลที่บันทึกไว้ในรายงานปี 2557 ของฮิวแมนไรท์วอทช์ ชื่อ “สองปีที่ไม่มีพระจันทร์: การกักตัวเด็กในฐานะคนต่างด้าวใน

ประเทศไทย” (Two Years with No Moon’: Immigration Detention of Children in Thailand) [33] ภายในศูนย์กักตัวคนต่างด้าวของไทยยังมีปัญหาเรื้อรังเกี่ยวกับสภาพที่แออัดยัดเยียดอย่างมาก เด็กจะถูกควบคุมตัวรวมกันในห้องขังที่หนาแน่น มีการระบายอากาศไม่ดี ไม่มีหรือแทบไม่มีพื้นที่เพื่อสันทนาการ ในบรรดาเด็กที่ฮิวแมนไรท์วอทช์ได้สัมภาษณ์ ไม่มีคนใดเลยที่สามารถเข้าเรียนหนังสือในโรงเรียนระหว่างถูกควบคุมตัว แม้แต่คนที่ถูกควบคุมตัวมาเป็นเวลาหลายเดือน [34]

ฮิวแมนไรท์วอทช์มีข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการเพื่อให้สอบถามรัฐบาลไทยว่า:

· รัฐบาลได้ดำเนินการอย่างไรบ้างเพื่อแก้ปัญหาการยึดบัตรประจำตัวของคนงานข้ามชาติโดยนายจ้าง ซึ่งเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง?

· มีการดำเนินการอย่างไรบ้าง เพื่อเอาผิดกับตำรวจและเจ้าหน้าที่ของรัฐคนอื่น ๆ ที่มีส่วนในการปฏิบัติมิชอบต่อสิทธิและการละเมิดอย่างอื่นต่อคนงานข้ามชาติ โดยเฉพาะผู้หญิง?

ฮิวแมนไรท์วอทช์มีข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการเพื่อให้เรียกร้องต่อรัฐบาลไทยว่า:

· ให้ตั้งคณะกรรมการพิเศษเพื่อไต่สวนอย่างเป็นอิสระและอย่างไม่ลำเอียง ต่อข้อกล่าวหาว่ามีการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้เข้าเมืองโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยราชการของไทยทั่วประเทศ และให้เปิดเผยผลการสอบสวนของคณะกรรมการต่อสาธารณะ

· ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 189 (Intenational Labour Organization Convention No. 189) อนุสัญญาคนทำงานบ้าน พ.ศ.2554 (2011 Domestic Workers Convention) ประกันให้คนทำงานบ้านได้รับสิทธิที่เท่าเทียมเช่นเดียวกับคนงานประเภทอื่น ๆ ในแง่ของเวลาหยุดประจำวันและวันหยุดประจำสัปดาห์ ชั่วโมงการทำงาน ค่าจ้างล่วงเวลา และวันหยุดประจำปี รวมทั้งมีมาตรการคุ้มครองอย่างเพียงพอไม่ให้ถูกกระทำด้วยความรุนแรง

· ขยายการคุ้มครองด้านแรงงานไปยังคนทำงานบ้าน และจัดให้มีกลไกรับข้อร้องเรียนที่เข้าถึงได้ อย่างเช่น การมีสายฮอตไลน์ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ที่สามารถพูดในภาษาเดียวกับผู้เข้าเมืองได้

· ปฏิรูปพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 เพื่อขจัดข้อบทซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติ และจำกัดให้เฉพาะบุคคลที่มีสัญชาติไทยมีสิทธิในการรวมตัวก่อตั้งเป็นสหภาพแรงงาน และดำรงตำแหน่งเป็นประธานสหภาพแรงงาน และอนุญาตให้คนงานข้ามชาติสามารถเข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน และสามารถรวมตัวเพื่อเจรจาต่อรองและปกป้องสิทธิของตนเองได้

· ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย พ.ศ.2494 และพิธีสาร พ.ศ.2510

· เคารพพันธกรณีตามกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ โดยไม่บังคับส่งกลับผู้แสวงหาที่พักพิงหรือผู้ลี้ภัย

· ยุติการควบคุมตัวผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงที่ได้รับการจำแนกสถานภาพแล้ว รวมทั้งผู้ที่เข้าสู่กระบวนการจำแนกสถานภาพผู้ลี้ภัยของ UNHCR ซึ่งปัจจุบันถูกควบคุมตัวในศูนย์กักตัวคนต่างด้าว

· ประกันให้ผู้แสวงหาที่พักพิง สามารถเข้าถึงกระบวนการคัดกรองและจำแนกสถานภาพที่เหมาะสมของ UNHCR รวมทั้งผู้ที่ถูกควบคุมตัวในศูนย์กักตัว ซึ่งประสงค์จะยื่นเรื่องเพื่อขอความคุ้มครอง ก่อนจะถูกส่งตัวกลับหรือก่อนจะถูกบังคับส่งกลับ

· ให้นำทางเลือกอื่นนอกจากการควบคุมตัวผู้เข้าเมืองมาใช้โดยทันที ซึ่งเป็นมาตรการที่ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในประเทศอื่น ๆ อย่างเช่น การตั้งศูนย์รับรองคนเข้าเมืองแบบเปิดและโครงการที่มีการปล่อยตัวบุคคลอย่างมีเงื่อนไข

การคุ้มครองการแสดงออกทางเพศสภาพ (ข้อ 2)

พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศของไทยซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนกันยายน 2558 นับเป็นกฎหมายระดับชาติฉบับแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งให้การคุ้มครองเป็นการเฉพาะเพื่อป้องกันการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุผลเกี่ยวกับการแสดงออกทางเพศสภาพ [35] นักกิจกรรมของไทยมีความเห็นว่า พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศยังไม่สมบูรณ์แบบ แต่มีความสำคัญ [36] บางส่วนพยายามชี้ให้เห็นช่องโหว่ในพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งกำหนดเป็นข้อยกเว้นในการบังคับใช้ด้วยเหตุผลด้านศาสนา [37]

กฎหมายใหม่นี้กำหนดข้อห้ามเป็นการเฉพาะต่อการเลือกปฏิบัติใด ๆ ต่อบุคคลที่ “มีการแสดงออกแตกต่างไปจากเพศตามกำเนิดของตน” นับเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการคุ้มครองคนข้ามเพศจากการเลือกปฏิบัติ ยกตัวอย่างเช่น จากการสำรวจเมื่อปี 2557 โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศพบว่า คนข้ามเพศในประเทศไทยต้องเผชิญอุปสรรคที่สำคัญในแง่การจ้างงาน และมีข้อสังเกตว่า “มักเกิดข้อกีดกันขึ้นในขั้นตอนการสัมภาษณ์งาน หรือเมื่อตรวจพบภายหลังว่าเพศสภาพตามกฎหมายของบุคคลนั้น แตกต่างจากลักษณะทางกายและการแสดงออกทางเพศสภาพของบุคคลดังกล่าว” [38]

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้เกิดความก้าวหน้าอย่างมากในแง่ของสิทธิด้านรสนิยมทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ ยกตัวอย่างเช่น “บุคคลซึ่งมีเพศวิถีที่หลากหลาย” ได้รับการยอมรับในฐานะเป็นผู้ต้องการความช่วยเหลือตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม [39]

ในการทบทวนกรณีประเทศไทยเมื่อปี 2558 คณะกรรมการสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม มีข้อสังเกตถึงช่องว่างในแง่การคุ้มครองของไทยที่มีต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ มีการตั้งคำถามว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติพร้อมจะพิจารณาคำนิยามทางกฎหมายของคำว่า “ครอบครัว” ซึ่งครอบคลุมถึงเลสเบียน เกย์ ไบเซ็กชวล และคนข้ามเพศ (LGBT) หรือไม่ [40] จากการศึกษาเมื่อปี 2558 ขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization - UNESCO) พบว่า 60% ของนักศึษาที่เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศของไทยที่เข้าร่วมการสำรวจ ต้องเผชิญกับการถูกรังแกข่มเหงในช่วงเดือนที่ผ่านมา [41]

ฮิวแมนไรท์วอทช์มีข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการเพื่อให้สอบถามรัฐบาลไทยว่า:

รัฐบาลได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ เพื่อประกันและคุ้มครองไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อ

Your tax deductible gift can help stop human rights violations and save lives around the world.